Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2531
NEW BREED ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล จะมีความใหม่อะไรให้บ้าง             
โดย สมใจ วิริยะบัณฑิตกุล
 


   
www resources

โฮมเพจ กระทรวงการคลัง

   
search resources

กระทรวงการคลัง
จัตุมงคล โสณกุล, ม.ร.ว.




NEW BREED ในกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นคนหนุ่มรุ่น 40 กว่า ๆ ซึ่งจะขึ้นมากุมบังเหียนในตำแหน่งสำคัญ ๆ ของกระทรวงแทนคนที่จะเกษียณในปีนี้ และอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งค่อนข้างว่างหลายตำแหน่ง NEW BREED มีแบ็คกราวด์การศึกษา และความคิดในการทำงานที่อาจจะแตกต่างกับคนรุ่นก่อน !? ในบรรดาหนุ่มทั้งหมด ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล ดูเหมือนจะขึ้นมาเร็วกว่าทุกคน การศึกษาถึงสไตล์ความคิดและการทำงานของเขาที่ดูเหมือนจะแตกต่างจากคนรุ่นก่อนมาก และในบางประเด็นก็ต่างกับคนรุ่นเดียวกัน มาทำความรู้จักกับ NEW BREED คนหนึ่งของกระทรวงการคลังกันเถอะ

บุคคลกรเป็นสิ่งที่สำคัญของทุกองค์กร ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลอาจจะหมายถึงนโยบายหรือสไตล์การทำงานจะต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย!?

ปลายปี 2531 ข้าราชการระดับซี 10 ของกระทรวงการคลังจะเกษียณอายุ 4 คน คือ สุนทร เสถียรไทย, โมรา บุณยผล ซึ่งเป็นรองปลัดทั้งคู่ ภุชงค์ เพ่งศรี อธิบดีกรมบัญชีกลาง, เฉลิมชัย วสีนนท์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ระดับซี 9 ก็เกษียณอีกหลายคน เช่น บรรหาร บัณฑุกุล รองอธิบดีกรมสรรพสามิต, เหลือ สอยพงษ์ รองอธิบดีกรมสรรพากร, อาภรณ์ นารถดิลก ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายกรมสรรพากร ฯลฯ

นอกจากนี้ เมื่อเกิดกรณีรถโตโยต้า ซอเรอร์ (อ่านผู้จัดการ ฉบับที่ 53) มีผลทำให้ไกรศรี จาติกวณิช อธิบดีกรมธนารักษ์ และชยุติ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมศุลฯ ต้องโดนให้ออกจากราชการ ซึ่งไพจิตร โรจนวณิช จากรองปลัดได้มาเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์แทนไกรศรี และ ร.ท. ล้วน ปรางสุข ขึ้น เป็นรองอธิบดีแทนชยุติ

ดังนั้น ปลายปีนี้การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงด้านตำแหน่งระดับสูงจึงค่อนข้างคึกคักเป็นพิเศษ เป็นการเปิดโอกาสให้ระดับรอง ๆ ได้ขึ้นมา ยิ่งอีก 2 ปีข้างหน้าก็จะมีซี 10 และ ซี 9 ที่จะเกษียณอีกหลายคน ซึ่งคนรุ่นต่อไปที่จะขึ้นมาก็เหลือแต่คนอายุ 50 ต้น ๆ กับรุ่น 40 กว่า ๆ คำถามก็คือว่าคนรุ่นใหม่ (NEW BREED) ที่จะก้าวขึ้นมากุมบังเหียน กระทรวงมีสไตล์ความคิดและการบริหารแตกต่างไปจากเดิม ๆ หรือไม่ !?

คนรุ่น 50 กว่า ๆ ที่เด่น ๆ เช่น บัณฑิต บุณยะปาณะ อธิบดีกรมสรรพากร, ดร. อรัญ ธรรมโน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, โกวิทย์ โปษยานนท์ รองผู้อำนวยการ สศค.

รุ่น 40 กว่า ๆ เช่น ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล รองปลัดกระทรวง, นิพัทธ์ พุกกะณสุต รอง ผอ. สศค., ศุภชัย พิสิษฐวานิช รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นต้น

ระดับผู้อำนวยการ ซึ่งเป็นข้าราชการระดับซี 8 ที่เด่น ๆ มี สมชัย ฤชุพันธุ์ ผอ. กองนโยบายการคลังและภาษี สศค., สมหมาย ภาษี ผอ. กองนโยบายเงินกู้ สศค., ชวลิต เศรษฐเมธีกุล ผอ. กองเก็บอากร กรมศุลกากร, ชัยยันต์ โปษยานนท์ ผอ.กองการสามิต กรมสรรพสามิต, สุชาติ เชาว์วิศิษฐ์ ผอ.กองนโยบายและแผนกรมสรรพกากร ฯลฯ

มีคนตั้งข้อสังเกตคนรุ่นใหม่ ๆ เหล่านี้มักจะยังมีไฟแรง มีความเข้มข้นในการทำงาน และมักจะเป็นคนหัวใหม่ที่คิดถึงเรืองประสิทธิภาพ

ในบรรดาคนรุ่นหนุ่มทั้งหมด คนที่ขึ้นเร็วที่สุดเห็นจะไม่มีใครเกินหน้า ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล ด้วยวัยเพียง 44 ปี ในวันนี้เขาขึ้นมาถึงตำแหน่งรองปลัด ซึ่งเทียบเท่าอธิบดี เขาเป็นข้าราชการหนุ่มที่มีสไตล์การทำงานที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนอย่างเห็นได้ชัด และความ AGGRESSIVE ของเขาดูเหมือนจะมากกว่า NEW BREED อื่น ๆ อีกด้วย

ข้าราชการที่มีสไตล์การทำงานแบบเขาค่อนข้างหาได้ยากยิ่งสำหรับระบบราชการไทย ก็น่าแปลกที่เขายังคงรักษาเอกลักษณ์และสไตล์การทำงานของเขาเองไว้ได้ และก็ยังเติบโตในระดับราชการได้อย่างสม่ำเสมอ นี่เป็นเพราะอะไรกัน ???

ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล หรือชื่อเล่นที่เรียกกันจนติดปากว่า "หม่อมเต่า" เป็นบุตรคนสุดท้อง ของพล.ต.ม.จ.ฉัตรมงคล โสณกุล กับพระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตน์ศิริมาน (อ่านล้อมกรอบ "ม.ร.ว. จัตุมงคล มาจากไหน?")

"หม่อมเต่า" เริ่มเรียนชั้นประถมต้นที่กรุงเทพคริสเตียน เพื่อนร่วมรุ่นมี เช่น พ.อ.นพ. ชูฉัตร กำพู ณ อยุธยา หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ร.พ. พระมงกุฎฯ, ชัยยันต์ โปษยานนท์ ผอ. กองการสามิต กรมสรรพสามิต ฯลฯ

เรียนอยู่จนถึงมัธยม 1 (คือประถม 5 ในปัจจุบัน) ครอบครัวโสณกุล ทั้งหมดก็อพยพไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เพราะต้องการให้ลูก ๆ ได้มีพื้นฐานการศึกษาที่ดี และประเทศอังกฤษก็เป็นที่ซึ่งเจ้านายของไทยทั้งหลายนิยมไปเรียนกันหลังจาก "หม่อมเต่า" จบไฮสกูลแล้วก็สอบเข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

พระองค์หญิงแม่ของ "หม่อมเต่า" เป็นคนที่รักการทำอาหารและได้ชื่อว่าปรุงอาหารรสเลิศ อยู่เมืองไทยก็เคยไปปรุงอาหารที่กรุงเทพคริสเตียน เมื่อไปอยู่ที่อังกฤษนอกจากดูแลลูก ๆ ทั้ง 4 คนแล้ว ท่านไม่อยากอยู่เฉย ๆ จึงเปิดร้านอาหารไทยขึ้นที่นั่น ซึ่งนับได้ว่าเป็นร้านอาหารไทยร้านแรก ๆ ที่มีชื่อเสียงในหมู่คนไทยในอังกฤษ และที่อังกฤษนี้เองที่แววอัฉริยะของ "หม่อมเต่า" เริ่มฉายแววเพราะเรียนหนังสือเก่งมาก ๆ จนอาจารย์ชาวอังกฤษยอมรับ

"สมัยที่เรียนอยู่กรุงเทพคริสเตียน คุณชายเต่าเป็นคนเงียบๆ เรียบร้อย ร่าเริงและชอบเล่น เรียนหนังสืออยู่ในเกณฑ์ธรรมดาอยู่ห้องเดียวกันคือ ห้อง ข. ตอนที่ผมเรียนแพทย์อยู่เยอรมันได้ข่าวว่าเขาสอบได้คะแนนสูงมาก จนพวกฝรั่งยอมรับว่าฉลาดมาก หลังจากคุณชายเต่าเข้ารับราชการกระทรวงการคลังแล้วไปดูงานที่เยอรมัน ผมยังเรียนอยู่ ผมเห็นคุณชายเต่าเปลี่ยนแปลงมาก พูดจาฉาดฉาน เริ่มพูดภาษาเศรษฐศาสตร์ยากๆ ที่ผมฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ผมรู้สึกว่าแววอัจฉริยะของเขาจะปรากฏชัดตอนที่เรียนอยู่อังกฤษ" พ.อ.นพ.ชูฉัตร ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนสนิทและญาติเล่ากับ "ผู้จัดการ"

"หม่อมเต่า" เริ่มรับราชการในตำแหน่งเศรษฐกรโท สังกัดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ว่ากันว่าเขาต้องคร่ำเคร่งกับการฟื้นฟูภาษาไทยก่อนเข้ารับราชการด้วยความที่จบแค่ ป.4 โรงเรียนไทย ซึ่งก็ปรากฏว่าฝึกฝนได้เร็วมาก ทำอยู่ 2 ปี บังเอิญมีโปรเฟสเซอร์จากฮาร์วาร์ดมาติดต่อ ไกรศรี จาติกวณิช ว่าต้องการข้าราชการไทยสักคนไปเรียนต่อที่ฮาร์วาร์ด ไกรศรีแนะนำว่าคนที่มีแววว่าจะไปเรียนได้ชื่อ ม.ร.ว.จัตุมงคล พอฝรั่งสัมภาษณ์เสร็จก็ตัดสินใจรับทันที

"หม่อมเต่า" ไปเรียนด้าน Public Administration โดยเมเจอร์เศรษฐศาสตร์ เรียนจบปริญญาโทและทำหน่วยกิตปริญญาเอกหมดแล้ว แต่ยังไม่ทันทำวิทยานิพนธ์ ตัดสินใจกลับมาก่อน เพื่อรับตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ ดร.เสริม วินิจฉัยกุล ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในขณะนั้น

"หม่อมเต่า" กลับมาพร้อมภูมิรู้ด้านเศรษฐศาสตร์และการบริหารทั่วไปอย่างเต็มที่ เขาเป็นคนหนุ่มไฟแรงซึ่งมีปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะนำความรู้ที่เรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดกับการทำงาน

ช่วง 2-3 ปี ในตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ รมต. "หม่อมเต่า" ได้เรียนรู้งานอย่างกว้างขวางเพราะจะต้องเป็นผู้ที่ช่วยกลั่นกรองงานและเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีค่าต่ออนาคตมากๆ

หลังจากหมดยุค ดร.เสริม ก็กลับมาทำงานที่ สศค. ตามเดิม ในช่วงแรกจับงานด้านเกี่ยวกับภาษีที่เกี่ยวกับสรรพสามิตทั้งหมด เป็นการดูในเชิงนโยบาย ซึ่ง "หม่อมเต่า" มีส่วนผลักดันงานแก้ประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตซึ่งมีถึง 5 ฉบับ ให้เหลือเพียงฉบับเดียวเพื่อความสะดวกในการจัดเก็บภาษี ซึ่งใช้เวลานานมากและมาสำเร็จในช่วงหลัง

"หม่อมเต่า" เติบโตในสายงาน สศค. ซึ่งค่อนข้างจะได้เปรียบตรงที่ สศค. เป็นงานนโยบายที่หนักไปในทางวิชาการที่ต้องรู้กว้างและมองอะไรทั้งระบบ เพราะ สศค. เป็นเสมือนมันสมองของ รมต.คลัง เวลาที่กรมกองเสนอเรื่องมา ส่วนใหญ่รมต.จะส่งมาให้หน่วยงานนี้ศึกษาตรวจสอบดูก่อนอีกที "หม่อมเต่า" จึงเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางในหมู่ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะสมัยที่ บุญชู โรจนเสถียร เป็นรัฐมนตรีคลัง และ ดร.อำนวย วีรวรรณ เป็นปลัดกระทรวง "หม่อมเต่า" จะถูกเรียกใช้มากเป็นพิเศษ มีอดีตผู้บังคับบัญชาของ "หม่อมเต่า" พูดถึงการทำงานของเขาว่า "เขาเป็นคนที่ใช้งานแล้วแทบไม่ต้องเหลียวหลัง เพราะภูมิรู้เขาแน่นมาก บวกกับความทุ่มเทต่องาน งานไหนที่เขาทำไม่สำเร็จคนอื่นก็ยากแล้วละ ให้งานเขาทำแล้วรู้สึกสบายใจได้"

"หม่อมเต่า" เติบโตอย่างรวดเร็วตามลำดับ ปี 2520 ได้ขึ้นเป็นผู้อำนวยการกองนโยบายการคลังและภาษี สศค. งานสำคัญที่เขามีส่วนผลักดันสมัยที่อยู่กองนี้มีมากมาย เช่น "จัดระบบการชดเชยภาษีอากร ซึ่งแต่เดิมสินค้าไทยที่ส่งออกไปต่างประเทศไม่มีสูตรทั่วไปในการคำนวณ แล้วแต่ว่าใครยื่นขอมา ส่งข้อมูลมาก็จะมีการคิดสูตรชดเชยให้เป็นแบบ Case by Case ตอนหลังมีข้อมูลไอโอ หรือ Input Output สภาพัฒน์และผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นได้เข้ามาทำการศึกษา ท่านเป็นคนริเริ่มจะเอาข้อมูลมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่การชดเชย คิดจากสิ่งที่เป็น Specific ให้เป็น General Formula คิดสูตรให้มันครอบจักรวาล แบ่งเป็น 100 กลุ่ม 100 สูตร ใช้ได้กับสินค้าทุกชนิด ไม่ต้องมายื่นคำขอ ไม่ต้องเปิดเผยความลับด้านข้อมูล ก็มีสิทธิ์ได้รับคืนเหมือนกันหมด ซึ่งการคิดครั้งนี้เป็นงานใหญ่และยากมากก็ทำจนสำเร็จ ตอนหลังก็มีการปรับปรุงสูตรบางตัวให้ทันสมัยมาเรื่อย" คน สศค. ที่ร่วมงานนี้ด้วย เล่ากับ "ผู้จัดการ" ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกที่ต้องส่งสินค้าไปแข่งกับตลาดโลก เพราะบางประเทศที่เจริญแล้วต้นทุนเครื่องจักรเขาถูกกว่าเราแถมภาษีขาออกไม่เสียอีกด้วย

งานด้านภาษีท้องถิ่น ซึ่งเดิมมี 72 จังหวัด เทศบาลไม่รู้กี่พันแห่ง ข้อมูลแต่ละแห่งเป็นคนละแบบคนละเรื่อง ไม่มีระบบไม่สามารถออร์แกไนซ์ได้เลย "หม่อมเต่า" จึงดำริที่จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดให้เป็นแบบแผนเดียวกัน เพื่อจะได้สามารถนำมาวิเคราะห์ง่ายขึ้น และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้จริงจัง

เป็นการจัดระบบข้อมูลที่กระจัดกระจายที่มีคนทำไว้แล้วไม่รู้กี่ยุคกี่สมัย นับเป็นงานเข็นครกขึ้นภูเขา แต่เขาฉลาดตรงที่รู้ว่ากำลังทำอะไร? และต้องใช้เทคนิควิธีอะไรบ้าง?

ซึ่งงานต่างๆ ที่สำเร็จลงได้ย่อมไม่ใช่ "หม่อมเต่า" เพียงคนเดียว แต่หมายถึงทีมงานที่เขาสร้างด้วย เขาเป็นคนที่เห็นความสำคัญของบุคลากรอย่างมาก เขาเทรนคนและเคี่ยวอย่างหนัก คนที่จะเป็นลูกน้องเขานอกจากจะต้องฉลาดแล้ว ยังต้องทุ่มเทให้กับการทำงาน ต้องทำการบ้านอย่างหนัก และยังต้องอดทนต่ออารมณ์ร้อนของเขาอีกต่างหาก ดังนั้นคนหัวใหม่มักจะชอบ ส่วนคนประเภทที่ทำงานแบบเช้าชามเย็นชามอาจจะไม่ชอบ เพราะต้องเหนื่อยมากกว่าปกติ เขาจึงมีทั้งลูกน้องที่รักเขามากกับเกลียดเขามาก

"หม่อมเต่า" เป็นคนที่รักการอ่านหนังสือและชอบอ่านอะไรก่อนคนอื่น โดยเฉพาะวารสารต่างประเทศเกี่ยวกับการเงินการคลัง, ภาษีอากร และเป็นคนที่ชอบอ่านประมวลกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาษีอากร ถ้ารู้ข่าวว่ามีกฎหมายออกใหม่ เขาจะรีบให้ลูกน้องไปซื้อมาอ่านทันที นิสัยนี้ติดไปถึงลูกน้องหลายคนที่อ่านกฎหมายเป็นไฟ

"หม่อมเต่า" เห็นจุดอ่อนอันหนึ่งของบ้านเราที่ไม่มีกฎหมายภาษีอากรเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เป็นที่ลำบากแก่ชาวต่างประเทศที่สนใจจะมาลงทุนและต้องการจะรู้เรื่องเหล่านี้ เขาตั้งทีมขึ้นมารวมความกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรที่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ และจัดการแปลเป็นภาษาอังกฤษ

ในที่สุด Information Hand Book on Taxation in Thailand เสร็จออกมาปี 2523 ในนามของกระทรวงการคลัง ซึ่งปี 2525 ได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น ในปัจจุบันอยู่ในระหว่างการปรับปรุงอีกครั้ง ซึ่งยังรอเรื่อง "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" ที่เรียบร้อยเมื่อไหร่ก็จะพิมพ์เป็นครั้งที่ 3

นอกจากนั้น "หม่อมเต่า" เห็นว่าชะรอยการแก้ปัญหาการชอบเลี่ยงภาษีอากรของผู้ใหญ่คงยากเสียแล้ว ก็คิดจะปลูกฝังความคิดความเข้าใจของเด็กให้เห็นถึงความสำคัญของการเสียภาษี โดยผลักดันไอเดียนี้ไปยังกระทรวงศึกษา ในที่สุดปี 2525 หนังสืออ่านประกอบการเรียนเกี่ยวกับภาษีอากร 4 เล่ม ในระดับมัธยมศึกษาก็มีผลบังคับใช้

"หม่อมเต่า" เป็นคนที่มีส่วนออกแรงค่อนข้างเยอะกับการผลักดันให้มีการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก เพราะถือว่า "ดอกเบี้ย" คือรายได้ประเภทหนึ่ง ควรจะเสียภาษีด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อเทียบกับคนที่ลงทุนทำงานอย่างหนักแต่ต้องเสียภาษีครบถ้วนนั้นออกจะเป็นการไม่ชอบธรรมนัก ซึ่งมีการถกเถียงกันมากพอสมควร เพราะ "ดอกเบี้ย" เป็น Monestary Policy ด้วย ถ้าเก็บภาษีมากไปคนก็อาจจะออกไปเล่นนอกระบบกันหมด และในเวลาใกล้เคียงกันนั้นได้เสนอให้ Tax Intensive แก่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน

งานชิ้นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามไปของ "หม่อมเต่า" คือการวางระบบคอมพิวเตอร์ให้แก่ สศค. และมีส่วนร่วมในการวางระบบคอมพิวเตอร์ของกระทรวงการคลัง ด้วยพื้นฐานที่เรียนมาทางวิศวะ ประกอบกับความสนใจส่วนตัวที่มีต่อระบบคอมพิวเตอร์ ในฐานะที่เป็น Management Information System (MIS) ด้วยความเชื่อว่าควรจะบริหารงานบนพื้นฐานของหลักการและข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็ว

"หม่อมเต่า" เป็นคนหนุ่มหัวใหม่ที่เห็นว่าอะไรไม่ดีหรือไม่สมบูรณ์ ก็พยายามผลักดันแก้ไข เห็นว่าอะไรที่ยัง "ไม่มี" ก็พยายามคิดค้นสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยพื้นฐานแล้วเขาเป็นคนเช่นนั้น

ขณะที่ "หม่อมเต่า" เป็น ผอ.กองนโยบายการคลังและภาษี บัณฑิต ปุณยะปาณะ ผอ. สศค. ย้ายไปเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์, ไกรศรี จาติกวณิช จากรอง ผอ. สศค. ขึ้นเป็น ผอ. สศค. ตำแหน่งรอง ผอ. จึงว่าง ตอนนั้นมีคู่แข่งที่จะขึ้นตำแหน่งรองฯ หลายคน เช่น วิบูลย์ อังสนันท์ (ปัจจุบันเป็นรองอธิบดีกรมสรรพากร), นิพัทธ์ พุกกะณสุต แต่ว่ากันว่าคู่ชิงจริงมีเพียงนิพัทธ์กับ "หม่อมเต่า"

"คุณไกรศรีเองคงตัดสินใจลำบากมากเพราะทั้งคู่มีฝีไม้ลายมือใกล้เคียงกันทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ เรียกว่ากินกันไม่ลงหรอกคู่นี้ แต่ในที่สุดก็เลือกหม่อมเต่า ซึ่งผมคิดว่าท่านมองว่าหม่อมเต่า Steady กว่า และความรู้ที่ดูเผินๆ ใกล้เคียงกันนั้น หม่อมเต่าลึกซึ้งกว่า" แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงวิเคราะห์

"หม่อมเต่า" ขึ้นเป็นรอง ผอ.สศค. หรือตำแหน่งเทียบเท่ารองอธิบดีด้วยวัยเพียง 36 ปี ยุคที่ไกรศรีเป็น ผอ.สศค. โดยมีรองฯ คนนี้ กล่าวกันว่า สศค.แข็งมาก

ขณะที่ "หม่อมเต่า" ดำรงตำแหน่งรอง ผอ.สศค. เขาได้ให้ความสนใจในโครงการโครงการหนึ่งมาก คือ การผลิตปุ๋ยขึ้นมาใช้ในประเทศแทนการนำเข้า ซึ่งความคิดนี้เคยมีมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ซึ่งจะใช้วัตถุดิบจากถ่านหิน แต่โครงการก็ล้มไป กระทรวงอุตสาหกรรมเองก็เคยลองพยายามแต่ไม่สำเร็จ คนเลยพากันขยาดเรื่องนี้ไปตามๆ กัน

จนกระทั่งปี 2522 ได้มีการจัดสัมมนาระดับชาติ ซึ่งจัดโดยชมรมวิชาการดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย จุดเริ่มมาจากมีการพบก๊าซธรรมชาติที่อ่าวไทย เมื่อแยกก๊าซธรรมชาติส่วนที่เป็นเชื้อเพลิงแล้ว มีผลพลอยได้ตัวหนึ่งสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยได้อย่างดี ข้อยุติของที่สัมมนาก็เลยเห็นควรสร้างโรงปุ๋ยขึ้นในประเทศไทย

ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ซึ่งเป็น รมช.อุตสาหกรรมช่วงนั้นให้ความสนใจโครงการนี้มาก ได้มาปรึกษาหารือกับ "หม่อมเต่า" ซึ่งก็สนใจโครงการนี้อยู่แล้ว และทั้งสองก็สนิทกันตั้งแต่เรียนหนังสือที่อังกฤษรุ่นใกล้ๆ กัน ก็เลยช่วยกันคิดอย่างจริงจังว่าจะทำอย่างไร? โครงการนี้ถึงจะเป็นรูปเป็นร่างได้ และรูปแบบควรจะเป็นอย่างไร?

จากการผลักดันอย่างต่อเนื่องทำให้บริษัทปุ๋ยแห่งชาติถือกำเนิดขึ้นตามมติ ครม. ให้เป็นบริษัทเอกชนที่จัดตั้งโดยรัฐบาลไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เพราะ "หม่อมเต่า" เห็นว่าการดำเนินงานในรูปแบบรัฐวิสาหกิจมีระเบียบกฎเกณฑ์มากและเกรงว่าจะไม่สามารถบริหารงานอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพได้ บริษัทนี้ประธานกรรมการได้แก่ "หม่อมเต่า"

บริษัทปุ๋ยแห่งชาติรัฐบาลถือหุ้น 45% (ปตท. 25%, คลัง 10%, อ.ต.ก. 10%) เอกชน 55% ได้แก่ ไทยเซ็ลทรัลเคมี บริษัทในเครือเมโทรกรุ๊ปของ สว่าง เลาหทัย (ผู้ค้าปุ๋ยรายใหญ่) 22.5% กลุ่มผู้ค้าปุ๋ยรายเล็ก 22.5% ธนาคารพาณิชย์ 10% ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท

หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นประธานปุ๋ยแห่งชาติได้ไม่นาน ก็มีการโยกย้าย บรรหาร บัณฑุกุล จากรองอธิบดีกรมสรรพากรไปเป็นรองอธิบดีกรมสรรพสามิต แล้วแต่งตั้ง "หม่อมเต่า" จากรอง สศค. ไปเป็นรองอธิบดีกรมสรรพากร และ มนัส ลีวีรพันธ์ ขึ้นเป็นรอง สศค. แทน

"หม่อมเต่า" สวมหมวกพร้อมกันสองใบ เวลาปกติเขาทำงานที่สรรพากร เวลาเย็นและวันเสาร์เขาไปขลุกอยู่ที่บริษัทปุ๋ยแห่งชาติ และการที่บริษัทปุ๋ยไม่มีกรรมการผู้จัดการ งานบริหารแทบทั้งหมดจึงตกเป็นภาระของเขา ซึ่งเขาก็ทุ่มเทชีวิตจิตใจทั้งหมดเพื่องานนี้ เขาเดินลุยหาผู้สนับสนุน ไปหาพ่อค้าปุ๋ยฟังความต้องการของพวกเขา หาสต๊าฟมาร่วมงาน ตอนที่เขายังอยู่ สศค. อนุประสิทธิ์ ณ พัทลุง ช่วยด้านข้อมูล, กรรณิการ์ ปิณฆรุจิ ลาออกจากเศรษฐกร 6 จาก สศค. มาเป็นหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ ช่วงหลัง ดร.จิรายุ ส่ง เวียงชัย ศิริพัฒน์ มาเป็นหัวหน้าส่วนสถิติและประเมินผลมาช่วยอีกแรงหนึ่ง โครงการในระยะแรกเป็นไปด้วยดีทีเดียว

กระแสการคัดค้านการก่อตั้งโรงงานปุ๋ยแห่งชาติ เริ่มก่อตัวตั้งแต่มติของคณะกรรมการบริษัทเมื่อ 6 ธันวาคม 2526 ให้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 50 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาท โดยกลุ่มบริษัทผู้ค้าปุ๋ยรายเล็กเริ่มลดสัดส่วนการถือหุ้น โดยอ้างว่าไม่มีเงินร่วมลงทุน "หม่อมเต่า" จึงแก้ปัญหาด้วยการดึงเอาเอกชนแขนงอื่นมาถือหุ้น

ต่อมาในปี 2528 บริษัทปุ๋ยแห่งชาติได้ประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 200 ล้านบาท เป็น 2,500 ล้านบาท เพื่อให้อัตราส่วนระหว่างทุนกับเงินกู้เท่ากับ 1 : 3 ตามเงื่อนไขของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม (IFCT) หัวหน้ากลุ่มสถาบันการเงินที่ค้ำประกันเงินกู้โออีซีเอฟ 20,260 ล้านเยน

ปรากฏว่าการเพิ่มทุนครั้งสุดท้ายก่อนที่จะก่อสร้างโรงปุ๋ยนี้ กลุ่มผู้ค้าปุ๋ยลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือ 2.6% โดยอ้างเหตุผลที่สอดคล้องกับธนาคารกรุงเทพว่า ไม่มีความแน่ใจในโครงการดังกล่าวว่าผลตอบแทนการลงทุนจะคุ้มกับเงินที่ลงไปหรือไม่?

ช่วงนั้นกระแสการวิพากษ์วิจารณ์โครงการปุ๋ยแห่งชาติรุนแรงมาก โดยเฉพาะเมื่อราคาพลังงานของตลาดโลกตกต่ำลง มีผลทำให้ราคาปุ๋ยลดต่ำลงกว่าต้นทุนการผลิตปุ๋ยเอง กลุ่มผู้คัดค้านโครงการชูประเด็นว่า การนำปุ๋ยต่างประเทศเข้ามาก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าการผลิตภายในประเทศ ซึ่งต้องลงทุนสูงถึง 12,000 ล้านบาท และจากภาวะเงินเยนของญี่ปุ่นเริ่มขยับตัวแข็งขึ้นเรื่อยๆ สูงขึ้นกว่าตอนที่บริษัทญี่ปุ่นประมูลการก่อสร้างได้ถึง 40% เป็นเหตุให้ต้นทุนการก่อสร้างสูงขึ้นมาก

กลุ่มที่ออกโรงคัดค้านอย่างชัดเจนคือ ธนาคารกรุงเทพและบริษัทศรีกรุง ซึ่งเป็นผู้นำเข้าปุ๋ยรายใหญ่ที่สุด และมีนักวิชาการใหญ่อย่าง ดร.อาณัติ อาภาภิรมย์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการทีดีอาร์ไอ และ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ที่ปรึกษานายกฯ ไม่เห็นด้วยในแง่ความเป็นไปได้ของโครงการ

"หม่อมเต่า" ต้องต่อสู้กับกระแสคัดค้านที่มีทั้งกลุ่มผู้เสียประโยชน์ นักวิชาการ และภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเขาและ ดร.จิรายุและนักวิชาการบางส่วนยังยืนยันว่าโครงการนี้เป็นไปได้ในระยะยาว ต่างฝ่ายต่างงัดข้อมูลตัวเลขมาสู้กัน นับเป็นสงครามข้อมูลที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง บนเดิมพันผลประโยชน์นับหมื่นๆ ล้าน ในที่สุด "หม่อมเต่า" ทนต่อกระแสการบีบคั้นไม่ไหวจึงประกาศลาออกจากปุ๋ยแห่งชาติ

บางคนตั้งข้อสังเกตว่าการลาออกครั้งนั้นเป็นความฉลาดของเขา "หม่อมแกชิ่งเก่ง เพราะหลังจากนั้น "ซูเปอร์เค" เกษม จาติกวณิช เข้ามาเป็นประธานแทน ซึ่งดูมีแนวโน้มว่าทุกอย่างจะดีขึ้น แต่เมื่อ 15 ตุลาคม 2529 มีการประชุมกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก พลเอกเปรมออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ก้าวต่อไปของบริษัทให้อยู่บนพื้นฐานของการตัดสินใจของเอกชน พูดอย่างนี้ก็หมายความว่า รัฐบาลชักจะไม่ค่อยเอาด้วยเพราะเอกชนค่อนข้างจะไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว คุณเกษม ถึงกับ "ช็อค" เข้าโรงพยาบาลไปเลย พอออกจากโรงพยาบาลก็ลาออกทันที..."

ปัจจุบัน ดร.อรัญ ธรรมโน ในฐานะ ผอ.สศค. ถูกส่งให้เป็นประธานบริษัท ซึ่งหลายคนกล่าวว่า ดร.อรัญ รับภาระมาล้มโครงการนี้เสียมากกว่า ปัจจุบันบริษัทนอกจากนำเข้าปุ๋ยยูเรียมาขายแผนกอื่นก็แทบจะไม่ได้ทำอะไร เหมือนรอวันที่จะหมดลมไปเองเท่านั้น!?

"มันตลกมากที่เงื่อนไขการจะอยู่หรือไปของบริษัท อยู่ที่ส่วนต่างของเงินเยนที่แข็งตัวขึ้นมาจากภาวะที่บริษัทก่อสร้างญี่ปุ่นประมูลนั้น ซึ่งประมาณ 2 พันล้าน เราขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นช่วยเหลือแบบให้เปล่า ซึ่งใครเขาจะให้ไม่มีเหตุผล แต่ถ้าบังเอิญเขาเกิดให้มาจริงๆ ก็ยุ่งอีกเพราะเขาคงต้องหาเหตุผลอื่นๆ มาอีก เพื่อที่จะล้มโครงการให้ได้" เวียงชัย ศิริพัฒน์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" อย่างเหลืออด

กล่าวกันว่าปุ๋ยแห่งชาติที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากปัจจัยภายนอกดังที่กล่าวไปแล้ว สไตล์การทำงานที่แข็งกร้าวของ "หม่อมเต่า" ก็มีส่วนทำให้ผู้ใหญ่หลายคนไม่ให้ความสนับสนุนเท่าที่ควร ความที่เขายังหนุ่มอยู่มากประสบการณ์ยังน้อยมาดำเนินโครงการที่ใหญ่ซึ่งต้องอาศัยบารมีความเชื่อถือของคน ตลอดจนความกว้างขวางในหมู่พ่อค้าใหญ่และแหล่งเงินกู้ระหว่างชาติ ก็มีส่วนที่ทำให้โครงการนี้ไปไม่รอด

เมื่อลาออกจากประธานบริษัทปุ๋ยแห่งชาติ "หม่อมเต่า" สามารถทำงานให้กรมสรรพากรเต็มที่ขึ้น งานที่เด่นที่สุดที่เกิดจากไอเดียและความพยายามของเขา คือการวางระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ทั้งหมด ซึ่งแต่เดิมก็มีอยู่บางส่วนแต่ยังไม่ได้รับการสนใจอย่างจริงๆ จังๆ

"เขาทุ่มเทค้นคว้าจากพื้นฐานที่สนใจเรื่องคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว เขา Push Project วางแผนงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโปรเจ็คนี้ใช้เงินมากต้อง Convince คนหลายระดับ ตั้งแต่คณะกรรมการคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ครม. และผู้หลักผู้ใหญ่อีกหลายต่อหลายคน เขาต้องการจัดระบบข้อมูลต่างๆ ให้เป็นระเบียบ เรียกใช้ได้อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งคอมพิวเตอร์มีติดตั้งทั่วกรุงเทพฯ สามารถ on line กับกรมได้ ถ้าเต็มโปรเจ็คที่เขาฝันคือทั่วประเทศไทย ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ คงไม่เร็วนักเพราะต้องใช้งบกว่าพันล้าน" ร.อ. สุชาติ เชาว์วิศิษฐ์ ผอ.กองนโยบายและแผนงาน เล่ากับ "ผู้จัดการ"

นอกจากนี้มีงานอีกหลายอย่างที่เขาผลักดันที่ยังไม่สำเร็จ เช่น เรื่องผังการบริหารที่ IMF เคยมาทำการศึกษา ซึ่งสรุปว่าการจัดผังการบริหารยังไม่เป็นแบบ Functionalize เช่นการแบ่งงานของรองอธิบดีทั้ง 3 คน ทุกกองที่เกี่ยวข้องกับการบริหารควรจะขึ้นกับรองเพียงคนเดียว ไม่ใช่ขึ้นกับรองนี้บ้างโน้นบ้าง ทำให้ไม่สามารถสั่งงานตั้งแต่ต้นจนจบได้ ซึ่งทุกวันนี้ ร.อ.สุชาติ เป็นผู้ที่พยายามจะผลักดันต่อจากเขาอยู่

"หม่อมเต่า" เป็นคนที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Strong Personality เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมากๆ เขาได้ชื่อว่าเป็นคนที่ "ฉลาดมากๆ" คนหนึ่ง บุคลิกจึงค่อนข้างแข็งกร้าว สไตล์การทำงานมีลักษณะ Aggressive ทั้งเนื้อหาและรูปแบบ

เป็นคนที่ซีเรียสในการทำงานมาก เมื่อได้รับมอบหมายงานหรือต้องคิดงานใหม่ขึ้นมา เขาจะคิดถึงเทคนิควิธีที่จะสามารถบรรลุงานได้อย่างรวดเร็ว เขาจะแบ่งงานให้ลูกน้องทำอย่างทั่วถึง ลูกน้องเขาทุกคนจะต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพราะเขาตามจี้ตลอดว่างานไปถึงไหนแล้ว เมื่อมีเวลาว่างเขาชอบเดินดูลูกน้องทำงาน ถามไถ่ถึงงานที่มอบให้ทำ ถ้ามีปัญหาเขาก็จะช่วยคลี่คลาย เรียกว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่ทำงานคลุกคลีใกล้ชิดลูกน้อง "ท่านมีความจำที่แม่นมาก จำได้ว่าให้ใครทำอะไรบ้าง ถ้าใครทำงานมาไม่ดีก็เอาตายเลย อาจจะโดนว่าต่อหน้าคนอื่นๆ ด้วย บางคนจึงไม่ชอบที่มา Strict มากเกินไป" อดีตลูกน้องเก่าที่ สศค. เล่า

ทุกครั้งที่มีการประชุม "หม่อมเต่า" มักจะทำการบ้านไปอย่างดี ในที่ประชุมเขาจะแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา หลายต่อหลายครั้งที่มีการปะทะกันทางความคิดอย่างรุนแรง แต่ถ้าเขาคิดว่าตัวเองถูก เขาก็จะเถียงอย่างหัวชนฝา ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่กว่าหรือผู้บังคับบัญชาก็ตาม

หลายครั้งที่เสร็จจากการประชุมหรือการชี้แจงงานให้ผู้ใหญ่ แล้วผลออกมาไม่สบอารมณ์เขา "พอหม่อมเต่าลงมา จะบ่นลั่นกองเลยว่า แค่นี้ก็ไม่เข้าใจ ถ้าโมโหมากๆ อาจจะด่าว่า...โง่เหมือนควายเลย แต่พอพูดเสร็จแล้วก็หาย แต่คนถูกด่าไม่รู้ว่าหายไหม" ผมว่าส่วนที่แกปากจัดอาจจะเป็นเพราะความเป็นเจ้าที่อยู่วังมาตลอด ไม่พอใจอะไรก็ด่าได้ อาจมีส่วนอยู่บ้าง" คน สศค. เล่าถึงความเป็นคนโผงผางเปิดเผย มีอารมณ์อย่างไรก็แสดงอย่างนั้น ซึ่งหลายคนมีความเห็นตรงกันว่า เป็นจุดเปราะที่สุดของ "หม่อมเต่า" ซึ่งสร้างความไม่พอใจหรือบางทีกลายเป็นศัตรูกับหลายๆ คนไปโดยไม่รู้ตัว

แต่ก็มีแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงการคลังวิเคราะห์การทำงานของเขาอย่างน่าสนใจว่า "ผมคิดว่าแกมีปรัชญาอยู่อย่างหนึ่งว่า เป็นคนที่ชอบแหย่รังแตน ด้วยความอยากรู้ว่าคนอื่นเขาคิดอะไร ถ้าคุณไปถามคำถามที่มัน Simple ก็อาจจะไม่ได้ Fact แหย่ให้แตนมันออกมาดูซิว่ามันมีเยอะหรือเปล่า ถ้าออกเป็นฝูงจะได้เตรียมดูว่าควรจะจัดการอย่างไร หรืออาจจะเรียกว่าเป็นวิธีตีฝุ่นให้ตลบเสียก่อน แล้วค่อยรวบทีหลัง ถ้าแกอยากรู้อะไรก็จะแย็บด้วยปากไปเรื่อย จนบางครั้งเกือบถูกแย็บกลับด้วยกำปั้น เคยมีข้าราชการชั้นผู้น้อยคนหนึ่งซึ่งไม่รู้แกไปพูดอีท่าไหนหมอนั่น "ท้าต่อย" เลย..."

ความจริงสไตล์การทำงานที่ค่อนข้างก้าวร้าวเอาจริงเอาจังและกล้าตัดสินใจ ออกจะไม่ค่อยเข้ากันได้กับวัฒนธรรมการทำงานของข้าราชการไทยโดยทั่วไป ที่ยังคงทำงานแบบไปเรื่อยๆ เฉื่อยๆ มีลักษณะการประนีประนอมสูง และยังยึดถือระบบอาวุโสอย่างแน่นหนา ที่ผ่านมาหม่อมเต่าจึงมักจะมีปัญหากับผู้ร่วมงานบางส่วนที่ไม่เคยชินกับสไตล์แบบนี้ โดยเฉพาะข้าราชการที่กรมสรรพากรว่ากันว่ามีปฏิกิริยาพอสมควร

"แก Aggressive มาก เห็นอะไรไม่ถูกน่าจะแก้ไขก็ลุยโครมๆ เพราะอยากให้มันดีขึ้นมาเร็วๆ ลูกน้องบางคนอายุมากกว่า แต่ถ้าทำงานไม่ได้เรื่องแกก็ด่าโดยไม่ละเว้น ก็เลยมีคนไม่ชอบ แต่ตอนหลังผมว่าดีขึ้นเยอะ อาจจะเป็นเพราะเห็นว่าแกทำงานจริงๆ ไม่ได้ด่าอย่างเดียว ตอนแกย้ายไปมีหลายคนบ่นเสียดาย" ข้าราชการกรมสรรพากรเล่า

ความที่หม่อมเต่าเป็นคนที่ Bright มาก บางทีทำให้ Over Look คนอื่น แต่กระนั้นก็ตามถ้าเป็นการพูดกันด้วยเหตุและผลหรือบางสิ่งที่เขาไม่รู้ เขาก็พร้อมที่จะฟังและเรียนรู้เช่นกัน และจุดดีอีกอย่างของเขาคือไม่บ้าอำนาจ

"หม่อมเต่า" เป็นคนที่ผู้ใหญ่ใช้งานแล้วติดใจเพราะเรื่องประสิทธิภาพของงานแทบไม่ต้องมีคำถาม แม้ว่าผู้ใหญ่บางคนจะไม่ชอบท่าทีก้าวร้าว แต่ก็ยังเลือกใช้ เพราะเห็นว่าเขาเป็นคนที่ไว้ใจได้ในเรื่องความซื่อสัตย์ ไม่มีอะไรตุกติก เป็นคนทำงานเพื่อความสำเร็จของงานจริงๆ ผู้ใหญ่จึงเรียกใช้เขาแทบทุกยุคทุกสมัย ทั้งๆ ที่งานศพ งานแต่ง หรืองานบริการผู้ใหญ่แบบที่ข้าราชการที่หวังก้าวหน้ามักจะทำกัน เขาแทบไม่ทำเลย หากเขาจะประจบผู้ใหญ่ก็ด้วยงานเท่านั้น ในทำนองเดียวกันกับผู้ใต้บังคับบัญชา เขาให้ความยุติธรรมเสมอ ดูแลลูกน้องทั่วถึง เวลาพิจารณาความดีความชอบยึดหลักความสามารถเป็นหลัก โดยไม่สนใจระบบอาวุโสมากนัก

"หม่อมเต่า" เป็นคนตัวเล็กแต่เสียงดังและใจใหญ่เอามากๆ ดูจากงานที่เขาจับแต่ละชิ้นที่ผ่านมาเป็นงานเข็นครกขึ้นภูเขาแทบทั้งสิ้น และค่อนข้างมีลักษณะ Initiative สูง บ้างก็สำเร็จบ้างก็ล้มเหลว ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่ทุกงานเขาทุ่มเทอย่างสุดจิตสุดใจ

มกราคมที่ผ่านมา ครม.มีมติแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้เลื่อนจากซี9 เป็นซี 10 ซึ่งเทียบเท่าอธิบดี ซึ่งเป็นที่ฮือฮามากทีเดียว เพราะ "หม่อมเต่า" เพิ่งอายุ 44 (เกิด 28 ก.ย. 2486) และอันที่จริงก็มีคนที่อาวุโสมากกว่าอยู่บ้างแต่ส่วนใหญ่ใกล้เกษียณแล้ว

แต่ถ้ามองในแง่ซีเนียริตี้จริงๆ แล้ว เขาก็อยู่ในตำแหน่งรองอธิบดีมานานถึง 8 ปี (ใกล้เคียงกับ ชยุติ จิระเลิศพงษ์ ซึ่งเป็นซี 9 ก่อนเขาประมาณ 3 - 4 เดือน) งานรองปลัดแท้ที่จริงก็คืองานกลั่นกรองเรื่องที่กรมกองส่งมายังปลัดฯ เป็นเหมือนฝ่ายวิชาการให้ปลัดซึ่งไม่ใช่งานสายปฏิบัติการเหมือนตอนที่อยู่กรม ซึ่งบางคนอาจจะชอบอยู่กรมมากกว่าเพราะมีอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน

"ผู้จัดการ" ถาม "หม่อมเต่า" ว่าพอใจกับตำแหน่งนี้หรือไม่ เขาไม่บอกตรงๆ แต่บอกว่าก่อนเข้ารับราชการเขาทำใจอยู่ 2 - 3 อย่าง "ผมเลือกยี่ห้อไม่ได้ ผมอาจจะชอบบีเอ็มหรือเบ็นซ์ แต่อาจจะได้โตโยต้า หรืออย่างคอมพิวเตอร์ก็อาจจะได้อันที่ถูกตามสเป็กที่ราชการกำหนด ไม่ใช่อันที่ Cost Benefit สูงสุด เราทำใจได้ว่าเลือกงานไม่ได้ เป็นรองปลัดก็พยายามวิเคราะห์ว่างานมันคืออะไร ข้อจำกัดคืออะไร ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร หน้าที่มีอะไร ก็ปฏิบัติตามนั้น..."

สำหรับตำแหน่งปลัดนั้น คนในกระทรวงวิเคราะห์ว่าเป็นความฉลาดอย่างมากๆ ที่ปลัดเลือกเอาคนมีฝีมืออย่าง "หม่อมเต่า" มาช่วยงาน

"ความรอบรู้ของเขากว้างขวางมาก ด้านสรรพสามิตเขาเคยจับอยู่ตอนที่เข้า สศค. ใหม่ๆ ด้านสรรพากรเป็นสิ่งที่เขาถนัดมากเพราะจับมาตลอดและยังมีโอกาสไปเป็นรองอธิบดีที่นั่นถึง 5 ปี งานศุลกากรนั้น สมัยที่ ดร.อำนวยเป็นอธิบดีกรมศุลฯ ก็เคยดึงตัวเขาไปช่วยอยู่พักหนึ่ง ด้านภาษาไม่ต้องพูดถึงดีเยี่ยม เคยเข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติมามากมาย มีลูกล่อลูกชนที่จะเจรจากับฝรั่ง ผมว่าความสามารถด้านนี้เขาระดับเดียวกับ ศิววงศ์ จังคศิริ อธิบดีกรมทรัพยากร เขาจะเป็นผู้กลั่นกรองงานที่สามารถ Comment เสนอปลัดได้ ผมว่าตำแหน่งนี้ Qualify มากๆ สำหรับเขา" ผู้ใหญ่คลังพูดกับ "ผู้จัดการ"

ความจริง "หม่อมเต่า" ขอปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ เนื่องจากว่าตนเองเป็นข้าราชการ แต่ "ผู้จัดการ" ได้มีโอกาสคุยอย่างไม่เป็นทางการเมื่อคราวที่ไปร่วมสัมมนาเรื่อง "นโยบายรัฐบาลต่อสถาบันการเงิน" ที่โรงแรมโรยัลคริฟ พัทยา มีข้อความตอนหนึ่งที่ "ผู้จัดการ" เห็นว่าสะท้อนความเป็นตัวเขาได้ค่อนข้างชัดเจน หม่อมเต่าบอกว่า "เรื่องตำแหน่งผมไม่ค่อยมองเท่าไหร่ คือก็มองบ้างแต่ไม่ได้ตั้งใจมานั่งคิด จุดอ่อนของผมคือไม่เก่งทางเข้าหาผู้ใหญ่ ถ้าวิ่งแข่งกันผมแพ้แน่ ผมเก่งทางตัวเลข หาตัวเลขให้มากที่สุด พยายามเน้นเสริมจุดแข็ง ส่วนจุดอ่อนก็พยายามทำไม่ให้มันเสียหายมากนัก ชีวิตไม่ใช่อยู่ที่ตำแหน่งอย่างเดียว ผมเองเป็น Project Man ที่เล่นตัวเลข เล่นโครงการมากกว่า ผมไม่สะดุดไม่ติดใจตำแหน่งมากกว่างาน งานมีอะไรที่จะทำให้มีทางให้เจริญพัฒนาขึ้นมาได้ผมก็ทำ"

หลายคนในกระทรวงการคลังหรือแม้แต่คนภายนอกสนใจเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงในกระทรวงการคลัง คาดกันว่า "หม่อมเต่า" ยังมีอนาคตอีกไกล (ถ้าไม่บังเอิญไปสะดุดอะไรเข้าเสียก่อน ซึ่งจะน่าเสียดายมาก!) เขาเป็น New Breed คนหนึ่งที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีพลังความคิดและศักยภาพที่เป็นพลังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แม้จะไม่หวังให้เขามาเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างอันใหญ่โตเทอะทะอย่างกระทรวงการคลัง แต่ในสถานการณ์ที่องค์กรยังไม่เข้มแข็งสมบูรณ์ ผู้นำที่มีความสามารถยังคงเป็นความหวังอยู่บ้าง!?   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us