|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2529
|
|
เชื่อหรือไม่ว่า วงเงินที่หมุนเวียนอยู่ในการก่ออาชญากรรมทางธุรกิจในเมืองไทยมีร่วม 5 แสนล้านบาทต่อปี หรือครึ่งหนึ่งของผลผลิตประชาชาติ แต่ปรากฏว่ากรมตำรวจมีมือปราบชั้นดีที่พอรับมือกับอาชญากรสวมเสื้อนอกได้ไม่เกิน 10 นาย และซ้ำร้ายกว่านั้น แม้กระทั่งความหมายของคำว่าอาชญากรรมทางธุรกิจจริงๆ ก็ยังหานายตำรวจที่เข้าใจจริงๆ ได้น้อยลงไปอีก เพราะฉะนั้นทางเดียวที่จะช่วยป้องกันภัยร้ายแรงเหล่านี้ไว้ได้ก็คือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันกระชากหน้ากากอาชญากรธุรกิจออกจากคราบผู้ดีใส่เสื้อนอกให้จงได้… และนี่คือส่วนหนึ่งที่ “ผู้จัดการ” ทำ
“สังคมไทยเราประกอบธุรกิจมีคุณธรรมน้อยลงทุกที จำได้ว่าสมัยก่อนช่วงปฏิวัติ 2514 ก็มีเรื่องนักจัดสรรที่ดินที่ขี้โกงเกิดขึ้นมา คนซื้อบ้านที่ดินไปแล้วก็โอนไม่ได้ ต่อมาก็มีเรื่องตลาดหลักทรัพย์ ก็มีคนโชคร้ายกันมาก แล้วก็เรื่องหลอกลวงคนไปฝากเงินกับทรัสต์แล้วเอาเงินไปใช้กันอย่างสุรุ่ยสุร่าย แล้วก็มาถึงเรื่องแชร์ซึ่งเป็นการหลอกลวงประชาชนที่หนักที่สุดอีกครั้งของไทย การปลอมปนสินค้าอาหารและยาก็มีอันตรายใหญ่หลวงต่อประชาชนและประเทศชาติ ที่เราหาตลาดส่งสินค้าออกยากก็เพราะความเห็นแก่ตัวของคนบางคนนี่เอง
ทั้งหมดนี้เป็นอาชญากรรมที่หนักกว่าธรรมดา รัฐต้องให้ความสนใจมากกว่า แต่อาชญากรรมก็ไปเร็วกว่ากลไกรัฐ เราจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีกฎหมายมาควบคุมอาชญากรรมทางธุรกิจ แต่ก็ต้องมีเจ้าหน้าที่ผู้ใช้กฎหมายซึ่งต้องเป็นผู้รู้และเชี่ยวชาญ และที่สำคัญต้องใช้กฎหมายโดยสุจริตด้วย”
ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานรัฐสภาและนักกฏหมายคนสำคัญของไทย ให้ความเห็นที่เสมือนคำมั่นในฐานะผู้เป็นใหญ่ที่สุดในสถาบันนิติบัญญัติเอาไว้เมื่อคราวเปิดสัมมนาเรื่อง “อาชญากรรมทางธุรกิจ” ที่คณะนิติศาสตร์จุฬาฯ เมื่อไม่นานมานี้
และนั่นก็เป็นความพยายามในสำนึกของนักวิชาการที่จะกระตุ้นให้ภาครัฐหันมาให้ความสนใจกับอาชญากรรมทางธุรกิจภาครัฐที่ว่าก็ตั้งแต่กรมตำรวจ กรมอัยการ และฝ่ายนิติบัญญัติ คือรัฐสภา
อาชญากรรมที่ยิ่งใหญ่แต่ไร้คนสนใจ
“กรมตำรวจเพิ่งค้นพบเหมือนกันว่า อาชญากรรมทางธุรกิจนี่น่ากลัวมาก” พล.ต.ท.ณรงค์ อัลภาชน์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจรับอย่างหน้าชื่น
บุญชู โรจนเสถียร นักการธนาคารชื่อดังที่สุดของประเทศนี้ เคยปรารภกับคนใกล้ชิดว่า “เชื่อผมเถอะ มันต้องถึง 50% แน่ ก็มันโกงกันถึงขนาดนั้น” 50% นั่นก็คือครึ่งหนึ่งของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GNP) หรือปัจจุบันก็ประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปี และการโกงที่ว่าก็คือวงเงินความเสียหายและมูลค่าของเงินที่อยู่ในธุรกิจนอกกฎหมายทั้งหลายแหล่ของไทย
เห็นตัวเลขอย่างนี้อาจจะตกใจ แต่ถ้าเทียบกับอิตาลีและฝรั่งเศสที่มีวงเงินอยู่ระหว่าง 30-50% แล้วก็คงใจชื้นขึ้นมาบ้างหรืออย่างอเมริกาเองตัวเลขนี้ก็สูงโด่งถึง 900 พันล้านเหรียญ
เพราะมันยิ่งใหญ่และน่ากลัวอย่างนี้แหละ แทบทุกประเทศทั่วโลกจึงมีหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเกาะกลางทะเลอย่างมัลดีฟส์ หรือในป่าทึบอย่างอูกันดา จะขาดก็เห็นจะเป็นประเทศไทยนี่แหละ
เพราะในเมืองไทยนั้นแม้แต่ความเข้าใจในเรื่องของความหมายของอาชญากรรมทางธุรกิจก็ดูจะไม่ตรงกัน ในระหว่างนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน บางท่านก็ออกข่าวว่าจะมีการปรับกองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากรซึ่งยังว่างงานอยู่ให้มารับงานด้านอาชญากรรมทางธุรกิจ ซึ่งก็ยังนับว่าคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอยู่ไม่น้อย บางท่านก็สับสนว่าหน่วยงานเฉพาะกิจของกองปราบจะรับมือกับงานนี้ได้โดยตรง
เรื่องนี้ “ผู้จัดการ” อยากทำความเข้าใจกับผู้อ่านอย่างนี้ก็แล้วกัน แม้ว่าเรื่องความหมายของคำว่า “อาชญากรรมทางธุรกิจ” จะเป็นที่ถกเถียงกันในที่ประชุมสัมมนามาแล้วเป็นวันๆ ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ แต่เราก็ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับแนวความคิดของ พ.ต.ท.ประจักษ์ศิลป์ สุพรรณเภสัช รองผู้กำกับการนโยบายและแผนงาน กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นายตำรวจมือปราบอาชญากรรมธุรกิจที่ดีที่สุดคนหนึ่งที่กรมตำรวจมีอยู่
คณิน บุญสุวรรณ ส.ส.คนล่าสุดของไทย เคยพูดและเขียนถึงอาชญากรรมประเภทหนึ่งที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง โดยพูดแบบรวมๆ ว่าการกระทำใดๆ ก็ตามที่เป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศถือว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น
นั่นก็เป็นความหมายที่ดีในการทำความเข้าใจกับอาชญากรรมอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องการ “ลัก-วิ่ง-ชิง-ปล้น”
แต่หากจะพูดในแง่ของการป้องกันและปราบปรามแล้ว อาชญากรรมที่ว่า ประเภทตัดไม้ทำลายป่า คอร์รัปชั่น หรือขุดแร่เถื่อน ซึ่งทำความเสียหายมากๆ กับประเทศนั้นก็สามารถใช้ตำรวจที่มีอยู่แล้วมาดำเนินการได้
แต่สำหรับอาชญากรรมธุรกิจที่กรมตำรวจต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษนั้นก็คือ “อาชญากรรมที่ผู้กระทำผิดต้องมีความรู้และถ้าเป็นเรื่องระหว่างประเทศต้องเกี่ยวพันถึง 2 เขตอำนาจศาล มีลักษณะที่ไม่ชัดเจนเหมือนคดีทั่วไป และมักเกิดขึ้นกับองค์กรหรือหน่วยงานนิติบุคคลมากกว่าบุคคลธรรมดา และบ่อยครั้งที่มันเป็น UNDETECTED CRIME และที่สำคัญมันต้องจัดฉาก คือมีผู้ช่วยอำนวยความสะดวกในการก่ออาชญากรรมด้วย”
นี่คือความหมายในทัศนะของท่านรองฯ ประจักษ์ศิลป์
กองธุรกิจอาชญากรรม
ช้าไปนิดแต่ยังดีกว่าไม่ตั้ง
เมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2529 กรมตำรวจมีคำสั่งที่ 250/2525 ให้ตั้งหน่วยเฉพาะกิจมีฐานะเทียบเท่ากองกำกับการขึ้นมาในกองปราบฯ เป็นกองที่ 9 โดยการผลักดันของธำรง จำเดิมเผด็จศึก เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง มีกำลังตำรวจที่ยืมตัวมาจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อดูแลงานในกระทรวงต่างๆ 4 กระทรวงด้วยกันคือ
1. กระทรวงพาณิชย์ดูแลเรื่องการกักตุนสินค้า การขายสินค้าเกินราคา การโกงน้ำหนักและปริมาณ
2. กระทรวงสาธารณสุข ก็ดูแลเรื่องของอาหารและยา
3. กระทรวงอุตสาหกรรม ดูแลเรื่องสินค้าไม่ได้มาตรฐาน
4. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลเรื่องการใช้วัตถุมีพิษในทางเกษตร
เรียกว่าเน้นการคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรงนั่นเอง ซึ่งขณะนี้หน่วยเฉพาะกิจนี้ก็มีงานอยู่เต็มที่แล้ว
ต่อมาเมื่อมีคดีฉ้อโกง และปลอมแปลงเอกสารทางการเงินต่างๆ มากขึ้น ความเสียหายครั้งหนึ่งเป็นสิบล้าน ร้อยล้าน กองบัญชาการสอบสวนกลางก็เลยจัดหลักสูตรการสอบสวนคดีความผิดทางเศรษฐกิจและการพาณิชย์ขึ้นมาเมื่อ 7-10 กุมภาพันธ์ 2527 จับเอานายตำรวจสอบสวน 30 นาย มานั่งอบรมกันใหม่ โดยมี พ.ต.ท.ประจักษ์ศิลป์ สุพรรณเภสัช เป็นผู้จัดเนื้อหาหลักสูตรพร้อมทั้งบรรยายเองในเรื่อง “เทคนิคการสอบสวนคดีความผิดทางเศรษฐกิจและการพาณิชย์” ซึ่งก็ปรากฏว่าเป็นที่ฮือฮากันมากในเรื่องการนำเอากลโกงชั้นเซียนเหยียบเมฆของโจรเสื้อนอกมาเปิดเผย
จนแม้แต่แบงก์ชาติยังต้องเรียกหา พ.ต.ท.ประจักษ์ศิลป์ไปช่วยบรรยายเทคนิคการโกงในรูปแบบต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับและตรวจสอบของแบงก์ชาติได้รับรู้เป็นกรณีศึกษาและจะได้รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของโจรยุคใหม่
ตอนที่อบรมเสร็จใหม่ๆ พ.ต.ท.ประจักษ์ศิลป์บอกว่าตอนนี้มีนายตำรวจสอบสวนที่รู้งานแล้วถึง 30 คน อีก 7 ปีนั่นแหละถึงจะจัดอบรมแบบนี้กันใหม่ แต่ถึงวันนี้ดูเหมือนว่าจะต้องเร่งดำเนินการอบรมกันอีกแล้ว เพราะเทคนิคต่างๆ ในการโกงนั้นมันพัฒนากันไปเร็วกว่าที่คิดมาก
และทำให้ความคิดในการตั้ง กองธุรกิจอาชญากรรม จึงเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน ซึ่งกว่าที่ “ผู้จัดการ” ฉบับนี้จะวางตลาดก็อาจจะมีประกาศจัดตั้งจากกรมตำรวจออกมาแล้วก็ได้
กองธุรกิจอาชญากรรมจะเป็นกองกำกับการใหม่ที่ขึ้นกับกองบัญชาการสอบสวนกลางทำหน้าที่รับผิดชอบอาชญากรรมทางธุรกิจโดยตรง ซึ่งขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามที่กรมฯ วางเอาไว้ก็มีดังนี้
“มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน คดีความผิดอาญาทั่วราชอาณาจักร โดยเฉพาะคดีที่ธนาคารชาติ ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เป็นผู้เสียหาย
- คดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายปริวรรตเงินตรา
- คดีความผิดฉ้อโกงในการส่งสินค้าทางทะเล, ทางอากาศ หรือทางภาคพื้นดินไปยังต่างประเทศ
- คดีความผิดเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศซึ่งคู่ค้าฝ่ายหนึ่งอยู่ในราชอาณาจักร
- คดีฉ้อโกงด้วยการใช้เอกสารเลตเตอร์ออฟเครดิตหรือเอกสารการโอนเงินหรือตั๋วแลกเงินระหว่างประเทศปลอม
- คดีฉ้อโกงด้วยการใช้พันธบัตรสิทธิบัตร หรือใบหุ้นปลอมหรือใช้โดยมิชอบ
- การฉ้อโกงในการซื้อขายในตลาดค้าผลิตผลล่วงหน้า
- การฉ้อโกงในการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- คดีฉ้อโกงด้วยการใช้บัตรเครดิต ตั๋วแลกเงินเดินทางระหว่างประเทศปลอม
- คดีฉ้อโกงบริษัทประกันภัย
- คดีฉ้อโกงด้วยการปลอมหรือใช้บัตรโดยสารเครื่องบินโดยมิชอบ
- คดีฉ้อโกงด้วยการใช้เทคโนโลยีแผนใหม่ เช่น การฉ้อโกงด้วยเทเล็กซ์ปลอม การฉ้อโกงด้วยการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์
- คดีฉ้อโกงหรือลักทรัพย์จากเครื่องจ่ายเงินอัตโนมัติ ไม่ว่าจะด้วยการใช้บัตรเบิกเงินปลอม หรือการใช้บัตรโดยทุจริต
- คดีปลอมแปลงธนบัตร, เหรียญกษาปณ์
และมีอำนาจสืบสวนสอบสวนคดีอื่นๆ ที่ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ชั้นผู้บัญชาการหรือผู้รักษา
การแทนขึ้นไปสั่งให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน”
ส่วนกองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากรซึ่งเดิมเคยทำเรื่องของกรมศุลกากรและสรรพากรนั้นก็ถูกประกาศคณะปฏิวัติเมื่อปี 2520 ห้ามทำหน้าที่สืบสวน สอบสวนจับกุม ยกเว้นได้รับคำร้องขอจากเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร พูดง่ายๆ ก็เหมือนตัดมือ ตัดเท้ากันนั่นแหละ กองนี้ก็เลยฝ่อไป งานหลักคือนั่งตบยุง (ส่วนเบื้องหลังมันๆ ของการยุบงานกองนี้ จะเล่าให้ฟังวันหลัง) แต่ก็กำลังมีการปรับปรุงให้กองนี้มาทำคดีทางด้านภาษีอากรโดยเฉพาะ เพราะนายตำรวจที่อยู่ในกองนี้ล้วนแต่เป็นคนที่จบมาทางบัญชีมาแทบทั้งนั้น
ขณะเดียวกันกรมอัยการเองก็ขออนุมัติตั้งกองคดีภาษีอากรและกองคดีเศรษฐกิจและทรัพยากรขึ้นมารับงานต่อจากกรมตำรวจเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ผ่านความเห็นชอบของกระทรวงไปแล้ว กำลังรอเข้า ครม. เพื่ออนุมัติอีกที เชื่อว่าไม่นานกรมอัยการเองก็คงพร้อมที่จะรับมือกับคดีอาชญากรรมทางธุรกิจได้เต็มไม้เต็มมือขึ้นเช่นกัน
ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวในส่วนของผู้รักษากฎหมาย ที่เริ่มเห็นความสำคัญของอาชญากรรมธุรกิจมากขึ้นทุกทีแล้ว
แต่ถ้าหันมามองฝ่ายเอกชนบ้างก็ต้องนับว่าก้าวหน้าไม่เบาและดูจะไปไกลกว่าฝ่ายตำรวจด้วยซ้ำ
มีการดึงนายตำรวจมือดีไปร่วมงานกันมากขึ้น หรือไม่ก็ตั้งหน่วยงานสอบสวนคดีประเภทนี้ขึ้นมาในบริษัทหรือธนาคารของตัวเองทีเดียว แบงก์ไหนที่ยังไม่ถึงกับตั้งเป็นหน่วยก็ใช้วิธีจ้างนักสืบเอกชนไว้ตามล่าตามล้างอาชญากรตัวกลั่นซึ่งส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นพวกหนอนบ่อนไส้หรือเกลือเป็นหนอนนั่นเอง
แน่นอน เกือบทั้งหมดของบริษัทนักสืบเอกชนที่มีอยู่เวลานี้ก็มีนายตำรวจหรือนายทหารระดับมหากาฬเป็นผู้บริหารทั้งสิ้น
ที่เห็นกันบ่อยๆ ก็คงจะเป็น พ.ต.อ.ปรีชา ประเสริฐ CHIEF SPECIAL AGENT ของอเมริกันเอ็กซ์เพรสในประเทศไทย ซึ่งเคยเรียนเตรียม จปร.รุ่น 7 รุ่นดังคับฟ้านั่นแหละ อีกคนหนึ่งก็คงจะเป็น พ.ต.ท.อังกูร อาทรผไท อดีตมือปราบที่เชี่ยวชาญในดคีโกงแบงก์มากที่สุด ตอนนี้ก็เป็นหัวหน้าหน่วยตรวจสอบของแบงก์กรุงเทพไปแล้ว
“อังกูรนี่เคยจับดอลลาร์ปลอมรายใหญ่ที่สุดของประเทศ จนได้รับหนังสือชมเชยจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เคยจับแท่นผลิตเหรียญกษาปณ์ได้ 3 ครั้ง ถึงกับทลายทั้งโรงเลย ตอนไปจับนี่มันพยายามเหลือเกิน เพราะต้องจับตอนปั๊ม ไม่งั้นเอาผิดไม่ได้ ต้องนอนเอาหูติดดินฟังอยู่ตั้งหลายชั่วโมง พอเครื่องจักรปั๊มดังตึง มันก็พาพวกเข้าไปจับได้คาหนังคาเขาเลย” เพื่อนที่ทำคดีมาด้วยกันกับ พ.ต.ท.อังกูร เล่าเหตุการณ์ครั้งหลังให้ฟัง
“เท่าที่ผมเคยทำคดีมา 7 ปีเต็มๆ ผมเห็นว่ามีคดีอยู่ 6-7 ประเภทที่มีการเร้องเรียนกันมากที่สุด และพบเห็นกันมากที่สุด ซึ่งได้แก่ การปลอมแปลงทุกประเภท นี่เป็นอันดับหนึ่งเลย ถัดมาก็คือการโกงกันในหน่วยงานหรือบริษัทการส่งเงินออกนอกโดยผิดกฎหมาย การสร้างความเชื่อถือและปั้นข่าวลือ การโกงบริษัทประกันภัย และสุดท้ายก็คือการจมเรือเอาประกัน ซึ่งอันหลังนี่ยังไม่มีการร้องเรียน เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ และเราก็ยังไม่มีหน่วยงานรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ” พ.ต.ท.ประจักษ์ศิลป์ช่วยแยกแยะคดีให้เสร็จสรรพ อะไรที่โจรผู้ดีชอบมากน้อยแค่ไหน
เรามาดูกันเป็นเรื่องๆ เลยดีไหม
ปลอมแปลงคือสุดยอดกลยุทธ์
ถ้าจะเปรียบว่าคดีแต่ละประเภทเป็นกลยุทธ์แต่ละแบบของอาชญากรธุรกิจคดีปลอมแปลงนี่ต้องบอกว่าเป็นคดีคลาสสิกทีเดียว
แล้วเอกสารหลักที่มันชอบปลอมและจำเป็นต้องมีก่อนเพื่อนก็คือบัตรประจำตัวประชาชนปลอม เพื่อใช้เป็นใบเบิกทางสำหรับการติดต่อขั้นต่อไป หรือไม่ก็ใช้ทำเอกสารที่ถูกกฎหมายอื่นๆ
“ตั้งแต่เรามีระบบเพลตนี่ รายละเอียดต่างๆ นี่เราเก็บได้หมด สมัยก่อนต้องไปนั่งแกะบล็อก เดี๋ยวนี้แบงก์ 500 ยังเหมือนเลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าระบบเพลตจะไม่ดีนะ เพียงแต่พนักงานสอบสวนของเรายังช้าอยู่เท่านั้น” นายตำรวจที่ติดตามแก๊งปลอมแปลงมานับสิบปีให้ความเห็น
การปลอมแปลงเอกสารนี้มีตั้งแต่เอกสารราชการ คือพาสปอร์ต บัตรประจำตัวประชาชน โฉนด บัตรภาษีเดินทางออกนอกประเทศ พันธบัตรรัฐบาล จนกระทั่งถึงอากรแสตมป์และธนบัตร
ถ้าอยากได้บัตรประชาชนปลอมเอารูป 1 นิ้วใบเดียว มันจะเอารูปนั้นไปถ่ายซ้ำแล้วขยายเป็นแผ่นโตเท่าของจริง แล้วเอาไปทาบกับสเกลวัดความสูงแบบในอำเภอจะเอาสูงเท่าไรก็ขยับรูปขึ้นลง พอได้ระดับก็ถ่ายออกมา เมื่อก่อนใบหนึ่ง 500 เดี๋ยวนี้ขึ้นเป็น 6 พันบาท ก็ยังหาทำได้ไม่ยาก
ส่วนเอกสารของเอกชนที่ปลอมมากที่สุดก็คือเอกสารธนาคาร แทบจะพูดได้ว่าเอกสารทุกอย่างของธนาคารปลอมได้หมดตั้งแต่ เช็ค แคชเชียร์เช็ค แอล/ซี ดราฟท์ นอกจากนี้ก็มีพวกตั๋วสัญญาใช้เงินปลอม อาวัลปลอม จนถึงตั๋วเครื่องบินปลอม ซึ่งถือกันว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรงระดับโลกที่ตำรวจสากลจับตาอยู่เป็นพิเศษ ในเมืองไทยเองก็มีตั๋วปลอมระบาดไม่น้อย
ประเภทที่ตำรวจสากลเองก็ทำอะไรไม่ได้ ยังดีที่ว่าไม่มีการตรวจพบแหล่งพิมพ์ตั๋วปลอมในเมืองไทย
"มีอยู่รายหนึ่ง ชื่อนายทวี ไอ้นี่โกง 3 แบงก์เลย ออกแอล/ซี ไปสั่งซื้อทรานซิสเตอร์เข้ามา ทางโน้นก็พวกมันเอง ส่งของเข้ามาเรียบร้อยทางโน้นก็เบิกเงินไปสบายแล้วที่ฮ่องกง ปรากฏว่าทางนี้นายทวีหายตัวไปเลย พอของมาถึงท่าเรือไม่มีคนไปรับ เขาก็แจ้งมาที่แบงก์ แบงก์ก็ไปเปิดดูกลายเป็นผ้าขี้ริ้ว แล้วที่มันตลกก็คือบัตรประชาชนของนายทวีเป็นบัตรปลอมที่จับได้เพราะมันเขียนถนนเทอดไทเป็น ‘เทิดไท’ นี่ถ้าพนักงานธนาคารเห็นแต่ทีแรกก็ไม่สูญเงินหรอก” นี่ตัวอย่างของการปลอมบัตรประชาชนไปหากินที่โจรลืมไปว่าเอกสารราชการนั้นไม่มีวันเขียนผิด
พูดถึงการปลอม ถ้าไม่พูดถึงรายสุทัศน์ เทียมสุรชัย ก็ดูไม่สมบูรณ์ เพราะเป็นมหาวายร้ายที่ก่อกรรมทำเข็ญเอาไว้กับแบงก์และทรัสต์ต่างๆ ให้น้ำตาตกมาแล้วไม่กี่สิบราย ยอดวงเงินที่มันทำตั๋วสัญญาใช้เงินปลอม อาวัลปลอม หลอกเอาเงินไปใช้ถึง 600 ล้านบาท ก่อนถูกจับมีหมายจับอยู่กว่า 30 ใบ
รายที่ตกเป็นเหยื่อสุทัศน์ มีตั้งแต่เอราวัณทรัสต์ที่เจอตั๋วเงินปลอมของบริษัทประกัน 2 แห่ง 90 ล้าน กับของสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ อีก 25 ล้านบาท รายหลังนี่ถึงขนาดอาจารย์ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ รองอธิการบดีจุฬาฯ ฝ่ายทรัพย์สินต้องพกปืนบุกเดี่ยวเข้าบ้านราชครู เจรจากับพลตรีชาติชาย ชุณหะวัณและไพโรจน์ จิรชนานนท์ ในฐานะสามีประธานกรรมการ กับกรรมการผู้จัดการเอราวัณทรัสต์ จนกระทั่งได้เงินคืนไป
นอกจากนี้ก็มี บลง.คาเธ่ย์ทรัสต์ของตระกูลศรีเฟื่องฟุ้ง ที่เจอเข้าไป 40 ล้านบาทเมื่อปี 2526 ธนาคารชาร์เตอร์ สาขาประเทศไทยเจอเข้าไป 94.5 ล้านบาท ด้วยเช็คเพียงใบเดียวที่ถูกปลอมด้วยฝีมือสุทัศน์และพรรคพวกเมื่อต้นปี 27 ฯลฯ
สุทัศน์นั้นพื้นฐานแค่มัธยมแปดแต่ความหลักแหลมในการฉ้อฉลแบงก์นั้น ธนาคารทุกแห่งรู้รสบทเรียนนี้กันอย่างดี โดยเฉพาะธนาคารนครธน ซึ่งเป็นแหล่งสุดท้ายที่สุทัศน์มีโอกาสโชว์ฝีมือ เพราะพอเสร็จงานนี้สุทัศน์ได้ไป 13.5 ล้านบาท ไม่นานก็ถูกตำรวจบางซื่อจับตัวได้พร้อมสมุน (อ่านผู้จัดการฉบับ 21 หน้า 35-41 เรื่อง “เหตุเกิดที่ธนาคารนครธน เมื่อเงินฝาก 13.5 ล้านลอยหายเข้ากลีบเมฆ”)
วิธีการที่สุทัศน์ชอบใช้ก็คือการจ้างคนมาทำงานในบ้านใหญ่โตกว่าวังที่หมู่บ้านศรีนครพัฒนาแล้วยึดบัตรประชาชนไว้ แล้วเอาบัตรนั้นมาทำปลอมเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปและที่ได้ผลทุกครั้งก็คือการชักชวนให้คนในแบงก์หรือทรัสต์ร่วมมือด้วยในการทำตั๋วปลอม อาวัลปลอม สมุดฝากเงินปลอม
ตอนนี้สุทัศน์กำลังอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดี ซึ่งว่ากันว่าถ้าทุกคดีมีคำพิพากษาลงโทษเต็มที่ ก็คงติดคุกร้อยปีขึ้นไป แต่สำหรับคุกเมืองไทย ทำดีในคุกเผลอแผล็บเดียวก็ออกมาแล้ว
อีก 10 กว่าปีข้างหน้าเราอาจจะได้เห็นเทคนิคการโกงใหม่ๆ จากอัจฉริยะอย่างสุทัศน์อีกก็ได้
“ที่มันทุเรศที่สุดก็คือมันปลอมแม้กระทั่งเงินค่าแซะห์ เงินค่าเฝ้าพระเจ้าของชาวมุสลิมนะครับ” พ.ต.ท.ประจักษ์ศิลป์แฉเล่ห์กลที่โกงแม้กระทั่งพระเจ้า
เรื่องนี้แดงขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อบริษัทที่ส่งคนไปทำพิธีฮัจย์ที่เมกกะกลับมาแล้วปรากฏว่าแคชเชียร์เช็คค่าแซะห์ 314 ใบ ใบละ 144.75 เหรียญปลอมหมด มีใบจริงเพียงใบเดียว
ปกติแล้วผู้ที่จะไปทำพิธีฮัจย์จะต้องจ่ายค่าแซะห์ให้กับรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ซึ่งกรมศาสนาก็จะทำเรื่องยกเว้นค่าภาษีเดินทางให้ พวกนี้จะถือแคชเชียร์เช็คไปด้วยแล้วรัฐบาลซาอุดีอาระเบียก็จะส่งมาเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีสถานทูตของตนในประเทศนั้นๆ อีกที ซึ่งมันมีช่วงเวลาของการจ่ายเงินอยู่ 45 วัน กว่าจะถึงกำหนดจ่ายเงินคนที่ทำแคชเชียร์เช็คปลอมก็เปิดไปเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ทางกองปราบกำลังตามล่าตัวอยู่
แต่ที่แน่ๆ ก็คือพวกพี่น้องมุสลิมที่จะทำพิธีฮัจย์ในปีนี้จะมีปัญหาแน่ เพราะขนาดแคชเชียร์เช็คยังมีปัญหา ก็ไม่รู้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียจะกำหนดเงื่อนไขใหม่ออกมาอย่างไร
อีกเรื่องหนึ่งเพิ่งเกิดเมื่อ 2 เดือนก่อนนี้เอง เป็นการปลอมแคชเชียร์เช็คไปซื้อทอง ซึ่งวายร้ายใช้ชื่อว่า วีระ อึ้งสุนทร ปลอมทั้งใบเหลืองด้วยโดยลงทุนถึง 650,000 บาท ซื้อแคชเชียร์เช็คตัวจริงจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาสี่แยกวิสุทธิกษัตริย์ เสร็จแล้วก็มาทำปลอมขึ้นอีก 2 ใบ เอาไปซื้อทองในเวลาไล่เลี่ยกันและในช่วงที่ใกล้แบงก์จะปิดด้วย คนขายก็นึกว่าเป็นของจริง เช็กไปทางแบงก์ก็บอกว่าออกไปจริงหมายเลขตรงกัน คนซื้อก็คนเดียวกัน
เท่านั้นแหละครับ ได้ไปล้านกว่าบาทสบายๆ จนเดี๋ยวนี้กองปราบยังตามตัวไม่เจอเลย ทั้งๆ ที่ร้านทองตั้งค่าหัวไว้ให้ถึง 5 หมื่นพร้อมรูปสเกตช์หน้านาย “วีระ” ไว้เสร็จสรรพ
และที่นิยมปลอมกันอีกอย่างหนึ่งก็คือเครดิตการ์ด ซึ่งอันนี้ต้องยกให้ฮ่องกงเป็นบรมครูด้านนี้ แต่เดี๋ยวนี้เมืองไทยก็กำลังแข่งรัศมีในเรื่องนี้ได้อย่างไม่อายใครทีเดียว
“เมืองไทยนี่เมืองสวรรค์ของพวกนี้เลยนะ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนมาโกงเมืองไทยสนุก เพราะความร่วมมือในประเทศมันดี คนไทยก็เรียนเร็ว เมื่อก่อนนี้ต้องจ้างเขาพิมพ์เครดิตการ์ดปลอมที่ฮ่องกง เดี๋ยวนี้มันประยุกต์มาทำเอง กองปราบยังเคยจับมาทั้งแท่นเลย มีทุกชนิด คุณจะเอาการ์ดประเภทไหนล่ะ”
ที่ผสมไปกับพวกที่ปลอมก็คือพวกที่ฉกเอาดื้อๆ เลย สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับบริษัทแม่ไม่น้อย จนถึงกับต้องตั้งหน่วยพิเศษขึ้นมาตามล่าแก๊งขโมยและปลอมเครดิตการ์ดกันเลย (อ่าน “ผู้จัดการ” ฉบับที่ 27 หน้า 80-82 เรื่อง/ระวัง..มิจฉาชีพในคราบนักท่องเที่ยว อาศัยภาษา-หน้าตาฝรั่งหากินในไทย)
แต่ที่เหนือชั้นกว่านั้นก็คือพวกที่มีบัตรจริงแต่ทำบัตรปลอมขึ้นมา เวลาใช้ก็ใช้บัตรปลอมเซ็นมั่วไปหมด ถึงเวลาบริษัทเรียกเก็บเงินปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้บัตร โดยอ้างว่าไม่ใช่ลายเซ็นตัวเอง แค่นี้บริษัทการ์ดก็เซ่อรับประทานเป็นแถวๆ
พวกนี้มักจะมาจากฮ่องกงแล้วชอบมาพักแถวบางกอกพาเลซ ต้องเรียกว่าหากินกันข้ามชาติ
แต่ที่หากินกันในบ้านเรานี่ก็มี พวกนี้เรียกว่าใช้บัตรจริง แต่แอบรูดไว้หลายๆ ที
วิธีการก็คือพวกนี้จะเป็นพวกพนักงานโรงแรมชั้นหนึ่งบางแห่ง ที่พบมากเป็นพวกชั้นสอง สมคบกับร้านค้าที่มีเครื่องรูดบัตรหลายๆ ยี่ห้อ แอบเอาเครื่องรูดบัตรมาเก็บไว้ที่โรงแรม พอมีลูกค้าดีๆ มาใช้บัตรหน้าเคาน์เตอร์ซึ่งจะต้องเช็กอิน พวกนี้จะใช้เล่ห์เหลี่ยมแอบเอาบัตรนั้นไปรูดกับเครื่องที่เอามาทิ้งไว้ อาจจะเป็นเครื่องของร้านเพชร ร้านทองอะไรก็ได้ พอรูดเสร็จก็เซ็นปลอมให้เหมือนเจ้าของบัตร แค่นี้ก็เอาสลิปนั้นไปเบิกเงินแบ่งกันใช้ได้แล้ว
นักท่องเที่ยวคนไหนที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ ก็คงเข็ดขยาดเมืองไทยไปเลย เพราะกว่าจะรู้ตัวก็กลับบ้านตัวเองไปแล้ว จะปฏิเสธลายเซ็นยังไงก็ไม่ได้อีก เพราะพวกนี้มือดีมาก
และที่สุดยอดของการปลอมแปลงที่ยังไม่เคยจับได้ในเมืองไทยเลยนี่ต้องยกให้กับอากรแสตมป์
ที่น่ากลัวก็คืออากรแสตมป์นั้นไม่เหมือนแบงก์ที่ปลอมแล้ว ยังต้องหาหลบๆ ซ่อนๆ ใช้ แต่อากรนั้นไม่มีใครสนใจว่ามันจะเป็นของปลอม ทั้งที่ปลอมง่ายกว่าแบงก์หลายเท่าทีเดียว
จุดอ่อนตรงนี้เองทำให้ขบวนการปลอมแสตมป์กลายเป็นภัยที่มีความเสียหายสูงมาก
แต่ก็มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เคยจับอากรแสตมป์ปลอมได้ เมื่อปี 2513 นายตำรวจคนหนึ่งบุกข้ามแดนไปจับได้ถึงมาเลเซีย ได้ค้นบ้านที่ถนนปาดังซาไล จับอากรปลอมได้ 2,257 แผ่น แผ่นละ 50 ดวง ดวงละ 20 บาท แล้วบุกเข้าไปในบ้านอีกหลังของนายยกซัง แซ่จู จับได้อีก 189 แผ่น แผ่นละ 100 ดวง ดวงละ 20 บาท นอกจากนั้นยังจับได้เพลต และที่ไม่มีใครนึกถึงคือ
ยึดได้แท่นพิมพ์ไฮเดนเบิร์ก ซึ่งเป็นแท่นพิมพ์แบบเดียวกับที่พิมพ์อากรแสตมป์ของประเทศไทยนั่นเอง
นายตำรวจคนนั้น ในสมัยนั้นเป็นรองผู้บังคับกองสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ชื่อ ร.ต.อ.สล้าง บุนนาค เดี๋ยวนี้เป็น พล.ต.ต.แล้ว ซึ่งท่านได้เคยประเมินไว้ว่าอากรแสตมป์ปลอมที่หมุนเวียนอยู่ในประเทศขณะนี้มีถึง 30% เป็นอย่างน้อยมีมูลค่าหลายพันล้านบาท
น่าเสียดายที่ไม่มีการรวบรวมสถิติการใช้อากรแสตมป์ จึงไม่มีทางรู้ได้ว่าทุกวันนี้อากรแสตมป์ปลอมบั่นทอนเศรษฐกิจของชาติอยู่เท่าไรแน่ นอกจากจะได้มีการทลายแหล่งปลอมให้ได้
ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย
ก็ไม่รู้ว่า เนื่องจากไม่มีผู้เสียหายหรือไม่มีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา หรือด้วยเหตุใด
ส่งเงินออกนอก-หนทางเสวยสุขในบั้นปลายของคนขายชาติ
วิธีนี้พูดกันอยู่เสมอๆ เวลาที่มีข่าวที่ไม่ค่อยสงบสุขในบ้านเมือง ก็มักจะพูดว่า คนโน้นคนนี้เตรียมขนเงินออกนอก ซึ่งความจริงแล้ววิธีขนได้มากและเร็วที่สุดก็คงไม่พ้นวิธีนี้ เหมือนที่มาร์กอสขนสมบัติใส่เครื่องบินปีกหมุนที่มหามิตรส่งมารับตัวถึงทำเนียบ
ส่วนจะได้ไปเสวยสุขกับสมบัตินั้นหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่วิธีการที่นักธุรกิจผู้ฉ้อฉลใช้นั้นหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่วิธีการที่นักธุรกิจผู้ฉ้อฉลใช้นั้นมันแนบเนียนกว่านี้เยอะ เริ่มตั้งแต่การทำ OVER VALUE ซึ่งหมายถึงการสั่งสินค้าเกินราคาจริงไปมากๆ เพื่อจะได้ส่งเงินส่วนเกินไปเก็บไว้ในบัญชีตัวเองโดยที่ไม่ต้องผ่านแบงก์ชาติ หรือให้แบงก์ชาติรับรู้
มีอยู่รายหนึ่งร้ายกาจมาก สั่งซื้อเพชรดิบด้วยเงิน 2 ล้านเหรียญ พอของส่งมาถึงเปิดออกมากลายเป็นหินเขี้ยวหนุมาน ซึ่งไม่มีราคาค่างวดอะไรเลย แต่เงินนั้นมันบินออกไปนอนรออยู่ในแบงก์ชาติเรียบร้อยแล้ว อย่างนี้ก็มี
ที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสันในการส่งเงินออกนอกก็คือผ่าน “โพยก๊วน”
โพยก๊วนที่ว่านี้ใช้หลักการเดียวกันกับโพยก๊วนที่ถูกกฎหมาย ซึ่งชาวจีนมักจะนิยมในการใช้ในการส่งเงินทองกลับไปบ้านเกิดในประเทศจีนซึ่งเดี๋ยวนี้มีอยู่ประมาณ 11 แห่งที่ถูกกฎหมาย
แต่โพยก๊วนที่พูดถึงนี้แฝงตัวอยู่ตามร้านแลกเปลี่ยนเงินตราตามย่านที่มีร้านพวกนี้มากๆ เช่น แถวสุรวงศ์ สุขุมวิท บางรัก มันจะใช้ระบบหักบัญชีระหว่างประเทศมาควบคุมการไหลของเงิน นั่นคือหากคุณต้องการส่งเงินออกสัก 10 ล้านบาท ไปยังฮ่องกง คุณก็ไปที่สำนัก “โพยก๊วน” ที่ว่านี้ บอกความประสงค์ มันก็จะเขียนรหัสลงในบัตรใบหนึ่งที่คล้ายๆ นามบัตรซึ่งจะเป็นโค้ดที่รู้กันเช่น เขียน งู 2 เข่ง ก็หมายถึง 2 แสนเหรียญฮ่องกง หรือนก 2 เข่ง เท่ากับ 1 แสนเหรียญ เป็นต้น
เสร็จแล้วคุณก็เอาบัตรอันนี้พกไปเบิกเงินได้ที่สำนัก “โพยก๊วน” ที่ฮ่องกง หรือตามแต่จะตกลงกัน
เจอแบบนี้เข้าตำรวจก็เซ่อรับประทานเช่นกัน เพราะไม่รู้จะบอกกับศาลได้ยังไงว่าบัตรที่จับได้เป็นรหัสลับของโพยก๊วน
เพราะฉะนั้นถึงแม้ตำรวจจะรู้เบาะแสและแหล่งทำมาหากิน ก็เอาตัวมาลงโทษได้ยากเต็มที จะมีอยู่ครั้งหนึ่งที่จับได้ แต่ก็เผอิญเหลือเกินที่ผู้ต้องหารายนั้นใจเสาะรับสารภาพเสียก่อน ซึ่งศาลก็ทำได้เพียงแต่ปรับไป 5,000 บาท
เช่นเดียวกับอากรปลอม ไม่มีใครบอกได้ว่ามีสักกี่พันล้านบาทที่ไหลผ่านช่องโหว่อันนี้
แต่ที่รู้แน่ๆ ก็คือ เงินส่วนใหญ่ที่ขนไปเล่นการพนันที่มาเก๊าผ่านระบบโพยก๊วน ใครอยากรู้จำนวนเห็นจะต้องส่งคนไปนั่งเช็กที่บ่อนมาเก๊าสักอาทิตย์ก็คงพอรู้ว่ามีคนไทยขนเงินไปเล่นที่นั่นอาทิตย์ละเท่าไร
CORPERATE FRAUD: กินกันให้พังไปข้าง
วิธีการนี้เมืองไทยมีตัวอย่างเยอะเหลือเกินที่ “ผู้จัดการ” เคยกล่าวถึงก็ตั้งหลายราย ไม่ว่าจะเป็นกรณีเอเซียทรัสต์ ที่ผู้บริหารเก่าแอบไปเสวยสุขในไต้หวันสบายไป นั่นก็ชัดแจ๋ว กรณีนครหลวงไทยก็ใช่ย่อย (ในช่วงที่ก่อนกลุ่มมหาดำรงค์กุลเข้ามาเทกโอเวอร์)
ในแบงก์ต่างๆ นั้นที่เกิดกันมากที่สุดก็ระดับผู้จัดการสาขาและสมุห์บัญชี ซึ่งเป็นคนถือเงินทั้งคู่
ถ้าหากทั้ง 2 คนช่วยกัน ก็ดีไป หรือถ้าคนหนึ่งกัน คนหนึ่งกินก็ยังพอดักคอกันได้ แต่ถ้าหากกินกันทั้งคู่นี่แบงก์ไหนก็แบงก์นั้น เรียบร้อย
ตัวอย่างในเรื่องนี้มีแพลมออกมาอยู่เนืองๆ บางรายก็เล่นปลอมลายเซ็นลูกค้าเอาดื้อๆ บางรายลูกค้าเอาเงินเข้าบัญชีแต่ไม่ยอมลงบัญชีก็มีถมไป หรือที่เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อ อย่างกรณีพิพัทธ์ประกันภัยฟ้องแบงก์กรุงไทย 31 ล้านบาทแล้วก็ชนะทุกศาลด้วยนั้น เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการฉ้อโกงในหน่วยงาน
วิธีการที่พวกหนอนบ่อนไส้จะทำงานได้สะดวกขึ้น ก็มักจะต้องประสานงานกับพวกมืออาชีพในการปลอมแปลงอย่างแก๊งสุทัศน์นั่นแหละ ทำกันสนุกสนานกว่าจะรู้ตัวก็หอบเงินหนีไปเสวยสุขไต้หวันสบายไปแล้ว
การปั้นข่าวลือ-บทเรียนที่ต้องจำไปชั่วชีวิต
ความจริงวิธีการนี้เป็นวิธีการที่ต้องเรียกว่าเก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการสร้างโลกขึ้นมาทีเดียว เพราะไม่มีธุรกิจอะไรที่จะทำมาค้าคล่องได้เท่ากับขายความเชื่อถือ ศรัทธาได้หรอก
และบทเรียนในอดีตที่ผ่านมาเอาเฉพาะในเมืองไทยเองก็ยังไม่ค่อยมีคนจดจำเท่าไร เมื่อ 30 ปีก่อนนั้นมีคดีนายอัมรินทร์ที่หากินด้วยการระดมทุนเข้ามาแล้วให้ผลประโยชน์ 50% คนก็ยังหลงเชื่อกันเป็นสิบๆ ล้านบาท
30 ปีให้หลัง มีแชร์ชม้อย แชร์นกแก้ว แชร์ชาร์เตอร์ และอีกสารพัด ให้ผลประโยชน์ตั้งแต่ 6.5%-10% ต่อเดือน ผู้คนก็แห่กันไปลงขันช่วยเสริมสร้างศรัทธาให้กล้าแกร่งขึ้นจนหลายคนเชื่อว่าเป็นสถาบันที่ล้มไม่ได้ แต่ในที่สุดมันก็พิสูจน์ตัวมันเองออกมาแล้วว่าอะไรก็ตามที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาบนรากฐานที่ชอบธรรมแล้ว มันก็อยู่ไม่ได้
ผู้คนนับพันนับหมื่นก็คงจะบอกกับตัวเองว่าเข็ดไปจนตาย แต่ใครจะรู้ได้ว่าอีก 30 ปีข้างหน้าอาจจะมีแม่อะไรเกิดขึ้นมาอีกก็ได้
กรณีนี้รวมไปถึงการปั่นหุ้น การเล่นจดหมายลูกโซ่ หรือพีระมิดเซลส์ด้วย
เผาเอาประกัน-ความช้ำใจของบริษัทประกันไทย
“ผมว่าบริษัทประกันภัยเมืองไทยนี่มันน่าสงสาร น่าเวทนาที่สุดเลย เพราะเรื่องการวางเพลิง ในกรมธรรม์นี่เขาจะระบุไว้เลยถ้าเจ้าของไม่วางเองเมื่อไร มึงต้องใช้” นายตำรวจที่ผ่านประสบการณ์ในคดีแบบนี้มาอย่างโชกโชนกล่าวอย่างเห็นใจ
จุดอ่อนในเรื่องนี้เอง ที่เมื่อไรนักธุรกิจคนนั้นเกิดประสบปัญหาทางธุรกิจและไม่อาจกอบกู้ฐานะได้อย่างทันท่วงที ทางเดียวที่จะกอบกู้ฐานะได้อย่างรวดเร็ว ก็คือการเผาโรงงานเอาประกัน
พูดได้ว่าอาชีพรับจ้างวางเพลิงกำลังขึ้นหม้อเคียงบ่าไหล่กับอาชีพมือปืนรับจ้างทีเดียว
“คุณเชื่อไหม ผมเอาไม้ขีด เอาฟืนให้คุณจุดเดี๋ยวนี้มันไม่ไหม้นะครับ เดี๋ยวนี้มันก้าวหน้ามาก วางเพลิงกันทีนี่หาเชื้อไม่เจอเลย สมัยก่อนยังมีดินประสิววางเป็นทางยาวแล้วจุดพรึ่บขึ้นมาก็ยังเห็นร่องรอย เดี๋ยวนี้มีชนวนกินตัวต่อเข้าไปแล้วใส่ถุงพลาสติกไว้ข้างใน เจาะรูให้ควันฟุ้งเต็ม เมื่อได้ที่มันก็จะระเบิดตูมออกมา ตำรวจรู้ว่าเป็นวางเพลิง แต่พิสูจน์ออกมาซิว่าผมวางก็วันนั้นน่ะผมยังอยู่ยุโรปอยู่เลย”
ลงท้ายบริษัทประกันก็ต้องจ่าย
ตราบใดที่ตำรวจยังไม่สามารถหาหลักฐานไปมัดตัวคนจ้างวานที่แท้จริงได้ก็ขอสวัสดีความซวยให้กับบริษัทประกันภัยในเมืองไทยไปก่อนก็แล้วกัน
จมเรือเอาประกัน-มันมาเหนือเมฆ
เรื่องนี้ต้องให้เครดิตกับนักธุรกิจไทยที่ทำลายสถิตินานาชาติได้กระจุยกระจายโดยไม่คำนึงเลยว่าภาพลักษณ์ไทยจะเสียหายร้ายแรงแค่ไหน
เพราะนี่เป็นทางออกทางหนึ่งสำหรับพ่อค้าที่กำลังล้มละลายเพราะราคาสินค้าตกต่ำใช้วิธีจมเรือเอาประกันนี่ได้ผล 100% ลองฟังดูซิครับ
สมมติว่าคุณเป็นบริษัทส่งออกสินค้าอะไรก็ได้ในเมืองไทย คุณมีสินค้าอยู่ 1 ล้านหน่วย ในราคาหน่วยละ 1 ดอลลาร์ พอถึงวันที่คุณจะค้าขายจริงๆ สินค้าคุณตกไปเหลือหน่วยละ 40 เซนต์ ทำไงดี คุณขาดทุนแน่
คุณก็ต้องไปเปิดบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือในอีกประเทศหนึ่งแล้วก็ไปจัดการซื้อเรือเก่ามาสักลำเอารุ่นปีสัก 2484 นั่นแหละลำละประมาณ 12 ล้านเท่านั้น จัดการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตมาที่บริษัทของคุณเองในกรุงเทพฯ ขอซื้อสินค้า 1 ล้านหน่วยที่คุณมีอยู่นั่นแหละ ไม่ต้องทำงงหรอก แต่อย่าซื้อในราคา 40 เซนต์ล่ะ ต้องซื้อในราคาสัก 2 เหรียญ แล้วเงื่อนไขในแอล/ซีก็คือเอฟโอบี คุณก็จัดการส่งสินค้าลงเรือเสร็จเอกสารเรียบร้อย คุณก็ไปเบิกเงินจากธนาคารทันที พอเรือเดินทางไปได้หน่อยคุณก็จัดการให้มันจมซะสิ
ผลน่ะหรือครับ คุณก็จะได้ค่าประกันเรือซึ่งถ้าลงทุน 12 ล้านนี่อาจจะได้คืนมาสัก 10 ล้านก็พอแล้ว แต่รวมแล้วคุณได้เงินมาร่วม 60 ล้านบาท หักค่าสินค้า 1 ล้านหน่วยก็เหลือ 50 ล้านบาท ซึ่งถ้าหากคุณขายไปตามปกติ คุณจะได้แค่ 8 ล้านบาทเท่านั้นเอง (คิดเหรียญละ 20 บาท)
แล้วไม่ต้องสงสัยหรอก เรื่องแบบนี้เมืองไทยถนัดจริงๆ มีทำกันเยอะแยะ
ว่ากันว่าบริษัทที่คุยว่าทำธุรกิจเกษตรครบวงจรนั่นแหละตัวดี
ที่เขารู้เพราะในเรื่องการเดินเรือสากลนี่เขามี MARITIME BUREAU คอยตรวจสอบอยู่ และสถิติของเขาตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมานั้น มีเรือหายไปจากน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 68 ลำ 28 ลำนี่หายไปจากเส้นทางที่ออกเดินทางจากประเทศไทย
และ 16 ลำในจำนวนนั้นจมเพราะการระเบิดด้วย!!!
เขามีรายชื่อไว้หมดว่าบริษัทไหนที่มีประวัติเช่นนี้
ใครอยากรู้ก็ลองติดต่อขอเอกสารนี้ได้จาก FAREASTERN LIGIONAL INVESTIGATION TEAM (FLIT) ซึ่งสังกัดอยู่กับ ICC (INTERNATIONAL CHAMBER OF COMMERCE) อีกทีหนึ่ง
“ผู้จัดการ” เข้าใจดีว่าหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมประเภทนี้ต่างก็พยายามอย่างยิ่งที่จะไม่เปิดเผยรายละเอียดต่างๆ ของวิธีการที่โจรผู้ดีใช้ฉ้อโกงทรัพย์สิน เพราะเกรงว่าจะเป็นการชี้โพรงให้กระรอก
แต่เราก็เชื่อว่าการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้อย่างมีมรรยาทจะช่วยทำให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาและความสำคัญของการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหามากขึ้น
เราไม่เชื่อว่าการเปิดเผยข้อมูลวิธีการเพียงเท่าที่ “ผู้จัดการ” ทำนี้จะช่วยทำให้โจรผู้ดีทั้งหลายเอาไปหากินได้ เพราะในความเป็นจริงนั้น บุคคลเหล่านี้ต่างมีทักษะในการใช้กลโกงที่ล้ำลึกอยู่แล้ว หากเขาเหล่านั้นมีจิตใจที่สกปรกอยู่แล้วถึงแม้เราไม่เขียนถึง เขาก็ต้องลงมือประกอบอาชญากรรมอันชั่วร้ายอยู่ดี
เราจึงหวังว่า คงจะมีผู้ที่เห็นด้วยกับเราถ่ายทอดวิธีการฉ้อฉลต่างๆ ที่ได้พบเห็นให้เราทราบบ้างเพื่อจะได้ช่วยกันป้องกันไว้ก่อนที่จะสายเกินแก้
เราคอยรับข้อมูลและเรื่องราวจากคุณอยู่ตลอดเวลา
|
|
|
|
|