|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2531
|
|
เขาคนนี้ "ผู้จัดการ" เคยเขียนถึงไปแล้วพร้อมคำขานรับที่เป็นจริงว่า เขาคือ 1 ใน 3 คหบดีที่ "รวยจริง" อีกทั้งอิทธิพลบารมีก็มีคลุมไปทั่วภาคอีสาน ขณะเดียวกันก็มีเสียงย้ำติงค่อนข้างหนักแน่น ว่าบนถนนธุรกิจเขาและเมียขึ้นชื่อลือชานักในความ "หิน" ที่มากมายหลายรูปแบบ
ที่จริงถ้าจะบอกว่าท่าที "หิน ๆ" นั้นเป็นความน่ารังเกียจ คงดูรุนแรงไป เพราะในเกมธุรกิจที่ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวรด้วยความรู้เพียงแค่ชั้น ป.4 ทั้งของเขาและเมีย อาการ "หิน ๆ" ที่สำแดงออกมาอาจจะเป็นคมที่ทำให้กลายเป็นหนึ่งได้อย่างไม่คลอนแคลน
จังหวะชีวิตเขาน่าศึกษาไม่น้อย จากเด็กหนุ่มที่แทบจะหาบทสนทนากับอนาคตของตัวเองไม่ได้ เขาใช้ความมานะพยายามกระทั่งปีนบันไดความสำเร็จเป็นเจ้าของอู่ต่อตัวถังรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศได้ ซึ่งแน่ละว่าบางครั้งของการต่อสู้กับชีวิตย่อมรับรู้ได้ถึง "ความบริสุทธิ์" ทว่าหลายครั้งที่คนซึ่งรู้จักเขาดีก็บอกว่า "อาจมีบ้างของการฉกฉวยสถานการณ์ผสานเข้ากับความป้อแป้ของกลไกรัฐที่ทำให้การค้ารุ่งเรือง"
ถูกหรือผิดในกรณีนี้ "ผู้จัดการ" ไม่สามารถให้คำตอบได้ รู้แต่เพียงว่ารูปแบบอย่างนั้นกลายเป็นประเพณีนิยมซึ่งคงเป็นทางที่ทอดผ่านของพ่อค้าไปอีกหลายยุคหลายสมัย !!??
มุมที่พลิกกลับอยู่ที่ว่าเมื่อถึงวันหนึ่ง เวลาหนึ่งพร้อมที่จะชำระ "เงินเปื้อนมลทิน" และปรับตัวให้เข้ากับความสุจริตคิดชอบของสังคมและผู้คนส่วนใหญ่ ก้าวเดินของวิชัยน่าที่จะเป็นแบบอย่างได้ดี จากที่มีเสียงติฉินนินทาข้างต้น วันนี้ข้อมูลใหม่ที่ "ผู้จัดการ" ทราบมานั้นเขาได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว
วันนี้ของเขาไม่ได้กักตัวอยู่กับความคิดแคบ ๆ ที่มองเห็นแต่ตัวเลขกำไรในบัญชีเป็นสิ่งที่ควรค่าชื่นชมโดยละเลยต่อปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้คนร่วมวิถีเดียวกันประสบ วิชัยหรือเฮียไซได้ผลักดันตัวเองเข้าไปเป็นกรรมการหอการค้า จ.นครราชสีมาและเป็นคีย์คนหนึ่งที่ร่วมแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับสมาชิกจน ภาพพจน์เริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นตามลำดับ
กรรมการคนหนึ่งพูดถึงเขาว่า "เราอาจหวังอะไรจากเขาได้ไม่มาก แต่การที่คนรวย ๆ อย่างเขาหันมาสนใจปัญหาและยอมรับปรัชญาการค้าสมัยใหม่เข้าไปปรับปรุงระบบการบริหารงานในบริษัท ใหญ่ ๆ ของเขาก็ถือว่าดีที่สุด เขาเปลี่ยนไปมากนะ"
แต่สิ่งที่วิชัยและครอบครัวต้องจดจำและดีใจมากที่สุดก็คือ การที่เขาได้รับคัดเลือกให้เป็น "นัก-ธุรกิจดีเด่นประจำปี 2530 สาขาพัฒนาอุตสาหกรรม" ซึ่งรางวัลนี้กับผลงานที่ผ่านมาหลายสิบขวบปีและ ที่กำลังจะก้าวรุดหน้าในอนาคตอันใกล้เขานั้นเหมาะกับเกียรติยศนี้แล้วจริง ๆ
"ผู้จัดการ" เคยบอกว่า "เชิดชัยอุตสาหกรรม" ของเขามาถึงจุดปรับโค้งของระบบธุรกิจครอบครัวอีกครั้งหนึ่งด้วยข่าวคราวที่ว่ามีบริษัทรถยนต์ต่างชาติหลายรายสนใจงานผลิตตัวถังรถของอู่นี้ และอยากจะเข้าร่วมลงทุนด้วย ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้หรือเนเธอร์แลนด์ ซึ่งถ้าข่าวคราวนี้เป็นจริงก็เท่ากับเป็นการยกระดับธุรกิจภูธรชนิดก้าวกระโดดครั้งใหญ่เลยทีเดียว!!!
บัดนี้เวลานั้นได้มาถึงแล้ว "เชิดชัยอุตสาหกรรม" พร้อมที่จะอวดฝีมือให้ประจักษ์ว่า โรงงานต่อตัวถังรถยนต์แห่งนี้ใหญ่และมีคุณภาพดีที่สุดในเอเชียอาคเนย์ด้วยการที่จะผลิตตัวถังรถยนต์ป้อนให้กับบริษัทเดินรถต่าง ๆ ในมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้ได้มีการเจรจาตกลงกันไปหลายขั้นแล้ว วิชัยนั้นบอกว่าเขาไม่ได้หวังแค่ต่อตัวถังรถเท่านั้นยังหวังที่จะขายชิ้นส่วนต่าง ๆ เป็นผลพวงตามมาอีกด้วย
ไม่เพียงแต่ขยายตัวส่งออกต่างประเทศ แม้แต่กิจการเดินรถภายในประเทศก็มีข่าวว่าวิชัยได้เข้ามาเซ็งลี้รถเมล์ร่วมบริการขสมก.ไปแล้วบางสายอาทิเช่น สาย 39 รังสิต-สนามหลวง ซึ่งหลังจากที่เขาเข้ามาทำไม่เท่าไหร่ก็สามารถฟื้นภาวะย่ำแย่ของการเดินรถสายนี้ได้อย่างน่าชื่นใจจนผลงานดังกล่าวทำให้ ขสมก.ยินดีที่จะให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในอีกหลาย ๆ สาย
ซึ่งจะว่าไปแล้วคงไม่ลำบากยากเย็นเท่าไรนัก เพราะเป็นที่รู้ ๆ กันอยู่ว่าความสัมพันธ์อันสนิท...........บรรหาร ศิลปอาชา นั้นเหนียวแน่นยากนักที่ใครจะสะบั้นให้แยกขาดจากกันได้ ???
สัมปทานการเดินรถไฟดีเซลรางปรับอากาศทั่วประเทศ 6 สายที่กรรมาสิทธิ์ตกเป็นของบริษัทเชิดชัยดีเซลราง จำกัด ที่มีวิชัย เชิดชัย เป็นหัวเรือใหญ่นั้นน่าจะเป็นคำตอบไขข้อสงสัยนั้นได้ดีที่สุด นอกเหนือไปจากความสามารถด้านการผลิตที่เขามีเป็นทุนรอนเดิมอยู่ก่อนแล้ว !???
พูดถึงรถไฟดีเซลรางปรับอากาศนี่แล้ว "ผู้จัดการ" มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ไม่รู้ว่าคนอย่างวิชัยหรือเฮียไซจะขำออกไหม? ครั้งหนึ่ง "ผู้จัดการ" เคยใช้บริการรถไฟดีเซลรางปรับอากาศของบริษัทเชิดชัยดีเซลรางในสายหาดใหญ่-กรุงเทพฯ พอดีเที่ยวนั้นฝนตกลงมาห่าใหญ่ เที่ยวเดียวกันนี้มีนักธุรกิจชาวสิงคโปร์ 3-4 คนที่อยากเปลี่ยนบรรยากาศจากเครื่องบินหันมาใช้บริการรถไฟแทนร่วมมาด้วย วันนั้นปรากฏว่า 5-6 ชั่วโมงที่นักธุรกิจกลุ่มนั้นรวมถึง "ผู้จัดการ" ต้องทนนั่งดูและรับเอาความชุ่มฉ่ำของหยดน้ำที่รั่วไหลลงมาจากเพดานรถโดยไม่มีสิทธิป้องกันไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ทั้งสิ้น
"รถนี่เขาต่อกันที่ไหนนะ ทำในเมืองไทยหรือเปล่า ในสิงคโปร์เป็นอย่างงี้ถูกด่าแหลกเลย" นักธุรกิจกลุ่มนั้นพูดกับ "ผู้จัดการ" อย่างนี้จริง ๆ นี่ยังดีนะที่บัสโฮสเตสเที่ยวนั้นแกพยายามเอารอยยิ้มหวาน ๆ เข้าปลอบและกุลีกุจอช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ไม่งั้นมีหวังโดนสวดหนักกว่านี้เป็นแน่
ไหน ๆ ก็จะไปอหังการ์ในบ้านเมืองเขาแล้วอย่าให้เป็นอย่างที่ว่านี้อีกล่ะ เดี๋ยวเสียชื่อคนโคราชหมด
|
|
|
|
|