จากแผนผังแสดงให้เห็นว่าท่านพ่อของ "หม่อมเต่า" คือ พลตรี มจ. ฉัตรมงคล โสณกุล ซึ่งเป็นนัดดาในรัชกาลที่ 4 และท่านสมรสกับพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุไรรัตน์ศิริมาน ซึ่งเป็นพระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5
การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นประธานอภิรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจมากในขณะนั้น เป็นผู้ที่ไม่เชื่อว่าจะมีคนกล้าทำการปฏิวัติ ว่ากันว่าอธิบดีกรมตำรวจขณะนั้นคือ พระยาอธิกรณ์ประกาศ (พญาจาติกวณิช) รู้เบาะแสมาล่วงหน้า 2 วัน มารายงานให้ท่านทราบ แต่พอดูรายชื่อท่านก็หัวเราะแล้วก็บอกว่า คนนั้นคนนี้ท่านก็มีส่วนส่งเสริมส่งไปเรียน ท่านไม่เชื่อว่าเด็กพวกนี้จะกล้าทำ นี่ก็อาจจะนับเป็นโชคดีของคณะราษฎร์ เพราะถ้าท่านเชื่อแล้วเตรียมป้องกัน เรื่องจะยุ่งยากและลงเอยอย่างไรก็ยากที่จะหยั่งรู้ เพราะสมัยนั้นท่านมีอำนาจบารมีมาก เมื่อจับตัวท่านพร้อมกับกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, กรมพระนริศรานุวัตติวงศ์, อธิบดีกรมตำรวจและเจ้านายอีกหลายองค์ มีการต่อรองกันก่อนที่ท่านจะขอออกไปอยู่ชวา (อินโดนีเซีย) ว่าให้วังบางขุนพรหมซึ่งเป็นที่ประทับส่วนพระองค์แก่คณะราษฎร์ ซึ่งต่อมากลายเป็นที่ทำการธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน
เทียบตระกูล "โสณกุล" กับ "บริพัตร" ดูเหมือนทรัพย์สมบัติที่ตกทอดมายังลูกหลานสายของตระกูลบริพัตรจะมีมากกว่าหลายเท่าตัวนัก
กรมพระนครสวรรค์วรพินิต สมรสกับ ม.จ.ประสงค์สม (ท่านมีหม่อมอีกคนชื่อ สัมพันธ์ มีธิดา 2 คน คือ พระวงวรศ์เธอพระองค์เจ้าอินทุรัตนาและพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุขุมาพิมาน) มีโอรส - ธิดา 6 องค์ องค์โตเป็นโอรสคือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุมพตพงษ์บริพัตร ธิดา 5 องค์ คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง (ท่านพระองค์ใหญ่), พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธวงศ์วิจิตร (ท่านพระองค์กลาง), พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพิสิษฐ์อรทัย (ท่านพระองค์เล็ก), พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุไรรัตน์ศิริมาน (ท่านพระองค์สี่), พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจันทรมณี (พระองค์ห้า)
ทรัพย์สมบัติส่วนที่แบ่งให้บุตรที่เกิดจากหม่อมสัมพันธ์ได้แบ่งไปเรียบร้อยแล้ว และบางส่วนได้แบ่งให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุมพตพงษ์บริพัตรแล้ว ที่เหลือนั้นแบ่งให้พระองค์หญิงทั้ง 5 พระองค์รวมกัน และอีกส่วนหนึ่งแบ่งให้ทั้ง 6 พระองค์รวมกัน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้แบ่งทรัพย์สมบัติให้แต่ละองค์
ทรัพย์สินชิ้นใหญ่ๆ เช่น เวิ้งนาครเขษมทั้งหมดเป็นที่ดินและห้องแถวให้เช่าทั้งหมด 430 คูหา ที่ตำบลปากเพียว อำเภอเมือง สระบุรี มีห้องแถว 387 ห้อง, ที่ตำบลหนองแซง อ.เมือง สระบุรี 28 ห้องแถว เป็นต้น ทั้งหมดนี้ให้เช่า ซึ่งต่อไปถ้ามีการขายเพื่อไปแบ่งกันคงมีมูลค่าหลายพันล้านบาท (ดูตารางทรัพย์สิน)
ใน 5 พระองค์หญิงนั้น ปรากฏว่าท่านพระองค์เล็กกับท่านพระองค์ 5 สิ้นพระชนม์แล้ว ซึ่งตามที่กรมพระนครสวรรค์วรพินิตสั่งไว้ว่า ถ้าใครเสียชีวิตให้เป็นของคนที่ยังอยู่ ผู้ที่จะได้รับมรดกจึงมีพระองค์ใหญ่ซึ่งไม่มีโอรส - ธิดา พระองค์กลางไม่มีสวามี และพระองค์ 4
พระองค์ 4 ซึ่งเป็นท่านแม่ของ "หม่อมเต่า" มีทายาท 4 คน ม.ร.ว.อายุมงคล ที่เป็นนักเขียนปากกาคมให้หนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, The Nation เสียชีวิตแล้ว คนที่ 2 พ.อ.ม.ร.ว. ถวัลย์มงคล เป็นหัวหน้ากองข่าวอยู่กอง บก.สูงสุด คนที่ 3 เป็นหญิง ม.ร.ว.สุมารมงคล ผู้ก่อตั้งและเจ้าของโรงเรียนอนุบาลจุไรรัตน์ คนที่ 4 คือ "หม่อมเต่า"
ทรัพย์สมบัติทั้งหมดของราชสกุลบริพัตร ดูแลโดยสำนักงานบริพัตร หรือเรียกว่า "ที่ทำการผลประโยชน์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต" ซึ่ง สนอง ตู้จินดา นักกฎหมายชื่อดังเป็นผู้จัดการตั้งแต่ปี 2502 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนอกจากดูแลให้ราชสกุลบริพัตรแล้ว ยังมีเจ้านายอีกหลายราชสกุลที่ฝากให้เขาดูแล
สนองพูดถึงราชสกุลบริพัตรว่า "บริพัตรเป็นราชสกุลที่มีทรัพย์สินมากที่สุดราชสกุลหนึ่ง และเก็บรักษาได้ดีมาก ทุกองค์มีนิสัยมัธยัสถ์และรักกันมาก ไม่มีกรณีแย่งชิงสมบัติกัน ทรัพย์สมบัติยังไม่มีการขายทอดตลาด เป็นแบบให้เช่าเกือบทั้งหมด แต่ผมว่าอีกไม่นานคงต้องแบ่งเพราะพระองค์หญิงทั้ง 3 ก็อายุ 80 กว่าแล้ว ผมเองก็อายุมากขึ้นทุกที" สนองกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
"หม่อมเต่า" เป็นหนึ่งในทายาทที่จะได้รับทรัพย์สมบัติดังกล่าว ซึ่งคิดเฉพาะส่วนที่เขาจะได้คงหลายร้อยล้านทีเดียว แม้ว่าโดยส่วนตัวแล้วเขาเป็นคนที่พยายามพึ่งลำแข้งตัวเอง พยายามจะสร้างทุกอย่างด้วยตัวของเขาเอง แต่ก็คงไม่ถึงกับปฏิเสธทรัพย์สินในส่วนที่ควรจะได้เป็นแน่
ว่ากันว่าการที่ "หม่อมเต่า" มีภาพพจน์เป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริตได้เต็มที่นั้น ส่วนหนึ่งเพราะความที่มีชาติตระกูลดีและมีทรัพย์สมบัติมากมายอยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายหาเงินหาทองสามารถทำงานที่เขาคิดฝันได้เต็มที่
หลังจากกลับจากอังกฤษแล้ว เขาได้แต่งงานกับสาวสวยเชื้อสายมอญชื่อ รัชนี คชเสนีย์ มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ ม.ล. มิ่งมงคล ชื่อเล่นๆ ว่า "เต่านา" ชีวิตสมรสครั้งแรกดูจะไม่ราบรื่นนักดังที่เขาได้แยกทางกันในเวลาต่อมา (ปัจจุบันเต่านาเรียนอยู่ที่อังกฤษ)
"หม่อมเต่า" แต่งงานใหม่กับ บูลย์วิภา ทองไข่มุกข์ ลูกสาว บุญธรรม ทองไข่มุกข์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ มีบุตรสองคนคือ ม.ล.อรมงคล (เพิ่งเสียชีวิตเมื่อไม่นานนี้เนื่องจากปัญหาสุขภาพ) กับ ม.ล.อภิมงคล โสณกุล
"หม่อมเต่า" เป็นคนที่ไม่ชอบออกงานสังคม ค่อนข้างจะเป็นคน Shut-In ในสายตาคนทั่วไป และซีเรียสในสายตาผู้ร่วมงาน เขาเป็นคนรักชีวิตอิสระและค่อนจะเป็น Family man
"หม่อมเต่า" เป็นข้าราชการหนุ่มไฟแรง มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่อยู่เสมอ แม้จะก้าวร้าวไปบ้าง แต่วันเวลาและประสบการณ์อันหลากหลาย ทำให้วันนี้เขาใจเย็นและสุขุมขึ้นมาก บางคนบอกว่าเขาเปลี่ยนไปดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้นแล้ว
|