"เจริญโภคภัณฑ์อาหาร"โชว์กำไรไตรมาสแรก 762 ล้านบาท โตขึ้น 8%
โดยเป็นกำไรจากธุรกิจหลักถึง 71% ระบุไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเข้มงวดตรวจสารตกค้างไก่และกุ้งจากอียู
ประกาศจ่ายปันผลประจำไตรมาสหุ้นละ 0.11 บาท เผยไตรมาส 2/2545 ยอดขายกุ้งและไก่จะขยับเพิ่มขึ้นอีก
20% พร้อมแนะเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งหันมาเข้าร่วมโครงการโปรไบโอติค
ฟาร์มมิ่งแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อแก้ปัญหาสารตกค้างในกุ้ง คาดว่าทั้งปีตลาดกุ้งจะไม่ขยายตัว
แต่ทรุดลง 10% เนื่องจากราคาตกต่ำและปัญหาสารตกค้าง
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร
จำกัด (มหาชน)หรือ CPF เปิดเผย ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ของปี 2545 บริษัทฯมีกำไรสุทธิ
762 ล้านบาท
เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 707 ล้านบาท
โดยเป็นกำไรจากการดำเนินงานในธุรกิจหลักทั้ง จากยอดขายในประเทศและส่งออกถึง
71%
ซึ่งเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรจากการดำเนินงานเพียง 445 ล้านบาทและมีกำไรจากการขายเงินลงทุนหุ้นสยามแม็คโครจำนวน
262 ล้านบาท
สาเหตุที่ไตรมาสนี้บริษัทฯมีกำไรเพิ่มขึ้นเกิดจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น 12
% โดยมีจำนวน 17,610 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนมียอดขาย 15,709
ล้านบาท นอกจากนี้การ ส่งออกที่เพิ่มขึ้น
รวมถึงการลดต้นทุนการผลิตส่งผลให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายทางด้านการเงินและการดำเนินงานลดลง
ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทฯจึงมีมติให้จ่ายเงินปันผลประจำไตรมาส 1/2545 ในอัตราหุ้นละ
0.11 บาท เพิ่มขึ้นช่วงเดียวกันของปีก่อนที่จ่ายปันผลหุ้นละ 0.10 บาท โดยจะดำเนินงานจ่ายในวันที่
12
มิถุนายนนี้ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯจะขึ้นเครื่องหมาย XD ใน วันที่ 22 พฤษภาคมศกนี้
นายชิงชัย โลหะวัฒนะกุล กรรมการ ผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท
เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ราคากุ้งได้ขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบจากปลายปีที่ผ่านมา
โดยอยู่ที่ระดับ 230 บาท/50ตัวกิโลกรัม คาดว่าในไตรมาส 2-3 ราคากุ้งจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าไตรมาสแรก
ทำให้ยอด ขายกุ้งของ CPF น่าจะเติบโตอีกไม่น้อยกว่า 20%
โดยทั่วไปราคากุ้งในไตรมาสแรกจะค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับไตรมาสอื่น เนื่องจากสภาพอากาศไม่เหมาะแก่การเลี้ยงกุ้งเท่าใด
สำหรับยอดขายไก่คาดว่าจะดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดส่งออก ในไตรมาส 2/2545
น่าจะโตอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 20% ทำให้ยอดขาย ทั้งปีเป็นไปตามเป้าหมายที่ระบุไว้
82,000 ล้านบาท
โครงสร้างรายได้ของ CPF มาจาก พันธุ์สัตว์ 4% อาหารสัตว์บก 23% อาหารสัตว์น้ำ
13% เนื้อสัตว์จำหน่ายในประเทศ 35% เนื้อสัตว์บกเพื่อส่งออก 13% เนื้อสัตว์น้ำเพื่อส่งออก
9%และอื่นๆ 3%
แนะผู้เลี้ยงกุ้งเลิกใช้ยา
หันมาใช้โปรไบโอติคฯ
นายชิงชัย กล่าวถึงกรณีที่สหภาพยุโรปคุมเข้มการตรวจสารตกค้างในกุ้งและไก่จากไทยว่า
เชื่อว่าการส่งออกเนื้อไก่ไปสหภาพยุโรปไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากบริษัทฯควบคุม
ขั้นตอนการเลี้ยงไก่ได้
แต่ในส่วนกุ้งส่งออกไป อียูพบว่ามีระบบการเลี้ยงแตกต่างกัน แต่เมื่อรัฐบาลไทยห้ามนำเข้าสารดังกล่าวแล้ว
ทำให้ปัญหาสารตกค้างคลี่คลายลงได้
นอกจากนี้ CPF ได้แนะนำเกษตรกร ผู้เลี้ยงกุ้งไม่ให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะ แต่แนะนำให้ใช้โปรไอโอติค
ซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ยับยั้งการเกิดโรคกุ้งได้ เท่ากับเป็นการป้องกันแทนการรักษา
ทำให้เกษตรกรไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะผลการศึกษาพบว่ายิ่งใช้ยามากขึ้น
โรคจะดื้อยา ทำให้ปัญหาสารตกค้างในกุ้งหมดไป
โครงการโปรไบโอติค ฟาร์มมิ่ง ยังช่วยลดต้นทุนในการเพาะเลี้ยงกุ้งต่ำลงถึงกิโลกรัมละ
10 บาท และเปอร์เซ็นต์ความเสียหายลดลงเหลือแค่ 5-10% เท่านั้น ปัจจุบันมีเกษตรกร
เข้าร่วมโครงการโปรไบโอติค ฟาร์มมิ่งแล้วกว่า 2,000 บ่อในช่วงเวลา 2 เดือน
"ปัญหาสารตกค้างที่สหภาพยุโรปมีการตรวจเข้มงวดขึ้น คาดว่าคงจะไม่มีผลกระทบต่อบริษัทมากนัก
เนื่องจากว่าบริษัทส่งกุ้งไปยังยุโรปเพียงแค่ 6% เท่านั้น"
ในช่วงไตรมาสแรกนี้ การเลี้ยงกุ้งของไทยลดลง 20% เนื่องจากราคาตกลง เป็นผลจากกุ้งขาวมีราคาถูกกว่ากุ้งกุลาดำถึง
10% และปัญหายาตกค้าง ทำให้เกษตรกรกังวลในเรื่องดังกล่าว
ซึ่งเชื่อว่าตลอดทั้งปีธุรกิจกุ้งกุลาดำน่าจะทรุดตัวไปอีก 10% แต่ถ้ารัฐสามารถเจรจากับอียูเกี่ยวกับการผ่อนปรนมาตรการคุมเข้มการตรวจสารตกค้างได้
ก็จะทำให้ตลาดกุ้งของไทยดีดตัวขึ้น
ส่วนค่าเงินบาทในช่วงนี้แข็งค่าขึ้นนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อCPF เนื่องจากบริษัทฯมีการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์เพียง
15% ของวัตถุดิบที่ใช้ และส่งออกเนื้อสัตว์บก-น้ำคิดเป็น
20%ของยอดขายรวมแต่ปีนี้บริษัทตั้งเป้าส่งออกเนื้อสัตว์บกและสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นเป็น
24-25% ของยอดขาย สูงกว่าปีก่อนที่มียอดส่งออกเพียง 21%
นายชิงชัย กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้บริษัทจะเริ่มโครงการใหม่ 2 โครงการ คือ
การเพาะเลี้ยง ปลาทับทิมเพื่อส่งออก โดยจะส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศ
คาดว่าจะสร้างรายได้ระยะเริ่มแรกปีละ 112 ล้านบาท
"ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาจากราคาหุ้นและผลตอบแทนจากการจ่ายเงิน
ปันผลพบว่าหุ้น CPF สามารถให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยปีละ 47% ซึ่งเหมาะสมสำหรับการลงทุนระยะยาว
คุ้มกว่านำเงินไปฝากกับธนาคาร พาณิชย์"