|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2531
|
 |
เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ชื่อของชูศักดิ์ หิมะทองคำ เจ้าหน้าที่แบงก์กรุงเทพระดับ VP ดังระเบิดทั่วยุทธจักรการเงินในบ้านเรา เมื่อเขาริเริ่มโครงการสินเชื่อเกษตรครบวงจร "หนองหว้า" ร่วมกับเจริญโภคภัณฑ์ นัยว่าโครงการสินเชื่อชิ้นนี้ประสบผลดียิ่งจนผู้ใหญ่หลายคนในแบงก์ให้การยอมรับในฝีมือชูศักดิ์เป็นอย่างมาก และจากโครงการนี้เองชูศักดิ์ก็ได้รู้จักกับพิเชษฐ์ เหล่าเกษม ผู้บริหารและจัดการโครงการนี้ของเจริญโภคภัณฑ์และให้ความ "ชื่นชมในความสามารถและอุดมการณ์ในการพัฒนาเกษตรของพิเชษฐ์เอามาก ๆ"
เมื่อชูศักดิ์กับพิเชษฐ์เกิด "ปิ๊ง" กันขึ้นเพราะผลจาก "หนองหว้า" ชูศักดิ์ได้โปรโมทเป็น SVP พิเชษฐ์ก็ริอยากเป็น "เถ้าแก่" เสียเอง โครงการเกษตรครบวงจร "วังน้ำฝน" ก็เกิดขึ้น
พิเชษฐ์ตั้งบริษัทวังน้ำฝนขึ้น เพื่อรับบริหารโครงการเกษตรครบวงจรที่หมู่บ้านทรายขาว จ.ปราจีนบุรี โดยพิเชษฐ์ไปติดต่อกับองค์การทหารผ่านศึก นำอดีตทหารผ่านศึกที่ปลดประจำการเข้ามาเป็นเกษตรกรเลี้ยงหมูในโครงการ เหตุการณ์ตอนนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2525
พอพิเชษฐ์เอาแนวคิดและโครงการนี้มาบอกชูศักดิ์ที่แบงก์กอปรกับชูศักดิ์มีอาการ "ปิ๊ง" กับพิเชษฐ์อยู่ก่อนแล้วจากโครงการหนองหว้า เรื่องของเรื่องก็เลยง่ายขึ้นเมื่อชูศักดิ์นำโครงการนี้มาปรึกษาหารือกับปิติ สิทธิอำนวยและชาตรี โสภณพนิช นายของชูศักดิ์เพื่อร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้
จะเป็นด้วยบอสส์ของชูศักดิ์เชื่อถือชูศักดิ์อยู่ก่อนแล้ว หรือมั่นอกมั่นใจโครงการว่าต้องสำเร็จ ไปได้สวยเหมือนหนองหว้าหรือเปล่าก็สุดเดา
ปรากฏว่าโครงการนี้ชูศักดิ์ปล่อยสินเชื่อให้พิเชษฐ์ไปเกือบ 400 ล้านบาท "ผมอนุมัติสินเชื่อให้เกษตรกรในโครงการนี้ไปรายละเกือบ 2 ล้านบาท โดยพิเชษฐ์เป็นผู้ค้ำประกันและรับไปดำเนินการแทนเกษตรกร" ชูศักดิ์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงขั้นตอนการปฏิบัติปล่อยสินเชื่อแก่โครงการนี้ พร้อมย้ำว่าวงเงินสินเชื่อเกษตรจำนวนนี้อยู่ในอำนาจของเขาที่กระทำได้
เมื่อชูศักดิ์อนุมัติสินเชื่อให้โครงการนี้ไปแล้ว ก็อยากให้โครงการประสบผลดี ชูศักดิ์จึงติดต่อไปยังเจริญโภคภัณฑ์คู่หูเก่าเพื่อขอซื้อพันธุ์หมูชั้นดีมาให้โครงการ
"พันธุ์หมูที่ซื้อมานี้ดีมากเหลือเกินเพราะโตเร็ว ให้น้ำหนักและเนื้อหมูแท้ ๆ ในสัดส่วนของมันหมูที่น้อยกว่าพันธุ์หมูชนิดอื่นทั่วไปถึง 30-40 %" ชูศักดิ์บรรยายสรรพคุณพันธุ์หมูที่เขาเอามาจากเจริญโภคภัณฑ์ให้ "ผู้จัดการ" ฟังคล้าย ๆ กับกำลังจะบอกว่า โครงการนี้เขา..................
แต่จะเป็นเพราะชูศักดิ์กับพิเชษฐ์โชคร้ายดวงไม่ดีหรือเปล่าก็ไม่ทราบเพราะปรากฎว่าเพียงปีแรกที่โครงการเริ่มผลิตหมูเนื้อราคาหมูเนื้อในตลาดชำแหละตกต่ำลงอย่างรวดเร็วจากก.ก.ละ 30 บาทก่อนหน้านี้เหลือเพียง 12 บาท ขณะที่ต้นทุนปาเข้าไปก.ก.ละ 21 บาท...
พูดง่าย ๆ ขาดทุน ก.ก.ละ 9-10 บาท
วันหนึ่ง ๆ โครงการผลิตหมูเนื้อได้ไม่ใช่ 3-4 ตัว แต่เป็น 300-400 ตัว ขาดทุนเดือนละเท่าไร ไม่อยากคิด ชูศักดิ์และพิเชษฐ์ถึงกับเหงื่อตก!
โชคชะตาช่างเล่นตลกกับเขาเสียจริง ๆ
ขณะที่ราคาหมูเป็นดิ่งลงเหว การจัดการและบริหารของพิเชษฐ์ในโครงการก็หย่อนยานมีการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในบริษัทวังน้ำฝนของพิเชษฐ์กันอย่างสนุกมือ
"คุณคิดดู หมูตัวหนึ่งน.น. 100 ก.ก. เวลาแจ้งยอดทางบัญชีบอกน.น.แค่ 90 ก.ก. ขาดไปตัวหนึ่ง 10 ก.ก. วันหนึ่ง ๆ ขายไป 300-400 ตัว เดือนหนึ่ง ๆ บริษัทขาดรายได้ไปถึงเกือบล้านบาท...นอกจากนี้เรื่องข้าวโพดที่ใช้เป็นอาหารหมูนี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทุจริตกันสนุกมือ ซื้อมาจากบริษัทลีวัฒนาและแหลมทองสหการวันละ 10 คันรถ คันรถหนึ่งประมาณ 14-15 ตัน แต่แจ้งยอดไม่ถึง ตอนแรก ๆ เราไม่รู้ มารู้ทีหลัง ก็บอกให้พิเชษฐ์เขาตรวจ แต่พิเชษฐ์ไม่เชื่อเพราะรักลูกน้องมากเกินไป มายอมรับทีหลังก็สายเสียแล้ว" ชูศักดิ์ครวญให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
ในที่สุดโครงการเกษตรวังน้ำฝนของพิเชษฐ์ก็เจ๊ง ค้างจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนแก่แบงก์มาตลอด เงินทุนหมุนเวียนที่แบงก์ให้สินเชื่อไปเดือนละเกือบ 20 ล้านบาทมาตลอดก็หยุด...เมื่อสถานการณ์บริษัทวังน้ำฝนล่วงรู้ไปถึงหูของเกษตรกรที่เป็นทหารผ่านศึก (ปลดประจำการไปแล้ว) เกษตรกรพวกนี้ก็ออกลายซิกแซกเอากับพิเชษฐ์ด้วยวิธีเอาลูกหมูที่ขุนเลี้ยงไว้ไปขายตลาดก่อนกำหนดตัวละ 60 บาทแทนที่จะขายให้บริษัทเพื่อบริษัทจะได้ขายต่อไปยังโรงชำแหละตัวละ 200-300 บาท ... อย่างนี้ต่อให้พิเชษฐ์สร้างปาฏิหาริย์ยกดวงอาทิตย์ได้อย่างไร บริษัทวังน้ำฝนก็เจ๊งแหง ๆ...
ถึงปัจจุบัน บริษัทวังน้ำฝนมีหนี้สินค้างเติ่งกับแบงก์กรุงเทพอยู่ประมาณ 700 ล้านบาทแล้ว
ส่วนชูศักดิ์ถูกเตะโด่งไปนั่งตบยุงในตำแหน่งที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่-ชาตรี โสภณพนิช ส่วนพิเชษฐ์ถูกแบงก์ฟ้องล้มละลาย
"งานนี้ถ้าแบงก์ฟ้องล้มละลายพิเชษฐ์ ทรัพย์สินทั้งหมดในโครงการวังน้ำฝนถูกอายัดและขายทอดตลาด อย่างมากแบงก์ก็ได้คืนไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งก็เท่ากับว่าแบงก์ต้องตัดหนี้สูญไปจำนวน 600 ล้านบาท" แหล่งข่าวสาธยายให้ "ผู้จัดการ" ฟังเมื่อทราบว่าทางแบงก์กรุงเทพฟ้องล้มละลายพิเชษฐ์และบริษัทวังน้ำฝนเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
โครงการวังน้ำฝนนี้ เป็นบทเรียนครั้งใหญ่สุดของชูศักดิ์ที่หาซื้อไม่ได้อีกแล้ว... ชูศักดิ์ยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่าความล้มเหลวทั้งหมดของโครงการนี้เขาไม่เชื่อว่าพิเชษฐ์จะหลอกลวงเขา แต่คนอื่นเขาไม่แน่ใจที่จะยืนยันเช่นนั้น
ช่างน่าเสียดายจริง ๆ สำหรับคนอย่างชูศักดิ์ ในวัย 55 ปีของเขา น่าจะลงเวทีอย่างยิ่งใหญ่สมกับที่อุทิศชีวิตทั้งชีวิตในหน้าที่การงานกับแบงก์มา 25 ปี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสินเชื่อและนักพัฒนาธุรกิจเกษตร หากไม่เพราะเขาหลงติดเข้าไปใน "กับดัก" ที่สร้างมากับมือ
|
|
 |
|
|