|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2531
|
|
กฤษณ์ อัสสกุล นักธุรกิจใหญ่เจ้าของแผงหนวดและเส้นผมสีดอกเลาคนนี้ นอกจากจะเป็นเจ้าของไทยสมุทรประกันภัยประกันชีวิตและกิจการในเครือ "ไทยสมุทร" แล้ว ใครที่อ่าน "ผู้จัดการ" สม่ำเสมอก็คงทราบด้วยว่า โอเชี่ยนมารีน่านั้นก็เป็นกิจการหนึ่งของเขา
"ผู้จัดการ" ฉบับที่ 42 ประจำเดือนมีนาคม 2530 เคยเขียนถึงโอเชี่ยนมารีน่า ว่าเป็นโครงการที่จุดประกายขึ้นมาจากการใช้ชีวิตยามว่างของกฤษณ์ อัสสกุล ภายหลังจากที่เริ่มคลั่งไคล้กีฬาเรือเร็วมาได้พักใหญ่
โอเชี่ยนมารีน่านั้นมีสถานที่ตั้งอยู่ริมหาดชื่อ "ทรายทอง" ซึ่งเป็นหาดที่เชื่อมต่อจากหาดจอมเทียนตามเส้นทางที่ทอดสู่สัตหีบ ถ้ามาจากพัทยาก็จะอยู่ด้านขวาของถนนที่ทอดสู่อำเภอสัตหีบ ณ ตรงหลักกิโลเมตรที่ 157 ก่อนถึงสวนนงนุชเล็กน้อย
โอเชี่ยนมารีน่าเป็นโครงการที่ประกอบด้วยสถานที่พักผ่อนสุดสัปดาห์ในลักษณะรีสอร์ทและที่แปลกแหวกแนวก็คือที่นี่มีสโมสรเรือเร็วรวมอยู่ด้วย
ว่ากันว่าทั้งโครงการต้องใส่เงินเข้าไปกว่า 50 ล้านบาท แต่อนาคตค่อนข้างจะลมๆ แล้งๆ พิกล
เฉพาะส่วนที่เป็นสโมสรเรือเร็วนั้น ก็มีปัญหามาตั้งแต่ต้น เมื่อกฤษณ์ตัดสินใจสร้างอู่เก็บเรือโดยขุดทรายให้เป็นอู่ใช้เนื้อที่นับสินไร่ ซึ่งยังไม่ทันข้ามปีก็เกิดตื้นเขินเพราะทรายทลายลงไปทับถม กฤษณ์ต้องยอมควักเงินอีกเป็นสิบล้านบาทเพื่อสร้างท่าจอดเรือยื่นออกไปกลางทะเล ซึ่งก็ไม่วายถูกวิจารณ์ว่าไม่ปลอดภัยต่อเรือราคาเป็นล้านที่จะเข้าจอดอยู่ดี
ถ้าเผอิญกฤษณ์ไม่ใช่มหาเศรษฐีแล้ว ใครต่อใครก็คงต้องรู้สึกเห็นใจการตัดสินใจของเขาอย่างไม่ต้องสงสัย
เนื่องจากอนาคตของโอเชี่ยนมารีน่าดูเหมือนจะมืดมนเอาเสียจริงๆ
และใครต่อใครก็คงค่อยๆ ลืมชื่อโอเชี่ยนมารีน่าไปทีละนิด...ทีละนิด ถ้าเผอิญ โจเซฟ วี วิคตอเรีย ประธานเอวิสเจ้าของกิจการรถเช่า ไม่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเปิดแถลงข่าวที่ว่าไปแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับโอเชี่ยนมารีน่าไม่น้อย
ประธานเอวิสคนนี้นี่แหละที่บอกว่าจะมาลงทุนสร้างอู่ต่อเรือยอร์ชขึ้นที่เมืองไทย โดยจะส่งไปขายที่ยุโรปเป็นเป้าหมายหลัก
แม้ในเฉพาะหน้าโครงการสร้างอู่ต่อเรือจะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าใครจะลงทุนร่วมกับใคร ทำกันอย่างไร มีอนาคตมากน้อยแค่ไหน แต่การเปิดตัวแถลงข่าวของประธานเอวิสก็ดูเหมือนจะทำให้กฤษณ์ อัสสกุล กระหยิ่มยิ้มย่องอยู่ไม่น้อย
เพราะผู้ลงทุนบอกแต่ว่า อู่ต่อเรือนั้นจะเช่าสถานที่บริเวณโอเชี่ยนมารีนา ซึ่งกฤษณ์หวังมานานพอสมควรแล้วที่จะให้ที่นี่เป็นศูนย์เรือเร็วและเรือยอร์ช ก็ในเมื่อมีอู่ต่อเรือซึ่งถ้าประสบความสำเร็จ ก็จะกลายเป็นอู่ที่ผลิตเรือยอร์ชที่ทั่วโลกรู้จัก เรื่องที่โอเชี่ยนมารีน่าจะได้ประโยชน์นอกเหนือจากค่าเช่าทำอู่จะเป็นไปได้เชียวหรือ?
ใครจะมองโครงการอู่ต่อเรือยอร์ชของประธานบริษัทรถเช่าเอวิสอย่างไรนั้นก็ว่ากันไปตามอัธยาศัย
แต่สำหรับกฤษณ์ อัสสกุล แล้วก็คงจะเป็นข่าวดีมากๆ
จากความบันเทิงใจในการใช้ชีวิตยามว่างพาเรือเร็วที่ซื้อต่อมาจาก ชาตรี โสภณพนิช ทะยานฝ่ายอดคลื่นกลางทะเล กระทั่งกลายเป็นการดีดลูกคิดรางแก้วที่จะแปรเปลี่ยนให้โอเชี่ยนมารีน่าเป็นศูนย์เรือยอร์ช ที่สามารถให้ผลตอบแทนอย่างสูง แม้ที่ผ่านๆ มาจะต้องประสบอุปสรรคขวากหนาม โอกาสมาถึงคราวนี้ก็คงจะเป็นความปลาบปลื้มอยู่ไม่น้อย
และก็คงจะเป็นความปลาบปลื้มสำหรับกฤษณ์ไปอีกนานก็เป็นได้ ถ้าวิถีชีวิตไม่ชักนำให้ต้องรู้จักกับสุภาพสตรีผู้ที่มีคำว่านางสาวนำหน้าที่ชื่อ ลลิษา มหาเจริญ คนที่เป็นความคดีกับกฤษณ์ภายหลังจากที่เพิ่งได้ข่าวดีมาหมาดๆ
ลลิษาเป็นโจทย์ยื่นฟ้อง บริษัท ไทยสมุทรและกฤษณ์ อัสสกุล เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ที่ผ่านมาด้วยข้อหาละเมิดสิทธิพร้อมกับเรียกค่าเสียหายสูงถึง 274 ล้านเศษ
เป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับสถานพักผ่อนระบบ "ไทม์ แชริ่ง" ที่รู้จักกันแพร่หลายภายใต้ชื่อ ซิกม่ารีสอร์ท ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมองว่าเป็นกิจการในเครือไทยสมุทรอีกแห่งหนึ่ง
ลลิษานั้นเป็นเจ้าของบริษัท แอล.พี. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ซิ่ง ดีเวลลอปเม้นท์ (ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท) ลลิษาบอกว่าบริษัท แอล.พี. ซึ่งตัวเธอเองดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ เป็นผู้ริเริ่มโครงการ "เซ้าท์ พัทยา รีสอร์ท" ซึ่งเป็นโครงการสร้างสถานที่พักตากอากาศขนาดใหญ่บริเวณหาดจอมเทียนและเป็นโครงการที่จะร่วมอยู่ในเครือข่ายของ "รีสอร์ท คอนโดมิเนียม อินเตอร์เนชั่นแนล" หรือ อาร์.ซี.ไอ. ซึ่งเป็นองค์การแลกเปลี่ยนที่พักตากอากาศระหว่างประเทศ มีสถานที่พักอยู่ในเครือข่ายกว่าพันแห่งทั่วโลก
เมื่อเริ่มต้นจัดทำโครงการ บริษัท แอล.พี. ของลลิษาได้อาศัยกู้ยืมเงิน 50 ล้าน จากบริษัทไทยสมุทรฯ มาดำเนินการก่อสร้าง
แต่แล้วโครงการก็มีอันต้องชะงักเมื่อลงเงินไปแล้วราวๆ 100 ล้าน โดยใช้เงินกู้ยืมจากไทยสมุทร 40.5 ล้านบาท
ลลิษาบอกว่าในที่สุดต้องแก้ปัญหาการก่อสร้างล่าช้าและปัญหาหนี้สินที่ติดค้าง ด้วยการโอนหุ้นของบริษัทให้กับคนที่กฤษณ์ส่งเข้าไปและดำเนินงานต่อจนแล้วเสร็จสามารถเปิดขายได้
บริษัทแวคเคชั่นถูกมอบหมายให้เป็นผู้ทำหน้าที่ขาย ซึ่งบริษัทนี้เป็นบริษัทของลลิษา แต่ต่อมาก็ถูกยกเลิกไม่ให้ทำหน้าที่ กลับให้บริษัทซิกม่า รีสอร์ทคลับ ซึ่งกฤษณ์ก่อตั้ง เข้ารับหน้าที่แทน
"การที่ซิกม่า รีสอร์ท คลับ เข้าไปขาย "ไทม์ แชริ่ง" หรือ สมาชิกภาพในอาคารชุดเซ้าท์ พัทยา รีสอร์ท ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2528 ถึงปัจจุบัน ประมาณการว่า มีรายรับทั้งหมด 262 ล้านบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจะเหลือ 183 ล้านบาท หักลดยอดหนี้ของบริษัท แอล.พี. จำนวน 105 ล้านบาทแล้ว จะมียอดเหลือรวมดอกเบี้ยกว่า 88 ล้านบาท ซึ่งควรส่งคืนให้กับโจทก์..." ผู้ที่ทราบเรื่องเล่าถึงบางส่วนที่ลลิษาบรรยายไว้ในคำฟ้อง
นอกนั้นก็เป็นค่าเสียหายอีกหลายรายการ รวมแล้วก็ 274 ล้านเศษ โดยจำเลยนอกจากบริษัทไทยสมุทร กฤษณ์ อัสสกุล แล้วก็ยังมีอีก 9 คนที่โดนหางเลขเข้าไปด้วย
ก็เป็นเรื่องที่กฤษณ์จะต้องเอาความจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นมาหักล้างข้อกล่าวหาของลลิษาต่อไป
|
|
|
|
|