เป็นเศรษฐีมีเงินเดี๋ยวนี้มันช่างลำบากใจจริงๆ จะรับแลกเช็คเอาดอกเบี้ยก็มีแต่เช็คเด้ง หันไปเล่นที่ดินก็ดันเจอขบวนการแสบสันต์ตุ๋นทั้งตัวเองและกรมที่ดินเสียเปื่อยยุ่ยไปเลย …ก็พี่ท่านเล่นปลอมตั้งแต่บรรพบุรุษ จนถึงตัวโฉนดทั้งฉบับหลวง-ฉบับราษฎร์ ทั้งร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กรมที่ดินเห็นแก่ได้บางคน จนสูญเงินไปทันที 11 ล้าน แถมยังจะถูกกรมที่ดินเล่นงานฐานสมรู้ร่วมคิดกันฉ้อโกงกรมที่ดินด้วยอีกแน่ะ…
สมศักดิ์ ตรงรัตนวงศ์ นักธุรกิจเชื้อจีน เจ้าของตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท โอฬารชัย ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งทำธุรกิจด้านการรับขนส่งสินค้าลงเรือเป็นหลัก มีสำนักงานอยู่แถววัดพระยาไกร
ปัจจุบันสมศักดิ์ อายุ 42 ปี ยังหนุ่มแน่นเต็มที่ และต้องนับว่าเป็นนักธุรกิจหนุ่มที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง
นอกจากงานประจำแล้ว ก่อนหน้านี้เขารับแลกเช็คจากเพื่อนฝูงกินดอกเบี้ย แต่มาเจอเอาภาวะเฮงซวยเมื่อปีที่แล้ว เจอเอาเช็คเด้งเป็นปึกนอนแอ้งแม้งอยู่ในตู้เซฟ รอวันให้เพื่อนฝูงมาเปลี่ยนเป็นเงิน
เขาก็เลยหันมาเก็บเงินไว้ในรูปแบบอื่นด้วยการหาซื้อที่ดินผืนงามๆ เก็บไว้เป็นหลักทรัพย์ ว่ากันว่ามีอยู่หลายสิบใบเหมือนกัน
จนกระทั่งเขามีความจำเป็นต้องรับซื้อฝากที่ดินรายหนึ่งไว้ เพราะคิดว่ามันจะทำกำไรให้กับเงินก้อนนี้มากกว่าที่เอาไปฝากทรัสต์เอาไว้เฉยๆ
“ปกติผมไม่เคยซื้อฝากที่ดินเลย แต่ที่รับเพราะผมอยากช่วยคุณวิชาญ ซึ่งผมเผอิญไปรู้จักสนิทสนมกับน้องเมียแกขนาดกินเที่ยวด้วยกันอยู่บ่อยๆ แกต้องการเงินใช้หนี้ แล้วผมก็ได้ดอกเบี้ยด้วยก็เลยรับไว้” สมศักดิ์ทบทวนจุดเริ่มต้น
วิชาญ จำรูญเวศารัตน์ (50 ปี) เป็นเถ้าแก่คนจีนของโรงงานผลิตเครื่องทำเส้นก๋วยเตี๋ยว และอุปกรณ์ต่างๆ เกี่ยวกับก๋วยเตี๋ยว เป็นโรงงานใหญ่โรงงานหนึ่ง แถวสามแยกไฟฉายชื่อ “ห้างหุ้นส่วนจำกัดกังซ้งหลีการช่าง”
วิชาญมีลูกหนี้อยู่คนหนึ่ง ชื่อนายไฮ้ หรือวิวัฒน์ กิตติวงศ์ ซื้อเครื่องจักรทำเส้นก๋วยเตี๋ยวไปเปิดโรงงานอยู่ที่สามชุก สุพรรณบุรี ติดหนี้วิชาญอยู่ล้านกว่าบาท วิชาญกำลังจะฟ้องศาลอยู่แล้วเพราะปล่อยเช็คเด้งมาให้ถึง 3 ใบมาชำระค่าเครื่องจักร
“นายไฮ้นี่เป็นลูกพี่ลูกน้องของเพื่อนผมที่อยู่ที่สุพรรณบุรี ผมเห็นเขาไปรับเซ้งโรงงานมาจากเจ้าของเก่าและมาซื้อเครื่องผมด้วย ก็คิดว่าทำโรงงานแน่ แต่เขาก็ทำๆ หยุดๆ พอมีฝนทีเขาก็หยุดเครื่อง” วิชาญย้อนอดีตเมื่อกลางปี 28 ให้ฟัง
ในช่วงที่วิชาญกำลังจะฟ้องวิวัฒน์หรือไฮ้อยู่นั้น วิวัฒน์ก็มาหาวิชาญบอกว่ามีที่ดินอยู่แปลงหนึ่งอยากจะให้วิชาญช่วยขายฝากให้ เพราะจะได้เอาเงินมาใช้หนี้วิชาญได้
วิชาญก็ปรึกษากับญาติๆ พอดีน้องเมีย ซึ่งสนิทกับสมศักดิ์ก็ให้เบอร์โทรของสมศักดิ์มาเพราะสมศักดิ์เล่นทางนี้อยู่แล้ว คงจะช่วยเหลือได้
และสมศักดิ์ก็เกิดสนใจจะช่วยเหลือขึ้นมาจริงๆ ประมาณเดือนตุลาคมปี 28 นายไฮ้ก็พานายฮวดกับนางบุญเรือง บุญยรักษ์ ซึ่งอ้างว่าเป็นหุ้นส่วนกันอยู่ในที่ดินผืนนั้น มาพบกับวิชาญ ซึ่งวิชาญก็บอกเบอร์สมศักดิ์ไปให้ติดต่อกันเอง
ช่วงนั้นนายฮวดกับนายศักดิ์สิทธิ์ ลาภอุไรเลิศ ซึ่งสมศักดิ์มารู้ทีหลังว่าเป็นผู้รับจำนองที่ดินของนางบุญเรืองเอาไว้ ในวงเงินเพียง 1 ล้านบาท ก็มาพบสมศักดิ์อยู่หลายครั้ง
ทุกครั้งที่ทั้ง 2 คนมาพบที่สำนักงานของสมศักดิ์นั้นก็เอาโฉนดที่ดินแปลงที่จะขายฝากมาให้ดูด้วยทุกครั้ง จนถึงขั้นพาสมศักดิ์ไปดูที่ดินแปลงนั้นเมื่อประมาณต้นเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว
ในที่สุดก็ตกลงจะทำสัญญาขายฝากกันในวงเงิน 13,950,000 ล้านบาท
ที่ดินแปลงนั้นเป็นที่ดินที่ถนนสุขาภิบาล 1 ผ่านกลาง อยู่ย่านบางกะปิ ส่วนหนึ่งติดกับโรงเรียนเบนจามิน อีกส่วนหนึ่งอยู่ตรงข้ามกับโรงเรียน มีเนื้อที่ทั้งหมด 27 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา
ราคาตลาดของที่ดินผืนนี้ นักค้าที่ดินประเมินว่าไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท หรือตารางวาละ 2,700 บาท โดยเฉลี่ย แต่นำมาขายฝากในราคาเฉลี่ยเพียงตารางวาละ 1,250 บาทเท่านั้น ซึ่งก็ยังต่ำกว่าราคาประเมินของกรมที่ดินที่ประเมินไว้ 14,630,000 ล้านบาท
แต่สมศักดิ์เองนั้นก็รอบคอบพอตัวทีเดียว เพราะแม้ที่ดินจะเป็นหลักทรัพย์ที่ดีที่สุด แต่ก็อาจมีปัญหาได้ถ้าไปได้ที่ที่ไม่มีราคา หรืออาจจะไม่ใช่ที่ที่ไปดูกันมาจริงก็ได้
“ผมก็เลยให้เพื่อนช่วยจัดการให้ โดยไปหาเจ้าหน้าที่จากสำนักงานที่ดินสาขามีนบุรี มาช่วยตรวจสอบหมุดหลักเขตที่ดินข้างเคียงให้ เพื่อจะได้รู้ว่าที่ดินที่จะซื้อฝากนั้นอยู่ในตำแหน่งตามโฉนดหรือไม่ ซึ่งก็ถูกต้อง แล้วหลักฐานต่างๆ ที่คุณบุญเรืองใช้นั้นก็ถูกต้องครบถ้วน ท่าทางของเขาไม่มีพิรุธอะไรเลย”
29 พ.ย. 28 สมศักดิ์กับทนายประจำตัว นายดำรง ทองมาก ก็ไปพบกับ นายฮวด นายศักดิ์สิทธิ์ และนางบุญเรือง ที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิ นายฮวดก็จัดการพาไปพบกับนายสุทธิพงศ์ อยู่ดี เจ้าหน้าที่ที่ดิน ให้คิดค่าธรรมเนียมและค่าภาษีเงินได้ที่จะต้องหัก ณ ที่จ่ายตามกฎหมาย
หลังจากรู้ยอดเงินที่แน่นอนแล้วสมศักดิ์ก็ออกไปซื้อแคชเชียร์เช็คจากธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลาดพร้าว และภรรยาของสมศักดิ์ก็ไปซื้อจากธนาคารสยามเอเชีย และกสิกรไทย รวมทั้งหมดเป็นเงิน 11 ล้านบาท ดังมีรายละเอียดดังนี้
ฉบับที่ 1 แคชเชียร์เช็คธนาคารไทยพาณิชย์ ลงวันที่ 29 พ.ย. 28 จ่ายนางบุญเรือง เงิน 1,558,560 บาท
ฉบับที่ 2 แคชเชียร์เช็คธนาคารไทยพาณิชย์ ลงวันที่ 29 พ.ย. 28 จ่ายนางบุญเรือง เงิน 3,000,000 บาท
ฉบับที่ 3 แคชเชียร์เช็คธนาคารไทยพาณิชย์ ลงวันที่ 29 พ.ย. 28 จ่ายนางบุญเรือง เงิน 112,690 บาท
ฉบับที่ 4 แคชเชียร์เช็คธนาคารไทยพาณิชย์ ลงวันที่ 29 พ.ย. 28 จ่ายกระทรวงการคลัง 1,536,150 บาท
ฉบับที่ 5 แคชเชียร์เช็คธนาคารไทยพาณิชย์ ลงวันที่ 29 พ.ย. 28 จ่ายกระทรวงการคลัง 292,600 บาท
ฉบับที่ 6 แคชเชียร์เช็คธนาคารสยาม ลงวันที่ 29 พ.ย. 28 จ่ายนางบุญเรือง 1,500,000 บาท
ฉบับที่ 7 แคชเชียร์เช็คธนาคารเอเชีย ลงวันที่ 29 พ.ย. 28 จ่ายนางบุญเรือง 2,000,000 บาท
ฉบับที่ 8 แคชเชียร์เช็คธนาคารกสิกรไทย ลงวันที่ 28 พย. 28 จ่ายนางบุญเรือง 1,000,000 บาท
เช็คทุกใบ สมศักดิ์สั่งจ่ายแบบ “A/C PAYEE ONLY” ทั้งหมด อันหมายถึงจะต้องนำเข้าบัญชีชื่อผู้ถูกสั่งจ่ายเสียก่อนถึงจะเบิกเอาไปใช้ได้
ฉบับที่ 1 นั้นใช้หนี้ให้กับนายวิชาญ ที่เป็นค่าเครื่องจักรที่นายไฮ้ติดหนี้อยู่
ฉบับที่ 4 นั้นเป็นค่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่นางบุญเรืองให้สมศักดิ์หักจ่ายไปแทน
ฉบับที่ 5 นั้นเป็นค่าธรรมเนียมที่ดิน
ส่วนที่เหลือนางบุญเรืองกับพวกจะเอาไปจัดสรรปันส่วนกันอย่างไรนั้นไม่อาจรู้ได้
ที่สมศักดิ์จ่ายเพียง 11 ล้านทั้งๆ ที่สัญญาระบุไว้ 13,950,000 บาทนั้นเพราะหักดอกเบี้ยที่สมศักดิ์จะต้องได้เอาไว้แล้ว
แต่ก่อนที่สมศักดิ์จะจ่ายแคชเชียร์เช็คออกไปนั้น ทั้งสมศักดิ์และดำรงทนายคู่หูก็ได้ขอดูโฉนดที่ดินและสารบบที่ดินกับนายสมพร สั้นศรี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดินอีกคนหนึ่ง เมื่อตรวจดู แล้วเห็นหลักฐานตรงกันก็เลยตกลงดำเนินการจดทะเบียนเมื่อเวลา 15.00 น.เศษของวันที่ 29 พ.ย.นั่นเอง
ขั้นตอนนั้นมีตั้งแต่การไถ่ถอนที่ดินจากการจำนองไว้กับนายศักดิ์สิทธิ์ แล้วเอามาขายฝากให้กับนายสมศักดิ์อีกต่อหนึ่ง
สรุปว่า สมศักดิ์ จ่ายเงินไป 11 ล้านบาท ได้โฉนดที่ดินมา 1 ใบ หากถึงกำหนดขายฝาก 28 พ.ย. 29 เขาก็จะได้ดอกเบี้ยทันที 2,950,000 บาท ดีกว่าฝากทรัสต์แน่นอน หรือถ้าไม่ไถ่ถอนคืนเขาก็จะได้ที่ดินที่เมื่อขายต่อจะได้ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทแน่นอน
แต่เขาไม่ทันได้เฉลียวใจหรอกว่านางบุญเรืองไม่เคยคิดที่จะมาไถ่ถอนที่ดินผืนนี้คืนไปเลยแม้แต่น้อย
เวลาผ่านมาเพียง 40 วัน สมศักดิ์ก็ต้องประหลาดใจเมื่อได้รับหนังสือจากสำนักงานที่ดิน กทม. สาขาบางกะปิ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 29 ให้นำโฉนดที่สมศักดิ์เพิ่งซื้อฝากมาไม่นานไปตรวจสอบกับเจ้าพนักงานที่ดิน
13 ม.ค. 29 สมศักดิ์แทบช็อก เมื่อได้พบกับนางวราภรณ์ ชุมพล ณ อยุธยา เจ้าของที่ดินที่แท้จริง ที่ถือโฉนดมาตรวจสอบด้วย นั่นแหละเขาถึงรู้ว่าถูกต้มเสียแล้ว
“ความจริงที่ดินผืนนี้เราได้มาตั้งแต่ปี 02 แล้วไม่เคยทำนิติกรรมใดๆ เลยเพราะเป็นที่มรดก และไม่เคยคิดขายใครแต่อยู่ๆ ก็มีคนข้างเคียงที่เขาคุ้นเคยกับเราเห็นเจ้าหน้าที่มารังวัดที่ดิน เขาก็โทรมาบอกเรา ถึงได้สงสัยขึ้นมาก็เลยให้คนไปตรวจสอบโฉนดก็เลยรู้ว่ามีโฉนดอื่นออกมาซ้ำกับที่ดินของเราเข้า”
วราภรณ์ ชุมพล ณ อยุธยา ที่มาในวันนั้นถือโฉนดที่ยังระบุชื่อเธอเป็น ด.ญ.วราภรณ์ บุญยรักษ์ และน้องสาวเธอก็มีชื่อถือร่วมด้วย วราภรณ์เป็นลูกสาวของพิทักษ์ บุญยรักษ์ เจ้าของพิทักษ์คอร์ตที่ซอยอรรถการประสิทธิ์ และยังเป็นกรรมการคนหนึ่งของอาคเนย์ประกันภัยในปัจจุบันด้วย
พอเรื่องแดงขึ้นมาอย่างนี้ สำนักงานที่ดิน กทม. สาขาบางกะปิ ก็ตรวจสอบโฉนดอีกครั้งหนึ่งจึงพบว่าหลักฐานต่างๆ ถูกทำขึ้นมาใหม่โดยใส่ชื่อของนางบุญเรือง บุญยรักษ์ลงไป ทั้งโฉนดฉบับกรมที่ดินมี และฉบับที่สมศักดิ์ ถืออยู่ก็เป็นฉบับที่ทำปลอมขึ้นมาจากกระดาษโฉนดของจริง นอกจากนี้หลักฐานบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของนางบุญเรืองก็เป็นของปลอมทั้งสิ้น
วราภรณ์เองก็ยืนยันกับ “ผู้จัดการ”ว่า เธอไม่มีญาติพี่น้องคนใดเลยที่มีชื่อว่าบุญเรือง
ถึงขั้นนี้มันก็ต้องมีการทุจริตเกิดขึ้นแน่นอน
สมศักดิ์นั้นแทบจะออกตามล่านางบุญเรืองกับพวก แต่ก็คว้าน้ำเหลวเพราะเปิดหายไปแล้วพร้อมๆ กับเงิน 11 ล้านบาทที่สมศักดิ์จ่ายเป็นค่าที่ดินผ่านธนาคารก็ถูกถอนออกไปหมด ทั้งนายวิชาญก็ออกติดตามอีกสายหนึ่งทางสุพรรณบุรีด้วย แต่ก็ไม่เห็นแม้เงานายไฮ้ เพราะแกย้ายโรงงานไปแล้ว
สมศักดิ์เองเอาเรื่องนี้แจ้งความกับกองปราบและ ปปป. เมื่อวันที่ 15 และ 16 ม.ค. 29 ตามลำดับ ให้ช่วยสืบสวนเอาความจริงออกมาให้ได้ ในขณะที่กรมที่ดินเองก็เข้าแจ้งความกับกองบัญชาการสืบสวนกลาง ให้ช่วยสืบเรื่องนี้เช่นกัน แต่หลังจากนั้นร่วมเดือน ซึ่งกองบัญชาการสืบสวนกลางก็มอบหมายให้กองปราบปราม เป็นเจ้าของเรื่อง
ตกลงตอนนี้ทั้งกองปราบและ ปปป. ก็กำลังควานหาตัวแก๊งปลอมโฉนดรายนี้กันอย่างเต็มที่
พอเริ่มสืบเข้าไปเท่านั้นก็เจอดีทันที
“เราตรวจสอบพบว่ามีโฉนดเปล่าๆ หายไปถึง 300 ฉบับ เมื่อปี 2513 ซึ่งอาจหายระหว่างการนำส่งสำนักงานที่ดินจังหวัดก็เป็นได้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือเราเพิ่งพบแค่ 2 ฉบับเท่านั้นเอง ฉบับหนึ่งเมื่อ 3-4 ปีก่อน พบที่พระโขนง ถึงกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบต้องเชือดคอตัวเองตายไปคนหนึ่งแล้ว พบครั้งนี้อีก 1 ฉบับ 13 ล้านบาท แล้วคิดดูว่าที่เหลือนี่มันจะกระจายไปอยู่ที่ไหนบ้าง ยังไม่มีใครบอกได้” พนักงานสอบสวนกล่าวด้วยเป็นห่วง
แต่ขณะเดียวกันกับเมื่อมีข่าวโฉนดหาย 300 ใบ แพร่ออกไป อธิบดีกรมที่ดิน ศิริ เกวลินสฤษดิ์ ก็ออกมาแก้เกี้ยวทันทีว่า โฉนดที่หายไป 300 ฉบับนั้นเป็นโฉนดใหม่ที่หายไปตั้งแต่ปี 2522 และแจ้งอายัดไว้แล้วที่ สน.พระราชวัง ซึ่งเป็นคนละชุดกับที่เจอในเรื่องนี้ เพราะโฉนดชุดนี้เป็นโฉนดที่ออกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งหากจะหายก็น่าจะหายไปจากห้องเก็บของที่เคยเก็บโฉนดเก่าพวกนี้เอาไว้แล้วก็ไม่ได้ทำลายทิ้ง จนทำให้เป็นเครื่องมือหากินของวายร้ายสมองใสจนได้
แต่ไม่ว่าจะเป็นโฉนดจากที่ไหนก็ตามแนวทางการสอบสวนที่ออกมาแล้วปรากฏว่าวิธีการของวายร้ายแก๊งนี้ก็คือ จะต้องเป็นการร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่กรมที่ดินเอง ซึ่งไม่น่าจะเป็นระดับสูงนัก เพราะต้องเป็นคนที่พัวพันใกล้ชิดกับสารบบโฉนดเป็นอย่างดี ร่วมมือกับแก๊งปลอมแปลงเอกสารมืออาชีพ แล้วอาศัยเวลาคอยเฝ้าหาโอกาสอย่างใจเย็นนั่นเอง
วิธีการที่ว่าก็คือในระหว่างที่มีการถ่ายเอกสารโฉนด ซึ่งมีการทำกันอยู่เป็นจำนวนมากทุกวันนั้น เจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินเป็นพรรคพวกของแก๊งวายร้ายนี้ก็จะลอบถ่ายเอาโฉนดฉบับที่ว่างเว้นการทำนิติกรรมมานานๆ เพื่อที่จะได้ไม่เป็นที่สงสัยหรือจับได้เสียก่อน เมื่อต้องทิ้งช่วงเวลาไปนานๆ อย่างรายของวราภรณ์นั่นแหละ
เมื่อได้โฉนดฉบับถ่ายเอกสารที่ต้องการแล้วก็เอาไปทำปลอมแปลงขึ้นมา 2 ฉบับ เหมือนกันโดยใส่ชื่อใครก็ได้ที่จะยกขึ้นมาเป็นเจ้าของโฉนด ..อย่างรายนี้ก็อุปโหลกชื่อนางบุญเรือง บุญยรักษ์ ขึ้นมา แน่นอนบัตรประจำตัว สำเนาทะเบียนบ้านในชื่อนางบุญเรืองนั้นเป็นของหมู่ของแก๊งนี้อยู่แล้ว
มันฉลาดพอที่จะอุปโหลกให้มีนามสกุลเหมือนกับเจ้าของเดิมเสียด้วยซิ
ทำเสร็จมันก็เอาฉบับหนึ่งสอดกลับเข้าต้นขั้วแล้วดึงเอาต้นขั้วตัวจริงของกรมที่ดินออกทิ้งไป
ส่วนอีกฉบับหนึ่งนั้นเท่าที่สืบทราบมาได้ มันก็เอาไปทดลองจดจำนองดูก่อนหน้าที่จะไปติดต่อสมศักดิ์เพียงไม่กี่วันในราคา 1 ล้านบาท ซึ่งก็ผ่าน มันได้ใจก็เลยทำขายฝากต่อถึง 13 ล้านบาท เพื่อหาเหยื่อที่อยากได้ที่ดินสวยๆ ราคาถูกๆ
ก็ต้องนับว่าเป็นแก๊งที่ใจเย็นและรอบคอบดีจริงๆ พับผ่า
เจ้าหน้าที่เชื่อว่ามันใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีในการคอยเวลาเพื่อหาจังหวะเหมาะๆ
ประกอบกับวิธีการจดทะเบียนของกรมที่ดินบ้านเรานั้นต้องทำให้เสร็จใน 1 วัน บางครั้งขั้นตอนต่างๆ ก็อาจลดหายไปโดยไม่ได้ตั้งใจ
อย่างเช่นกรณีนี้หากได้มีการตรวจสอบโฉนดกับหน้าระวางใหญ่เสียแต่ครั้งแรกก็คงไม่มีเรื่องช้ำใจกรมที่ดินอย่างนี้หรอก เพราะในหน้าระวางใหญ่จะตรวจสอบได้ว่าที่ดินใกล้เคียงเป็นของใคร ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขก็จะเคลื่อนกันหมด
ไม่ช้ำได้ยังไงในเมื่อรูปคดีแบบนี้หากครบกำหนดซื้อฝากขึ้นมา สมศักดิ์ก็ต้องทำได้ทางเดียวคือ ฟ้องกรมที่ดินเรียกเงิน 13 ล้านบาทของเขาคืน เพราะฝ่ายวราภรณ์นั้นถึงแม้จะไม่มีโฉนดตัวจริงอยู่กับกรมที่ดิน แต่เมื่อเช็กกับหน้าระวางใหญ่แล้วก็คือของที่ถูกต้อง ฟ้องคดีกันกี่ศาล สมศักดิ์ก็ชนะคดีวันยังค่ำ
แต่ที่น่าเกลียดเอามากๆ ก็คือการที่กรมที่ดินบอกกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สอบสวนคดีนี้ให้จับตาสมศักดิ์เอาไว้ด้วย ในฐานะที่เป็นคนรับซื้อฝากโฉนดรายนี้ อาจจะสมรู้ร่วมคิดกับแก๊งนางบุญเรืองด้วยก็ได้ เพราะถ้าหากครบกำหนดซื้อฝาก นายสมศักดิ์ก็ต้องได้เงินจากกรมที่ดินแน่ๆ ร่วม 14 ล้านบาท แล้วอีกอย่างนายสมศักดิ์มีเงินมากๆ เป็นสิบๆ ล้านเอามาจากไหน ฯลฯ
“ผมจะไปทำอย่างนั้นได้ยังไง ผมเป็นคนทำมาหากินแท้ๆ โดนเรื่องนี้เข้านี่ผมต้องค้าความอีกไม่น้อยกว่า 5 ปีถึงจะชนะกรมที่ดินทั้ง 3 ศาล แล้วเงินของผมนั้นน่ะ ไม่มีคนมีเงินที่ไหนเขาจะฝากเงินไว้กับแบงก์เดียวหรอกครับ ถ้าคุณไม่เชื่อก็ลองเช็กกับแบงก์ต่างๆ ดูก็ได้นี่ว่าบัญชีผมเดินอย่างไร ผมว่าที่กรมที่ดินเล่นไม้นี้กับผมเพราะคงต้องการที่จะปัดความผิดออกจากตัวมากกว่าทั้งๆ ที่กรมที่ดินนั่นแหละที่เป็นผู้จดทะเบียนให้ผมถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง…” สมศักดิ์โอดครวญ
“นี่ผมก็รอคำตอบจากทั้งกองปราบและ ปปป.อยู่นะครับ ถามไปทางกรมที่ดินหลายครั้งแล้ว เขาก็ยังไม่ตอบมาเลยว่าโฉนดของผมปลอมหรือไม่ เพราะฉะนั้นผมก็ต้องถือว่าของผมเป็นของจริงเพราะกรมที่ดินจดถูกต้องและมีโฉนดตัวจริงยืนยันอยู่ในต้นขั้วของกรมที่ดินด้วย เพียงแต่ผมยังทำอะไรกับโฉนดนี้ไม่ได้ เพราะอยู่ระหว่างการซื้อฝาก …แหมถ้าผมได้พบกับคุณวราภรณ์ก่อนทำสัญญา ก็คงไม่มีปัญหาอย่างนี้หรอก” สมศักดิ์ระบายกับ “ผู้จัดการ”
“กรมที่ดินเขาก็บอกมาตลอดว่าไม่มีปัญหาอะไรนี่คะ แต่ก็ไม่ได้ถามกรมที่ดินเหมือนกันว่าสืบไปถึงไหนแล้วเห็นเขาไปแจ้งกองปราบกล่าวหานางบุญเรือง บุญยรักษ์และพวก แต่เราเองคงไม่ฟ้องหรอกค่ะ เพราะเราก็ไม่ได้เสียหายอะไร และไม่อยากมีเรื่องราวกับใครด้วย แค่มีชื่อออกไปนี่ก็ไม่รู้ฝ่ายตรงข้ามเขาจะทำอะไรกับเราหรือเปล่า” วราภรณ์บอกกับเราอย่างหวาดหวั่น
เชื่อว่าในไม่ช้านี้ก็คงได้เบาะแสและตามตัวแก๊งมหาภัยรายนี้ได้ ซึ่งนั่นก็ให้เป็นหน้าที่ของตำรวจก็แล้วกัน
แต่เรื่องที่น่าหวาดหวั่นและสมควรจะต้องเร่งตรวจสอบให้ได้ก็คือโฉนดที่หายไปและถูกปลอมกลับมาในลักษณะนี้มีอีกเท่าใด อยู่ที่ไหนบ้าง
- เอาไปค้ำประกันศาลสักกี่ฉบับ?
- เอาไปค้ำประกันหนี้แบงก์สักกี่ฉบับ?
- เอาไปค้ำประกันโอดีที่ขอเพิ่มวงเงินจากแบงก์อีกสักเท่าไร?
- เอาไปจำนองและฝากขายตามสถาบันการเงินพวกเงินทุนหลักทรัพย์และเครดิตฟองซิเอร์อีกกี่ใบ? ซึ่งพวกหลังนี่มีระยะเวลาไถ่ถอนคืนตั้งแต่ 3-15 ปี จะตรวจสอบพวกนี้ได้อย่างไรกัน?
แล้วพวกที่ชอบสะสมโฉนดเอาไว้เยอะๆ เต็มกระเป๋าเอกสารหลายๆ ใบอย่างเฮียสุระ
จันทร์ศรีชวาลา อีกล่ะ ไม่รู้ว่ามีโฉนดเก๊นี่สักกี่ใบ
แต่ช่างเถอะถึงแม้โฉนดเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ในที่สุดคนที่จะต้องรับผิดชอบลูกเดียวก็คือกรมที่ดินนั่นเอง ถ้าหากเป็นในกรณีปลอมทั้งตัวเจ้าของและตัวฉบับหลวง
คุณศิริ เกวลินสฤษดิ์ เห็นจะกระอักเป็นโลหิตก็คราวนี้ละมัง.
|