Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2531
ไทย-ลาว สัมพันธ์กันมาอย่างไร? ถึงได้มีแต่อคติเข้าหากัน             
โดย รุ่งอรุณ สุริยามณี
 

 
Charts & Figures

การค้าชายแดนไทย-ลาว
ดุลการค้าไทย-ลาว

   
related stories

อนุสรณ์ "ศึกร่มเกล้า" ชัยชนะซ่อนลึกของ "พ่อค้าเถื่อน"
ศึกครั้งนี้สำหรับนักค้าอาวุธ ยิ่งกว่าถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 เสียอีก

   
search resources

Laos
Social




ชนชาติลาวเป็นสาขาหนึ่งของชาติอ้ายลาวหรือไท (TAI) ชาวลาวได้ตั้งอาณาจักรขึ้นในดินแดนลานช้างตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 12 เรียกว่าอาณาจักรลานช้างหรือล้านช้าง

ในสมัยพระเจ้าฟ้างุ่มครองราชย์ในปี พ.ศ. 1893-1913 ลาวเจริญรุ่งเรืองมากและมีราชธานีอยู่ที่เมืองเชียงของ (หลวงพระบาง) อาณาเขตของลาวสมัยนั้นกว้างใหญ่ไพศาล ทิศเหนือได้แคว้นสิบสองปันนา สิบสองจุไทและเชียงขวาง ทิศใต้มีอาณาเขตติดต่อกับอาณาจักรเขมรและเทือกเขาอันนัม ทิศตะวันออกเฉียงใต้จรดอาณาจักรจำปา ส่วนทิศตะวันตกได้ที่ราบสูงโคราชและเชียงใหม่

ลาวได้เจริญรุ่งเรืองอยู่จนถึง พ.ศ. 1971 จึงเริ่มเสื่อมลงลาวต้องแตกแยกออกเป็น 3 อาณาจักร คืออาณาจักรลานช้าง หลวงพระบาง อาณาจักรลานช้างเวียงจันทน์และอาณาจักรลานช้าง นครจำปาศักดิ์ เมืองเชียงใหม่ก็ได้แยกตัวตั้งเป็นรัฐอิสระจากลาวและแคว้นสิบสองจุไทกับเชียงขวางหันไปสวามิภักดิ์ต่อเวียดนาม

การที่ลาวแตกแยกออกเป็น 3 อาณาจักร ทำให้ลาวอ่อนแอมาก หลังจากนั้นเป็นต้นมาลาวต้องตกเป็นประเทศราชของไทยสลับกับเวียดนามเป็นระยะ ๆ

ในต้นพุทธศตวรรษที่ 21 หรือรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิของไทยซึ่งของลาวตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (2091-2144) ไทยกับลาวได้ตกลงร่วมมือเป็นไมตรีต่อกันเพื่อต่อต้านการขยายตัวของพม่า ได้มีการสร้างพระธาตุศรีสองรัก (ตั้งอยู่ที่อำเภอด่านซ้ายจังหวัดเลย) ขึ้นเพื่อเป็นสักขีพยานในการเป็นพันธไมตรีต่อกันและจะช่วยเหลือกันและกันเมื่อเกิดศึกสงคราม

ในปี พ.ศ. 2155 รัชสมัยพระเจ้าเอกาทศรถของไทย ขุนนางไทยได้ขอความช่วยเหลือ ไปยัง กรุงล้านช้างให้ยกทัพ มาช่วยไทยปราบพวกทหารญี่ปุ่นที่ก่อการจลาจลในกรุงศรีอยุธยา ทัพกรุงล้านช้างได้ยกมาตั้งที่ลพบุรีเพื่อหวังผสมโรงยึดไทยในช่วงที่กำลังวุ่นวายแต่กองทัพล้านช้างแตกพ่ายกลับไป หลังจากนั้นความสัมพันธ์ไทย-ลาวก็ขาดหายไป จนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อพระองค์ทรงกอบกู้เอกราชได้จากพม่า ก็ได้ส่งกองทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ในปี พ.ศ. 2321 เพื่อเป็นการแก้แค้นที่ลาวให้ความช่วยเหลือพม่าในการตีกรุงศรีอยุธยาจนกรุงแตกลาวได้ตกเป็นประเทศราชของไทย นับแต่นั้น

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ผู้ปกครองอาณาจักรเวียงจันทน์ได้คิดเอาใจออกห่างจากไทย เจ้าอนุวงศ์ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการให้แก่จักรพรรดิเกีย ลอง แห่งเวียดนาม และต่อมาก็ยกทัพมาตีไทย (2369-2371) ไทย-ลาว ก็เลยต้องทำสงครามกัน ไทยยกกำลังออก ตีทัพของเจ้าอนุวงศ์แตกพ่ายไปและได้ติดตามไปยึดนครเวียงจันทน์อีกครั้งหนึ่ง เจ้าอนุวงศ์ต้องหนีไปพึ่งจักรพรรดิเวียดนาม พระเจ้าแผ่นดินไทยเขียนสาส์นไปยังจักรพรรดิเวียดนามขออย่าให้การสนับสนุนเจ้าอนุวงศ์ ในปี พ.ศ. 2372 เวียดนามก็ส่งตัวเจ้าอนุวงศ์กลับเวียงจันทน์ โดยมีทหารคุ้มกันมาเพียง 2 กองร้อย ในระหว่างทางใกล้เมืองเวียงจันทน์เจ้าน้อยแห่งเมืองเชียงขวางจับเจ้าอนุวงศ์ได้และส่งตัวมายังกรุงเทพฯ เจ้าอนุวงศ์ได้สิ้นพระชนม์ในที่คุมขังในกรุงเทพฯ ในอีกสามปีต่อมา ทำให้เชื้อสายกษัตริย์ลาวนครเวียงจันทน์สิ้นสุดลงจากการลงโทษตัดหัวเจ็ดชั่วโคตร

ไทยยกกำลังขึ้นไปตีนครเวียงจันทน์ครั้งนั้นได้ทำลายและเผานครเวียงจันทน์ลงอย่างราบคาบและได้กวาดต้อนครอบครัวลาวพร้อมสิ่งของมีค่าลงมายังกรุงเทพฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้แค้นและไม่ให้เป็นตัวอย่างแก่ประเทศราชอื่น ๆ สืบไป นอกจากนี้ไทยยังได้ยุบฐานะของเวียงจันทน์ลงเป็นเพียงหัวเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย

ไทยได้สร้างเมืองหนองคายบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการปกครองอาณาจักรเวียงจันทน์แทนนครเวียงจันทน์ เมืองหนองคายมีชัยภูมิสามารถป้องกันการโจมตีของเวียดนามได้อย่างดี ทำให้การกู้อิสรภาพของลาวเป็นไปได้ยาก

อย่างไรก็ตามเวียดนาม สามารถขยายอิทธิพลเข้ามาในเชียงขวางและแคว้นสิบสองจุไทยได้สำเร็จในเวลาต่อมา เพราะหลังจากเหตุการณ์เจ้าอนุวงศ์ถูกจับตัวส่งมาให้ไทยแล้ว เวียดนามก็ได้ส่ง กำลังเข้าตีเมืองเชียงขวางและจับเจ้าน้อยประหารชีวิต พร้อมกับผนวกเชียงขวางเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนาม ในขณะเดียวกับเจ้าผู้ครอบแคว้นสิบสองจุไทย ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการให้ทั้งไทยและเวียดนามพร้อม ๆ กันเพื่อความอยู่รอดของตน ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ไทยไม่ได้แสดงท่าทีใด ๆ ที่ต่อต้านเวียดนามเลย ไทยขอเพียงรักษาอาณาจักรทั้งสามคือแคว้นหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และนครจำปาศักดิ์เอาไว้ในอำนาจโดยเด็ดขาดเท่านั้น

กระทั่งฝรั่งเศสขยายอิทธิพลเข้ามาในอินโดจีน

ฝรั่งเศสเข้าครอบครองเวียดนามและในที่สุดก็ยึดเอาแคว้นสิบสองจุไทและดินแดนลาวบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไปจากไทยในปี พ.ศ. 2431 และ 2436 ตามลำดับ ภายหลังไทยยังต้องสูญเสียดินแดนลาวบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงรวมทั้งเมืองจำปาศักดิ์และเมืองมโนไพรอีกในปี พ.ศ. 2446 ซึ่งรวมดินแดนที่ไทยสูญเสียไปทั้งสิ้นถึง 292,500 ตารางกิโลเมตร

การเข้ามาของฝรั่งเศสมีผลทำให้การช่วงชิงอำนาจระหว่างไทยและเวียดนามเหนือแผ่นดินลาวเงียบหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์โดยปริยาย

ปัญหาไทยกับเวียดนามเหนือลาวเริ่มกลับมาเป็นปัญหาใหม่อีกครั้งเมื่อโฮชิมินห์พยายามที่จะทำการปลดแอกเวียดนามออกจากการปกครองของฝรั่งเศส โดยการร่วมมือกับกลุ่มขบวนการปลดแอกของลาวและเขมร ช่วงนั้นเป็นช่วงที่โฮชิมินห์ดำเนินการชี้นำการจัดตั้ง "สหพันธ์อินโดจีน" ขึ้นภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนในปี พ.ศ. 2473-2493 โดยรวมกำลังขบวนการปลดปล่อยชาตินิยมของ 3 ชาติ อินโดจีนเข้าต่อสู้กับศัตรูร่วมเดียวกันคือฝรั่งเศส

เวียดนามเปลี่ยนชื่อพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนมาเป็นพรรคลาวดง (LAO DONG PARTY) ในช่วงปี 2494 และเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างขบวนพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนามกับลาวและเขมรจากรูปแบบของ "ผู้บังคับบัญชา-ผู้ใต้บังคับบัญชา" มาเป็นแบบ "ฉันท์พี่น้อง"

ต่อมาโฮชิมินห์ก็ประสบความสำเร็จสามารถนำพรรคคอมมิวนิสต์เข้าขับไล่ฝรั่งเศสออกไป ได้ และได้ปกครองแผ่นดินตอนเหนือของเวียดนาม ทำให้ประเทศเวียดนามต้องแบ่งออกเป็นเหนือและใต้

เวียดนามเหนือในช่วงนั้น ประกาศสนับสนุนนโยบายเป็นกลางของลาวและเขมรตามข้อตกลง เจนีวาปี 2497

แต่กระนั้นไทยและประเทศตะวันตกก็ยังคงไม่ไว้วางใจเวียดนามเหนือ และกล่าวหาว่าเวียดนามเหนือโดยการสนับสนุนของจีนและโซเวียตยังคงให้การสนับสนุนแก่ขบวนการประเทศลาว และพรรคคอมมิวนิสต์เขมรอยู่โดยตลอด ไทยยังคงกล่าวหาว่าเวียดนามไม่ละทิ้งแนวความคิดเรื่องการจัดตั้งสหพันธ์อินโดจีน เพื่อหวังผลการครอบงำลาวและเขมร โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังที่ลาว กัมพูชาและเวียดนามเหนือผนวกเวียดนามใต้กลายเป็นระบอบสังคมนิยมภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ทั้ง 3 ชาติ ในปี 2518 แล้ว ไทยดูเหมือนจะหวาดระแวงความเป็นสหพันธ์อินโดจีนของเวียดนามลาวและเขมรอย่างหนัก

ภายหลังการเปลี่ยนระบบการปกครองในปี 2518 นั้นในส่วนที่เกี่ยวกับลาว ลาวได้ให้เวียดนามตั้งกองกำลังทหารไว้ในลาวเป็นจำนวนถึง 30,000 คน ลาวมีความสัมพันธ์กับเวียดนามมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน 2520 ลาวก็ได้ทำสัญญามิตรภาพกับเวียดนาม โดยลาวยินยอมอย่างเป็นทางการให้เวียดนามคงทหารไว้ในลาว เพื่อช่วยทำการปราบปรามและรักษาความสงบภายใน โดยมีข้อตกลงว่าจะให้ความร่วมมือกันทุกรูปแบบในการต่อต้านการบ่อนทำลายของลัทธิจักรวรรดินิยมและของกองกำลังพวกปฏิการ (หมายถึงลาวกู้ชาติฝ่ายขวา) ดังนั้นกำลังของเวียดนามในลาวจึงเพิ่มจาก 30,000 คน ในปี 2520 เป็น 50,000 คนในปี 2522 เพื่อช่วยเหลือลาวทำการรบกับพวกลาวขวาหรือพวกขบวนการลาวกู้ชาติที่มีความสามารถพอสมควรโดยเฉพาะในช่วงที่จีนเข้ามาช่วยให้การสนับสนุนพวกลาวกู้ชาติเหล่านี้ เมื่อจีนเกิดความขัดแย้งขึ้นกับเวียดนามช่วงปี 2521-2522 อันมาจากสาเหตุที่เวียดนามบุกกัมพูชาโค่นฝ่ายพอลพต ที่จีนสนับสนุนในเดือนธันวาคมปี 2521 และจีนทำสงครามสั่งสอนเวียดนามเป็นการตอบโต้ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2522

ลาวนั้นไม่มีทางเลือก นอกจากจะต้องประกาศตัวสนับสนุนเวียดนามซึ่งทำให้ลาวต้องขัดแย้งกับจีนไปด้วย

การที่เวียดนามมีปัญหาขัดแย้งกับรัฐบาลพอลพตในกัมพูชาถึงขั้นต้องใช้กำลังเข้าล้มล้างรัฐบาลพอลพตอย่างอุกอาจและการที่ลาวยังคงกองกำลังทหารอยู่ในลาวต่อไป เป็นสาเหตุที่สำคัญ ที่ทำให้ผู้นำของไทยเชื่อว่า เวียดนามมีเจตจำนงที่จะครอบงำทั้งลาวและกัมพูชา ไม่ว่าจะภายใต้ชื่อสหพันธ์อินโดจีนหรือความสัมพันธ์ "พิเศษ" ที่เวียดนามลาวและกัมพูชาของเวียดนามอ้างก็ตาม

พฤติกรรมของเวียดนามจากอดีตถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้นำไทยแทบทุกยุคมีความหวาดระแวงและ ไม่ไว้วางใจเวียดนาม ไทยค่อนข้างจะปักใจเชื่อว่าลาวนั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของเวียดนามอย่างเต็มตัวแล้ว ผู้นำไทยมองว่าลาวไม่เป็นตัวของตัวเอง

เพราะฉะนั้นพฤติกรรมและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดการกระทบกระทั่งตามพรมแดนไทย-ลาว ที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งหลายหนนับตั้งแต่ลาวเปลี่ยนระบอบ เมื่อปี 2518 จนปัจจุบัน มักจะถูกเพ่งเล็งโดย ผู้นำไทยส่วนมากว่า เกิดจากการยุยงหรือยั่วยุของเวียดนามที่หวังผลจะให้ไทยและลาวแตกแยกกันหรืออีกประการหนึ่งเกิดจากความปรารถนาของผู้นำลาวคอมมิวนิสต์เองที่มองไทยเป็นศัตรูคู่อริที่สร้างความเจ็บช้ำให้กับลาวตลอดประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งชาติของพวกเขาก็เป็นได้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us