Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2531
หนี้(เสีย) 700 ล้าน วังน้ำฝน เมื่อแบงก์กรุงเทพถูก "หมู" ขวิดจนอ่วม และแล้วก็ต้องขายผ้า เอาหน้ารอด ??             
โดย ธนธรณ จันทรนิมิ
 

   
related stories

ชูศักดิ์ หิมะทองคำ เขาติดกับดักตัวเองแท้ ๆ

   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารกรุงเทพ

   
search resources

ธนาคารกรุงเทพ, บมจ.
Agriculture
ชูศักดิ์ หิมะทองคำ
พิเชษฐ์ เหล่าเกษม
วังน้ำฝน




ธุรกิจเกษตรสมัยใหม่ของ "วังน้ำฝน" ที่กลายเป็นน้ำกรดแช่เย็นราดรดใจแบงก์กรุงเทพให้ขบคิดอย่างหนัก ถึงจะไม่ใช่โศกนาฎกรรมใหญ่ของแบงก์นี้ก็ตาม ทว่าก็เป็นเรื่องสุดเศร้าอีกบทหนึ่งในตำนานเจ้าหนี้-ลูกหนี้ โดยเฉพาะข้อแปลกแยกของกรณีนี้ที่เกิดขึ้นเพราะกุศลกรรมในเชิงธุรกิจแท้ ๆ เทียว !!!

พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยวได้บ่งชัดนับครั้งไม่ถ้วนแล้วว่า เจ้าสัตว์สี่เท้าที่ถูกเรียกอย่างดูถูกดูแคลนว่า "หมู" นั้นคือที่มาของปัญหาหลากหลายรูปแบบที่ชวนให้ปวดเศียรเวียนเกล้าไม่รู้หยุดหย่อน

ความสัมพันธ์ของ "คน" กับ "หมู" ซึ่งตัดกันไม่ตาย ขายกันไม่ขาด ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าหลายขวบปีมานี้หลายคนได้กินบุญหมูจนร่ำรวย มีอำนาจวาสนาขึ้นมาทันตาเห็น หลายคนที่อิ่มหมีพีมันไปกับการสวาปามผลประโยชน์ที่เคลือบแฝงในรูปแบบต่าง ๆ จนแทบจะมีสรีระคล้ายกับหมูเข้าไปทุกวี่วัน

และแน่ล่ะว่ามีไม่น้อยเหมือนกันที่โดนหมู "ไล่กัด" จนแทบจะเสียผู้เสียคนมาแล้ว !!!

ดังนั้น ไม่ว่าจะอะไรที่เกี่ยวพันกับ "หมู" จึงไม่ใช่เรื่องพึงเลินเล่อว่ามันจะง่ายไปเหมือนอย่างใจคิด ถึงจะละเอียดรอบคอบเชี่ยวชาญสักปานไหนก็ไม่แน่ว่าอาจมีจุดอันตรายที่จะถูกขบกัดได้ทุกเมื่อ วิกฤติการณ์หนี้สินที่โถมทับจนหลังแทบแอ่นที่เกิดขึ้นแล้ว กับบริษัทวังน้ำฝน จำกัด น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้พึงสังวรณ์อีกคำรบหนึ่ง

วังน้ำฝนโดดเข้าจับโครงการเลี้ยงหมูด้วย ความตั้งใจแรงกล้าที่จะแบ่งสรรปันผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรอย่างงดงามที่สุด จุดเริ่มต้นที่ดูสวยหรูด้วยความร่วมมืออย่างพรักพร้อมจากแบงก์กรุงเทพ คงไม่มีใครนึกคิดหรอกว่า...

ถึงวันนี้บทสรุปของเรื่องทำไมจะต้องกลายเป็นความเศร้าสลดหดหู่อย่างเหลือประมาณ ???

จุดที่ใกล้จบของซากชีวิตที่ไร้วิญญาณอย่างวังน้ำฝนคงไม่สิ้นสุดเพียงแค่เรื่องการฟ้องร้องบังคับหนี้สินร่วม 700 ล้านที่แบงก์กรุงเทพจำต้องทำใจ "เชือด" ลูกหนี้ที่มองเห็นแล้วว่าไม่มีทางจะปลดแอกหนี้สินได้สำเร็จด้วยความปวดร้าวเหน็บลึกในใจเท่านั้น เพราะลึก ๆ ของเรื่องนี้ไม่รู้เหมือนกันว่าแบงก์กรุงเทพถูกหลอกให้หน้าแหกอย่างจังอีกครั้งหรือเปล่า???

ที่สุดงานนี้ "หมู" ได้กลายเป็นฆาตรกรเลือดเย็นที่มาร่วมตัดสินชะตากรรมอนาคตคนบางคนให้ดับวูบในชั่วพริบตา มันเกิดขึ้นแล้วและเป็นคำถามต่อไปอีกว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นอีกครั้งไหมกับใครก็ได้ที่พลัดหลงเข้ามา !!??

ความเป็นมา

"ความสำเร็จของงานหนึ่งไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จบอกถึงความรุ่งโรจน์ของงานอื่นเสมอไป"

กฎแห่งความไม่เที่ยงแท้ที่ดีที่สุดสำหรับการอธิบายกรณีของวังน้ำฝน ซึ่งเกิดขึ้นเป็นจริงเพราะความเชื่อมั่นสูงสุดทั้งแบงก์และคนลงทุนที่มองเห็นความสำเร็จอย่างน่าชื่นใจมาแล้วกับโครงการเกษตรกรรมสมบูรณ์แบบบ้านหนองหว้า อ.พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา

โครงการหนองหว้าเป็นความร่วมมือกันของแบงก์กรุงเทพกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี.)

ที่เข้าไปดำเนินโครงการเลี้ยงหมูในรูปแบบสหกรณ์จนสามารถปันผลกำไร/ปี ให้กับเกษตรกรและเจ้าโครงการอย่างมหาศาล กระทั่งกลายเป็นแม่แบบของงานพัฒนาธุรกิจเกษตรและปศุสัตว์สมัยใหม่ในที่สุด

วังน้ำฝนย่ำรอยเดิมด้วยการร่วมมือกับแบงก์กรุงเทพ จัดสร้างโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมแห่งใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 แห่งในปี 2523 คือที่หมู่บ้านเกษตรกรรมทรายขาว และหมู่บ้านเกษตรกรรมลาดตะเคียน 1 และ 2 อ.วังน้ำเย็น จ. ปราจีนบุรี ซึ่งที่นี่ก่อนหน้านี้ทางวังน้ำฝนได้ไปลงทุนปลูกพืชไร่ (ข้าวโพด) และไซโลไว้ก่อนแล้ว นับเป็นการปูพื้นที่ไม่เลวนักเพราะเมื่อฟาร์มหมู่เสร็จก็สามารถป้อนอาหารสัตว์ที่เป็นผลพลอยได้จากพืชไร่เข้าไปเลี้ยงได้ทันทีทันควัน

ความแตกต่างในสองโครงการของวังน้ำฝนกับหนองหว้าอยู่ตรงที่ "ตัวเกษตรกร" ที่เข้าไปดำเนินงาน วังน้ำฝนได้ขอความร่วมมือจากองค์การทหารผ่านศึกเป็นคนคัดเลือก ทหารพิการจากสงครามเข้ามาเป็นแรงงาน (เริ่มงานในปีงบประมาณ 2525) จำนวน 228 ราย (ทรายขาว 84 ราย ลาดตะเคียน 1, 2, 104 และ 40 รายตามลำดับ)

วังน้ำฝนนอกจากมองความสำคัญของทหารพิการเป็นตัวสร้างภาพพจน์ดีงามแก่บริษัทแล้วนั้น อาจเป็นไปได้อีกประการหนึ่งว่า คงมีความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวทหารเหล่านั้นว่าถึงแม้จะปลดประจำการแล้วก็ตาม แต่ค่าที่เคยอยู่ในกฎระเบียบวินัยคงเป็นคนที่มีคุณภาพพอที่จะเสริมศักยภาพความสำเร็จให้สูงยิ่งไปกว่าหนองหว้า

ด้วยมูลเหตุนี้กระมังวังน้ำฝนจึงกล้าพอที่จะทำสัญญา ชนิดอัตราเสี่ยงค่อนข้างสูงในลักษณะผูกมัดตัวเองหลายข้อ เช่น หนึ่ง- ยินยอมจัดหาที่ดิน 6,000 ไร่ ให้กับครอบครัวทหารแทนที่จะใช้ที่ดินในส่วนของกองนิคมอุตสาหกรรมขององค์การทหารผ่านศึก สอง-ยินดีสร้างบ้านพักราคาหลังละ 120,000 บาท และโรงเรือนเลี้ยงหมูหลังละ 430,000 บาทให้ก่อน สาม- เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ที่ทหารผ่านศึกกู้จากแบงก์มารายละ 1,000,000 บาท สี่ - พร้อมประกันรายได้ขั้นต่ำ 2,000 บาท/เดือน/ครอบครัว ในระยะเวลานานถึง 10 ปี

ที่กล่าวว่าสัญญานี้นักลงทุนอย่างวังน้ำฝน มีความเสี่ยงสูงเนื่องเพราะ หนึ่ง- วังน้ำฝนเพิ่งเริ่มดำเนินกิจการ ทว่าแผนปฏิบัติการที่ปรากฏออกจะรุกคืบอย่างหนักหน่วย ด้วยความมั่นใจสูงว่าไม่น่าพลาด ทั้ง ๆ ที่ตลาดหมูนั้นหลายคนบอกว่ามันผกผันอยู่เป็นนิจ สอง - ระยะเวลาสัญญาที่ผูกพันกันถึง 10 ปี แบบว่าจ้างทหารผู้เดียวมองแล้วเหมือนกับปิดตาแก้ปัญหาแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากหากเกิดความไม่ชอบมาพากลใด ๆ ขึ้นมาสภาพการณ์อิหลักอิเหลื่อมีความเป็นไปได้มากที่จะเกิดกับวังน้ำฝน

"วังน้ำฝนคงมั่นใจมากถึงกล้าทำอย่างนี้ เอากันง่าย ๆ แค่บ้านพักและโรงเรือนผมไปเห็นแล้วคิดว่ามันเหมาะสมกับเกษตรกรศักดินาเสียมากกว่า ดูแล้วเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ โดยไม่จำเป็น หรืออย่างจำนวนเกษตรกร 6 คน ต่อการเลี้ยงแม่พันธุ์ 36 ตัวนั้นก็มากเกินไป สองคนหรือสามคนก็พอแล้ว" คนที่เคยเข้าไปดูงานที่ทรายขาวมาแล้วเล่าให้ฟัง

งานนี้จึงเป็นเรื่องที่ทหารมีแต่ได้กับได้อย่างที่อีกกี่สิบปีสิบชาติยังไม่รู้เลยว่าจะพานพบอย่างนี้อีกไหม? ส่วนวังน้ำฝนนอกจากเชื่อมั่นเด็ดเดี่ยวในกุศโลบายของตนว่าจะสอดคล้องไปได้ดีกับผลตอบแทนทางธุรกิจแล้วนั้น บางคนตั้งข้อสงสัยเพิ่มว่าเป็นเพราะปรารถนาแรงกล้าที่จะอุทิศตัวเพื่อสังคม จึงต้องทำให้กลายเป็น "หมูรองบ่อน" ที่ถูกมัดมือชกโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว???

นอกจากสองโครงการนี้แล้ว วังน้ำฝนยังได้กู้เงินอีกจำนวนหนึ่งจากแบงก์กรุงเทพนำไปดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้อีกที โครงการส่งเสริมพืชไร่วังน้ำเย็น จ.ปราจีนบุรี โครงการเกษตรกรรมวังน้อย จ. อยุธยา และโครงการเกษตรกรรมคลอง 13 จ. ปทุมธานี ในระยะเวลาไม่ห่างกันนัก

ตอนนั้น ๆ แม้แต่ซีพี. ที่เป็นยักษ์ใหญ่ก็ยังมองวังน้ำฝนด้วยความน่าทึ่งอยู่ในทีไม่น้อย แบงก์กรุงเทพเองก็ครึ้มอกครึ้มใจว่าวังน้ำฝนจะเป็นตัวเปิดเกมรุกสินเชื่อเกษตรที่น่าครั่นคร้าม และตัววังน้ำฝนเองก็ฝัน ๆ ว่า อีกไม่นานจะก้าวขึ้นสู่ทำเนียบผู้นำธุรกิจด้านนี้ให้จงได้

อะไร ๆ มันช่างดูดีไปเสียหมด ดีเสียจนไม่อยากจะรู้สึกว่ามันกำลังจะเป็นจุลไปแล้วในปัจจุบัน !!

แบงก์กรุงเทพนั้นภูมิใจมากกับสินเชื่อเกษตรที่ตัวเองจุดพลุขึ้นมาเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน เพราะ ถือเป็นการช่วยเหลือกระดูกสันหลังของประเทศให้กินดีอยู่ดีโดยแท้ กล่าวกันว่าวงเงินสินเชื่อส่วนนี้ ของแบงก์เทียบได้กับสินเชื่อทั้งระบบของแบงก์ขนาดกลางแห่งหนึ่งเลยทีเดียว

ใครที่คุมงานนี้ถือเป็นการอุ่นเครื่องก่อนก้าวไปสู่ชั้นยศ EVP มองจากพื้นฐานนี้ถึงคนที่มีใบ รับรองว่าเป็นอดีตนายธนาคารยอดเยี่ยมแห่งปี คนที่ย้ำถึงการอุทิศชีวิตเพื่อแบงก์เพียงสถานเดียว และยังช่ำชองกับงานนี้มาแล้วอย่าง ชูศักดิ์ หิมะทองคำ เขาน่าจะอยู่ในข่ายความก้าวหน้านี้อย่างเต็มเปี่ยม!!??

ชูศักดิ์เกิดและมีชื่อเสียงขึ้นมาพร้อมกับสินเชื่อเกษตรโดยแท้เทียว กระทั่งเมื่อใหญ่ขึ้นในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่าย พร้อมกับริเริ่มโครงการหนองหว้าจนเป็นที่ระบือลือนาม ชื่อของเขาเหมือนถูกกล่าวขวัญไปในทางที่ดีมากว่า ตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ร้อยเอาร้อยมีหรือจะพ้นมือเขาไปได้???

เขาในขณะนั้นเปรียบดั่งม้าศึกคึกคะนอง ยิ่งเจ้าของคอกอย่าง ชาตรี โสภณพนิช คอยเกื้อหนุนเป็นกำลังใจและปล่อยให้โลดแล่นเต็มที่เพื่อพัฒนาสินเชื่อเกษตรที่ถูกกำชับจากแบงก์ชาติว่า แบงก์พาณิชย์ทุกแห่งต้องปล่อยสินเชื่อนี้ 13% ของเงินฝากทั้งหมด ในฐานะผู้นำเขาและแบงก์กรุงเทพย่อมจะพบกับความพ่ายแพ้ไม่ได้เด็ดขาด -(อ่านเพิ่มเติมเรื่องชูศักดิ์ใน "รายงานผู้จัดการ")

ไม่นับโครงการขนาดใหญ่เช่นหนองหว้าที่ปล่อยเงินกู้แก่ ซีพี. เป็นเงินหลายร้อยล้านบาท แบงก์กรุงเทพและชูศักดิ์ยังได้อำนวยความสะดวกด้านนี้แก่เกษตรกรรายอื่น ๆ นับเป็นเงินร่วมหมื่นล้านบาท เรียกได้ว่าสินเชื่อเกษตรบัวหลวงชูช่ออรชรไปทั้งแผ่นดินก็ว่าได้

แล้วเพราะความสำเร็จอย่างชื่นมื่นของหนองหว้านั่นล่ะที่ทำให้ชูศักดิ์รู้สึกนึกคิดว่า เขาน่าจะ รังสรรค์โครงการแบบนี้ขึ้นมาอีก และครั้งนี้ก็ควรทำให้เป็นธุรกิจเกษตรครบวงจรอย่างสมบูรณ์แบบ 100% เสียที !! คนที่รู้จักชูศักดิ์ดีบอกว่า "เขาฝันว่าเมืองไทยจะต้องมีอย่างคิบบุทซ์ของอิสราเอลสักแห่งหนึ่ง ยิ่งเมื่อได้ใจจากหนองหว้าจึงกระโจนใส่วังน้ำฝนโดยไม่กลัวเกรง"

วังน้ำฝนเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาโดย พิเชษฐ์ เหล่าเกษม ซึ่งเป็นคนเดียวกับพิเชษฐ์ของซีพี. ที่ควบคุมบริหารงานให้กับหนองหว้าจนรุ่งเรืองคนเราลองเมื่อเห็นฝีไม้ลายมือกันยิ่งกว่าไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่อย่างชูศักดิ์ - พิเชษฐ์ นั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดที่ชูศักดิ์จะกล้าตัดสินใจอำนวยเงินสินเชื่อให้กับวังน้ำฝนเป็นเงินร่วม 400 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการธุรกิจเกษตรที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่แบงก์เคยช่วยเหลือมา !!

"ผมมองพิเชษฐ์อย่างชื่นชมความสามารถของเขา เขาร่วมงานกับ ซีพี. มาเกือบ 10 ปี จนแทบจะอ่านเกมธุรกิจนี้ได้ทะลุปรุโปร่ง เขาเป็นคนที่มีอัธยาศัยดี เราพูดคุยกันรู้ในทุกเรื่อง ที่ผมช่วยเขา เพราะเราเชื่อถือกัน" ชูศักดิ์เคยบอกกับ "ผู้จัดการ" ถึงเหตุผลที่เขากล้าเสี่ยงปล่อยเงินกู้มโหฬารถึงขนาดนั้น

มันคงเป็นสัญญาสุภาพบุรุษที่มีรากฐานแน่นหนักจากความเชื่อมั่นว่า ไม่มีภูเขาลูกไหนที่คนปีนป่ายไปไม่ถึง และไม่ใช่เรื่องยากที่คนตั้งใจจริง 2 คน จะพัฒนาเกษตรกรขึ้นมาให้เป็นคนที่มีลมหายใจกระจายได้ทั่วท้องเฉกเช่นคนอื่น ๆ ในสังคม !!!

พิเชษฐ์จบปริญญาตรี พาณิชยศาสตร์และการบัญชี จากจุฬาฯ เคยทำงานกับบริษัท ดีไซน์ ไทย ก่อนที่จะย้ายไปอยู่กับซิงเกอร์ที่กินเวลาไม่นานนัก จากนั้นจึงลาออกไปเรียนต่อ เอ็มบีเอ. ที่สหรัฐฯ จนจบแล้วเข้าฝึกงานในบริษัท อาร์.เบย์.เอเคอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตสุกรรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯและของโลก

ข้อต่อครั้งนั้นมีผลดีต่อชีวิตของเขามากเพราะ หนึ่ง - อาร์.เบย์.เอเคอร์ เลือกเขาเพราะมองเห็นแววเฉียบฉลาดว่าเขามีดีพอที่จะเป็นคนเปิดตลาดให้กับบริษัทในย่านเอเชีย ซึ่งพิเชษฐ์ก็ทำได้จริง ๆ ในเวลาถัดมาจนปัจจุบันนี้เขากินค่าหัวคิวจาก อาร์.เบย์.เอเคอร์. เดือนละหลายแสนบาท โดยไม่ต้องเหนื่อยแรงอีกแล้ว สอง- ที่นี่เขาได้พบกับ "เสี่ยกก" หรือ ธนินท์ เจียรวนนท์ นายใหญ่ของซีพี. ที่มีกิจธุระกับ อาร์.เบย์. เอเคอร์ เป็นประจำ เสี่ยกกชอบเขามากถึงกับเอ่ยปากชวนให้มาร่วมงานกับซีพี. ด้วยตนเอง

มันก็ไม่บ่อยครั้งนักหรอกที่คนชอบเลี้ยงนกพิราบอย่างเสี่ยกกจะไว้วางใจใครสักคนหนึ่งถึงเพียงนี้ !!!

ฟาร์มกรุงเทพเป็นธุรกิจหลักที่ ซีพี. ตั้งใจปลุกปั้นให้ยิ่งใหญ่เพื่อการเป็นผู้นำในตลาดปศุสัตว์ ซึ่งที่นี่พิเชษฐ์เข้าทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เป็นพระอันดับ 2 ที่มีอำนาจสั่งงานรองลงมาจากเสี่ยกก นอกจากนี้เสี่ยกกยังวางใจให้เขาเข้ามาช่วยเหลือเรื่องการเงินของกลุ่มบริษัทในเครือด้วย

เส้นทางเดินของคนหนุ่มเช่นเขาในบริษัทใหญ่ ๆ อย่างซีพี. สวยสดงดงามเสียนี่กระไร ว่าไปแล้วเขาก็ไม่ได้สร้างความผิดหวัง ในเวลาไม่กี่ปีที่เข้ามาทุกคนยอมรับว่าพิเชษฐ์เป็นหัวจักรในการขยายงานของฟาร์มกรุงเทพ จนครอบคลุมทั่วทุกปริมณฑลที่เหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์ รากฐานที่เขาสร้างให้กับฟาร์มกรุงเทพฯ เหนียวแน่นดุจตาข่ายทองคำ !!

แต่โครงการที่สร้างชื่อแก่เขามากที่สุดก็คือโครงการหนองหว้า ซึ่งเขาขบคิดและร่วมพัฒนามากับชูศักดิ์ของแบงก์กรุงเทพตั้งแต่ต้น ลุกน้องเก่าของเขาที่ซีพี. บอกว่าพิเชษฐ์ทุ่มเทสติปัญญาความสามารถ ที่มีอยู่ให้กับหนองหว้าราวกับเป็นชีวิตของเขาเองทีเดียว

พิเชษฐ์นอกจากจะเป็นคนที่มีอัธยาศัยดี นุ่มนวล เชื่อมั่นในตนเองสูงแล้ว ยังเป็นคนที่มีแนวคิดใหม่ออกมาเสมออย่างเรื่องสภาเกษตรแห่งชาติ ก็ว่ากันว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสูงคนหนึ่ง คงเป็นเพราะเหตุนี้จึงทำให้ ชาตรี โสภณพนิช อุ่นใจได้กับการปล่อยกู้ที่วงเงินดูจะสูงกว่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน???

เพราะความสำเร็จจากโครงการหนองหว้าทำให้คู่กรรม พิเชษฐ์ - ชูศักดิ์มองว่า ถึงที่สุดแล้วนั้น หนองหว้ายังได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ตั้งใจ สองคนนี้หวังมากที่จะเห็นสหกรณ์เกษตรในลักษณะคิบบุทซ์ของอิสราเอลปรากฎขึ้น และจากจุดนี้พิเชษฐ์จึงดีดตัวออกมาจาก ซีพี. ตั้งบริษัทวังน้ำฝน เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งก็มีผู้ใหญ่บางคนของ ซีพี. ไม่สู้พอใจที่เขาทำอย่างนี้

โครงการทรายขาวและลาดตะเคียนของวังน้ำฝนนั้น เมื่อพิเชษฐ์เสนอแนวคิดว่าจะนำทหารพิการเข้ามาเป็นเกษตรกรดูทุกคนจะชื่นชมกันมาก เนื่องจากการทำเช่นนี้เป็นการยิงนกด้วยกระสุนนัดเดียวแต่ได้นกถึงสองตัว คือ หนึ่ง- เป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดีงามว่า องค์กรธุรกิจชั้นนำ เช่นแบงก์กรุงเทพยังมองเห็นคุณค่าของทหารพิการ ที่เสียสละชีวิตจนทุพพลภาพ สอง- ยังมีหวังได้รับผลตอบแทนทางธุรกิจที่น่าจะคุ้มค่าอีกด้วย

แบงก์กรุงเทพและชาตรีแทบจะเออออห่อหมกไปเสียทุกอย่าง ยิ่งเห็นว่าพิเชษฐ์สามารถไปเช่าที่ดินจากกรมป่าไม้มาได้ในราคาถูกซึ่งน้อยคนนักที่จะเจรจาเอามาได้ก็ยิ่งตอกย้ำความมั่นใจเป็นทวีคูณ เมื่อผสมเข้ากับความเชี่ยวชาญของลูกน้องอย่างชูศักดิ์ แบงก์กรุงเทพก็คงไม่คิดอะไรมากไปกว่า...

ปล่อยให้เงินไปเที่ยว เดี๋ยวเดียวมันก็คงกลับมาเป็นสองเท่าสามเท่า !?

อย่างว่านั่นแหละถ้าทุกอย่างดีหมดดังใจคิดความวุ่นวายคงไม่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อมองวงเงินกู้ที่สูงกว่าหลักทรัพย์ค้ำประกันที่มีอยู่จริง ๆ ไม่เกิน 200 ล้านบาทของวังน้ำฝน เรื่องคงไม่แตกต่างกับกรณีอุตสาหกรรมเสถียรภาพเท่าใดนัก ดีหน่อยที่ครั้งนี้แบงก์ยังเหลือหน้าไว้แก้ต่างบ้างเล็กน้อย

โดนเข้าจั๋งหนับอย่างนี้เลยมีข่าวว่า ผู้นำสินเชื่อเกษตรอย่างแบงก์กรุงเทพ ดูท่าจะเข็ดขยาดที่จะปล่อยกู้แก่รายหนึ่งรายใดเป็นวงเงินสูง ๆ อย่างนี้อีกแล้ว ???

แหล่งข่าวในแบงก์กรุงเทพบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า นอกจากจะยื่นฟ้องร้องต่อศาลให้บังคับหนี้สินของวังน้ำฝน ภายในแบงก์เองอาจมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และยังทำงานอยู่กับแบงก์ว่า เหตุแห่งความล้มเหลวเป็นเรื่องของความบังเอิญหรือจงใจเจตนาที่จะทุจริตกันแน่ !!?

หากเป็นเช่นนี้จริงก็เท่ากับว่าอดีตนายธนาคารยอดเยี่ยม ชูศักดิ์ หิมะทองคำ จะต้องกลายเป็นจำเลย โดยดุษณี เพราะเรื่องนี้คนที่รู้เรื่องดีที่สุดก็คือตัวเขา

"ผมไม่แก้ตัวว่าผมไม่ผิดพลาด เราทำไปโดยไม่นึกว่าเหตุการณ์มันจะผันแปร พิเชษฐ์เองเขาก็เสียใจที่ทำให้ผมเดือดร้อน แต่ผมไม่โทษเขา ไม่คิดว่าเขาจะโกงด้วย มันเป็นเรื่องของความบังเอิญที่เราบังคับมันไม่ได้ แต่ถ้าบอกว่าผมทุจริตผมจะสู้เต็มที่ ผมทำแบงก์มา 25 ปี ไม่เคยมีเรื่องด่างพร้อย ถ้าผมมันโกงจริงป่านนี้ผมไปผูกคอตายแล้ว" ชูศักดิ์ระบายความในใจให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

เรื่องที่ชูศักดิ์จะถูกสอบสวนในประเด็นโครงการทรายขาวและลาดตะเคียนนั้น หากพิจารณาเหตุผลโดยเที่ยงธรรมแล้วเขามีความบริสุทธิ์อยู่ไม่น้อยเลย แต่ชนักที่นักพัฒนาธุรกิจเกษตร อย่างเขาอาจจะถอนไม่ออกก็คือเรื่องที่ดินที่ตั้งโครงการเกษตรกรรมคลอง 13 จ.ปทุมธานี ซึ่งมีข่าวว่าที่ดินนี้เดิมทีทางวังน้ำฝนจะเป็นผู้เช่า แต่ไม่รู้ว่าทำไมทำไปทำมาจึงกลายเป็นการซื้อ-ขายกันไปได้ นับเป็นการผิดสัญญาอย่างร้ายแรง และการโอนเงินซื้อขายปรากฏว่าแบงก์แทบจะไม่รู้เรื่องเลยสักนิด

ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าที่ดินแปลงนั้นกล่าวกันว่า เป็นที่ดินญาติสนิทคนหนึ่งของชูศักดิ์เสียด้วย ดังนั้นถ้าจะไม่ชอบมาพากลอะไรเขาก็น่าจะรู้เรื่องดีคนหนึ่ง ซึ่งถ้าแบงก์จะเอาผิดทางวินัยในประเด็นนี้ เขาอาจดิ้นไม่หลุด ??

พิเชษฐ์กับชูศักดิ์จึงนับเป็นคู่กรรมกันจริง ๆ ทั้งสองดังคู่กันมาจากโครงการหนองหว้า แล้วก็มาพบความรันทดด้วยกันอีกในโครงการวังน้ำฝน พิเชษฐ์กลายเป็นบุคคลที่ถูกฟ้องล้มละลาย เครดิตทางธุรกิจของเขาหดสิ้นในฉับพลับ ส่วนชูศักดิ์วัย 55 ปี ของเขาถึงไม่อาจปีนไปสู่จุดสูงสุดของการเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ได้สำเร็จ (ในวันนี้) หากแต่ถึงเวลาที่จะต้องเดินลงจากเวทีมันก็ควรยิ่งใหญ่และ มีศักดิ์ศรี

ไม่ใช่ต้องเดินลงปลงตกกับความเป็นจำเลยที่อาจจะเป็นจริงขึ้นมาก็ได้???

เรื่องราวของชูศักดิ์มีบางคนบอกว่า "ถึงจะเป็นใหญ่ในแบงก์ได้ทว่าอย่าให้พลาดก็แล้วกัน เพราะเมื่อใดที่พลาดคุณอาจถูกเหยียบอย่างไม่ปรานี" ชูศักดิ์ตกอยู่วงจรอุบาทว์นี้หรือไม่นั้นตัวเขาย่อม รู้ดีที่สุด!!???

ปัญหา

"ไม่น่ามีปัญหาเกิดขึ้นกับวังน้ำฝน" !!

ก็ควรเป็นเช่นนั้นถ้าดูแค่เปลือกนอก เพราะทั้งรูปแบบและเนื้อหา แต่จริง ๆ แล้วมันไม่เป็นเช่นที่กล่าวไม่ว่าจะเป็นโครงการไหนล้วนตกอยู่ในสภาพเตี้ยอุ้มค่อมเสียทั้งสิ้น กอร์ปกับเป็นความโชคร้ายสุดขีดที่สถานการณ์ ณ เวลานั้นมีความผันแปรสูงด้วย

จุดเปราะบางที่สุดเกิดขึ้นแล้วตรงที่ เวลาและดวงมันซวย !!!!

พิเชษฐ์ก่อนที่จะเริ่มโครงการทรายขาวและลาดตะเคียน เขาได้ไปบุกเบิกให้ชาวไร่ปลูกข้าวโพด พร้อมรับซื้อในเขตพื้นที่ใกล้เคียงกันถึง 3,000 ไร่ เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่นั้นเป็นแหล่งวัตถุดิบขนานแท้ และยังหวังอีกว่าเมื่อโครงการเลี้ยงหมูเกิดขึ้นจะได้รับประโยชน์ทางอ้อมนำข้าวโพดไปทำอาหารสัตว์อีกด้วย จนคนที่สนิทกับเขาพูดว่า "พิเชษฐ์คิดถึงการตั้งโรงงานอาหารสัตว์รอไว้ในสมองแล้วด้วย"

แต่เขากลับอกหัก ทั้งที่การต่อสู้เพิ่งดำเนินไปเพียงไม่กี่ยกเท่านั้น !!

ปี 2525 ที่ไซโลข้าวโพดสร้างเสร็จเป็นปีที่ราคาข้าวโพดพุ่งขึ้นสูงผิดปกติ พิเชษฐ์ต้องกู้เงินจากแบงก์กรุงเทพไปหลายสิบล้านเพื่อซื้อเข้ามาเก็บ แต่โชคไม่อำนวยเมื่อข้าวโพดเหล่านั้นเกิดปัญหาเรื่องความชื้นจนขายออกไม่ได้ ทำให้เกิดภาระหนี้สิน กองโตขึ้นมาโดยไม่จำเป็น ???

ทีนี้เมื่อเขาเริ่มต้นโครงการเลี้ยงหมูในปีแรก ช่วงกลางปี 2525 กว่าที่หมูรุ่นแรกจะให้ผลผลิต ก็กินระยะเวลาไปถึงกลางปี 2526 ซึ่งแม้ว่าราคาหมู ในปี 2526 จะสูงเพียงใดทว่าวังน้ำฝนก็ไม่สามารถตักตวงผลประโยชน์อะไรได้มากนัก เรียกว่ายังเปลื้องหนี้สินเก่าไม่ได้ว่างั้นเถอะ

พอตกถึงปี 2527-28 ปรากฏว่าราคาหมูกลับดิ่งนรก จากที่เคยขายได้กิโลกรัมละ 25-30 บาทในปีก่อน ๆ รูดมหาราชลงมาเหลือเพียงกิโลกรัมละ 11 บาทในปีนั้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตหมูของวังน้ำฝนเฉลี่ยอย่างเบาะ ๆ ตกถึงกิโลกรัมละ 21 บาท เนื้อหมูที่นี่ 1 กิโลกรัมใช้อาหารสูงถึง 3.5 - 4 กิโลกรัม ซึ่งเป็นอัตราต้นทุนผลิตที่สูงกว่าทุก ๆ ฟาร์ม

ราคาขายต่ำ แต่ต้องปล่อยลูกหมูขุนออกมาขายถึงวันละ 4 -500 ตัว งานนี้วังน้ำฝนจึงขาดทุนวินาศสันตะโร ยิ่งต้องแบกรับภาระรายได้ขึ้นต่ำของทหารอีกเดือนละ 2,000 บาท 228 ครอบครัวเข้าไปอีก ทำให้แทบจะมองไม่เห็นอนาคตสดใสเอาเสียเลย???

ราคาหมูตกติด ๆ กันถึง 2-3 ปีก็พอแล้ว ที่จะทำให้ฟาร์มขนาดใหญ่อย่างนี้เสียผู้เสียคน กระทั่ง มีข่าวว่าเพื่อเป็นการลดต้นทุนการขนส่ง แทนที่จะส่งเข้ายังโรงงานฆ่าในกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ของฟาร์มส่วนหนึ่งได้นำหมูไปดัมพ์ตลาดท้องถิ่นแถบ จ. จันทบุรี จนเป็นเรื่องอื้อฉาวมีการฆาตกรรม พ.ท. บุญชอบ ศรีบุญเรือง ผู้นำหมูจันทบุรีอย่างโหดเหี้ยมรวมถึงตัวภรรยาที่ต้องพิการไปตลอดชีวิต

"มันมีเหตุผลมาจากหมูของวังน้ำฝน" คนที่อยู่ในวงการบอกกับ "ผู้จัดการ"

ความผิดพลาดประการแรกจึงเป็นเรื่อง "ราคา" ที่สุดวิสัยจะแก้ไขได้จริง ๆ เพียงแต่อาจจะผ่อนหนักเป็นเบาได้ถ้าวังน้ำฝนเลือกแหล่งผลิตได้เหมาะกว่านี้ จริงอยู่ที่ว่าทรายขาวกับลาดตะเคียนอยู่ใกล้วัตถุดิบ เช่น ข้าวโพดทว่าก็ไกลมากจากโรงฆ่า ทำให้ต้องสิ้นเปลืองค่าโสหุ้ยต่าง ๆ รวมไปทั้งยังเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการรั่วไหลในจุดต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ซีพี. ที่แขยงโครงการนี้หลังจากที่ถูกแบงก์ขอร้องให้เข้าไปดูแลแทนก็มีปัญหาเรื่องโลเกชั่นเป็นสำคัญ

แต่เรื่องที่พิเชษฐ์พลาดจนไม่น่าให้อภัย นักบริหาร "มือทอง" อย่างเขาคือปัญหา "การจัดการ" ที่ด้อยประสิทธิภาพเอามาก ๆ ทั้งนี้เป็นเพราะเชื่อมั่นในระบบการจัดการสมัยใหม่มากเกินไป โดยหลงลืมว่ากำลังเล่นกับคนบางกลุ่มที่ไม่เข้าใจ เขามั่นใจและวางใจลูกน้องบางคนว่าจะเป็นมืออาชีพแท้จริงเหมือนตน จึงกลายเป็น "จุดอ่อน" ที่ถูกโจมตีโดยไม่ทันระแวดระวัง

ทั้งทรายขาวและลาดตะเคียนพิเชษฐ์ทำหน้าที่กำกับบทอยู่ห่าง ๆ ให้อิสระแก่พนักงานเต็มที่ ซึ่งแรก ๆ คงไม่มีอะไร ครั้นพอเริ่มแตกลายงา พนักงานบางคนก็ส่อเค้าทุจริตมองเห็นช่องทางโกยกินสารพัด ไล่มาตั้งแต่

หนึ่ง- ร่วมกับผู้รับเหมากินหัวคิวจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างบ้านพัก-โรงเรือนเกินความเป็นจริง อย่างเช่นไม้ท่อนหนึ่งราคาเพียง 40 บาทแต่กลับแจ้งยอดราคาในบัญชีถึง 120 บาท

สอง-จัดซื้ออาหารสัตว์แพงกว่าราคาท้องตลาดมากมายถึง 3-5% นอกจากนี้พนักงานบางคน ยังได้ให้ญาติบางคนเป็นคนจัดส่งอาหารให้เสียเอง

สาม-ร่วมมือกันกับเกษตรกรที่เป็นทหารพิการใจบางคนลักลอบนำลูกหมูออกไปขาย หรือ ไม่ก็แจ้งนน.หมูที่ขายไม่ตรงความเป็นจริง เช่นหมู นน. 100 กก. แต่ลงยอดเพียง 90 กก.

"ตอนที่มีข่าวว่าบริษัทจะเจ๊ง เกษตรกรบางรายที่คิดไม่ซื่อไหวทันก็ร่วมมือกับพนักงาน จับเอาลูกหมูไปขายข้างนอกตัวละ 50-60 บาททั้งที่ราคาขายจริงตกถึงตัวละ 200-300 บาท พอถึงเวลาก็ไม่มีหมูขุนขายตามที่แจ้งกับแบงก์ ๆ ก็เลยมองว่าไอ้นี่ไปไม่รอดแน่" แหล่งข่าวภายในบอกกับ "ผู้จัดการ"

ปัญหาในส่วนนี้แบงก์กรุงเทพติดตามมาตลอดชูศักดิ์เองบอกว่า ทันทีเขาระแคะระคายได้จัดส่งคนของแบงก์เข้าไปควบคุมตรวจสอบและแจ้งให้พิเชษฐ์รู้เพื่อจัดการแก้ไขเสียเนิ่น ๆ ทว่าไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร ปัญหาถูกปล่อยหมักหมมยิ่งกว่าดินพอกหางหมูแล้วเลยลามปามจนยากที่จะขจัดให้หมดไป

ชูศักดิ์นั้นไว้เนื้อเชื่อใจในตัวพิเชษฐ์มาแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ถ้าถามว่าในเมื่อพิเชษฐ์รับรู้แล้วถึงความเหลวแหลก แล้วไฉนจึงไม่วางแผนแก้ไขให้ดีขึ้น พิเชษฐ์เป็นคนปากว่าตาขยิบและเขากำลังเล่นบทหลอกลวงกัลยาณมิตรหรือไม่นั้น "ผู้จัดการ" คิดว่าชูศักดิ์ย่อมรู้แก่ใจดี

"ผมไม่คิดว่าเขาหลอกผม เขาเกรงใจลูกน้องมากไป เขาอาจมีความรู้เรื่องบริหารดีและใช้ได้ดีกับบริษัทใหญ่ ๆ อย่าง ซีพี.แต่นั้นอย่าลืมว่ายังมีระบบที่สูงกว่าคลุมอยู่ ทว่าในวังน้ำฝนเขาจัดการคนเดียวความรู้ที่มีจึงใช้ไม่ได้เลย" ชูศักดิ์ยังคงปกป้องมิตรร่วมรบ

อย่างไรก็ตามปัญหาส่วนนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวเกือบจะสิ้นเชิงของรูปแบบงานสหกรณ์ในบ้านเรา ที่ยังขาดแคลนที่คนมีสปิริต มีวินัยและความเข้าใจถ่องแท้เข้าไปทำงาน รูรั่ว จึงเป็นดั่งเช่นที่พิเชษฐ์-ชูศักดิ์ ต้องตามล้างตามเช็ดกันไม่มีที่สิ้นสุด???

ปัญหา "ตัวเกษตรกร" ทุกคนยอมรับถึงการใช้ทหารพิการเป็นแรงงานที่เป็นสิ่งวิเศษสุดแต่พองานเริ่มเดินเขาก็พบว่านั่นเป็น "ปัญหาใหญ่ไฟสุมขอน" รู้ทั้งรู้แต่ทำอะไรได้ไม่มากนัก จุดนี้หากมองเชิงจิตวิทยาว่าทหารพิการแม้จะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี แต่เป็นธรรมดาที่อาจมีบ้างเชื้อพันธุ์เลวในหมู่คนดีซึ่งคนเหล่านั้นเป็น "ทหารที่ใจพิการจริง ๆ" !!

จากสัญญาประกันรายได้ขั้นต่ำที่วังน้ำฝนต้องให้ 2,000 บาท/เดือน ทำให้ทหารบางคนไม่สนใจที่จะเลี้ยงหมู บางวันก็รวมหมู่กันเฮฮาปาร์ตี้ ร้ายมากถึงขนาดจัดแข่งรถกันในโครงการก็เคยมี ซึ่งเรื่องนี้พนักงานที่ดูแลอยู่ได้เข้าไปตักเตือน ทว่าผลที่ได้รับกลับมาก็คือ ถูกทำร้ายจนปางตาย

"พวกมีปัญหาเคยยิงผู้จัดการเราไปคนหนึ่งแล้ว ยิงที่หัวเลย มันจ่อยิงอย่างนี้ ยิงเหมือนตุ๊กตาเด็กเล่น โชคดีที่คนของเราสะบัดหัวทันกระสุนเลยแค่ถาก ๆ มีอย่างที่ไหนเขาทำกัน" พนักงานคนหนึ่งกล่าวอย่างเหลืออดถึงทหารบางคนในโครงการ

อะไรไม่เลวร้ายไปกว่าที่มีเสียงบอกว่า ทหารพวกนี้บางคนก็ลักลอบนำลูกหมูออกไปขายเอาเงินเข้ากระเป๋าเสียเอง หรือไม่วันไหนนึกอยากกินก็เชือดมากินอย่างง่าย ๆ ไม่ได้คิดว่าหมูเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของส่วนรวมที่ว่าจ้างตนเป็นคนเลี้ยงดูแล

"คงเป็นเพราะความคับแค้นทางจิตใจที่ถูกกดดันมาจากสงคราม ทำให้บางคนสำแดงอาการ ไม่รับผิดชอบออกมา" นักจิตวิทยาให้ความเห็น

ก็มีความเป็นไปได้พิเชษฐ์เองอาจต้องการทำนุบำรุงและยกระดับจิตใจ ความรู้สึกของคนพวกนี้ให้ดีขึ้น จนทำให้เขาลืมช่องว่างความกดดันทางความคิดที่สั่งสมไปเสีย ซึ่งถ้าคิดได้เสียแต่แรก ๆ บางทีอาจไม่ต้องมานั่งหวานอมขมกลืนอย่างที่เป็นอยู่ก็เป็นได้!??

เรื่องเดียวกันนักวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ออกความเห็นว่า "พิเชษฐ์และชูศักดิ์พลาดตรงที่เขาไม่ศึกษาทฤษฎีทางชนชั้นของมาร์กซิสต์ให้เจนจบ" เพราะถ้ารู้ลึกซึ้งสังคมชนชั้นแล้วจะเข้าใจได้เลยว่า คนเรานั้นใช่ว่าจะสามารถเป็นเกษตรกรได้ทุกคนไป

เขาทั้งคู่ผิดไปแล้วตรงนี้!?

ในส่วนองค์การทหารผ่านศึกยอมรับว่า มีเหมือนกันที่ทหารบางคนเป็นตัวปัญหา แต่เรื่องที่แบงก์ต้องฟ้องร้องนั้นน่าจะมาจาก บริษัทที่ไม่ยอมชำระหนี้สินเป็นเหตุใหญ่ "เราประชุมกันบ่อย ๆ ก็เคยถามเขาว่า ทำไมไม่จ่ายหนี้ให้แบงก์บ้างละดูเขาก็ไม่อินังขังขอบ รู้เลา ๆ ว่าเขามีโครงการอื่นอีก" เจ้าหน้าที่ขององค์การทหารผ่านศึกบอกกับ "ผู้จัดการ"

ลอยลม

พิเชษฐ์นั้นน่าชมเชยกว่าสองแม่ลูก "จุลไพบูลย์" ของอุตสาหกรรมเสถียรภาพมากนัก เขาไม่กะล่อนพอที่จะทำร้ายประชาชนอย่างเลือดเย็นเมื่อรับทราบปัญหาได้เข้าร่วมประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่แบงก์เป็นประจำทุกสัปดาห์ พร้อมเสนอเงื่อนไขที่จะหากลุ่มทุนอื่นมาร่วมและรับสภาพหนี้ดังกล่าว

ชาตรีเองจึงพอยิ้มได้ และดูเหมือนเขาได้รับบทเรียนจากไทยเสรีห้องเย็นมาว่า ความเย็นของอารมณ์เท่านั้นที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ดังนั้นเขาจึงพยายามผ่อนปรนให้กับพิเชษฐ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่อย่างไรก็ตามด้วยความเข้าใจที่จะตกเป็นขี้ปากเขาจึงย้ายชูศักดิ์ไปห้อยเอาไว้ในตำแหน่งที่ปรึกษา

"นายเขาคงอยากให้ผมพิสูจน์ความบริสุทธิ์" ชูศักดิ์บอกถึงความรู้สึกที่เขาจำต้องจากงานที่รักยิ่ง

การเริ่มต้นแก้ปัญหานี้กระทำอย่างจริงจังเมื่อต้นปี 2529 พิเชษฐ์ได้ไปเจรจาติดต่อกลุ่มนิวดันแลนด์ ซึ่งผู้ผลิตหมูแม่พันธุ์รายใหญ่ของเนเธอร์แลนด์ให้เข้ามาร่วมทุน ประจวบเหมาะกับที่นิวดันแลนด์เองก็อยากขยายฐานมาในประเทศไทย เมื่อได้รับข้อเสนอจึงส่งทีมงานเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้

นิวดันแลนด์นั้นไม่วิตกกังวลในสภาพหนี้สินสูงร่วม 700 ล้านของวังน้ำฝนแต่อย่างใด การศึกษาและเจรจาต้าอวยเกือบจะสิ้นสุดเป็นอย่างดีแล้วแต่ในที่สุดด้วยความขัดข้องทางเทคนิค

บางประการการร่วมทุนนี้มีอันต้องเป็นหมันไป???

"น่าจะเป็นเรื่องหุ้นและการบริหารภายในมากกว่า เพราะพิเชษฐ์เองเขายังรักที่จะเห็นวังน้ำฝนอยู่กับตนตลอดไป อีกอย่างมันมีเรื่องตัวเกษตรกรที่นิวดันแลนด์อยากเปลี่ยนด้วย." แหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าว

ก็พลาดไปรายหนึ่ง !!

ห้วงเวลาแก้ปัญหานี้พิเชษฐ์ได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับโรงฆ่าสัตว์ ไทยอาร์เอฟเอ็ม.ที่กลุ่มมาบุญครองโอนมาให้กับ "กลุ่มวงศ์วรรณ" ด้วยเขาตั้งความหวังว่า หนึ่ง- หากเมืองไทยมีโรงฆ่าที่ทันสมัยอย่างไทยอาร์เอฟเอ็ม.ที่รับหมูได้ไม่จำกัดจำนวน โอกาสที่วังน้ำเย็นจะฟื้นคืนชีพยังพอมีเหลือ สอง- การสัมพันธ์กับกลุ่มวงศ์วรรณเป็นช่องทางที่ดีต่อการหาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศให้มารับสภาพหนี้ทั้งหมด เนื่องจากกลุ่มนี้มีฐานใหญ่ทางการเงินในต่างประเทศหลายแห่ง

มิติของการแก้ปัญหานี้พิเชษฐ์หวังถึงความเป็นไปได้มากที่สุด หากแบงก์กรุงเทพจะไม่ด่วนตัดสินใจเชือดเขาเสียอย่างที่เห็น "เขาวิ่งเต้นไม่หยุดหย่อนและกำลังจะเป็นไปได้แล้วกับแหล่งเงินแห่งหนึ่ง ไม่คิดว่าแบงก์จะตัดสินใจเร็วอย่างนี้" คนใกล้ชิดของพิเชษฐ์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

แหล่งข่าวระดับสูงในแบงก์กรุงเทพก็บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ก่อนหน้าที่แบงก์จะยื่นฟ้องพิเชษฐ์ได้โทรฯ ติดต่อถึงเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องนี้คนหนึ่ง พร้อมกับบอกว่า "อย่าเพิ่งทำอะไรเลย" ทว่าคำร้องขอของเขาไม่เป็นผลเมื่อแบงก์เห็นแล้วว่า ถึงจะได้อะไรกลับมาไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ยังดีเสียกว่าที่จะปล่อยให้คาราคาซังเสียหน้าและเสียหายมากไปกว่านี้อีก

พิเชษฐ์และวังน้ำฝนจึงถูกฟ้องล้มละลายด้วยประการฉะนี้!!

แบงก์เองก็ไม่ปล่อยให้พิเชษฐ์หัวปั่นแก้ปัญหาเพียงฝ่ายเดียว ได้ติดต่อกลุ่มธุรกิจปศุสัตว์ ชื่อดังที่มีสัมพันธ์อันดีกับแบงก์เช่นลีวัฒนา แหลมทองสหการ ให้เข้าไปศึกษาเพื่อ TAKE OVER แต่ทุกกลุ่มที่แหย่เท้าเข้าไปต่างเต้นเหยงถอยกลับออกมา เมื่อพบว่าปัญหามันยากเกินแก้ไข จะมีที่สนใจกว่าคนอื่น ๆ ก็คือ ซีพี.

ซีพี. เป็นรายล่าสุดก่อนฟ้องร้องที่ได้รับการขอร้อง ซึ่ง ซีพี. ได้ตั้งทีมงานศึกษาเรื่องนี้ถึง 5 คณะ โดยได้สัญญาณไฟเขียวจากชาตรีว่า "อย่าไปตั้งเงื่อนไขอะไรกับ ซีพี." ซึ่ง ซีพี. พบบทสรุปปัญหา 2 ประเด็นใหญ่คือ หนึ่ง - สถานที่ตั้งโครงการไม่เหมาะสม สอง - ความเป็นไปได้ทางธุรกิจกับการทำกุศลนั้นสวนทางกันอย่างรุนแรง

ซีพี. ได้เสนอเงื่อนไขตอบกลับไปว่า พร้อมที่จะรับงานนี้ต่อเพียงว่า หนึ่ง - ให้แบงก์อนุมัติเงินกู้จำนวนหนึ่ง (หลายร้อยล้านบาท) มาดำเนินการ สอง - ขอระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย 3 ปี สาม - ไม่เกี่ยว-พันกับสภาพหนี้สินเดิม และ สี่ -ขอให้มีระบบการจัดการใหม่ตามแนวคิด ซีพี.

ข้อเสนอทาง ซีพี. ที่วันนี้ใหญ่พอที่จะอ้าปากพูดกับแบงก์กรุงเทพ ได้อย่างเต็มปากเต็มคำแล้วนั้น ทำให้แบงก์ชะงักไปพักใหญ่ จึงได้เสนอเงื่อนไขกลับมาให้ซีพี. พิจารณาอีกหน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับซีพี. ไม่น้อย เนื่องจากตอนแรกมีสัญญากันแล้วว่า "จะไม่มีเงื่อนไขอะไรในเรื่องนี้"

"ซีพี. ไม่ยอมเข้ามาเพราะลงทุนสูงเกินไป เรื่องหนี้สะสมนี่เรายินดีตัดทิ้งให้เลย แต่ขอร้องให้เขาซื้อเฉพาะราคาที่ประเมิน จาก 4-500 ล้าน เราอาจจะขายแค่ร้อยล้าน คือแบงก์น่ะยอมขาดทุนแล้ว แต่ซีพี. ก็ยังไม่ยอมรับ" แหล่งข่าวจากแบงก์กรุงเทพกล่าวถึงท่าที ซีพี.

ที่สุด ซีพี. ก็ทนรับไม่ได้อีกรายหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ ซีพี. เองก็อยากจะได้โครงการนี้มาสานต่ออยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะดูตามศักยภาพแล้ว ซีพี. สามารถทำได้อย่างสบาย ๆ !!!

ว่าไปแล้วก็น่าเห็นใจแบงก์กรุงเทพ เพราะพูดกันตามตรงแบงก์ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มากคนนัก เมื่อมองเห็นว่าหนี้สะสมมันมีแต่จะมากขึ้น ๆ ทางแก้ที่จะให้เสียหน้าน้อยที่สุดก็คือหาคนมารับช่วงต่อ โดยที่แบงก์ยอมขายในราคาขาดทุน - แต่นักลงทุนในสภาพเป็นมวยต่อ ในเมื่อขอร้องแล้วไยต้องมาตั้งเงื่อนไขกันมากมาย ซึ่งเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีกันไปเสียแล้ว

เสนอให้ใคร ๆ ก็ไม่ยอมรับ ในที่สุดชาตรีก็ต้องสายตรงถึงสงวน จันทรนุกูล แห่งกลุ่มศรีไทยฯ ที่มีชื่อในเรื่องไก่ และเป็น "มือขวา" อีกคนหนึ่งของชาตรีให้เข้ามาศึกษา โดยเที่ยวนี้มีความเป็นไปได้มากเลยว่าศรีไทยฯ คงเข้าไปบริหารงานทรายขาวและลาดตะเคียน ด้วยเหตุผลที่ว่า หนึ่ง - ชาตรี-สงวน นั้นแทบจะตายแทนกันได้ สอง - แบงก์กรุงเทพยินยอมที่จะขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาถูกเพื่อให้ศรีไทยฯ เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

แน่นอนล่ะว่า ถ้าศรีไทยฯ เข้าไปทำและทำได้สวย นอกจากจะเพิ่มบารมีให้ "เสี่ยสงวน" แล้วด้านหนึ่งยังเป็นการบลัฟฟ์ ซีพี. ไปในตัว ???

มันช่างน่าตลกสิ้นดีการเริ่มต้นที่งดงาม ทำท่าจะบานปลายกันไปใหญ่ เพราะหลังจากศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์สินทั้งหมดของวังน้ำเย็น แบงก์ก็เอาพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ที่มีอยู่ทั้งหมดออกขาย โดยขายให้กับกลุ่มศรีไทยฯ เพียงรายเดียว แทนที่จะเปิดประมูลขายโดยทั่วไป

ทำอย่างนี้พวกเกษตรกรว่าเหมือนไม่ให้เกียรติกันเลย เพราะแบงก์จะฟ้องร้องบริษัทก็ทำกันไปไม่ควรมายุ่งในทรัพย์สินที่เป็นหมูของพวกตน การทำอย่างนี้เท่ากับ "บีบ" ให้เกษตรกรออกจากโครงการทางอ้อม หากเป็นอย่างนี้เกษตรกรทั้งหมดก็พร้อมจะร่วมเป็นจำเลยกับบริษัทวังน้ำเย็น

ยุ่งตายห่ะ... ขึ้นฟ้องกันมโหฬารแบบนี้ไม่รู้ว่ากี่ร้อยปีคดีจะแล้วเสร็จ ซึ่งคงไม่เป็นผลดีกับใครทั้งนั้น ข้อต่อจึงอยู่ที่การตีความว่าทรัพย์สินของโครงการทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นบ้านพัก-โรงเรือน-หมู จะเป็นของบริษัททั้งหมดหรือไม่ หาก "ใช่" แบงก์ก็มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะรักษาผลประโยชน์ของตน

แต่ถ้าไม่ใช่เห็นทีแบงก์คงต้องรับศึกหนักจากที่เคยหวังจะเป็นผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยมอาจจะกลายเป็นผู้ร้ายไปโดยไม่เจตนา??

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องโครงการเกษตรกรรมคลอง 13 ที่โดนหางเลขในการฟ้องร้องครั้งนี้ด้วย โดยปกติแล้วผลประกอบการของฟาร์มนี้ไปได้ค่อนข้างดีแทบจะกล่าวได้ว่า สายเงินหล่อเลี้ยงวังน้ำฝนมาจากที่นี่ เมื่อต้องมาเป็นคดีความจึงทำให้ไข่เป็ดที่ต้องส่งไปฟักที่นครปฐมไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้

วันหนึ่งเป็ดคลอง 13 จะฟักไข่ประมาณ 7,000 ฟอง เมื่อส่งไปฟักเป็นเป็ดอายุ 1 วัน จะขายได้ในราคาตัวละ 18 บาท หลังจากที่ฟ้องร้องกันมาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค่าเสียหายก็ปาเข้าไปบานเบอะ และยังไม่รู้เลยว่าคดีจะสิ้นสุดกันเมื่อไร ค่าเสียหายจะเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าใด และแรงงานทั้งหมดของที่นี่ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ก็ทุบหม้อข้าวกันชัด ๆ !!!!

เกษตรกรก็เตรียมที่จะฟ้องกลับแบงก์อยู่เหมือนกัน !!??

ถึงได้บอกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากหมูนั้นไม่ได้ "หมู" เหมือนอย่างบางคนคิด สิ่งที่จะดำเนินกันในวันข้างหน้าควรทบทวนให้ถ้วนถี่ เพราะประวัติศาสตร์ไม่ได้เปิดโอกาสให้มนุษย์สั่งสมความผิดพลาดไปเรื่อย ๆ เหมือนทศนิยมที่ไม่รู้จบ !!!   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us