|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2529
|
|
สมเกียรติ ลิมทรง ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง และกรรมการในกิจการอื่นๆ อีกหลายตำแหน่ง
อายุของเขาประมาณ 45 ปี สถานภาพครอบครัว-โสด ทำงานอาทิตย์ละ 7 วัน เฉลี่ยวันละประมาณ 15 ชั่วโมง งานสังคมในวงการธุรกิจแทบไม่เคยสนใจ ไม่เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับใด เกลียดการแสดงตัวต่อสาธารณชน ไม่ชอบเป็นข่าว
พนักงานของเขาบางคนเทิดทูนเขาราวเทพเจ้า บางคนด่าว่าเขาเป็นจอมเผด็จการ บางคนบอกว่าเขาเป็นคนใจแคบไม่ฟังความคิดเห็นของคนอื่น บ้างบางคนบอกว่าเขาเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง และตัดสินใจเรื่องอะไรไม่เคยพลาด
บางเสียงบอกว่าเขาเป็นคนมัธยัสถ์อย่างร้ายกาจ ทั้งที่ร่ำรวย เปี่ยมไปด้วยธนสาร จนแทบจำไม่ได้ว่ามีเงินในแบงก์หรือมีสมบัติอยู่เท่าไหร่ แต่ก็นั่นแหละ หมกมุ่นอยู่กับงานถึงปานนั้นจะเอาเวลาที่ไหนไปใช้เงิน
เขาจะเป็นคนแบบไหน อุปนิสัยอย่างไร…ไม่สำคัญ หากเขาไม่ใช่ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง ซึ่งเป็นปูนที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากปูนซิเมนต์ไทย โดยมีชลประทานซีเมนต์ตามรั้งท้ายอยู่
“ผู้จัดการ” ติดต่อขอสัมภาษณ์เขาด้วยความกระตือรือร้น คำตอบที่ได้รับผ่านเลขาฯ หน้าห้องก็คือ “ท่านยังไม่พร้อมที่จะให้สัมภาษณ์”…ก็ไม่เป็นไร เราพร้อมเสมอสำหรับการลงทุนลงแรงค้นหาเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเขา หากคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน
“ชีวิตในวัยเด็กของเขาไม่มีอะไรลำบาก เพราะตระกูลของเขาร่ำรวยอยู่แล้วจากกิจการค้าข้าว โรงสี และบริษัทจิ้นหยู่เฮงของคุณพ่อของเขาดังมากในสมัยก่อน ขายข้าวตราไก่ทอง ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพสูง เวลาส่งไปขาย ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซียหรือสิงคโปร์ก็ได้ราคาดีกว่าของคนอื่น เพราะเขาเน้นเรื่องคุณภาพจริงๆ” ผู้ใหญ่ในวงการค้าข้าวเล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
บิดาของสมเกียรติ ลิมทรง เดิมชื่อยุ่ยเกา แซ่ลิ้ม มีศักดิ์เป็นญาติผู้ใหญ่ของชวน รัตนรักษ์ ประธานแบงก์กรุงศรีอยุธยาและปูนนครหลวง ส่วนมารดาชื่อ พะยอม สกุลเดิม แซ่ลี้ มีศักดิ์เป็นพี่สาวของชาญชัย ลี้ถาวร อดีตปลัดกระทรวงการคลัง หรือประธานกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเซียในปัจจุบัน
ภายหลังบิดาของเขาเปลี่ยนชื่อและสกุลเป็นยุกต์ ลิมทรง สิ่งหนึ่งที่แสดงว่าชวน รัตนรักษ์ให้ความนับถือกับบิดาของสมเกียรติ ลิมทรง อย่างมากก็คือ เมื่อมีการร่วมลงทุนในบริษัทเอ็กซ์ปอร์ตอิมปอร์ตเล็กๆ แห่งหนึ่งเมื่อปี 2506 ชื่อบริษัทนั้นตั้งไว้ว่า “ยุกต์ชวน” ทั้งที่บริษัทนี้ชวนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
สมเกียรติ ลิมทรง จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา แล้วจึงข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนที่ออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ในสาขาวิชาปรัชญา สาขาเดียวกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อนที่จะเข้าทำงานในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
ว่ากันว่า ที่สภาพัฒนาฯ สมเกียรติก็เริ่มแสดงบุคลิกของความเป็น “คนแข็ง” ไม่ค่อยลงให้กับใครแม้แต่ผู้บังคับบัญชา ก็เลยกลายเป็นนักเรียนนอกคนเดียวในยุคนั้น เมื่อทำงานครบปีแล้วไม่ได้ 2 ขั้น เขาก็ไม่ง้อ ตัดสินใจไปเรียน MBA ที่ฮาร์วาร์ด รุ่นเดียวกับชุมพล ณ ลำเลียง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทย และครั้งนี้เมื่อเรียนจบ สมเกียรติ ลิมทรง ก็เลิกสนใจที่จะรับราชการ มุ่งทำงานให้กับกลุ่มธุรกิจของชวน รัตนรักษ์ ผู้เป็นญาติผู้ใหญ่อย่างเต็มตัวที่ปูนซีเมนต์นครหลวง
ตำแหน่งแรกของสมเกียรติ ลิมทรง ที่ปูนซีเมนต์นครหลวง คือกรรมการรองผู้จัดการทั่วไป ส่วนกรรมการผู้จัดการทั่วไป ได้แก่ เรืออากาศเอกศุลี มหาสันทนะ ที่ชวน รัตนรักษ์ ดึงตัวมาจากเอสโซ่
ว่ากันว่า ลำพังความสนิทสนมระหว่างยุกต์ ลิมทรง กับชวน รัตนรักษ์ ในฐานะญาติคงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ชวนเลือกสมเกียรติ ลิมทรง มาบริหารประกบคู่กับศุลี มหาสันทนะ ที่ปูนนครหลวง หากแต่สมเกียรตินั้นเป็นมือบริหารที่เชี่ยวชาญเรื่อง FINANCING เข้าขั้นพระกาฬคนหนึ่ง ดังนั้นด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท เรียกทุนครั้งแรกแค่ 25 เปอร์เซ็นต์ สมเกียรติ ลิมทรง ก็สามารถติดต่อกับแหล่งทุนต่างประเทศ ก่อสร้างโรงงานผลิตปูนซีเมนต์มูลค่า 400 ล้านบาท ออกมาได้ภายในเวลาแค่ 2 ปีหลังจากตั้งบริษัท
และสมเกียรติ ลิมทรง คนนี้อีกเช่นกัน ที่น่าจะอยู่เบื้องหลังในการผลักดันให้ชวน รัตนรักษ์ ก่อตั้งบริษัท HOLDING COMPANY ของตนขึ้นมาเป็นครั้งแรก ในชื่อบริษัทซีเคเอส โฮลดิ้ง เพื่อถือหุ้นในกิจการปูนซีเมนต์นครหลวง และอีกหลายกิจการที่ชวน รัตนรักษ์ เป็นเจ้าของกิจการ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทสยามประชาคาร ที่ก่อสร้างหมู่บ้านเสนานิเวศน์ บริษัทสยามอบพืชและไซโล บริษัทสยามฟลาวมิว
“ลักษณะที่สมเกียรติเข้าทำกิจการหลายกิจการของคุณชวน รัตนรักษ์ ถ้าจะเปรียบเทียบไปแล้วก็คล้ายกับ PSA กรุ๊ปนั่นแหละ เพียงแต่เขาจับแต่โครงการหนักๆ ทั้งนั้น ไม่ได้ทำเพียงแค่ธุรกิจแบบที่พร สิทธิอำนวย กับสุธี นพคุณ ที่ทำตอนหลัง” ไพบูลย์ สำราญภูติ นักการตลาดมือเซียนเล่าย้อนหลังอดีต
โดยตำแหน่งแม้สมเกียรติ ลิมทรงจะเป็นรองศุลี มหาสันทนะ แต่ในทางปฏิบัติพนักงานยุคเริ่มแรกทุกคนรู้ว่าแทบจะเป็นการบริหารงานระบบผู้จัดการคู่ เหมือนกับชลประทานซีเมนต์เคยทำ คือมีกรรมการผู้จัดการ 2 คนได้แก่ดร.รชฏ กาญจนวนิช และนายแพทย์สมภพ สุสังกรกาญจน์
“อย่างผมเคยทำงานกับท่านรัฐมนตรีศุลี มหาสันทนะ สมัยอยู่ที่เอสโซ่ก็จริง แต่ตอนที่ท่านออกมาทำงานที่นี่ผมยังไม่ได้ออกจากเอสโซ่ ตอนหลังผมมีเรื่องอึดอัดใจลาออกมา ก็เลยมาสมัครงานกับท่าน ท่านก็ให้ผมไปหาคุณสมเกียรติ ให้คุณสมเกียรติสัมภาษณ์ผมอีกทีหนึ่ง” ชัยยะ อุดมประเสริฐ อดีตผู้จัดการฝ่ายขายของปูนนครหลวงเปิดเผยให้ฟัง
เมื่อศุลี มหาสันทนะ ต้องไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล “เปรม 2” ในช่วงต้นปี 2524 อาณาจักรปูนซิเมนต์นครหลวงก็ตกอยู่ภายใต้การบริหารของสมเกียรติ ลิมทรง แต่เพียงผู้เดียว
ถ้าถามพนักงานปัจจุบันของปูนซีเมนต์นครหลวงไม่ว่าคนคนนั้นจะชอบหรือไม่ชอบเจ้านายของตนก็ตาม สิ่งหนึ่งที่จะได้รับคำตอบตรงกันก็คือ สมเกียรติ ลิมทรง เป็นคนที่ละเอียดถี่ถ้วนเฉียบแหลม และเป็นคนที่หายใจเป็นงานอยู่เกือบตลอด 24 ชั่วโมง
“เช้าไม่เกิน 8 โมง คุณสมเกียรติต้องมาถึงที่ทำงานแล้ว ตอนกลางวันมักจะสั่งให้พนักงานไปซื้ออาหารง่ายๆ มานั่งกินในที่ทำงาน และกว่าจะกลับบ้านก็เลย 2 ทุ่มไปแล้ว ช่วงงานยุ่งก็อาจจะอยู่ที่ออฟฟิศจนเลยเที่ยงคืนบ่อยๆ” พนักงานคนหนึ่งเล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
ความสมถะมัธยัสถ์ของสมเกียรติ ลิมทรง ก็เป็นที่เลื่องลือในหมู่พนักงานอีกเช่นกัน เพราะชุดทำงานในวันปกติที่เห็นจนชินตา ก็คือเครื่องแบบของบริษัทที่ตัดแจกปีละ 2 ชุด คือเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงสีน้ำเงิน ยิ่งในวันหยุดเสื้อยืดที่สมเกียรติชอบใส่ที่สุดหนีไม่พ้นเสื้อยืดยี่ห้อปูนตรานกอินทรี ที่บริษัทแจกให้ลูกค้านั่นเอง แต่เมื่อใดต้องออกงานใหญ่อย่างเช่นต้อนรับลูกค้าต่างประเทศเขาก็เปลี่ยนไปใส่สูท 3 ชิ้น เท่ระเบิดจนลูกน้องอ้าปากค้าง
“มีอยู่ครั้งหนึ่งแกไปเยี่ยมโรงงานที่แก่งคอย ใส่เสื้อยืดตรานกอินทรีเก่าๆ แล้วไปบอกยามว่าขอพบกับผู้จัดการโรงงาน ยามมองดูแล้วไม่ยอมให้เข้า แกก็บอกว่าให้โทรไปถามสิว่าคนที่ชื่อสมเกียรติจะขอพบจะให้พบหรือเปล่า” เรื่องนี้คงไม่ต้องเดาผลสุดท้ายนะว่าอะไรจะเกิดขึ้น?
“คุณสมเกียรติมีบุคลิกที่อาจจะแปลก คือกับพนักงานทั่วไประดับกลาง ระดับล่าง เวลาเจอกันในออฟฟิศเขาก็พูดด้วยอย่างสุภาพ แต่พวกเราก็เคยชินกับสภาพที่หัวหน้าของเราคือ…พวกระดับผู้จัดการฝ่าย เวลาเลขาฯ บอกว่าคุณสมเกียรติเรียกไปพบนี่ คุณเอ๊ย…สนุกเป็นบ้า แต่ละคนพุ่งใส่แฟ้ม ควานหาเอกสารที่คิดว่าอาจจะถูกเรียกถามกันจ้าละหวั่น จากนั้นก็กระหืดกระหอบออกจากห้องไปทันที” พนักงานช่างสังเกตอีกคนหนึ่งเล่าให้ฟัง
เป็นที่รู้กันว่าสมเกียรติ ลิมทรง เป็นนักอ่านตัวฉกาจ หนังสือพิมพ์ทุกเล่มที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารธุรกิจจะถูกส่งเข้าห้องสมเกียรติทุกเช้า เมื่ออ่านเจออะไรที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ปูนนครหลวงควรจะเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น การประมูล ข่าว การก่อสร้างโครงการใหม่ๆ สิ่งพิมพ์ฉบับนั้นๆ จะถูกวงข้อความส่งไประดับบริหารฝ่ายที่รับผิดชอบทันที
เมื่อเจ้านายทำการบ้านหนัก ลูกน้องก็ต้องพลอยทำการบ้านหนักไปด้วย บ่อยครั้งการประชุมระหว่างสมเกียรติ ลิมทรง กับผู้บริหารระดับผู้จัดการฝ่าย คำพูดประโยคเดียวที่สมเกียรติใช้ตลอดการประชุมก็คือ ถามผู้จัดการฝ่ายแต่ละคนว่า “ใช่หรือไม่ใช่ ที่…” และคำตอบที่เขาต้องการคือ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องอธิบายมาก แต่บางครั้งก็มีข้อยกเว้นเหมือนกัน อาทิ อดีตเจ้าหน้าที่ระดับบริหารคนหนึ่งของปูนนครหลวงเล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
“จุดอ่อนของคนคนนี้ก็คือ บางทีเขาก็เอาแต่ใจตัวเอง… อ่อนในเรื่องมนุษยสัมพันธ์ อย่างประชุมคราวหนึ่งเขาถามอะไรเรื่องหนึ่ง พนักงานที่ถูกถามก็พูดให้ฟังอย่างละเอียด เขาก็บอกว่า พอแล้วๆ ผมรู้แล้ว พออีกครั้งพนักงานคนนั้นถูกถามอีก เขาก็เลยพยายามพูดสรุปให้สั้นๆ ก็โดนว่าอีก ว่าคุณพูดสั้นแค่นี้ผมจะไปรู้เรื่องได้อย่างไร…เป็นงั้นไป”
บางครั้งอีกเหมือนกันที่เจ้าหน้าที่ระดับบริหารถูกเรียกไปพบที่ห้องของสมเกียรติ ลิมทรง เมื่อไปถึงก็ไปนั่งที่หน้าโต๊ะทำงานที่สมเกียรติกำลังนั่งเขียนหนังสืออยู่ ก็ถูกถามด้วยน้ำเสียงออกสีเขียวว่า “ทำไมคุณไม่ไปนั่งตรงโน้น (โต๊ะรับแขกในห้อง)” อีกครั้งเจ้าหน้าที่คนนั้นถูกเรียกไปพบจึงปรี่เข้าไปนั่งรอที่โต๊ะรับแขก ก็โดนน้ำเสียงสีเดียวกันถามว่า “ทำไมคุณไม่มานั่งตรงนี้”
“คงไม่ถึงขนาดนั้นหรอกครับ คือคุณสมเกียรติท่านอาจจะเป็นคนที่ทุ่มเทให้กับงานอย่างมาก ก็เลยอาจไม่ค่อยมีเวลาโอภาปราศรัยกับพนักงาน แต่อย่างที่ท่านมาที่โรงงานนี้ตอนติดตั้งเตาเผาใบที่สองก็แทบจะทิ้งงานทางกรุงเทพฯหมดเลย มาขลุกอยู่กับพนักงานที่นี่เต็มตัว…อะไรนะครับ…อ๋อ..จริงครับ ท่านก็มานั่งดื่มกับพวกเรา บางทีตี 2 ตี 3 หรือสว่างไปเลย คือท่านนั่งแล้วไม่ค่อยลุก และเป็นคนที่แบบว่านิยมไทย เหล้าที่ดื่มก็แม่โขงยืนพื้น” ยุทธ ยุคแผน ผู้จัดการโรงงานปูนซีเมนต์นครหลวง ให้ความเห็นอีกด้านหนึ่ง
ไม่ว่าพนักงานจะมองสมเกียรติ ลิมทรงในแง่ใด ที่ตอบตรงกันอีกข้อหนึ่งก็คือ เวลาไปเจอสมเกียรติยืนรอลิฟต์ที่อาคารมหาทุนพลาซ่า ยังไม่เคยมีประวัติว่าพนักงานคนไหนกล้าลงหรือขึ้นลิฟต์เที่ยวเดียวกับสมเกียรติเลยสักคน
กิจวัตรประจำวันของสมเกียรติ ลิมทรง หากไม่มีธุรกิจไปต่างประเทศหรือต่างจังหวัด เช้าตื่นก่อน 7 โมง ไม่ว่าจะนอนดึกแค่ไหน กินอาหารเช้าง่ายๆ ประเภทข้าวต้มกับคุณแม่พยอมที่สมเกียรติรักมาก เดินทางจากบ้าน “ลิมทรง” ซอยสารสิน มาถึงที่ทำงานไม่เกิน 8 โมง ทำงานเรื่อยไปจนกระทั่ง 2 ทุ่ม หรือบางครั้งก็ค้างคืนอยู่ที่ทำงานในช่วงที่งานเร่ง
กีฬาโปรดปรานเมื่อพอจะเจียดเวลาได้ ก็คือสควอช…ซึ่งก็อาจจะเป็นกีฬาที่ไม่จำเป็นต้องมีคู่ขาก็เป็นได้ บางทีหากมีเวลามากกว่านั้นก็อาจจะไปนั่งเล่นไพ่บริดจ์กับเพื่อนอย่างชดช้อย โสภณพนิช หรือศศิมา ศรีวิกรม์ ส่วนเพื่อนหญิงที่ค่อนข้างสนิทมีอยู่คนเดียว ชื่อ สุจิตรา จิราธิวัฒน์…แต่ก็เป็นแค่เพื่อนเท่านั้นนะ
บางคืนถ้ามีโอกาสผ่านไปแถวอาคารมหาทุนพลาซ่าลองแหงนหน้าขึ้นไปดูชั้นที่ 14 สักนิด คุณอาจจะได้เห็นแสงไฟสว่างในห้องบางห้อง นั่นแหละ สมเกียรติ ลิมทรง กำลังนั่งโม่งานของเขาอยู่
และในบางคืน บนชั้น 14 อาคารมหาทุนพลาซ่า เงาดำที่ทาบอยู่กับขอบหน้าต่างที่ยังส่องแสงสว่างนั้นอาจจะเป็นสมเกียรติ ลิมทรง ที่ลุกจากโต๊ะทำงาน เพื่อยืนปล่อยอารมณ์คิดถึงสิ่งที่ตนเองได้ทำมาแล้วและต้องทำต่อไป
บางทีเขาอาจกำลังคิดถึงธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่นั่นมีคนวัยเยาว์กว่าเขาเล็กน้อยนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่และมีชื่อว่า กฤตย์ รัตนรักษ์ และบางทีขณะที่คิดถึงธนาคารแห่งนั้นเพลงที่เขาอาจจะร้องอยู่ในใจก็น่าจะเป็นเพลง “อินทรีองอา..จ.. องอา…จ ผงาดฟ้า”
|
|
|
|
|