Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2529
ความสำเร็จของแมคโดนัลด์’ส ชื่อเสียงบวกกับคุณภาพที่ร่วมสร้างขึ้นโดยทีมงานคนไทย             
โดย ไพศาล มังกรไชยา
 


   
search resources

แมคโดนัลด์
เดช บุลสุข
Fastfood




แฮมเบอร์เกอร์จำนวน 1 ล้านชิ้นสำหรับธุรกิจ FAST FOOD อาจจะเป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจประเภทนี้หลายแห่งนึกฝันไว้ในใจ เพราะเมื่อคูณราคาขายต่อชิ้นเข้าไปแล้วมันหมายถึงเงินจำนวนหลายสิบล้านบาท แต่สำหรับแมคโดนัลด์’ส สาขาแรกที่อัมรินทร์พลาซ่า มีความหมายเพียงการใช้ระยะเวลาปีเศษๆ ในการขายเท่านั้น แมคโดนัลด์’ส ขายแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นที่ 1 ล้านไปด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของคน เครื่องใช้ไม้สอยและคุณภาพที่พิสูจน์ได้ของสินค้าและบริการ

แสงชัย สุวรรณนิกรกุล ออกจะเป็นคนที่มีโชคเอามากๆ!!

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแสงชัยกำลังจะเดินทางไปทำธุระที่เชียงใหม่ ธุระของเขานั้นเร่งรีบพอสมควร เขาจึงแวะเข้าร้านแมคโดนัลด์’ส ที่อัมรินทร์พลาซ่า เพื่อหาซื้อแฮมเบอร์เกอร์กับเครื่องดื่มติดไว้ไปรับประทานระหว่างเดินทางบนรถโดยที่เขาก็ไม่ทราบเลยสักนิดว่าแมคโดนัลด์’ส มีกิจกรรมอะไรอยู่?

เวลา 6 โมงเย็นกับ 32 นาที พนักงานหน้าเคาน์เตอร์ส่งกล่องบรรจุแฮมเบอร์เกอร์ให้แสงชัย พร้อมกับบอกให้พลิกดูด้านหลังของกล่องซึ่งเขาก็พบว่ามีกระดาษสีทองติดอยู่

ยังไม่ทันได้อ่านข้อความที่เขียนไว้บนแผ่นกระดาษสีทองแผ่นเล็กๆ นั้น พนักงานตลอดจนผู้บริหารของร้านแมคโดนัลด์’ส เกือบหมดร้านก็กรูกันเข้ามารายล้อมเขาด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม และหลายคนจับไม้จับมือแสดงความยินดีด้วย “ดีใจมากครับที่คุณเป็นผู้โชคดีที่ซื้อแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นที่ 1 ล้านของเรา” แสงชัยได้ยินหลายคนพูดกับเขา

จากความตั้งใจดั้งเดิมที่เพียงต้องการซื้อแฮมเบอร์เกอร์สักชิ้นไว้รับประทานระหว่างเดินทาง วันนั้นแสงชัยก็เลยได้รับสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาทพร้อมจี้สลักอักษร “M” และโล่เกียรติยศติดมือกลับออกไปจากร้านด้วย ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่า “ตื่นเต้นที่สุด…ไม่ได้นึกฝันเลย”

เมื่อเปรียบเทียบกับลูกค้าจำนวนเป็นแสนๆ คนแล้ว แสงชัย สุวรรณนิกรกุล ก็ต้องนับเป็นบุคคลผู้โชคดีอย่างยิ่ง

แต่ถ้าพลิกความโชคดีของแสงชัยมาพิจารณาอีกแง่มุมหนึ่งโดยเฉพาะตรงประเด็น “แฮมเบอร์เกอร์ชิ้นที่ 1 ล้าน” แล้วก็เห็นทีจะต้องยอมรับว่าหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทแมคไทย (เจ้าของร้านแมคโดนัลด์’ส ในประเทศไทย) อย่าง เดช บุลสุข กรรมการผู้จัดการแมคไทย นั้นก็มีโชคไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเท่าไหร่?

“คุณลองบวกลบคูณหารดูสิว่าแฮมเบอร์เกอร์ที่แมคโดนัลด์’ส นั้นมีราคาตั้งแต่ต่ำที่สุด 25 บาทไปจนถึงสูงสุด 40 กว่าบาทต่อชิ้น ซึ่งยังไม่รวมพวกเครื่องดื่มและอาหารรายการอื่นๆ นอกเหนือจากแฮมเบอร์เกอร์ ในขณะที่เพิ่งเปิดร้านได้ปีเศษๆ ลองคำนวณดูจะพบว่าเขามียอดขายปีที่ผ่านมาหลายสิบล้านทีเดียว…” แหล่งข่าวซึ่งเฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวของธุรกิจ FAST FOOD ในบ้านเราพูดให้ข้อคิด

อดีตผู้บริหารของบริษัทโกดัก (ประเทศไทย) ผู้มีดีกรีพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พ่วงท้ายอย่าง เดช บุลสุข นั้นเคยกล่าวถึงเป้าหมายการขายกับ “ผู้จัดการ” เมื่อต้นๆ ปี 2528 อันเป็นช่วงก่อนหน้าการเปิดร้านแมคโดนัลด์’ส ไม่นานนักว่าเขา “จะต้องขายให้ได้วันละ 1 แสนบาท…”

เร็วๆ นี้ “ผู้จัดการ” มีโอกาสพบกับเดชอีกครั้ง ซึ่งเกี่ยวกับยอดขายต่อวันเขาบอกอย่างไม่อ้อมค้อมว่า “เกินเป้าที่เราตั้งไว้ครับ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาจะเป็นอย่างที่ทราบๆ กัน และการแข่งขันจะเป็นอย่างที่ทราบๆ กัน”

เดช กล่าวว่าธุรกิจของเขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี “ซึ่งอันนี้เป็นที่ยอมรับกันทั้งผู้บริหารและพาร์ตเนอร์จากอเมริกาของเรา คือเราได้นั่งประชุมกันและสรุปว่าปีที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จอย่างมากทีเดียว ยอดขายเราไม่เป็นรองใคร (หมายถึงร้านแมคโดนัลด์’ส ด้วยกัน) ในย่านนี้ เป็นรองก็เพียงไต้หวัน…”

เขาไม่ยอมเปรียบเทียบกับร้าน FAST FOOD ยี่ห้ออื่นๆ ด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้นถ้าแสงชัย สุวรรณนิกรกุล เป็นคนโชคดี เดช บุลสุข ก็น่าจะต้องเป็นคนโชคดีด้วยไม่มีปัญหา

เพียงแต่ก็คงจะเป็นความโชคดีที่ต่างกันบ้าง!

แสงชัย นั้นโชคเดินมาหาเขาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ส่วนเดชและทีมงานแมคโดนัลด์’ส กับเป็นฝ่ายที่เดินเข้าไปหาโชคด้วยความเชื่อมั่น ซึ่งเบื้องหลังก็คือการทำงานกันอย่างหนักและไม่หยุดนิ่ง หรือหากจะบอกว่าเป็นการทำงานอย่างหนักและไม่หยุดนิ่งตั้งแต่ก่อนเปิดร้านจนร้านเปิดแล้วก็คงจะถูกต้องที่สุด

เดช บุลสุข นั้นปัจจุบันอายุ 37 เขาจบมัธยม 8 จากโรงเรียนศรีวิกรม์ เคยเดินทางไปเรียนที่สหรัฐฯ เป็นเวลา 1 ปี ในฐานะนักเรียนทุนเอเอฟเอส ได้ปริญญาตรีด้านพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจากธรรมศาสตร์ และเริ่มงานครั้งแรกที่บริษัทโกดัก (ประเทศไทย) ก่อนจะลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัวกับเพื่อนในนามบริษัทวรเดช จำกัด

“ผมอยู่กับโกดัก 5 ปี ตั้งแต่ตำแหน่งแมเนจเมนต์เทรนนี แมเนจเมนต์แอสซิสแทนท์ รักษาการผู้จัดการฝ่ายคอมพิวเตอร์และตำแหน่งสุดท้ายคือผู้จัดการฝ่ายการเงิน” เดช เล่าให้ฟัง

จากนั้นวิถีชีวิตของเดชก็มีอันหักเหให้ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับแมคโดนัลด์’ส

“สมัยที่ผมไปเรียนสหรัฐฯ เมื่อปี 2511 ก็เคยกินแมคโดนัลด์’ส สมัยอยู่โกดักเวลาที่เขาส่งผมไปเทรนที่โรเชสเตอร์ นิวยอร์กก็กินอยู่บ่อยๆ ติดใจมาก และผมก็ชอบกิจการของแมคโดนัลด์’ส มากเพราะผมชอบอะไรที่มันเป็นชีสเต็ม พอมาทำธุรกิจส่วนตัวก็ไปสหรัฐฯ อีกหลายครั้ง ไปเยี่ยมครอบครัวที่เคยอยู่ จนคราวหนึ่งผมกับเพื่อนๆ ก็มาคิดว่า เอ…แมคฯ มันน่าจะไปเปิดในเมืองไทยบ้างนะ พวกเราก็เลยเขียนจดหมายไปที่สำนักงานใหญ่ของแมคฯ ถามว่าเขาสนใจจะเปิดสาขาในเมืองไทยบ้างไหม? เขียนแล้วก็ลืมๆ ไป จนอีก 6-7 เดือนต่อมาก็มีจดหมายตอบกลับมาจากเลขาของสตีเวน บาร์น แชร์แมน ของอินเตอร์เนชั่นแนลดิวิชั่น เขาบอกว่าที่เมืองไทยเขายังไม่มีนโยบายที่จะมาเปิด หลังจากได้รับจดหมายตอบแล้วก็ทิ้งช่วงไปอีกนาน จนเราก็ไม่ได้ไปสนใจเลย…” เดชพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเขากับแมคโดนัลด์’ส ในช่วงแรกๆ

ประมาณปี 2526 เดชได้รับการติดต่ออีกครั้งเป็นการแจ้งให้ทราบว่า สตีเวน บาร์น จะเดินทางมาเมืองไทย เดชไปพบกับสตีเวน บาร์น ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล เพื่อทำความรู้จักกัน “ก็ไม่ได้คุยกันเรื่องเปิดสาขาแต่ประการใด แล้วเขาก็ไปๆ มาๆ อย่างนี้อีกราว 4-5 เที่ยว ซึ่งตอนหลังเราจึงได้ทราบว่าเขามาหาหุ้นส่วน แล้วเขาก็สัมภาษณ์ ..โอ.. มากมายหลายคน เขามากัน 4 คน คือมี สตีเวน บาร์น มีพอล ดังกิ้น ซึ่งเป็นไวซ์เพรซิเดนท์ในฝ่ายกฎหมาย มีแดเนียล อึ่ง ซึ่งเป็นเอ็มดีที่ฮ่องกง แล้วก็มีลูเบอร์แมน ซีเนียไวซ์เพรซิเดนท์จากซานฟรานซิสโก พวกนี้เป็นคนสัมภาษณ์ก็มากัน 4-5 เที่ยว ผมเองก็ไม่เคยคิดว่าจะได้ เพราะเขาก็คุยกับหลายคน แล้วเขาทดสอบมาก มากจนบางทีอาจจะคิดว่าโอเวอร์ไป เขาเช็กปูมหลังด้านการเงิน พวกแบงเกอร์ของเขา อย่างตอนนั้นเขาใช้แบงก์ออฟอเมริกา เขาก็เช็กว่าผมมีเรื่องเสียหายด้านการเงินไหม เขาให้โค้กช่วยเช็กด้วยอีกทาง แล้วทดสอบทุกอย่าง คือไม่ถึงกับสอบข้อเขียนอย่างนั้นนะ เขาใช้วิธีนั่งคุยกันแล้วถามว่าถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ อย่างนี้ คุณจะทำอย่างไร คือทดสอบทุกกระบวนการ แม้ผ่านแล้วก็ยังส่งผมไปทำงานจริงๆ ที่ฮ่องกง เพื่อดูว่าผมจะสู้งานไหวไหมอีก จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร จนจบพวกนี้แล้วนั่นแหละ เขาจึงได้พูดว่า O.K. YOU'RE SELECTED" เดชเล่าถึงการติดต่อระหว่างเขากับแมคโดนัลด์’ส ทุกขั้นตอน

และเมื่อได้รับเลือกแล้วเดชก็บินไปพบกับผู้บริหารระดับสูงของแมคโดนัลด์’ส ที่สหรัฐฯ พร้อมๆ กับเข้ารับการฝึกอบรมทางด้าน REAL ESTATE และ CONSTRUCTION จากนั้นก็เข้ามหาวิทยาลัยแฮมเบอร์เกอร์ซึ่งเป็นสถาบันการฝึกอบรมที่แมคโดนัลด์’ส ตั้งขึ้นเพื่อฝึกอบรมผู้บริหารร้านแมคโดนัลด์’ส โดยเฉพาะ

เดชยอมรับว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาอย่างมากๆ เขาต้องเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจของแมคโดนัลด์’ส ต้องตระเตรียมก่อตั้งบริษัทแมคไทยซึ่งจะเป็นการร่วมทุนระหว่างกลุ่มเขากับกลุ่มแมคโดนัลด์’ส แห่งสหรัฐฯ เตรียมสถานที่ และการตกแต่งร้าน และก็ต้องเตรียมคนพร้อมๆ ไปด้วย

“เราเริ่มต้นกันมา 2 คนแท้ๆ คือ ผมกับคุณวิเวก สุนทรัช มันวุ่นมาก ผมก็นึกไม่ถึงว่ามันจะมีงานต้องทำมาก ผมก็เลยบินกลับจากสหรัฐฯ มาหาอีก 2 คน ก็ไปที่วิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ ไปธรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็มาลงเอยที่วิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ ซึ่งผมไปคุยกับอาจารย์ที่นั่น ขอให้ท่านช่วยเลือกผู้ที่กำลังจะจบปีนี้ให้หน่อย ผมจะสัมภาษณ์ เขาก็มา 5 คน ผมก็เลือกทวีกับวันชัย พวกนี้ภาษาอังกฤษดี ตอนนั้นพวกเขาเพิ่ง 22 พอรับเสร็จผมก็ส่งไปฮ่องกง สหรัฐฯ ทันที เดินทางกันเป็นว่าเล่น จากคนที่สดมากไม่มีประสบการณ์เลย ตอนนี้เขาดูแลได้หมด บัญชีก็เป็น เป็นงานทุกอย่างกลายเป็นนักธุรกิจดีๆ นี่เอง” เดชเล่าถึงการเตรียมคนของเขา ซึ่งทวีกับวันชัยที่เขาพูดถึงก์คือ ทวี จงควินิต กับวันชัย จันทร์วัฒรังกูล ที่ขณะนี้คนแรกมีตำแหน่งเป็น SENIOR FIRST ASSISTANT MANAGER ส่วนคนหลังเป็น STORE MANAGER

ทวีกับวันชัยนั้นเริ่มงานกับแมคโดนัลด์’ส เมื่อเดือนเมษายน 2527 ทั้ง 2 เดินทางไปทดสอบความเหมาะสมทันทีที่ฮ่องกง “เรียกว่าโอเจอีหรือ ON THE JOB EVALUATION คือเป็นการทดลองดูว่าเราจะเหมาะกับงานของแมคโดนัลด์’ส หรือไม่ในขณะเดียวกันก็ดูว่างานของแมคโดนัลด์’ส จะเหมาะกับเราไหม ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายเซย์เยสก็โอเค แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งเยสอีกฝ่ายหนึ่งโนก็ไม่ต้องทำ ซึ่งหลังจากไปทดสอบทำงานเหมือนๆ กับพนักงานของร้านทั่วๆ ไปที่ร้านแมคโดนัสด์’ส ในฮ่องกงแล้วก็ปรากฏว่าเรา 2 คนผ่าน ทั้งนี้ก็ใช้เวลาทั้งสิ้น 5 วันสำหรับโอเจอี…”วันชัย เล่ากับ “ผู้จัดการ”

จากนั้นก็ไปเข้ารับการฝึกอบรมอีก 3 เดือนที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา เป็นหลักสูตรที่เรียกว่าบีโอซีหรือ BASIC OPERATION COURSE ซึ่งทวี จงควินิต ให้ความเห็นว่า “การฝึกตั้งแต่การทำอาหาร รับเงิน ทอนเงิน คือตั้งแต่ในครัวไปจนถึงล็อบบี้ ตลอดจนการทำความสะอาดหมดทุกอย่าง อันนี้ผมว่าดีมาก คือถ้าระดับผู้จัดการไม่เคยผ่านงานด้านนี้มา เขาก็คงไม่รู้หรอกว่าพนักงานควรจะทำอย่างไรจึงจะมีขั้นตอนที่ถูกต้อง และอีกอย่างเท่ากับเป็นการไม่ปลูกฝังความคิดผิดๆให้กับคนตำแหน่งสูงๆ ว่าจะต้องนั่งโต๊ะอย่างเดียว…”

หลักสูตรบีโอซีสำหรับ “เตรียม” ผู้บริหารร้านแมคโดนัลด์’ส นี้ เมื่อผ่านขั้นตอนการฝึกงานจริงเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว ขั้นต่อไปก็จะเป็นการเข้าชั้นเรียนอีก 1 สัปดาห์ “ซึ่งผม 2 คนไปเข้าคลาสดที่แอลเอ การเข้าเรียนคลาสนี้มันมีเท็กซ์บุ๊กอยู่เล่มหนึ่งชื่อ เอ็มดีพีโวลุม 1 (MANAGEMENT DEVELOPMENT PROGRAM VOLUMN 1)…” วันชัยช่วยขยายความ

ผ่านหลักสูตรบีโอซีแล้วก็กลับมาที่ฮ่องกงอีกครั้งเพื่อศึกษา เอ็มดีพีโวลุม 2 ต่อ แล้วก็ไปเข้าหลักสูตรไอโอซี หรือ INTERMEDIATE OPERATION COURSE ประมาณ 1 สัปดาห์ จบจากไอโอซีก็เข้าหลักสูตรเออีซีหรือ APPLIED EQUIPMENT COURSE จากนั้นทั้งวันชัยและทวีก็กลับมาเตรียมเปิดร้านที่กรุงเทพฯ

“รวมแล้วเราก็อยู่ฮ่องกงประมาณ 4 เดือนซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่นอกจากจะต้องฝึกฝน เพื่อเตรียมตัวสำหรับการบริหารร้านแล้วก็ต้องเตรียมงานด้านการฝึกอบรมพนักงานของร้านเราควบคู่ไปด้วย…” วันชัยเล่าให้ฟัง

ปัจจุบันวันชัยและทวีผ่าน เอ็มดีพีโวลุม 3 และไปเข้าหลักสูตรแฮมเบอร์เกอร์ศาสตร์ระดับปริญญาตรีที่เรียกว่าเอโอซี APPLIED OPERATION COURSE ที่มหาวิทยาลัยแฮมเบอร์เกอร์เมืองชิคาโก อันเป็นหลักสูตรระดับผู้จัดการร้านเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2528 ภายหลังจากร้านแมคโดนัลด์’ส ที่อัมรินทร์พลาซ่าเปิดดำเนินการได้ราวๆ ครึ่งปี และทวี จงควินิตก็กำลังจะได้รับการโปรโมตให้เป็นผู้จัดการร้านแมคโดนัลด์’ส แห่งที่สอง

“ระดับผู้บริหารของเราก็จะต้องผ่านการเทรนนิ่งทุกหลักสูตรเช่นเดียวกับทวีและวันชัย ซึ่งหลังจากรุ่น 2 คนนี้แล้วทางแมคไทยก็รับแมเนจเมนต์เทรนนีเข้ามาอีก 5 คนเป็นรุ่นที่ 2 ซึ่ง 1 ใน 5 คนนี้ก็ผ่านมหาวิทยาลัยแฮมเบอร์เกอร์เรียบร้อยแล้ว คนอื่นๆ ก็ทยอยเข้าเรื่อยๆ และตอนนี้ก็กำลังจะรับแมเนจเมนต์เทรนนีรุ่นที่ 3 พูดได้เต็มปากว่าที่นี่เรื่องสร้างคนแล้ว ทำกันเต็มที่…” ผู้บริหารของแมคไทยคนหนึ่งพูดกับ “ผู้จัดการ”

ก็อาจจะกล่าวได้ว่าสำหรับปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการของแมคโดนัลด์’ส คือ คน, สินค้า และเครื่องใช้ไม้สอยนั้น แมคโดนัลด์’ส คำนึงถึงคุณภาพอย่างยิ่ง

และจากคุณภาพของปัจจัยทั้ง 3 สิ่งนี้ก็คือที่มาแห่งความสำเร็จ

“อย่างเฉพาะพวกอีควิปเมนต์นี้เราต้องลงทุนไปไม่ต่ำกว่า 16 ล้านบาท และสำหรับสาขาแห่งที่สองของเรา ทางด้านอีควิปเมนต์ก็คงจะสูงกว่านี้อีกเพราะเฉพาะราคาก็ขึ้นไปแล้วประมาณ 10% ยังไม่ต้องพูดถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่เปลี่ยนไปแล้ว” เดชกล่าวถึงความใจป้ำของแมคโดนัลด์’ส เกี่ยวกับเครื่องใช้ไม้สอยให้ฟัง ซึ่งก็คงทำนองเดียวกับสินค้าและบริการของแมคโดนัลด์’ส ที่เน้นเรื่องคุณภาพ (QUALITY) การบริการที่รวดเร็วและเป็นมิตร (SERVICE) ความสะอาด (CLEANLINESS) และคุณค่า (VALUE) ที่แมคโดนัลด์’ส จะต้องมอบให้กับลูกค้าอย่างคุ้มค่ากับเงินที่เขาต้องจ่ายออกไป

และก็คงทำนองเดียวกับการนำสินค้าตัวใหม่ๆ ออกมาให้บริการที่จะต้องเตรียมการกันอย่างพิถีพิถันเป็นพิเศษ อย่างเช่น “แมคไก่” นั้นก็คงจะเป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องหนึ่ง

“แมคไก่” หรือ MAC CHICKEN ถูกเพิ่มเข้าไปในเมนูรายการอาหารของแมคโดนัลด์’ส เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยตั้งราคาขายไว้ชิ้นละ 35 บาทเท่ากันกับ “แมคปลา” แต่ก่อนที่จะบรรจุลงไปได้นั้น เดช บุลสุข กับทีมงานของเขาได้เตรียมการกันเงียบๆ มาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปีก่อนหน้านี้แล้ว

“ทั้งนี้เพราะทางร้านต้องการค้นหาแหล่งผลิตที่มีคุณภาพ พร้อมกับนำเอาเทคโนโลยีจากแมคโดนัลด์’ส ต่างประเทศเข้ามาร่วมพัฒนาเพื่อให้ได้เนื้อไก่ตามมาตรฐานแมคโดนัลด์’ส แม้ว่าอุตสาหกรรมไก่ในเมืองไทยนั้นทันสมัยอยู่แล้ว แต่หลักเกณฑ์ในการสรรหาผู้ผลิตนั้นก็คือ ต้องเป็นผู้ผลิตที่คำนึงถึงคุณภาพและความสะอาดของเนื้อไก่ ต้องมีอุปกรณ์ในการฆ่าและชำแหละที่ทันสมัย และที่สำคัญที่สุดคือการมีทัศนคติที่ดีต่อแมคโดนัลด์’ส ก่อนที่จะมาร่วมงานกับทางร้าน” ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของแมคไทยเปิดเผยกับ “ผู้จัดการ” ซึ่งหลังจากพิจารณากันอย่างเคร่งเครียดแล้ว ก็ตัดสินใจเลือกบริษัทเจนเนอรัล ฟูดส์ โพลทรีย์ (ไทย) เป็นซัปพลายเออร์เนื้อไก่ให้

เจนเนอรัล ฟูดส์ โพลทรีย์ (ไทย) เป็นกิจการผลิตเนื้อไก่แช่แข็งส่งต่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2525 เป็นกิจการร่วมทุนระหว่างกลุ่ม ป.เจริญพันธ์ กลุ่มนักลงทุนจากประเทศจอร์แดนโดยใช้เทคโนโลยีของนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ปัจจุบันประธานบริษัทคือ เจริญ ศิริมงคลเกษม จากกลุ่ม ป.เจริญพันธ์ ยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของวงการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ของไทย

เจริญ ศิริมงคลเกษม กล่าวว่า “โรงงานของเราขณะนี้ผลิตไก่ได้วันละ 45,000 ตัว แต่ถ้าผลิตเต็มที่ 60,000 ตัวก็รับไหว โดย 90%เป็นการส่งออกไปขายต่างประเทศ”

เจริญพบกับเดชครั้งแรกเมื่อเกือบหนึ่งปีที่แล้วและเมื่อเดชพูดถึงข้อเสนอการเป็นซัปพลายเออร์เนื้อไก่เจริญก็ตอบตกลงทันทีโดยใช้เวลาคิด 3 นาที “ผมก็คงจะคิดนานกว่านั้นไม่ได้แน่ เพราะชื่อเสียงของแมคโดนัลด์’ส ผมได้ยินมานานแล้ว และผมประทับใจมาก” เจริญพูดอย่างเปิดอก

และเพื่อยืนยันถึงความประทับใจ เขาตัดสินใจลงทุนเป็นเงินกว่า 7 ล้านบาท สำหรับการติดตั้งเครื่องจักรที่ใช้ผลิตเนื้อไก่ของแมคโดนัลด์’ส โดยเฉพาะ

“ที่จริงผมก็เสนอลงทุนกันคนละครึ่งกับคุณเจริญ แต่คุณเจริญก็บอกว่า แค่น้ำไม่เป็นไรผมลงทุนเอง…” เดชเล่าอย่างเปิดอกเหมือนกัน

ก็คงจะมีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่าเพียงแค่เนื้อไก่สำหรับทำเป็นแซนด์วิชชิ้นใหญ่ทำไมจะต้องลงทุนกันมากมายขนาดนั้น

ไก่เราจะไม่เหมือนชาวบ้านเขาเลยคือชาวบ้านอาจจะเอาเนื้อไก่เป็นชิ้นๆ แต่ของเราจะแยกเนื้ออกกับเนื้อตะโพกออกมาเป็น 2 ส่วน นำแต่ละส่วนมาเข้าเครื่องบดจนละเอียด แล้วผสมกันในอัตราส่วน 50-50 ให้เป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นก็อัดจนแน่นน้ำหนักชิ้นละ 84 กรัม แล้วก็เข้าเครื่องฟรีซทำให้มันเย็นจัดจนแข็ง เฉพาะเครื่องอัดนี่ตัวหนึ่งก็ตั้ง 2 ล้านบาทแล้ว…” เดชช่วยพูดให้ความกระจ่าง และทั้งเดชกับเจริญก็ค่อนข้างจะเชื่อมั่นอย่างมากว่า “แมคไก่” จะต้องได้รับความนิยมอย่างสูงจากลูกค้าคนไทย

“อาจจะแซงหน้าแมคปลาก็เป็นได้ เพราะไก่เป็นสัตว์ที่คนไทยชอบบริโภคอยู่แล้ว และเราไม่ได้คิดกันเฉพาะเรื่องการซัปพลายให้กับร้านแมคโดนัลด์’ส ในบ้านเราอย่างเดียว เราคิดไปถึงเรื่องการส่งออกด้วย ซึ่งอันนี้คุณภาพเราถือว่าไม่แพ้ใคร ที่จะต้องพิจารณาก็คือเรื่องราคา ขณะที่คู่แข่งที่สำคัญก็มีบราซิลกับสหรัฐฯ เท่านั้น” เดชสรุป

จะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหนก็ต้องรอพิสูจน์กันต่อไปในอนาคต

ซึ่งก่อนที่จะถึงวันนั้น จากความสำเร็จนับแต่วันเปิดร้านเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2528 จนถึงวันนี้ก็คือความเชื่อมั่นที่ทำให้ เดช บุลสุข กับทีมงานของเขาจำต้องตระเตรียมเปิดร้านแห่งที่สองขึ้นที่ศูนย์การค้า เดอะมอลล์ ย่านหัวหมากอีกแห่งหนึ่ง

โดยที่ก่อนจะตัดสินใจนั้นเดชยอมรับว่าเขาได้ตรวจสอบทำเลที่ตั้งหลายๆ จุดในกรุงเทพฯ อย่างรอบคอบ “เรายึดหลักว่าสาขาแห่งที่สองของเราจะต้องมีความดีในตัวอย่างน้อยที่สุด 3 อย่าง คือ ทำเลที่ตั้งดี ซึ่งอันนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าห่างจากอัมรินทร์พลาซ่า 5 เมตร อย่างนั้นผมไม่เอา เพราะมันก็ตลาดเดียวกับอัมรินทร์พลาซ่า สองราคาดี คือถ้าผมดูแล้วเห็นว่าดีแต่เขาเสนอราคาค่าเซ้งพื้นที่สูงกว่าปกติ 5 เท่าอย่างนี้ผมก็คงไม่เอา และสามที่นั่นจะต้องมีตลาดมีลูกค้าของเรา มีกำลังซื้อที่พอและมีอนาคต…”

เดชกล่าวว่าด้วยมาตรฐานที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการเลือกสถานที่ตั้งร้านนั้นทำให้การเจรจากับเจ้าของศูนย์การค้าดำเนินไปอย่างใช้ระยะเวลากันพอสมควร “คือเรามีหลักเกณฑ์หลายข้อ อย่างเช่น จะต้องมีเขตปลอดอาหารห่างจากเรากี่เมตร ข้างบนจะต้องไม่มีน้ำลงมา ไม่มีฟรีซเซอร์หรือตู้เย็น ตู้แอร์ จะต้องมีประตูปิดเปิดเป็นของตนเอง เพราะเราจะไม่ปิดเปิดตามเวลาของศูนย์การค้า ป้ายอื่นๆ จะต้องห่างจากเรากี่เมตร อย่างนี้เป็นต้น…”

เดชยืนยันว่าสำหรับสาขาแห่งที่สองย่านหัวหมากนี้ เขาไม่ค่อยหนักใจเท่าใดนัก “มันคงเป็นเพราะเรามีประสบการณ์มามากพอสมควรแล้วจากแห่งแรก ส่วนทางด้านทุนตอนนี้เรียบร้อยแล้ว”

ก็อย่าตกอกตกใจไป ถ้าบางทีตอนนี้เขาอาจจะต้องเริ่มวางแผนสำหรับสาขาแห่งที่ 3 ไว้เงียบๆ อีกแห่งหนึ่งก็เป็นได้

“…อันนี้ฟังดีๆ คือถ้าปีไหนเรายังไม่ได้สถานที่ที่ดีๆ เราก็จะไม่เปิดเพิ่มเลย แต่ถ้าปีไหนดีแล้วเกิดดีขึ้นมา 3 แห่ง เราก็ต้องเอาทั้ง 3 แห่ง เราไม่เปิดเพราะถูกกำหนดจากเวลา แต่เราเปิดเพราะโลเคชั่นมันสมควรจะต้องเปิด…” เดชตบท้าย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us