Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2531
อยากมี "ร่มเกล้า" อีกมั้ย?             
โดย รุ่งอรุณ สุริยามณี
 

   
related stories

อนุสรณ์ "ศึกร่มเกล้า" ชัยชนะซ่อนลึกของ "พ่อค้าเถื่อน"
ศึกครั้งนี้สำหรับนักค้าอาวุธ ยิ่งกว่าถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 เสียอีก

   
www resources

โฮมเพจ กระทรวงการต่างประเทศ

   
search resources

กระทรวงการต่างประเทศ
Laos
พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)
Political and Government




บ้านร่มเกล้าที่เป็นพื้นที่พิพาทระหว่างไทย-ลาวไม่ได้กว้างขวางมากมายอะไรนัก จากแนวแม่น้ำ 2 สายที่ต่างฝ่ายยึดถือคนละเส้นปล่อยเนื้อที่ว่างตรงกลางที่ทำให้ต้องรบราฆ่าฟันกันเพียงราว ๆ 80 ตารางกิโลเมตรวัดตามคุณค่าทางเศรษฐกิจแล้วแทบจะไม่มีประโยชน์เลย ในแง่ยุทธศาสตร์การทหารก็ไม่ได้สลักสำคัญแต่ประการใด แล้วเหตุไฉนเรื่องของบ้านร่มเกล้าไทย-ลาวจึงพูดกันไม่รู้เรื่อง??

แม่น้ำเหืองเป็นลำน้ำตามธรรมชาติไหลทอดผ่านป่าเขาจากต้นกำเนิดที่ภูสอยดาวเขตรอยต่อจังหวัดพิษณุโลกกับจังหวัดเลย ช่วงต้นของแม่น้ำเหืองมีชื่อตามาภาษาท้องถิ่นอีกชื่อหนึ่งว่าแม่น้ำปากหมันช่วงปลายของแม่น้ำเรียกว่าแม่น้ำเหือง โดยที่เป็นลำน้ำสายเดียวกันเพราะฉะนั้นก็เลยมีการเรียกควบว่าแม่น้ำเหืองปากหมันไปโดยปริยาย (หรือที่เรียกเหืองใหญ่ก็มี)

ออกมาทางด้านตะวันออกของแม่น้ำเหืองปากหมันมีลำน้ำตามธรรมชาติอีกสายหนึ่ง ต้นน้ำอยู่ที่ภูเมี่ยงซึ่งอยู่ติด ๆ กับภูสอยดาว แม่น้ำสายนี้มีชื่อเรียกกันว่าแม่น้ำเหืองงาหรือเหืองน้อย

แม่น้ำเหืองปากหมันกับแม่น้ำเหืองงาไหลมาบรรจบกันบริเวณพื้นที่อำเภอชาติตระการจังหวัดพิษณุโลกตรงตะเข็บพรมแดนไทย-ลาว จากนั้นก็ไหลลงแม่น้ำโขงไป

แม่น้ำเหืองปากหมันและแม่น้ำเหืองงาไหลทอดผ่านจากเหนือลงใต้ จากต้นกำเนิดของลำน้ำทั้ง 2 สายจนถึงจุดที่มาบรรจบกัน พื้นที่ว่างตรงกลางมีขนาดราว ๆ 80 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ป่าเขาสูงต่ำสลับซับซ้อนไปมายากลำบาก

และพื้นที่ราว ๆ 80 ตารางกิโลเมตรนี่แหละที่กลายเป็นชนวนพิพาทถึงขั้นทำสงครามกันอย่างดุเดือดระหว่างไทยและลาวโดยไทยอ้างเขตแดนอาศัยแม่น้ำเหืองงาเป็นเขต ส่วนลาวอ้างแม่น้ำเหืองใหญ่หรือเหืองปากหมันเป็นเขต

จากเหตุการณ์และพยานหลักฐานค่อนข้างชี้ชัดว่า กรณีพิพาทตรงพื้นที่ตรงนี้เพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2530 นี่เอง จากจุดเล็ก ๆ แล้วก็ขยายตัวจนมีการใช้กำลังทหารเข้าห้ำหั่นกันซึ่งช่วงที่ดุเดือดที่สุดก็คือช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก่อนที่จะมีการเจรจายุติศึกหลังจากนั้นไม่กี่วัน "ซึ่งก็นับว่าโชคดีมากที่จบลงได้ ไม่เช่นนั้นแล้วก็คงคาดหมายลำบากมากว่าสงครามที่เกิดขึ้นนี้จะลงเอยกันแบบใด จะกลายเป็นสงครามใหญ่ระหว่างชาติหรือไม่ ก็สุดที่จะทราบได้..." นักธุรกิจใหญ่คนหนึ่งพูดแบบโล่งอกให้ฟัง

สงครามย่อย ๆ ระหว่างไทย-ลาวในช่วงที่ยังไม่มีทางออกนั้น แม้ว่าบรรยากาศแนวหลังจะถูกปลุกด้วยกระแสความรักชาติ รักแผ่นดิน แต่ลึก ๆ แล้วหลายคนก็คงอดเป็นห่วงกับผลกระทบที่จะต้องเกิดขึ้นทั้งในระยะเฉพาะหน้าและระยะยาวอย่างมิพักต้องสงสัย ระบบเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจะเป็นเช่นไร? การท่องเที่ยวที่นำรายได้เข้ามามหาศาลจะกระเทือนไหม? และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้นำอย่างพลเอกเปรม ติณสูลานนท์และผู้นำทางการทหารอย่างพลเอกชวลิต ยงใจยุทธแล้วก็น่าจะต้องคิดถึงปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลและกองทัพด้วยอย่างช่วยไม่ได้

"ตั้งแต่เริ่มต้นที่สั่งเคลื่อนทัพเข้าลุยถึงขั้นรบแตกหักและจบลงด้วยการเจรจายุติศึกหลักการเกี่ยวกับกรณีพิพาทคราวนี้ของพลเอกเปรมและพลเอกชวลิตซึ่งมีความเห็นสอดคล้องต้องกันก็คือต้องยุติปัญหาโดยเร็วที่สุดจะปล่อยให้ยืดเยื้อไม่ได้..." นายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

การส่งกำลังทหารทั้งภาคพื้นดินและภาคอากาศเข้าบดขยี้ผลักดันกองกำลังติดอาวุธของลาวออกไปจากพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิเป็นการลงมืออย่างขนานใหญ่ ว่ากันว่าฝูงบินที่ไทยสั่งขึ้นบินไปบอมบ์ลาวนั้นสถิติสูงสุดต้องบินถึงวันละ 24 เที่ยวทีเดียว ทั้งนี้ก็เป็นไปตามหลักการที่ต้องการชัยชนะอย่างเด็ดขาดและรวดเร็วเพื่อยุติปัญหา

ขณะเดียวกันเมื่อมีช่องเจรจาก็มีการตัดสินใจเจรจายุติศึกอย่างรวดเร็วทันควันตามหลักการที่วางไว้อย่างไม่ละเลยเช่นกัน

มีเหตุผลหลายประการทั้งในแง่ผลกระทบและปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองที่ทำให้ผู้นำฝ่ายไทยดำเนินหลักการดังกล่าว

ส่วนลาวโดยองค์กรนำจริง ๆ แล้วก็ไม่อยากรบกับไทยเลยสักนิด การเปลี่ยนแปลงแนวทางของโลกสังคมนิยมภายใต้การนำของโซเวียตทำให้ผู้นำลาวเองก็มีปัญหาเฉพาะหน้าอันสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องกระทำซึ่งปัญหาเฉพาะหน้านี้จะสำเร็จหรือไม่บรรยากาศของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับไทยในฐานะประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่ต่างระบบการปกครองกันนับเป็นปัจจัยที่ไม่อาจมองข้ามได้

สำหรับลาวนั้นเรียกพื้นที่ราว ๆ 80 ตารางกิโลเมตรที่แบ่งกั้นโดยแม่น้ำเหืองปากหมันและแม่น้ำเหืองงานี้ว่าตาแสง (ตำบล) นาบ่อน้อยซึ่งขึ้นกับเมืองบ่อแตนแขวงไชยบุรี

ส่วนไทยก็เรียกว่าบ้านร่มเกล้า อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก

ชื่อตาแสงนาบ่อน้อยของลาวจะผนวกพื้นที่ตรงนี้จริงหรือไม่ก็คงจะเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป และเป็นชื่อที่ตั้งกันมานานแค่ไหนมิอาจทราบได้ ?

แต่ที่แน่ ๆ ชื่อบ้านร่มเกล้าที่ฝ่ายไทยเรียกพื้นที่ตรงนี้นั้น เรียกกันตั้งแต่ปี 2525 เมื่อรัฐบาลโดยกองทัพภาค 3 ได้จัดตั้งหมู่บ้านขึ้นและอพยพ "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" จำนวนเป็นร้อยครัวเรือนเข้าตั้งถิ่นฐานทำกิน

เป็น "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" ที่เป็นชาวเขาเผ่าม้ง (หรือที่มักจะเรียกว่าแม้ว) ซึ่งในอดีตเคยเข้าร่วมกับกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จับอาวุธต่อสู้กับอำนาจรัฐส่วนกลางและเข้ามอบตัวกระทั่งกลายเป็น "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" ตามนโยบาย 66/23 ไปในที่สุด

ต่อมาบ้านร่มเกล้าก็มีจำนวนสมาชิกที่เป็นชาวเขาเผ่าม้งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงหลัง ๆ ส่วนมากจะเป็นชาวม้งธรรมดาที่ไม่ได้จับอาวุธต่อสู้กับบัฐบาลแต่ทางราชการเกรงว่าจะย้ายถิ่นฐานทำลายป่าและอาจจะปลูกพืชเสพติดก็เลยจัดเข้าอยู่ที่บ้านร่มเกล้าด้วยเสียเลย

ก็เป็นเรื่องที่ประหลาดมากที่บ้านร่มเกล้าตั้งมาตั้งแต่ปี 2525 หมู่บ้านขยายใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ลาวก็ไม่เคยแสดงท่าทีอ้างสิทธิพื้นที่ตรงนี้แต่ประการใด ?!?

เพิ่งจะมาอ้างสิทธิและพูดกันไม่รู้เรื่องเมื่อปี 2530 นี่เอง !?!

จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้วลาวก็ไม่เคยใส่ใจพื้นที่ตรงนี้

เช่นเดียวกับไทยก็ไม่เคยคิดว่าจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สลักสำคัญและอยากได้

เพียงแต่เผอิญมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ลาวกับไทยต้องปะทะกันขึ้น ณ พื้นที่ตรงนี้ ครั้นเมื่อต่างฝ่ายต่างไปเปิดสัญญาปักปันเขตแดนและตรวจสอบแผนที่ซึ่งจัดทำกันอย่างหละหลวมระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ข้อหละหลวมที่มีก็เลยเกิดการตีความเข้าข้างตัวเองว่าแผ่นดินตรงนั้นเป็นของตน แล้วเรื่องก็บานปลายใหญ่โตออกไปเพราะผู้นำทั้งสองฝ่ายหวาดระแวงกันและกันเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

มีข้อมูลที่พอจะเชื่อถือได้จากแหล่งข่าวผู้เคยเดินย่ำพื้นที่บริเวณนั้นเข้าออกระหว่างไทยและลาวว่า ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานนั้นการครอบครองพื้นที่ดังกล่าวในแง่ของข้อเท็จจริงของชุมชนและอำนาจรัฐแล้ว ก็พอจะแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง โดยเฉพาะภายหลังการทำสัญญาปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส

ช่วงแรกเป็นช่วงที่ต่างฝ่ายต่างใช้พื้นที่ร่วมกัน บางครั้งหมู่บ้านคนลาวก็ย้ายถิ่นฐานเข้ามา และบางครั้งหมู่บ้านคนไทยก็ย้ายถิ่นฐานเข้าไป ซึ่งก็ไม่ปรากฏข้อพิพาทเพราะจริง ๆ แล้วก็เป็นชุมชนที่อยู่ไกลปืนเที่ยงอำนาจรัฐของทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายลาวเอื้อมเข้าไปจัดระเบียบปกครองไม่ถึงและรัฐบาลลาวยุคนั้นก็เผอิญเป็นลาวฝ่ายขวาที่เป็นพันธมิตรอย่างดีกับรัฐบาลไทยด้วย

ช่วงที่สองเป็นช่วงหลังปี 2508 ถึงปี 2522 พื้นที่ตรงนี้ได้กลายเป็นเขตอำนาจรัฐสีแดงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

"ผมพอจะคุ้นเคยอยู่บ้างเพราะเคยเดินเท้าข้ามแม่น้ำเหืองทั้ง 2 สายจากไทยข้ามไปลาวและจากลาวข้ามมาไทยหลายครั้ง" อดีตผู้นำนักศึกษาที่เข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ปี 2519 และตอนนี้กลับเข้าเมืองเรียบร้อยแล้วเล่าให้ฟัง

ช่วงที่พคท.หรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีอำนาจรัฐอย่างสมบูรณ์บนพื้นที่นี้และบริเวณใกล้เคียงก็ยังเป็นช่วงที่อำนาจรัฐส่วนกลางของไทยยังเข้าไปไม่ถึงพื้นที่อยู่เช่นเดิม ส่วนลาวก็ไม่ได้แสดงท่าทีอ้างสิทธิการครอบครองพื้นที่ดังกล่าวเพราะลาวฝ่ายซ้ายในช่วงก่อนปี 2518 ที่ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จมีอำนาจรัฐทางตอนเหนือแล้วบางส่วนและได้ให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ยิ่งเมื่อปฏิวัติสำเร็จรัฐบาลลาวก็ยิ่งให้การสนับสนุนพคท.อย่างสุดตัวยิ่งขึ้น เรื่องพื้นที่จะเป็นของใครไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ เพราะเรื่องสำคัญในเฉพาะหน้านั้นก็คือการหนุนช่วยให้พคท.ได้รับ ชัยชนะเช่นเดียวกับลาวและอินโดจีนที่พรรคคอมมิวนิสต์ชนะหมดแล้ว

แต่แล้วความผันผวนในโลกสังคมนิยมด้วยกันเองก็ทำให้สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป

จีนกับโซเวียตเริ่มแตกคอกันด้วยปัญหาผลประโยชน์บางประการที่พยายามอ้างปัญหาหลักการขึ้นมากลบเกลื่อน จากนั้นในช่วงปลายปี 2521 เวียดนามที่ทะเลาะเบาะแว้งกับรัฐบาลพอลพตของกัมพูชาพร้อม ๆ กับจัดตั้งรัฐบาลเฮงสัมรินขึ้นปกครองกัมพูชาแทนรัฐบาลพอลพตที่ต้องถอยร่นมาอยู่แถว ๆ ชายแดนไทยที่ติดต่อกับกัมพูชา

จีนที่หนุนรัฐบาลพอลพตอยู่ก็เลยทะเลาะกับเวียดนามและดำเนินสงครามสั่งสอนเวียดนามอย่างเอาเป็นเอาตายในช่วงต้นปี 2522

ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างโซเวียต-เวียดนามกับจีนนี้ ลาวตัดสินใจเลือกอยู่ข้างเวียดนามและโซเวียต ก็เลยทำให้ลาวกับจีนเลิกมองหน้ากันอีกคู่ ซึ่งจีนก็ตอบโต้จุดยืนของลาวด้วยการสนับสนุนขบวนการกู้ชาติฝ่ายลาวอย่างออกนอกหน้า เป็นช่วงที่ลาวกู้ชาติกระปรี้กระเปร่ามาก เพราะคนลาวจากศูนย์อพยพตามจังหวัดชายแดนของไทยที่ติดต่อกับลาวมีโอกาสถูกคัดเลือกเข้ารับการฝึกอาวุธในจีน ก่อนจะถูกส่งกลับพร้อมอาวุธและทุนรอนเข้ามาทำสงครามย่อย ๆ รบกวนลาวให้ไม่ต้องอยู่สงบสุขกันอีกต่อไป เรื่องนี้ลาวก็กล่าวหาว่าไทยให้ความร่วมมือด้วย

ความขัดแย้งระหว่างลาวกับจีนส่งผลกระทบอย่างรุนแรง กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นพรรคที่ผูกพันกับพรรคของจีนอย่างเหนียวแน่น ในช่วงที่เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับโซเวียตและเวียดนามตลอดจนมีลาวร่วมผสมโรงนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ไทยได้ยืนอยู่ข้างจีนอย่างหัวชนฝา ลาวกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก็เลยมีเรื่องต้องห่างเหินกันอย่างแรง

เมื่อลาวมีปัญหากับจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกันกับลาวทางตอนเหนือท่าทีของลาวก็เริ่มแสดงความเป็นมิตรกับไทยอย่างเห็นได้ชัด

ในปี 2522 อีกเช่นกันที่รัฐบาลลาวกับรัฐบาลไทยได้มีการเจรจาฟื้นฟูความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น ไกสอน พรมวิหาร ผู้นำของลาวเดินทางมาเยือนไทย และพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้นก็ได้เดินทางไปเยือนลาว และในที่สุดที่สองประเทศก็ได้ออกแถลงการณ์ร่วมที่แสดงน้ำใสใจจริงที่ต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้สำเร็จ

ผลประการหนึ่งจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์คราวนั้น รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ก็ได้ขอให้ลาว ยุติการให้ความช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งลาวก็ยินดีรับไปปฏิบัติด้วยความเต็มใจ เนื่องจากก็ไม่อยากจะมองหน้ากับพคท.อยู่พอดีเหมือนกัน

ลาวได้ผลักดันพลพรรคพคท.ออกจากพื้นที่ของลาวและยุติการให้ความช่วยเหลืออย่างทันควัน เมื่อผนวกกับความผิดพลาดทางด้านแนวทางการต่อสู้ของพคท.เองและรัฐบาลก็ได้ปรับยุทธศาสตร์การต่อสู้โดยพยายามใช้การเมืองนำการทหารและพัฒนาอีกขั้นจนกลายเป็นคำสั่งที่ 66/23 ในยุครัฐบาลพล-เอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ออกมาในช่วงปี 2523 ในที่สุดกองกำลังติดอาวุธของพคท.ก็ไปไม่รอด ฐาน ที่มั่นสำคัญถูกตีแตกหมดสิ้น หลายคนที่เข้าร่วมกับพคท.ก็เริ่มกลับเข้าเมือง

อำนาจรัฐของพคท.ที่เคยมีอยู่ในพื้นที่บริเวณแม่น้ำเหือง 2 สายก็ปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์ในช่วง ปี 2523 ปล่อยให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นเขตสูญญากาศที่ปลอดอำนาจรัฐพักหนึ่ง

จากนั้นในปี 2525 ไทยก็ตั้งหมู่บ้านร่มเกล้าขึ้นอย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนต้น

และเกิดกรณีพิพาทกันเมื่อหมู่บ้านของไทยลงหลักปักฐานไปแล้วเกือบ 5 ปี โดยต่างฝ่ายต่าง อ้างสิทธิครอบครองพื้นที่ดังกล่าวด้วยสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฉบับเดียวกัน คือสนธิสัญญาที่ไทยกับฝรั่งเศสลงนามกันไว้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 หรือ พ.ศ. 2450

สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี 1907 มีสาระที่ให้ถือแม่น้ำเหืองเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทย-ลาว ซึ่งฝ่ายไทยก็ระบุว่าเป็นแม่น้ำเหืองงาที่มีต้นน้ำมาจากภูเมี่ยง ทำให้พื้นที่ราว ๆ 80 ตารางกิโลเมตรนี้เป็นของไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

กระทรวงการต่างประเทศของไทยที่มีพลอากาศสิทธิ เศวตศิลา เป็นเจ้ากระทรวงเป็นตัวจักรใหญ่ที่ยืนยันเรื่องนี้อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ซึ่งทำให้ฝ่ายอื่น ๆ ต้องขานรับกันเป็นลูกระนาดโดยเฉพาะฝ่ายทหารภายใต้การนำของพลเอกชวลิต ยงในยุทธ

ส่วนลาวกลับระบุว่าเส้นเขตแดนเป็นแม่น้ำเหืองปากหมันหรือเหืองใหญ่

ลาวอ้างว่าพิธีสารต่อท้ายสัญญาปี 1907 ได้ระบุชัดเจนเช่นนั้น

"วันที่ 6 มีนาคม 1907 พันเอกแม็คนากับท่านสตรู เป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ไทยเพื่อให้มีการเจรจาฝรั่งเศส-สยาม เกี่ยวกับปัญหาเส้นเขตแดนไทย-ลาว...การเจรจาได้เกิดขึ้นและเสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 1907 ถึงวันที่ 23 มีนาคม 1907 จึงได้เซ็นสนธิสัญญากันเป็นทางการ...วันที่ 27 มีนาคม 1907 พระมหากษัตริย์ไทยได้เสด็จประพาสยุโรป การเซ็นสัญญาเต็มไปด้วยความรีบร้อน ไม่มีรายละเอียด ท่ามแอมโมกรังกรรมการคณะผู้ปฏิบัติงานด้านการปกครองรายงานจากปากไล ในวันที่ 19 กรกฎาคม 1907 ถึงข้าหลวงใหญ่ประจำลาวที่เวียงจันทน์ในโอกาสที่ท่านไปมอบดินแดนเมืองด่านซ้าย ให้กับสยาม แอมโมกรับได้เขียนรายงานบางตอนมีข้อความว่า "สำหรับประชาชนท้องถิ่นนั้น น้ำเหือง มีสองสาย ซึ่งเกิดจากภูเขาเมี่ยงสายเดียวกัน และเรียกตามลำดับว่าแม่น้ำเหืองใหญ่และแม่น้ำเหืองน้อย แม่น้ำเหืองน้อยอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำเหืองใหญ่...จดหมายของท่านผู้สำเร็จราชการอินโดจีนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมของฝรั่งเศส ว่าด้วยชายแดนฝรั่งเศส-สยามที่เขตหลวงพระบาง จดหมายนี้เขียนจากเมืองไซ่ง่อนเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 1908 (มีความว่า) "...มันเป็นผลต่อเนื่องจากแผนที่ซึ่งทำโดยพันเอกแม็คนา ถูกแจ้งให้ทราบโดยสำนักพระราชวังที่กรุงเทพฯ แล้วส่งต่อให้ข้าพเจ้าโดยเอกอัครราชทูตของพวกเขา (ฝรั่งเศส) ที่สยามว่า น้ำเหืองใหญ่คือชายแดนใหม่โดยแท้จริง และไม่สามารถจะมีข้อโต้แย้งใด ๆ ได้อีกแล้ว..." ลาวอ้างว่าข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญที่พิสูจน์ว่าพื้นที่บ้านร่มเกล้าเป็นของลาวซึ่งข้อความเหล่านี้เป็นเอกสารส่วนหนึ่งที่ฝรั่งเศสมอบให้ลาวเมื่อเกิดกรณีพิพาทถึงขั้นต้องทำสงครามกันขึ้นระหว่างลาวกับไทย

"เจ้าหน้าที่ของฝรั่งเศสถูกส่งมานอนรอที่เวียงจันทน์หลายวันแล้ว..." แหล่งข่าวรายหนึ่งเล่าถึงการเคลื่อนไหวของฝ่ายลาวในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ไทย-ลาวกำลังสู้รบกันบริเวณเนิน 1428 อย่างหนักหน่วงให้ฟัง

ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายดายนักในการชี้ขาดว่า แผ่นดินตรงนั้นจะเป็นของใครกันแน่ ?!?

การเจรจายุติศึกระหว่างพลเอกชวลิต ผู้แทนทางทหารฝ่ายไทยกับพลเองสีสะหวาดผู้แทนทางทหารฝ่ายลาวซึ่งนอกจากจะบรรลุผลให้มีการหยุดยิงและแยกทหารจากจุดปะทะออกไปตั้งหลักอยู่ในรัศมีฝ่ายละ 3 กิโลเมตรแล้ว

การแผ้วถางทางที่จะเปิดการเจรจาในเรื่องเขตแดนระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลและฟื้นฟูความสัมพันธ์ขึ้นใหม่ ก็คงจะเป็นหนทางที่จะได้มีการพิสูจน์กันให้แจ่มชัดเสียที

ผู้สังเกตการณ์การเมืองระหว่างประเทศค่อนข้างเชื่อว่า ในที่สุดไทยและลาวอาจจะต้องไปชี้ขาดกันที่ศาลโลกก็เป็นได้

ไทยนั้นมีพรมแดนติดต่อกับพม่าทางด้านเหนือและตะวันตก ตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับลาว ตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ติดต่อกับกัมพูชาส่วนทางใต้ติดต่อกับมาเลเซีย

การปักปันพรมแดนไทยกับพม่าซึ่งมีพรมแดนติดต่อกันยาวที่สุดกระทำขึ้นในยุคที่พม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เช่นเดียวกับมาเลเซีย ส่วนลาวซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับไทยรองจากพม่าด้วยระยะทางกว่า 1,700 กิโลเมตรไทยทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสซึ่งเหมือน ๆ กับเขมรเนื่องจากยุคนั้นเป็นยุคที่ฝรั่งเศสครอบครองอินโดจีนอยู่

ว่าไปแล้วปัญหาเรื่องเขตแดน ไทยก็มีปัญหากับทุกชาติเพื่อนบ้าน ไม่ใช่จำเพาะเจาะจงที่จะมีกับลาวประเทศเดียว

"ไทยกับพม่าก็มีปัญหามาก ในสนธิสัญญาบางจุดก็ระบุว่าเส้นเขตแดนให้ยึดภูเขาชื่อนั้นชื่อนี้ต่อเนื่องไปถึงภูเขาชื่อแปลก ๆ อีกลูก ทีนี้กาลเวลาผ่านไปนานคนเก่า ๆ ล้มหายตายจากหมด บางหมู่บ้านก็ย้ายถิ่นฐานไปแล้วกระทั่งปัจจุบันไม่มีใครทราบอีกต่อไปว่าเขาลูกที่บอกไว้ในสัญญานั้นมันอยู่ตรงไหนไทยก็ไม่รู้ พม่าก็ไม่รู้ ถ้าเกิดเรื่องเมื่อไหร่ ก็วุ่นเมื่อนั้น..." นายทหารผู้ชำนาญการด้านแผนที่พูดกับ "ผู้จัดการ"

ส่วนชายแดนด้านมาเลเซีย หลายปีก่อนหน้านี้ก็เคยมีปัญหาถึงขั้นตำรวจชายแดนมาเลย์ยิงคนไทยทิ้งไปหลายศพเพราะเรื่องรุกล้ำแดนกันมาแล้ว

ไทยกับพม่าไม่ค่อยจะมีปัญหาเรื่องเขตแดนกันก็อาจจะเป็นเพราะอำนาจรัฐของพม่ายังครอบคลุมเข้ามาไม่ถึงชายแดนไทย พม่ายังต้องใช้เวลาในการปราบปรามชนกลุ่มน้อยบริเวณชายแดนไทยอีกนานพอสมควรซึ่งวันใดที่พม่าแผ่ขยายอิทธิพลครอบคลุมถึงดินแดนที่มอญ กะเหรี่ยงหรือไทยใหญ่ ครอบครองอยู่ในทุกวันนี้ได้

ก็ยังไม่ทราบเหมือนกันว่าไทยกับพม่าจะตกลงเรื่องเขตแดนกันอย่างรุนแรงหรือสันติ แต่จากความสัมพันธ์ระดับปัจจุบันแล้วก็คงจะเป็นเรื่องที่สามารถเจรจากันได้โดยสันติเสียละมาก

ไทยกับมาเลเซียแม้จะกระทบกระทั่งกันรุนแรงหลายครั้ง แต่จากความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลก็ทำให้เรื่องร้ายกลายเป็นดีไปได้ทุกครั้ง แม้จะมีเลือดตกยางออกก็ให้อภัยกันโดยตลอด

"มีคราวหนึ่งที่เมื่อมีการตรวจสอบแนวชายแดนแล้วพบว่าไทยปลูกยางรุกเข้าไปในแดนมาเลเซียหลายพันไร่ ไทยก็คืนให้มาเลเซียโดยดี มาเลเซียก็จ่ายค่าต้นยางให้อย่างยุติธรรมเรื่องก็ลงเอยอย่างเปี่ยมด้วยมิตรภาพ..." อดีตข้าราชการที่ประจำอยู่ทางใต้เล่ากับ "ผู้จัดการ"

ส่วนกับลาวนั้นเป็นคนละเรื่อง !!

ภายหลังขบวนการประเทศลาวได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดและเปลี่ยนระบอบการปกครองประเทศที่สังกัดโลกเสรีที่ดำเนินนโยบายเป็นกลางในเวทีการเมืองโลกไปสู่ความเป็นประเทศสังคมนิยมในปี 2518 แล้ว

ไทยกับลาวก็เริ่มจะพูดกันไม่รู้เรื่องและเกิดกรณีพิพาทกันอยู่สม่ำเสมอโดยเฉพาะกรณีพิพาทที่เกี่ยวกับเขตแดนของทั้ง 2 ประเทศ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุชัย ศิริไกร แห่งคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์เคยทำรายงานวิจัยไว้ชิ้นหนึ่งเรื่องสาเหตุของการกระทบกระทั่งตามพรมแดนไทย-ลาว ระหว่างปี 2518 ถึงปี 2524 รายงานชิ้นนี้ได้ระบุว่า ในช่วงปี 2522 ถึงเดือนตุลาคม 2523 นั้นไทยกับลาวมีเรื่องที่ต้องกระทบกระทั่งกันถึง 156 ครั้ง โดยปี 2522 มีเหตุเกิดขึ้น 43 ครั้ง ปี 23 เกิดขึ้น 37 ครั้ง ปี 24 อีก 34 ครั้งและถึงเดือนตุลาคมปี 25 ทั้งหมด 42 ครั้ง

และในช่วงปี 2528 สมัยที่พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก เป็นผู้บัญชาการทหารบกไทยกับลาว ก็เคย เกิดกรณีพิพาทกันอย่างรุนแรงจากกรณี "สามหมู่บ้าน" ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ซึ่งคล้าย ๆ กับกรณีบ้าน-ร่มเกล้าที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิการครอบครองพื้นที่ที่เกิดข้อพิพาทมาแล้ว

ดร. สุรชัย ศิริไกร ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่มาของการกระทบกระทั่งระหว่างไทย-ลาวในรายงานวิจัยชิ้นนี้ว่าเกิดจากปัญหาใหญ่ ๆ 6 ประการด้วยกันคือ

หนึ่ง - ปัญหาความไม่ยุติธรรมของเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทย-ลาว ซึ่งไทยทำกับฝรั่งเศส ซึ่งขณะนั้นฝรั่งเศสเป็นนักล่าอาณานิคม มีศักยภาพเหนือกว่าไทยมากมายสนธิสัญญาจึงเป็นเรื่องที่ไทยต้องเสียเปรียบทุกด้าน สนธิสัญญานี้ตกทอดมาถึงลาวเมื่อลาวได้เอกราชและไม่เคยมีการเจรจาแก้ไขกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ

สอง -ปัญหาขบวนการต่อต้านรัฐบาลลาวที่อาศัยดินแดนไทยเป็นเขตหลบซ่อนและลักลอบเข้าไปก่อกวนในลาว

สาม - ความไม่ไว้วางใจและความหวาดระแวงระหว่างผู้นำไทยและลาว โดยเฉพาะผู้นำไทยที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ ซึ่งผู้นำแต่ละยุคมีนโยบายต่อลาวต่าง ๆ กันไป

สี่ - ปัญหาการเปิดพรมแดนติดต่อกันน้อยจุดและไทยกำหนดประเภทของสินค้าที่เป็นยุทธปัจจัยไว้มากมายหลายรายการทำให้เกิดการค้าของเถื่อนหรือการลักลอบนำสินค้าข้ามแดนซึ่งเมื่อมีการปราบปรามก็มีผลให้เกิดการปะทะกัน

ห้า - ปัญหาจากพวกอาชญากรที่ปล้นสะดมภ์ฝั่งไทยบ้างฝั่งลาวบ้างรวมทั้งขบวนการขนคนลาวอพยพข้ามมาฝั่งไทย

และหก - การปฏิบัติการของหน่วยนปข.ที่ลาวต้องการให้ไทยยุติแต่ไทยยังยืนยันที่จะปฏิบัติการต่อไป

ทั้งนี้ปัญหาที่ดร.สุรชัย บอกว่าเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือปัญหาที่หนึ่งและที่สาม โดยเฉพาะปัญหาประการที่สามนั้นถ้าแก้ไขได้ตกก็จะทำให้ทุก ๆ ปัญหาแก้ตกไปได้โดยอัตโนมัติ

พูดกันเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ปัญหาข้อพิพาทระหว่างไทยกับลาวยุคสังคมนิยมนี้ล้วนมีพื้นฐานจากความไม่ไว้วางใจและความหวาดระแวงกันระหว่างผู้นำไทยและผู้นำลาวโดยแท้

ฉันใดก็ฉันนั้น... บ้านร่มเกล้าก็เป็นเรื่องที่ความไม่ไว้วางใจและความหวาดระแวงกัน และกันเป็นตัวที่เร่งและขยายความขัดแย้งอย่างเห็นได้ชัด !!

เรื่องของบ้านร่มเกล้าเริ่มต้นอย่างเงียบเชียบตั้งแต่เมื่อไรนั้นไม่มีใครทราบหรือที่ทราบก็คงไม่พร้อมที่จะพูด แต่ที่แน่ ๆ ก็คือเริ่มเป็นข่าวชิ้นเล็ก ๆ บนหน้าหนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2530

ตามรายงานข่าวก็บอกว่าเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ได้มีกองกำลังติดอาวุธฝ่ายลาวจำนวนหนึ่งเกิดการปะทะกันขึ้นกับหน่วยทหารพรานของไทยบริเวณเขตอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลกหรือบริเวณที่เรียกกันว่าบ้านร่มเกล้า ไม่มีรายงานความสูญเสียจากการปะทะ

ต่อมาในวันที่ 3 มิถุนายนมีราษฎรบ้านนาผักก้ามและบ้านเหล่าโกหก ตำบลแสงพา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย หลบหนีการจับกุมตัวของทหารลาวกลับมาเล่าให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของไทยฟังว่าทหารลาวบุกรุกเข้ามาในเขตแดนไทยและจับคนไทยไป 7 คน ถูกยิงเสียชีวิต 1 หนีรอดกลับมาได้ 1 ส่วนอีก 5 ยังไม่ทราบชะตากรรม

สนิท ทองใส ราษฎรบ้านนาผักก้ามที่หนีรอดกลับมาได้ก็บอกกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของไทยว่า พวกเขาทั้ง 7 คนถูกลาวจับมัดกับต้นไม้ ระหว่างนั้นทหารลาวก็ได้ประกาศกับคนไทยที่ถูกจับกุมตัวไปว่า พื้นที่ที่พวกเขาเข้าไปทำไร่นั้นเป็นเขตลาว รวมทั้งพื้นที่บ้านร่มเกล้าในเขตอำเภอชาติตระการที่มีบางบริษัทเข้าไปทำไม้ก็เป็นพื้นที่ที่ลาวครอบครอง

"จริง ๆ แล้วทั้ง 7 คนนี้เป็นลูกจ้างที่รับจ้างตัดไม้ให้กับบริษัททำไม้แห่งหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมก็ไม่ทราบว่าบริษัททำไม้แห่งนี้จะเข้าไปโดยเงื่อนไขที่มีการตกลงกับทหารลาวแล้วแต่เกิดเบี้ยวกันขึ้นทางทหารลาวโกรธก็เลยจัดการเสีย แต่บางคนก็บอกว่าเข้าไปเอง ซึ่งเมื่อลาวอ้างว่าเป็นเขตของลาวก็เลยมี การปะทะกันขึ้นกับหน่วยที่ถูกส่งไปคุ้มครองการตัดไม้และตัดถนนเพื่อชักลากไม้" แหล่งข่าวระดับ วงในคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

ว่ากันว่าบริษัททำไม้แห่งนี้ก็เผอิญมีเอี่ยวกับนายทหารยศพันโทของกองทัพภาค 3 เสียด้วย

เมื่อลาวแรงมา ในที่สุดไทยในระดับท้องที่ก็แรงกลับไป โดยไม่มีใครสนใจว่าต้นตอเกิดจากปัญหาอะไรกันแล้ว !!

"ก็ยอมรับว่ามีนายทหารคนหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยจริง ซึ่งเมื่อทราบเรื่องก็มีคำสั่งย้ายออกจากพื้นที่ทันทีเหมือนกัน..." แหล่งข่าวในวงการทหารพูดกับ "ผู้จัดการ"

จากเดือนมิถุนายน 2530 จนถึงเดือนธันวาคมปีเดียวกัน การปะทะกันบริเวณบ้านร่มเกล้าก็เริ่มขยายความรุนแรงขึ้นตามลำดับโดยในเดือนกันยายน ฝ่ายลาวได้ส่งกำลังเข้ายึดเนิน 1428 ที่ฝ่ายไทยอ้างว่าเป็นการรุกเข้ามาในเขตไทยถึง 2 กิโลเมตร

เนิน 1428 เป็นเนินที่สูงที่สุดในพื้นที่ที่เกิดข้อพิพาท เป็นชัยภูมิที่ได้เปรียบหากจะต้องสู้รบกันอย่างยืดเยื้อในอนาคต ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความจริงที่ได้รับการพิสูจน์ไปแล้ว

เมื่อลาวส่งกำลังเข้ายึดเนิน 1428 และดัดแปลงให้เป็นฐานที่มั่นที่มั่นคง

ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2530 ฝ่ายไทยก็เริ่มเปิดยุทธการใหญ่ด้วยกำลังทางภาคพื้นดินที่มีปืนใหญ่ยิงสนับสนุนและกำลังทางอากาศที่เข้าบอมบ์เนิน 1428 ฐานที่มั่นของฝ่ายลาวตอบโต้อย่างทันควันเช่นกัน

ในวันที่ 16 ธันวาคม กระทรวงการต่างประเทศลาวมอบบันทึกช่วยจำแก่สถานทูตไทยที่เวียงจันทน์ กล่าวหาไทยส่งเครื่องบินถล่มใส่เนิน 1428, 1370, 1146 และภูเวียงนอกจากนี้ยังยิงถล่มด้วยปืนใหญ่อีกด้วย

วันที่ 18 ธันวาคม คนลาวในเมืองบ่อแตน แขวงไชยบุรี จัดชุมนุมประท้วงไทย

วันที่ 21 ธันวาคม กระทรวงการต่างประเทศของไทยออกแถลงการณ์ว่าเนิน 1428 และเนินอื่น ๆ ที่ลาวอ้างในบันทึกช่วยจำนั้นอยู่ในเขตไทยซึ่งห่างจากเขตลาวถึง 2 กิโลเมตร และวันรุ่งขึ้นพลเอกพะเนียง กานตรัตน์ รัฐมนตรีกลาโหมก็ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ไทยต้องใช้เครื่องบินโจมตีและยิงปืนใหญ่กระหน่ำนั้น จะกระทำจนทหารลาวออกไปจากแผ่นดินไทย

วันที่ 23 ธันวาคม สุบัน สะลิดทิลาด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของลาวกล่าวต่อบรรดาทูตานุทูตและผู้แทนองค์การระหว่างประเทศในลาว เรียกร้องให้ไทยกับลาวแก้ปัญหาด้วยการเจรจากัน

วันที่ 25 ธันวาคมกระทรวงการต่างประเทศไทยแจ้งข้อเสนอของรัฐบาลไทยที่จะให้มีการประชุมหารือแก้ปัญหาไปยังรัฐบาลลาว แต่ลาวก็ตอบปฏิเสธข้อเสนอฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2531 โดยยืนยันให้ฝ่ายไทยถอนทหารสถานเดียว

และสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะสำคัญที่สุดก็คือเหตุการณ์ในวันที่ 22 มกราคม 2531 เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เดินทางไปตรวจสอบสถานการณ์ที่บ้านร่มเกล้าด้วยตนเองและยืนยันการผลักดันทหารลาวออกไปจากดินแดนไทย

เป็นการตอกย้ำอย่างชัดแจ้งว่า ข้อพิพาทไทย-ลาวกรณีพื้นที่บ้านร่มเกล้านั้นหมดสิ้นหนทางที่จะตกลงกันอย่างสันติวิธีแล้ว จะมีก็เพียงหนทางเดียวคือ รบกันให้รู้แพ้ชนะ!!

ไทยกับลาวนั้นเพิ่งจะผ่านความล้มเหลวจากการเจรจาระดับรัฐบาล 2 ครั้งสุดท้ายในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2529 ที่เวียงจันทน์และในเดือนมีนาคม 2530 ที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้าจะเกิดกรณีบ้านร่มเกล้าโดยไทยกล่าวหาว่าฝ่ายลาวที่มีสุบัน สะลิดทิลาด เป็นหัวหน้าคณะ ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา "ได้แต่บ่อนทำลายและใช้เวทีการเจรจาเป็นที่โฆษณากล่าวร้ายซ้ำซาก..." เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่าง-ประเทศของไทยกล่าว

ส่วนลาวก็กล่าวหาว่าไทยไม่จริงใจเช่นเดียวกัน

ว่ากันว่าความล้มเหลวจากการเจรจา 2 รอบที่ผ่านมานั้น ทำให้พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา ไม่สบอารมณ์กับการพูดคุยกับลาวอย่างยิ่ง โดยเฉพาะถ้าจะต้องพูดคุยกับไม้เบื่อไม้เมาอย่างสุบัน สะลิดทิลาด รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของลาวด้วยแล้ว เลี่ยงได้พลอากาศเอกสิทธิก็คงอยากจะเลี่ยง

พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา นั้นมีอดีตเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อพ้นตำแหน่งผู้ที่ขึ้นมาเป็นเลขาธิการแทนเขาก็คือนาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ ที่ขณะนี้เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีทั้งพลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา และนาวาอากาศตรีประสงค์มีความเชื่อที่มีทั้งเหมือนและต่างกันหลายเรื่อง แต่เรื่องที่เหมือนกันอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ยเห็นจะเป็นเรื่องความหวาดระแวงเวียดนามและลาวที่ฝังเข้ากระดูก

นโยบายต่างประเทศของไทยในยุคพลอากาศเอกสิทธิ ก็เลยไม่ค่อยจะต่างจากความเห็นของสมช.ไปเท่าไหร่ และยิ่งมีความเหม็นหน้าเป็นส่วนตัวผสมเข้าไปด้วย ข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศที่จะเปิดเจรจาสงบศึกกับลาวกรณีบ้านร่มเกล้ากลายเป็นเรื่องที่ลาวถือว่าไม่ไว้หน้าและจะยอมรับไม่ได้ในที่สุด

"กระทรวงต่างประเทศของไทยเสนอว่าการเจรจาควรจะต้องกำหนดหัวข้อให้ชัดเจน กำหนดตัวผู้เจรจาว่าควรจะเป็นท่าน พูน ศรีประเสริฐ รัฐมนตรีต่างประเทศไม่ใช่สุบันที่เป็นรัฐมนตรีช่วยและถ้าไม่เจรจากันที่เวียงจันทน์ก็ขอให้เจรจากันที่จังหวัดอุดรฯ..." คนของกระทรวงการต่างประเทศสาธยายให้ฟัง

ข้อเสนอเช่นนี้ลาวถือว่าไม่ให้เกียรติกันอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเด็นการระบุว่าจะต้องพูดกับคนนั้นคนนี้และการบอกว่าจะใช้อุดรฯที่เป็นหัวเมืองภาคอีสานเป็นสถานที่เจรจาใ นขณะที่ถ้าจะใช้สถานที่ฝ่ายลาวกลับใช้เวียงจันทน์ที่เป็นเมืองหลวง

"เราไม่ต้องการให้มีการเจรจาที่กรุงเทพฯ เพราะบทเรียนจากคราวที่แล้วก็คือฝ่ายลาวจะพยายามอาศัยเครื่องมือการสื่อสารที่มีอยู่พร้อมไปในการโฆษณาชวนเชื่อที่ไร้ประโยชน์" เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศของไทยให้เหตุผล

ก็คงจะยกเหตุผลขึ้นมาอ้างกันได้มากมาย เพียงแต่สิ่งที่อยู่ในใจลึก ๆ ทั้งสองฝ่ายไทยและฝ่ายลาวที่ไม่ยอมพูดออกมาตรง ๆ ก็คือ ลาวนั้นก็มองว่าไทยไม่จริงใจส่วนผู้ดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย ก็มีทัศนะที่คับแคบและหวาดระแวงลาวกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ

ฝ่ายที่ดูจะน่าเห็นใจมาก เห็นจะเป็นทหารที่รับข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศที่ยืนยันว่าพื้นที่พิพาทเป็นของไทย และจะต้องใช้กำลังกันอย่างสุดตัวเมื่อหนทางเจรจาไม่คืบหน้า

บ้านร่มเกล้าได้กลายเป็นปัญหาเรื่องเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของชาติไปเสียแล้ว

อาจจะเป็นเพราะงานการข่าวยังไม่รัดกุมเพียงพอหรือเป็นเพราะประเมินลาวต่ำเกินไปหรือประเมินค่ายสังคมนิยมที่ให้การหนุนช่วยกันต่ำไปอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทุกอย่างรวมกัน

การสั่งรุกรบขั้นแตกหักที่หวังพิชิตศึกอย่างรวดเร็วไม่ปล่อยให้ยืดเยื้อถึงขั้นมีการประกาศว่าจะยึดเนิน 1428 กันวันนั้นวันนี้กลับกลายเป็นการศึกที่ยืดเยื้อที่ยังความสูญเสียมากขึ้นเรื่อย ๆ

อย่างน้อยชีวิตทหารหาญฝ่ายไทยก็มีการแถลงออกมาแล้วว่าราว ๆ 140 กว่าศพ บาดเจ็บพิการอีกเป็นหลักร้อยเช่นเดียวกัน

เนิน 1428 นั้นห่างออกไปทางทิศตะวันออกของตัวที่เป็นบ้านร่มเกล้า เส้นทางจากบ้านร่มเกล้าสู่เนิน 1428 มีสภาพภูมิประเทศเป็นหน้าผาสูงชันไม่เหมาะกับการเข้าตี การเข้าตีที่พอจะทำได้ก็คือการอ้อมขึ้นไปทางด้านเหนือของเนิน 1428 แล้วค่อย ๆ ยึดเนินเตี้ย ๆ ทีละเนินสองเนินด้วยทิศทางที่มุ่งเข้ามาเนิน 1428

ฝ่ายไทยประสบความสำเร็จในการยึดเนิน 1146 และต่อมาก็ยึดเนิน 1370 ที่อยู่ติด ๆ กับเนิน 1428 ได้

แต่ก็เป็นการยึดที่เหมือนตกเข้าไปอยู่ในขุมนรกชัด ๆ !?!

แนวเขาอันเป็นที่ตั้งของเนิน 1146, 1370 และ 1428 ที่สูงที่สุดนั้นเป็นแนวเขาที่ขนานไปกับลำน้ำฝั่งขวาของแม่น้ำเหืองงาห่างจากตัวแม่น้ำราว ๆ 2 กิโลเมตร

ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเหืองงาซึ่งไทยยอมรับว่าอยู่ในเขตลาว (เพราะไทยยึดเหืองงาเป็นเส้นเขตแดน) ห่างออกไปอีกราว 2 กิโลเมตรเท่ากันก็เป็นแนวเขาที่ทอดขนานกับลำน้ำเช่นเดียวกันกับแนวเขาแรกที่เป็นที่ตั้งของเนินต่าง ๆ ข้างต้น

แนวเขาทางด้านฝั่งซ้ายนี้เป็นที่ตั้งปืนใหญ่ที่ลาวใช้ยิงสนับสนุนปกป้องกันเข้าตีเนิน 1428

การเข้ายึดเนิน 1146 กับ 1370ได้นั้นฝ่ายไทยต้องใช้กำลังทางภาคพื้นดินพร้อมกับการยิงสนับสนุนจากฐานปืนใหญ่หลายจุดพร้อมกำลังทางอากาศเข้าสะกดการยิงตอบโต้จากเนิน 1428 ที่ลาว ยึดอยู่ประสานกับการยิงสนับสนุนจากแนวเขาฝั่งซ้ายเม่น้ำเหืองงาฝั่งลาวเข้ามา

"เราต้องยิงสะกดตลอดเวลากว่าจะยึดได้แต่ละเนินและเมื่อยึดได้ ทีนี้เราก็จะตกเป็นเป้าที่ลาวจะระดมยิงจากที่สูงลงมาบ้าง นอกจากนี้รอบ ๆ เนิน 1428 ก็เต็มไปด้วยกับระเบิด" ทหารไทยที่มีโอกาสเข้าไปกุมสภาพเล่าให้ฟัง

ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้เองที่การยึดเนิน 1428 ที่คิดว่าไม่ใช่เรื่องยากก็ได้กลายเป็นปัญหาที่จะต้องปรับยุทธวิธีการรบกันใหม่

ฝ่ายทหารนั้นมีความเห็นว่า ถ้าจะรบให้ชนะก็จะต้องบุกเข้าไปทำลายป้อมปราการในแนวหลัง ที่ยิงสนับสนุนจากฝั่งลาวเข้ามาเพราะไม่เช่นนั้นแล้วการยึดเนิน 1428 ถึงกระทำได้ก็จะไม่มีประโยชน์เพราะก็จะต้องกลายเป็นเป้าเช่นเดียวกับการยึดเนินอื่น ๆ ที่กำลังประสบอยู่และสงครามก็จะยืดเยื้อไม่มีวันสิ้นสุด

ความเห็นนี้เป็นความเห็นที่เท่ากับสงครามระหว่างชาติจะต้องเกิดขึ้น สำหรับทหารมันเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจ ซึ่งรัฐบาลก็ไม่กล้าตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดในที่สุด

การรบเริ่มส่อเค้าว่าจะยืดเยื้อ อันเนื่องจาการไม่กล้าตัดสินใจของรัฐบาล

และก็เป็นการเริ่มต้นของงานการทูตแบบลับ ๆ ที่มีการมอบหมายให้พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์รับไปดำเนินการ

พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยลงนามในสัญญาความสัมพันธ์ไทย-ลาวเมื่อปี 2522 ได้ตัดสินใจร่อนจดหมายส่วนตัวไปถึงไกสอน พรมวิหารภายหลังไทยกับลาวเริ่มเปิดยุทธการรุกรบกันอย่างหนักได้เพียง 2 วัน พลเอกเกรียงศักดิ์แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและอยากจะให้หาทางยุติข้อพิพาทโดยเร็ว

ต่อมาก็มีจดหมายส่วนตัวจากไกสอน พรมวิหาร ส่งมาถึงพลเอกเกรียงศักดิ์แสดงทัศนะที่ใฝ่สันติคล้ายคลึงกัน

ทหารเผอิญรับทราบการติดต่อเป็นการส่วนตัวระหว่างพลเอกเกรียงศักด์กับผู้นำลาวและก็ทราบดีว่าทั้งพลเอกเกรียงศักดิ์กับผู้นำลาวนั้นมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก ๆ ในช่วงที่การรบไม่มีความคืบหน้าและมีทีท่าว่าจะยืดเยื้อ ผู้นำในภาครัฐบาลและฝ่ายทหารของไทยก็เลยขอร้องให้พลเอกเกรียงศักดิ์เดินทางไปลาวเพื่อหาลู่ทางที่ไทยกับลาวจะได้ยุติศึกครั้งนี้กัน

การทูตแบบลับ ๆ โดยพลเอกเกรียงศักดิ์ได้ผล

เรื่องของบ้านร่มเกล้าขึ้นสู่โต๊ะเจรจาและยุติศึกได้ในที่สุด

ไม่ว่าลาวจะกล่าวหาผู้นำฝ่ายไทยอย่างไร ? และไม่ว่าไทยจะมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อลาวแค่ไหน?

แต่โดยข้อเท็จจริงในเงื่อนไขปัจจุบันของผู้นำแต่ละฝ่ายนั้น ก็ไม่อยากจะมีเรื่องยุ่งยากด้วยกัน ทั้งคู่

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ของไทยนั้นแม้ว่าจะอยู่ในตำแหน่งมาได้ยาวนานตั้งแต่ ปี 2523 ถึงปัจจุบัน และถ้ามองฐานที่ให้การสนับสนุนไม่ว่าเป็นสถาบันหรือกองทัพก็จะพบว่ายังหนาแน่นอยู่

แต่ความเบื่อหน่ายและไม่พอใจพลเอกเปรมนั้นก็มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง

นอกจากนั้นการเมืองในระบบรัฐสภาที่มีทั้งฝ่ายรัฐบาลที่สนับสนุนและฝ่ายค้าที่คอยจ้องจับผิดและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

สำหรับพลเอกเปรมแล้วก็จะต้องชั่งใจให้รอบคอบเกี่ยวกับข้อพิพาทบ้านร่มเกล้า

ทำนองเดียวกันพลเอกชวลิต ยงใจยุทธผู้นำทางทหารที่กระโดดออกมารับลูกเมื่อกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแก้ปัญหาอย่างสันติไม่ได้ ก็จะต้องคิดอย่างหนัก

พลเอกชวลิตได้ประกาศครั้งแล้วครั้งเล่าถึงการลาออกจากตำแหน่งในปี 2531 นี้ซึ่งก็คงจะเป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นหากพลเอกชวลิตยังต้องการรักษาคำพูดของตนเพื่อผลของการเติบโตทางการเมืองในอนาคต อาจจะในช่วงเดือนเมษายนนี้หรือมิฉะนั้นก็เป็นช่วงเดือนตุลาคมที่พลเอกชวลิตจะพ้นตำแหน่ง

บรรยากาศของการเบียดเสียดเพื่อหาทาง โค่นคู่แข่งเพื่อปูทางให้บางคนขึ้นรับตำแหน่ง ผบ.ทบ.แทนพลเอกชวลิตเริ่มมาได้พักใหญ่แล้ว และก็หนักพอสมควรทีเดียว

ค่อนข้างเป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าผู้นำกองทัพคนต่อไปที่จะมาแทนพลเอกชวลิตก็คงจะเป็นคนที่พลเอกเปรมและพลเอกชวลิตให้ความไว้วางใจ เนื่องจากจะต้องทำหน้าที่ค้ำจุนอำนาจทางการเมืองให้กับพลเอกเปรมและพลเอกชวลิตที่จะเล่นการเมืองเต็มตัวเมื่อพ้นตำแหน่งแล้ว

พลเอกเปรมและพลเอกชวลิตก็เลยจะต้องกลายเป็นเป้าใหญ่ที่จะต้องถูกโจมตีและหาทางโค่นล้มให้หมดสิ้นอำนาจ เพื่อที่บุคคลที่ไม่มีสิทธิคั่วจะได้มีสิทธิกับเขาบ้าง

ปัญหาผลประโยชน์ของกองทัพเป็นได้ที่มีความเชื่อมโยงกับบางกลุ่มที่ต้องการถล่มพลเอกเปรมให้ตกเวทีการเมือง เพียงแต่การวางตัวอยู่เหนือความขัดแย้งก็ทำให้การโจมตีพลเอกเปรมกระทำได้ไม่ถนัดนัก

พลเอกชวลิตในฐานะผู้ค้ำบัลลังก์ที่ภักดีต่อพลเอกเปรมอย่างเหนียวแน่นและเป็นขุนศึกที่ต้องลุยโคลนฝ่าอันตรายทำงานให้อยู่ในจุดที่เป็นเป้าโจมตีได้มากกว่า ความพยายามที่จะโค่นพลเอกชวลิตซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายพลเอกเปรมในทางอ้อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในช่วงก่อนที่จะมีปัญหาเรื่องร่มเกล้า

กรณีบ้านร่มเกล้า จริง ๆ แล้วทั้งพลเอกเปรมและพลเอกชวลิตก็คงไม่อยากให้เกิดอย่างยิ่ง เพราะถ้าปัญหาขยายตัว และยืดเยื้อก็จะกลายเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่จะถูกใช้ในการทิ่มแทงพลเอกเปรมและ พลเอกชวลิต

ซึ่งถ้าสังเกตท่าทีแต่ละช่วงเกี่ยวกับเรื่องร่มเกล้าของไม้เบื่อไม้เมาพลเอกเปรมและพลเอกชวลิตอย่างม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แล้วก็น่าจะมองออกว่าอะไรทำให้ท่านผู้เฒ่าผู้ได้รับฉายาว่า "สารพัดพิษ" ถึงได้ยุยงส่งเสริมให้รัฐบาลและทหารใช้กำลังบดขยี้ฝ่ายลาวนัก

พลเอกเปรมและพลเอชวลิตมีทางเลือกในการแก้ปัญหากับลาวไม่มากทาง แต่จุดยืนที่ชัดเจนก็คือจะต้องไม่ปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังยืดเยื้อจนกลายเป็นชนวนความแตกแยกภายในชาติ (ถ้าต้องรบยืดเยื้อ) และถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตีโดยฝ่ายค้านทั้งลับและเปิดเผยของพลเอกเปรม

"เมื่อพลเอกเปรมและพลเอกชวลิตคิดว่าจะต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังเอาชนะศึกอย่างรวดเร็วก็มีการสร้างกระแสรักชาติขึ้นสนับสนุนจากแนวหลังเพื่อกลบกระแสด้านอื่นให้หมด แต่นั่นก็คงจะทำได้ระยะหนึ่งการสงครามที่นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายและความสูญเสีย เป็นเรื่องที่กระทบหลายจุด เพราะฉะนั้นยืดเยื้อไม่ได้..." นักการเมืองคนหนึ่งอธิบายให้ฟัง

ส่วนผู้นำลาวก็ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ใหญ่ที่จะต้องตระหนักไม่แพ้กัน

การขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำโซเวียตของกอร์บาชอฟเป็นการขึ้นมาพร้อม ๆ กับการเสนอปัญหาใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต

นั่นก็คือการทบทวนถึงความตกต่ำทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ที่ปล่อยให้โลกตะวันตกนำไปหลายช่วงตัว โซเวียตยึดถือว่าระบอบสังคมนิยมนั้นจะต้องล้ำเลิศกว่าทุนนิยมในทุก ๆ ด้าน

เพราะฉะนั้นนโยบายใหม่ของโซเวียตในยุคกอร์บาชอฟค่อนข้างเห็นได้ชัดว่าเป็นนโยบายที่พยายามลดการเผชิญหน้าเพื่อใช้เวลาไปให้ความสนใจกับการพัฒนาเทคโนโลยีและการเพิ่มผลผลิตของโลกสังคมนิยม

"กอร์บาชอฟใช้เวลาทำงานความคิดภายในพรรคนานพอสมควร ซึ่งในที่สุดแนวทางของเขาก็ได้รับชัยชนะทั่วทั้งพรรค โซเวียตถือว่าแนวทางใหม่นี้เป็น...ลมหายใจเฮือกแรกไปแล้วเมื่อเลนินปฏิวัติสำเร็จนี่ก็เป็นเฮือกที่สองที่จะทำให้โซเวียตเป็นสังคมนิยมที่มีชีวิตชีวาอีกครั้งและมีพลังขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต" นักสังเกตการณ์การเมืองของค่ายสังคมนิยมบอกกับ "ผู้จัดการ"

การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่หันมาลดความตึงเครียดและการเผชิญหน้าของโซเวียตถูกขยายผลมาถึงประเทศในค่ายสังคมนิยมทั้งหมด โซเวียตเจรจาลดกำลังอาวุธกับสหรัฐไปแล้วหลายรอบ มีการตระเตรียมถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน เปิดให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลพนมเปญที่เวียดนามสนับสนุนกับเขมรสามฝ่ายที่มีสีหนุเป็นผู้นำและพยายามหาทางคลี่คลายปัญหาในตะวันออกกลางให้ยุติการสู้รบที่ยืดเยื้อลง

ลาวในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นลาวที่พยายามดำเนินนโยบายตามโซเวียตอย่างเคร่งครัด

ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ลาวได้จัดประชุมอย่างมาราธอนกว่า 2 เดือนเพื่อตระเตรียมแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ

และช่วงที่มีปัญหากับไทยก็เป็นช่วงที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจกำลังเตรียมจะนำเข้าพิจารณารับ หลักการจากสภาประชาชนของลาวพอดี

สำหรับลาวแล้วแผนพัฒนา ฯใหม่เป็นแผนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ลาวเชื่อว่าถ้าสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ลาวก็จะเป็นลาวใหม่ที่เข้มแข็งขึ้นอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

ทั้งนี้บรรยากาศของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและการลดความหมางใจกับจีนจะเป็นปัจจัยสำคัญไม่น้อยที่จะทำให้แผนพัฒนาของลาวเดินไปได้อย่างราบรื่นไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง

ท่าทีของลาวจึงค่อนข้างชัดเจนในแง่ที่ต้องการเจรจามาตั้งแต่ต้น

ลาวค่อนข้างจะมีความเชื่อมั่นอย่างมากกับหลักฐานทางสนธิสัญญาที่ลาวมีอยู่ และจากพื้นฐานที่ไม่ต้องการก่อปัญหากับไทยในการเจรจาระหว่างพลเอกชวลิตกับพลเอกสีสะหวาดแม้ข้อตกลงจะทำให้ต้องหยุดยิงและต่างฝ่ายต่างถอยออกจากแนวปะทะฝ่ายละ 3 กิโลเมตร ซึ่งลาวเปรียบในแง่ที่เท่ากับเป็นการถอยเข้าไปอยู่ในเขตลาว ส่วนไทยยังสามารถตั้งกองกำลังอยู่ในเขตพื้นทีที่เกิดกรณีพิพาทได้ ก็เป็นเรื่องที่ลาวยินยอมอย่างที่ถ้าลาวไม่เปลี่ยนท่าทีแล้วก็คงจะพูดกันไม่รู้เรื่อง แน่ ๆ

ไทยกับลาวนั้นถึงจะรักกันบ้างเกลียดกันบ้าง แต่อย่างไรเสียก็จะต้องเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกันวันยังค่ำ ไทยกับลาวมีเรื่องกันมามากแล้วและก็ดูจะรุนแรงขึ้นตามลำดับ

จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ไทยกับลาวจะไม่ต้องเกิดกรณีอย่างบ้านร่มเกล้ากันอีกต่อไปในอนาคต   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us