|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2531
|
|
ก่อนจะมาเป็นกรมธรรม์ฯ
อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยประกันฯ ได้รับแจ้งจากวานิช ไชยวรรณ กรรมการผู้อำนวยการว่า ทางกองทัพบกปรารถนาให้บริษัทไทยประกันฯ ช่วยจัดทำโครงการประกันชีวิตให้แก่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดน และสู้รบกับข้าศึก โดยย้ำว่าอยากให้โครงการนี้สำเร็จโดยเร็วที่สุด
หลังจากนั้นวันรุ่งขึ้น (กลางเดือนธันวาคม 2529) อภิรักษ์ได้สั่งการให้ปราณีต วีรกุล หัวหน้าส่วนประกันชีวิตหมู่ศึกษาความเป็นไปได้โครงการนี้ โดยให้เสนอทางเลือกเพื่อการพิจารณาไว้ เพราะ "ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงความต้องการทางกองทัพที่จะให้บริษัทเข้าไปประกันในรูปแบบใด"
จากการศึกษาด้วยระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ปราณีต วีรกุล ก็ได้เสนอทางเลือกความเป็นไปได้โครงการนี้แก่อภิรักษ์
ทางเลือกที่ว่านี้มี 4 รูปแบบ คือ หนึ่ง - ประกันชีวิตกลุ่มทหารแบบธรรมดาเหมือนกับที่ใช้กับการประกันชีวิตกลุ่มทั่วไป หรือ สอง - ประกันชีวิตกลุ่มพิเศษเน้นการคุ้มครองเฉพาะทหารที่ออกรบ ลักษณะของการประกันแบบกึ่งบริหารกองทุนกึ่งประกันชีวิต หรือ สาม - ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้จัดตั้งกองทุนและรับบริหารกองทุนให้แก่กองทัพทั้งหมด ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นคืนให้กองทัพทั้งหมด โดยบริษัทได้ค่าตอบแทนในรูปค่าธรรมเนียมเล็กน้อย หรือ สี่ - จัดตั้งเป็นมูลนิธิ
ต้นมกราคม 2530 อภิรักษ์ พร้อมสุมิตรา จากสำนักงานประกันภัยกระทรวงพาณิชย์ ได้นำ ข้อเสนอ 4 รูปแบบนี้ ประชุมปรึกษาหารือกับเสธ. จรวย วงศ์สายันห์ ผู้แทนกองทัพบกที่หอประชุม กองทัพบก
ในช่วงนั้น เสธ. จรวยได้บอกนโยบายของบิ๊กจิ๋วในโครงการนี้แก่อภิรักษ์ว่าทางกองทัพต้องการผลการคุ้มครองเฉพาะทหารที่ปฏิบัติการรบเท่านั้น และลดหลั่นตามขั้นยศ
เมื่อทราบนโยบายที่แน่ชัดของกองทัพในเรื่องนี้ อภิรักษ์ก็ได้ตัดทางเลือกจาก 4 ข้อ เหลือเพียง 2 ข้อ คือเหลือเฉพาะทางเลือกเป็นเพียงผู้บริหารกองทุนหรือกึ่งประกันชีวิต กึ่งบริหารกองทุน ซึ่งต้องออกเป็นรูปลักษณะกรมธรรม์ประกันชีวิตหมู่พิเศษขึ้นมาใหม่ และต้องผ่านการอนุมัติจากสำนักงานประกันภัย
ในการประชุมกับผู้แทนกองทัพบก รอบที่สอง ข้อเสนอ 2 ข้อที่ว่านี้ อภิรักษ์ได้นำเข้าปรึกษาหารือ โดยชี้ว่าถ้าเป็นข้อเสนอรับบริหารกองทุน ที่กองทัพจัดตั้งขึ้น ทางกองทัพจะต้องมีจำนวนเงินที่ แน่นอนในการตั้งกองทุนและร่างระเบียบกฎเกณฑ์การใช้จ่ายเงินในกองทุนที่เฉพาะเจาะจง
แต่ทางกองทัพติดปัญหาไม่สามารถกำหนดเงินจัดตั้งกองทุนได้ เพราะตัวเลขการสูญเสียจากการสู้รบของทหารในอดีต 10 ปี ย้อนหลังไม่แน่นอน จึงกำหนดวงเงินกองทุนลำบาก
ดังนั้น จึงเหลือเพียงทางเลือกเดียว คือรูปแบบกึ่งจัดการกองทุนกึ่งประกันฯและในที่สุด เรื่องนี้ทางบิ๊กจิ๋วก็เห็นชอบด้วยตามข้อเสนอของไทยประกันให้ใช้รูปแบบกึ่งจัดการแบบกองทุน กึ่งประกัน โดยผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากการบริหารกองทุนของบริษัท ทางบริษัทไทยประกันจะคืน (REFUND) ให้แก่กองทัพทั้งหมด หลังจากหักค่าใช้จ่ายค่าจัดการ 5% ของเบี้ยประกันและค่าสินไหม ที่จ่าย
หลังจากนั้นปลายเดือนมกราคม 2530 การทำงานเพื่อผลิตกรมธรรม์ประกันชีวิตหมู่ภัยสงคราม จึงเริ่มขึ้น !!
กรมธรรม์ที่ G 2-0001:ฉบับแรกในโลกที่บางเฉียบเพียง 4 หน้าเท่านั้น!
กรมธรรม์ชิ้นนี้ อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการไทยประกันชีวิตซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย ในฐานะเป็นคนไทยคนแรกในธุรกิจนี้ที่ได้รับประกาศนียบัตร สมาชิกวิสามัญสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า "A.S.A. ASSOCIATE OF SOCIE-TY OF ACTURARITES" ที่วงการธุรกิจประกันภัยทั่วโลกยอมรับในฝีมือ ได้ลงมาเล่นเองโดยตรง อภิรักษ์ใช้เวลาผลิตกรมธรรม์ชิ้นนี้ประมาณ 1 เดือนเต็ม ๆ โดยข้อมูลทั้งหมดมาจากกองทัพบกทั้งสิ้น
"ผมทำงานชิ้นนี้ บนพื้นฐานความเชื่อใจและไว้วางใจกองทัพว่าจะให้ข้อมูลทั้งหมดที่เป็นความจริง" อภิรักษ์เล่าให้ฟัง
กรมธรรม์ชิ้นนี้ลงตัวที่ หนึ่ง- ทางกองทัพบกจะต้องจ่ายเบี้ยประกันปีละ 17 ล้านบาท โดยทยอยจ่าย 3 งวด ทุก ๆ 4 เดือน สอง-ทุนประกันถือตามขั้นยศชั้นสูงสุดไม่เกินคนละ 100,000 และต่ำสุด 50,000 บาท สาม - บริษัทไทยประกัน จำกัด ขอบเขตความรับผิดชอบค่าสินไหมส่วนเกินของจำนวนเบี้ยประกันรวมไม่เกิน 50% หรือพูดง่าย ๆ งานนี้บริษัทไทยประกัน ขอขาดทุนเพียง 50% ของจำนวนรวมเบี้ยประกัน 17 ล้านบาท ซึ่งตกราว ๆ 8.5 ล้านบาท สี่- บริษัทขอคิดค่าธรรมเนียมจัดการโครงการนี้ 5% ของจำนวนรวมเบี้ยประกัน และสุดท้าย - กรมธรรม์นี้คุ้มครองเฉพาะส่วนทหารที่เสียชีวิตหรือพิการจนปลดประจำการจากเหตุการสู้รบเท่านั้น
เมื่อกรมธรรม์ลงตัวแล้ว อภิรักษ์ก็เสนอขออนุมัติออกกรมธรรม์ฉบับนี้ต่อสำนักงานประกันภัย ซึ่งคนที่พิจารณาเรื่องนี้คือ สุมิตรา วรกุลเฉลิม ผ.อ. กองประกันชีวิต
สำนักงานประกันภัยใช้เวลาพิจารณาอนุมัติกรมธรรม์ด้วยเวลาเร็วมากกว่าปกติเพียงสัปดาห์เดียว ทุกอย่างเรียบร้อย ต้นเดือนมีนาคม 2530!
"ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เราพิจารณารวดเร็วเพราะทราบว่าทางกองทัพบกอยากให้โครงการนี้ออกใช้โดยเร็วภายในเดือนเมษายน..." สุมิตราเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
กรมธรรม์ที่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานประกันภัยชิ้นนี้ หมายเลย G 2-0001! บางเฉียบเพียง 4 หน้าเท่านั้น นับว่าเป็นกรมธรรม์ที่บางที่สุดในโลก และเป็นครั้งแรกในโลกและครั้งแรกในรอบ 45 ปีของบริษัทไทยประกันที่ออกกรมธรรม์ใช้ในลักษณะเช่นนี้
เหตุผลข้อหนึ่งเพราะ เอกสิทธิ์และเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์มีเพียง 9 ข้อเท่านั้น สั้น ๆ และง่าย ๆ ต่อการเข้าใจ รายละเอียดมีดังนี้...
ข้อ 1 สัญญาประกันภัยนี้เกิดขึ้นจากการที่บริษัท (ไทยประกันชีวิต) เชื่อถือข้อแถลงของผู้ทรงกรมธรรม์ (กองทัพบก-พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) ในใบคำขอเอาประกันภัยที่ผู้ทรงกรมธรรม์ลงลายมือชื่อไว้ และได้มีการชำระเบี้ยประกันภัยแล้ว บริษัทจึงตกลงทำสัญญาและออกกรมธรรม์นี้ให้ไว้
ตรงนี้ "ผู้จัดการ" ขออนุญาตเล่าบรรยากาศวันทำสัญญาสักเล็กน้อย...คือว่า ก่อนหน้าวันทำสัญญา (27 มีนาคม 2530) เพียงวันเดียว กองทัพบกเพิ่งได้เงินบริจาคเพื่อชำระค่าเบี้ยงวดแรก 5 ล้านบาทในวันทำสัญญา
เรียกว่าการเตรียมเงินเพื่อชำระเบี้ยงวดแรกนี้ฉุกละหุกมาก ๆ เพราะเงินชำระค่าเบี้ยทั้งหมดในโครงการนี้ จะเบิกเอาจากงบประมาณในกองทัพไม่ได้ ต้องขอบริจาคเอาจากประชาชน
และวันนั้นคนที่บริจาคให้ก็คือ แบงก์ทหารไทย 2 ล้าน บาท ราชตฤณมัยสมาคม 1 ล้านบาท บริษัทสุรามหาราษฎรและสุราทิพย์อีก 2 ล้านบาท !
ข้อ 2 ผู้เอาประกันภัยหมายถึงนายทหารสัญญาบัตร นายทหารประทวน พลทหารประจำการ พลทหารกองประจำการ พลอาสาพิเศษ อาสาสมัครทหารพราน อาสาสมัครทหารพรานของกองทัพบก ซึ่งได้รับคำสั่งให้มีหน้าที่ปฏิบัติราชการเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ตามแผนหรือคำสั่งที่กองทัพบก และ/หรือ ก.อ.ร.ม.น. กำหนด หรือสั่งการใช้กำลัง
ข้อ 3 เมื่อครบกำหนดการชำระเบี้ยประกันภัย บริษัทจะผ่อนผันระยะเวลาการชำระให้ 30 วัน ถ้าผู้ทรงกรมธรรม์ไม่ชำระเบี้ยภายในกำหนดนี้ ให้ถือว่ากรมธรรม์สิ้นผลบังคับ ตั้งแต่วันครบกำหนดชำระเบี้ยประกัน
ตรงนี้ ... มีเรื่องแปลกจะเล่าให้ฟังคือว่า สัญญาในกรมธรรม์ระบุว่าการชำระเบี้ยในงวดแรกให้ชำระในวันที่ 1 เมษายน 2530 งวด 2 วันที่ 1 ส.ค. 2530 และงวด 3 วันที่ 1 ธ.ค. 2530 ปรากฏว่า 2 งวดแรกไม่มีปัญหา แต่งวด 3 กองทัพบกไม่สามารถชำระเบี้ยประกันจำนวน 6 ล้าน บาท ได้ตามกำหนดระยะเวลา เพราะต้องการนำเงินส่วนนี้ไปใช้ ในโครงการพัฒนาอีสานเขียว ซึ่งตามสัญญาในกรมธรรม์แล้ว สามารถผ่อนผันให้ได้ภายใน 30 วัน คือ 31 ม.ค. 2531 ถ้ายังไม่จ่ายอีกก็ต้องสิ้นสุดของกรมธรรม์นี้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2530 ทันที
"จนถึงวันนี้ (10 ก.พ. 31) ทางบริษัท ยังไม่ได้รับเงินค่าชำระเบี้ยจากกองทัพเลย แต่ก็ยังไม่เป็นไร อะลุ่มอล่วยกันได้ การสิ้นสุดของสัญญายังเหมือนเดิมคือ 31 มี.ค. 2531" อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล และประยูร จินดาประดิษฐ์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยประกันชีวิตกล่าวยืนยัน
จะว่าเบี้ยวก็ไม่เชิงนัก เรียกว่ารายการคุณขอมาจะเหมาะสมกว่าเพราะอะไรที่จะช่วยเหลือกองทัพและชาติบ้านเมืองได้ก็ช่วยกันไป
แต่จริง ๆ แล้ว "ผู้จัดการ" รับทราบจากแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้มาว่า ตอนวันเซ็นสัญญากรมธรรม์ เหตุการณ์สู้รบที่ช่องบกและร่มเกล้ายังไม่เกิดขึ้น ทางบริษัทไทยประกันชีวิตเองก็ค่อนข้างจะมั่นใจมากว่างานนี้บริษัทไม่มีวันขาดทุน แถมยังได้ค่าจัดการอีก 5% ของเบี้ยซึ่งตกราว ๆ 800,000 บาท ด้วยซ้ำไป
ถึงตอนนี้ที่หวังไว้ทั้งหมดผิดพลาดหมด เพราะหนึ่ง - ค่าสินไหมที่บริษัทต้องจ่ายตามเงื่อนไขในสัญญาเกินจำนวนรวมของเบี้ยประกันไปแล้ว 8.5 ล้านบาท ด้วยเกิดกรณีสู้รบหนัก ๆ 2 ครั้งที่ชองบกและร่มเกล้า และสอง - ค่าธรรมเนียมจัดการ 5% ของเบี้ย ซึ่งตกราว ๆ 800,000 บาท ที่จะต้องได้รับตามสัญญาเอาเข้าจริง ๆ ก็ถูกขอร้องไม่ให้คิดจากกองทัพ
"ท่าน ผบ.ทบ. พลเอกชวลิต ขอมาเมื่อเดือนมกราคมปีนี้เอง ทางคุณวานิช ไชยวรรณ ก็บอกท่านไปว่าไม่เป็นไรหรอก จริง ๆ แล้วตอนปิดบัญชีโครงการนี้ทางท่านเองก็คิดจะคืนเงินค่าธรรมเนียมทั้งหมดที่บริษัทจะได้แก่กองทัพอยู่แล้ว" อภิรักษ์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ข้อ 4 การแก้ไขกรมธรรม์นี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อบริษัทตกลงรับการแก้ไขนั้นแล้ว โดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทลงนาม
ข้อ 5 ผู้เอาประกันมีสิทธิจะระบุตัวผู้รับประโยชน์ หรือเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์ใหม่ได้ โดยแจ้งให้ผู้ทรงกรมธรรม์ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร
ข้อ 6 เมื่อผู้เอาประกันบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ผู้ทรงกรมธรรม์จะต้องแจ้งให้บริษัททราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ทราบถึงการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตนั้นพร้อมหลักฐานใบสำคัญ ความเห็นของแพทย์หรือใบมรณบัตร
ข้อ 7 บริษัทจำกัดความรับผิดชอบการจ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิตหรือพิการทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงเท่าจำนวนเงินเอาประกันเพียงรายการเดียว
ข้อ 8 ในแต่ละรอบปีกรมธรรม์ บริษัทรับผิดจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 150% ของเบี้ยประกันที่บริษัทได้รับ
ข้อ 9 เมื่อครบรอบปีกรมธรรม์ บริษัทจะคำนวณเงินคืนตามประสบการณ์ (EXPERIENCE REFUND) ให้แก่ผู้ทรงกรมธรรม์ภายใน 6 เดือน นับแต่วันครบรอบปีกรมธรรม์ โดยใช้สูตร
1. R(0.95 G-C) เพื่อตั้งกองทุนสำรองฉุกเฉิน
2.
3. (I-R) (0.95 G-C) เพื่อคืนผู้ทรงกรมธรรม์
4.
ทั้งนี้ ;
-กองทุนสำรองฉุกเฉิน หมายถึง เงินที่ผู้ทรงกรมธรรม์สำรองไว้เพื่อเป็นค่าสินไหมทดแทน สำหรับส่วนที่เกินความรับผิดสูงสุดของบริษัท... ตรงนี้แหละ ! ที่แหล่งข่าวในวงการประกัน ให้ข้อสังเกตกับ "ผู้จัดการ" ว่า "กรณีการรับบริจาคจากประชาชน จากเหตุสู้รบที่ร่มเกล้า จึงต้องกระทำกัน ต่อเนื่อง แม้นการสู้รบจะยุติลงไปแล้วตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. 31 ก็ตามที"....
- G หมายถึง เบี้ยประกันรวมในรอบปีกรมธรรม์
- C หมายถึง เงินค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นในรอบปีกรมธรรม์ โดยให้รวมถึงจำนวนค่าสินไหมทดแทนค้างจ่าย และเงินสำรองค่าสินไหมทดแทนค้างจ่าย ทั้งนี้การคำนวณเงินค่าสินไหมทดแทน (C) อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ 3 ข้อดังนี้คือ
หนึ่ง - กรณีเสียชีวิตให้ถือเอาวันที่ผู้เอาประกันประสบอันตรายจากการสู้รบในรอบปีกรมธรรม์นั้นเป็นเกณฑ์ สอง - กรณีพิการทุพพลภาพถาวร สิ้นเชิงถึงขั้นปลดประจำการ ให้ถือเอาวันที่ ผู้เอาประกันประสบอันตรายจากการสู้รบ ในรอบปีกรมธรรม์นั้น และการปลดประจำการจะต้องกระทำภายในเวลาไม่เกิน 4 เดือน นับแต่วันครบรอบปีกรมธรรม์ หากพ้นกำหนดนี้แล้วให้ถือว่า สิทธินั้นเป็นอันระงับไป เว้นแต่กรณีที่มีการต่ออายุสัญญา ให้ถือเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนของรอบปีกรมธรรม์ถัดไป และ สาม - เงินค่าสินไหมทดแทนส่วนที่เกิน 95% ของเบี้ยประกันภัย จะต้องยกยอดนำไปรวมกับเงินค่าสินไหมทดแทนในรอบปีกรมธรรม์ถัดไป
- R หมายถึง ตัวเลขที่มีค่าระหว่าง 1 กัน 0 ที่จะกำหนดในแต่ละปี โดยที่ในปีแรก กำหนดให้เท่ากับ 0
ตบท้ายนี้ "ผู้จัดการ" ขอเรียนจริง ๆ ว่า กรมธรรม์ฉบับ YOU ASKED FOR IT นี้ ทางกองทัพเกาหลีเหนือและใต้ น่าจะเอาไปใช้เป็นแบบอย่าง เพราะถ้าหากเกิดกระทบกระทั่งกันเข้าที่หมู่บ้าน "ปังมุนจอม" จะได้นำมาใช้ได้ทันที
|
|
|
|
|