|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2531
|
|
ถ้าจะบอกว่า ความยากจนไร้การศึกษา ทำให้คน ๆหนึ่ง - ขาดหรือสูญเสียโอกาสที่จะประสบความสำเร็จแล้ว ความคิดเช่นนี้คงใช้ไม่ได้กับ "วิเชียร เผอิญโชค" ประธานกรรมการไทยรุ่งยูเนียนคาร์อย่างแน่นอนที่สุด
วิเชียร เป็นลูกคนจีนที่เกิดในเมืองไทย เดิมแซ่จึง เขาเกิดที่พนัสนิคม ชลบุรี เมื่อปี 2459
พ่อแม่ของเขามีอาชีพทำสวนยางที่มีฐานะยากจน อายุได้เพียง 9 ขวบพ่อก็เสียชีวิต เขาต้องทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเอง แม่และน้องสาวคนเดียว ซึ่งนั่นทำให้ไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดมาก่อนเลย
เมื่อย่างเข้าวัยรุ่นอายุ 18 ปี วิเชียรเดินทางจากเมืองน้ำเค็มเข้ามาเสี่ยงโชคในกรุงเทพฯ เริ่มต้นจากหาบผลไม้ขายเร่ร่อน ไปตามถนนสายต่าง ๆ จากนั้นหันมารับจ้างปั่นสามล้ออยู่แถวเยาวราช
และนี่คือจุดเริ่มที่ทำให้วิเชียรสนใจเรื่องรถ และทำให้วิเชียรรู้จักผู้ยิ่งใหญ่ในวงการธุรกิจในเวลาต่อมาหลายคน
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 วิเชียรได้รู้จักกับชิน โสภณพนิชที่ขณะนั้นมีกิจการค้าไม้ของตนเองชื่อ เซียมเฮงล้ง อยู่ที่ยศเส
"ผมขี่สามล้ออยู่ ตอนแกอยู่โรงกระดาน พอตกเย็นแกต้องบุ๊คสามล้อของผมกลับบ้านทุกที" วิเชียรเล่าให้ฟังถึงอดีตเมื่อครั้งที่เขารู้จักกับ "นายห้างชิน"
นอกจากขับสามล้อรับจ้างในตองกลางวัน ช่วงว่าง ๆ วิเชียรยังหาลำไพ่พิเศษด้วยการขับแท็กซี่ และขายของหน้าร้านพร้อม ๆ ไปด้วย
และใกล้ ๆ กับร้านที่วิเชียรขายของอยู่เป็นโรงรับจำนำของโหงวเล้า เตชะไพบูลย์ (แต้จูเปี้ยน) พ่อของอุเทน เตชะไพบูลย์ ประธานกลุ่มเตชะไพบูลย์คนปัจจุบัน
"ผมขายของตอนเย็น ๆ ทีไร แม่คุณอุเทนต้องเรียกผม "เชียรเอ๊ย! มากินข้าวต้มด้วยกันมั้ย" ทุกที วิเชียรกล่าวถึงความเอื้ออารีที่คนในตระกูล "เตชะไพบูลย์" มีต่อเขา
วิเชียรเริ่มศึกษาฝึกฝนเรื่องชิ้นส่วนการประกอบรถยนต์ที่อู่รถยนต์แห่งหนึ่ง หลังจากนั้น เขาได้เข้าทำงานเป็นลูกจ้างร้าน "ตั้งท่งฮวด" ของถาวร พรประภา และเมื่อถาวรตั้งสยามกลการ ก็ชวนวิเชียรไปอยู่ด้วย
วิเชียรทำงานอยู่ในแผนกรถเก่าของสยามกลการได้ไม่นานเขาก็ลาออกมาอยู่กับมิตซูบิชิซึ่งเพิ่งจะได้เป็นเอเย่นต์รถอีซูซุในประเทศไทย และจากจุดนี้เองที่วิเชียรเริ่มพลิกผันชีวิตจาก "ลูกจ้าง" มาเป็น "เถ้าแก่" หรือ "นายจ้าง" ที่เขาใฝ่ฝันมานาน
วิเชียร เริ่มกิจการของตัวเองด้วยการตั้ง "ชัยเจริญกิจมอเตอร์ส" เป็นเอเย่นต์แห่งแรกของรถอีซูซุในกรุงเทพฯ แต่เผอิญไม่ประสบความสำเร็จ ความล้มเหลวคราวนั้นทำให้เขาเริ่มได้คิดว่าตัวเขาคงจะเหมาะกับงานด้านช่างมากกว่างานด้านการตลาดและการขาย วิเชียรก็เลยตัดสินใจกระโจนเข้าจับงานที่นำพาความรุ่งเรืองมาสู่เขาจนทุกวันนี้
วิเชียรเข้ามาในอุตสาหกรรมด้านการผลิตอย่างเต็มตัวโดยเริ่มจากไทยรุ่งวิศวกรรมไทยรุ่งยูเนียนคาร์ และไทยรุ่ง วี พี คอร์ปอเรชั่น ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็น ไทย วี พี คอร์ปอเรชั่น เมื่อไม่นานมานี้ตามลำดับ
"ก็คงเพราะ "รุ่ง" คือรุ่งเรือง ที่คนจีนเขาเรียกว่า "เฮงเส็ง" มั้ง วิเชียรบอก "ผู้จัดการ" ถึงการที่เขาใช้คำว่า "ไทยรุ่ง" เป็นชื่อบริษัทของเขามาตลอด
ซึ่งคนที่ทำให้วิเชียร "รุ่ง" มาจนทุกวันนี้ ต้องให้เครดิตกับคนที่ชื่อ "ปราณี เผอิญโชค" อย่างมากด้วย
ปราณีเป็นคู่ชีวิตของวิเชียรที่น่าจะต้องบอกว่าเป็นคู่ทุกข์คู่ยาก ปราณีบ้านเดิมอยู่ที่ถนนเลิศพัฒนา โพธาราม ราชบุรี เกิดในครอบครัวที่มีฐานะปานกลางไม่ร่ำรวยนัก มีพี่น้อง 13 คน ทำให้เรียนหนังสือได้ไม่มาก ก่อนพบวิเชียรปราณีเปิดร้านเสริมสวยหาเลี้ยงครอบครัวอยู่ก่อน
"รู้จักกันมาก่อน ชอบ ๆ กัน ผมก็เลยขอแต่งงาน ไม่มีอะไรมาก" วิเชียรเล่าถึงความรักของเขา แบบง่าย ๆ แต่ได้ใจความ
ปราณีไม่ได้เข้ามาช่วยวิเชียรแต่แรก ตอนที่เขาเป็นเอเย่นต์ขายรถให้อีซูซุ ปราณียังทำงานที่ร้านเสริมสวยของตัวเองอยู่ จนไทยรุ่งวิศวกรรมมีปัญหาและเลิกกิจการนั่นแหละ ปราณี จึงโดดเข้ามาช่วยวิเชียรสร้างธุรกิจของครอบครัวอย่างเต็มตัว
ปราณีนั้นเข้ามาถมจุดอ่อนของวิเชียรได้พอดี ปราณีเข้ามาคุมงานด้านบัญชี การเงินและการบริหารทั่วไปทั้งหมด ทำให้วิเชียรสามารถทุ่มเทความสามารถทางด้านช่างทั้งหมดของเขา ไปกับการออกแบบ ดูแลความเรียบร้อยทางโรงงานได้อย่างเต็มที่
วิเชียร-ปราณี มีลูกชาย 3 คนลูกสาว 1 คน ซึ่งทุกคนวิเชียรตั้งความหวังไว้อย่างสูงที่จะให้รับช่วงต่อกิจการของครอบครัวจากเขา
ลูกชายคนโต - ชาตรี ตอนนี้อายุย่างเข้าสามสิบ เริ่มต้นการศึกษาที่เซ็นจอห์น ต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนยอโซฟอุปถัมภ์ และปานะพันธ์ตามลำดับ ศึกษาต่อด้านอาชีวศึกษาที่โรงงานชูโอโคกักโก โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันดูแลบริษัท ไทย วี พี คอร์ปอเรชั่น
สมพงษ์ ลูกคนที่สองที่หลายคนมองว่าเขานี่แหละที่จะสืบทอดกิจการต่อจากพ่อของเขา สมพงษ์จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ปริญญาตรีบริหารงานบุคคล คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ธรรมศาสตร์ แล้วไปเรียนต่อปริญญาโทวิศวอุตสาหกรรมที่ KEIO UNIVERSITY ประเทศญี่ปุ่น สถาบันเดียวกับ "ซามูไรโหด" สมหมาย ฮุนตระกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ส่วนลูกสาวแก้วใจ จบเศรษฐศาสตร์จากออสเตรเลียทำงานอยู่บริษัทที่ปรึกษาทางบัญชีเก่าแก่ และมีชื่อเสียง COOPERS & LYBRAND ซึ่งคาดว่าจะกลับมาช่วยงานทางด้านบัญชีของครอบครัวเร็ว ๆ นี้
และวุฒิชัย ลูกชายคนสุดท้องกำลังเรียนอยู่ที่เตรียมอุดมศึกษา ที่เปรียบเสมือนคนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวมาเสริมสร้างความมั่นคง และมั่นใจให้ไทยรุ่งฯ ตลอดไปอย่างไม่ขาดสาย
ไทยรุ่งฯ มีวันนี้ได้เพราะแรงทุ่มเทที่วิเชียรมีให้กับงานมาโดยตลอด วิเชียรไม่เคยลืมอดีตที่เคยยากจนมาก่อน แต่สิ่งที่เขาถือเป็นจุดยืนในการดำรงชีวิตในสังคมคือ เขาไม่เคยพยาบาทอาฆาตมาดร้ายใครไม่ชอบคำพูดที่ว่า "มีแค้นต้องชำระ" หรือ "ชายชาตรีล้างแค้นสิบปีไม่สาย"
"ชีวิตคนไม่แน่นอน ปุบปับก็ไปแล้ว มันเหมือนก้อนเมฆตอนนี้อยู่ตรงนี้ เดี๋ยวเดียวไม่รู้ไปไหน คนที่เคยทำไม่ดีกับเรา เราเก็บเอาไว้ ก็ไม่สบายใจเอง ไม่มีประโยชน์" วิเชียรยกตัวอย่างให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
ด้วยเหตุนี้เอง วิเชียรจึงมีความสุข กับการต้อนรับขับสู้เพื่อนฝูง หรือคนที่รู้จักเมื่อเขายังยากจนอยู่อย่างเป็นกันเอง และให้ความช่วยเหลือในทุกด้านที่เขาสามารถทำได้
"ผมมันฝึกมา มันมีวงกว้างทำเป็นได้ทุกอย่าง คนที่ฝึกมารู้กว้างแต่ไม่ลึก ไม่เหมือนปัจจุบันที่เขาเรียนมา เป็นวงแคบเรียนมาโดยเฉพาะเจาะได้ลึกเทคนิคสูงขึ้น ทำให้เขาได้เปรียบคนที่ฝึกมา" วิเชียรกล่าวถึงปัจจัยในความสำเร็จที่ผ่านมา และยังมองถึงความเสียเปรียบของตัวเขากับคนรุ่นปัจจุบัน
วิเชียรวันนี้เริ่มผ่องถ่ายอำนาจที่เขามีอยู่ และถอนตัวออกมาทีละนิดแล้ว เพื่อที่จะให้ลูก ๆ ของเขาได้สืบทอดกิจการแทน
และก็เป็นยุคที่ลูก ๆ เริ่มดึงมืออาชีพพร้อมกับปรับการบริหารเข้าสู่ยุคใหม่
ไทยรุ่งฯ รุ่งขึ้นมาได้เพราะวิเชียร-ปราณี เป็นกำลังหลัก ไทยรุ่งฯ ยังจะรุ่งต่อไปหรือไม่ เป็นหน้าที่ที่ทายาทของวิเชียร-ปราณี จะต้องช่วยกันตอบคำถามนี้แล้ว?
|
|
|
|
|