Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2548








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2548
Banana Republic             
โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
 





การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางออสเตรเลีย เมื่อวันพุธที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ฉายภาพให้เห็นความขัดแย้งทางความคิดสามฝ่าย คือ ของรัฐบาลผู้กุมอำนาจการบริหาร และเสียงจากประชาชน ธนาคารกลางผู้มีหน้าที่ดูแลนโยบายการเงิน และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผู้เก็บรวบรวมข้อมูลทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจทางการเงินการคลังของประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่รับผลกระทบเต็มๆ แล้วตอนนี้คือ ประชาชนชาวออสเตรเลีย กับภาระทางการเงินที่เพิ่มขึ้น

ช่วงเลือกตั้งทั่วไปของออสเตรเลียในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลายๆ คนตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของพรรค Liberal ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบันซึ่งกุมอำนาจรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 1996 ว่า พรรค Liberal ทำให้ เศรษฐกิจออสเตรเลียเป็นฟองสบู่ และใช้ตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการหาเสียง ในขณะที่ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรค Liberal กลับอาศัยผลงานทางเศรษฐกิจเก่าๆ โดยไม่ได้มีข้อเสนอใหม่ๆ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น โดยทางพรรคเห็นว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียมาถึงจุดเปลี่ยนที่ไม่น่าจะดีไปกว่าช่วงที่ผ่านมาแล้ว พรรค Liberal จึงไปมุ่งเน้นนโยบายด้านอื่นๆ แทน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางด้านความมั่นคง และสวัสดิการประชาชนแทน ในขณะที่อ้างตัวเลขอัตราดอกเบี้ยว่าต่ำกว่ายุคที่พรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งที่สำคัญบริหารประเทศอยู่

นอกจากนี้ราคาที่ดินที่ขึ้นสูงมากในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงที่ผมเดินทางมาศึกษาต่อที่นี่นับจากปี 2003 เป็นต้นมา จนถึงปลายปีกลาย การเพิ่มขึ้นของราคาที่ดิน อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงต่ำ ส่งผลให้ประชาชนกู้หนี้ยืมสินเพื่อซื้อบ้านหลังแรกของพวกเขา บ้างก็เป็นหลังที่สองหรือสาม และอีกหลายๆ คนที่ลงทุนซื้อบ้านเพื่อเก็งกำไร ทำให้สภาพฟองสบู่ของเศรษฐกิจออสเตรเลียเกิดขึ้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำนี้ไม่ได้ส่งผลแค่วงการอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่ส่งผลถึงระบบเศรษฐกิจในทุกๆ ส่วน ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนของเงินต่ำลง ทำให้การใช้จ่ายของประชาชนซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของการวัดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้จีดีพีมีค่าสูงขึ้น เมื่อบวกกับส่วนประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน, การใช้จ่ายภาครัฐบาล และการส่งออกสุทธิที่เพิ่มขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่จีดีพีของประเทศออสเตรเลียจะเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้เกินเป้า ทำให้รัฐบาลมีฐานะทางการคลังเกินดุลอยู่เรื่อยมา

อย่างไรก็ตาม สภาวะฟองสบู่ที่เกิดขึ้น ที่ผมเคยเปรียบว่า เสมือนการกระพือปีกของผีเสื้อตัวเล็กๆ ที่แม้เพียงการสั่นไหวของปีกเบาๆ ณ มุมเล็กๆ มุมหนึ่งของเกาะออสเตรเลีย แต่สามารถก่อให้เกิดพายุลูกใหญ่ไปทั่วเกาะออสเตรเลียได้ เหมือนเมื่อครั้งวิกฤติการเงินของเอเชียที่การประกาศลอยตัวค่าเงินบาทของรัฐบาลไทยส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เป็นเสมือนสัญญาณอันตรายต่อเศรษฐกิจออสเตรเลีย

ช่วงกลางปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินของออสเตรเลียเกือบทั่วประเทศจึงค่อยๆ ลดลงๆ โดยบางพื้นที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ นอกจากนี้ ความหวาดระแวงของภาครัฐบาล ทำให้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับภาษีที่ดิน และกฎหมายบางอย่างมาควบคุมไม่ให้สภาวะฟองสบู่รุนแรงจนเกินไป แม้อาจจะช้าไปเสียหน่อยก็ตาม

สภาพความจริงจึงค่อยๆ ปรากฏขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขหนี้สินของชาวออสเตรเลียที่สูงมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ในขณะที่อัตราการออมกลับต่ำติดดิน

เมื่อน้ำลด ตอก็เริ่มผุดขึ้นมาให้เห็น

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงวันเดียว ก็มีการประกาศตัวเลขที่ไม่ค่อยสวยงามนักทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น การส่งออกที่มีอัตราการเติบโตต่ำลง และการจับจ่ายของประชาชนโดยการกู้หนี้ยืมสินมาใช้ ที่ส่งผลต่อการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัด (ซึ่งเป็นผลรวมสุทธิของดุลการค้าและดุลบริการ รายได้ และเงินโอน) มีค่าติดลบสูงถึง 7% ของจีดีพีในการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจรายไตรมาสของไตรมาสสุดท้าย ของปีกลายที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่มีปัญหาของรัฐบาลออสเตรเลีย และทำให้มีการเปรียบสภาพ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของรัฐบาลชุดนี้กับเหตุการณ์เมื่อปี 1986 ที่ตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพีเท่ากับ 6.2% ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกถอนเงินลงทุนออกจากออสเตรเลีย และทำให้เงินดอลลาร์ออสเตรเลียตกต่ำลง และทำให้รัฐบาลชุดนั้นได้รับฉายาว่าเป็น Banana Republic ซึ่งหมายถึงประเทศที่เศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการลงทุนของต่างประเทศและอาศัยการส่งออกสินค้าเพียงอย่างเดียว เหมือนที่ประเทศในอเมริกากลางบางประเทศอาศัยรายได้จากการส่งออกกล้วยเท่านั้น

ในขณะที่ Peter Costello รัฐมนตรีคลังของออสเตรเลียในรัฐบาลชุดปัจจุบันอ้างว่า ตัวเลขการขาดดุลในครั้งนี้ต่างจากเมื่อครั้งที่เป็น Banana Republic ในอดีต เพราะการขาดดุลครั้งนี้ส่วนใหญ่เกิดจากหนี้ที่ก่อโดยการลงทุนของภาคเอกชน ในขณะที่เมื่อปี 1986 หนี้ส่วนใหญ่มาจากภาครัฐบาล นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันก็ต่ำมากเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ครั้งนั้น ที่สำคัญฐานะทางการเงินของรัฐบาลชุดนี้ดีกว่ามาก

แต่ไม่นานนัก การประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดในรอบ กว่าสี่ปี ก็ทำให้รัฐบาลต้องหน้าแตกอีกครั้งหนึ่ง

เบื้องหลังความกังวลหลายๆ อย่างของธนาคารกลางออสเตรเลีย คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง 14 ปี ทำให้ราคาสินค้าส่งออกสูงขึ้น, กำไรของบริษัทห้างร้านที่สูงขึ้น, อัตราการจ้างงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศเพิ่มขึ้น การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนสูง จึง ทำให้ธนาคารกลางเกรงว่าการเติบโตอย่างรวดเร็ว นี้จะทำให้ความสามารถในการผลิตไม่สามารถตอบสนองทันกับอุปสงค์ที่มีอย่างไม่รู้จักจบ

โดยจากการสำรวจพบว่าบริษัทต่างๆ พยายามที่จะขยายการผลิตให้เร็วที่สุดเพื่อให้เพียงพอต่อการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ โดยเฉพาะการพยายามแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้ราคาวัตถุดิบและพลังงาน (โดยเฉพาะราคาน้ำมัน) ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากความต้องการที่สูงมากทั่วโลกส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

ทำให้ธนาคารกลางกลัวว่า สภาพดังกล่าวจะทำให้บริษัทต่างๆ แก้ปัญหาโดยการขึ้นราคาสินค้าและเพิ่มค่าจ้างแรงงาน (เพราะการจ้างแรงงานต่ำ เนื่องจากการขาดแคลนแรงงาน) ถ้าอุปสงค์ยังคงสูงอยู่

การขึ้นดอกเบี้ยจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดของธนาคารกลางเพื่อลดภาวะร้อนแรงนี้

อย่างไรก็ดี การตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย ย่อมเปรียบเสมือนการตอกย้ำปัญหาการบริหารทางเศรษฐกิจของรัฐบาล และการขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตลดต่ำลง, อัตราดอกเบี้ยเพื่อการซื้อบ้านจะสูงขึ้น, อุปสงค์ลดลง และค่าเงินออสเตรเลียจะสูงขึ้น

ผลต่อเนื่องก็คือ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของทั้งภาคธุรกิจและประชาชนจะต่ำลง ราคาอสังหาริมทรัพย์จะลดลงอย่างรุนแรง และการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชนจะลดลงอย่างฮวบฮาบทันที

คำถามต่อมาก็คือ อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่า และจะเพิ่มอีกกี่ครั้ง

คำตอบ ณ ปัจจุบัน คือ ถ้าราคาบ้านยังไม่ลดลงมามาก และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนยังคงสูงอยู่ ไม่น่าแปลกใจที่ธนาคารกลางจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกสักครั้งหรือสองครั้ง

ซึ่งเมื่อศึกษาถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจออสเตรเลีย ก็พบว่า ช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงทศวรรษ 1990 ธนาคารกลางมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดการเติบโตของการใช้จ่ายอยู่หลายครั้ง ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยเพื่อการซื้อบ้าน ขึ้นไปถึง 17% ในเดือนมิถุนายน 1989

อย่างไรก็ตาม ปลายทศวรรษ 1980 เป็น ช่วงแรกของการลดกฎเกณฑ์ทางการเงินของออสเตรเลีย ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทำไปโดยอีกใจหนึ่งก็กลัวว่า การตอบสนองของอุปสงค์จะช้ากว่าอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น, นอกจากนี้ความกังวลเรื่องการพังทลายของค่าเงินออสเตรเลียจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจจะส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกสูงขึ้นอย่างมากและเงินเฟ้อที่เพิ่มอย่างหยุดไม่อยู่

ในขณะที่ปัจจุบัน ประสบการณ์จากการ ดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมาของธนาคารกลาง ทำให้เรียนรู้ว่า อุปสงค์ยังคงตอบสนองต่ออัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และผู้บริโภคที่ตอบสนองแทบจะทันที นอกจากนี้ ความกังวลที่ลดลงจากผลกระทบจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อมูลค่าของเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย และเงินเฟ้อที่ต่ำ ก็ทำให้การดำเนิน นโยบายทำได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ดี การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่าน ซึ่งเกิดจากปัญหาอุปสงค์ที่สูงกว่าอุปทานมาก และเป็นปัญหาที่ลึกถึงโครงสร้าง ทำให้คาดการณ์กันว่า ธนาคาร กลางจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยอีกหนึ่งครั้ง นั่นคือ อาจจะขึ้นไปถึงระดับ 5.75-6%

จอห์น โฮเวิร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ประกาศว่า เขายังคงรักษาสัญญาว่า ภายใต้การบริหารงานของพรรค Liberal อัตราดอกเบี้ยจะยังคงต่ำกว่าภายใต้การบริหารงานของพรรคแรงงาน

อย่างไรก็ดี ไม่มีใครอยากให้ขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็ไม่มีใครสามารถรับประกันว่าดอกเบี้ยจะไม่ขึ้น เขาเองก็เช่นกัน

นี่แหละ โวหารการเมือง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us