|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2529
|
|
ในบรรดาบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศไทย บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง เป็นบริษัทหนึ่งที่น่าจับตามองมากที่สุด เนื่องจากเพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2512 และผลิตปูนซีเมนต์ออกสู่ตลาดได้ เมื่อปี 2515 แต่ ณ สิ้นปี 2528 บริษัทแห่งนี้สามารถมีกำลังผลิตและมีกำไรสุทธิที่ใกล้เคียงบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งก่อตั้งมาก่อนร่วม 60 ปี ความสำเร็จเยี่ยงนี้เป็นสิ่งที่น่าจะนำมายกย่องสรรเสริญและเผยแพร่ให้รู้ทั่วกัน แต่ก็น่าเสียดายที่บางครั้งทัศนะของคนทำหนังสือกับทัศนะของผู้ประกอบกิจการแห่งนี้อาจจะไม่ตรงกัน ทำให้ผู้อ่านของเรารวมทั้งปูนซีเมนต์นครหลวงเอง ไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควรจะเป็น
ในบรรดาบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยทั้ง 3 ราย เห็นจะมีบริษัทปูนซิเมนต์ไทยเพียงบริษัทเดียวที่มีข่าวคราวประชาสัมพันธ์ออกมาอย่างสม่ำเสมอ ส่วนปูนซีเมนต์นครหลวงกับชลประทานซีเมนต์นอกจากข่าวที่ออกโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว ทั้งปีทั้งชาติก็แทบจะไม่มีข่าวที่เกี่ยวข้องกับกิจการของบริษัทโผล่มาให้เห็น
อย่างชลประทานซีเมนต์นั้นพอจะเข้าใจกันได้ เพราะกำลังอยู่ในช่วงปรับทั้งโครงสร้างการบริหารและการเงิน อันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับตระกูล “ธารวณิชกุล” อดีตเจ้าของธนาคารเอเชียทรัสต์ ก็ย่อมไม่อยากเป็นข่าวเป็นธรรมดาจะมีก็แค่สปอตโฆษณา “กองทัพงูเห่าเรามาช่วยกัน…” ที่ยิงออกทีวีบ่อยๆ
แต่ปูนซีเมนต์นครหลวงนั้นสภาพผิดกับชลประทานซีเมนต์อยู่มาก เฉพาะกำไรสุทธิเมื่อสิ้นปี 2528 สูงถึง 613.2 ล้านบาท เทียบกับเมื่อสิ้นปี 2527 ที่มีกำไรสุทธิ 284.3 ล้านบาท หรือสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว ในขณะที่ยักษ์ตลอดกาลของวงการปูนซีเมนต์อย่างปูนซิเมนต์ไทยมีกำไรสุทธิเมื่อสิ้นปี 2528 เท่ากับ 939 ล้านบาท เทียบกับปี 2527 เท่ากับ 777 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 21 เปอร์เซ็นต์
ยิ่งมาคำนึงาปูนซีเมนต์เพิ่งจะผลิตปูนออกสู่ตลาดเมื่อปี 2515 หรือเมื่อ 14 ปีมานี้เอง ในขณะที่ปูนซิเมนต์ไทย ก่อตั้งมาได้นานถึง 76 ปี เรียกว่าถ้าเทียบอายุกันแล้วก็เหมือนปู่กับหลานหรือเหลนเสียด้วยซ้ำแต่เมื่อเทียบผลกำไรล่ะก็แค่พี่กับน้องเท่านั้นเอง (ดูตารางที่ 1)
“ผู้จัดการ” จึงแปลกใจเป็นกำลังที่กิจการที่มีผลประกอบการดีถึงปานนี้ กลับพยายามปิดตัวเงียบเชียบ มิไยจะเพียรติดต่อขอข้อมูลจากผู้บริหารหลายต่อหลายคนก็ได้แต่รับการปฏิเสธเป็นส่วนใหญ่
เรื่องที่คิดว่าเป็นเรื่องง่ายก็กลายเป็นเรื่องยาก เรื่องที่คิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ หรือเรื่องขนาดกลางก็เลยต้องกลายเป็นเรื่องใหญ่ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นเลยแม้แต่น้อย
ก็ไม่เข้าใจว่าผู้บริหารที่นี่เข้าใจคำว่า “บริษัทมหาชน” แค่ไหน หรือการที่เอาบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็เพื่อเป็นไปตามเงื่อนไขของบีโอไอ กับเพื่อต้องการลดภาระในเรื่องภาษีเท่านั้นเอง
บอกกล่าวกันตรงๆ ว่าเราได้รับการติดต่อจากระดับบริหารคนหนึ่งของบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงว่า อย่าทำเรื่องนี้ได้ไหมเพราะ “คุณสมเกียรติ ลิมทรง ยังไม่อยากให้ลง”
คงไม่ต้องตัดพ้อต่อว่ากันมาก เพราะยังเกรงใจพนักงานของปูนซีเมนต์นครหลวงที่เป็นสมาชิกของเราอยู่หลายสิบคน อยากจะรู้นโยบายในเรื่องการตีพิมพ์ข่าวของ “ผู้จัการ” ก็ลองอ่านความเห็นจากบรรณาธิการในฉบับหน้าปกโกดักเอาเอง (ฉบับเดือนพฤษภาคม 2529)
บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงได้ประชุมเพื่อก่อตั้งบริษัทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2512 โดยมีชวน รัตนรักษ์ เป็นประธานและชมพู อรรถจินดา เป็นเลขานุการ สำหรับวาระการประชุมที่สำคัญได้แก่แจ้งให้ทราบว่าบริษัทมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 1 ล้านหุ้น จากนั้นก็เป็นการให้สัตยาบันแก่สัญญาที่ผู้ก่อการทำไว้รวมทั้งเลือกตั้งกรรมการชุดแรก ซึ่งประกอบไปด้วย
1. ชวน รัตนรักษ์ 2. มงคล กาญจนพาสน์ 3. ดิเรก มหาดำรงค์กุล 4. ยรรยง ตั้งจิตนบ 5. ยงศักดิ์ คณะธนวนิช 6. เม่งเทียม แซ่เตีย 7. ศศิธร รัตนรักษ์ 8. ชมพู อรรถจินดา 9. ศุลี มหาสันทนะ 10. หู ลิปตวัฒน์ 11. สมเกียรติ ลิมทรง
“ที่จริงตอนแรกคุณชวนท่านคงไม่อยากทำเองหรอก แต่คิดว่าต่อไปใบอนุญาตก่อตั้งโรงงานปูนซีเมนต์คงขอได้ลำบากก็อาศัยที่สนิทสนมกับพลเอกประภาส จารุเสถียร ก็เลยขอเอาไว้ รวมทั้งสัมปทานภูเขาหินที่ทับกวางอะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นชื่อของคุณชวนหมด” อดีตพนักงานลูกหม้อคนหนึ่งเล่าให้ฟัง
ข้อมูลที่ว่านี้จะจริงเท็จอย่างไรก็ตามที่แน่ๆ ปี 2510 ที่ชวน รัตนรักษ์ ได้รับใบอนุญาตก่อตั้งโรงงานปูนซีเมนต์เป็นรายที่ 3 ของประเทศไทยนั้น พลเอกประภาส จารุเสถียรดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งบริษัทไสวประภาสและบุตรก็เป็นบริษัทที่ถือหุ้นใหญ่ในแบงก์กรุงศรีอยุธยา ที่ชวน รัตนรักษ์และตระกูลเป็นเจ้าของมาจนถึงปัจจุบัน
และทันทีที่ได้รับใบอนุญาตจากการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีและกระทรวงอุตสาหกรรม ชวน รัตนรักษ์ ก็ยื่นคำร้องขอสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้อนุมัติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2511 แต่ก็มีเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยที่จะมีการอนุมัติให้เป็นการเฉพาะแก่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง
ในวันที่ 17 ตุลาคม 2511 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้พิจารณาทบทวนมติใหม่ และแจ้งออกมาว่าจะเปิดการส่งเสริมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เฉพาะรายที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และต้องได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรมเสียก่อนซึ่งก็ย่อมหนีไม่พ้นบริษัทเก่า 2 บริษัท คือบริษัทปูนซิเมนต์ไทย บริษัทชลประทานซีเมนต์ และบริษัทน้องใหม่ล่าสุด คือบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง
จะเป็นเรื่องบังเอิญหรือเปล่า ที่ต่อมาภายหลังบุณย์ เจริญไชย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในสมัยนั้น ก็ได้เข้ามาเป็นกรรมการคนหนึ่งของปูนซีเมนต์นครหลวง ระหว่างปี 2515-2518 ก่อนที่จะพ้นตำแหน่ง เพราะขายหุ้นจำนวน 12,000 หุ้นของปูนนครหลวงออกไปจนหมดเกลี้ยง
“ผมว่าจุดที่คุณชวนตัดสินใจทำโรงงานปูนซีเมนต์เองก็คงเป็นเพราะประการแรก ตอนนั้นท่านมีธุรกิจบ้านจัดสรรอยู่มาก อย่างโครงการเสนานิเวศน์ หรือแม้กระทั่งเมืองทองนิเวศน์ที่จับมือกับมงคล กาญจนพาสน์ และดิเรก มหาดำรงค์กุล ซึ่งบ่อยครั้งที่เจอปัญหาปูนซีเมนต์ขาดตลาดรวมทั้งอุตสาหกรรมนี้มันเห็นได้ชัดๆ ว่ามีคู่แข่งอยู่แค่ 2 โรงงาน อนาคตยังไปได้อีกไกลมาก” อดีตพนักงานฝ่ายขายบริษัทสยามประชาคารผู้สร้างหมู่บ้านเสนานิเวศน์เล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างยิ่งครั้งหนึ่งของชวน รัตนรักษ์ เพราะเพียงเวลาแค่ 10 ปีเศษ ปูนซีเมนต์นครหลวงก็สามารถผงาดขึ้นมาทาบยักษ์ใหญ่อย่างปูนซิเมนต์ไทยได้ โดยทิ้งชลประทานซีเมนต์ชนิดที่ว่ามองไม่เห็นฝุ่น
โชคดีอีกประการหนึ่งของปูนซีเมนต์นครหลวงก็คือสามารถไปติดต่อทาบทามศุลี มหาสันทนะ นักบริหาร มือดีจากบริษัทเอสโซ่ ให้มารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการได้สำเร็จ และทีมงานส่วนใหญ่ที่เป็นทีมบุกเบิกของปูนซีเมนต์นครหลวงก็ถูกฟอร์มขึ้นมาโดยคำชักชวนของศุลี มหาสันทนะผู้นี้
“ปัญหาใหญ่ของเราในตอนแรกๆ ก็คือไม่มีใครรู้จักเรา เขารู้จักแต่ปูนตราเสือกับตราช้างของปูนซิเมนต์ไทย หรือไม่ก็ปูนตรางูกับพญานาคของชลประทานซีเมนต์ ตรานกนี่เขาไม่เคยได้ยินเลย เราเอกไปเสนอขายเขาก็ถามว่าอั๊วเอาไปสร้างบ้านแล้วบ้านอั๊วพัง ลื้อจะรับชดใช้หรือเปล่า” ชัยยะ อุดมประเสริฐ อดีตผู้จัดการฝ่ายขายคนแรกของปูนนครหลวงเล่าให้ฟัง
แต่ปัญหาที่ว่านี้ก็ถูกแก้ไปได้ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาด รวมทั้งปูนซีเมนต์เป็นสินค้าที่มีผู้ผลิตแค่ 3 ราย จัดอยู่ในพวก OLIGOPOLY ไม่ยากนักที่จะสร้างตลาดของตัวเอง ประกอบกับด้านปูนซิเมนต์ไทยมีมาตรการเลือกเฟ้นดีลเลอร์ที่เข้มงวดมาก และชลประทานซีเมนต์เองก็เน้นไปด้านโครงการใหญ่ๆ ของรัฐบาล ปูนนครหลวงจึงมีโอกาสเข้าไปแชร์ส่วนแบ่งการตลาดได้บ้าง
ปัญหาอีกอย่างที่ตามมาก็คือ แม้จะเป็นโรงงานที่ตั้งขึ้นเป็นรายล่าสุด สามารถใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด แต่กำลังผลิตก็ยังต่ำอยู่มาก โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ที่มีการผลิตปูนอยู่ 2 ตรา คือปูนซีเมนต์ตรานกอินทรีและตราเพชร แต่เนื่องจากหม้อบดมีอยู่เพียงหม้อเดียวจึงต้องสลับกันใช้
ดังนั้นส่วนแบ่งการตลาดของปูนซีเมนต์นครหลวงตั้งแต่ปี 2515-2521 จึงอยู่ประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (ดูตารางที่ 2)
“ออกมาปีละ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ก็ไม่น้อยแล้วล่ะคุณ เพราะเราเริ่มต้นจากศูนย์จากการที่ไม่มีใครรู้จักเราเลย อย่างเรารู้ว่าปูนตราเสือนี่ EARLY STRENGTH มันต่ำ เพื่อให้เวลาใช้กับงานฉาบสบายเนื่องจากแห้งช้า แต่เราเห็นว่างานหล่อมันมากเราก็ทำให้ปูนตรานกมี EARLY STRENGTH สูงใกล้เคียงกับปูนตราช้าง ทีนี้ตราช้างกับตราเสือนี่ราคาอาจจะห่างกันตันละ 120 บาท เมื่อคุณสมบัติใกล้เคียงกันราคาห่างกันร้อยกว่าบาท คนเขาก็ต้องลองใช้” ชัยยะ อุดมประเสริฐ แย้มให้ฟังต่อ
แท็กติกการตลาดอีกอย่างหนึ่งของปูนซีเมนต์นครหลวงก็คือ แม้จะเป็นยี่ห้อที่ผลิตออกมาใหม่ที่สุดอย่างปูนซีเมนต์ตราเพชร ที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับปูนตราช้างของปูนซิเมนต์ไทย แต่เมื่อผลิตขึ้นมาก็จัดการยื่นขอทดสอบคุณภาพ เพื่อให้ได้รับเครื่องหมายคุณภาพแห่งชาติเป็นตราแรกจนได้รับอนุมัติจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2515
ด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ที่วางไว้ดีนับแต่เริ่มต้น ภายหลังที่ปูนซีเมนต์นครหลวงสามารถขยายกำลังผลิตของตนได้สูงขึ้น ก็จึงได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากผู้ใช้จนทะยานเหนือกว่าชลประทานซีเมนต์อย่างสิ้นเชิง
ปี 2523 เป็นปีที่ถือว่าเป็นจุดหักเหที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของปูนนครหลวงเพราะเป็นปีที่อุตสาหกรรมปูนให้ความสนใจอย่างมากกับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เนื่องจากในขณะนั้นคาดหมายกันว่าราคาน้ำมันจะยังคงตัวอยู่ในราคาสูงหรือมีแนวโน้มที่สูงขึ้นไปอีก บริษัทปูนซีเมนต์ไทยถึงกับตัดสินใจ ต่อท่อจากท่อประธานของการปิโตรเลียมที่อำเภอบางพลีจังหวัดสมุทรปราการไปยังโรงงานที่ท่าหลวง อำเภอแก่งคอย สระบุรี ซึ่งมีความยาวถึง 180 กิโลเมตร
แต่ปูนนครหลวงที่มีศุลี มหาสันทนะซึ่งชำนาญการเป็นพิเศษในเรื่องเชื้อเพลิงกลับผลักดันให้คณะกรรมการลงมติให้สร้างโรงงานเก็บและบดถ่านหินลิกไนต์เพื่อเป็นเชื้อเพลิง แทนที่จะขอต่อท่อก๊าซเพื่อใช้ร่วมกับปูนซิเมนต์ไทย
ประกอบกับในปี 2524 ปูนซีเมนต์นครหลวงได้ขยายกำลังผลิตของตนโดยเพิ่มเตาเผาอีก 1 เตา และหม้อบดปูนตาก 2 หม้อเป็น 4 หม้อ ทำให้สามารถผลิตปูนซีเมนต์ได้ถึง 2.8 ตันต่อปีเมื่อขยายเต็มโครงการในปี 2526 ในขณะเดียวกันด้านการตลาดก็บุกอย่างเต็มที่จนมีรายได้จากการจำหน่ายสุทธิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี นับตั้งแต่ปี 2522 จนกระทั่งถึงปี 2528 (ดูตารางที่ 3)
“ผมยอมรับว่าจุดนี้เป็นจุดที่ทำให้เราได้เปรียบมากในเรื่องของต้นทุนการผลิตเพราะขณะที่น้ำมันแพงคนอื่นเขาหันไปหาก๊าซธรรมชาติกันหมด ในขณะที่เราเปลี่ยนมาใช้ลิกไนต์กับถ่านหินประเภทอื่น ผมว่านะขณะนี้ใครใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการเผาปูน ต้นทุนแค่ด้านพลังงานอย่างเดียวไม่หนี 40 เปอร์เซ็นต์ของราคาขาย…ของเราไม่ถึง ต่ำกว่ามาก” ผู้บริหารคนหนึ่งของปูนนครหลวงชี้แจงกับ “ผู้จัดการ”
ก็คงจะจริงอย่างที่ว่าเอาไว้ เพราะในปี 2527 ปูนซิเมนต์ไทยก็หมดความอดกลั้นที่จะใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างเดียวกับโรงงานที่ท่าหลวง จำเป็นต้องติดตั้งเครื่องจักรเพื่อให้สามารถใช้ถ่านหินลิกไนต์แทนก๊าซธรรมชาติในบางส่วน สำหรับโรงงานที่ทุ่งสงและแก่งคอยก็หันไปใช้ลิกไนต์อย่างเต็มที่ เพื่อลดต้นทุนการผลิตของตน
“คงไม่ใช่แบบนั้นหรอก ผมเชื่อว่าปูนซิเมนต์ไทยเขาต้องรู้อยู่บ้างแล้วว่าต้นทุนเมื่อใช้ก๊าซธรรมชาตินั้นมันต้องสูงกว่าการใช้ถ่านหินแน่ๆ แต่เขาอาจจะไม่มีทางเลือก…คือกิจการของเขาทั้งหมดในเครือ แม้จะเป็นของเอกชน แต่กลายเป็นวิสาหกิจที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไปแล้ว และโครงการก๊าซธรรมชาติจะเป็นไปได้ก็ต้องอาศัยลูกค้าภายในประเทศใหญ่ๆ เป็นฐานเสียก่อนอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือแม้แต่ปูนซิเมนต์ไทยนี่ก็ตาม เรื่องของเรื่องมันกลายเป็นว่าต้องใช้ก๊าซเพื่อชาติเสียมากกว่า” ผู้ใหญ่ในวงการพลังงานอธิบาย
และภายในปี 2530 นี้ โรงงานปูนซีเมนต์ของปูนซีเมนต์นครหลวงที่อำเภอทับกวางสระบุรีจะสร้างเสร็จอีกโรงงานหนึ่งทำให้มีกำลังผลิตทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 4.6 ล้านตันต่อปี ในสภาพที่ต้นทุนด้านพลังงานต่ำกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ย่อมทำให้สามารถขยายตลาดได้กว้างขวางกว่าเดิม จากที่ประมาณการว่าขณะนี้สัดส่วนการตลาดของปูนนครหลวงมีอยู่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน
โดยสรุปแล้วผู้ถือหุ้นของปูนซีเมนต์นครหลวงคงสบายใจได้อีกหลายปี ในแง่ผลตอบแทนที่ได้จากเงินปันผล ซึ่งเฉพาะเมื่อสิ้นปี 2528 สามารถทำกำไรสุทธิต่อหุ้นได้ถึง 105.58 บาท เทียบกับมูลค่าตามบัญชี 274.18 บาทต่อหุ้น ในขณะที่ราคาปิดตามมูลค่าหุ้นในตลาดสูงถึง 484 บาทต่อหุ้น
แต่สิ่งที่ผู้บริหารบริษัทปูนซีเมนต์ไม่ว่าบริษัทใดก็ตามต้องคำนึงถึง ก็คือภายในปี 2532 ปริมาณปูนซีเมนต์ที่ผลิตได้ในประเทศไทย จะเพิ่มจากปีละ 9 ล้านตันในปัจจุบัน เป็นปีละ 13-14 ล้านตัน ตามความคาดหมายของอมเรศ ศิลาอ่อน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสของปูนซิเมนต์ไทย เมื่อนั้นหากสภาพธุรกิจและอุตสาหกรรมไม่กระเตื้องขึ้นมากพอ ก็คงได้เห็นศึกหั่นราคาปูนซีเมนต์เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ยกเว้นแต่ว่าเมื่อถึงเวลานั้น โครงการอุตสาหกรรม “จัมโบ้ ไซส์” ทั้งหลายที่ยังคาราคาซังอยู่อย่างโครงการปุ๋ยแห่งชาติ โครงการท่าเรือน้ำลึก หรือโครงการทั้งหลายที่เรียกรวมๆ กันว่าอีสเทิร์น ซีบอร์ด จะได้รับไฟเขียวให้ดำเนินการได้.
|
|
|
|
|