|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2548
|
|
กันยายนถือเป็นเดือนที่ชาวฝรั่งเศสกลับมามีชีวิตตามปกติ ด้วยว่าได้ไปพักผ่อนประจำปีในช่วงฤดูร้อนมาแล้ว โดยผลัดกันไปเพื่อจะได้มีคนทำงานในหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง การพักร้อนของชาวฝรั่งเศสเป็นเรื่องใหญ่ ด้วยเหตุนี้ช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ผู้คนหายไปจากเมืองใหญ่ๆ ไปชุมนุมกันตามเมืองที่เป็นสถานีตากอากาศ หรือเดินทางไปต่างประเทศ ทุกคนจะกลับมาทำงานพร้อมหน้าพร้อมตากันในเดือนกันยายน จึงมีคำว่า la rentree ซึ่งย่อมาจากคำว่า la rentree scolaire คือการเปิดเทอมนั่นเอง มนุษย์ทำงานจึงกลับมาตอน "เปิดเทอม" พร้อมกับลูกหลานที่โรงเรียนเปิดเทอมในเดือนนี้
การค้าเริ่มคึกคักตั้งแต่เดือนกันยายน และเป็นโอกาสเปิดตัวไวน์ชนิดต่างๆ ช่วงกลางเดือนกันยายนหนังสือพิมพ์และนิตยสารทั้งหลายจะมีฉบับแถมหรือข่าวเกี่ยวกับไวน์โดยเฉพาะ ตามมาด้วยการจัดเทศกาลไวน์ตามร้านขายไวน์ไม่เว้นแม้แต่ตามซูเปอร์ มาร์เก็ต
หิ้งชั้นที่เคยมีสินค้าอื่นวางอยู่กลับมีขวดไวน์ตั้งเต็ม และยังพิมพ์คู่มือไวน์ที่มีขาย ในร้านของตนแจกเพื่อให้ลูกค้าดูประกอบการเลือกซื้อ ไวน์บางยี่ห้อส่งผู้เชี่ยวชาญมาคอยให้คำแนะนำลูกค้า
ในห้างใหญ่ๆ นั้น จะให้ผู้สนใจชิมไวน์พร้อมกับแกล้มอย่างเนยแข็งหรือแฮมชนิดต่างๆ
ได้ฤกษ์ดื่มไวน์ใหม่กันอีกแล้ว ด้วยว่าในฤดูร้อนนั้นอากาศร้อนเกินกว่าจะดื่มไวน์ ชาวฝรั่งเศส ถามหาเครื่องดื่มเย็นๆ มากกว่า หากร้อนจัดและกระหายน้ำ ถามหาโค้กกันส่วนใหญ่ ร้านกาแฟบางแห่งจะให้น้ำแข็งก้อนและมะนาวฝานมาด้วย ส่วนเครื่องดื่มประกอบมื้ออาหารนั้น ชาวฝรั่งเศสจะหันไปหาไวน์ชมพู (vin rose) แทนเพราะต้องแช่เย็นและรสชาติบางเบากว่า หรือมิฉะนั้นก็ดื่มไซเดอร์ ฝรั่งเศสเรียกว่าซีเดรอะ (cidre) เพราะต้องแช่เย็นเช่นกัน อันว่า cidre นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นหน้าขึ้นตาของมณฑลนอร์มองดี (Normandie) และมณฑลเบรอะตาญ (Bretagne) ผู้ที่มีเชื้อสายสองมณฑลนี้จึงมักเลือกดื่ม cidre นอกจากนั้น cidre ยังเป็นเครื่องดื่มประกอบการรับประทานเครป (crepe) หรือกาแล็ต (galette) ซึ่งเป็นอาหารประจำมณฑล Bretagne
ฝรั่งเศสเป็นเจ้ายุทธจักรไวน์มาแต่ไหนแต่ไร เป็นประเทศส่งออกไวน์อันดับหนึ่งของโลก ทว่าในปี 2003 ยอดขายไวน์ฝรั่งเศสกลับลดลง เพราะประสบ กับการแข่งขันของไวน์จาก "ประเทศใหม่ๆ" อย่าง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และแอฟริกาใต้ ไวน์ฝรั่งเศสเคยครองตลาดอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกากลับถูกไวน์ออสเตรเลียแซงหน้า
สาเหตุใหญ่มาจากการที่ชาโต (chateau) เล็กๆ ที่ไม่เป็นที่รู้จักผลิตไวน์ที่ไม่ได้มาตรฐานและส่งออก ทำให้ชื่อเสียงของไวน์ฝรั่งเศสตกต่ำ ยกเว้น ไวน์จากชาโตเก่าแก่ เมื่อประสบกับการแข่งขันของ "ประเทศใหม่" ฝรั่งเศสมัวแต่หลงลืมตัว จึงไม่ได้เตรียมตัวสู้กับการแข่งขันในยุคนี้ที่ผู้บริโภค 80 เปอร์เซ็นต์ขอให้ได้ชื่อว่าดื่มไวน์โดยจ่ายราคาไม่แพง และไม่สนใจความเป็นมาของไวน์ ไม่ใส่ใจว่ารสชาติจะเป็นอย่างไร และไวน์ที่เรียกว่า grands crus คืออะไร
ที่น่าแปลกคือผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับไวน์ที่ได้รับการยอมรับทั่วไปคือชาวอเมริกันชื่อ โรเบิร์ต ปาร์เกอร์ (Robert Parker) การวิเคราะห์ของเขากลายเป็นคัมภีร์ของนักดื่มไวน์ ทั้งๆ ที่เขามีความนิยมส่วนตัวโดยเฉพาะ กล่าว คือต้องเป็นไวน์ที่รสชาติเข้มข้นและมีกลิ่นไม้ เป็นเหตุให้ผู้ผลิตไวน์บางแห่งหันมาผลิตไวน์ตามรสนิยมของชาวอเมริกันผู้นี้เพื่อหวังยอดขาย โดยไม่ตระหนักถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตไวน์ส่วนหนึ่งยังคงส่งไวน์ของตนมาให้โรเบิร์ต ปาร์เกอร์ ชิมและวิจารณ์ ก่อนที่จะกำหนดราคาขาย ถึงกระนั้นมีคำครหา ว่าโรเบิร์ต ปาร์เกอร์ เขียนเชียร์ไวน์ที่เพื่อนเป็น ผู้ผลิต ในระยะหลังนี้ผู้คนจึงเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความเที่ยงตรงและจรรยาบรรณของคนผู้นี้
ในฝรั่งเศสการบริโภคไวน์ลดลง 60 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงระยะเวลา 30 ปี ผู้ดื่มไวน์เป็นประจำในปัจจุบันมีเพียง 16 เปอร์เซ็นต์ในขณะที่เมื่อ 50 ปีที่แล้วมีถึง 50 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน ตามร้านอาหาร คนนิยมสั่งไวน์เป็นแก้ว แทนที่จะสั่งเป็นขวด ผู้หญิงที่ดื่มไวน์มีเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคทั้งหมด และอาจจะลดน้อยลงเนื่องจากผลการวิจัยพบว่าไวน์เป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันจึงมีการรณรงค์ให้ประชาชนทราบถึงผลร้ายที่ไวน์อาจก่อขึ้นได้ และให้มีการติดฉลากเตือนภัยไว้ที่ขวดด้วย
ปัญหาตลาดไวน์ฝรั่งเศสยิ่งหนักขึ้น เมื่อไวน์ ที่ผลิตนั้นมีจำนวนมากเกินไป เพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์ นี้จำต้องลดยอดการผลิตด้วยการถอนต้นองุ่นทิ้ง เหลือแต่ผลิตผลชั้นดี ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเจ้าของไร่และผลิตภัณฑ์ มาตรการนี้เคยทำมาแล้วเมื่อไวน์ล้นตลาด อย่างไรก็ตาม เจ้าของไร่องุ่นจำต้องหารือกับรัฐ เพื่อขอให้รัฐชดเชยให้
นอกจากนั้นควรส่งเสริมการท่องเที่ยวในถิ่นที่มีการผลิตไวน์ บริษัท Promenades en France ได้จัดการท่องเที่ยวไร่องุ่น ชิมไวน์และตีกอล์ฟไปในตัว เมื่อนักท่องเที่ยวได้ลองลิ้มไวน์รสเลิศ จะบอก ต่อๆ กันไป เป็นการโฆษณาที่ไม่ต้องลงทุน ปัญหา ก็คือผู้ผลิตไวน์และเจ้าของไร่องุ่นในบอร์โดซ์ (Bordeaux) หรือบูร์โกญ (Bourgogne) ไม่ค่อยเต็มใจเปิดประตูต้อนรับ ตรงข้ามกับทางด้านโบโจเลส์ (beaujolais) ที่ทำเส้นทางไร่องุ่นและไวน์โกตส์-ดู-โรน (Cotes du Rhone)
Sopexa ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมผลิตภัณฑ์ อาหารฝรั่งเศสในต่างประเทศเสนอแนะว่าควรมีการปรับปรุงฉลากปิดขวด เช่น บอกชั้นของไวน์ว่าไวน์ชั้นเลิศหรือธรรมดา บ่งรสและติดรูปชนิดอาหารที่เหมาะกับไวน์ชนิดนั้น หากปัญหาก็คือจำต้องแปลเป็นภาษาของประเทศที่ส่งไปจำหน่าย
สำหรับชาวฝรั่งเศสนั้น ไวน์มิได้เป็นเพียงเครื่องดื่มธรรมดาๆ แต่เป็น "วัฒนธรรม" และ "ภูมิปัญญา" ที่ควรรักษาไว้
|
|
|
|
|