|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2531
|
|
ธนาพรชัยเมื่ออยู่ในภาคธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมก็ได้เคยสำแดงเขี้ยวเล็บให้ใครต่อใครหวั่นไหวมาแล้วหลายๆ ครั้ง เมื่อกลุ่มนี้หวังขบเคี้ยวผลประโยชน์ก้อนใหญ่ของอุตสาหกรรมพลาสติกในนามบริษัท "ทีพีไอ." ยิ่งทำให้ใครต่อใครหวั่นกลัวมากยิ่งขึ้น!!??
ความสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตประจำวันของคนเราในทุกวันนี้ ยากนักที่จะปฏิเสธว่าโลกของอุตสาหกรรมพลาสติกเสมือนหนึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่แยกจากกันไม่ออกเสียแล้ว
อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมพลาสติกซึ่งกระจายอยู่ในรูปอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เป็นหลักในระยะสิบปีที่ผ่านมานับจากปี 2521-2530 ได้เติบโตขึ้นเป็นทบเท่า โดยมูลค่าเพิ่มจาก 2,000 ล้านบาท เป็น 6,000 ล้านบาท
แน่นอน...อนาคตยังคงพุ่งขึ้นสูงอย่างไม่น่าแปลกใจ!!!
ยิ่งอุตสาหกรรมพลาสติกจำเป็นต่อชีวิตคนเรามากเท่าใด ความกระสันอยากของนักลงทุนที่คิดเลื่อนไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้เพื่อหวังไล่คล้องบ่วงบาศเป็นผู้กุมชะตากรรมส่วนหนึ่งของประเทศเอาไว้ก็ย่อมเป็นดั่งเงาที่ไล่ตามกระชั้นชิดมากมายเช่นกัน
แต่คงไม่มีใครน่าจับตามองมากยิ่งไปกว่า "ทีพีไอ."!! ของตระกูลเลี่ยวไพรัตน์
ในความเป็นจริงที่ปรากฏหลายๆ ครั้งที่สถานการณ์เม็ดพลาสติกซึ่งเป็นวัตถุดิบของการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปพลาสติกชนิดต่างๆ เกิดความปั่นป่วน โดยเฉพาะเรื่องราคาที่ลอยตัวอย่างไร้อำนาจควบคุม จนส่งผลกระทบถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องทั้งหลาย ดูเหมือนว่าการสืบค้นหาคำตอบต้องประทับย้ำชื่อ "ทีพีไอ." ให้ต้องขบคิดไปเสียทุกครา
"ทีพีไอ." บนจุดยืนมั่นคงของการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกรายใหญ่รายเดียวของประเทศที่มีอยู่ในเวลานี้ จะด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม ย่อมมิอาจหลุดพ้นความสงสัยทั้งมวลไปได้!?
บริษัทที่เริ่มต้นด้วยทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท เมื่อปี 2521 ท่ามกลางความอกสั่นขวัญแขวนว่าจะไปรอดไหม จะกลายเป็นบริษัทที่ทรงอิทธิพลและมีอำนาจมากมายถึงปานนี้เชียวหรือ!!??
พร เลี่ยวไพรัตน์ ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่คงต้องนึกขอบคุณภัยสงครามโลกครั้งที่สองเอามากๆ ความผันผวนที่เลวร้ายครั้งนั้น แม้จะทำให้เขาหมดโอกาสกลับไปเรียนต่อที่เซี่ยงไฮ้ ทว่ามันกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่บนถนนการค้าของเขาในระยะถัดมา
พรเป็นลูกของเปี๊ยะยู้ แซ่เลี่ยว กับไน้ แซ่เตียง คหบดีพ่อค้าใหญ่สระบุรี ที่มีกิจการค้าอยู่มากมายทั้งโรงสี โรงฆ่าสัตว์ โรงเหล้า โรงยาฝิ่น เมื่อพรไม่ได้กลับไปเรียนต่อจึงรับโอนกิจการที่มีอยู่ทั้งหมดของเตี่ยแม่มาดูแล
ภาวะสงครามโลกครั้งที่สองสถานการณ์ข้าวเปลือกในประเทศเข้าสู่วิกฤติ หนึ่ง-ราคาข้าวตกต่ำอย่างน่าใจหาย สอง-กิจการค้าข้าวที่มีอยู่ส่วนใหญ่ตกอยู่ในกำมือของคนต่างชาติ ความล่อแหลมดังกล่าวทำให้กระทรวงเศรษฐกิจต้องจัดตั้งบริษัทข้าวไทยขึ้นมาเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด
บริษัทข้าวไทยมีโรงสีไฟใหญ่ 7 แห่ง ในกรุงเทพฯ เป็นฐานสนับสนุน "สมัยนั้นสมาคมโรงสีไฟมีบทบาทสูงมากสูงกว่าพ่อค้าข้าวเสียอีก" เจ้าของโรงสีแห่งหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"
โรงสีไฟปากเพรียวของพรถึงจะไม่ได้ร่วมขบวนการอย่างจริงจัง แต่อาศัยที่เขาเป็นคนฉลาดหลักแหลม มองการณ์ไกลที่จะได้รับผลประโยชน์จากบริษัทข้าวไทย ดังนั้นพรจึงขยายกำลังการผลิตโรงสีไฟให้มีกำลังผลิตสูงถึง 40 เกวียน จัดว่าเป็นโรงสีไฟใหญ่ที่สุดในห้วงเวลานั้น
"จริงๆ แล้วโรงสีไฟปากเพรียวของพรน่ะอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทข้าวไทย เพราะโรงสีไฟของเขาป้อนข้าวเปลือกจำนวนมากผ่านโรงสีไฟทั้ง 7 แห่ง เพื่อขายต่อให้กับบริษัทข้าวไทย" เจ้าของโรงสีรุ่นราวคราวเดียวกับพรเล่าให้ฟัง
พร เลี่ยวไพรัตน์ ร่ำรวยขึ้นมาบนพื้นฐานดังกล่าวโดยไม่มีใครปฏิเสธ!!!
ไม่เพียงแต่จะค้าข้าวทำโรงสีเป็นหลักเท่านั้น จากการที่สระบุรีอยู่กึ่งกลางพื้นที่นครราชสีมากับลพบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะมัน ปอ ข้าวโพด พรมองเบ็ดเสร็จที่จะสร้างความมั่งคั่งจากการขายพืชไร่เหล่านี้ร่วมด้วยอย่างชาญฉลาด
"เลี่ยวไพรัตน์" แผ่อิทธิพล-อำนาจชี้ชะตาตัดสินคนส่วนหนึ่งของประเทศแล้ว ณ จุดนั้น!!
พรเห็นว่าถ้าเขายังจำกัดพื้นที่อยู่แต่ในต่างจังหวัด อนาคตก็คงเป็นเพียงพ่อค้าภูธรที่ได้รับการเชิดหน้าชูตาในสังคมแคบๆ เขาใฝ่ฝันและทะเยอทะยานมาตั้งแต่ครั้งที่ได้ไปเรียนหนังสือที่เซี่ยงไฮ้แล้วว่า "วันหนึ่งจักต้องเป็นพ่อค้าระดับชาติ-ระดับโลกให้จงได้"
ด้วยความตั้งใจที่มีเป็นทุนเดิมกอปรกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นของ "เลี่ยวไพรัตน์" ทำให้เขาตัดสินใจขยับขยายฐานเข้ามาในกรุงเทพฯ ทั้งนี้โดยมีบุคคลในตระกูล "แต้ไพสิฏพงศ์" (เจ้าของโรงงานอาหารสัตว์เซนทาโก) เป็นเพื่อนร่วมเดินทางทำธุรกิจกันมาตั้งแต่ต้น
"แต้ไพสิฏพงศ์" เป็นเพื่อนบ้านของ "เลี่ยวไพรัตน์" มาตั้งแต่ครั้งรุ่นของเปี๊ยะยู้ สองตระกูลนี้มีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ คนไหนดำเนินธุรกิจอะไรอีกคนหนึ่งต้องเข้าร่วมด้วยความยินดี จัดว่าเป็น "Old Partner" ที่ไม่มีความร้าวฉานใดๆ กันเลย
ร้านฮ่งเยี่ยะเซ้ง กิจการค้าแห่งแรกของพรในกรุงเทพฯ เป็นเอเย่นต์ค้าผ้ารายใหญ่รายหนึ่งของประเทศในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ลูกชายคนโตของพรคุยอย่างภูมิใจมากว่า "ร้านเราใหญ่ไม่แพ้ร้านคุณสุกรี"
กิมย่งง้วนของสุกรีกับฮ่งเยี่ยะเซ้งของพรรุ่งเรืองไม่ด้อยไปกว่ากัน ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าทั้งคู่เข้าช่องการค้าถูกทางด้วยการจับเส้นราชการทหารได้ติดแน่น และในส่วนของพรอาจเกิดจากแรงส่งของกลุ่มซอยราชครู ที่กำลังเรืองอำนาจอยู่ในขณะนั้นอีกทางหนึ่งด้วย
พรนั้นรู้จักและให้ความเคารพนับถือ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร ขุมกำลังสำคัญของกลุ่มซอยราชครูมาช้านาน บ้านของเขาที่สระบุรีก็เป็นบ้านที่ พล.ต.ประมาณ ขายต่อให้ในราคาถูกๆ และทุกครั้งที่ พล.ต.ประมาณหรือสมาชิกพรรคชาติไทยลงสมัครรับเลือกตั้งที่สระบุรี
โรงสีไฟปากเพรียวและโรงทอกระสอบสหธัญพืชของพร คือฐานเสียงสำคัญ!!
"ช่วงที่ พล.ต.ประมาณ เป็นใหญ่ในคณะรัฐบาล ธุรกิจของกลุ่มฮ่งเยี่ยะเซ้ง โดยเฉพาะเรื่องการค้าข้าวไปได้ฉิวเป็นเพราะมีแรงหนุนจากปีกพรรคชาติไทยของพล.ต.ประมาณเป็นหลัก" คนในวงการท่านหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"
สุกรี โพธิรัตนังกูร ยืนหยัดในความสามารถเสมอมาว่า "เพราะผมเก่ง" เขาจึงกลายเป็น "ราชาสิ่งทอ" ของโลกในปัจจุบัน...
พร เลี่ยวไพรัตน์ และทายาททุกคนของเขาก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทุกคนเชื่อมั่นมากว่า "พวกเราจะต้องเป็นที่หนึ่ง"!!!!
"เลี่ยวไพรัตน์" ท้าทายความเป็นหนึ่งมาตั้งแต่ปลายแยกของฮ่งเยี่ยะเซ้งกับการค้าผ้า
ภายหลังประสบความสำเร็จกับการขายผ้า พรจึงหันไปสร้างโรงงานลักกี้เทกซ์ โรงงานสิ่งทอใหญ่แห่งหนึ่งในช่วงปี 2500 กว่าๆ จากนั้นเขาจึงร่วมทุนกับสมาน โอภาสวงศ์ แห่งกลุ่มฮ่วยชวน พ่อค้าข้าวที่ก็โตมาจากบริษัทข้าวไทย ตั้งโรงงานไทยเกรียงปั่นทอขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง
สมาน โอภาสวงศ์ คนนี้ที่มีส่วนผลักดันให้พรผันตัวเองเข้าสู่วงการค้าข้าวส่งออกต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบในระยะไล่เลี่ยหลังจากการตั้งโรงงานไทยเกรียงปั่นทอไม่นานนัก "พรกับสมานตัดกันไม่ตาย ขายกันไม่ขาด ธุรกิจขนาดใหญ่อย่างทีพีไอ. สมานก็เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งของเลี่ยวไพรัตน์"
พร เลี่ยวไพรัตน์ เขาเลือกเดินทางสายที่ถูกต้อง!!
จากความได้เปรียบที่มีโรงสีไฟใหญ่เป็นฐานการผลิตราคาถูก ทำให้ทุกครั้งที่เข้าประมูลแข่งขันขายข้าวของธนาพรชัยจึงมักไม่ค่อยมีปัญหา เพียงระยะผ่านไม่นานที่ถลำเข้าสู่วงการธนาพรชัยก็เป็นพยัคฆ์เสียบปีกพุ่งทะยานขึ้นติดอันดับท้อปไฟว์อย่างไม่ยากเย็น
ระยะที่ธนาพรชัยรุ่งโรจน์มากที่สุดในกิจการค้าข้าวก็คงอยู่ในช่วงปี 2520 เป็นต้นมา ที่ประมูลขายข้าวล็อตใหญ่ๆ ได้ติดต่อกันหลายปี บางปีกลุ่มนี้ส่งข้าวออกไปขายถึง 500,000 ตัน ซึ่งเป็นสถิติที่ทำกันได้ไม่ง่าย ตลาดหลักที่หนุนเนื่องให้ธนาพรชัยโดดเด่นขึ้นมาในวงการก็คือตลาดแอฟริกากับตลาดตะวันออกกลาง ที่ธนาพรชัยเสี่ยงเข้าไปขายและได้ผลดีเกินคาดคิด โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลางที่รับข้าวนึ่งจากไทยปีละหลายแสนตันนั้น กระทั่งปัจจุบันยังไม่มีใครลบเหลี่ยมธนาพรชัยได้เลย
ปี 2530 เป็นอีกปีหนึ่งที่ธนาพรชัยฟันกำไรอย่างมหาศาลจากการสต็อกข้าวราคาถูกในช่วงต้นปีไว้ถึง 200,000 ตัน ซึ่งข้าวที่สต็อกไว้นั้นซื้อมาในราคาตันละ 5,000 บาท ครั้นเมื่อขายออกไปในช่วงกลางฤดูผลิตสามารถขายได้สูงถึงตันละ 6,000 บาท
"ปีนี้แม้ดูทีท่าว่าพวกที่สต็อกข้าวเอาไว้อาจจะเจ็บตัวกันถ้วนหน้า เพราะราคายังคงดิ่งลง แต่ของพรรค์นี้เอาอะไรแน่นอนไม่ค่อยได้ บางทีพ้นกลางปีไปแล้วราคาข้าวอาจดีดตัวสูงขึ้น ซึ่งถ้าสถานการณ์พลิกกลับอย่างนี้ ธนาพรชัยคงสบายตัวอีกปีหนึ่ง เพราะเขายังสต็อกข้าวเอาไว้อีกหลายแสนตัน" คนในวงการท่านหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"
ยุทธศาสตร์การทำการค้าอย่างหนึ่งของ "เลี่ยวไพรัตน์" ไม่ว่าจะเป็นพรหรือลูกๆ โดยเฉพาะพวกลูกๆ ที่ก้าวเข้ามารับผิดชอบงานในระยะหลังที่พรเสียชีวิตไปแล้วนั้น ก็คือ การกล้าเสี่ยงพลิกแพลงตลาดอย่างที่คนอื่นไม่กล้าทำ โดยดูได้จากการขยายตลาดข้าวไปแอฟริกาและตะวันออกกลาง กับการใช้นโยบายสต็อกข้าวในช่วง 2 ปีหลังมานี้ ปรากฏว่า พวกเขาทำได้ดีมากเลยทีเดียว
"ก็อาจมีเจ็บตัวบ้างของการขยายตลาดอย่างสุ่มเสี่ยง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลที่ได้รับแล้วยังห่างไกลกันอยู่มาก การค้าแบบเก็งกำไรของกลุ่มนี้น่ามองไม่น้อย" แหล่งข่าวกล่าว
ทุกวันนี้ธนาพรชัยยังคงรักษาอันดับท้อปไฟว์ โดยขึ้นที่ 1 สลับกับที่ 2 แข่งขันกับกลุ่มสุ่นหัวเซ้ง (เกษตรรุ่งเรือง) อยู่อย่างเป็นปกติ!!!
"ไม่ใช่คุยนะ ถ้าเราใช้นโยบายขายตัดราคาโดยถือว่ามีฐานการผลิตที่ได้เปรียบอยู่แล้วนั้น รับรองได้เลยว่าพ่อค้าข้าวรายใหญ่ๆ บางรายในขณะนี้ไม่มีโอกาสได้เกิด" ประชัย คุยกับ "ผู้จัดการ"
ช่วงที่ธนาพรชัยกำลังไปได้สวยกับการขายข้าวและบารมีส่วนตัวของพรก็เพิ่มพูนมากขึ้น เขาได้รวบรวมพ่อค้าข้าวไปก่อตั้งโรงงานทอกระสอบขึ้นที่ จ.สระบุรี ทั้งนี้หวังที่จะใช้ผลผลิตของโรงงานนี้มาซัพพอร์ตการค้าข้าว
โรงงานทอกระสอบแห่งนี้ไปได้สวยและเพียงไม่นานนักก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์เกือบผูกขาดของเลี่ยวไพรัตน์เพียงผู้เดียว จนโรงงานสามารถทำตัวเป็น "เสือนอนกิน" ตักตวงผลกำไรจากโรงสีพ่อค้าข้าวได้อย่างสบายใจเฉิบ!!??
ธนาพรชัยกับกิจการค้าข้าว ตอกย้ำความมั่นคงให้กับ "เลี่ยวไพรัตน์" หนักแน่นยิ่งขึ้น!!!!
จากฐานการเงินที่หนักแน่นของการค้าข้าว ไม่เพียงจักทำให้กลุ่มเลี่ยวไพรัตน์เป็นที่ถูกพูดมากขึ้น ยังทำให้กลุ่มนี้สามารถที่จะขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งบริษัทบางกอกสหประกันภัย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ คาเธ่ย์ไฟแนนซ์ และร่วมทุนกับคู่ขาเดิม "แต้ไพสิฏพงศ์" ตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์เบทาโกร-เซนทาโกร
โรงงานอาหารสัตว์เบทาโกร-เซนทาโกร เมื่อยี่สิบปีก่อนยิ่งใหญ่ไม่แพ้โรงงานประเภทเดียวกันนี้ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และถ้าเลี่ยวไพรัตน์ ไม่นึกเบื่อขายหุ้นทิ้งไปเสียทั้งหมดแล้วล่ะก็ ไม่แน่เหมือนกันว่าบางทีวันนี้ของเลี่ยวไพรัตน์-แต้ไพสิฏพงศ์ อาจเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ที่ซีพีต้องลอบมองการเคลื่อนไหวทุกเสี้ยวนาที
"ช่วงนั้นราวปี 2516-2517 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากกับกลุ่มเรา กิจการด้านอาหารสัตว์กำลังไปได้ดี แต่แล้วคุณย่าก็มาขอร้องว่าให้เลิกทำ เพราะถ้าขยายต่อไปก็ต้องมีการฆ่าสัตว์กันมากขึ้นเป็นการทำบาป พวกเราเห็นใจคุณย่าเลยขายหุ้นทิ้งไปเสียทั้งหมด ก็นึกเสียดายเหมือนกัน" ประชัย กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
แต่ถึงแม้จะตัดกิจการอาหารสัตว์ออกไปก็หาได้ทำให้ความน่ายำเกรงของกลุ่มเลี่ยวไพรัตน์ลดน้อยถอยหลั่นลงไปแต่อย่างใด!!??
พรแต่งงานกับบุญศรี เหล่าวรวิทย์ แม่บ้านที่ไม่มีบทบาทอะไรมากนักในการทำการค้า ทั้งสองมีลูกสาว-ลูกชาย ด้วยกันทั้งสิ้น 6 คน คือ
มาลินี เลี่ยวไพรัตน์ - ลูกคนแรกของพรที่กลายเป็นนายกสมาคมประกันวินาศภัยที่เป็นผู้หญิงคนแรกของเมืองไทยคนนี้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่จุฬาฯ แล้วเข้ารับราชการที่สำนักงานประกันภัย จนได้รับทุนไปเรียนต่อด้านประกันภัยที่มหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา
มาลินีกลับมารับราชการอีกครั้งจนถึงปี 2516 ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ จึงได้ลาออกจากงานราชการมารับผิดชอบธุรกิจของครอบครัว โดยเป็นกรรมการผู้จัดการที่บริษัทบางกอกสหประกันภัย มาลินีเป็นคนที่จัดว่าทั้ง "เก่งและเฮง" ในเวลาเดียวกัน
ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยที่มาลินีเรียนจบมานั้น มีไม่กี่คนในเมืองไทยได้เรียน เมื่อปี 2529 เธอทำให้บางกอกสหประกันภัยมีกำไรกว่า 4 ล้านบาท และมีเบี้ยประกันสุทธิ 70 ล้านบาท จนได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมประกันวินาศภัย คุณสมบัติรับรองเพียงเท่านี้น่าเป็นสิ่งยืนยันว่าลูกสาวของพรรายนี้เขี้ยวตันไม่เบา
ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ - มือขวาของพรที่ก้าวขึ้นกุมบังเหียนธุรกิจในกลุ่มธนาพรชัยปัจจุบันคนนี้ จบมัธยมปลายที่อัสสัมชัญบางรัก แล้วเข้าเรียนต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้เพียงปีเดียวก็สอบได้ทุนโคลัมโบไปเรียนต่อที่นิวซีแลนด์ จบปริญญาตรีเกียรตินิยม วิศวกรรมไฟฟ้า จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่เบอร์กเลย์
หลังจบปริญญาโทเขากลับมาเป็นกำลังหลักให้กับธนาพรชัยทันที แม้จะเรียนมาทางด้านวิศวกรรม ทว่าประชัยก็เชี่ยวชาญคล่องแคล่วอย่างมากในเรื่องการตลาด การขยายตลาดข้าวไปแอฟริกาและตะวันออกกลางของกลุ่มนี้ก็เป็นความคิดของเขาคนนี้
"เขาเป็นคนลุย แต่ก็ออกติดจะโผงผาง" แหล่งข่าวคนหนึ่งสรุปบุคลิกของประชัย
ประทีป เลี่ยวไพรัตน์ - กรรมการผู้จัดการที่รับผิดชอบเรื่องตลาดเม็ดพลาสติก ทีพีไอ. คนนี้เรียนจบวิศวกรรม ที่จุฬาฯ แล้วไปจบปริญญาโท วิศวกรรม สาขา Industrial Engineering ที่สแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา จากนั้นจึงกลับมารับผิดชอบโรงงานอาหารสัตว์เบทาโกร-เซนทาโกร
"ไอ้หมอนี่ไม่ชอบแสดงตัวเป็นคนรวย เป็นคนสมถะทำงานตามแบบแผน หมอเป็นคนไม่กล้าตัดสินใจเท่าไร" เพื่อนนักเรียนสมัยมัธยมปลายที่อัสสัมชัญ บางรัก พูดถึงประทีปให้ฟัง
ดร.ประมวล เลี่ยวไพรัตน์ - คนแรกที่เลี่ยวไพรัตน์กล้าท้าพิสูจน์ว่า เป็นคนแรกจริงๆ ที่เรียนจบด้านปิโตรเคมี และผลงานปิโตรเคมีแห่งชาติของรัฐบาลส่วนหนึ่งก็มีคนลอกเลียนความคิดไปจาก ดร.ผู้นี้ "ผมกล้าพูดแทนน้องผมได้เลยว่า เขาเป็นคนแรกที่เรียนด้านนั้น" ประชัยกล่าว
ประมวลจบมัธยมปลายที่อัสสัมชัญ บางรัก แล้วสอบเข้าเรียนต่อคณะวิศวกรรม ที่จุฬาฯ สอบทุนโคลัมโบ ได้ลำดับที่ 1 แต่ตกสัมภาษณ์จึงเบนเข็มไปเรียนต่อปริญญาตรีที่เบอร์กเลย์ สนใจงานด้านปิโตรเคมีเป็นพิเศษ จึงเรียนจนจบปริญญาโท ได้รับทุนให้เรียนต่อปริญญาเอกที่เอ็มไอที.
ประมวลในสายตาคนทั่วๆ ไป เขาเป็นคนที่ฉลาดหลักแหลมมากที่สุด และเป็นคนที่ถอดแบบมาจากพรได้มากที่สุด เป็นทัพหนุนคนสำคัญของเลี่ยวไพรัตน์ในปัจจุบัน
ประหยัด เลี่ยวไพรัตน์ - ลูกชายคนสุดท้าย จบมัธยมปลายที่อัสสัมชัญ บางรัก เช่นกัน แล้วเรียนต่อปริญญาตรีคณะวิศวกรรม ที่จุฬาฯ เสร็จแล้วไปเรียนต่อปริญญาโทที่มิชิแกน สหรัฐอเมริกา กลับมารับผิดชอบงานด้านโรงงานทอกระสอบสหธัญพืช จ.สระบุรี
ดวงมณี เลี่ยวไพรัตน์ - ลูกสาวคนสุดท้องคนนี้ จบปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ รามคำแหง ปัจจุบันนี้แต่งงานไปแล้วกับนักธุรกิจมาเลเซีย ซึ่งมีโรงงานผลิตแป้งสาลีขนาดใหญ่ในมาเลเซีย นับเป็นลูกคนเดียวที่ไม่มีบทบาทเด่นในการทำธุรกิจของตระกูล
จะสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่า พรได้วางเส้นทางการศึกษาของลูกๆ แต่ละคนไว้เป็นอย่างดี และเป็นเรื่องน่าทึ่งมากว่า ลูกชายทุกคนของเขาต่างจบวิศวกรรม แยกสาขากันออกไปจนเกือบครบ ความสำคัญ "ไม่มีอะไรมากเลย น้องๆ เห็นพี่เรียนก็เลยเรียนตาม แต่สิ่งที่เราเรียนมานี้แหละ จะเป็นตัวชี้อนาคตกลุ่มในรุ่นพวกเราได้เป็นอย่างดี" ประชัยบอกกับ "ผู้จัดการ"
เมื่อกลุ่มเลี่ยวไพรัตน์ได้ขายหุ้นทั้งหมดของเบทาโกร-เซนทาโกร ก็เป็นช่วงที่ประมวลกลับจากสหรัฐอเมริกาปี 2521 เขาชักชวนพี่ๆ โดยเฉพาะประชัย-ประทีป ร่วมกันศึกษาโครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมพลาสติก
ประชัย-ประทีป-ประมวล มีความคิดเห็นตรงกันว่า อุตสาหกรรมพลาสติกจะมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตคนเราอย่างมากในอนาคต และในห้วงเวลาที่ยังไม่มีนักลงทุนคนไหนในเมืองไทยคิดสนใจลงทุน ก็ไม่น่ารีรออีกต่อไปที่จะเป็นผู้บุกเบิก
เดิมทีโครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนี้ได้ตั้งเค้าขึ้นในประเทศไทยแล้วเมื่อปี 2513 เมื่อกลุ่มนายเชาว์ เชาวน์ขวัญยืน เจ้าของกิจการไทยออยล์อหังการ์ประกาศก้องว่าจะสร้างโรงงานปิโตรเคมีสมบูรณ์แบบแห่งแรกที่ประกอบด้วย โรงงานขั้นต้น (Up-Stream) และโรงงานขั้นปลาย (Down-Stream) และโรงงานต่อเนื่องอีกหลายโรงงานในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ในขนาดเนื้อที่ 2,000 ไร่ โดยจะร่วมทุนกับเชลล์ และมิตซูบิชิ
โครงการยักษ์ที่จะพลิกโฉมหน้าใหม่อุตสาหกรรมไทยโครงการนี้ได้รับบัตรส่งเสริมจาก BOI เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่จนแล้วจนรอดด้วยนานาปัญหาก็ไม่อาจสร้างสรรค์โครงการขึ้นมาให้เป็นจริงได้ จนบัตรส่งเสริมถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2521
บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย เป็นอีกรายหนึ่งที่สนใจหยิบยกโครงการนี้ขึ้นมาศึกษาความเป็นไปได้อย่างละเอียดลึกซึ้งอีกครั้งหนึ่ง แล้วพบว่าถ้าจะให้โครงการนี้เกิดจะต้องใช้เงินลงทุนสูงหลายพันล้านในการทำเป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ที่พิจารณาแล้วไม่คุ้มกัน ดังนั้นโครงการนี้จึงถูกยกเลิก
ปีเดียวกันนี้เอง ประชัย-ประทีป-ประมวล เลี่ยวไพรัตน์ ร่วมกันจัดตั้งบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (ทีพีไอ.) ขึ้นมาด้วยความเข้าใจพื้นฐานว่า โครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเมืองไทยน่าที่จะมีโอกาสเกิดขึ้นมาได้
"คนอื่นเขาทิ้งกันไปหมดแล้วอย่างไม่มีเยื่อใย แต่พวกเรายังเชื่อมั่นว่าโครงการนี้เป็นไปได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า เรามีความชำนาญเรื่องนี้เป็นพิเศษ การศึกษาของพวกเราพบว่าถ้าจะให้มันเกิดก็ต้องเริ่มจากการทำโรงงานขั้นปลายไปหาโรงงานขั้นต้น เพราะในทางเทคนิคแล้วสามารถขนถ่ายเอทธิลีนเหลวเข้ามาเป็นวัตถุดิบเบื้องต้นได้ ประกอบกับเราสอบถามไปยังรัฐบาลแล้วว่า ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีเพียงพอที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ได้ เราจึงสู้อย่างไม่มีเงื่อนไข" ประชัยคุยถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เลี่ยวไพรัตน์ต้องกระโจนเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลาสติกในนามบริษัท "ทีพีไอ."
จุดเริ่มที่ใครๆ ว่า ทีพีไอ. ผูกขาดเริ่มกัน ณ จุดนี้!!!!
ทีพีไอ.ได้ยื่นเรื่องขอรับการส่งเสริมจาก BOI ในปี 2521 เช่นเดียวกัน สำหรับการผลิตเม็ดพลาสติกชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE) โดยมีขนาดกำลังผลิตเต็มที่ปีละ 65,000 ตัน รวมทั้งการก่อสร้างโรงงานท่าเรือ (Jetty) สำหรับขนถ่ายเอทธิลีนเหลว โดยจะเริ่มผลิตในราวปี 2525
เม็ดพลาสติกแม้จะมีความสำคัญยิ่งยวดต่ออุตสาหกรรมพลาสติกสำเร็จรูปเพียงใด ทว่าที่ผ่านมาร้อยละ 70 ประเทศไทยยังต้องนำเข้าเม็ดพลาสติกชนิดนี้จากญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ดังนั้นทีพีไอ. จึงเป็นรายแรกที่ท้าทายตามนิสัยเฉพาะตัวของเลี่ยวไพรัตน์ที่ชอบอะไรที่มันท้าทาย
ทีพีไอ. กำหนดสร้างโรงงานขึ้นที่ ต.เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง และทันทีที่มีข่าวนี้ออกไป ก็เกิดกระแสคัดค้านจากกลุ่มสิ่งแวดล้อมที่มี ดร.สุรพล สุดารา ทันควัน โดยยกอ้างเหตุผลว่า โรงงานปิโตรเคมีจะเป็นมลภาวะกับสัตว์เลี้ยงเช่นกุ้ง
ทีพีไอ. ยังมีปัญหาเรื่องที่ดินที่บอกว่ามีการรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของทหารเรือหลายร้อยไร่ จนเรื่องราวที่เกิดขึ้นต้องนำเข้า ครม. และดร.อาณัติ อาภาภิรม เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้แก้ไขปัญหากระทั่งสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
"ดีนะที่ ดร.อาณัติ เข้าใจความจำเป็น เราถูกกลั่นแกล้งมาโดยตลอด และรู้ด้วยว่าคนที่กล่าวหาพยายามสร้างม็อบขึ้นมาทำลายโครงการเรานั้น ก็เป็นผู้นำเข้าเม็ดพลาสติกรายใหญ่รายหนึ่งที่จะต้องสูญเสียผลประโยชน์หากเราสร้างโรงงานขึ้นมาได้สำเร็จ" ประชัยบอกกับ "ผู้จัดการ"
ผู้นำเข้ารายใหญ่ของเมืองไทยก็เห็นมีแต่ เครือศรีกรุงวัฒนา ของเสี่ยสว่าง เลาหทัย ไม่รู้ว่าผู้นำเข้าที่ประชัยกล่าวหาจะเป็นศรีกรุงฯ ด้วยหรือไม่!?
โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกของ ทีพีไอ. เริ่มเดินเครื่องได้ในราวปลายปี 2525 จากนั้นในปี 2527 จึงได้ขยายโรงงานเพื่อผลิตเม็ดพลาสติกชนิดความหนาแน่นต่ำแบบใหม่และชนิดความหนาแน่นสูง (LLDPE/HDPE) ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตปีละ 60,000 ตัน เพิ่มขึ้นอีก
ทีพีไอ. กับการผลิตเม็ดพลาสติกที่มีความสำคัญสูงอย่าง LLDPE/HDPE จึงเริ่มตกเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากว่า เส้นทางเดินของกลุ่มนี้เพียงแค่คิดก็น่าหวาดเสียว และถ้าหากมีการลงมือปั่นตลาดขึ้นมาจริงๆ ก็นับว่าอันตรายเสียเหลือเกิน...
ปี 2529 จึงเป็นปีที่ ทีพีไอ. ควบโครงการทุกโครงการเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ พร้อมที่จะยาตราเดินหน้าสู่ความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่ถูกจ้องมองมากว่าจะเป็น "ผู้ผูกขาด" ด้วยหรือเปล่า ในโลกของอุตสาหกรรมพลาสติกในเมืองไทย
"ทำไมจะต้องมองเราอย่างนี้ด้วย มีใครรู้ถึงความยากลำบากกว่าที่เราจะทำโครงการนี้ขึ้นมาได้บ้าง ตอนแรกไปติดต่อขอเครดิตจากแบงก์ก็ได้รับการปฏิเสธ เราต้องร่อนจดหมายไปทั่วโลกกว่า 60 ฉบับ ที่สุดจึงได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจาก UDHE และสนับสนุนการเงินระยะยาวจาก Kreditanstalt Fur Wiederaufbaw แห่งเยอรมัน รวมทั้งแบงก์กรุงเทพกับแบงก์มหานคร" ประชัยบอกเล่าให้ฟัง
เอาเถอะถึงยังไง ทีพีไอ. ก็ทำได้แล้วและน่าชื่นชมเอามากๆ เสียด้วย!!
แต่ดูเหมือนว่าความสำเร็จในเรื่องนี้ของทีพีไอ.ได้วิ่งสวนทางกับคำติฉินนินทาจากวงการพลาสติกอยู่ทุกระยะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ผูกขาดตลาดแล้วคอยกวนตลาดให้วุ่นวายอยู่เนืองๆ อาทิเช่น ในปี 2530 ตอนต้นปี ทีพีไอ.ได้ประกาศจะขึ้นราคาเม็ดพลาสติก LLDPE/HDPE ทุกเกรดประมาณ 1-1.50 บาท/กก.
ทว่า ทีพีไอ.ยังไม่ใจไม้ไส้ระกำจนเกินไป คงยินดีที่จะขายให้กับยี่ปั๊ว 11 ราย ของตนในราคาเดิม ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหา ราคาเม็ดพลาสติกขึ้นผู้บริโภคก็เป็นฝ่ายเดือดร้อนหนักฝ่ายเดียว แต่แล้วยี่ปั๊วก็ต้องพลอยโดนหางเลขไปอย่างช่วยไม่ได้ เมื่อบางรายบอกว่าได้จ่ายเงินล่วงหน้าให้ทีพีไอ.ไปแล้ว ทว่ายังไม่ได้รับของจนทำให้ตลาดขาดแคลนอย่างหนัก
"ตอนนั้นรวมเงินที่สั่งซื้อล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท การที่ ทีพีไอ.ไม่ปล่อยของออกมาทำให้เดือดร้อนกันไปทุกฝ่าย ผมว่าไม่แฟร์ที่ใช้ความเป็นผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรายเดียวในประเทศสร้างอำนาจควบคุมขึ้นมาอย่างไม่ถูกต้อง" เจ้าของโรงงานคนหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
จากปัญหาเรื่องการผูกขาดตลาดที่ผูกกันไม่รู้จบ ทำให้ ทีพีไอ.ได้รับแรงต้านอย่างรุนแรงจากผู้ใช้เม็ดพลาสติก ถึงกับเคยมีการยื่นหนังสือถึง BOI ให้ยกเลิกการเก็บ Surcharge เม็ดพลาสติกชนิด HDPE ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อหวังกดดันทีพีไอ.ให้ลดราคาขายลงมา
ทีพีไอ.ถูกทั้งไม้นวม-ไม้แข็ง อัดจนน่วมไปทั้งตัวไม่สร่างซา!!
ประชัยได้ชี้แจงปัญหาเหล่านั้นกับ "ผู้จัดการ" ว่า "หาก ทีพีไอ.คิดจะขึ้นราคาแล้ว เราทำได้ทุกเมื่อ แต่เราจะไม่ทำอย่างนั้นเด็ดขาด อีกอย่างราคาที่ ทีพีไอ.ขายอยู่ในขณะนี้ก็เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลกร่วม 10 บาท จะต้องให้ลดลงมาอีกหรือ"
การยืนกรานกระต่ายขาเดียวของ ทีพีไอ.เท่ากับเป็นการประกาศศึกกับผู้ใช้เม็ดพลาสติกที่ทีพีไอ.คิดว่ายังไงเสียตัวเองคงคุมได้อย่างออกหน้าออกตา!!!! และความท้าทายดังกล่าวยังคงสืบเนื่องพร้อมที่จะระเบิดได้ทุกเมื่อจนถึงปัจจุบัน!!??
โลกของอุตสาหกรรมพลาสติกยังคงทวีความสำคัญมากขึ้นๆ ในปัจจุบันและอนาคต ความกล้าหาญของทีพีไอ.ที่กระโดดลงมาสู่อุตสาหกรรมนี้ เป็นเรื่องที่ไม่น่ายินดีเท่าไรนัก ถ้าจะต้องมามีปัญหากับผู้ใช้เม็ดพลาสติกและผู้บริโภคที่ต้องพลอยรับเคราะห์กรรมโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่
หากข้อเท็จจริงเป็นดั่งคำกล่าวหา คงไม่เกินไปที่ ทีพีไอ.จะปรับท่าทีของตนเสียใหม่ บางเรื่องอาจมีเวลาให้คนเราไตร่ตรองทบทวนเป็นระยะเวลายาวนาน แต่บางเรื่องแม้จะสำนึกได้ในวันนี้ บางทีก็อาจสายเกินไปเสียแล้ว!!!!
ทีพีไอ.คงไม่อยากเป็นอย่างนั้นแน่นอน!!!!
เพราะมูลค่าที่นับวันๆ จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของอุตสาหกรรมพลาสติก ยังคงมีให้เคี้ยวกินได้อีกยาวนาน????
|
|
|
|
|