|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2531
|
 |
ถ้ากลับเวลาย้อนสู่อดีตไปตั้งต้นใหม่ได้ มีหลายคนอาจกล่าวถึง BOI ว่า "อยากให้ชีวิตนี้ไม่มีเธอ" ออกจะเป็นการยากที่จะให้สิ่งนี้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมา แต่ปริศนาที่ตั้งไว้ว่า "ทุบทิ้งเสียดีไหม" ถูกเฉลยไว้ด้วยผลสะเทือนในทางลบที่ BOI ได้สร้างไว้ จึงทำให้คำตอบปรากฏเป็นจริงออกมาแล้ว "ชีวิตนับแต่นี้ไม่มีเธอจะดีกว่า"!!
ในช่วงที่อุตสาหกรรมไทยยังอยู่ในขั้นทารก และเศรษฐกิจก็มีสภาพ "ด้อยพัฒนา" โดยเฉพาะการขาดแคลนทุนและประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ไม่สามารถโอบอุ้มเลี้ยงดูอุตสาหกรรมไทยให้เติบใหญ่ขึ้นมาได้ จึงต้อง "พึ่งพา" ทุนและเทคโนโลยีจากต่างชาติ ปัญหาก็เสนอตัวขึ้นมาต่อหน้ารัฐบาลในเวลานั้นว่า ทำอย่างไรจึงจะดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศ และทำอย่างไรจะทำให้อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มทุนไทยให้ขยายตัวไปอย่างมั่นคง
ความเชื่อง่ายๆ ในขณะนั้นก็คือ รัฐจะต้องเข้าไปส่งเสริมการลงทุน สิ่งนี้ก็แปรมาเป็นนโยบายและการปฏิบัติของหน่วยงาน 3 ส่วนด้วยกัน คือ กระทรวงการคลังใช้อำนาจผ่านกรมศุลกากรและสำนักงานเศรษฐกิจการคลังตั้งกำแพงภาษีเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาแข่งขัน กระทรวงพาณิชย์เป็นกลไกผลักดันมาตรการจำกัดการนำเข้า และนโยบายพรีเมี่ยมข้าว ซึ่งอย่างหลังนี้ทำให้ราคาข้าวในประเทศต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้ค่าครองชีพและค่าจ้างแรงงานต่ำไปด้วยช่วยลดต้นทุนการผลิต
หน่วยงานสุดท้ายคือ BOI ซึ่งรับผิดชอบงานนี้โดยตรง มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ได้รับการส่งเสริมในช่วงเวลาหนึ่ง ยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าและภาษีการค้าของเครื่องจักรและวัตถุดิบ และการกำหนดค่าธรรมเนียมนำเข้าพิเศษ (Import Surcharge)
ตัวบิดเบือนโครงสร้างอุตสาหกรรม
BOI ดำเนินมาตรการเหล่านี้มากว่า 20 ปีแล้ว ความสำเร็จและความล้มเหลวกลายเป็นประเด็นสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะนับวันอิทธิพลของ BOI จะครอบงำกำกับชะตากรรมของอุตสาหกรรมไทยทุกขณะ การประเมิน BOI จึงเรียกร้องความลึกซึ้งของหลักวิชาเป็นอย่างยิ่ง
งานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์หลายสิบชิ้นกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า BOI ตามไม่ทันการปรับเปลี่ยนของโครงสร้างอุตสาหกรรม แรกเริ่มเดิมที BOI ใช้มาตรการต่างๆ ข้างต้น เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า กิจการส่วนใหญ่มีตลาดสินค้าภายในประเทศ ผลิตสินค้าอุปโภคขั้นสุดท้าย (Final Product) โดยอาศัยวัตถุดิบและเครื่องจักรจากต่างประเทศเพราะมีแรงจูงใจจาก BOI ช่วงทศวรรษ 1960-70 จึงมีการเก็บภาษีสินค้าสำเร็จรูปที่นำเข้าในอัตราที่สูง ขณะที่กับสินค้าทุนและวัตถุดิบเรียกเก็บต่ำกว่า
สภาพเช่นนี้ส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าบริโภคที่ใช้วัตถุดิบและสินค้าทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มักจะเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการประกอบชิ้นส่วน หรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศเพื่อขายภายในประเทศเป็นหลัก
นอกจากนี้การเรียกเก็บภาษีการค้าทุกครั้งที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยน ทำให้สินค้าที่มีการผลิตหลายขั้นตอนและต้องอาศัยวัตถุดิบและสินค้าทุนในแต่ละขั้นตอนต้องถูกเรียกเก็บภาษีอย่างซ้ำซ้อน แม้ว่าภาษีการค้าที่ซ้ำซ้อนนี้จะมีเป้าหมายให้หน่วยผลิตนั้นๆ ขยายตัวรวมขั้นตอนการผลิตทุกขั้นไว้ในกิจการเดียวกันแบบที่เรียกว่า Vertical Integration
โครงสร้างภาษีทั้งสองลักษณะส่งผลเสียต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมให้โน้มเอียงไป ผลิตแต่สินค้าบริโภคที่มีราคาสูงได้กำไรเกินควรจากการขายโดยไม่มีคู่แข่งและไม่มีมาตรฐานเหมือนสินค้าจากต่างประเทศ กระบวนการผลิตแบบแนวตั้งก็ไม่ช่วยให้เกิด Specialization ทั้งยังจำกัดการรับช่วงการผลิต (Sub-Contracting) ระหว่างกิจการอุตสาหกรรมและจำกัดการขยายตัวการผลิตสินค้าทุนและวัตถุดิบในประเทศ มองจากจุดอ่อนเหล่านี้จะพบว่า BOI ได้สนับสนุนให้อุตสาหกรรมของไทยหวังแต่เพียงกอบโกยกำไรจากการผูกขาดและอภิสิทธิ์ต่างๆ ที่ได้รับจาก BOI เป็นเสมือนเด็กที่ไม่ยอมหย่านมมารดา อุตสาหกรรมของเราจึงผิวเผินอย่างยิ่ง
"เราจะเล่นพระคุณไปเรื่อยๆ โดยส่งเสริมการลงทุน มีแต่บุญคุณให้แล้วจะไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย เพราะว่าที่เรามุ่งครั้งแรก เราต้องการทดแทนการนำเข้า มันง่ายเพราะผู้นำเข้ามีตลาดอยู่แล้ว สมมุติสั่งยางเข้ามาขาย วันดีคืนดีตั้งโรงงานยางขึ้นก็เอาสินค้าเข้าไปแทรกตลาด ที่ขายๆ อาจจะไม่ให้มีขายก็ได้เอาของผมดีกว่าทำในนี้ เพราะฉะนั้นคุมตลาดอยู่แล้วทำได้ก็แทรกเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดไม่มีนำเข้า หลังจากนี้จะส่งออกมีปัญหาเพราะเราไม่ได้เตรียมเรื่องส่งออก" วีระ สุสังกรกาญจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมวิเคราะห์ให้เห็นและ Comment ต่อว่า
"มาร์จินกำไรที่จะทำในนี้ได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันได้ส่งเสริมภายในด้วย เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ทำได้แทนได้แต่จะถึงขั้นส่งออกทำไม่ได้ ยกตัวอย่างยางรถยนต์ เชื่อไหมยางเรเดียลเราทำไม่ได้ ที่พูดเรเดียล เราสั่งโครงเรเดียลมาจากนอกมาหล่อดอก ตัวเรเดียลทำไม่ได้เลย" (ประชาชาติ, 29 ธ.ค. 2527)
BOI มีความเชื่อว่า โครงการลงทุนแบบทดแทนการนำเข้าโดยมีนายทุนต่างชาติมาร่วมด้วยนั้น จะทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตขึ้นมาได้ ผลที่ออกมาก็คือเราได้เพียงโรงงานร่วมทุนที่นายทุนไทยสร้างอุตสาหกรรมที่ปั่นกำไรได้รวดเร็วตามลักษณะของพ่อค้า ซึ่งไม่ใช่คุณสมบัติของอุตสาหกร
ความล้มเหลวของอุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นภาพฟ้อง BOI ได้ชัดเจนอันหนึ่ง เพราะอุตสาหกรรมขนาดย่อมปริมาณ 97 เปอร์เซ็นต์ที่ครึ่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ อีกครึ่งหนึ่งกระจายอยู่ตามต่างจังหวัด ถูกขูดรีดภาษีเงินได้นิติบุคคลมากกว่ากิจการขนาดใหญ่ เพราะว่ากิจการอย่างหลังนี้ได้รับการส่งเสริมจาก BOI หรือสามารถเข้าตลาดหุ้นทำให้ได้ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล
อุตสาหกรรมขนาดย่อมจึงแคระแกน เป็นเพียงจอกแหนไร้รากที่ผู้ประกอบการเกิด เติบโต และตายจากไปกับโรงงานห้องแถวของเขา
ทีนี้การส่งเสริมไม่ใช่เพียงให้มีโรงงานตั้งอยู่เท่านั้น แต่จะต้องพัฒนาโรงงานเหล่านั้นให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ และส่งออกไปแข่งขันในตลาดโลกนำเงินตราต่างประเทศเข้ามายกระดับรายได้ และการสะสมทุนภายใน
แต่จนทุกวันนี้หลักเกณฑ์การส่งเสริมยังคงเอื้อต่ออุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า แม้ว่าจะมีนโยบายอุตสาหกรรมส่งออกตั้งแต่ปี 2513 การบิดเบือนเช่นนี้เท่ากับเปิดช่องโอกาสให้อุตสาหกรรมประดามีเอาเปรียบผู้ประกอบการรายอื่น และกระทบผู้บริโภค กรณีศึกษาอันหนึ่งที่ชี้ชัด คือ การที่ BOI โอบอุ้มบริษัทฟินิคซ พัลพ์ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด เกินกว่าเหตุ
ช่วงแรกที่ฟินิคซยังอยู่ในนาม ยูไนเต็ด พัลพ์ แอนด์ เพเพอร์ ซึ่งก่อตั้งปี 2514 ด้วยน้ำมือของ สำเร็จ บุนนาค BOI ออกบัตรส่งเสริมให้ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2513 แต่เพราะมีปัญหาการรวบรวมเงินทุน โครงการก็ล้มเลิกไป ทาง BOI ก็ถอนบัตรส่งเสริม จนเมื่อมาตกอยู่ในมือของ สมศักดิ์ พิทักษ์มงคลกุล ผลักดันให้ฟินิคซได้รับการส่งเสริมอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ไม่เพียง BOI จะต้องเสริมส่งตามปกติ แต่กลับโอบอุ้มตลอดไป
คราวที่ฟินิคซประสบกับวิกฤต ที่ราคาเยื่อกระดาษยิ่งมายิ่งตกต่ำลง ขณะเดียวกันผู้ผลิตรายใหญ่ทั่วโลกพากันทุ่มผลิตชนิดไม่คำนึงถึงต้นทุน เยื่อกระดาษเหมือนกำลังทะลักเข้ามาตีตลาดในไทย โครงการ 2,000 ล้าน ของฟินิคซถูกสั่นสะเทือนปั่นป่วน และเพราะฟินิคซรู้ว่าจะเข้าไม้ไหนจึงคลี่คลายภาวะรุ่มร้อนนี้ไปได้
ผลปรากฏว่า กระทรวงการคลัง เก็บอากรขาเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษจาก 9% เป็น 10% ของราคานำเข้า เท่านั้นยังไม่พอ BOI ประกาศเก็บ Surcharge จากการนำเข้าเยื่อกระดาษในอัตรา 20% เป็นเวลา 1 ปี จากนั้นเมื่อใกล้ช่วงหมด Surcharge ฟินิคซยังไม่เลิกที่จะใช้อำนาจล้นฟ้าของ BOI มาขยายอาณาจักรของตน โดยผลักดันให้ BOI จัดสรรระบบโควต้าการนำเข้าซึ่งขึ้นต่อการซื้อสินค้าจากฟินิคซ เท่ากับทำให้ตลาดภายในถูกผูกขาดโดยฟินิคซ แต่แผนไม่สำเร็จ เรื่องมาต่อรองกันได้ข้อสรุปว่า BOI จะต่ออายุ Surcharge ให้ปี 2526 อีกหนึ่งปี
ใครที่คิดว่า คงจะพอกันที่ ฟินิคซควรจะยืนได้ด้วยลำแข้งของตนเสียที คนผู้นั้นคิดผิดแล้ว ผลประโยชน์ที่ได้จาก BOI สอนให้ฟินิคซรู้จักแต่กอบโกยบนความเดือนร้อนของผู้บริโภค และการเอารัดเอาเปรียบผู้ประกอบการรายอื่น ในปีนั้นเอง มีคำร้องเรียนจากกลุ่มผู้นำเข้าไม่ให้ต่ออายุ Surcharge ของการนำเข้าเยื่อกระดาษออกไปอีก แต่เสียงนี้กลับไม่อาจทัดทานมติของ BOI ที่ผลักดันโดยรองเลขาฯ ชีระไปได้ ผลก็คือ ฟินิคซรับประทาน surcharge ปี 2527 เสียพุงกาง คือตั้งราคาไว้สูงและผูกขาดตลาด
ตัวอย่างนี้ชี้ชัดว่า ผลประโยชน์จากการให้ surcharge มากมายมหาศาล กลุ่มทุนอุตสาหกรรมกลุ่มใดก็อยากได้ทั้งนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แทนที่จะส่งเสริมให้กลุ่มทุนสนใจพัฒนาพลังการผลิตของตน ก็หันมาวางกลยุทธ์ เล่นเกมใต้ดินเพื่อผลประโยชน์ชิ้นนี้ไม่ดีกว่าหรือ ยิ่งผู้หยิบยื่นผลประโยชน์มหาศาลนี้คือข้าราชการใน BOI ด้วยแล้ว ก็ไม่ต้องเดาให้ยากเลยว่าพวกเขาจะไม่อิ่มด้วย ตราบใดที่สภาพยังเป็นเช่นนี้ "ก็เท่ากับ BOI และกลุ่มทุนอิทธิพลได้กลายเป็นตัวเหนี่ยวรั้งความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมไทย
ที่จริงแล้วเราต้องการให้อุตสาหกรรมของเรามีประสิทธิภาพใช่มั้ย เราต้องการให้อุตสาหกรรมของเราแข่งขันกับต่างประเทศได้ใช่มั้ย เราไม่ควรจะอุดหนุนอุตสาหกรรมของเราจนเกินเหตุ มันจะบิดเบือนเศรษฐกิจของโรงงานนั้น ทำให้ดูเหมือนมีกำไร ทั้งๆ ที่มันขาดทุน ทำให้ของๆ เราแข่งกับต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องทดสอบดูว่าของๆ เราแข่งขันกับต่างประเทศได้หรือยัง ผมไม่เห็นด้วยเลยกับการมีกำแพงภาษี ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ มัน Distort โรงงานแล้วยังทำให้ผู้บริโภคอย่างเราต้องเดือดร้อน ซื้อของแพง โรงงานขนาดเล็กขนาดย่อมที่จะนำของพวกนี้ไปผลิต ก็ผลิตในราคาต้นทุนที่แพงกว่าคู่แข่งอื่นๆ" ดร.สาวิต Comment ในสิ่งที่ควรเปลี่ยนแปลงได้ตั้งนานแล้ว จึงเสนอทางออกว่า
"เพราะฉะนั้น สิทธิประโยชน์อะไรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการลดต้นทุนการผลิต ผมโดยส่วนตัวแล้ว ถ้าไม่จำเป็นไม่อยากให้แล้ว ในกรณีที่มีการแข่งขันกันกว่า 60 รายใน NPC-2 นี่เราน่าจะลดสิทธิประโยชน์ ตรงกันข้ามเราอาจจะไปถึงขั้นวางเงื่อนไขได้ว่ารายไหนจะให้ผลประโยชน์แก่ประเทศ เช่นถ้าคุณจะลงทุนโรงงานนี้ คุณอาจจะต้องมีเงื่อนไข Transfer Technology ให้เรา แทนที่ตอนนี้เราจะมานั่งคิดว่าจะให้ใครคนไหนดี ก็มาปรับกติกากันใหม่"
ตัวฉุดรั้งการพัฒนาประเทศ
เกณฑ์การพิจารณาความเจริญของประเทศหนึ่งๆ ก็คือ การขยายตัวของการจ้างงาน แต่กับประเทศเรา เกณฑ์อันนี้กลับด้อยค่าไร้ความหมายไปโดยปริยาย เพราะตัวเลขการจ้างงานจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมน้อยเอามากๆ
ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจาก BOI ให้สิทธิประโยชน์ชนิด 100% กับกลุ่มอุตสาหกรรมที่อาศัยเครื่องจักรทำการผลิตเป็นหลัก (Capital Intensive Industry) ให้ชนิด 50% กับกลุ่มอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนซึ่งมีการจ้างงานน้อยอย่างยิ่ง
ในทางตรงกันข้ามกลับให้สิทธิประโยชน์ชนิด 33.33% แก่กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าซึ่งจ้างงานมากกว่า อันที่จริงกลุ่มนี้โดยเฉพาะการแปรรูปสินค้าเกษตร เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมเกษตรของประเทศเรามากที่สุด แต่ BOI กลับทอดทิ้งอย่างเลือกที่รักมักที่ชัง ปล่อยให้อุตสาหกรรมเหล่านี้เผชิญโชคไปตามยถากรรม
"เรามีนโยบายจะผลักดันให้อุตสาหกรรมไปอยู่ส่วนภูมิภาค ผลักไม่ได้ผลักแล้วตาย หนึ่ง ขั้นแรกเงินทุนนี่ในต่างจังหวัดถ้าเทียบกับประเทศ ต่างจังหวัดเสียดุลการค้าดุลการชำระเงินทุกจังหวัดเลย สังเกตดูขอนแก่นมีธนาคารชาติไปโกยเงินกลับเข้ากรุงเทพฯ ลำปาง หาดใหญ่ก็มี นั่นคือการขนเงินออกจากจังหวัดเหล่านั้น เมื่อลงทุนไม่ได้ ขั้นสองถัดมาความรู้ไม่มี ประการที่สามแรงงานไม่มี แรงงานเดี๋ยวนี้ไม่มีความชำนาญ แรงงานธรรมดามีต้องไปพัฒนาเขาก็เรียกว่าไม่มี ขาดแคลนวัตถุดิบ" วีระ สุสังกรกาญจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ปัญหาที่น่าอเน็จอนาถ และลงรายละเอียดว่า
"วัตถุดิบอย่านึกว่ามีนะ มีนิดๆ หน่อยๆ เช่น ผลไม้กระป๋องเอาจริงๆ ไม่มี อย่างยูเอฟซีของลำปาง มีสายบรรจุตั้ง 8 สาย เดินจริงๆ 2-3 สาย หาอะไรไม่ได้ มะเขือเทศไม่มี ลิ้นจี่ ลำไยมีเฉพาะฤดู เอาเข้าจริงๆ ไม่มี" (ประชาชาติ, 29 ธ.ค. 2527)
ปัญหาเหล่านี้คงไม่ได้หยั่งลึกลงในจิตใจ BOI เพราะลำพังการให้สิทธิประโยชน์พิเศษแก่กิจการที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคด้วยการลดภาษีเงินได้กึ่งหนึ่งหลังจากที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ และการลดภาษีการค้าสำหรับการขายผลิตภัณฑ์ไม่เกิน 90% เป็นเวลา 5 ปี เป็นเพียงการแต่งแต้มนโยบายที่ปลายเหตุเท่านั้น
ที่ฉกาจฉกรรจ์กว่านั้นก็คือ BOI เป็นตัวทำลายรายได้ของรัฐที่ควรจะได้ จากงานวิจัยที่ ดาว มงคลสมัย และคณะ ศึกษาถึงผลกระทบที่ BOI กระทำต่อรายได้รัฐบาลในวารสารเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ปีที่ 3 มีนาคม 2528 ระบุว่า ในบรรดากิจการที่ BOI ส่งเสริมนั้น จำนวน 31% เป็นกิจการมีผลตอบแทนต่ำ จำเป็นต้องพึ่งพา BOI จึงจะอยู่ได้ แต่ทว่ากิจการที่เหลือจำนวน 69% ให้ผลตอบแทนสูง ควรดำเนินการได้โดยไม่ต้องพึ่ง BOI ตรงกันข้าม กิจการเหล่านี้ควรจะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีการค้าอากรขาเข้า วัตถุดิบและเครื่องจักรแก่รัฐบาลให้เต็มที่
ไม่น่าสงสัยเลยว่าการที่ BOI ยังโอบอุ้มกิจการอย่างหลังนี้ต่อไปอีก เท่ากับนำผลประโยชน์ของชาติ ของประชาชนไปบูชายัญให้กับกลุ่มทุนอิทธิพลโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอากรขาเข้าและภาษีการค้าวัตถุดิบและเครื่องจักร ซึ่งถือเป็นรายได้จำนวนมหึมาที่สำคัญต่อรัฐมากกว่าแหล่งอื่นๆ ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลยังนับว่าสำคัญน้อยกว่า เพราะในช่วง 2-3 ปีแรก กิจการมักจะขาดุทน
งานวิจัยชิ้นนี้ยังคำนวณให้เห็นด้วยว่า ภาษีอากรที่รัฐควรจะเก็บเข้าคลังเพื่อทนุบำรุงอาณาประชาราษฎร์ กลับถูก BOI ฉกชิงไปโปรยทานให้กลุ่มทุนอิทธิพลถลุงเล่น เงินจำนวนนั้นประมาณ 3,000 ล้านบาท นั่นเป็นตัวเลขปี 2523 ก็มากมายมหาศาลอยู่แล้ว นับถึงปีนี้มิมโหฬารสุดคณานับหรือ
ไม่ต้องตกใจไป ประวัติศาสตร์การปล้นชาติในอดีตยังหนักหน่วงกว่านี้อีกมิใช่หรือ?
นักวางแผนที่อวดวิเศษ
ภารกิจที่ BOI กระทำอยู่ทุกวันคือ มานั่งดูโครงการต่างๆ ที่เสนอเข้ามา แล้วมาระบุว่าจะอนุมัติของคนนี้ ไม่อนุมัติของคนโน้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่พฤติกรรมเช่นนี้ตอกย้ำให้ BOI เชื่อว่า ตนรู้ดีกว่านักลงทุน ตนนั้นเป็นผู้สร้างความเจริญให้กับนักลงทุน และในที่สุดก็ไปสู่ความคลั่งไคล้ใหลหลงว่า จะขาดตนมิได้ การลงทุนจะไม่เกิดขึ้น อุตสาหกรรมไทยจะหลงทิศผิดทาง ถ้าไม่มี BOI
แล้วจากนั้น BOI ก็ขยายความเชื่อของตนให้เป็นลัทธิเข้าครอบงำผู้คน และก็ได้ผลเสียด้วย นักลงทุนต้องคอยดูทิศทางของ BOI และต้อง Approach ให้ BOI ช่วยเหลืออุ้มชู แต่นั่นเป็นเพียงการอวดอุสตริมนุษสธรรมของ BOI เท่านั้น ดร.อัมมาร์ สยามวาลา หยิบเรื่องการส่งเสริมกิจการโรงแรมขึ้นมาซักค้าน และทำลายมายาการของ BOI อย่างชัดเจนที่สุด
"สำหรับกิจการโรงแรม ผมใช้คำว่าลักปิดลักเปิดมาตลอด คือมันมีอยู่บางระยะที่ทุกคนหยุดลงทุนเพราะ BOI ไม่ให้ลงทุน ที่ BOI ไม่ให้ลงทุนก็เพราะว่าเขาบอกว่ามันล้น แต่ทันทีที่ทุกคนหยุดลงทุนพร้อมๆ กัน มันก็จะขาดพร้อมๆ กัน อีกสี่ห้าปีมันเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เอ้า! ตอนนั้นทุกคนหน้าตื่นกันเป็นแถว BOI บอกไฟเขียว ทีนี้ทุกคนก็รู้ว่า BOI ไฟเขียว อีก 2 ปี BOI ไฟแดงใหม่ จะทำอะไรก็รีบทำในสองปีนี้ แทนที่จะค่อยๆ กระจายกันไป คนนี้ลงทุนก่อน คนนี้ลงทุนตามมาตามสภาวการณ์ของมัน มันก็ออกมาเหมือนคุณบีบยาสีฟัน มันปลิ๊ดๆๆ ออกมาเรื่อยๆ"
"ไอ้ความที่มันจะสม่ำเสมอ อย่างเป็นระเบียบนี่ซึ่งองค์กรของรัฐน่าจะทำได้ดีกว่า ถ้าหากคุณใช้ทฤษฎีวางแผนว่า มีคนที่เขาชาญฉลาดอย่างยิ่งนั่งอยู่มองเห็นเหมือนเหยี่ยวมองลงมาเห็นภาพรวมทั้งหมดแล้วตัดสินใจบอกว่า ตรงนี้ลงๆๆ มันก็ Smooth แบบ Socialist Planning แต่ตรงกันข้าม สิ่งที่ BOI ทำนี่ มันทำให้ยิ่งแกว่งขึ้น และแกว่งแรงขึ้น"
ส่วนกรณีศึกษาที่สอง เป็นเรื่องการส่งเสริมปาล์มน้ำมัน กิจการประเภทนี้ประกอบด้วยขั้นตอนการผลิต 3 ขั้นด้วยกัน คือ จากการปลูก เสร็จแล้วเอาลูกมาสกัดเป็นน้ำมันดิบ (Crude Palm Oil - CPO) จากนั้นนำน้ำมันนี้มากลั่นบริสุทธิ์เพื่อใช้บริโภค โครงการนี้ BOI ส่งเสริมไปแล้ว 2 ขั้นตอนการผลิต ส่วนขั้นที่ 3 จะดำเนินต่อไป และก็นับเป็นโครงการอุตสาหกรรมการเกษตรแรกสุดที่ BOI ให้การส่งเสริมตั้งแต่ปี 1972 ที่กระบี่ ต่อมาบริษัทยูนิลีเวอร์ก็มาร่วมทุนด้วย ตั้งเป็นบริษัทยูนิวานิช ของเอกพจน์ วานิช ลูกชายนายเจีย วานิช ผู้จัดการแบงก์กรุงเทพสาขาหาดใหญ่เป็นคนโตภาคใต้ในเวลานั้น
เรื่องมาเป็นปัญหาก็ช่วงหลังจากปี 1977-1978 ที่บริษัทสกัดน้ำมันปาล์มขยายตัวอย่างมากถึง 12 แห่ง เพื่อรองรับปาล์มที่กำลังเติบโตได้ที่ และบริษัทกลั่นบริสุทธิ์ก็เกิดขึ้นถึง 6 แห่ง ทั้งหมดได้รับการส่งเสริมทั้งสิ้น แต่สองปีต่อมาเกิดการนำเข้าน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า เป็นการเปิดตลาดน้ำมันปาล์มครั้งยิ่งใหญ่ ผลก็คือตลาดภายในเกิดการแข่งขันอย่างเสรี จนปี 1981 BOI เริ่มขยับตัวสั่งเก็บ Surcharge 20% เป็นเวลา 1 ปี จากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นระบบกำหนดโควตาการนำเข้าโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรการปิดกั้นการแข่งขันเสรีที่หนักหน่วงยิ่งขึ้นไปอีกในปี 1982
ก็สมใจ BOI ปีต่อมาการนำเข้าลดลงจากหมื่นตันเหลือ 3 พันตัน ช่วงนี้ปาล์มปลูกกันมาก ก็เกิดการขยายตัวขอส่งเสริมโรงงานสกัดและกลั่นจนล้นเกิน ทาง BOI จึงสั่งหยุดได้เพียงปีเดียว พอ 1985 ก็เปิดส่งเสริมกันใหม่ มีนักลงทุนแห่กันมาขอ 20-30 โรง ทำให้เกิดปัญหาไม่รู้จะเลือกใครดี แต่นั่นยังไม่ฉกรรจ์เท่ากับเป็นปีเดียวกันที่ทางมาเลเซียทุ่มตลาด ราคาน้ำมันปาล์มดิ่งลงถึงหนึ่งในสาม การลงทุนของไทยพังพินาศเป็นแถบ
กรณีอย่างนี้สรุปสั้นๆ ได้ใจความว่า เป็นเรื่องของ The Blind Leading The Blind
สถาพร รองเลขาฯ BOI ผู้เจนจัดด้านการวางแผนยืนยันอยู่เสมอมาว่า นโยบายส่งเสริมการลงทุนไม่ใช่นโยบายอิสระ แต่เป็นนโยบายที่จะต้องสอดคล้องกันไปกับการบริหารเศรษฐกิจทั่วประเทศ ถ้าเราทำให้แผนมีประสิทธิภาพเช่นนี้ การทำงานก็จะเป็นระบบ BOI ก็จะมีทิศทางที่ชัดเจนแน่นอน กำกับทิศทางทั่วประเทศได้
ความเชื่อเช่นนี้ดูมีเหตุมีผล แต่สถาพรไม่เข้าใจหรอกว่า "คนวงในย่อมงมงาย" สถาพรงมงายแล้วจึงหลงลืมไปว่า คนที่กำกับแผนอยู่ก็คือ "ข้าราชการ" คำๆ นี้มี Image ในตัวเองอยู่แล้ว ถึงความแปลกแยกที่มีต่อบุคคลอื่น และเมื่อรวมตัวเป็น "กลไก" ที่ทั้งเปี่ยมด้วยอำนาจ ทั้งถ่ายถอนตนจากการตรวจสอบของประชาชน มันก็เป็น "อาณาจักร" ที่ฉ้อฉลและหย่อนศักยภาพ ไหนเลยจะควบคุมการทำงานเป็นระบบดังสถาพรหวังได้เล่า
บทสรุป : ทุบทิ้ง BOI
ความเห็นของ "ผู้จัดการ" มาตรงกับ ดร.อัมมาร์ ในจุดนี้หลังจากที่ Study เรื่องนี้อยู่นานและลงรายละเอียดกันอย่างหนักหน่วงในช่วง 2 เดือนมานี้
ที่ตรงกันก็คือ ไม่เห็นประโยชน์ที่จะมี BOI ไว้รับใช้กลุ่มทุนรายใหญ่ โดยประกันความเสี่ยงจากการลงทุนไว้เกือบทุกด้าน (โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์) แล้วผลักภาระความเสี่ยงเหล่านั้นไปให้ผู้บริโภคฝ่ายเดียว เราเห็นว่า ควรปล่อยให้กลุ่มทุนซึ่งมีศักยภาพที่จะเลี้ยงตัวเองได้แล้วแข่งขันกันเอง และรับผลกระทบไปตามกลไกตลาดด้วยตนเอง โดยปราศจากการแทรกแซงจาก BOI
การปล่อยให้อำนาจของ BOI เข้ากำกับอุตสาหกรรมขั้นทารกในช่วงทศวรรษแรกหลังปี 2503 นั้นยังพอเข้าใจได้อยู่ เพราะกลไกรัฐมีบทบาทสำคัญในการสร้างการร่วมทุนระหว่างทุนต่างชาติกับทุนไทยให้บังเกิดเป็นจริง เพื่อที่ทุนไทยจะได้มีช่องเติบใหญ่ในอนาคต
แต่นับจากปี 2513 ที่ประกาศนโยบายส่งเสริมการส่งออก จุดนั้นเป็นตัวชี้ได้ชัดเจนว่า ทุนไทยสามารถยืนหยัดอยู่ในสนามการแข่งขันที่ได้มาตรฐานได้แล้ว และประชาชนไทยทุกคนอยากเห็นพลังการผลิตของเราทัดเทียมกับชาติอื่น และมีส่วนได้ลิ้มรสดอกผลอันนี้ เพื่อขยายขอบเขตคุณภาพชีวิตในระดับสากลด้วย
ขณะเดียวกันพันธนาการแห่งความล้าหลังของภาคเกษตรในส่วนภูมิภาค ก็เป็นภารกิจที่ควรได้รับปลดเปลื้องด้วยการส่งเสริมการลงทุนที่ทันสมัยของนวัตกรรม (Innovation) ที่ไม่ใช่แอกอันเก่าที่กดทับชีวิตชาวนาให้จมปลักอยู่กับความจนตลอดมา
การปล่อยให้ความมั่งคั่งตกอยู่กับกลุ่มทุนอิทธิพลบางกลุ่ม และอำนาจอยู่ในมือของ "ข้าราชการ" แล้วต่างก็ผลัดกันป้อนไปป้อนมาจนอิ่มหนำ นับเป็นสภาพที่น่าขยะแขยงอย่างยิ่ง
ทุบทิ้ง BOI เสียเถิด ยกเลิกอำนาจและสิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อกลุ่มทุนอิทธิพลเถิด ให้ BOI ได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์หน้าใหม่ มีอำนาจเทียบเท่ากรมโรงงานอุตสาหกรรม และรับใช้ชาติรับใช้ประชาชนด้วยการเสริมส่งให้อุตสาหกรรมขนาดย่อมเติบกล้าขึ้นเป็นพื้นฐานชีวิตใหม่ของประเทศ ให้ได้สมดุลกับพลังการผลิตทั้งมวล
เมื่อถึง ณ จุดนี้ ประวัติศาสตร์จะจารึกไว้ว่า
"หมดยุค BOI เสียที"
|
|
 |
|
|