|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2531
|
|
ถ้าไม่มี "ยุบสภา" เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดร.ยุพา อุดมศักดิ์ คงไม่ตัดสินใจกระโจนขึ้นสังเวียนธุรกิจเต็มตัวเช่นนี้
ทั้งยังหันหลังให้เวทีการเมืองที่ตนเองเคยผูกขาดตำแหน่ง ส.ส. เมืองพิจิตรมาแล้ว 3 สมัย ทั้งที่หลายคนบอกว่า ถ้าเธอลงเลือกตั้งสมัยที่ 4 แล้วพลาดไปก็คงเป็นการพลิกล็อควินาศสันตะโรครั้งใหญ่เลยทีเดียว
ดร.ยุพา อุดมศักดิ์ จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกาด้านบริหารการศึกษา กลับมาเมืองไทยปี 2503 มาเป็นอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนลาออกจากชีวิตราชการในปี 2518 ดร.ยุพาเป็นรองคณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่ตนเองมีส่วนร่วมก่อตั้งมาแต่ต้น เป็นผู้อำนวยการโครงการประชากรศึกษา และเป็นข้าราชการชั้นเอก ตำแหน่งทางวิชาการคือรองศาสตราจารย์
ดร.ยุพาใช้ชีวิตในแวดวงราชการกว่า 15 ปี!
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ดร.ยุพา ลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกในเขตกรุงเทพฯ แต่สอบตก เลยหนีไปลงเลือกตั้งที่บ้านเกิดจังหวัดพิจิตรในปี 2519 และตั้งแต่นั้นมา ดร.ยุพาก็เป็น ส.ส. ประจำจังหวัดพิจิตรที่ยากนักที่ใครจะช่วงชิงไปได้
ดร.ยุพาเป็นส.ส.หญิงที่มีบทบาทอย่างมากและแทบจะไม่มีข่าวอื้อฉาวในทางลบจาก ส.ส.หญิงท่านนี้เลย เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ครั้งนั้น ดร.ยุพาต้องชนกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อย้ายให้การศึกษาประชาบาลมาขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ แต่งานคราวนั้น ดร.ยุพาออกจะภูมิใจมากๆ
ก่อนยุบสภา ดร.ยุพาเป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม ประจำสภาผู้แทนราษฎร และเป็นกรรมการพิจารณาเรื่องอื่นๆ อีกเยอะแยะ
15 ปีเต็มสำหรับชีวิตนักการเมืองของ ดร.ยุพา อุดมศักดิ์!
หลังยุบสภาหมาดๆ บริษัท ไทย-จีน สากลเดินเรือ จำกัด (ซีทีไอ) ได้รับการพิจารณาคัดเลือก เป็นผู้มีสิทธิ์บริหารท่าเรือน้ำลึกที่สงขลาและภูเก็ต และข่าวที่เปิดเผยต่อมาคือ ซีทีไอ เชิญดร.ยุพาเป็นประธานคณะกรรมการบริษัท
"อยู่กับการเมืองมาตั้งแต่ปี 17-18 พบเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองมาก็มาก มีทั้งเหตุการณ์นองเลือด ทั้งรัฐประหารที่สำเร็จและไม่สำเร็จ กับยุบสภาอีก 3 ครั้ง เลยคิดว่าน่าจะหยุดพักบ้าง" ดร.ยุพาเปิดเผยความในใจกับ "ผู้จัดการ"
"พอดีมีหุ้นในซีทีไอและเขาเชิญไปเป็นประธานกรรมการ คิดว่าเป็นงานที่ท้าทาย และน่าลองมาจับงานทางด้านธุรกิจบ้าง เพราะตัวเองไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลย น่าจะทำธุรกิจเป็นจริงเป็นจังเสียที"
บริษัทไทย - จีน สากลเดินเรือ จำกัด หรือ ซีทีไอ (C.T. International Line Company Limited) นี้เป็นบริษัทในกลุ่มบุญเลิศ ชาติวิวัฒน์พรชัย ซึ่งเติบโตมาจากธุรกิจเรือโป๊ะ มีบริษัทในเครืออีก 2 บริษัท คือ บริษัทไทยขนส่งทางน้ำ จำกัด และบริษัทบางปะอินคลังสินค้า จำกัด กิจการส่วนใหญ่รับขนส่งสินค้าทางน้ำทั้งส่งออกและนำเข้า ปีหนึ่งๆ รับขนถ่ายสินค้าประมาณ 2-3 ล้านตัน ดำเนินกิจการมากว่า 20 ปี
แต่ซีทีไอเข้าประมูลสัมปทานบริหารกิจการท่าเรือน้ำลึกถึงสองแห่งแบบไม่มีประสบการณ์มาก่อนเลย แต่ซีทีไอประมูลไปจนได้ ทำเอาหลายคนฉงนสนเท่ห์ตามๆ กัน
อัตราผลประโยชน์ที่ซีทีไอตอบแทนแก่รัฐแลกกับสัมปทานบริหารท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง เป็นเวลา 10 ปี คือ ที่ท่าเรือสงขลาซีทีไอให้รัฐปีละ 16.21 ล้านบาท ใน 5 ปีแรก 5 ปีต่อมา ปีละ 18 ล้านบาท ส่วนผลกำไรนั้น ถ้ากำไรน้อยกว่า 75 ล้านบาทต่อปี ไม่ต้องแบ่งให้รัฐ แต่หากกำไรระหว่าง 75-100 ล้านบาท จะแบ่งให้รัฐ 30% ก่อนหักภาษี
ส่วนท่าเรือภูเก็ต ซีทีไอให้ผลตอบแทน 5 ปีแรก ปีละ 570,000 บาท 5 ปีหลัง ปีละ 1.5 ล้านบาท และแบ่งผลกำไร 45% ของรายได้ส่วนที่เกินปีละ 32 ล้านบาท
ในช่วงการประมูลสัมปทานท่าเรือนั้น บรรหาร ศิลปอาชา เลขาธิการพรรคชาติไทยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และพันโทสนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีช่วย รับผิดชอบและดูแลด้านการท่าเรือ แถมเสธ.หนั่นยังเป็น ส.ส.พิจิตร บ้านเดียวเมืองเดียวกับ ส.ส.ยุพา แต่คนละเขต
จะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว "ผู้จัดการ" ยกมาให้อ่านเล่นๆ!
"ระยะแรกคงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นฝรั่งเข้าวางระบบงานและการจัดการให้ก่อน เมื่อคนของเราชำนาญค่อยเข้าควบคุมการดำเนินงานอย่างเต็มที่" ท่านประธานหรือ ดร.ยุพาแจกแจง
"เดือนมิถุนายนนี้คงมีการเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ และประมาณเดือนกรกฎาคมเราคงเข้าไปบริหารงานได้ ตอนแรกเราคงต้องลงทุนด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยีประมาณ 70 ล้านบาท" ดร.ยุพาในมาดนักธุรกิจเปิดเผยเพิ่มเติม พร้อมทั้งเผยถึงเรื่องกังวลในใจ
"เรื่องท่าเรือน้ำลึกนี้เป็นโครงการ PRIVATIZATION โครงการแรกๆ ของรัฐบาล ในระดับผู้ใหญ่ ระดับนโยบาย ดิฉันไม่ค่อยห่วงนักเพราะคงคุยกันได้ แต่ในระดับผู้ปฏิบัติงานซึ่งต้องมีเรื่องของระบบ ระเบียบราชการเข้ามาเกี่ยว ตรงนี้แหละที่ดิฉันกังวล"
ดร.ยุพากังวลแบบนักธุรกิจทั่วไปเชียวแหละ แต่ก็แสดงออกซึ่งความกระตือรือร้นมากๆ กับธุรกิจแรกที่ตนเองเข้ามาจับ เธอมีเอกสาร, ข้อมูล และหนังสือค้นคว้าพร้อมบนโต๊ะ และเมื่อ "ผู้จัดการ" ซักข้อมูลในหลายเรื่อง เธอก็ตอบได้อย่างไม่ผิดพลาด (แม้จะต้องพลิกตำราอยู่บ้างก็ตาม)
ในระหว่างรอเซ็นสัญญานี้ ดร.ยุพาจะเดินทางไปแคนาดา เพราะลูกสาวคนที่สองจากจำนวนสามคน ได้รับทุนบริติชโคลัมเบียไปเรียนที่นั่น ดร.ยุพาเลยถือโอกาสไปส่งพร้อมพักผ่อนไปในตัว
ดร.ยุพาโชคดีมากในเรื่องผู้สนับสนุน เมื่อเล่นการเมืองลงรับเลือกตั้งและได้จับคู่กับ วิศาล ภัทรประสิทธิ์ นั่นเท่ากับว่าเป็นหลักค้ำประกันความสำเร็จไปแล้วเกือบท่วมตัว เพราะวิศาลเป็นเศรษฐีที่ไม่ใหญ่คับฟ้าแค่เมืองพิจิตร หากยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสุราแม่โขงกับแบงก์เอเชียอีกด้วย
คุณูปการที่สั่งสมมาหลายปีบวกกับพลังเงินที่แน่นหนัก จึงเป็นสะพานทอดให้วิศาลกับดร.ยุพา โผผินเข้าสู่ตึกรัฐสภาในฐานะ ส.ส. ได้อย่างง่ายดาย และแม้ว่าการเลือกตั้งครั้งหลังวิศาลจะถอนตัวเนื่องจากปัญหาสุขภาพ แต่ก็รู้กันอยู่ว่า เขายังเป็นกุญแจดอกสำคัญของ ดร.ยุพา
สายสัมพันธ์ระหว่าง "อุดมศักดิ์" กับ "ภัทรประสิทธิ์" นั้นแนบแน่นราวกับเป็นครอบครัวเดียวกัน ทุกวันนี้แม้จะสิ้นบุญวิศาล แต่นงลักษณ์ ภัทรประสิทธิ์ เมียคู่ทุกข์ที่ก้าวเข้ามาสืบภารกิจทางธุรกิจต่อจากสามี โดยเป็นประธานคณะกรรมการบริหารแบงก์เอเชียอยู่นั้นก็ยังไปกันได้กับ ดร.ยุพา
หัวอกผู้หญิงก็ย่อมต้องเข้าใจความต้องการของลูกผู้หญิงด้วยกัน ยิ่งเป็นคู่ซี้ย่ำปึ้กกันด้วยแล้ว อะไรๆ ดูเหมือนจะปลอดโปร่งไปเสียทั้งหมด เมื่อ ดร.ยุพาลงสู่สนามธุรกิจมีหรือที่เธอจะไม่ได้รับการเกื้อกูลจากนงลักษณ์
ดร.ยุพาประสบชัยชนะไปกว่าครึ่งแล้วหรือนี่!?!
วันที่ 20 กรกฎาคมนี้ ดร.ยุพาจะมีอายุครบ 60 ปี เส้นทางชีวิต 15 ปี บนสังเวียนข้าราชการ และ 15 ปี บนสังเวียนการเมือง เธอได้พิสูจน์มาแล้วว่า เธอไม่เคยประหวั่นพรั่นพรึง ไม่ใช่ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ยอมให้ใครบดขยี้ง่ายๆ
สำหรับวันนี้บนสังเวียนธุรกิจ ดร.ยุพาจะเดินหมากอย่างใด จะสุขใจกับหัวโขนตำแหน่ง "ท่านประธาน" ที่ซีทีไอแห่งเดียว จะขยายไปสู่ธุรกิจอื่นหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องให้เวลาพิสูจน์กันต่อไป แต่อย่างน้อยอายุหกสิบของ ดร.ยุพา ไม่ได้มากเกินไปสำหรับการเริ่มต้นเป็นตัวของตัวเองในทางธุรกิจ
"ธุรกิจเป็นเรื่องท้าทาย" ดร.ยุพาทิ้งท้ายอย่างมั่นใจ และบอกความหมายเป็นนัยๆ
|
|
|
|
|