|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2531
|
|
จากการนั่งทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายการเงิน ที่บริษัทไทยออยล์มาเป็นเวลา 6 ปีกว่าไม่มีวันไหนที่ ชาญชัย ตุละเสถียร จะมีความสุขเท่าวันนี้
วันที่ 15 เมษายน 2531! วันที่ชาญชัยมีส่วนสำคัญยิ่งในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของไทยออยล์ ในการกู้เงินบาทครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์จำนวน 5,000 ล้าน และกู้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอีก 100 ล้านบาท โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์อะไรของไทยออยล์ค้ำประกันเลยแม้แต่ชิ้นเดียว
ดอกเบี้ยถูกเป็นบ้า! ถูกแค่ไปน? ไม่อยากสาธยายมากความ เอาเป็นว่า "ถูกขนาดพอฟัดพอเหวี่ยงกับบริษัทปูนซิเมนติ์ไทยกู้เงินมาก็แล้วกัน" แหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผย
แถมงานนี้ไทยออยล์ได้เทอมยาวถึง 10 ปี ปลอดหนี้ 5 ปี สบายใจเฉิบ!
ไทยออยล์กู้เงินอย่างไร? จึงได้ดอกเบี้ยถุกและเทอมการกู้ที่ดีชนิดหาได้ยากเช่นนี้.... ถ้าจะบอกกล่าวกันให้ละเอียดก็คงจะยาวมาก บอกกันอย่าวนี้ก็แล้วกันคือว่า
การกู้เงินของไทยออยล์ครั้งนี้ ไม่ใช่กู้แบบธรรมดาอย่างที่เคยทำกันแบบที่เรียกว่า TERM LOAN จากสถาบันการเงินโดยตรง แต่เป็นการกู้แบบออกตราสารที่เรียกว่า DISCOUNT RATE FACILITIES เป็นตั๋วแลกเงินสกุลเงินบาทมูลค่าขั้นต่ำใบละ 500,000 บาท ดอกเบี้ยปรับทุก 6 เดือน ออกโดยบริษัทภัทระนกิจและธนสยาม โดยบริษัทไทยออยล์มีภาระผูกพันจะต้องจ่ายคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยแก่สถาบันการเงิน 5 แห่งคือ กสิกรไทย กรุงไทย และไทยพาณิชย์ (รวมภัทรธนกิจและธนสยาม) ในฐานะผู้ให้กู้แก่ไทยออยล์ โดยเป็นผู้ลงทุนซื้อตั๋วที่ว่านี้เป็นคนแรกจำนวน 5,000 ล้านบาท เมื่อครบเทอมของตั๋ว
ที่เป็นลูกเล่นหรือเสน่ห์ของตั๋วที่ว่านี้ก็คือ ผู้ลงทุนซื้อตั๋วจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทอื่นใดก็แล้วแต่ เมื่อลงทุนซื้อตั๋วต่อจากสถาบันการเงิน 3 แห่ง ข้างต้นนี้แล้วก็จะเปลี่ยนฐานะเป็นผู้ให้กู้แก่ไทยออยล์ทันทีและเมื่อต้องการจะขายให้แก่นักลงทุนรายอื่นต่อไปก็สามารถทำได้ทันที โดยถ้าหากคำนวณแล้วว่าขายไปแล้วมีกำไรจากส่วนต่างของราคาที่ซื้อมา
ยกตัวอย่างสมมุติตั๋ว 100 บาท ดอกเบี้ย 6% อายุ 1 ปี ไทยออยล์จะได้เงินกู้จริง ๆ 94 บาท ต่อมาระยะหนึ่งผู้ให้กู้คนแรกอยากขายตั๋วเพื่อเปลี่ยนมือผู้ให้กู้เป็นคนอื่นแทนก็จะขายตั๋วออกไปในราคาที่สูงกว่า 94 บาทขึ้นไป
ส่วนจะเป็นเท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานในตลาดตราสารหรือตั๋วเงินเวลานั้น!
ซึ่งเทคนิคแบบนี้ก็เท่ากับว่าตั๋วเงินไทยออยล์มีสภาพคล่องสูงต่อผู้ให้กู้เงินนั่นเอง
แม้ชาญชัยจะบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับตลาดตราสารทั่วโลก แต่ตลาดบ้านเราแล้วถือว่าเป็นเรื่องใหม่ และเป็นครั้งแรกที่สถาบันธุรกิจเอกชนอย่างไทยออยล์นำออกมาสู่ตลาดตราสารบ้านเราได้รู้จักกัน
ก็ต้องยอมรับกันอย่างไม่ปิดปังว่า งานนี้ต้องให้เครดิตกับชาญชัยเอามาก ๆ ที่บริหารหนี้สิน (LIABILITY MANAGEMENT) ให้ไทยออยล์ได้เยี่ยมยุทธ์จริง ๆ
ส่วนการกู้เงิน 100 ล้านเหรียญนั้น ชาญชัยบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า มันก็คล้าย ๆ กันกับการกู้เงินสกุลบาทข้างต้นที่เล่ามานั่นแหละ เพียงแต่งานนี้แบงก์ที่ให้กู้คือ CHASE BANK เป็นการกู้แบบ OFF - SHORE ในลักษณะ TRANSFERABLE TERM LOAN FACILITY
ก็อย่างว่า ไทยออยล์ซะอย่าง ในตลาดตราสารย่านแปซิฟิกริมเวลานี้นักลงทุนทุกคนยอมซูฮกให้ ก็เหมือนกับคำพูดของ HUGHLYNF. FIERCE เจ้าหน้าที่ระดับ SVP ของ CHASE ที่กล่าวถึงไทยออยล์ในวันนั้นว่า
"THIS FEATURE DEMONSTRATES SHASES STRONG VIEW THAT THE FACILITY WILL CARRY SIGNIFICANT LIQUIDITY ON RHE SECONDARY MARKETS. THE TRANSFERABLE TERM LOAN STRUCTURE WILL BE THE FIRST EVER FOR A NONSOVEIGN THAI COMMERCIAL ENTITY."
ทีนี้ก็มาอยู่ข้อสงสัยตรงที่ว่า ไทยออยล์มีความจำเป็นอะไรหรือ? ถึงได้กู้เงินมามากมายก่ายกองเช่นนี้....
ก็ต้องขอเล่าย้อนหลังให้ฟังดังนี้ คือว่าเมื่อปี 2528 ชาญชัยนำบริษัทไทยออยล์ไปกู้เงินเยนแบบ TERM LOAN จำนวน 230 ล้านเหรียญสหรัฐ (แปลงเงินเยนมาเป็นดอลล่าร์สหรัฐ) ระยะยาว 13 ปี อัตราดอกเบี้ยแพงกว่าปัจจุบันมาก ผู้ให้กู้เวลานั้นคือแบงก์โตเกียว ฟูจิแบงก์ ซันวาแบงก์ และมิตซูบิชิแบงก์
เหตุผลที่ต้องกู้ก็เพราะต้องการนำเงินมาสร้างโรงกลั่น HYDRO CRACKER ที่ศรีราชา
เนื่องจากเวลานั้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยมันไม่ค่อยดีนักประกอบกับชื่อเสียงหรือเครดิตของไทยออยล์ในสายตาญี่ปุ่นยังใหม่ การให้กู้จำนวนวงเงินสูงมากเช่นนี้ ก็ต้องกู้จำนวนวงเงินสูงมากเช่นนี้ ก็ต้องมีการเรียกหลักทรัพย์ต่าง ๆ ของไทยออยล์มาค้ำประกันไว้
ชาญชัยก็เอาสินทรัพย์พวกโรงกลั่นนี่แหละไปค้ำไว้
วิสัยของมือโปรด้านการเงินก็ต้องคิดมากว่าทำอย่างไรดี และเมื่อไหร่จึงจะไถ่ถอนเอาหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันไว้นี้ออกมาให้ได้
ยิ่งมือโปรอย่างชาญชัยด้วยแล้วในฐานะที่รับผิดชอบงานด้านบริหารหนี้สินของไทยออยล์ เขาคิดถึงเรื่องนี้มาตลอด
"ผมคิดตั้งแต่วันแรกที่ไทยออยล์ต้องเอาหลักทรัพย์ไปค้ำ" ชาญชัยพูดอย่างซีเรียส
เมื่อเวลาล่วงมาได้ 3 ปี ชาญชัยก็ปรึกษากับแบงเกอร์ต่าง ๆ ในบ้านเราถึงกลวิธีที่จะปลดเปลื้องหลักทรัพย์ที่ค้ำนี้ให้ได้
ด้วยต้นทุนที่ต่ำสุดด้วย! จนมาถึงวันที่ 15 เมษายน ที่ว่านี้แหละ ที่ชาญชัยทำได้สำเร็จแถมมีติดปลายนวมมาอีกเกือบ 70 ล้านเหรียญ ที่ชาญชัยนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับโครงการขยายโรงกลั่น ส่วนที่เป็นโรง HYDRO CRACKER ได้อีกด้วย
ก็แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ชาญชัยบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าผมรอวันนี้มานานแล้ว" ได้ยังไงไหว!
|
|
|
|
|