ผู้เชี่ยวชาญวงการประกันภัยกล่าวว่าเงื่อนไขการเกิดสงคราม ไม่ใช่มาจากธรรมชาติ หากมาจากผู้มีอำนาจในสังคม ธุรกิจการประกันภัยสงครามจึงมีความเสี่ยงต่อการขาดทุนสูง แต่บริษัทไทยประกันชีวิตไม่กลัวการขาดทุน คนในวงการเชื่อว่า เป็นรายการ "คุณขอมา" ที่บริษัทไทยประกันชีวิตยินดีรับเพื่อภาพพจน์ที่ดี แต่ "ผู้จัดการ" ว่า เป็นรายการหมูไปไก่มามากกว่า...??
"สงครามมิได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หากบังเกิดจากความขัดแย้งในผลประโยชน์ของชาติ ของชุมชน และมนุษย์ที่การเจรจาในเชิงสันติได้ล้มเหลวลง ดังนั้นเนื้อแท้ของการยุติสงครามด้วยชัยชนะ จึงไม่ใช่อยู่ที่การทำลายข้าศึก หากอยู่ที่การสร้างพลังต่อรองที่ได้เปรียบเหนือจิตใต้สำนึกของมนุษย์ที่แลกมาด้วยการสูญเสียเลือดเนื้อน้อยที่สุด...."
สัจธรรมเชิงปรัชญาข้างต้นนี้ เคล้าซ์วิตท์ บันทึกไว้ใน ON WAR ตำราสงครามระดับคลาสสิคของเขา ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่นักยุทธศาสตร์ทางทหารทั่วโลก แต่ก็นั่นแหละ สัจจะเชิงปรัชญาในทุกสิ่ง ๆ มักจะมีวิถีปฏิบัติที่มักจะส่วนทางกับพฤติกรรมแห่งความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์อยู่เสมอ หาไม่แล้วการเสียเลือดเนื้ออย่างมากมายของเหล่าทหารหาญในตะวันออกกลาง อินโดจีน และแม้กระทั่งชายแดนไทย-ลาว ก็จักไม่มีวันเกิดขึ้น
เมื่อมีการเสียเลือดเนื้อ ภาระของผู้อยู่แนวหลังไม่ว่าจะเป็นญาติมิตรหรือแม้แต่หน่วยธุรกิจเอกชนต่าง ๆ ที่ทำมาหากินอยู่ก็หลีกเลี่ยงได้ยากที่จะอยู่โดยไม่แสดงออก ซึ่งการให้ความช่วยเหลือเลี้ยงดูและให้หลักประกันแก่ผู้สูญเสียไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียชีวิตหรือบาดเจ็บพิการ
ยิ่งในปัจจุบันสถาบันแห่งรัฐมักจะกล่าวอ้างเสมอว่าขาดแคลนงบประมาณการใช้จ่ายเพื่อสร้างความสุขให้แก่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และพลเรือนด้วยแล้ว ภาระก็ย่อมตกหนักอยู่กับหน่วยงานเอกชนผู้อยู่แนวหลัง
"ทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากสงครามจนพิการ ได้รับความช่วยเหลือจากกองสวัสดิการกองทัพบกเพียงเดือนละ 2,000 บาท เท่านั้น มันไม่พอต่อการเลี้ยงดูครอบครัว" ประยูร จินดาประดิษฐ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์ทหารไทย เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังเพื่อย้ำถึงขีดความช่วยเหลือของกองทัพบกต่อทหารที่บาดเจ็บจนพิการจากการสู้รบ และจุดนี้เองที่เชื่อมโยงมาสู่บทบาทการให้ความช่วยเหลือในรูปการให้ประกันชีวิตหมู่ภัยสงครามแก่ทหารสังกัดกองทัพบกเฉพาะส่วนที่รบตามแนวชายแดนของบริษัทไทยประกันชีวิตของเสี่ยวานิช ไชยวรรณ ดังที่ทราบกัน
แต่โลกธุรกิจไม่มีหรอกที่ช่วยเหลือ โดยไม่มีอะไรเป็นผลตอบแทน "ผู้จัดการ" เชื่อว่า งานประกันชีวิตให้ทหารครั้งนี้ถึงที่สุด ก็เป็นเรื่องของหมูไปไก่มาอย่างมิพักต้องสงสัย
"คุณวานิชเป็นไงบ้าง งานประกันชีวิตให้ทหาร..."
"แฮะ ๆ ไม่มีอะไรมาก ก็สนุกดี งานนี้บริษัทเรายินดีขาดทุน 8.5 ล้าน เพื่อแลกกับชื่อเสียง..."
คำถามและคำตอบข้างต้นเป็นการพูดโต้ตอบกันระหว่าง สรร อัษรานุเคราะห์ กับ วานิช ไชยวรรณ ซึ่งได้มีโอกาสพบปะกันในงานเลี้ยงแห่งหนึ่งหลังจากสถานการณ์การสู้รบ ที่บ้านร่มเกล้าระหว่างไทย- ลาว ใกล้ยุติลง ซึ่งสะท้อนบางด้านของเนื้อหาโครงการประกันชีวิตทหารที่บริษัทไทยประกันชีวิต รับประกันให้กับกองทัพบกได้พอประมาณ
สรรเป็นเพื่อนรักของวานิช ทั้ง 2 ถือหุ้นร่วมกันในธนาคารแหลมทอง โดยถือหางข้าง สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ในการต่อกรกับแขกจอมลวดลาย - สุระ จันทร์ศรีชวาลา
เข้าทำนองเป็นมิตรร่วมรบ แต่ไม่ร่วมเมา ! เพราะวานิชค้าสุราที่สุราทิพย์ (จึงดื่มเหล้าบ่อย ๆ ) ขณะที่สรรค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้การสื่อสาร
ดังนั้น เมื่อสรรทราบว่าวานิช นำบริษัทไทยประกันชีวิตไปประกันชีวิตให้ทหารตามชายแดน และทราบว่างานนี้เสี่ยวานิชเจอศึกหนักเข้าไป 2 ครั้ง ที่ช่องบกกับบ้านร่มเกล้า เมื่อบังเอิญมาพบกันเข้าก็เลยถามไถ่ด้วยความเป็นห่วงตามประสาชอบพอกัน
แต่ที่น่าสนใจก็คือ งานนี้ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเสี่ยงต่อการต้องขาดทุน ขนาดบริษัทประกันชีวิตรายอื่น ๆ รู้เข้ายังต้องรีบเดินหนี ไฉนบริษัทไทยประกันชีวิตของเสี่ยวานิชจึงเข้าไปแบกและเกี่ยวข้องแต่รายเดียว?
เมื่อกลางเดือนธันวาคม ปี 2529 มีการประชุมคณะกรรมการธนาคารทหารไทย พลเอกชวลิต - บิ๊กจิ๋ว ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน ในฐานะกรรมการแบงก์ด้วยคนหนึ่งได้เข้าประชุมพร้อม ประยูร จินดาประดิษฐ์ ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่
ช่วงก่อนที่จะมีการประชุมตามวาระเล็กน้อย บิ๊กจิ๋วได้ปรารภกับประยูรว่า กองทัพบกอยากช่วยเหลือทหารที่เสียชีวิต หรือทุพพลภาพจากการปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดน โดยไม่ต้องไปรบกวนงบประมาณแผ่นดิน
เผอิญตอนนั้นประยูรดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทไทยประกันชีวิตอยู่ด้วย ก็เลยนำคำปรารภของบิ๊กจิ๋วนี้มาปรึกษากับ วานิช ไชยวรรณ กรรมการผู้อำนวยการบริษัทไทยประกันชีวิตว่า พอจะมีทางช่วยเหลือทหารอย่างไรบ้าง
เสี่ยวานิชรับคำปรารภก็ส่งลูกต่อให้ อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการทันที ว่ากันว่า ตอนนั้นอภิรักษ์ก็งงเหมือนกัน เพราะยังไม่รู้ว่าทาง ผอ.ทบ. ต้องการให้บริษัทไทยประกันเข้าไปช่วยเหลือในลักษณะไหนและมีขอบเขตกว้างขวางประการใด
"จะให้บริษัทเข้าไปประกันชีวิตหมู่ ให้ทหารทั้งกองทัพอย่างที่พลเอกอาทิตย์เคยคิด ผมว่าทำไม่ได้ เพราะความเสี่ยงสูงต้องใช้เงินมาชำระเบี้ยประกันหลายร้อยล้านบาท ทางกองทัพบกจะหาเงินมาจากไหน? อภิรักษ์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงเหตุการณ์ตอนแรก ๆ ที่ตนได้รับทราบข่าวจากวานิชว่า กองทัพบกอยากให้บริษัทประกันช่วยเหลือทหาร
ในสมัยพลเอกอาทิตย์เป็น ผบ.ทบ. นั้น เคยปรารภกับเจ้าของบริษัทประกันชีวิต หลายครั้งว่าอยากให้ช่วยเหลือทำประกันชีวิตให้ทหารทั้งกองทัพบก ซึ่งในสมัยนั้นพวกบริษัทประกันชีวิตหลายบริษัท ก็ได้นำเรื่องนี้มาปรึกษาหารือกันในสมาคมประกันชีวิตหลายครั้ง และมีข้อสรุปว่า พลเอกอาทิตย์เพ้อฝันมากเกินไป
"เพราะท่านปรารภว่าอยากประกันชีวิตทหารทั้งกองทัพบกในทุกกรณี พวกเรามานั่งคิดคำนวณเบี้ยประกันโดยใช้อัตรา 2 เท่าของอัตรามรณะของคนในยามปกติเป็นฐาน ปรากฏว่าค่าเบี้ยมัน สูงมากหลายร้อยล้านบาท อีกอย่างหนึ่งการที่ให้ความคุ้มครองทุกกรณี มันเสี่ยงเกินไป ตกลงก็เลยไม่มีบริษัทไหนกล้ารับ เผอิญท่านพลเอกอาทิตย์ก็เฉย ๆ ไป เรื่องนี้ก็เลยเงียบจนท่านถูกปลดออกจากตำแหน่ง..." แหล่งข่าวบางท่านให้ข้อสังเกตว่าจริง ๆ แล้วงานนี้พลเอกอาทิตย์ท่านไม่เอาจริงมากกว่า เพราะอำนาจบารมีมีอยู่อย่างล้นเหลือ ถ้าเอาจริง ๆ แล้ว ไฉนเลยจะมีบริษัทประกันชีวิตหน้าไหนกล้าปฏิเสธ ... !
เรื่องนี้เมื่อตกมาถึงสมัยบิ๊กจิ๋วเป็น ผบ.ทบ. ก็รื้อฟื้นขึ้นมาอีกอย่างจริงจัง แหล่งข่าวยืนยันว่า มีความเป็นไปได้มากว่าก่อนหน้าที่บิ๊กจี๋วจะนำเรื่องมาปรารภกับประยูร จินดาประดิษฐ์ ในที่ประชุมกรรมการแบงก์ทหารไทย ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2529 ก่อนหน้านั้นราว ๆ เดือนตุลาคมปีเดียวกัน ก็ได้มีการนำเรื่องนี้พูดคุยกับบริษัทประกันชีวิตรายอื่น ๆ อย่างไม่เป็นทางการ แต่เนื่องจากตอนนั้นแนวคิดเรื่องนี้ยังไม่แจ่มชัด บวกกับมันเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูง จึงไม่มีบริษัทไหนให้ความสนใจ และเมื่อมีโอกาสพูดคุยเรื่องนี้กับประยูร ความเป็นไปได้ก็ดูจะสดใสขึ้น
"พลเอกประยุทธ จารุมณี ประธานแบงก์ทหารไทย ประยูร จินดาประดิษฐ์ และพลเอกชวลิต ท่านต่างเป็นกรรมการแบงก์ทั้งสิ้น เรื่องนี้มันง่ายกว่าไปคุยกับบริษัทประกันอื่น" แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตุถึงที่มาของการรับประกันของบริษัทไทยประกันชีวิตในโครงการนี้ เหมือนกับจะบอกว่ามันเกิดขึ้นมาจากการอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงระหว่างทางบริษัทไทยประกันชีวิตกับกองทัพบกมากกว่าสิ่งอื่น
เมื่อโครงการนี้มาลงตัวที่บริษัทไทยประกันฯ เดือนมกราคมทางกองทัพบกโดยพลเอกชวลิต ผบ.ทบ. ก็แต่งตั้งให้ เสธ. จรวย วงศ์สายันห์ เป็นตัวประสานงานนี้กับบริษัทฯ เสธ. จรวยนำนโยบายรูปธรรมโครงการนี้ มาแจ้งให้บริษัทไทยประกันชีวิตได้ทราบ โดยเชิญอภิรักษ์จากบริษัทไทยประกันฯ สุมิตรา ผอ. กองประกันชีวิตจากสำนักงานประกันภัยกระทรวงพาณิชย์มาร่วมประชุมและปรึกษาหารือ ที่กองทัพบก
"จริง ๆ แรกสุดเราไม่แน่ใจว่าทางกองทัพบกจะให้เราประกันชีวิตทหารแบบเสียชีวิตธรรมดา ๆ หรือเอาภัยสงครามด้วยซึ่งท่าน เสธ. จรวยก็บอกว่าท่าน ผอ.ทบ. ให้นโยบายมาว่า เอาเฉพาะภัยสงครามอย่างเดียว และคุ้มครองตามระดับยศชั้นเป็นขั้น ๆ ลงไป คือระดับยศชั้นนายทหารสัญญาบัตร 100,000 บาท ชั้นประทวน 80,000 บาท และชั้นพลทหาร 50,000 บาท แล้วท่านก็ให้ข้อมูลตัวเลขสถิติการเสียชีวิตและบาดเจ็บของทหารจากภัยสงคราม 10 ปีย้อนหลัง มาให้เราคำนวณเบี้ยประกัน" อภิรักษ์ ไทยพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยประกันชีวิตเล่า
ว่ากันว่า งานนี้อภิรักษ์ซึ่งมีเครดิตเป็นผู้เชี่ยวชาญวงการคณิตศาสตร์ประกันภัย ทั้งที่ภายในและต่างประเทศยอมรับลงไปเล่นเองเลย เหตุผลเพราะ หนึ่ง - งานชิ้นนี้เป็นครั้งแรกของบริษัทและอาจจะเป็นครั้งแรกของโลกเลยก็ว่าได้ที่มีการประกันชีวิตหมู่ภัยสงครามให้กับทหาร
"กรมธรรม์ชนิดนี้ไม่ใช่แบบประกันชีวิตหมู่ธรรมดา แต่เป็นลักษณะกึ่ง ๆ ระหว่างการจัดการกองทุนกับประกันชีวิต" อดีตผู้บริหารบริษัทประกันชีวิตดังท่านหนึ่งให้ข้อสังเกตกับ "ผู้จัดการ" ถึงลักษณะความแปลกประหลาดของกรมธรรม์ชนิดนี้ ... ดังนั้น จึงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญอย่างอภิรักษ์มาเล่นเอง
และจากการสืบค้นของ "ผู้จัดการ" ในข้อเท็จจริงถึงตัวกรมธรรม์นี้ก็เป็นดังเช่นข้อสังเกตข้างต้นจริง ๆ โดยกรมธรรม์นี้ได้รับการรับรองถูกต้องตาม ก.ม. จากสำนักงานประกันภัยด้วยเวลาเพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น ซึ่งนับว่ารวดเร็วมากเป็นพิเศษคล้าย ๆ กับรายการคุณขอมาอย่างไรอย่างนั้น !
กรมธรรม์ที่ว่านี้มีชื่อเรียกว่า "การประกันภัยหมู่แบบภัยสงคราม" (อ่านล้อมกรอบประกอบ)
การคิดเบี้ยประกันกรมธรรม์ชนิดนี้จะใช้หลักการคิดเบี้ยประกันตามหลักการวิชาคณิตศาสตร์ประกันภัยไม่ได้ จึงยากเป็นพิเศษกล่าวคือ ข้อมูลที่ใช้เป็นฐานการคิดคำนวณเบี้ยประกันแทนที่จะใช้อัตราตารางมรณะตามหลักการกลับคิดเอาจากฐานประสบการณ์การสูญเสียในอดีตที่กองทัพแจ้งข้อมูลมาให้ ปรับด้วยค่าเฉลี่ยเบี่ยงเบนมาตรฐาน (STANDARD DEVIATION) และบวกด้วย SAFETY MARGIN อีก 5%
ปรากฏว่าจากการนั่งทำงานของอภิรักษ์และสุมิตรา ในตอนแรกได้เสนอให้กองทัพบกพิจารณามีข้อสรุป 2 ข้อ คือ หนึ่ง - ทางบริษัทขอคิดค่าธรรมเนียมจัดการ 5% ของเบี้ยประกันทั้งหมด และถ้าหากว่าเมื่อมีเงินเหลือหลังจากหักค่าสินไหม ที่ต้องจ่ายไปตามข้อตกลงในกรมธรรม์ ทางบริษัท จะคืนผลประโยชน์และจำนวนเงินที่เหลือ (ในเบี้ยประกัน) ทั้งหมดแก่กองทัพ ซึ่งเรียกว่า EXPERIENCE REFUND สอง- บริษัทคำนวณค่าเบี้ยประกันปีแรก 50 ล้านบาท
แหล่งข่าวในกองทัพบกที่รู้เรื่องนี้ดีกระซิบให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ตอนที่บริษัทไทยประกันฯ เสนอรายละเอียดค่าเบี้ยประกันมาอยู่ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปรากฏว่าบิ๊กจิ๋ว - พลเอกชวลิต ถึงกับผงะเพระค่าเบี้ยประกันภัยมันสูงเกินไป
"ตอนนั้นเสธ. จรวย ส่งตัวเลขสถิติ 10 ปี ย้อนหลังมาให้ ซึ่งมันรวมเอาตัวเลขทหารที่บาดเจ็บ แต่ยังไม่ปลดประจำการมาด้วย บิ๊กจิ๋วท่านก็ให้เรามาคำนวณดูใหม่" อภิรักษ์เล่าให้ฟังด้วยเสียงหัวเราะ
ความจริงแล้ว บิ๊กจิ๋วมีตัวเลขอยู่ในใจอยู่แล้วว่าค่าเบี้ยประกันปีแรกนี้กองทัพบก มีความสามารถหาเงินมาได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท !!!
ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ อภิรักษ์ได้คำนวณตัวเลขขึ้นมาใหม่ โดยใช้ตัวเลขสถิติย้อนหลังเหลือเพียง 5 ปี และตัดจำนวนทหารที่บาดเจ็บแต่ยังไม่ปลดประจำการออก และปรับด้วยค่าเฉลี่ยเบี่ยงเบนมาตรฐานพร้อมบวกด้วย SAFETY MARGIN 5% เหมือนเดิม ปรากฏว่าตัวเลขค่าเบี้ยประกันออกมา 17 ล้านบาท
"พอเราคำนวณได้ ก็มาหาวิธีปกป้องความเสี่ยงจากการขาดทุนว่าควรจะรับได้เท่าไร ผมก็ใช้เครื่องมือทางสถิติ STANDARD DEVIATION คำนวณเปอร์เซ็นต์ออกมาปรากฏว่ามันตกอยู่ที่ไม่เกิน 50% ของจำนวนเบี้ยประกัน ซึ่งเท่ากับ 8.5 ล้านบาท ก็เสนอไปให้บิ๊กจิ๋วพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ท่านก็ O.K." อภิรักษ์เล่าให้ฟังถึงวิธีการคิดค่าเบี้ยประกันรอบสองแก่บิ๊กจิ๋ว
ก็ไม่แปลกใจอะไร งานนี้ทั้งข้อมูลเอยจำนวนเบี้ยประกันเอย ทั้งหมดกองทัพบกกำหนดมาให้ทั้งนั้น ก็เหมือนกับคำพูดของประยูร จินดาประดิษฐ์ ที่เน้นว่า "บริษัทไทยประกันฯ เชื่อใจกองทัพบกทุกอย่าง"
ดังนั้นถ้าจะเรียกว่างานนี้ของไทยประกันฯ เป็นรายการคุณขอมาก็ไม่ผิด และกรมธรรม์นี้จะเรียกว่า เป็นกรมธรรม์ใต้ร่มธงท็อปบู๊ทก็ไม่น่าจะผิดอีก ... !
ความจริงผลงานชิ้นนี้ของบิ๊กจิ๋ว ถ้ามองในแง่ความสมเหตุสมผลในการบริหารกองทัพบก ไม่มีอะไรผิดพลาด เพราะหนึ่งโดยเนื้อแท้แล้วบิ๊กจิ๋วต้องการ มุ่งไปที่การประกันชีวิตให้กลุ่มทหารพรานมากกว่าทหารประจำการ เพราะพวกทหารพรานได้รับสวัสดิการจากกองทัพน้อยกว่าทหารประจำการอยู่แล้ว เวลาบาดเจ็บหรือล้มตายจากภัยสงครามอย่างมากก็ได้เงินช่วยเหลือจากมูลนิธิสายใจไทยเดือนละไม่เกิน 2,000 บาทเท่านั้น ขณะที่ทหารประจำการจะได้เงินช่วยเหลือจากกองทัพในรูปเงินบำเหน็จตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีปี 2512 โดยเป็นเงินบำเหน็จ 25 เท่าของเงินเดือน กรณีเสียชีวิต หรือ 30 เท่าของเงินเดือน กรณีพิการ สอง- เงินที่เป็นค่าเบี้ยประกันใน โครงการนี้ ไม่ได้เอามาจากงบประมาณแผ่นดิน แต่มาจากงบบริจาคที่บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ออกให้
แต่สำหรับในแง่ของบริษัทไทยประกันฯ แล้ว งานนี้ยังมีข้อสงสัยอยู่ว่าจะบรรลุถึงหน้าตาหรือภาพพจน์ต่อสาธารณชนจริง ๆ หรือไม่เหตุเพราะในแง่ธุรกิจประกันชีวิตสิ่งที่จะมาได้มาซึ่งภาพพจน์ที่ดีอยู่ในขั้นตอนชำระค่าสินไหมแก่ผู้เอาประกัน แต่เนื่องจากข้อมูลการสูญเสียของทหารที่เกิดขึ้นอยู่ในมือกองทัพ และบริษัทไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้จริงด้วยเหตุผลเป็น "ความลับทางราชการ" จึงเป็นดาบสองคมแก่บริษัทอยู่ไม่น้อย
"ถ้ายิ่งมีการออกข่าวการชำระสินไหมถี่มากเท่าไร บริษัทก็ได้หน้าตามากขึ้น แต่กองทัพไม่ชอบเพราะเท่ากับเป็นการเปิดเผยจำนวนการสูญเสียแก่สาธารณะ มองในแง่นี้แล้ว เป็นไปได้มากว่างานนี้ทางบริษัทไทยประกันฯ ไม่ได้หน้าตาเท่าไรในสายตาประชาชนทั่วไป" ผู้เชี่ยวชาญการบริหารธุรกิจประกันชีวิตวิเคราะห์ให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
และแม้ว่าในสัญญาโครงการประกันชีวิตครั้งนี้จะเป็นปีต่อปี ในปีหน้าบริษัทไทยประกันฯ ก็ต้องทำสัญญาต่อกับกองทัพบกต่อไปในลักษณะเช่นเดิม "เข้าทำนอง ขี่หลังเสือแล้วลงไม่ได้" เพราะถ้าไทยประกันฯ ขอเลิกสัญญาต่อก็อาจจะผิดใจกับทางกองทัพ ซึ่งในสถานะเช่นนี้บริษัท ไทยประกันฯ จึง "อึดอัด" พอสมควรกับภาระที่จะต้องแลกเอาระหว่างความเสี่ยงต่อการขาดทุน กับความสัมพันธ์อันดีกับทหาร
"จุดภาระที่รู้สึก "อึดอัด" นี้เข้าใจว่าทางผู้บริหารของไทยประกันฯ เองก็เข้าใจดีว่า แนวโน้มของสงคราม (ที่อาจจะเกิดขึ้น) ในอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรจะมายืนยันได้ว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะมูลเหตุของสงครามไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่มันเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของคนระดับสูงในกองทัพและรัฐบาล" แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญกล่าวเน้น
แต่อย่างไรก็ตาม งานนี้ไม่ว่าบริษัทไทยประกันฯ จะรู้สึกอย่างไรที่ผลได้ทางธุรกิจแทบจะมองไม่เห็น และเป็นรายการที่คุณขอมาที่ออกจะปฏิเสธได้ยาก นักสร้างสรรค์ทางธุรกิจประกัน ชีวิตอย่างอภิรักษ์ก็จักต้องเดินหน้างานนี้ต่อไป ตามคำสั่งผู้ใหญ่ในบริษัท และแล้ว ...
วันที่ 27 มีนาคม ปีที่แล้ว สัญญากรมธรรม์ประกันภัยหมู่แบบภัยสงคราม ระหว่างบิ๊กจิ๋วกับบริษัทไทยประกันฯ - วานิช ไชยวรรณ และอภิรักษ์ ต่อหน้าสักขีพยาน พลเอกประยุทธ จารุมณี ประธานกรรมการแบงก์ และประยูร จินดาประดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการแบงก์ที่หอประชุมกองทัพบกก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กองทัพบกไทย และของบริษัทไทยประกันชีวิตเองในรอบ 45 ปีที่ก่อตั้งมา
สัญญามีอายุ 1 ปี (1 เมษายน 2530 - 31 มีนาคม 2531) กำหนดให้วันที่ 1 เมษายน 2530 กองทัพบกต้องจ่ายเบี้ยประกันงวดแรกจำนวน 5 ล้านบาท แก่บริษัทไทยประกันฯ งวด 2 วันที่ 1 ส.ค. 2530 และงวด 3 วันที่ 1 ธ.ค. 2530 งวดละ 6 ล้านบาท
แต่ก็อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า งานนี้เป็นรายการคุณขอมาจะกระอักกระอ่วนอย่างไรก็ต้องทนเอา เพราะปรากฏว่าทางกองทัพบกไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันงวดที่ 3 สุดท้ายจำนวน 6 ล้านบาท ได้ตามระยะเวลาในสัญญา !
"กองทัพจ่ายมาเพียง 11 ล้านบาท ที่เหลือเห็นทางท่านพลเอกชวลิตบอกว่าจะนำไปใช้ในโครงการพัฒนาอีสานเขียน... เราก็ไม่ว่าอะไรเพราะถือว่าช่วยกันได้ก็ช่วยกันไป เวลาปิดบัญชีเราก็จะมาดูว่างานนี้มีเงินค้างจ่ายอยู่เท่าไร ทางกองทัพบกจะต้องจ่ายเบี้ยประกันอีกเท่าไหร่ เพื่อทบยอดบัญชีปีต่อปี" อภิรักษ์เล่าเพื่อย้ำว่า ทางบริษัทไทยประกันฯ ให้การอะลุ้มอล่วยอย่างเต็มที่กับกองทัพบก
ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจประกันให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ถึงประเด็นนี้ว่า เป็นไปได้ว่างานนี้ทางบริษัทไทยประกันฯ ต้องใช้วิธีจ่ายค่าสินไหมล่วงหน้าในส่วนที่เกิน 11 ล้านบาทไปก่อน เพราะจากการประเมินสถานการณ์สงครามที่ช่องบกและร่มเกล้า น่าเชื่อได้ว่าทางบริษัทไทยประกันฯ คงต้องจ่ายสินไหมตามสัญญาแก่กองทัพบกเกินกว่าจำนวนเบี้ยประกัน 17 ล้านบาท แน่นอน และอาจถึงระดับ STOP LOSS 8.5 ล้านบาทด้วย
แต่การขาดทุน 8.5 ล้านบาทนี้เมื่อเทียบกับฐานะเงินทุนสำรองจริงและสำรองฉุกเฉินเกือบ 600 ล้านบาท ของบริษัทเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก และที่สำคัญที่สุดเพื่อพิจารณาจากโครงข่ายทางธุรกิจของเสี่ยวานิชเอง ก็เป็นไปได้ว่าการแลกกับการขาดทุนเล็กน้อยในบริษัทไทยประกันฯ กับผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องที่จะได้รับจากโครงการต่าง ๆ ของกองทัพในบริษัทเครือข่ายของเสี่ยวานิช ก็นับว่าคุ้มค่าอยู่ เหตุผลก็คือ
หนึ่ง - วานิชกับผู้นำในกองทัพรู้จักสนิทสนมกันมาก ธุรกิจในเครือข่ายของวานิชหลายบริษัทมีนายทหารระดับสูงร่วมเป็นกรรมการด้วย จึงจำเป็นอยู่เองที่วานิชต้องใช้หลักการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
"ในอนาคตเป็นไปได้ว่าการประกันอุบัติเหตุให้ทหารก็อาจจะเกิดขึ้น ทหารในกองทัพมีมาก-มายขนาดไหน คุณก็รู้ และธุรกิจประเภทนี้ก็ทำกำไรให้บริษัทมาก ๆ คุณวานิชเองก็มีบริษัทไพบูลย์ ประกันภัยอยู่ในมือ แล้วตลาดส่วนนี้มันจะไปไหนเสีย" แหล่งข่าวใกล้ชิดกับวานิช ให้ข้อสังเกตกับ "ผู้จัดการ" เป็นการยืนยันว่า เป็นไปได้อย่างมากที่งานประกันชีวิตทหารโดยเนื้อแท้แล้ว เป็นตัวนำร่อง ให้แก่เครือข่ายธุรกิจต่าง ๆ ของวานิช ที่จะเข้าไปทำธุรกิจกับกองทัพ
เมื่อย้อนหลังไปในอดีตของวานิช เขาเติบโตจนเป็นเศรษฐีจากธุรกิจผลิตและค้าเหล้าขาวในนครปฐม และอุตรดิตถ์ก่อนที่จะมาผงาดในบริษัทสุราแม่โขงและหงส์ทองในปัจจุบัน และธุรกิจสุราก็ รู้ ๆ กันอยู่ว่ามันเป็นธุรกิจที่จะต้องสร้าง CONNECTION กับผู้มีอำนาจต่าง ๆ แม้กระทั่งคนในเครื่อง-แบบไม่ว่าจะเป็นสีไหน
"ธุรกิจนี้มันมีทั้ง GIVE และ TAKE ถ้าใจไม่ถึงก็ไปไม่รอด" พ่อค้าสุรากล่าวย้ำกับ "ผู้จัดการ"
แต่วานิชก็อยู่รอดมาได้และเติบโตเอามาก ๆ ในธุรกิจนี้ ซึ่งแสดงว่าโดยตรรกแล้วเขาก็คงไม่ได้หลีกเลี่ยงไปจากวิธีการเช่นนี้
สอง - แม้การรับประกันชีวิตให้ทหารจากภัยสงครามจะขาดทุน แต่ผลต่อเนื่องจากธุรกิจนี้ในกองทัพอากาศ กองทัพเรือ และตำรวจ ก็มีแนวโน้มสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจแก่บริษัทไทยประกันฯ ได้ ประจักษ์พยานในข้อนี้จะดูได้จากคำยืนยันของอภิรักษ์เองที่เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า ตอนนี้ตำรวจตามโรงพักต่าง ๆ จำนวน 18 โรงพัก ได้ทำสัญญาประกันชีวิตหมู่ทุกกรณีกับบริษัท "โรงพักแต่ละแห่งเสียค่าเบี้ยประกันในการนี้เฉลี่ยประมาณ 20,000 - 30,000 บาท แล้วแต่จำนวนตำรวจและโครงสร้างอายุรวม 18 แห่งก็นับว่ามากและคุ้มต่อธุรกิจ"
ใช่แล้ว .... 18 โรงพัก โรงพักละ 30,000 บาท คิดเป็นค่าเบี้ยประกัน 540,000 บาท ต่อปี ที่บริษัทไทยประกันฯ ได้รับมันน้อยเสียเมื่อไหร่ และการประกันเช่นนี้ก็ไม่เหมือนที่ทำกับทหารกองทัพบก เพราะกรณีที่ผู้เอาประกันไม่เสียชีวิต บริษัทไม่ต้องคืนเงินให้เป็นการทำประกันชีวิตหมู่ปกติทั่วไป
ปราณีต วีรกุล หัวหน้าส่วนประกันชีวิตหมู่บริษัทประกันฯ ได้กล่าวยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่า การประกันชีวิตหมู่ให้ตำรวจตามโรงพักต่าง ๆ นี้เกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทได้ทำสัญญาประกันชีวิตหมู่ภัยสงครามแก่กองทัพบก โดยบริษัทได้เสนอโครงการและการขายไปที่โรงพักต่าง ๆ ทั่วเขต กทม. ซึ่งมีอยู่ประมาณ 70 แห่ง
"เงินค่าเบี้ยประกันเป็นการลงขันกันเองของตำรวจตาม สน. ต่าง ๆ ไม่ใช่มาจากงบสวัสดิการของกรมตำรวจแต่อย่างใด"
"ผู้จัดการ" ลองคำนวณดูแล้ว ถ้าตำรวจทำประกันทั้ง 70 แห่ง บริษัทไทยประกันฯ ก็จะมีรายรับจากค่าเบี้ยประกันปีละ 2,100,000 บาท อย่างหน้าตาเฉย
จากเหตุการณ์สู้รบที่ช่องบกและติดตามด้วยสมรภูมิบ้านร่มเกล้า ดูเผิน ๆ หลาย คนอาจจะคิดว่าไทยประกันชีวิตคงจะต้องตกที่นั่งลำบาก
แต่ในระยะยาวเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการดังกล่าวคงพอจะช่วยยืนยันได้ว่า ก็คงจะลำบากไม่มากและไม่นานหรอก ผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นจะต้องตอบแทนกลับมาในที่สุด
|