โครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นฐานรากสำคัญของอุตสาหกรรมพลาสติก ทันทีที่รัฐบาลประกาศสานต่อแผนนี้ให้ครบวงจนในระยะที่ 2 ซึ่งมีการผลิตเม็ดพลาสติกชนิดสำคัญๆ เพิ่มขึ้นหลายชนิด ประดานักลงทุนทั้งหลายก็สนองรับอย่างไม่รีรอ
แน่ล่ะว่า... "ทีพีไอ." ย่อมไม่พลาดที่จะร่วมมหกรรมงานใหญ่นี้ และก็เป็น "ทีพีไอ." อีกเช่นกันที่ถูกหมายหัวว่า จะเป็นผู้ได้รับการส่งเสริมในโครงการใหญ่ๆ มากที่สุด หากเป็นจริงดังคาดการณ์นี้ อนาคตส่วนหนึ่งของประเทศก็ถูกกำหนดโดย "ทีพีไอ." อย่างแม่นมั่น!!?
"ที่เคยออกทะเลลึกย่อมสัมผัสได้ถึงความอ้างว้างของแผ่นฟ้าและผืนน้ำ จะมีก็แต่เพียงปลาและนกที่เคลื่อนไหวได้เป็นเพื่อนเท่านั้น"
ความเงียบเหงาเป็นเช่นนั้นมานานนับปี แต่แล้วด้วยความพยายามของมนุษย์ที่จะเอาชนะธรรมชาติ ในที่สุดเมื่อปี 2516 บริษัทยูโนแคลฯ ที่ได้รับสัมปทานสำรวจหาแหล่งปิโตรเลี่ยมกลางทะเลอ่าวไทยบริเวณหมายเลข 12 และ 13 ซึ่งอยู่ไกลจากกรุงเทพฯ ประมาณ 500 กม. ก็ยังความปรีดาปราโมทย์แก่คนไทยทั้งมวล เมื่อได้ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ที่มีปริมาณเชิงพาณิชย์คุ้มค่า ณ บริเวณดังกล่าว
ในเวลาต่อมาจึงขนานนามแหล่งก๊าซนั้นว่า "แหล่งก๊าซเอราวัณ" ดังชื่อช้างสามเศียรช้างทรงของพระอินทร์ที่มีอิทธิฤทธิ์พิชิตเหล่ามาร เช่นเดียวกับความหวังใหม่ว่า พลังงานก๊าซธรรมชาติที่จะได้รับการผลิตขึ้นจะเป็นการปลดแอกทางด้านพลังงานของประเทศไทยให้มีอิสระแท้จริงเสียที
รัฐบาลเองก็ลงมือเชิงปฏิบัติการอย่างรีบด่วนด้วยการวางนโยบายและแผนงานรองรับที่จะใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติให้มากที่สุด ไม่เพียงแต่วางแท่นเจาะมหึมากลางทะเลหรือตั้งโรงแยกก๊าซทันสมัย หากยังคิดค้นวิธีการแยกส่วนของก๊าซชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นสารประกอบอยู่ในก๊าซธรรมชาติออกมาใช้ให้เกิดคุณค่าแท้จริง อาทิเช่น แยกก๊าซมีเทน (CH4) ซึ่งเป็นก๊าซองค์ประกอบที่เบาที่สุดส่งไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าและเป็นวัตถุดิบของโรงงานผลิตปุ๋ยเคมี
และก๊าซองค์ประกอบที่เป็น "หัวใจ" ในการจุดชนวนความโชติช่วงชัชวาลสมบูรณ์แบบคือ อีเทน (C2H6) และโปรเทน (C3H8) ก็มีกระบวนการแยกก๊าซสองตัวนี้ป้อนเป็นวัตถุดิบในโรงงานผลิตโอเลฟินส์ (Ethylene Cracker) ที่เรียกกันว่า "อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น" จากนั้นโอเลฟินส์ที่ผลิตได้ก็จะเป็นวัตถุดิบพื้นฐานของการผลิตเอททิลีน (C2H4) และโปรโพลีน (C3H6) เพื่อส่งต่อไปยังอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่อเนื่องเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกต่อไป
โรงงานโอเลฟินส์แห่งแรกของประเทศไทยผ่านการออกแบบด้านวิศวกรรมไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2529 เซ็นสัญญากับผู้รับเหมาเมื่อ 6 มกราคม 2530 และจะสร้างแล้วเสร็จสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในวันที่ 20 ตุลาคม 2532 ที่จะมาถึงในอีกไม่ช้า
รุ่งอรุณของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกำลังจะมาถึง!!!!
พูดถึงเรื่องอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสำหรับบางคนอาจยังไม่แจ่มชัด ทว่าในโลกของความเป็นจริงทุกวันนี้ที่อุตสาหกรรมพลาสติกได้เข้ามามีบทบาทสำคัญเหนือวิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกรูปแบบนั้น มันก็คือ ผลลัพธ์ปลายสุดของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
และที่ผ่านมาอุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกสำเร็จรูปของบ้านเราต้องอาศัยเม็ดพลาสติกจากต่างประเทศเสียร้อยละ 70 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท เงินตราที่ต้องสูญเสียเหล่านี้ จะไม่มีอีกแล้วหากโรงงานปิโตรเคมีขั้นต้น (โอเลฟินส์) และปิโตรเคมีต่อเนื่องเปิดดำเนินการผลิตพร้อมกัน
หนำซ้ำด้วยปริมาณก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าเหลือเฟือคงช่วยเพิ่มกำลังการผลิต สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้อีกด้วย!!
ก็นี่แหละเป็นคำตอบง่ายๆ และดีที่สุดว่า ทำไมนักลงทุนจากหลายวงการจึงกระสันต์อยากที่จะเข้ามาดำเนินการในโลกของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมพลาสติกกันนักหนา!!!!
การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้รับการฟูมฟักเป็นอย่างดีมาโดยตลอด เริ่มจากจัดตั้งคณะอนุกรรมการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2524 เพื่อเป็นการวางฐานของการก่อตั้งบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ (ปคช.) ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันของภาครัฐบาลและเอกชนที่เป็นกำลังสำคัญในอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกในปี 2527 โดยแบ่งสัดส่วนถือหุ้นดังนี้
1. การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) 49.0%
2. สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 4.5%
3. บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัลไทย (ทีพีไอ.) 14.4%
4. บริษัทปูนซิเมนต์ไทย 15.9%
5. บริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ (ทีพีซี.) 5.4%
6. บริษัทเอชเอ็มซี. โพลิเมอร์ 10.1%
7. บริษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี.) 0.7%
บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ ที่มี ดร.สิปนนท์ เกตุทัต เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่นี้ เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น (โรงงานโอเลฟินส์) ซึ่งการก่อตั้งโรงงานโอเลฟินส์อยู่ที่ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง ในเนื้อที่ 350 ไร่ ใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท
สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่อเนื่องที่เป็นการลงทุนของภาคเอกชนทั้งหมดก็มีผู้สนใจลงทุนในระยะแรก (NPC-1) 4 ราย ซึ่งทั้ง 4 รายนี้ มีโรงงานผลิตอยู่ที่ จ.ระยอง ใกล้โรงโอเลฟินส์ และเป็นโรงงานที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ทั้งสิ้น แต่ละโรงมีกำลังผลิตดังนี้
1. บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัลไทย ผลิต LDPE ปีละ 65,000 ตัน ผลิต HDPE/LLDPE ปีละ 60,000 ตัน
2. บริษัทไทยโพลีเอททิลีน (ในเครือปูนซิเมนต์ไทย) ผลิตโพลีเอททิลีน PE ปีละ 137,500 ตัน
3. บริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ (ทีพีซี.) ของตระกูล "เอื้อชูเกียรติ" ผลิตไวนิลคลอไรด์ VCM/PVC ปีละ 140,000 ตัน
4. บริษัทเอชเอ็มซี. โพลิเมอร์ บริษัทร่วมทุนของเครือศรีกรุงวัฒนา กับ บริษัท Himont Corporation ผลิตโพลีโพรไปลีน PP ปีละ 100,000 ตัน
เอกชนทั้ง 4 ราย ที่ลงทุนในโครงการปิโตรเคมีต่อเนื่องระยะแรก (NPC-1) คงมีเพียงบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัลไทย (ทีพีไอ.) และไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ (ทีพีซี.) เท่านั้นที่ได้ชื่อว่ามีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนี้มาบ้างแล้ว ส่วนเครือศรีกรุงวัฒนาฯ ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเข้าเม็ดพลาสติกรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งถ้าทีพีไอ.และทีพีซี. สามารถชี้เป็นชี้ตายในวงการนี้ได้แล้ว ศักยภาพด้านนี้ของเครือศรีกรุงฯ ก็คงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
"ทีพีไอ.นั้นเป็นไม้เบื่อไม้เมากับศรีกรุงฯ มาโดยตลอด เพราะการที่ทีพีไอ.ตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกขึ้นมาเมื่อปี 2521 เท่ากับเป็นการตัดรายได้ก้อนใหญ่ของศรีกรุงฯ จะเห็นว่าทีพีไอ.สามารถรวมผู้จำหน่ายเม็ดพลาสติกได้หมด ยกเว้นศรีกรุงฯ รายเดียวที่ไม่ยอมเข้าร่วม เขาสู้กันมาตลอดกระทั่งเรื่องบัตรส่งเสริม" แหล่งข่าวบอกกับ "ผู้จัดการ"
ในโครงการปิโตรเคมีต่อเนื่องระยะแรก (NPC-1) มีโรงงานที่เปิดดำเนินการผลิตทันควันแล้ว 2 โรง คือ โรงงานของ ทีพีไอ.ที่ ต.เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง กับโรงงานของ ทีพีซี. ที่สมุทรปราการ ซึ่งเป็นเรื่องปกติเนื่องจากสองรายนี้มีพื้นฐานและโรงงานที่ทำการผลิตมาก่อนหน้านี้แล้ว
เพราะความเป็นไปได้สูงของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี บวกกับความต้องการใช้เม็ดพลาสติกที่ยั้งไม่หยุดในประเทศไทย ทำให้รัฐบาลต้องเร่งรีบดำเนินการโครงการปิโตรเคมีต่อเนื่องในระยะที่สอง (NPC-2) อย่างทันที NPC-2 โครงสร้างโดยรวมก็คล้ายกับ NPC-1 เพียงแต่นำวัตถุดิบมาขยายผลต่อการผลิตเม็ดพลาสติกมากชนิดขึ้น
โครงการปิโตรเคมีต่อเนื่องระยะที่ 2 เริ่มขึ้นในราวปลายปี 2530
ความสงสัยของหลายคนที่ระบุว่า "ผลการศึกษาของ BOI ไม่ได้ตั้งอยู่บนความยุติธรรมและกระทำกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ" นั้นกล่าวโดยสรุปแล้วมีดังนี้คือ หนึ่ง-ทำไมต้องให้การส่งเสริม ทีพีไอ. ถึง 4 โครงการ ทั้งๆ ที่บางโครงการเช่น PS, PP, PE, ABJ ทีพีไอ. ก็ผลิตแล้วในระยะที่ 1 (NPC-1) การให้ส่งเสริมเช่นนี้อาจนำไปสู่การผูกขาดตลาดได้
สอง - ทำไมต้องดำเนินการขอมติอย่างรวบรัดเกินกว่าความจำเป็น
นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงอีกด้วยว่ากลุ่มโซลเว เบลเยียมที่ได้รับส่งเสริมผลิตแบบครบวงจรนั้นแท้ที่จริงเป็นเพียงภาพจำลอง ขณะที่ของแท้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่คนหนึ่งก็คือ กลุ่มทีพีไอ. ของตระกูลเลี่ยวไพรัตน์
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้เท่ากับว่า ทีพีไอ. ได้รับการส่งเสริมถึง 5 โครงการ!!!!
และแต่ละชนิดล้วนเป็นตัวหลักของอุตสาหกรรมพลาสติกที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันทั้งสิ้น การตัดสินที่ปรากฏออกมาในรูปนี้จึงสร้างความไม่เชื่อมั่นให้หลายคนว่าหากทีพีไอ. คิดเล่นไม่ซื่ออาศัยความได้เปรียบสร้างผลประโยชน์ทางการตลาดโดยที่ผู้บริโภคไม่มีอำนาจใดๆ จะต่อรอง!!
บาปกรรมทำเข็ญที่อาจจะเกิดขึ้นนั้นใครเล่าจะเป็นผู้รับผิดชอบ!!?
"ทำไมจะต้องมองกันว่า ทีพีไอ. จะต้องเป็นคนผูกขาด บอกกันได้เลยว่าหากเราคิดจะขึ้นราคาเม็ดพลาสติกที่ขายอยู่เดี๋ยวนี้ก็ทำได้ แต่ทีพีไอ.ไม่ทำอย่างนั้นเด็ดขาด ทุกวันนี้เราเข้ามามีส่วนช่วยเหลือมากแค่ไหน ด้วยการขายเม็ดพลาสติกที่ถูกกว่าต่างประเทศมากมาย" ประชัยชี้แจงกับ "ผู้จัดการ"
สุดแท้แต่จะว่ากันไป!!!!
เบื้องลึกของการตัดสินดังกล่าว "ผู้จัดการ" ทราบมาว่า จุดที่คนใน BOI ถูกโจมตีมากที่สุดในแง่ของความไม่เป็นธรรมเพราะ
หนึ่ง - มีบางคนบอกว่าคนนั้นมีสัมพันธ์ที่ค่อนข้างแนบแน่นเป็นพิเศษกับคนๆ หนึ่งในกลุ่มโซลเว
สอง - มีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้ใหญ่ของพรรคชาติไทยคนหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกันเป็นอย่างมากกับคนของตระกูลเลี่ยวไพรัตน์มาตั้งแต่ครั้งรุ่นพ่อประชัย "พร เลี่ยวไพรัตน์"
สาม - ผู้ถือหุ้นสำคัญๆ ของทีพีไอ. ล้วนเป็นฐานเสียงที่ดีของพรรคชาติไทย
"ที่คนๆ นั้นใน BOI กล้าตัดสินใจอย่างนี้เพราะเชื่อมั่นมากว่า คนของพรรคชาติไทยที่เป็นใหญ่จะช่วยปกป้องได้ อีกอย่างหนึ่งอาจคิดว่าทั้งตัวเองและพี่ชายล้วนเป็นคนที่ป๋าเปรมไว้เนื้อเชื่อใจคงเห็นคล้อยตามความคิด" แหล่งข่าวท่านนี้บอกกับ "ผู้จัดการ"
ในประเด็นเดียวกันนี้ประชัยได้ชี้แจงกับ "ผู้จัดการ" เป็นการตอบโต้ว่า การเข้าหา BOI ของทีพีไอ. นั้นไม่เคยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัว และทีพีไอ.ก็ไม่เคยได้ใช้คนสนิทของคนใหญ่ใน BOI ที่กล่าวกันว่าอยู่ในกลุ่มโซลเวหรืออยู่ในทีพีไอ.เป็นนกต่อของการได้รับการส่งเสริมใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ของพรรคชาติไทย เขายอมรับว่า "มีอยู่บ้าง"
ชีระนั้นมีความมั่นใจเหลือล้นว่า การนำผลการศึกษาที่ผ่านมติบอร์ดเล็กเสนอให้บอร์ดใหญ่ที่มีนายกฯ เป็นประธานในวันที่ 30 มีนาคมนั้น จะต้องผ่านโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ "เขามั่นใจมาก เพราะตั้งแต่มาเป็นเลขาฯ ป๋าก็ไม่ค่อยขัดแย้งกับความคิดของชีระมากนัก จนมองกันว่าชีระเป็นคนที่ป๋าส่งลงมา" แหล่งข่าวท่านหนึ่งบอก
ถ้าความแน่นอนบางครั้งคือความไม่แน่นอนยังศักดิ์สิทธิ์อยู่ ย่อมต้องใช้ในกรณีนี้ได้ดีที่สุด!!!!
ฝันของชีระล่มสลายอย่างไม่เป็นท่า เพราะที่ประชุมของคณะกรรมการชุดใหญ่มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจซึ่งมี สุธี สิงห์เสน่ห์ รัฐมนตรีคลังเป็นประธาน ขึ้นมาทำการวิเคราะห์คำขอรับการส่งเสริมในโครงการนี้ใหม่ทั้งหมด โดยมีกำหนดระยะเวลา 60 วัน
"เชื่อว่าการพิจารณาของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจชุดนี้จะเพ่งไปที่ 5 โครงการใหญ่ ซึ่งกลุ่มทีพีไอ.ได้รับการส่งเสริมนั้นว่าสมเหตุสมผลมากน้อยเพียงใด ส่วนโครงการอื่นๆ คงไม่เข้าไปแตะต้องอะไรมากนัก อาจจะยืนกรานตามมติเดิม" แหล่งข่าวคนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"
ถึงจะไม่มีทีท่าว่าจะเข้าไปแตะต้อง แต่ก็แว่วๆ ว่าได้มีนักลงทุนหลายรายที่ผิดหวังจากการตัดสินในครั้งแรก วิ่งเต้นเข้าหาคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจนี้กันจ้าละหวั่น เพื่อหวังผลพลิกฟื้นโครงการของตนขึ้นมา
การต่อสู้คงอีกยาวนาน...
"มันยุ่งยากตรงไหนกับการส่งหนังสือเวียนไปยังคน 700-800 คน ของง่ายๆ อย่างนี้ต้องทำให้ได้ เออ...แล้วรีบๆ หน่อยล่ะ ชักช้าไม่ได้ ส่งไปให้โรงงานต่างๆ เขาเซ็นชื่อกันมา จะได้เอาไปเสนอให้ผู้ใหญ่เขาพิจารณา....แล้วอย่าให้พลาดล่ะ" ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ หัวขบวนใหญ่ของทีพีไอ. สำทับอย่างหนักแน่นกับคนๆ หนึ่ง ซึ่งคาดว่าคงเป็น ประทีป เลี่ยวไพรัตน์ น้องชายคนหนึ่งของเขาทางโทรศัพท์ในบ่ายของวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2531
คำพูดประโยคนี้บอกความหมายได้เป็นอย่างดีว่า ทีพีไอ. ไม่มีวันถอยเป็นอันขาด แม้ว่าในภาวะปัจจุบันกำลังถูกรุมเร้าอย่างหนักปานใดก็ตาม
หนังสือเวียนที่ประชัยกำชับว่า "ไม่ให้พลาด" นั้น เป็นหนังสือเวียนที่ทีพีไอ.มีไปยังบรรดาโรงงานผู้ใช้เม็ดพลาสติกทั้งหลายซึ่งเป็นลูกค้าทางอ้อมของทีพีไอ. ขอร้องให้ร่วมกันสนับสนุนโครงการของทีพีไอ. โดยให้เหตุผลว่า ภาระหน้าที่ปัจจุบันทีพีไอ.ได้เกื้อกูลประโยชน์ต่อวงการอุตสาหกรรมพลาสติกเป็นอันมาก
หนังสือเวียนที่จะห้อยท้ายรายชื่อผู้ใช้เม็ดพลาสติกดังกล่าวนี้ จะถูกส่งผ่านโดยตรงถึงตัวนายกรัฐมนตรี กลยุทธ์การจัดตั้งมวลชนของทีพีไอ.นี้ไม่รู้ว่ามีข้อแลกเปลี่ยนอันใดกับกลุ่มผู้ใช้เม็ดพลาสติกหรือเปล่า แต่นับว่าการเดินหมากนี้ชาญฉลาดไม่น้อย
เพราะอำนาจที่ถือครองอยู่ในปัจจุบัน ไม่ยากนักที่ทีพีไอ.จะขอร้องให้ผู้ใช้เม็ดพลาสติกสนับสนุน....
"ผมไม่ยอมแพ้ง่ายๆ คุณดูสิ การตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมานั้นให้ความเป็นธรรมกับเราหรือไม่ ผู้ใหญ่หลายคนที่ถูกแต่งตั้งล้วนมีความสนิทสนมชอบพอกับผู้บริหารของปูนซิเมนต์ไทยทั้งสิ้น เล่นกันไม่แฟร์นี่ ปูนซิเมนต์เองไม่ใช่หรือที่ทิ้งโครงการนี้ไปแล้ว พอเราทำได้จะอาศัยอำนาจทางการเมืองมาบีบกันอย่างนั้นใช่ไหม เอาสิถ้าชนะได้อีกไม่ช้าเราคงต้องขายโรงงานให้ปูนฯ" ประชัยกล่าวอย่างเหลืออด
เหตุผลของทีพีไอ.กับความพยายามแก้ปัญหาด้วยการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมานั้นมีเหตุผลอยู่ในตัวเองไม่น้อย คงไม่อาจถกเถียงกันได้ว่ากรรมการบางท่านนั้นมีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับกลุ่มนักลงทุนบางกลุ่มอย่างแยกไม่ออก
และนี่เป็นปัญหาใหญ่ของการจัดวาง Position ภายในคณะอนุกรรมการชุดนี้ ซึ่งพูดประสาชาวบ้านบางคนอาจบอกว่า "แค่อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่" แล้วนั้น จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนกลุ่มอื่นๆ ได้อย่างสนิทใจอย่างไรเล่า!?
หากไม่คิดอะไรกันมาก ก็ถือเสียว่าเป็นเวรกรรมสำหรับการแก้ปัญหาแบบไทยๆ ที่เรื่องอย่างนี้จะต้องยืดเยื้อต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด!!!!
ทีพีไอ.ดั่งจะรู้ชะตากรรมของตนได้เป็นอย่างดีว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกบั่นทอนศักยภาพลงมาในโครงการ NPC 2 ดังนั้นจึงไม่เพียงแต่จะทำหนังสือเวียนถึงผู้ใช้เม็ดพลาสติกเพื่อขอแรงสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีเห็นถึงข้อเท็จจริงต่างๆ เท่านั้น อีกด้านหนึ่งทีพีไอ.ยังร่อนเบื้องหลังโครงการให้คนทั่วไปรับรู้
ทีพีไอ.ต้องการที่จะกระชากหน้ากากของคู่แข่งขันที่เล่นนอกเกมกับตัวเอง!!!!
ในหนังสือฉบับนี้ ทีพีไอ.ระบุว่ากลุ่มปูนซิเมนต์ไทยที่ถูกตัดสิทธิ์ในการยื่นคำขอ PP ในนามของกลุ่มเองนั้น แท้ที่จริงแล้ว กลุ่มปูนซิเมนต์ไทยได้แฝงยื่นคำขอไว้อีก 2 ราย ในนามบริษัทเชลล์ และในนามกลุ่มศรีเทพไทย ส่วนกลุ่มศรีกรุงวัฒนา ก็แฝงยื่นคำขอ PE ไว้ในนาม ชาติศิริ โสภณพนิช
หากทีพีไอ.จะต้องถูกตัดสิทธิ์ใน NPC 2 ทางทีพีไอ.ก็เห็นว่าไม่เป็นธรรมเพราะ
หนึ่ง - หลักการใหม่นี้ไม่สอดคล้องกับแผนแม่บทที่ว่า ปิโตรเคมีที่มีผู้ผลิตรายเดียวในปัจจุบันจะให้ระดับความสำคัญในการพิจารณาข้อเสนอการลงทุนของผู้ลงทุนรายอื่นก่อน ซึ่งคณะอนุกรรมการบริหารของ BOI ใช้หลักเกณฑ์นี้พิจารณา
สอง - หากทีพีไอ.ได้รับการส่งเสริม PP และ PE ก็มิได้หมายความว่า ทีพีไอ.จะสามารถผูกขาดตลาดได้ เนื่องจากทีพีไอ.ไม่ได้เป็นผู้ผลิต PP ในปัจจุบัน และสำหรับ PE ก็มีผู้ผลิตมากกว่ารายเดียวอยู่แล้ว และผู้ใช้ยังสามารถนำเข้าจากต่างประเทศได้อีกด้วย
"เมื่อเป็นอย่างนี้เราจะไปสร้างระบบผูกขาดขึ้นมาได้อย่างไร" ประชัยกล่าวซ้ำอีกครั้ง
สาม - ตามแผนแม่บทที่เน้นการผลิตและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ทีพีไอ.ย้ำนักหนาว่าจุดประสงค์ข้อนี้ ทีพีไอ.สามารถทำได้ดีที่สุด เพราะทีพีไอ.ศึกษาแล้วพบว่า ต้นทุนคงที่/หน่วยของโรงงานขนาดกำลังการผลิตปีละ 160,000 ตัน/ปี จะได้เปรียบโรงงานขนาดปีละ 80,000 ตัน/ปี ถึงร้อยละ 31
จากความเชี่ยวชาญ ทีพีไอ.เชื่อมั่นว่าจะเป็นผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนต่ำที่สุด และการที่ทีพีไอ.มีฐานการผลิตใหญ่อยู่แล้วจะทำให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้เป็นอย่างดี
สรุปแล้วยังไงๆ ทีพีไอ.ก็บอกกับตัวเองว่า "ตนนั้นแหละคือผู้เหมาะสมที่สุด"!!!!
ไม่รู้ว่าคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจะเห็นดีด้วยหรือเปล่าเท่านั้น????
แต่ล่าสุดข่าวยืนยันค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า การพิจารณาของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจมีความคิดเห็นคล้อยตามการพิจารณาตัดสินในครั้งแรกของ BOI เสียเป็นส่วนใหญ่
ทีพีไอ.เส้นใหญ่หรือไม่อย่างไรนั้น คำตัดสินดังกล่าวนี้ย่อมเป็นคำตอบได้ดีที่สุด!!!!
และนี่เท่ากับเป็นการประกาศชัยชนะเบื้องต้นของทีพีไอ. เป็นสัญญาณที่ชี้บอกถึงความยิ่งใหญ่อย่างสมบูรณ์แบบของ "ผู้ยิ่งใหญ่" ในอุตสาหกรรมนี้อย่างยากจะหาใครมาเปรียบเทียบ....
เฮ้อ...ก็ได้แต่คาดหวังว่า "ทีพีไอ." จะรักษาสัจจะคำมั่นสัญญาที่บอกไว้ตลอดเวลา จะไม่กระทำตัวเป็น "ผู้ผูกขาด" และข่มเหงน้ำใจผู้บริโภคทั้งหลายไปตลอดกาลนะ!!!!
|