Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2531
BOI (BOARD OF INVESTMENT) ปีศาจร้ายที่สิงอยู่ในศาลพระภูมิ             
โดย ไพโรจน์ จันทรนิมิ
 

   
related stories

BOI ยุคชีระครองอำนาจ
BOI ทุบทิ้งเสียดีไหม!?

   
www resources

โฮมเพจ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน - บีโอไอ

   
search resources

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน - บีโอไอ
ชาญชัย ลี้ถาวร
Investment
อำนวย วีรวรรณ
สมพร บุณยคุปต์




เจตนารมณ์ของการยกร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน และจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็เพื่อปลุกเร้าการลงทุนในประเทศไทยให้ตื่นตัว วัตถุประสงค์นี้ใครๆ ก็เห็นดีเห็นงามด้วยกันทั้งสิ้น แต่ครั้นเรื่องผ่านเข้ามาในระบบราชการแบบไทยๆ ที่ยังเส็งเคร็งและโสโครกในหลายจุด อาการตื่นตัวนั้นเลยเกิดขึ้นกับข้าราชการบางคน บางกลุ่ม ร่วมกันปฏิบัติการโดยอาศัยข้อกำหนดกฎหมายมาทำมาหากินโดยมิชอบ

วันนี้ใครๆ ต่างพูดถึงหน่วยงานแห่งนี้กันมากว่า "สมควรอัปเปหิ" ไปได้แล้วหรือยัง!!?

บทเรียนราคาแพงของสงครามโลกครั้งที่สอง ได้พลิกโฉมหน้าระบบทุนนิยมโลกไปโดยสิ้นเชิง ประเทศทุนนิยมในยุโรปที่เคยกร้าวแกร่งอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือเยอรมนี ต้องสูญเสียฐานะทางเศรษฐกิจและการเมืองให้กับสหรัฐอเมริกาที่บอบช้ำจากสงครามน้อยที่สุดอย่างจำใจ

นักบุญที่ถือดอลลาร์ต่างดอกบัวอย่างอเมริกาฉกฉวยโอกาสที่ค่อนโลกกำลังเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจแผ่ขยายอิทธิพลเพื่อสถาปนาความมั่นคงเป็นผู้ผูกขาดตลาดโลกเพียงลำพังอย่างก้าวร้าว เศรษฐกิจและการเมืองของอเมริการุกรานครอบงำในหลายประเทศกระทั่งทำให้ประเทศนั้นๆ กลายเป็นเมืองขึ้นโดยอัตโนมัติ

สำหรับประเทศไทยหลังสิ้นสุดสงคราม ดร.เชงเชงกุน โฆษกรัฐบาลอเมริกาได้ให้สมญาด้วยความน่ารักที่มุ่งหมายขย้ำอยู่ในทีว่า "ประเทศไทย - โอกาสทองของอเมริกาในตะวันออกไกล"???

ยุทธศาสตร์ล่าอาณานิคมโดยการชูธงเศรษฐกิจนำของอเมริกา เป็นไปตามแผน "MARSHALL PLAN" ซึ่งมุ่งฟื้นฟูสมรรถนะเศรษฐกิจภายในของประเทศต่างๆ 2 วิธี คือ หนึ่ง - ทุ่มเงินเพื่อให้เกิดการค้าและการลงทุนอย่างเสรี สอง - ทำตัวเป็นปรมาจารย์เสนอแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจแบบเปิดให้ประเทศต่างๆ มีนโยบายต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศด้วยความสมัครใจ

นโยบายดังกล่าวอาจทำให้รัฐบาลไทยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตาลุกวาวถึงกับยินยอมทำสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วิชาการ และการทหาร กับอเมริกา 3 ฉบับ ในปี 2493 แต่ก็ดูเหมือนการแทรกแซงนี้จะล้มเหลวในเบื้องแรกเนื่องจาก

หนึ่ง - การละเลยไม่เอาใจใส่จริงจังของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ต้องการรับความช่วยเหลือเป็นรูปธรรมอย่างการก่อสร้างถนนมิตรภาพเสียมากกว่า สอง - เกิดจากแรงสกัดกั้นของกลุ่มอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ

กลุ่มอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของเมืองไทยราวปี 2493 มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มซอยราชครูของจอมพลผิน ชุณหะวัณ และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ กับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สองกลุ่มนี้ด้านหนึ่งเปิดแนวรบเข้าใส่กันเพื่อครอบงำรัฐวิสาหกิจต่างๆ ทว่าในมุมกลับมีการประสานผลประโยชน์เป็นพันธมิตรกลายๆ ที่จะขัดขวางกลุ่มทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย

อำนาจที่มีเหลือล้นของทั้งสองกลุ่ม ทำให้กลุ่มทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากอเมริกา ไม่อาจสำแดงพลานุภาพแทรกตัวเข้ามาในระบบเศรษฐกิจไทยได้มากนัก ปริมาณการลงทุนในช่วงปี 2493 และ 2494 การลงทุนจากต่างประเทศมีเพียง 600 ล้านบาท ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยสูงถึง 2,000 ล้านบาท

จุดเริ่ม "คัมภีร์อัปยศ"

แม้จะประสบความล้มเหลวในระยะแรก แต่รัฐบาลอเมริกันหาได้ล้มเลิกความคิดที่จะให้รัฐบาลไทยมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบเปิดโดยส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศ คราวนี้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ โดยอาศัยความพังพินาศของนโยบายรัฐวิสาหกิจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นฐานสนับสนุน

อเมริกาแสดงเจตจำนงอย่างออกหน้าออกตาว่า ต้องการมีส่วนร่วมผลักดันนโยบายรัฐวิสาหกิจขึ้นมาใหม่ด้วยการอ้างว่า ครั้งก่อนยังไม่ได้ช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและวิชาการแก่ไทยอย่างเต็มกำลัง จึงได้มีการตกลงทำสัญญาฉบับใหม่ว่าด้วย "ความตกลงด้วยการค้ำประกันการลงทุนของคนอเมริกัน" เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2497

กระสุนนัดนี้อเมริกากระหยิ่มยิ้มย่องว่าจะต้องไม่พลาดเป้า การลงทุนหลากหลายจะต้องปรากฏขึ้นในประเทศไทยอย่างแน่นอน!

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตอบสนองข้อเสนอว่าด้วย "ความตกลงด้วยการค้ำประกันการลงทุนของคนอเมริกัน" ทันที โดยประกาศพระราชบัญญัติส่งเสริมอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ปีเดียวกันนั้นเอง

นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลใจกว้างยอมรับการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยภาคเอกชน หลังจากที่เคยผูกขาดมานานปี พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนปี 2497 ซึ่งเป็น พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฉบับแรกนั้น ให้สิทธิพิเศษแก่อุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งสิ้น 23 ประเภท

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือส่งเสริมการลงทุนมีดังนี้

1. ยกเว้นภาษีขาเข้าเครื่องจักรที่นำมาใช้จัดตั้งโรงงานหรือขยายโรงงานที่มีอยู่เดิม

2. ยกเว้นภาษีในอัตราร้อยละ 5 แรกของผลกำไรเป็นระยะเวลา 5 ปี

3. ยกเว้นหรือลดภาษีในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของอัตราที่กำหนดเป็นระยะเวลา 3 ปี สำหรับวัตถุดิบที่สั่งมาจากต่างประเทศ

4. ลดภาษีส่งออกในอัตราที่เหมาะสม ที่จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายในกรณีสินค้าส่งออกไม่สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้

5. ห้ามหรือควบคุมการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศหรือการอนุญาตให้มีการผูกขาดสินค้า

6. อนุญาตให้นำเงินที่ได้ใช้ลงทุนและผลกำไรที่หักภาษีแล้วออกนอกประเทศได้ ในกรณีที่นักลงทุนเลิกดำเนินกิจการ

7. อนุญาตให้ช่างฝีมือชาวต่างประเทศที่มีความชำนาญและประสบการณ์เข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทยได้เกินโควตาที่ช่างฝีมือเหล่านี้มีจำนวนไม่เพียงพอกับความจำเป็นในการดำเนินกิจการ

สาระสำคัญของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนปี 2497 ย้ำอย่างหนักแน่นถึง "การยินดียอมรับทุนและเทคโนโลยีที่จะหลั่งไหลมาจากต่างประเทศ" โดยยินดีแม้ความผูกพันซ่อนลึกบางประการของ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีความเป็นไปได้ที่จะชักนำประเทศไทยไปสู่การเป็น "ทาส" ทางเศรษฐกิจที่ไม่มีสิทธิ์หลีกเลี่ยงในอนาคต

ทว่าในทางปฏิบัติแล้ว พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฉบับแรกนี้มิได้เอื้ออำนวยหรือส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีโอกาสเข้ามาลงทุนแต่ประการใด กล่าวคือการร้องขอเพื่อขอรับการส่งเสริมการลงทุน 93 ราย ปรากฏว่า รัฐบาลได้ให้การส่งเสริมเพียง 11 ราย และเนื่องจากอุปสรรคข้อกฎหมายทำให้เหลือเพียง 6 ราย ที่ได้สิทธิ์ส่งเสริม ซึ่ง 2 ใน 6 ราย ก็เป็นรัฐวิสาหกิจคือ โรงงานผลิตเกลือของกรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงการคลัง กับโรงงานน้ำตาลของบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นคนผลักดันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้จากอเมริกา สำหรับที่เหลืออีก 4 ราย เป็นของคนอินเดีย 2 ราย คือ อเมริกัน - อังกฤษ ร่วมทุนกัน 1 ราย คือ บริษัท TOPIOCA COMPANY ที่เป็นของคนอเมริกันจริงๆ มีเพียงรายเดียว คือ บริษัทโฟร์โมสต์อาหารนม จำกัด

ความเป็นเจ้าขุนมูลนายของระบบราชการไทย ผสมผสานข้อปลีกย่อยอีรุงตุงนังของข้อกำหนดกฎหมายไทยคือปัญหาใหญ่ ทำให้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนปี 2497 ซึ่งมีผลใช้ในช่วงปี 2497 - 2501 ต้องประสบกับความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า

คณะผู้แทนธนาคารโลก ซึ่งมี ศจ. PT. Ellsworth เป็นหัวหน้าคณะที่เดินทางมาให้การช่วยเหลือด้านเทคนิควิชาการและจัดทำแผนทางเศรษฐกิจได้ให้ข้อคิดเห็นเรื่องความอ่อนด้อยของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน 2497 ไว้ดังนี้

1. รัฐบาลไม่ได้กำหนดขอบเขตความช่วยเหลือที่แน่นอน เนื่องจากในเงื่อนไขได้กำหนดไว้ว่า ผู้ที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมที่มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์จะได้รับความช่วยเหลือ จึงควรมีการกำหนดวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้ชัดเจน

2. การพิจารณายกเว้นภาษีร้อยละ 5 แรกของผลกำไรในระยะเวลา 5 ปี ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าเป็นภาษีเงินได้หรือเงินทุน

3. การกำหนดอัตรายกเว้นภาษีหรือลดภาษีขาเข้าสำหรับวัตถุดิบที่สั่งจากต่างประเทศยังไม่ได้มีการกำหนดที่แน่นอนและรัฐบาลควรมีหลักประกันที่จะไม่ประกอบกิจการแข่งขันกับภาคเอกชนด้วย

4. ควรกำหนดระยะเวลาส่งเสริมผู้ลงทุนแต่ละรายเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 3-5 ปี

ข้อเสนอเหล่านี้ถูกนำมาปรับประยุกต์ไว้ใน พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฉบับถัดมา ที่ช่วยเบิกทางฟ้าใสการลงทุนให้มีภาพที่แจ่มชัดมากขึ้น

แต่เป็นที่น่าสังเกตมากกว่าถึง พ.ร.บ. ส่งเสริมปี 2497 จะไม่ยังผลประโยชน์ให้กับนักลงทุนมากนัก ทว่ากลับตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มซอยราชครูในการขยายฐานทางเศรษฐกิจของตน ดังจะเห็นว่าหลังจากมีประกาศ พ.ร.บ. เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ถัดจากนั้นเพียง 12 วัน ในวันที่ 25 ตุลาคม กลุ่มซอยราชครูก็อิงอำนาจทางการเมืองก่อตั้ง "บริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติ" และขอรับการส่งเสริมอย่างทันควัน

ทุกอย่างผ่านพ้นไปโดยราบรื่น และนั่นเป็นปฐมบทของความเป็นจริงที่ว่า "ปีศาจร้ายทางการเมือง" ได้เข้ามามีบทบาทเหนือความถูกต้องและความสมเหตุสมผลของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนที่ควรตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมแก่นักลงทุนทุกๆ คน สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน!!!

ปัจจุบันที่เงื้อมเงาของกลุ่มซอยราชครูโดยผ่านบทบาทตัวแทนบางคนยังคงมีอำนาจแฝงเร้นเหนือสำนักงานคณะกรรมการส่งเริมการลงทุน (BOI) ที่จัดตั้งขึ้นมาภายหลัง คงมีคำถามมากมายรอคำตอบจากกลุ่มนี้ให้แจ่มชัด โดยเฉพาะในโครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี!?

เปลี่ยนเงาที่ไม่เปลี่ยนหลักการ

การไร้ฐานอำนาจแท้จริงของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่เพียงแต่จะทำให้กลุ่มอำนาจอย่างกลุ่มซอยราชครูและกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ฮึกเหิมลำพองเท่านั้น กล่าวโดยแง่เศรษฐกิจสองกลุ่มนี้ก็ใช้นโยบายของรัฐบาลแสวงหาผลประโยชน์โดยผ่านการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดการผลิตสำคัญๆ ไว้ทั้งหมด

ทั้งนี้ทั้งนั้นโดยมี พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน เป็นตัวหนุนช่วยที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด!!!!

16 กันยายน 2500 การทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังผลให้โครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศไทยรวนเรไปพักใหญ่ เนื่องจากการทำรัฐประหารครั้งนี้จอมพลสฤษดิ์มิได้เตรียมนโยบายหรือแผนงานทางการเมือง เศรษฐกิจเอาไว้เลย

ถ้อยความระรื่นหูของจอมพลผ้าขาวม้าแดงที่ผ่านประชาชนว่า "ยินดีทำทุกอย่างที่ชาติต้องการ" ขณะที่ฐานรากเป็นดั่งไม้หลักปักขี้เลนไม่ได้ช่วยให้ประชาชนมีความหวังใหม่อะไรขึ้นมาสักน้อยนิด โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมที่แม้ว่าจะเดินหน้าได้ไม่เต็มที่แต่ก็ยังพอมองเห็นความหวังอยู่บ้างนั้นมีอันต้องเกือบจะพับฐานไปโดยสนิท!!!

ยิ่งการปล่อยให้จอมพลถนอม กิตติขจร นายทหารคู่ใจขึ้นมารักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2501 แม้ว่าจอมพลถนอมจะมีดีอยู่บ้าง ทว่าด้วยสภาพหาจุดยืนแท้จริงไม่ได้จึงทำให้ประเทศไทยยามนั้นเหมือนกับคนที่ตายทั้งเป็น ราคาข้าว ยาง ดีบุก ตกต่ำน่าใจหาย และประเทศต้องมีภาระใช้จ่ายเงินงบประมาณสูงถึง 2,200 ล้านบาท

จอมพลสฤษดิ์ภายหลังการทำรัฐประหารได้เดินทางไปรักษาสุขภาพที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งการไปครั้งนี้ได้พบกับบุคคลสำคัญของรัฐบาลอเมริกันหลายคน โดยเฉพาะ มร.ดิลตัน รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายเศรษฐกิจ ที่เสนอหลักการพัฒนาเศรษฐกิจแนวเสรีนิยม

จอมพลสฤษดิ์เห็นดีด้วยกับนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิดของ มร.ดิลตัน ที่เน้นให้มีการลงทุนโดยเอกชนต่างประเทศมากถึงกับรีบโทรเลขมาถึงจอมพลถนอมให้ส่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนปี 2497 ไปให้โดยด่วน เพื่อศึกษาถึงวิธีการส่งเสริมการลงทุนของเอกชนต่างชาติ

ภายหลังการศึกษาเจรจากับรัฐบาลอเมริกันเสร็จสิ้น จอมพลสฤษดิ์ก็เรียกคณะทำงานของตนชุดหนึ่งขึ้นไปร่วมร่างแผนการปฏิวัติที่ชันนิงเตล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ คนที่ไปร่วมก็มี พล.อ.อ.บุญชู จันทรุเบกษา, พล.อ.อ.เฉลิม เกียรติวัฒนางกูร, นายสงวน จันทรสาขา, พ่อเลี้ยง พงษ์สวัสดิ์ สุริโยทัย (คนสนิทที่จอมพลสฤษดิ์วางใจมาก), หลวงวิจิตรวาทการ, พ.อ.ถนัด คอมันตร์ และนายสุนทร หงษ์ลดารมภ์ (ประธานบริษัท ทีพีไอ ในปัจจุบัน)

นโยบายสำคัญๆ ที่ถูกร่างขึ้น ณ กรุงลอนดอน และนำมาใช้ในการทำปฏิวัติตัวเองของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประเด็นที่น่าสนใจมากคือ ร่าง ปว. ฉบับที่ 11 ซึ่งเน้นถึงการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก จากนั้นจึงมี ปว. ฉบับที่ 33 ออกมาสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนอย่างจริงจัว

นอกจากนี้ด้วยความประสงค์ของจอมพลสฤษดิ์ที่ต้องการเปิดประตูการลงทุนอย่างเต็มรูปแบบจึงได้นำเอารายงานของธนาคารโลกที่เคยเข้ามาศึกษา พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนปี 2497 มาเป็นบรรทัดฐานของการจัดตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นเมื่อปี 2502

สภาพัฒนาเศรษฐกิจฯ ทำหน้าที่วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ และตกแต่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนปี 2497 จนในที่สุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก (ปี 2503-07) พร้อมด้วย พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน ฉบับที่ 2 ปี 2503 ก็คลอดออกมา โดยมีรัฐบาลอเมริกันเป็นกุนซือชี้แนะเบื้องหลังจนแทบจะเรียกได้ว่า "แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติปรัชญาอเมริกา"

แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับนี้เน้นเด่นชัดถึงการส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศ ดังความตอนหนึ่งว่า "การเพิ่มผลผลิตของประเทศไทยจะทำอย่างผลดีก็โดยความพยายามของฝ่ายเอกชน ทั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริม แทนที่รัฐบาลจะเป็นฝ่ายผลิตเสียเอง..."

นโยบายส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนของจอมพลสฤษดิ์ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกันเป็นอย่างมาก นักเศรษฐศาสตร์และที่ปรึกษาชาวอเมริกันหลายสิบท่านเดินทางเข้า - ออกประเทศไทยเป็นว่าเล่นเพื่อให้คำปรึกษาแก่รัฐบาล ขณะเดียวกันก็มีคำถามอีกมุมหนึ่งว่า "ทำไมรัฐบาลไทยต้องนำประเทศไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาและธนาคารโลกอย่างแนบแน่น ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วหรือ"

"คงเป็นเพราะเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากระบบนั้น เราต้องอาศัยความช่วยเหลือด้วยเรื่องงบประมาณจากสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก" นักวิชาการท่านหนึ่งบอกเล่า

ประวัติศาสตร์ชาติไทยวิ่งไม่พ้นจากนักล่าอาณานิคมตะวันตกดุจดั่ง "หนีเสือปะจระเข้" ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยอยู่ภายใต้การคุกคามของฝรั่งเศส อังกฤษ และญี่ปุ่น ที่ตะปบผลประโยชน์ของเมืองไทยอย่างตะกละตะกลาม ครั้งถึงปี พ.ศ. 2503 ไทยก็ย่างเข้าสู่ศักราชของการครอบงำจากอเมริกาที่สร้างแหนบเหล็กบีบบังคับเพื่อไม่ให้เราดิ้นหลุดทุกวิถีทาง!!

นโยบายเชิงรุกของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนปี 2503 ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจปฏิรูปตัวเองหันมาพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักในการพัฒนาประเทศ ดังจะเห็นว่าอัตราการเติบโตได้สูงจาก 3.6% ในปี 2500 เป็น 11.1% และ 13.8% ในปี 2504, 2507 ตามลำดับ ขณะที่ภาคเกษตรที่เคยเป็นหัวใจกลับมีอัตราการเติบโตลดลงเหลือ 6.2% ในปี 2504

นอกจากนี้โครงสร้างทางเศรษฐกิจก็เปลี่ยนไปในลักษณะที่เปิดกว้างขึ้น การค้าระหว่างประเทศเข้ามามีบทบาทมากกว่าก่อน การไหลบ่าของทุนจากต่างประเทศทยอยกันเข้ามาไม่ขาดสายราวกับทำนบกั้นน้ำพังทลาย มูลค่าการลงทุนด้านนี้ช่วงปี 2504-12 สูงถึง 5,462.50 ล้านบาท

(มูลค่าการลงทุนถึงปี 2512 พาดยาวถึงการใช้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนปี 2505)

พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนปี 2503 กำหนดกิจการส่งเสริมไว้ 129 ชนิด ซึ่งพิจารณาผิวเผินอาจเห็นว่ากินวงกว้างและน่าที่จะมีส่วนเสริมสร้างการลงทุนให้คึกคักสุดขีด แต่กล่าวโดยแง่ปฏิบัติการภาวะการลงทุนน่าจะไปได้ไกลกว่านี้หากไม่พบปัญหาใหญ่ๆ ดังนี้

หนึ่ง - โครงสร้างการบริหารของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีมากคนเกินไป จนทำให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

สอง - รัฐบาลยังไม่ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรให้ทั้งหมด และก็มิได้กระจายการเติบโตภาคอุตสาหกรรมออกไปยังพื้นที่นอกกรุงเทพฯ

ข้อบกพร่องของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนปี 2503 ได้รับการสะสางให้เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อนักลงทุนมากขึ้นใน พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน ฉบับที่ 3 ปี 2505 ซึ่งให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนอย่างมาก โดยเฉพาะการยกเว้นภาษีเครื่องจักรและส่วนประกอบที่ใช้ในการอุตสาหกรรม

พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนปี 2505 เป็นปมเงื่อนสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมและกลายเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งของ "ขบวนการรีดเร้นผลประโยชน์ของประชาชนโดยความชอบธรรมของกฎหมาย" ที่ฝังรากลงลึกมาจนถึงปัจจุบันที่กำลังอาละวาดอย่างหนักหน่วงใน BOI!!!

ความเฟื่องฟูของการลงทุนที่ผิดสังเกตจากผลผลักดันของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน ปี 2505 คือพบว่าส่วนใหญ่ของนักลงทุนประมาณ 73% ที่ได้รับบัตรส่งเสริมล้วนเป็นนักธุรกิจไทยเชื้อสายจน ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะว่าจอมพลสฤษดิ์หวังใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ทำลายนโยบายชาตินิยมตามคำแนะนำของธนาคารโลก ด้วยการเปิดกว้างให้นักลงทุนชาวจีนเข้ามาร่วมโครงการอุตสาหกรรมของรัฐบาลมากขึ้น

แต่แล้วความหวังดีของนโยบายนี้ เมื่อลงรากหยั่งลึกเชิงปฏิบัติการกับระบบราชการไทยที่มีข้าราชการมากคนเห็นเงินเหมือนแมลงวันเห็นเลือด การณ์จึงกลับกลายเป็น "แผลร้าย" ที่เรื้อรังลามเลียมาจนถึงปัจจุบัน

ทีมงานกลุ่มสี่เสาเทเวศร์บางคนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการลงทุนจับจุดพ่อค้าจีนส่วนใหญ่ได้ถูกต้องอย่างหนึ่งว่า คนพวกนี้ชอบมีการ "กินนอกกินใน" เพื่อให้งานหรือโครงการของตนผ่านขั้นตอนเร็วขึ้น ระบบแป๊ะเจี๊ยะกับ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน และสำนักงานส่งเสริมการลงทุนจึงเกิดขึ้น ณ ตรงจุดนี้ กิจการค้าของพ่อค้าจีนที่สัมพันธ์กับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ล้วนได้รับการอนุมัติส่งเสริมแทบทุกโครงการ

"การที่รัฐบาลส่งเสริมภาคเอกชนโดยเฉพาะพ่อค้าจีนนั้น เป็นความพอใจส่วนตัวมากกว่าเห็นชอบตามคำแนะนำของธนาคารโลก เพราะแกจับจุดถูกว่าการแสวงหาผลประโยชน์จากนักธุรกิจจีนมีทางได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าจะได้รับจากรัฐวิสาหกิจ" นักวิชาการท่านหนึ่งกล่าว

ข้อมูลเปิดเผยหลังการอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์พบว่า เขาและกลุ่มสี่เสาเทเวศร์มีผลประโยชน์ในบริษัทต่างๆ ถึง 45 บริษัท ซึ่งบริษัทเหล่านั้นเติบโตขึ้นมาเพราะแรงหนุนเนื่องของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนปี 2505 แทบทั้งสิ้น

ความเป็นจริงนี้กระชากหน้ากาก พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน ยุคขุนน้ำขุนนางเรืองอำนาจ ในอีกนัยหนึ่งด้วยว่า "พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนเปรียบเสมือนตัวตั้งตัวตีให้กลุ่มทุนบางกลุ่มกอบโกยผลประโยชน์กันอย่างมหาศาล"

อำนาจทางการเมืองกับ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน จึงไม่อาจแยกสลายจากกันได้!!

ประจักษ์พยานที่บ่งฟ้องถึงเรื่องนี้ได้ดีอีกอย่างหนึ่งคือ ภายหลังประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้ทำการร้องเรียนเรื่องการเก็บภาษีซ้ำซ้อนและความล่าช้าในระบบราชการทำให้เกิดผลเสียหายต่อการลงทุนแบบประเมินค่ามิได้ ซึ่งการบริหารงานเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวณิช เรียกว่า "การบริหารแบบลำไผ่" คือมีการประสานงานเฉพาะระดับนโยบายเท่านั้น ระดับปฏิบัติการของกรมกองต่างๆ แทบจะไม่มีสายสัมพันธ์กันเลย

แต่ความสำเร็จอย่างมากของจอมพลสฤษดิ์เกี่ยวกับการวางรากฐานแผนพัฒนาเศรษฐกิจและ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนก็คือ การรวบรวมนักวิชาการหนุ่มๆ ความคิดก้าวหน้าทุกยุคทุกสมัยเข้ามาร่วมทีมงานอย่างคับคั่ง อาทิ อจ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์, บุญชนะ อัตถากร อดีตรองนายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่ ดร.อำนวย วีรวรรณ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพคนปัจจุบัน


BOI ยุค ดร.อำนวย วีรวรรณ ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก

พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนของเมืองไทยนั้นคลอดออกมาก็ช้านาน แต่เป็นรูปเป็นร่างแท้จริงมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมีเลขาธิการคณะกรรมการฯ และคณะกรรมการ เป็นผู้ปฏิบัติงานก็ล่วงเลยมาถึงปี 2509 โดยมี จินต์สมัย อมาตยกุล เป็นเลขาธิการฯ คนแรก

จินต์สมัย อมาตยกุล อยู่ในตำแหน่งได้เพียงปีเดียวก็ลาออก...

ดร.อำนวย วีรวรรณ คนหนุ่มความคิดก้าวหน้าในยุคนั้นคือผู้สืบทอดตำแหน่งคนต่อมา และการเข้ามาของประธานกรรมการบริหาร แบงก์กรุงเทพคนปัจจุบันนี้เองที่ทำให้ BOI เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

"ดร.อำนวยน่ะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญของการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน รวมไปถึงการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมฯ อย่างถาวรเลยทีเดียว แต่ส่วนใหญ่คนจะมองข้ามบทบาทด้านนี้ของท่านไป" นักวิชาการท่านหนึ่งบอกเล่ากับ "ผู้จัดการ"

วิถีชีวิตของ ดร.อำนวย อาจหันเหไปด้านอื่นเสียแล้ว หากไม่เป็นเพราะจอมพลสฤษดิ์ได้มาปรารภเชิงปรึกษากับบุญชนะ อัตถากร ว่าต้องการคนหนุ่มมาเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ ดร.อำนวยซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้ากอง กรมบัญชีกลาง คือคนที่บุญชนะยื่นชื่อเขาเสนอต่อจอมพลสฤษดิ์ทันที

ดร.อำนวยคลุกคลีตีโมงกับ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนมาแต่แรกเริ่มเลยก็ว่าได้ กระทั่งจินต์สมัยลาออกจึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแทน ซึ่งยุคนั้นมี พจน์ สารสิน เป็นประธานคณะกรรมการฯ จนมีใครๆ เคยมองว่า ดร.อำนวยเป็นเด็กของพจน์

"ผมทำงานให้ท่านในฐานะผู้ดำเนินงานตามนโยบายเท่านั้น" ดร.อำนวยเคยชี้แจงให้ฟัง

BOI ยุคของ ดร.อำนวย พูดไปแล้วยังไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย แต่ฐานะที่ BOI ต้องทำหน้าที่เป็นหัวหอกจุดเชื้อการลงทุน ดังนั้นงานที่ถูกเน้นมากในเบื้องต้นก็คือ "การประชาสัมพันธ์" ซึ่งสมัยนั้น "เสี่ยง" ทั้งการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อโฆษณาชักชวนด้วยตัวเอง และทุ่มงบไม่น้อยไปกับการซื้อสื่อทุกสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์สถานการณ์การลงทุนของประเทศไทยให้ทั่วโลกรับทราบ

แต่งบประมาณที่โถมลงไปด้านนี้ก็ไม่ผิดหวัง ปริมาณการลงทุนจากต่างประเทศสูงกว่าที่ผ่านมาเกือบเท่าตัว และยังผลให้นโยบายอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป จากที่เคยส่งเสริมอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ผันมาเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกแทน

อุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงเวลานั้น อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป "ผมพิจารณาดูแล้วเห็นว่าการอุตสาหกรรมบ้านเราจะโตได้ต้องให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมส่งออกที่เรามีศักยภาพอยู่บ้างแล้ว" ดร.อำนวย ย้อนเกร็ดหลังให้ฟัง

การเปลี่ยนแปลงที่พูดถึงกันมากในช่วงนั้นอีกอย่างก็คือ การยกเลิกสิทธิพิเศษต่างๆ โดยเฉพาะภาษีวัตถุดิบที่ไม่มีการยกเว้นหรือลดหย่อนให้อีกแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากว่า "ไม่สามารถควบคุมได้" ซึ่งการยกเลิกสิทธิพิเศษดังกล่าวทำให้นักลงทุนส่วนหนึ่งไม่สู้พอใจนัก ถึงกับลงทุนโจมตีการทำงานของ ดร.อำนวย ทางหน้าหนังสือพิมพ์นานร่วมเดือน

แต่งานที่ถือว่า ดร.อำนวย วางความหนักแน่นให้กับ BOI เป็นอย่างมากก็คือ การสร้างระบบการทำงานที่มีคุณภาพ ในสมัยนั้นนอกจากจะมีการขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้มาร่วมทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการต่างๆ แล้วนั้น ดร.อำนวยยังได้ดึงบุคลากรที่มีความสามารถมาร่วมทีมงานอย่างคึกคัก ซึ่งระบบคีย์ของ BOI ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากการสร้างสรรค์ของเขา

"ผมเชื่อเหลือเกินว่าถ้า ดร.อำนวย อยู่ใน BOI นานไปกว่าที่เป็นอยู่ หน่วยงานนี้คงเป็นที่พึ่งของนักลงทุนได้มากกว่าที่เป็นอยู่ และขบวนการหากินต่างๆ คงมีไม่มากเหมือนในเวลานี้" แหล่งข่าวคนหนึ่งบอกกล่าว

ดร.อำนวยใช้เวลาอยู่ใน BOI เกือบ 5 ปี ก็มีอันต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อ "อำนาจทางการเมือง" เล่นงานเขาเข้าเต็มตัว!!

"เป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่าง BOI กับคณะกรรมการฯ ซึ่งเห็นกันไปคนละแนวกันในโครงการๆ หนึ่ง ซึ่ง ดร.อำนวยเห็นว่าการเอาอำนาจทางการเมืองเข้ามาก้าวก่ายการทำงาน จะทำให้หน่วยงานนี้ขาดความน่าเชื่อถือ ดังนั้นท่านเลยเป็นฝ่ายขอจากไป" แหล่งข่าวกล่าว

บทสรุปของ ดร.อำนวย กับ BOI ก็หนีไม่พ้นอำนาจทางการเมืองที่เข้ามายุ่มย่าม เพื่อให้ผลประโยชน์แก่กลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยละเมิดหลักการทั้งปวง!!!!


BOI ยุคสมพร บุณยคุปต์ ยุคสร้างอาณาจักร

สมพร บุณยคุปต์ เข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการฯ คนที่ 3 เมื่อปี 2514... สมพรจบการศึกษา ปริญญาโท วิศวกรรมโยธา จากสหรัฐอเมริกา เขาเป็นนักเรียนทุนของรัฐบาล เริ่มทำงานครั้งแรกที่กรมทางฯ ไต่เต้าขึ้นมาถึงตำแหน่งผู้อำนวยการ กองวิชาการ กรมทางฯ แล้วจึงย้ายไปเป็นที่ปรึกษาสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สมพรย้ายข้ามฟากมาเป็นรองเลขาธิการฯ BOI เมื่อปี 2508 เมื่อ ดร.อำนวยลาออกจากตำแหน่ง เขากลายเป็น "หมายเลข 1" ที่ถูกเลือกขึ้นมา บ้างก็ว่าสมพรได้รับแรงส่งจากกลุ่มถนอม - ประภาส - ณรงค์ ที่กำลังครองอำนาจทั้งการเมืองและเศรษฐกิจในขณะนั้น

และเป็นสมพรคนนี้แหละที่อยู่ในตำแหน่งนี้นานที่สุดถึง 7 ปี จนมีเสียงกล่าวขานกันหนาหูว่า ยุคที่เขามีอำนาจอยู่ กลายเป็น "ยุคทอง" ของข้าราชการ BOI บางคนบางกลุ่มไปโดยปริยาย!!??

"ผมคิดว่าผมไม่ใช่คนเลว และไม่คิดสร้างอาณาจักรใดๆ คนอื่นจะเป็นยังไงนั้น ผมไม่รู้ ถ้าผมไม่ดีจริงคงอยู่ได้ไม่นานขนาดนี้ และถ้าเคยช่วยใครโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่แล้ว เมื่อเกษียณผมคงไม่ต้องนั่งอยู่กับบ้านเฉยๆ คงมีบริษัทมาชวนไปเป็นที่ปรึกษา" สมพรบอกกับ "ผู้จัดการ"

มูลเหตุที่ทำให้มองกันว่ายุคของสมพร บุณยคุปต์ คือยุคการสร้างอาณาจักรในอาณาจักรของแต่ละก๊กนั้นเป็นเพราะว่า หนึ่ง - ช่วงปี 2514-2520 เป็นช่วงที่การลงทุนจากต่างประเทศมีเข้ามามากโดยเฉพาะจากอเมริกา สอง - ยุคนั้นกลุ่มอำนาจทางการเมือง "ขวาจัด" เถลิงลมบนและแผ่อิทธิพลเข้าไปทุกวงการซึ่งตัวแทนของกลุ่มขวาจัดมีทั้งที่เป็นนักลงทุนเองและข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้

"มันเป็นเรื่องจริงยุคนั้นแบ่งก๊กกันทำมาหากินกันเลยก็ว่าได้ ใครเข้าช่องถูกก็สะดวกสบายไป ผมเองเจอกับตัว ข้าราชการคนหนึ่งขอเรียกเงินกินเปล่าเพื่อช่วยให้โครงการผ่าน" นักลงทุนคนหนึ่งบอกเล่าให้ฟัง

สมพรถูกมองว่ามีความสนิทสนมเป็นพิเศษกับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ขึ้นมามีอำนาจในช่วงปี 2520 และเป็นห้วงเวลาที่ BOI มีการปรับปรุงใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีการยกร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนปี 2520 ที่ใช้มาถึงปัจจุบัน ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเรื่องถกเถียงกันมากมาย

"ผมไม่ปฏิเสธว่าสนิทสนมกับท่าน เพราะเราทำงานด้วยกันในการยกร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ แต่รับรองได้ว่าเรื่องล้ำเส้นไม่มีแน่" สมพรยอมรับและปฏิเสธในทีเดียวกันกับ "ผู้จัดการ" และเขาก็ไม่ขอพูดอะไรมากไปกว่านี้

พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน ปี 2520 มีเรื่องพูดถึงกันมากถึงการให้อำนาจแก่คณะกรรมการฯ จนมากเกินไป ซึ่งไม่ยากนักต่อการสร้างหนทางอันไม่ชอบธรรมขึ้นมาได้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนปี 2520 มีสาระสำคัญหลายประการเช่น

หนึ่ง - เพิ่มอำนาจทางการเมืองของคณะกรรมการ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สอง - ให้อำนาจทางกฎหมายที่จะให้การคุ้มครองแก่ผู้ผลิตที่ได้รับการส่งเสริม แต่จะมีผลต่อผู้ผลิตอื่นๆ ด้วย สาม - อำนาจของกรรมการที่จะลดหย่อนภาษีขาเข้าให้แก่เครื่องจักรและวัตถุดิบนำเข้า สำหรับเครื่องจักรอาจถึง 100% และวัตถุดิบอาจถึง 90%

ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ได้วิจารณ์ พ.ร.บ. ฉบับนี้ไว้ว่า "การให้อำนาจกว้างขวางกับคณะกรรมการไม่อาจปฏิเสธได้ในแง่หลักการ แต่ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีช่องโหว่ที่มิได้กำหนดลักษณะสิทธิประโยชน์ที่จะชี้แนวนโยบายได้ เพราะได้ให้อำนาจคณะกรรมการกำหนดนโยบายเอง"

และ "ในเรื่องการส่งเสริมการส่งออกความแตกต่างของสิทธิประโยชน์ระหว่างการส่งออกกับการขายในประเทศไทย พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็ไม่เด่นชัดเท่า พ.ร.บ. ฉบับเก่า ที่ระบุไว้เลยว่า สิทธิประโยชน์การส่งออกส่วนมากไม่ได้ดีเท่ากับขายในประเทศ"

ดร. ณรงค์ชัย สรุปขมวดท้ายว่า "พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนโดยไม่มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ จะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเท่าที่ควร"

นอกจากนี้เรื่องนโยบายขยายอุตสาหกรรมไปต่างจังหวัดก็ดูเคลือบแคลง ตาม พ.ร.บ. ฉบับเก่าความแตกต่างเรื่องสิทธิประโยชน์ของการตั้งโรงงานในกรุงเทพฯ กับโรงงานที่อยู่ต่างจังหวัดจะกำหนดไว้อย่างเด่นชัด ทว่าใน พ.ร.บ. ฉบับใหม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการให้สิทธิประโยชน์แก่โรงงานที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ใกล้เคียงกับต่างจังหวัดได้ ถ้าเห็นว่ามีความสมควร และร้ายไปกว่านี้ พ.ร.บ. ฉบับปี 2520 ก็ไม่มีการระบุเขตส่งเสริมอย่างแน่นอน

ขณะที่รัฐบาลป่าวประกาศโครมๆ ถึงการขยายอุตสาหกรรมไปยังส่วนภูมิภาคเพื่อสร้างความเจริญให้กับชนบท ทว่าในแง่ปฏิบัติการของการส่งเสริมกลับเป็นคนละเรื่องกันไปเลย ซึ่งถ้ายังเป็นอยู่อย่างนี้ ปัญหาการไม่กระจายอุตสาหกรรมไปต่างจังหวัดนับวันจะรุนแรงมากขึ้น

ก็ที่ต้องมานั่งแก้ไข หาแผนนั้นแผนนี้กันให้วุ่นวายเพื่อให้อุตสาหกรรมในต่างจังหวัดโตขึ้นมา ด้านหนึ่งก็เป็นเพราะความบกพร่องของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนปี 2520!!!

สมพร บุณยคุปต์ บรรลุความตั้งใจสุดท้ายที่ผลักดัน พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนปี 2520 ออกมาได้ แต่เรื่องที่ถูกทิ้งไว้ให้เป็นปัญหาจนถึงปัจจุบันนั้นมีมากมายเสียเหลือเกิน


BOI ยุค ชาญชัย ลี้ถาวร - เดชา บุญชูช่วย คลื่นลมสงบก่อนพายุมา

ชาญชัย ลี้ถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยคลัง ก้าวเข้ามารับผิดชอบ BOI เป็นคนถัดมา...

BOI ยุคของชาญชัย น่าจะเป็นยุคของการสร้างบ้านใหม่ ปรับปรุงตกแต่งภายในเสียมากกว่า อันเป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเกิดความผันแปรครั้งใหญ่ จากวิกฤติการณ์พลังงานปี 2522 ทำให้กระแสตื่นตัวการลงทุนลดวูบไปถนัดตา...

ประเทศไทยก็พลอยโดยหางเลขนี้ไปด้วย!!!

แต่งานหนึ่งที่ชาญชัยทำไว้ให้ BOI ก็คือ การจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่กลั่นกรองเรื่องขอรับการส่งเสริมต่างๆ ที่ผ่านการศึกษาจากกองต่างๆ ของ BOI มาแล้ว คณะอนุกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมานี้มีประโยชน์อย่างมากต่อการพิจารณาตัดสินให้การส่งเสริมโครงการต่างๆ และยังทำให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว

"ก็ดีนะ แต่คณะอนุกรรมการดังกล่าว นี่ถ้าจะมีไม่มากคนนัก คิดว่าน่าจะทำงานได้มีประสิทธิภาพมากไปกว่านี้ และข้อควรระวังคือความเห็นไม่ลงกันของคณะอนุกรรมการกับคณะกรรมการที่จะทำให้เรื่องล่าช้า หรือไม่ก็มีอำนาจภายนอกเข้ามาบงการ" นักลงทุนผู้หนึ่งให้ความเห็น

ชาญชัย ลี้ถาวร อำลาจากไปอย่างเงียบๆ ขณะที่ BOI กำลังโลดแล่นไปกับสำนักงานแห่งใหม่ของตึกธนาคารกสิกรไทย...

เดชา บุญชูช่วย ลูกหม้อของ BOI น่าจะกล่าวได้ว่า เขาเข้ามาเป็นเลขาธิการฯ ในลักษณะขัดตาทัพเสียมากกว่า เพราะหลังจากชาญชัยเกษียณไป ก็เกิดกระแสขัดแย้งอย่างหนักถึงคนที่จะมาเป็นเลขาธิการฯ คนใหม่ ระหว่าง ชีระ ภาณุพงศ์ ลูกหม้อรายเดียวกับ สถาพร กวิตานนท์ นักบริหารหนุ่มไฟแรงจากสภาพัฒน์

เดชาในตำแหน่งเลขาธิการฯ จึงเท่ากับเป็นการลดกระแสความรุนแรง กอปรกับช่วงนั้นสถานการณ์การลงทุนก็ไม่มีอะไรโดดเด่นหวือหวาขึ้นมา 2 ปี ในตำแหน่งเลขาธิการของเดชา จึงเป็นไปอย่างราบเรียบ...

อย่างว่านั้นแหละ พายุร้ายมักมาพร้อมคลื่นลมสงบ BOI ยุคใหม่ที่ส่งผ่านมาถึง ชีระ ภาณุพงศ์ ในปัจจุบัน กำลังพิสูจน์สัจธรรมนั้นแล้ว!!!!   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us