Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2531
โอสถานุเคราะห์-เต็กเฮงหยู ยุคทดสอบความแกร่งของรุ่นที่ 4             
โดย สุดจิตร์ ไชยตระกูลชัย
 

 
Charts & Figures

ผังองค์การบริษัทโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) จำกัด
ผังการสืบทอดกลุ่มเต๊กเฮงหยู


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท โอสถสภา จำกัด

   
search resources

โอสถสภา, บจก.
สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์
Pharmaceuticals & Cosmetics
วิมลทิพย์ พงศธร
ธนา ไชยประสิทธิ์




กลุ่มเต๊กเฮงหยูเนื่องจากรุ่นก่อตั้ง-แป๊ะ โอสถานุเคราะห์มาถึงรุ่นปัจจุบันก็คงต้องถือว่าเป็นทายาทรุ่นที่สี่แล้ว พวกเขาอยู่ในวัยหนุ่มสาว เบื้องหน้าของพวกเขาเป็นหนทางที่จะต้องฝ่าฟันกันอีกมากมาย ซึ่งถ้าจะให้รอดพ้นก็จะต้องแกร่งอย่างมาก ๆ !?!

รัตน์ โอสถานุเคราะห์ ก้าวลงมาจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) เมื่อกลางปี 2529 เพื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หลังจากนั้นวิมลทิพย์ พงศธร หลานสาวของของเขาขึ้นสืบทอดตำแหน่งแทน นับเป็นการเปิดศักราชรุ่นที่สี่ของบริษัทเก่าแก่ที่มียอดขายพันกว่าล้านแห่งนี้

วิมลทิพย์ พงศธร ขึ้นกลุ่มบังเหียนบริษัทด้วยวัยเพียง 30 ปี นับเป็นผู้นำรุ่นที่สี่ พร้อมกับการก้าวขึ้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการ ของธนา ไชยประสิทธิ์ ในช่วงเวลาเดียวกับการสวมตำแหน่งผู้อำนวยการตลาด 2 ของภาสุรี โอสถานุเคราะห์เช่นกัน และรวมถึงวันทนีย์ เบญจกาญจน์ผู้พี่ของธนาซึ่งปัจจุบันรั้งตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อและผู้อำนวยการฝ่ายธุรการ

นั่นหมายความว่าโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) อยู่ในเงื้อมมือของคนหนุ่มสาว นับเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปมากไม่เหมือนรุ่นก่อนตั้งเมื่อ 88 ปีก่อน หรือรุ่นสวัสดิ์ (รุ่นที่สอง 2460-2500) แม้กระทั่งรุ่นที่สามอย่างสุวิทย์-สุรัตน์ (2500-2529) ที่ธุรกิจยังไม่ TOUGH อยู่

คนในวงการคาดกันว่ารุ่นที่สี่จักต้องเผชิญปัญหาสองประการ หนึ่ง - ปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น สอง - ปัญหาความสามารถทางด้านการบริหารเพราะเต๊กเฮงหยูเป็นบริษัทใหญ่ที่มีผลิตภัณฑ์หลายตัวซึ่งกำลังถูกท้าทายจากคู่แข่งซึ่งงัดกลยุทธ์ทุกรูปแบบมาใช้ นอกจากนี้สภาพการณ์ทางการตลาดก็ถาโถมกระหน่ำสินค้าหลายตัว และที่สำคัญซึ่งคนภายนอกเฝ้าจับตามองพร้อมกับตั้งคำถามก็คือรุ่นปัจจุบันมีความสามารถพอที่จะสืบทอดธุรกิจของตระกูลได้หรือไม่เพราะกลุ่มเต๊กเฮงหยูมิได้มีเพียงบริษัทโอสถสภาฯเท่านั้น

กลุ่มเต๊กเฮงหยูประกอบไปด้วยบริษัทโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) เป็นแกนกลางดำเนินธุรกิจหลักในสาม LINE คือ ผลิตภัณฑ์ยา, กลุ่มเครื่องดื่มและสินค้าอุปโภคบริโภค เฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ยามียาทัมใจเป็นตัวทำรายได้ที่สำคัญของกลุ่ม กลุ่มเครื่องดื่ม (และของเบ็ดเตล็ด) มีลิโพวิตันดี และเอ็ม 100-เอ็ม 150 เป็นตัวนำ ส่วนกลุ่มที่สามไม่มีสินค้าใดที่โดดเด่นที่พอจะเรียกได้ว่าเจิดจรัส

นอกจากบริษัทโอสถสภาฯ ซึ่งถือเป็นแกนแล้วยังมีบริษัทดาวบริวารอีก 5 บริษัท (ล่าสุดเพิ่มบริษัทเนาวรัตน์) ประกอบไปด้วยอินเตอร์แม็กนั่มพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง สปาแอ็ดเวอร์ไทซิ่ง เอสจีไอ และดาต้าโปร คอมพิวเตอร์ซิสเต็ม (ซึ่งเหล่าดาวบริวารนี้จะกล่าวในรายละเอียดต่อไป) และยังมีบริษัทซึ่งอยู่ในอาณาจักรธุรกิจที่รุ่นที่สามก่อตั้งไว้ อาทิ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จีเอฟ หรือมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กิจการประเภทนี้มีอีกราวเกือบสี่สิบบริษัท

ภารกิจอันหนักหน่วงเหล่านี้เป็นเรื่องที่รุ่นที่สี่จะต้องเผชิญในไม่ช้าก็เร็วและวันเวลานั้นก็ได้เดินทางมาถึงแล้ว การเล่นการเมืองอย่างเป็นล่ำเป็นสันของสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ซึ่งเป็นผู้นำตระกูลโสถานุเคราะห์รุ่นที่สามภายหลังการลาโลกไปของสุวิทย์ บุตรคนโตของสวัสดิ์ เป็นสถานการณ์ชี้ชัดประการหนึ่ง

สุรัตน์ เป็นโอสถานุเคราะห์เพียงคนเดียวที่เล่นการเมือง เขาโดดเข้าไปเมื่อปี 2512 หลังจากนั้นเป็นต้นมาสุรัตน์ ก็เข้า ๆ ออก ๆ ระหว่างทำธุรกิจกับเล่นการเมือง ซึ่งครั้งใดที่สุรัตน์เข้าไปมีตำแหน่งทางการเมือง สุรัตน์จะต้องลาออกจากกรรมการของโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) และบริษัทในเครือทุกครั้งไปตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี 2512 แล้ว

การที่สุรัตน์เข้าไปเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวจนได้เป็นรัฐมนตรีหลายสมัยทำให้เขาค่อนข้างจะใส่ใจทางด้านการเมืองมากกว่าธุรกิจ "ไม่เป็นผลดีกับธุรกิจเลย ถ้ามองในแง่ความต่อเนื่อง แต่ถ้ามองในแง่การมีพาวเวอร์ในการป้องกันการถูกรังแกจากคู่แข่งขันซึ่งอาจใช้อิทธิพลทางการเมืองเข้าแทรกแซง วิธีชอบธรรมเพราะกลุ่มธุรกิจใหญ่ ๆ ใช้กับ" คนในวงการ ที่เฝ้าติดตามเส้นทางการเมืองของกลุ่มสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์วิเคราะห์

เพราะการที่สุรัตน์เข้าไปเล่นการเมืองบ่อย ๆ นี่เองประกอบกับน้อง ๆ ของสุรัตน์ต่างก็มีอาณาจักรของตนเองทำให้การเปลี่ยน GENERATION เร็วขึ้นและกาลเวลานั้นก็มาถึงเมื่อปี 2529 หลังจากสุรัตน์ได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ วิมลทิพย์ พงศฑร ก็ก้าวขึ้นบริหารโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) ทันที "เรื่องนี้รุ่นเดอะเขาตัดสินใจกันเอง" วิมลทิพย์ พงศธร กรรมการจัดการโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) บอกกับ "ผู้จัดการ"

"รุ่นเดอะ" ของวิมลทิพย์ก็คือเหล่ารุ่นที่สามซึ่งนำทีมโดยสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ คุณหญิงมาลาทิพย์ โอสถานุเคราะห์ (ภรรยาสุวิทย์ โอสถานุเคราะห์ แม่ของวิมลทิพย์) เสรีและสุรินทร์ ซึ่งตัดสินใจให้วิมลทิพย์และเหล่าทายาทของแต่ละคนขึ้นมา "ลอง" บริหารโอสถสภาฯบ้าง

บางคนวิเคราะห์ว่าการขึ้นมาบริหารบริษัทโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) ของเหล่าทายาทของรุ่นที่สามนั้นเป็นการ "ก้าวข้ามขั้น" ซึ่งเร็วเกินไปแต่หากหวนกลับไปดูวัฒนธรรมการสืบทอดอำนาจของเต๊กเฮงหยูแล้ว "เต๊กเฮงหยูเขามีนโยบายให้ลูกหลานเขาดูแลธุรกิจของตระกูล" คนที่รู้จักกลุ่มเต๊กเฮงหยูดีเล่า เพราะแม้กระทั่งรุ่นของสุวิทย์หรือสุรัตน์ก็ขึ้นมาบริหารโอสถสภาฯเมื่อยังหนุ่มเช่นกัน

สุวิทย์ หลังจากกลับจากต่างประเทศกมาช่วยงานบิดาเต็มที่ "ช่วงนั้นจะเรียกได้ว่าดูแลแทนนายห้างก็คงจะไม่ผิด" คนเต๊กเฮงหยูเล่าหรือสุรัตน์เองก็ขึ้นเป็นกรรมการจัดการของโอสถสภาฯ เมื่ออายุเพียง 27 ในปี 2500 น้อยกว่า วิมลทิพย์เมื่อวันที่ขึ่นบริหารโอสถสภาฯ ในตำแหน่งเดียวกันเสียอีก

การขึ้นบริหารงานของวิมลทิพย์ พงศธรอย่างเงียบ ๆ จนหลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมจึงให้เด็ก ๆ ขึ้นบริหารงานในขณะที่ตระกูลอื่น ๆ ให้เวลาลูกหลานเรียนงานนาน ๆ อย่างตระกูลโสภณพนิชก็เป็นอันหมดไปเพราะเป็นวัฒนธรรมของเต๊กเฮงหยู แต่คนที่เฝ้ามองโอสถถานุเคราะห์วิเคราะห์ว่าการขึ้นมาของวิมลทิพย์ พงศธรเป็นการพลิกโฉมหน้าของโอสถานุเคราะห์อีกระดับหนึ่ง นั่นคือการให้ผู้หญิงขึ้นเป็นผู้นำซึ่งในประวัติศาสตร์ของโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ยิ่งหากหวนกลับไปมองดูบรรดาทายาทรุ่นปัจจุบันแล้วจะเห็นได้ชัดถึงปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ของตระกูลนี้

วิมลทิพย์ พงศธร เป็นลูกสาวคนโตของสิวิทย์โอสถานุเคราะห์และคุณหญิงมาลาทิพย์ โอสถานุเคราะห์ ซึ่งเป็นทายาทที่สืบทอดตำแหน่งการบริหารของตระกูลมาตั้งแต่สมัยสวัสดิ์ยังไม่วางมือจนกระทั่งเมื่อเหล่าน้อง ๆ ของเขากลับจากต่างประเทศแล้วต่างก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นเป็นกรรมการจัดการ

สุรัตน์ เป็นกรรมการจัดการโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) ครั้งแรกเมื่อปี 2500 ด้วยวัยเพียง 27 ปีในช่วงเวลานั้นเป็นเสมือนการเข้าสู่รุ่นที่สามของโอสถานุเคราะห์อย่างเป็นทางการและหลังจากนั้น 2 ปี สุวิทย์ก็ขึ้นเป็นบ้างหลังจากที่ช่วยงานผู้บิดามานาน 3 ปี ต่อมาเสรีก็ขึ้นเป็นกรรมการจัดการจนกระทั่งถึงคิวของสุรินทร์เมื่อปี 2508 หลังจากนั้นก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนขึ้นมาบริหารอีกในรอบที่สอง

สุวิทย์เป็นกรรมการจัดการอีกครั้งราวปี 2508 จึงหมุนเวียนในหสุรัตน์ขึ้นเป็นอีกรอบในปี 2511 หลังจากนั้นสวัสดิ์กลับมาเป็นผู้บริหารแทนเพราะสุรัตน์เข้าไปเล่นการเมืองดังกล่าวข้างต้นเป็นการพิสูจน์ว่าสวัสดิ์ยังมิได้วางมืออย่างแท้จริง เพราะเขายังเป็นประธานกรรมการคอยควบคุมดูแลและวางนโยบายอย่างใกล้ชิด

คนในวงการชี้ว่าการผลัดเปลี่ยนหมุนให้เหล่าลูก ๆ ขึ้นบริหารงานแทนเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหารากฐานของธุรกิจครอบครัวสองประการ หนึ่ง - ปัญหาการขัดแย้งระหว่างบิดากับบุตร ซึ่งเป็นปัญหาอมตะซึ่งเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัยเนื่องจากผู้ก่อตั้งกิจการไม่ยินยอมมอบกิจการหรือโอนอำนาจให้เหล่าลูก ๆ ขึ้นบริหารแทนตนซึ่งนับวันมีแต่จะร่วงโรยไปตามอายุขัย "เหตุหนึ่งก็คือว่าถ้าผู้ก่อตั้งเกษียณเมื่อไร ปล่อยอำนาจเมื่อไร? พวกเขาเกรงว่ามันจะเป็นเครื่องหมายแสดงว่าเขาเป็นคนไม่เข้มแข็งพอที่จะบริหารบริษัทที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น เพราะฉะนั้นเหล่าผู้ก่อตั้งต้องการที่จะบริหารบริษัทที่เขาสร้างมากับมือต่อไปเพื่อแสดงให้เห็นว่เขาก็ยังมีความสามารถที่จะบริหาร" ผู้เชี่ยวชาญเรื่องธุรกิจครอบครัวให้ความเห็น ซึ่งสวัสดิ์เองเป็นคนมองการณ์ไกลเข้าปัญหารากฐานนี้เป็นอย่างดี จากประสบการณ์ที่เห็นเป็นรูปธรรมอยู่และจากการศึกษาตำราจากต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ (ตำราที่อ่านอยู่เสมอชื่อ "EFFECTIVESNESS") จึงพยายามมอบอำนาจการดูแลกิจการต่าง ๆ ของบริษัทที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งให้ลูกชายคนโตดูแลในช่วงแรกซึ่งก็คือสุวิทย์ สอง - ขจัดปัญหาความเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างพี่น้อง ซึ่งตามธรรมเนียมของชาวจีนจะมอบอำนาจทั้งหมดให้บุตรชายคนโตเป็นผู้ดำเนินกิจการต่อไปซึ่งของตระกูลโอสถานุเคราะห์ก็ควรจะเป็นสุวิทย์บุตรคนโต แต่สวัสดิ์คงจะเรียนรู้ว่าถ้าปฏิบัติตามประเพณีอย่างเคร่งครัดอาจจะเกิดปัญหาในภาายหลังได้จึงได้สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันบริหารซึ่งเป็นการฝึกงานไปในตัวด้วยอีกต่างหาก

ด้วยปัจจัยสองประการข้างต้นโอสถานุเคราะห์จึงสามารถแก้ปัญหารากฐานของธุรกิจครอบครัวไปได้ถึงสองเปลาะ ทำให้ประวัติศาสตร์ของเต๊กเฮงหยูไม่เคยปรากฏการณ์แก่งแย่งชิงดีกันในระหว่างลูก ๆ ของสวัสดิ์ซึ่งเป็นรุ่นที่สามเลย ตามความเชื่อนักบริหารธุรกิจสมัยใหม่มักจะกล่าวว่าธุรกิจมักจะดำรงอยู่ได้ไม่เกินสามชั่วคน ซึ่งปัญหาใหญ่ ๆ ที่ทำให้ธุรกิจล่มสลายในพริบตาเดียวนั้นนอกจากปัญหาภายนอกคือ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำแล้วไม่สามารถจะฝ่าลมมรสุมนี้ได้แล้ว ปัจจัยที่เร่งความล่มสลายของตระกูลก็คือปัญหาภายใน "บางตระกูลเอาแต่ทะเลาะกันเป็นงานหลัก ว่าง ๆ จึงมาบริหารงานอย่างจริงจังอย่างนี้ก็ไปไม่รอด" แหล่งข่าวยกตัวอย่าง

โอสถานุเคราะห์ต่างก็สืบทอดวัฒนธรรมที่ก่อรูปและสถาปนาอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่สมัยสวัสดิ์มาแล้ว หรือถ้าจะย้อนกันไปก็สามารถสืบได้ถึงแป๊ะซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งให้ลูก ๆ ได้เรียนรู้งานตั้งแต่ยังเรียนอยู่เช่นกัน จึงทำให้โอสถานุเคราะห์ไม่มีปัญหาเรื่องการสืบทอด แต่ผู้สนใจความเป็นมาของโอสถานุเคราะห์ได้ชี้ให้มองประวัติการสืบทอดจากรุ่นแป๊ะมาถึงรุ่นสวัสดิ์ว่าการสืบทอดของโอสถานุเคราะห์มิได้อาศัยความเป็นบุตรหัวปีอย่างเช่นตระกูลอื่น ๆ แต่หากมองที่ความสามารถของบรรดาทายาทเป็นหลัก ซึ่งตรงกับประวัติของโอสถานุเคราะห์ซึ่งระบุว่า สวัสดิ์เป็นผู้สืบทอดกิจการเต๊กเฮงหยูทั้ง ๆ ที่เขาเป็นลูกคนที่สามและเป็นบุตรคนที่สองที่ยังมีเสวียน โอสถานุเคราะห์เป็นพี่ของเขาอยู่แต่สวัสดิ์ก็ได้เป็นผู้นำนาวาเต๊กเฮงหยูสืบแทนบิดา

บางคนตั้งข้อสังเกตว่าสวัสดิ์มีความเหมาะสมมากกว่าเพราะเขาเรียนแพทย์และฝึกงานเรียนรู้จากแป๊ะผู้เป็นบิดามาโดยตลอดทำให้โอสถานุเคราะห์ไม่มีปัญหาการนำมาแต่อดีตแล้ว อีกทั้งเสวียนก็มิได้ก่อปัญหาการนำมาแต่อดีตแล้ว อีกทั้งเสวียนก็มิได้ก่อปัญหาหรือไม่พอใจแต่ประการใดกลับร่วมมือกันบริหารเต๊กเฮงหยูด้วยความสามัคคี (จะมีก็แต่ความขัดแย้งในเรื่องตำรับยากฤษณากลั่นเท่านั้นที่พี่ของสวัสดิ์ซึ่งหลังจากที่ได้แต่งงานไปแล้วได้ออกยากฤษณากลั่นตราเพ็ญภาคมาขายแข่งช่วงนั้นเต๊กเฮงหยูก็หอบไปพอสมควรในช่วงนั้น บางคนบอกว่าเป็น "ศึกสายเลือด" อะไรทำนองนั้นซึ่งทางเต๊กเฮกหยูไม่ค่อยพอใจนัก) ก็นับว่าเป็นโชคดีของโอสถานุเคราะห์ ทำให้ก้าวไปด้วยความมั่นคงจนมีเวลาคิดสินค้าที่มีอินในเวชั่นใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดจนเป็นตำนานที่ล้ำหน้ากว่ายากกฤษณากลั่นตรากิเลนของแป๊ะ ก็คือยาทัมใจนั่นเอง

ด้วยคำว่า "ความเหมาะสม" นี่เองทำให้วิมลทิพย์ พงศธรขึ้นมาเป็นกรรมการจัดการหญิงคนแรกของโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู)

วิมลทิพย์ พงศธร เป็นลูกของสุวิทย์ ซึ่งสุวิทย์ได้ออกไปสร้างอาณาจักรธุรกิจของตนเองหลังจากน้อง ๆ ขึ้นบริหารแทน สุวิทย์เป็นคนที่สนใจด้านไฟแนนซ์ จึงได้ตั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจเนอรัลไฟแนนซ์หรือที่รุ้จักกันดีในชื่อ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จีเอฟ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เจเนอรัลและบริษัทเจเนอรัลลิซ ซึ่งทั้งสามบริษัทถึงจะเป็นการริเริ่มของสุวิทย์ ถือเป็นอาณาจักรส่วนตัวของสุวิทย์ แต่การทำธุรกิจก็ยังคงสัมพันธ์กับบริษัทแม่และพี่น้องในตระกูลอย่างแนบแน่น อย่างเครดิตฟองซิเอร์ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับเรื่องไฟแนนซ์ของคนที่มาซื้อบ้านและที่ดินก็โยงใยกับการทำธุรกิจจัดสรรบ้านและที่ดินอย่างหมู่บ้านเสรีของเสรี โอสถานุเคราะห์น้องชายคนเล็ก หรือเจเนอรัลลิซ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าทำธุรกิจเกี่ยวกับลิซซิ่ง ตรงนี้ต้องถือว่าสุวิทย์เป็นคนมองการณ์ไกลเข้าใจความสำคัญของไฟแนนซ์จริง ๆ ซึ่งธุรกิจลิซซิ่งก็เป็นธุรกิจที่มีอนาคตจริง ๆ

นอกจากนี้สิวิทย์ยังไม่ร่วมมือกับกลุ่มทุนท้องถิ่นตั้งเป็นบริษัทที่ขึ้นต้นด้วยชื่อจังหวัดแล้วตามด้วยซัพพลาย อาทิ จันทบุรี ซัพพลาย สุราษฎร์ธานี ซัพพลาย หรือภูเก็ต ซัพพลาย ฯลฯ อีกมากมายซึ่งเป็นธุรกิจที่เรียกกันว่าซื้อมาขายไป กลุ่มธุรกิจของสุวิทย์เป็นกลุ่มที่ใหญ่พอสมควร สุวิทย์เป็นคนแรกของตระกูลก็ว่าได้ที่ไปบุกเบิกสร้างอาณาจักรภายใต้การสนับสนุนของสวัสดิ์ผู้บิดา เห็นได้จากการเข้าไปร่วมถือหุ้นด้วยไม่มากก็น้อย "กลุ่มของสุวิทย์เรียกว่ากลุ่มหลังสวนเพราะมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ซอยหลังสวน" แหล่งข่าวเล่า

กลุ่มนี้หลังจากสุวิทย์ลาโลกไปเมื่อปี 2523 คุณหญิงมาลาทิพย์ได้เป็นผู้นำกลุ่มแทนและมีวิมลทิพย์ พงศธรเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ

วิมลทิพย์หลังจากสำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาตรีจากโอไฮโอคอลเลจแล้วก็ต้องบินกลับมาเมืองไทยเมื่อปี 2522 "ที่ต้องกลับมาก็เพราะคุณพ่อไม่สบายก็เลยกลับมาช่วย" วิมลทิพย์ ซึ่งตอนนั้นยังใช้นามสกุลโอสถานุเคราะห์บอกเหตุผล

วิมลทิพย์เริ่มงานครั้งแรกที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จี.เอฟ. ซึ่งเป็นแกนหลักของอาณาจักรของสุวิทย์ผู้บิดา ในตำแหน่งเทรนนีตามสไตล์ถัดจากนั้นก็โยกไปอยู่ฝ่ายตรวจสอบภายในแล้วจึงมาเริ่มงานที่โอสถสภาฯ สำนักกรรมการจัดการเป็นที่เรียนรู้งานแห่งแรกในโอสถสภาฯ "เพื่อจะได้ใกล้ชิดผู้ใหญ่ก่อน" วิมลทิพย์บอกเหตุผลและเธอก็เขาไปดูแลด้านการเงินและบัญชีอันเป็นฝ่ายที่สำคัญมาก ๆ ของบริษัทและเธอก็ไปคุ้มด้านการคลัง และด้านการผลิตตามลำดับ

8 ปีกับการเรียนรู้งานวิมลทิพย์หรือคนโอสถสภาเรียกกันว่า "คุณแหม่ม" ก็ขึ้นเป็นกรรมการจัดการหญิงคนแรกของบริษัทอย่างเงียบ ๆ เงียบเสียจนกระทั่งคนภายนอกตั้งข้อสงสัยถึงความสามารถของเธอ "ที่จริงแล้วคุณแหม่มเธอเรียนรู้งานมานานอย่างที่พวกเราทราบไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ เธอก็จะมาใหญ่เลย" คนเต๊กเฮงหยูแก้แทน

พร้อม ๆ กับการขึ้นเป็นกรรมการจัดการของวิมลทิพย์ ธนา ไชยประสิทธิ์ ก็เถลิงอำนาจด้วยตำแหน่งรองกรรมการจัดการ

ธนา ไชยประสิทธิ์ ก็เป็นหลานรักอีกคนหนึ่งของสุรัตน์ เพราะเป็นลูกพี่สาวคนโตคือปราณี ไชยประสิทธิ์ เขาเริ่มเข้าสู่ธุรกิจครอบครัวแห่งนี้เมื่อปี 2521 หลังจากจบการตลาดมากมหาวิทยาลัยกรุงเทพก็โดดเข้าไปเป็นเลขาของสุรัตน์อยู่พักใหญ่ จากนั้นจึงโยกไปคุมด้านการจัดซื้ออยู่ช่วงหนึ่งแล้วจึงย้ายมาคุมด้านการบริหาร ธนา เรียนรู้งานตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับสูง จึงได้คลุกคลีกับพนักงานทุกระดับ จึงเป็นความหวังในการสืบทอดตำแหน่งต่อไปในอนาคตหากจะมีการผลัดเปลี่ยนกันบริหารงาน

ภาสุรี โอสถานุเคราะห์ ลูกชายของเสรี (น้องชายคนสุดท้องของสุรัตน์) อายุเพียง 29 ปี (เมื่อปี 2530) ก็ได้เป็นผู้อำนวยการตลาดสองของโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) แล้ว ภาสุรี เพิ่งกลับมาจากอเมริการาว 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่เพิ่งเริ่มงานกับโอสถสภาฯเมื่อไม่นานมานี้ ภาสุรีชอบขี่เครื่องบินประเภทไลท์ แอร์คราฟท์ อันแสดงถึงความชื่นชอบในความท้าทาย เป็นรุ่นที่สี่อีกคนหนึ่งที่เป็นตัวแทนของเสรี "ช่วงนี้คุณภาสุรีขอลาไปพักร้อน หลังจากกลับมาคาดกันว่าจะมาเป็นรองกรรมการผู้จัดการ" แหล่งข่าวในเต๊กเฮงหยูทำนาย

วันทนีย์ เบญจกาญจน์ ผู้พี่ของธนาก็เป็นสายเลือดโอสถานุเคราะห์อีกคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในเต๊กเฮงหยู หลังจากเรียนเลขานุการที่วิทยาลัยกรุงเทพและลัดฟ้าไปเรียนต่อที่ IMMACUTIVE COLLAGE สหรัฐอเมริกา ก็กลับมาเริ่มงานที่เดนซ่าอุตสาหกรรมและในปีเดียวกันนั้นก็เริ่มพาเหรดเข้าบริษัทยูนิเวอร์แซลอิเลคทริคหนึ่งในบริษัทในเครือของกลุ่มสุวิทย์ และหลังจากนั้นอีก 5 ปี ก็โคจรเข้าเป็นพนังงานของเต๊กเฮงหยูจวบจนปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการฝ่ายธุรการและยังรั้งตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทรงอิทธิพลมาก ๆ ในปัจจุบันเช่นเดียวกับตำแหน่งมีเดียไดเรคเตอร์สปาแอ็ดเวอร์ไทซิ่ง (หนึ่งใน 5 ดาวบริวารของโอสถสภาฯ) ของเสาวนี สารสาส น้องสาวของวิมลทิพย์ พงศธรซึ่งเป็นสายเลือดของสุวิทย์อีกคนหนึ่ง

หากเหลียวดูการเติบโตของเหล่าทายาทรุ่นที่สี่แล้ว โดยมองลึกลงไปถึงการเข้าเป็นกรรมการบริษัทโอสถสภาฯและดาวบริวาร จะมองเห็นยุทธวิธีการส่งเสริมเหล่าทายาทเข้าไปมีบทบาทในบริษัทได้บ้าง วิมลทิพย์ พงศธร เข้าเป็นกรรมการโอสถสภาฯ เมื่อปี 2526 ในช่วงเดียวกับรัตน์โอสถานุเคราะห์ บุตรชายคนรองของสุรัตน์ ซึ่งเข้าเป็นกรรมการแทนบิดาซึ่งลาออกไปเป็นรัฐมนตรีหรืออย่างในปี 2529 ธนา ไชยประสิทธิ์ ก็เข้าเป็นกรรมการแทนสุรัตน์ ซึ่งออกและเข้าและออกจากการเป็นกรรมการอีกครั้งเพื่อไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลักษณะเช่นนี้ปรากฏอยู่อย่างสม่ำเสมอแม้กระทั่งบริษัทดาวบริวารทั้งหลาย อาทิ พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง บริษัทในเครือของโอสถสภาฯที่เริ่มก่อตั้งเมื่อ 11 ปีที่แล้วโดยสุวิทย์และเสรีเพียง 3 ปีหลังการก่อตั้งวิมลทิพย์ก็เข้าเป็นกรรมการผู้ทรงอำนาจแทนบิดาซึ่งล่วงลับในปีนั้น

ธนา ไชยประสิทธิ์ ก็เข้าเป็นกรรมการโดยยุทธวิธีนี้เช่นกันในบริษัทอินเตอร์ แม็กนั่ม ซึ่งจดทะเบียนเมื่อปี 2520 และหลังจากนั้น 3 ปีธนาก็เริ่มเข้าไปเป็นกรรมการ

บรรดาทายาทรุ่นเยาว์เหล่านี้จะได้รับการหนุนส่งจากรุ่นที่สามเพื่อเข้าไปเรียนรู้งานของบริษัทในเครือโดยการเป็นกรรมการบริษัทเป็นสัญญาณประการหนึ่งซึ่งจะตามมาด้วยการดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในบริษัทโดยเฉพาะเต๊กเฮงหยู แต่ธรรดาบริษัทในเครือจะเพียงแต่เป็นผู้สอดส่องดูแลในฐานะตัวแทนของผู้ถือหุ้นใหญ่เท่านั้น

บริษัทดาวบริวารทัง 5 ของโอสถสภาฯริเริ่มก่อตั้งโดยรุ่นสุวิทย์-สุรัตน์-สุรินทร์-เสรี เป็นส่วนใหญ่ อาทิ พรีเมีร์มาร์เก็ตติ้งก่อตั้งโดยสุวิทย์ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโอสถสภาฯเมื่อปี 2520 ในครั้งแรกเป็นบริษัทที่เป็นอาณาจักรส่วนของสุวิทย์ที่ร่วมกับเสรี ด้วยทุนจดทะเบียนในครั้งแรกหนึ่งล้านบาทและเพิ่มเป็นสี่ล้านบาทในอีก 2 ปีถัดมาในการเพิ่มทุนครั้งแรกนี้เป็นภาพที่แจ่มชัดของการเป็นอาณาจักรส่วนตัวของสุวิทย์ เพราะบริษัทที่พาเหรดเข้าไปถือหุ้นเป็นบริษัทในเครือของสุวิทย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น บงล.จี.เอฟ., พรีเมียร์ โปรดักส์หรอพรีเมียร์ ซัพพลาย โดยมีบริษัทสุวิทย์และเสรี ซึ่งเป็นโฮลดิ้ง คัมปะนี ที่แสดงถึงสายใยอันแนบแน่นระหว่างสุวิทย์และเสรี

ปี 2528 พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งปรับโครงสร้างและถูกรวมเข้าเป็นบริษัทในเครือของโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) เพื่อทำหน้าที่เป็นหัวหอกทางการตลาด. รองรับสินค้าในเครือของโอสถสภาที่ขยายออกไปสู่ตลาดเครื่องอุปโภคบริโภคต่อไป พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งเป็นดาวบริวารที่ไม่อาศัยคนในครอบครัวเป็นผู้บริหารแต่ใช้มืออาชีพเข้ามา RUN ซึ่งเร็ว ๆ นี้เกิดปัญหากับบรรดามืออาชีพ

ดาวบริวารที่สองคืออินเตอร์แม็กนั่มก็ก่อตั้งเมื่อปี 2520 เช่นกันในชื่อว่า ที.วี. ฟาร์มาซูติคัล ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ในระยะแรกไม่มีสมาชิกของตระกูลโอสถานุเคราะห์เข้าเป็นกรรมการเลย จนกระทั่งปี 2523 ธนา ไชยประสิทธิ์เข้ามาเป็นกรรมการจึงเป็นสัญญาณว่าต่อแต่นี้บริษัทนี้คงจะต้องอยู่ในร่มเงาของเต๊กเฮงหยูแน่เพราะในปีนั้นมีการเพิ่มทุนเป็น 5 ล้านบาท พร้อม ๆ กันนั้นก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอินเตอร์แม็กนั่มด้วย และในปีรุ่งขึ้นเพิ่มทุนเป็น 25 ล้านบาทในการเพิ่มทุนครั้งหลังนี่เองที่ทำให้ภาพของธนาดูทรงอิทธิพลมากขึ้นเพราะถือหุ้นถึง 2,800 หุ้นในขณะเดียวกันโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) ก็เข้าถือหุ้นด้วยถึง 12,000 หุ้นและถือเป็นบริษัทในเครือของเต๊กเฮงหยูไปในที่สุด

อินเตอร์แม็กนั่มเป็นตัวอย่างหนึ่งของการแผ่ขยายอาณาจักรเต๊กเฮงหยูไปสู่การตลาดมากยิ่งขึ้น ยิ่งเมื่อได้กนก อภิรดี เข้าเป็นกรรมการซึ่งพาเหรดเข้ามาพร้อม ๆ กับรัตน์ ลูกชายของสุรัตน์ซึ่งมีเงาของสุรัตน์ทาบทับอยู่ ยิ่งเป็นประจักษ์พยานสำคัญของการเข้าไปสู่อ้อมอกของเต๊กเฮงหยูมากขึ้น

อินเตอร์แม็กนั่มมาโตจริง ๆ ก็เมื่อครั้งที่เข้าไปประมูลเป็นผู้จำหน่าย ให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมไทย (อสค.) เมื่อปี 2526 ซึ่งในครั้งนั้น อสค. เปิดประมูลให้เอกชนเป็นผู้ผูกขาดจำหน่ายนมให้ทาง อสค. แต่เพียงผู้เดียว โอสถสภาฯทุ่มโถมสุดตัวเพื่อลุ้นให้เป็นผู้ทำตลาดนมให้กับทาง อสค. ให้ได้ โดยเสนอตัวเข้าไปทั้งทางอินเตอร์แม็กนั่มและโอสถสภาฯและในที่สุดอินเตอร์แม็กนั่มก็เป็นผู้ประมูลได้

ว่ากันว่าความสำเร็จของการประมูลในครั้งนั้น เพราะว่าสายสัมพันธ์ทางการเมืองอะไรเทือกนั้น เพราะว่ากิจสังคมคุมเกษตรอยู่ คนในวงการตั้งข้อสังเกตว่าเงื่อนไขที่ทางคณะกรรมการตั้งไว้สูงมากทำให้เอเย่นต์เก่าของ อสค. ไม่สามารถเข้ามาร่วมวงศ์ไพบูลย์ได้อันเป็นขวากหนามใหญ่สกัดกั้นอดีตเอเย่นต์บางราย แม้กระทั่ง บริษัทเสียงดังแล๊ป ผู้มีความแนบแน่นกับทางพรรคชาติไทยซึ่งเคยรุ่งเรืองอยู่พักใหญ่ในพรรคนั่งเก้าอี้เสนาบดีของกระทรวงเกษตรซึ่งสามารถบันดาลคุณหรือให้โทษได้ ทว่าปี 2526 ชาติไทยดำเนินกลยุทธ์ผิดพลาดต้องกระดอนไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน โอกาสทองของกิจสังคมก็มาถึงสามารถล้างแค้นเสียงดังเแล๊ปผู้หยิบชิ้นปลามันไปเมื่อครั้งก่อนเพราะสามารถเป็นผู้จำหน่ายนมไทย-เดนมาร์คของ อสค.ได้ ในครั้งนี้กิจสังคมก็สามารถดันอินเตอร์แม็กนั่มซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) ที่มีตระกูลโสถานุเคราะห์เป็นเจ้าของและก็ช่างบังเอิญเสียนี่กระไรเพราะอินเตอร์แม็กนั่มก็เป็นบริษัทในเครือเสียด้วย

อินเตอร์แม็กนั่มจนทุกวันนี้ประสบความสำเร็จจากการเป็นผู้ทำตลาดให้ทาง อสค. ด้วยเงื่อนไขสองประการ หนึ่ง - โครงการรณรงค์เพื่อการบริโภคนมที่จัดโดยรัฐบาล จะโดยการผลักดันของพรรคการเมืองหรือไม่ ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด สอง - ผู้บริหารซึ่งก็คือกนก อภิรดี

เอส.จี.ไอ. ก็เป็นบริษัทในเครือที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2520 ในชื่อดั้งเดิมว่าบริษัทอุตสาหกรรมแก้วสมุทรปราการ โดยตระกูลอมรธนกิจกุล ซึ่งมีกิมคอย แซ่อึ้งเป็นผู้นำครอบครัวเป็นผู้วางรากฐานบริษัท เป็นบริษัทผลิตขวดแก้ว

ทุนจดทะเบียนในครั้งแรกเมื่อปี 2520 หนึ่งล้านบาทไม่ปรากฏว่ามีคนนอกตระกูลเข้าร่วมเป็นกรรมการ จวบจนกระทั่งเมื่อบริษัทต้องการเพิ่มทุนเพื่อตั้งโรงงานป่าแก้วจึงต้องเพิ่มทุนเพิ่มจากเดิมอีกถึง 15 เท่าเป็น 16 ล้านบาท จึงปรากฏคนนอกตระกูลเข้ามาร่วมสังฆกรรมด้วย

ไพบูลย์ แก่นนาคำ เป็นกรรมการคนใหม่ที่เข้ามาแทนวิชิต อมรธนกิจกุล เข้ามาเป็นหนึ่งในสี่กรรมการบริษัท โดยการซื้อหุ้นใหม่ 995 หุ้นและรับโอนหุ้นจากวิชิต 125 ถือหุ้นทั้งหมด 1,120 หุ้นและเป็นกรรมการคนเดียวที่ไม่ได้เป็นคนของตระกูลอมรธนกิจกุล แต่เขาก็เป็นคนของตระกูลโอสถานุเคราะห์

คนในวงการตั้งข้อสังเกตในครั้งนั้นว่าบริษัทที่โอสถานุเคราะห์จะเข้าไปถือหุ้นหรือก่อตั้งส่วนใหญ่ในระยะหลัง ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะกลายมาเป็น AFFILIATE ของเต๊กเฮงหยูในที่สุดนั้นมักจะก่อตั้งในปี 2520 ซึ่งเป็นปีที่อยู่ในยุคการฟื้นฟูกิจการและก่อตั้งกิจการเป็นส่วนใหญ่เพราะเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะไปรอดเนื่องจากเพิ่งผ่านพ้นยุคประชาธิปไตย เฟื่องฟูซึ่งถือกาลอวสานหลังจากรุ่งโรจน์ช่วงสั้น ๆ ระหว่าง 14 ตุลา 2516-6 ตุลา 2519 ห้วงเวลานั้นกิจกรรมทางการเมืองชะงักลงเพราะถูกมรสุมรัฐบาลหอย ความแจ่มจรัสทางการเมืองย้ายไปสู่ธุรกิจ

โอสถสภาฯ ซึ่งขณะนั้นนำโดยสุวิทย์ก็ทุ่มเททรัพยากรส่วนใหญ่ลงไปในการก่อตั้งกิจการ อย่างพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งเพื่อรองรับการขยายงานในอนาคตและเพื่อเป็นการฝึกลูกหลาน หรือกิจการอนาคตและเพื่อเป็นการฝึกลูกหลาน หรือกิจการอย่างที.วี.ฟาร์มาซูติคัล ซึ่งภายหลังก็คืออินเตอร์แม็กนั่ม ทั้งสองบริษัทได้กลายมาเป็นบริษัทการตลาดที่ทรงความสำคัญและเป็นตัวทำรายได้มาก ๆ ให้กับบริษัทแม่อย่างโอสถสภาฯ (เต๊กเฮงหยู) อีกประการบริษัทที่โอสถสภาฯ ACQUIRE มักเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักที่โอสถสภาฯดำเนินอยู่ กรณีนี้เห็นได้ชัดจากการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทอุตสาหกรรมแก้วสมุทรปราการซึ่งเป็นบริษัทผลิตขวดแก้ว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนกลุ่มตลาดซึ่งมีเครื่องดื่มเป็นตัวชูโรง อย่างลิโพวิตันดีซึ่งนับวันจะใช้ขวดแก้วมากยิ่งขึ้นตามยอดขายที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และเพราะขวดลิโพฯเป็นขวดประเภทใช้แล้วทิ้งไม่มีการเก็บคืนจึงต้องผลิตมากเป็นพเศษ

ข้อสังเกตข้างต้นสอดคล้องกับการเข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทอุตสาหกรรมแก้วสมุทรปราการซึ่งคืบคลานโดยการส่งลูกหม้อของเต๊กเฮงหยูอยางไพบูลย์ แก่นนาคำ เข้าไปตามติดด้วยรุ่นใหญ่อย่างสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ซึ่งเข้าเป็นกรรมการในปีรุ่งขึ้นตามหลังหัวหอกไพบูลย์ไม่นานและก็เป็นกรรมการผู้มีอำนาจด้วย ราว ๆ เดือนสิงหาคม 2521 สุรัตน์ ก็ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการ หลังจากนั้นสองปีก็มีการเพิ่มทุนอีกเป็น 53 ล้านบาท กรรมการที่เพิ่มเข้ามาเป็นคนของเต๊กเฮงหยูทั้งสิ้น คนของอมรธนกิจหลงเหลือเพียงวิเชียรเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อมีการเพิ่มทุนเป็น 70 ล้านบาทเมื่อปี 24 วิเชียรก็ถูกลดลงมิใช่กรรมการผู้ทรงอำนาจอีกต่อไป และการเพิ่มทุนครั้งหลังสุดตระกูลอมรธนกิจรวมทั้งผู้ก่อตั้งบริษัทอย่างกิมคอย แซ่อึ้งก็ลาออกจากกรรมการบริษัทเป็นอันสิ้นสุดอย่างถาวร

สุรัตน์ก็ลาออกจากกรรมการด้วยเช่นกันปรากฏ NEW BREED ของโอสถานุเคราะห์เข้ามาเรียนรู้งานโดยผ่านการเป็นกรรมการอันเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบมาเช่นบริษัทอื่น ๆ ธนา ไชยประสิทธิ์ เข้าเป็นกรรมการในปี 2524 เช่นเดียวกับรัตน์ ซึ่งดูเหมือนจะเข้ามาเป็นหูเป็นตาแทนบิดาสุรัตน์ ซึ่งอำลาจากบริษัทไปและวิมลทิพย์พงศธร ก็เข้ามาแสดงบทบาทในฐานะทายาทที่ถูกวางตัวในอนาคต แต่เมื่อมองดูรายชื่อผู้ถือหุ้นแล้วธนาเป็นนิวบรีดที่มีหุ้นคนเดียวเท่านั้นคือมีถึง 7,000 หุ้น ขณะที่คนอื่นไม่มี

ในปี 2526 เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นสยามกลาสอินดัสทรีและปี 2530 ภาสุรีทายาทของเสรีก็เข้าเป็นกรรมการ

สปา แอ็ดเวอร์ ไทซิ่ง หรือในชื่อเดิมเท็คแอ็ดส์ ก็ตั้งขึ้นในปี 2520 เช่นกัน ดูเหมือนปีนี้จะเป็นปีแห่งการก่อตั้งที่แท้จริง

เท็คแอดส์เกิดขึ้นมาในครั้งนั้นเป็น IN HOUSE AGENCY เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำโฆษณาให้สินค้าในเครือหลังจากที่บุกเบิกก่อตั้งบริษัทการตลาดมาแล้ว ตามสไตล์ของเต๊กเฮงหยู ในการก่อตั้งครั้งแรกไม่มีคนในตระกูลเป็นกรรมการ คนในเต๊กเฮงหยูชี้ว่าเป็นเพราะเหล่าทายาทที่ถูกวางตัวไว้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา อาทิ วิมลทิพย์อยู่อเมริกาเพิ่งกลับมาเมื่อปี 2522 หรือธนา ไชยประสิทธิ์ก็ยังอยู่ระหว่างการศึกษาที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และบรรดารุ่นสุรัตน์ ต่างก็มีกิจการของตนที่ต้องดูแลมากมายแล้ว เป็นเหตุให้กรรมการในระยะแรกมักจะเป็นลูกหม้อของโอสถสภาฯ เป็นส่วนใหญ่ กรณีเทคแอดส์เห็นได้ชัด

ปี 2523 เทคแอดส์แตกหุ้นเหลือหุ้นละ 10 บาท (จากเดิมหุ้นละร้อยบาท) พร้อม ๆ กับการเข้ามาถือหุ้นของธนา ไชยประสิทธิ์และการเข้าเป็นกรรมการแทนภักดีที่ถูกรักษาการอยู่ช่วงระยะหนึ่ง

จนกระทั่งในปี 2524 เทคแอดส์เปลี่ยนชื่อสปาแอ็ดเวอร์ไทซิ่ง พร้อม ๆ กับการพาเหรดเข้าเป็นกรรมการซึ่งจะมีบทบาทต่อไป 3 คนคือ มานิต รัตนสุวรรณ ซึ่งจะเป็นกรรมการผู้จัดการ และสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ รวมทั้งวันทนีย์ เบญจกาญจน์ ผู้พี่ของธนาซึ่งมักจะมีบทบาทร่วมกับธนาอยู่เสมอ

ปี 2526 เพชร โอสถานุเคราะห์และวิมลทิพย์ พงศธร ทายาทที่ถูกวางตัวก็พาเหรดเข้าไปเป็นกรรมการอีกระลอกพร้อม ๆ กับไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ ซึ่งเข้าไปในฐานะมืออาชีพที่เป็นกรรมการผู้จัดการแทนมานิต รัตนสุวรรณ ที่กลับไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดอีกวาระ

ในปีเดียวกันนี้เองธนา วิมลทิพย์ ประหยัดและสัญญา ออกจากกรรมการสับเปลี่ยนกับ พรศรีจันทร์ ศรีสุมา โอสถานุเคราะห์ พิเชษฐ์ รมหุตติฤกษ์ และแกล้วกล้า ไทยแย้ม ปี 2529 เสาวนี สารสาส เข้าเป็นกรรมการพร้อม ๆ กับไพบูลย์แก่นนาคำ เสาวนี อยู่มาจนทุกวันนนี้ในตำแหน่งมีเดีย ไดเรคเตอร์อันทรงอิทธิพล

สปาแอ็ดเวอร์ไทซิ่ง เป็นบริษัทในเครือที่มีการเปลี่ยนแปลงมากเป็นพิเศษแห่งหนึ่ง บางคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพราะการใช้มืออาชีพมากซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้เปลาะหนึ่งแต่ก็ให้เกิดปัญหาอีกเปลาะเช่นกัน

ห้วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาเต๊กเฮงหยูเน้นการก่อตั้งและการเข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักเป็นส่วนใหญ่ (CONCENTRIC DIVER SIFICATION) อย่างบริษัทที่ทำด้านการตลาดเพื่อทำด้านมาร์เก็ตติ้งให้สินค้าในเครื่อซึ่งทยอยออกมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีการแยกออกเป็นสามตลาด โดยเฉพาะการตลาดสามซึ่งเป็นสินค้าคอนซูเมอร์ซึ่งต้องถึงพร้อมด้านตลาด บางคนบอกวาเต๊กเฮงหยูเติบโตมาได้เพราะส่วนหนึ่งเน้นด้านการตลาดด้วยนอกจากตัวสินค้าแล้ว

ส่วนการเข้าไป ACQUISTION อุตสาหกรรมแก้วสมุทรปราการอย่างเงียบ ๆ ก็เป็นการขยายตัวตามแนวทั้ง (VERTICAL CIVERSIFICATION) เพื่อเป็นตัวสนับสนุนด้านขวดแก้ว การขยายตัวเข้าไปเทค เอส.จี.ไอ. ในครั้งนี้ ทำให้โอสถสภาฯมีฐานที่มั่นทางด้านวัตถุดิบเพราะมีโรงงานผลิตขวดแก้วเองและทำให้ต้องขยายสินค้าไลน์ใหม่ ๆ ที่ต้องบรรจุขวดมากขึ้นเช่นกัน กลางปี 2530 โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) เข้าไปซื้อกิจการซอสโรซ่าและปลากระป๋องโรซ่าซึ่งซื้อ LICENCE และโรงงานมาในราคา 31 ล้านบาท คนในวงการกล่าวว่านอกจากจะเป็นเพราะเต๊กเฮงหยู่โดยทางพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งเห็นว่าเป็นสินค้าที่มีอนาคตแล้วเป็นเพราะ ความที่เต๊กเฮงหยูต้องการขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นตลาดใหม่ซึ่งยังไม่แข็งแกร่งด้วยการขวนขวายหาสินค้าที่แข็ง ๆ อยู่แล้วในตลาดขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นการใช้กำลังผลิตให้เต็มกำลังของโรงงานผลิตขวดแก้วด้วย

หลังจากก่อตั้งและเข้าไปซื้อกิจการหลายบริษัทจนกระทั่งมั่นคงดีแล้วจากความสามารถของผู้บริหารและสายสัมพันธ์ลึกซึ้งด้านอื่น ๆ บ้างโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) ก็เริ่มขยายอาณาจักรอีกครั้งการ DIVERSIFIED ครั้งนี้ย่อมไม่เหมือนรุ่นที่สาม (สุวิทย์-สุรัตน์) สมัยนั้นจะมุ่งไปที่ดำเนินอยู่ แต่การขยายตัวครั้งหลังนี้เป็นการขยายตัวครั้งหลังนี้เป็นการขยายตัวที่ไม่สัมพันธ์กับธุรกิจเดิมนั่นคือการตั้งบริษัทคอมพิวเตอร์

ปี 2529 โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) เข้าร่วมทุน (JOINT VENTURE) กับดาต้าโปรซึ่งเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ที่พอจะมีชื่อเสียงอยู่บ้าง ผู้เฝ้าติดตามกลุ่มเต๊กเฮงหยูตั้งข้อสังเกตว่ากลยุทธ์การร่วมทุนจะถูกใช้มากขึ้นในยุครุ่นที่สี่มากขึ้น เพราะกลุ่มเต๊กเฮงหยูในยุคนี้พยายามจะก้าวออกนอกธุรกิจเดิมมากขึ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่ากรรมการของดาต้าโปรคอมพิวเตอร์ซิสเต็มส์ (ดีซีเอส) เป็นลูกหม้อของเต๊กเฮงหยูเช่นเดิมแต่คราวนี้ทายาทรุ่นที่สี่โดดเข้าเป็นกรรมการเอง อย่างธนา ไชยประสิทธิ์และภาสุรี โอสถานุเคราะห์ โดยในคราวนี้เนื่องจากเป็นการร่วมทุนจึงมีกรรมการจากดาต้าโปรณมาด้วยสามคนจากกรรมการทั้งหมด 10 อยู่มาไม่นานโอสถสภาฯก็สามารถครอบครองหุ้นได้ 100% พร้อม ๆ กับการถอยฉากออกไปของดาต้าโปรฯเหลือไว้เพียงประวิทย์ จิตนราพงศ์ ซึ่งขออยู่เป็นผู้บริหารโดยไม่เกี่ยวกับดาต้าโปรฯรังเก่าแต่อย่างใด แต่สุดท้ายเขาก็จากไปอีกคนหนึ่งเหมือน ๆ กับที่เพื่อน ๆ เขาที่ถอนตัวก่อนหน้านี้

พร้อม ๆ กับการขึ้นมาบริหารโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) ของรุ่นที่สี่ ปัญหาต่าง ๆ ก็ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบ ๆ แต่ที่ดูจะเป็นรูปธรรมชัดเจนซึ่งท้าทายผู้บริหารรุ่นเยาว์ของโอสถานุเคราะห์รุ่นปัจจุบันเป็นอย่างมากคือ ปัญหามืออาชีพ

ตั้งแต่กลางปี 2530 เป็นต้นมา (หรือหลังจากการขึ้นบริหารอย่างเต็มรูปแบบของรุ่นที่สี่ได้เพียง 1 ปี) บรรดามืออาชีพระดับคีย์หลายต่อหลายคนได้ทยอยกันลาออกไปทีละคนสองคน จนเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามาก ๆ เมื่อมานิต รัตนสุวรรณกรรมการผู้จัดการพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง ลาออกคงเหลือไว้เพียงตำแหน่งกรรมการบริหารซึ่งคนในวงการบอกว่าเพื่อเป็นการทอดเวลาเนื่องจากไม่สามารถหาคนใหม่ได้ทันท่วงที สังเกตได้จากการนำเอาผู้อำนวยการตลาดคนหนึ่งของเต๊กเฮงหยูมาเป็นกรรมการผู้จัดการ "มานิตอยู่เพื่อถ่ายทอดความรู้บางประการเท่านั้น" แหล่งข่าวบางคนแย้ม ๆ ให้ฟังอย่างนั้น

การลาออกของมานิต รัตนสุวรรณมีนับสำคัญหลายประการ หนึ่ง - มานิต อยู่กับเต๊กเองหยูมานานนับสิบปี สอง - มานิต เป็นนักการตลาดฝีมือดีเพราะสามารถปลุกยอดขายของพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งจาก 80 ล้านจนกลายเป็น 600 ล้านในปัจจุบัน สาม - การลาออกของมานิตไม่ใช่เรื่องกะทันหันเพราะมานิตยื่นใบลาออกมาล่วงหน้าก่อนถึง 6 เดือน แต่ทางโอสถานุเคราะห์ไม่สามารถหาคนมาแทนได้ เพราคนที่เป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ของพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งแทนมานิคือถนอม สุหฤทดำรง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการตลาด 1 ของโอสถสภาฯ ด้วย สี่ - ในห้วงเวลาที่มานิตลาออกนั้นมิใช่เขาเพียงคนเดียวที่ลาออกแต่ก่อนหน้าที่เขาจะลาออกปรากฏว่ามีมืออาชีพของเต๊กเฮงหยูลาออกไปแล้วสองคน คือ พร ศรีจันทร์ ซึ่งเป็นรองประธานกรรมการสปาฯ และพิเชษฐ์ รมหุตติฤกษ์ ซึ่งเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการสปา แอ็ดเวอร์ไทซิงเป็นหนึ่งในห้าของดาวบริวารเต๊กเฮงหยู

มาเมื่อราวปลายเดือนมกราคม ประวิทย์ จิตนราพงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทดาต้าโปรคอมพิวเตอร์ซิสเต็มส์ (ดีซีเอส) ซึ่งร่วมงานกันได้เพียงปีกว่า ๆ เท่านั้นก็ขอลาออกไปอีกคน ที่สำคัญก็คือประวิทย์ เป็นมือโปรในธุรกิจขายคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็ม (อาร์เอส) ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้าน จนกระทั่งล่าสุดที่ธีรชัยเชมนะศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรการ โอสถสภาฯมือโปรจากปูนซิเมนต์ไทยเช่นเดียวกับมานิตรัตนสุวรรณ ซึ่งเพิ่งเข้ามาเป็นพนักงานของเต๊กเฮงหยูเมื่อเดือนมีนาคม 2530 ก็ขอลาออกไปอีกคน

เมื่อมาถึงขั้นนี้การลาออกของเหล่ามือโปรของเต๊กเฮงหยูก็ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเสียแล้ว!!!

"ไม่ใช่โอสถสภาฯแห่งเดียวที่เกิดปัญหานี้บริษัทอื่นก็มี บางคนออกไปก็มีแต่ที่อยู่กับเรานาน ๆ ก็หลายคน" วิมลทิพย์ พงศธร กรรมการผู้จัดการตอบ "ผู้จัดการ"

วิเคราะห์จากการตอบของกรรมการผู้จัดการหญิงของโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) แล้ว เธอยอมรับว่าโอสถสภาฯเกิดปัญหามืออาชีพ

ขอย้อนกลับไปมองความจำเป็นของบริษัทในความต้องการมืออาชีพเข้าสู่วงจรธุรกิจครอบครัวเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะทะลวงลึกไปสู่ปัญหามืออาชีพที่อุบัติถี่เป็นพิเศษในชนรุ่นปัจจุบัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจครอบครัวคนหนึ่งกล่าวว่า ความจำเป็นที่ต้องนำนักบริหารมืออาชีพเข้ามาเพราะ หนึ่ง - คนในครอบครัวขาดความสามรถทางการบริหารหรือขาดความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ สอง - การบริหารงานแบบมืออาชีพมักจะเป็นภาพลักษณ์ของความสมเหตุสมผลมากกว่ระบบเครือญาติ

ด้วยเหตุผลสองประการเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งเมื่อธุรกิจครอบครัวขยายตัวมากขึ้นเมื่อนั้นเหล่ามืออาชีพก็ต้องคืบคลานเข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นักประวัติศาสตร์ธุรกิจไทยคนหนึ่งกล่าวว่าห้วงเวลา 10 ปีจากนี้ไปธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ที่ดำเนินมาภายใต้การบริหารและโครงสร้างความเป็นเจ้าของระบบครอบครัวจะต้องถูกท้าทายอย่างหนักและจะต้องเผชิญกับความเจ็บปวดในปัญหาต่อเนื่องทางธุรกิจ ทศวรรษนี้จึงเป็นห้วงเวลาของการ "ผ่าตัด" ธุรกิจครอบครัวอย่างแท้จริง

ดูเหมือนเต๊กเฮงหยูก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงสภาพนี้ได้ "ก็เพราะเขาขยายตัวถ้าเขายังพอใจกับการทำธุรกิจยาประเภทเดียวเหมือนแต่ก่อนก็ไม่ต้องมาเผชิญกับปัญหาดังกล่าวนี้" คนที่ติดตามกลุ่มนี้ว่า

นักสังเกตการณ์บางคนกล่าวว่าเป็นทั้งภาวะจำเป็นและจำยอมที่โอสถานุเคราะห์ต้องนำเอามืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารงานเพราะการขยายตัวอย่างต่อเนื่องไปในไลน์ธุรกิจที่ไม่มีความชำนาญและต้องการความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษประกอบกับลูกหลานก็กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาหรือบางคนก็ยังเด็กมากกว่าที่จะให้มารับผิดชอบกิจการที่ต้องอาศัยความสามารถสูงอีกทั้งลูกหม้อของเต๊กเฮงหยูที่มีอยู่ก็ถูกส่งไปประจำบริษัทต่าง ๆ ของตระกูลจนมีไม่เพียงพอ "แต่เหตุผลสำคัญที่สุดก็คือลูกหม้อบ่มิไก๊" แหล่งข่าวแย้ม ๆ

ผลก็คือการพาเหรดเข้ามาของนักบริหารมืออาชีพซึ่งมีหลายคนเข้ามาในสมัยสุรัตน์แต่หลายคนก็เข้ามาในสมัยทายาทรุ่นปัจจุบัน แต่ผลก็เหมือนกันคือการลาออก

บางคนวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะระบบการบริหารตามปรัชญาของเต๊กเฮงหยูที่เน้นการรวมศูนย์ด้านการเงิน "การบริหารด้านการเงินทุกอย่างรวมศูนย์ที่เต๊กเฮงหยูหมด อย่างกรรมการผู้จัดการของบริณัทในเครือทั้งห้าดูเหมือนว่าจะมีอำนาจมากเพราะยอดขายของแต่ละบริษัทก็หลายร้อยล้าน แต่ว่ากันจริง ๆ แล้วการตัดสินใจลึก ๆ แล้วยังต้องฟังทางเต๊กเฮงหยูอย่างมาก ๆ"

คนที่เคยทำธุรกิจกับเต๊กเฮงหยูเล่าให้ฟังว่า ตระกูลโอสถานุเคราะห์มักจะไม่มีการแบ่งเงินปันผลการควบคุมและตัดสินใจทางด้านการเงินจะต้องขึ้นตรงต่อเต๊กเฮงหยูทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่ากับคนของเต๊กเฮงหยูบางคนที่ระบุว่าโอสถานุเคราะห์คุมเข้มด้านการเงิน ยิ่งถ้าเหลียวไปดูการว่างตำแหน่งของเหล่าทายาทก็คงจะสามารถวิเคราะห์ออก วันทนีย์ เบญจกาญจน์ ผู้พี่ของธนา ไชยประสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายธุรการ แทนธีรชัย เชมนะศิริ ที่เพิ่งลาออกไปหมาด ๆ ที่สำคัญนอกจากวันทนีย์ เบญจกาญน์ (หลานของสุรัตน์) จะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายธุรการแล้วยังรั้งตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายจัดซื้ออีกด้วย (ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งของเธอ)

ตำแหน่งฝ่ายจัดซื้อเป็นตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลมาก ๆ เพราะนอกจากจะคุมการจัดซื้อเฉพาะบริษัทโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) เท่านั้นแต่อำนาจของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยังแผ่ไปถึงบริษัทบริวารทั้งห้าด้วย ลักษระการคุมเข้มด้านการเงินยังปรากฏเด่นชัดที่สปาแอ็ดเวอร์ไทซิ่งเป็นบริษัทบริวารว่านเครืออีกแห่ง

เสาวนี สารสาส น้องสาววิมลทิพย์ พงศธร ดำรงตำแหน่งมีเดียไดเรคเตอร์ ซึ่งเกี่ยวกับด้านซื้อสื่อซึ่งเป็นการเงินคุมการเงินอีกวิธีหนึ่ง หรือกรณีบริษัทดาต้าโปรคอมพิวเตอร์ซิสเต็มส์ ก็มีไต้ฟ้าโล่ห์พันธ์ศรี เครือญาติดูแลด้านบัญชีอยู่เช่นกัน "พูดง่าย ๆ ก็คือคนนอกคือพวกมืออาชีพไม่มีอำนาจในการตัดสินใจด้านการเงินที่แท้จริง" แหล่งข่าวว่า

ยิ่งมองไปที่วิมลทิพย์ พงศธร กรรมการผู้จัดการโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) เองก่อนขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารสูงสุดของบริษัทก็เริ่มเรียนงานที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จี.เอฟ. (ซึ่งเป็นอาณาจักรส่วนตัวของบิดาเธอ) มาก่อนและไต่เต้ามาจากตำแหน่งเทรนนี และมาสู่ฝ่ายตรวจสอบ เมื่อมาอยู่เต๊กเฮงหยูก็มาเริ่มเรียนงานด้านการคลังและบัญชีซึ่งเป็นหัวใจหลักของบริษัทและดาวบริวารแม้กระทั่งภาสุรี โอสถานุเคราะห์ ลูกของเสรีก็เริ่มเรียนงานที่ จี.เอฟ. ก่อนจะเข้าร่วมกับโอสถสภาฯ เช่นกัน

นั่นหมายความว่านโยบายรวมศูนย์ทาง FINANCE ได้ถูกจัดวางเป็นระบบตั้งแต่การให้เหล่าทายาทซึ่งจะเป็นผู้สืบทอดต่อไป ในอนาคตข้างหน้าไปเรียนรู้งานทางด้านการเงินที่ จี.เอฟ.แล้ว "มันเป็นวัฒนธรรมที่เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยสวัสดิ์แล้ว" คนที่เคยร่วมงานกับเต๊กเฮงหยูสรุป

แต่วิมลทิพย์บอก "ผู้จัดการ" ว่ามันเป็นระบบไฟแนนซ์ระบบหนึ่งที่ทางบริษัทแม่จะเป็นผู้ดูแลให้ "แต่จริง ๆ แล้วเราก็ไม่ได้ดูแลทั้งหมด"

วิมลทิพย์เปิดเผยว่า การรวมไฟแนนซ์ไว้ที่บริษัทแม่แห่งเดียวเพื่อผลประโยชน์ทางด้านการไว้สูงมากถึง 9 บาท ในขณะที่สปอนเซอร์ตั้งไว้เพียง 5 บาท สาม - รสชาติค่อนข้างไม่เข้มข้นเหมือนสปอนเซอร์ ซึ่งบางคนบอกว่าประวัติศาสตร์อาจจะซ้ำรอยที่ลิโพวิตันดีถูกกระทิงแดงตีเนื่องจากรสชาติไม่เข้มข้นอีกก็ได้

บางคนวิเคราะห์ว่าการออกเกเตอเรดออกมาเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ครบวงจร สามารถต่อกรกับคู่แข่งอย่างเช่นกระทิงแดงได้ เช่นเดียวกับออสปาเครื่องดื่มบำรุงกำลังที่ผลิตมาเพื่อตลาดคนหนุ่มคนสาวซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ "อีกอย่างเขาต้องออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้ขวดมามากเพื่อให้โรงงานเอส.จี.ไอ.ผลิตขวดเต็มกำลัง" ซึ่งสอดคล้องกับการที่เต๊กเฮงหยูเข้าซื้อกิจการซอสและปลากรป๋องโรซ่า โดยให้เอส.จี.ไอ. ผลิต และให้ทางพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งจัดจำหน่าย

ผลงานรุ่นที่สี่ซึ่งเร่งทยอยออกมามากในช่วงนี้จนกระทั่งหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายสัปดาห์บางฉบับพาดหัวว่า เต๊กเฮงหยูสั่งสู้ยิบตา นั่นคือการบุกแหลกทั้งทางด้านการลงทุนใหม่ ๆ เมื่อปีทีแล้วเต๊กเฮงหยูก็เพิ่งเข้าร่วมทุนกิจการของกลุ่มเนาวรัตน์ และมานะ กรรณสูต เป็นกิจการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ซึ่งเหล่าทายาทรุ่นใหม่หวังเป็นอย่างมากและเอาใจใส่อย่างมากจนถือว่าเป็นกิจการที่มีอนาคต วันที่ "ผู้จัดการ" สัมภาษณ์วิมลทิพย์ พงศธร ก็ขอตัวไปดูฟาร์มกุ้งกุลาดำ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีข่าวว่ากลุ่มเต๊กเฮงหยูร่วมทุนกับทางกลุ่มเซ็นทรัลตั้งโรงงานผลิตสินค้าเด็กอ่อนยี่ห้อชิคโคซึ่งเป็นการ JOINT VENTURE กับทางอิตาลี หรือล่าสุดวิมลทิพย์เผยกับ "ผู้จัดการ" ว่าจะร่วมทุนกับทางยูนิชาร์ม ตั้งโรงงานผลิตผ้าอนามัยยี่ห้อซิลคอต และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็มีโครงการร่วมทุนกับชิเซโด้ญี่ปุ่นผลิตแชมพูและครีมนวดผมยี่ห้อชิเซโด้

การร่วมทุนกับต่างชาติเพื่อผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้าและส่งออกเป็นบางส่วนเป็นกลยุทธ์ใหม่ของเต๊กเฮงหยูรุ่นปัจจุบัน แต่ถ้าพิจารณาลึกลงไปแล้วสินค้าที่เต๊กเฮงหยูร่วมทุนผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้านั้นเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันสูงมากในท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นผ้าอนามัยซึ่งกำลังโรมรันพันตูกันอย่างถึงพริกถึงขิง หรือในยุทธจักรแชมพูและครีมนวดผมก็ล้วนแล้วแต่เสือสิงห์กระทิงแรดแทบทั้งสิ้น

มันเป็นเรื่องท้าทายรุ่นที่สี่อย่างมากโดยเฉพาะตลาดสนาม สินค้าแต่ละตัวไม่มีตัวใดที่เรียกว่า ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นแป้งฮูลา ฮูล่า ที่เรียกว่าเกือบจะไปได้ดีกับโฆษณาชุดแรกที่มีเพ็ญพิสุทธิ์ เป็นตัวนำแต่เมื่อเปลี่ยนโฆณษากลับไม่ SUCCESS เท่าที่ควร จนกลับหวนมาใช้โฆษณาชุดเพ็ญอีกครั้ง นั่นหมายความว่าคนไม่ตระหนักในตัวสินค้าเลย ยิ่งในสมรภูมิแป้งเย็นการแข่งขันเข้มข้นดุเดือดมาก ๆ ยิ่งเป็นการท้าทายมากขึ้น สบู่นางนวลขายไม่ดีมาก แต่ยอดการผลิตค่อนข้างจะสูงเอาการเพราะมาเป็นของแถมเมื่อเปิดลิโพหรือเอ็มร้อยห้าสิบ น้ำยาล้างห้องน้ำคอมพิวต์ก็ไม่พุ่งเท่าที่ควร หรือแม้กระทั่งนมผงสโนว์ซึ่งน่าจะพุ่งมาก ๆ เนื่องจากเนสเล่เพรี่ยงพล้ำเมื่อคราวพบวิกฤติการณ์เชอร์โนบิล แต่ก็ยังขายแบบเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ

นับวันเต๊กเฮงหยูก็พยายามจะขยายธุรกิจออกไปสู่ไลน์อื่น ๆ มากยิ่งขึ้นนอกจากยาซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิม ปัญหาข้อหนึ่งเรื่องเงินทุน "ไม่มีปัญหาสำหรับเต๊กเฮงหยู เพราะกลุ่มนี้เงินเหลือเฟือเพราะมีที่ดินเป็นทรัพย์สินเยอะที่ซื้อสะสมสมัยยังเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของเต๊กเฮงหยูแต่ปัญหาบุคคลากรนี่สิเป็เรื่องน่าหนักใจ เพราะเมื่อหวนมองทุกจังหวะย่างก้าวของเต๊กเฮงหยูในรุ่นที่สี่แล้วจะเห็นชัดว่าเต๊กเฮงหยูต้องการเจริญเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ดูจากยอดขายที่ประกาศว่าต้องทำให้ได้ 4,500 ล้านบาท (ทั้งเครือ) ในปีนี้ "เต๊กเฮงหยูต้องการคนที่มีความสามารถมาก ๆ นี่มองในแง่หลักการเพราเต๊กเฮงหยูต้องใช้การบริหารงานสมัยใหม่มากยิ่งขึ้นเพื่อปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์" คนในวงการให้ความเห็น

เต๊กเฮงหยูวันนี้อาจจะต้องมาถึงจุดเปลี่ยนแล้ว เหล่าทายาทมีน้อยไม่เพียงพอกับการเจริญเติบโตของเต๊กเฮงหยูในรุ่นปัจจุบัน ทายาทบางคนไม่มีความสนใจ อย่างเพชร โอสถานุเคราะห์ ลูกชายคนโต ของสุรัตน์ ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยมาช่วยทางโอสถสภาฯ ลุยด้านการตลาดอยู่พักหนึ่ง แต่สุดท้ายเขาก็ลาจากไปหลังจาดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาดได้ไม่นาน "คุณเพชรเป็นคนเก่ง" ทั้งไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติและมานิต รัตนสุวรรณ สรุปถึงความสามารถของลูกชายคนโตของสุรัตน์

"ผมไม่อยากอยู่ที่เต๊กเฮงหยูเพราะกลัวคนค่อนแคะว่าเป็นลูกป๋า" เพชร เคยบอกเหตุผลไม่อยู่เต๊กเฮงหยูกับนิตยสารฉบับหนึ่ง แต่ถึงแม้จะไม่อยู่ที่เต๊กเฮงหยูในตำแหน่งฝ่ายปฏิบัติการเขาก็ยังคงเป็นกรรมการในบอร์ดใหญ่ของเต๊กเฮงหยู

ปัจจุบันเขาก็ยังคงนั่งเป็นประธานกรรมการสปา แอ็ดเวอร์ไทซิ่งบริษัทในเครือ ก็เพราะ "ความสนใจของเขาไปทางด้านศิลปะเขาก็เลยไปเป็นประธานสปา" วันทนีย์ เบญจกาญจน์ ญาติผู้พี่สรุป

รัตน์ โอสถานุเคราะห์ ก็ต้องไปนั่งอยู่มหาวิทยาลัยกรุงเทพซึ่งเป็นอาณาจักรส่วนตัวของสุรัตน์ "แบ่ง ๆ กันไปตามความถนัด" ทายาทรุ่นเดียวกับเขาให้ความเห็น แต่บางคนวิเคราะห์ว่าเป็นวิถีทางของทายาทตระกูลนี้เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องกลับไปดูแลธุรกิจของตนเพียงแต่ในระยะเริ่มแรกต้องมาเรียนรู้ในกงสีเสียก่อน

ถ้าเป็นไปตามแนวการวิเคราะห์เช่นว่าวิมลทิพย์ พงศธร ก็คงต้องกลับไปดูแลกลุ่มหลังสวนของสุวิทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สุวิทย์ก่อร่างขึ้นมา จนปัจจุบันใหญ่โตและขยายไปในหลาย ๆ กิจการ

แต่วันนี้ยังต้องเป็นกรรมการผู้จัดการโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) ด้วยวัย 32 ของเธอกับภาระอันหนักหน่วงและท้าทาย นอกจากเธอจะยังต้องหนักใจกับตำแหน่งสูงสุดทางฝ่ายปฏิบัติการ (กรรมการผู้จัดการ) แล้วเธอยังต้องเหน็ดเหนื่อยกับการคิดค้นกิจการใหม่ ๆ ที่จะต้องลงทุนอีก (ในฐานะบอร์ดใหญ่)

ธนา ไชยประสิทธิ์ ไดรับการจับตาว่าเขาจะเป็นทายาทขึ้นสืบทอดอำนาจต่อไป "เป็นไปได้ทั้งนั้น" วิมลทิพย์ตอบแบบเบ่งรับแบ่งสู้

ภาสุรี โอสถานุเคราะห์ อายุเพิ่งจะ 29 เข้ามาเหมือนกับทายาทคนอื่น ๆ แต่แนวโน้มในอนาคตก็คงจะต้องกลับไปดูแลธุรกิจของเสรี ดังเช่นวิมลทิพย์ต้องกลับไปดูแลกลุ่มหลังสวนเช่นเดิม

ดังนั้น "ต่อไปในอนาคตเราอาจจะให้โปรเฟสชั่นแนลเข้ามารันหมดก็ได้ เพราะทายาทบางคนมีปัญหาเรื่อง MUTATION" วิมลทิพย์ ทิ้งท้ายให้คิด   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us