Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2548








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2548
เมื่อไร "จีน" จึงจะตาม "อเมริกา" ทัน?             
โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
 





เชื่อว่า "คำถาม" ดังกล่าว คงตรงใจหลายคนที่สนอกสนใจพัฒนาการของสองมหาอำนาจจากสองซีกโลก และคงต้องการทราบ "คำตอบ" ที่ชัดถ้อยชัดคำว่า แท้จริงแล้ว ประเทศจีนที่หลายคนเชื่อว่า ในศตวรรษที่ 21 นี้ถึงคราวแล้วที่จะถูกยกระดับขึ้นมาเทียบชั้นกับสหรัฐฯ มหาอำนาจตัวจริงเสียงจริงในยุคปัจจุบันจริงหรือไม่

หนังสือศตวรรษจีน หรือ The Chinese Century ซึ่งเขียนโดยนักวิชาการเชื้อสายยิว ผู้สอนหนังสือด้านการบริหารธุรกิจ และธุรกิจระหว่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา นาม "โอเด็ด เชนคาร์" (Oded Shenkar) ฟันธงไว้ว่า พิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตแล้ว เศรษฐกิจของจีนมีแนวโน้มที่จะแซงหน้าสหรัฐฯ ภายใน 15-20 ปี หรือในช่วงปี พ.ศ.2563-2568 (ค.ศ.2020-2025)

แต่ทั้งนี้คำว่า "แซง" ดังกล่าว ต้องวงเล็บหมายเหตุต่อท้ายไว้ด้วยว่า ในแง่ของ 'ขนาดเศรษฐกิจ' เท่านั้น

พูดถึงคำกล่าวที่ว่า ขนาดเศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใน 20 ปี หลายคนอาจจะทำหน้าตาตื่น พร้อมกับกล่าวว่า "อะไรมันจะรวดเร็วปานนั้น?"

สำหรับผู้ที่เรียนเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นมาบ้าง ก็คงทราบดีว่า ไม่ควรเป็นเรื่องตกอกตกใจอะไรเลย ที่ขนาดของเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยประชากร 1,300 ล้านคน จะใหญ่โตกว่าเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยประชากรจำนวน 300 ล้านคน หรือหากจะเปรียบเทียบ อย่างง่ายๆ ก็คือ โดยปกติ เครื่องบินที่มี 8 เครื่องยนต์ ควรมีขนาดลำเครื่องที่ใหญ่กว่าเครื่องบินที่มีขนาด 2 เครื่องยนต์อยู่แล้ว

แม้ไม่ควรจะตกอกตกใจมากมาย เกี่ยวกับคำกล่าวที่ว่า ขนาดของเศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ แต่อย่างน้อยๆ หากพิจารณาถึงระดับความเป็นอยู่ของประชากรที่สูงขึ้น ก็ต้องยอมรับว่า เติ้งเสี่ยวผิง และรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ สามารถนำพาจีนมาได้ไม่ผิดทาง ยิ่งเมื่อมองไปยังอนาคตแล้ว หากจีนที่ปัจจุบันควบเอาฮ่องกงไว้เรียบร้อย ได้พลังเสริมจากไต้หวันและสิงคโปร์ ก็คงจะกลายเป็น "มังกรติดปีก" ก็ไม่ปาน

ธนินท์ เจียรวนนท์ ก็คาดการณ์ไว้ทำนองเดียวกับเชนคาร์ โดยกล่าวว่า หากประชากรจีนมีคนรวยอยู่เพียงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด จีนก็จะมีขนาด ผู้บริโภคกำลังซื้อสูงเทียบเท่าชาวอเมริกันในปัจจุบัน นอกจากนี้เศรษฐกิจจีน น่าจะเติบโตทันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายในอีกไม่เกิน 15 ปีข้างหน้า และหลังจากนั้นจะแซง หน้าตลาดใหญ่ที่สุดของโลกจากทวีปอเมริกาเหนือแน่นอน (ในวงเล็บเช่นกันก็คือ 'แซง' ในที่นี้จำกัดเฉพาะ ในมิติขนาดของระบบเศรษฐกิจ)

ในสายตาของนักธุรกิจ นักวิเคราะห์ และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก จีนคือเค้กชิ้นใหม่ เป็นเค้กชิ้นใหญ่ที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจมากมายมหาศาลคอยรองรับ

อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมแห่งความเป็นจริงแล้ว คุณภาพชีวิตของประชาชนชาวจีน นับว่ายังห่างไกลจากคำว่า "กระทบไหล่" กับชาวอเมริกันอยู่อย่างสุดกู่ ทั้งนี้เพียงแค่การผลักดันให้ประเทศจีนก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับของการเป็น "ประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Country)" ก็นับว่า ชาวจีนยังต้องเหนื่อยอย่างสาหัสสากรรจ์ อีกอย่างน้อยๆ ก็ 75 ปี !!!

จากการศึกษาของศูนย์วิจัยความทันสมัยแห่งประเทศจีน ภายใต้การดูแลของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ระบุว่า ในช่วง 20 ปีสุดท้ายของศตวรรษที่แล้ว ประเทศจีนประสบความสำเร็จอย่างมากทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ช่องว่างระหว่างจีนกับประเทศพัฒนาแล้ว ก็ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ

ขยายตัวขนาดไหน?

ในช่วง 40 ปีระหว่าง ค.ศ.1960 ถึง ค.ศ.2000 ช่องว่างระหว่างเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ นั้น ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 12 เท่า จากช่องว่างทางผลิตภัณฑ์มวลรวม ภายในประเทศต่อหัว (จีดีพีต่อหัว) 2,787 เหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ.1960 เพิ่มขึ้นเป็น 33,905 เหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ.2000 (คำนวณอัตราเงินเฟ้อแล้ว)

เหอฉวนฉี่ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ความทันสมัยแห่งจีน ได้แจกแจงว่า ในการวัดความทันสมัยตามวิธีที่เขาศึกษาอยู่นั้นพิจารณาจากดัชนีตัววัด 3 ชนิดด้วยกันก็คือ

หนึ่ง ตัวเลขจีดีพีต่อหัว (GDP per capita)

สอง สัดส่วนของแรงงานในภาคเกษตร เมื่อเทียบ กับจำนวนแรงงานทั้งหมด

และสาม สัดส่วนของจีดีพีที่มาจากการผลิตของภาคเกษตร เมื่อเทียบกับจีดีพีรวม

ทั้งนี้สถานการณ์ในปัจจุบัน เมื่อปี ค.ศ.2001 ตัวเลขจีดีพีต่อหัวของจีนอยู่ที่ 3,583 เหรียญสหรัฐ อันใกล้เคียงกับตัวเลข 3,732 เหรียญสหรัฐ เมื่อ ค.ศ.1892 หรือเมื่อ 109 ปีก่อนหน้า (ตัวเลขนี้เป็น GDP (PPP) per capita)

ส่วนแรงงานในภาคเกษตรของจีนนั้นคิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมด โดยสัดส่วนนี้พบในสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ.1870 หรือเมื่อ 131 ปีก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนของจีดีพีภาคเกษตรนั้นจีนอยู่ที่ระดับร้อยละ 15 หรือเป็นสถานการณ์ที่พบในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.1914 หรือเมื่อ 87 ปีก่อนหน้า

"สรุปในภาพรวมแล้ว เราคิดว่า ช่องว่างในการพัฒนาระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เฉลี่ยอยู่ที่ราว 109 ปี" ผอ.เหอ กล่าวพร้อมระบุด้วยว่า หากใช้มาตรฐานเดียว กันมาเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ด้วยแล้ว จีนจะยังล้าหลังเยอรมนีอยู่อีก 80 ปี ญี่ปุ่น 50 ปี โปรตุเกส 30 ปี และเกาหลีใต้ 20 ปี

เขายังชี้ให้เห็นด้วยว่า ในปี ค.ศ.2002 ตัวเลขจีดีพีต่อหัวของสหรัฐฯ (GDP per capita ไม่ใช่ GDP (PPP) per capita) นั้นไต่ขึ้นสูงถึงระดับ 35,400 เหรียญสหรัฐแล้ว และหากตัวเลขดังกล่าวเติบโตขึ้นอีกร้อยละ 4 ต่อปี ก็เท่ากับว่าชาวอเมริกันจะมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 1,416 เหรียญสหรัฐ

ขณะที่ในปีเดียวกันตัวเลขจีดีพีต่อหัวของจีนอยู่ที่เพียง 960 เหรียญสหรัฐ โดยหากเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างต่อเนื่องร้อยละ 8 ไปทุกปี หรือชาวจีนมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 77 เหรียญสหรัฐ ชาวจีนก็จะต้องรออีกหนึ่งศตวรรษเต็มๆ กว่าที่จะมีรายได้จำนวนเท่ากับชาว สหรัฐฯ ในปัจจุบัน!

หากจีนละสายตาจากเป้าหมายของการเทียบชั้นกับสหรัฐฯ ลงมามองยังการเบียดเข้าเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้ว ก็จะพบได้ว่า ภารกิจนั้นก็ยังหนักหนาอยู่เช่นเดิม คือ ในปี ค.ศ.2002 ระดับจีดีพีต่อหัวของประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉลี่ยนั้นอยู่ที่ 26,490 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 27 เท่าของ 960 เหรียญสหรัฐ อันเป็นเลขจีดีพีต่อหัวของจีนในปีเดียวกัน

"พูดให้มองเห็นภาพชัดเจนขึ้นก็คือ ถ้าเราต้องการยกระดับคุณภาพเศรษฐกิจของตัวเองให้เท่ากับ ระดับของประเทศที่พัฒนาแล้วในปี ค.ศ.2002 เราก็ต้องเพิ่มตัวเลขจีดีพีต่อหัวให้ได้อีก 26 เท่า หรือหากคำนวณภายใต้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับร้อยละ 7-8 ต่อปี ก็ต้องใช้เวลาอีก 49 ปี" ผอ. ศูนย์วิจัยความทันสมัยแห่งจีนกล่าว

เพื่อตอบสนองเป้าหมายในการก้าวเป็นประเทศ พัฒนาแล้ว ในส่วนของแรงงานในภาคการเกษตรต่อแรงงานทั้งหมด จีนจำเป็นต้องโยกย้ายแรงงานภาคเกษตรออกอีกเป็นจำนวนมาก พร้อมกับลดสัดส่วนของจีดีพี ที่มาจากภาคเกษตรต่อจีดีพีรวมให้เหลือร้อยละ 15 ทั้งยังต้องยกระดับผลิตภาพของภาคเกษตร ให้ใกล้เคียงเท่าเทียมกับภาคอุตสาหกรรมให้ได้ ทั้งนี้โดยมาตรฐานของประเทศพัฒนาแล้วนั้น สัดส่วนแรงงานในภาคเกษตรมีเพียงร้อยละ 4 ของแรงงานทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนของจีดีพีที่มาจากภาคเกษตรต่อจีดีพีรวมโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ร้อยละ 2 เท่านั้น


ในประเด็นเรื่องแรงงาน หากจีนต้องการจะลดแรงงานในภาคเกษตรให้ได้ตามเป้าหมาย คือ การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี ค.ศ.2050 จะต้องกระจายแรงงานออกจากภาคเกษตรออกร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งประเด็นนี้หากมองในแง่ความเป็นจริง ก็ต้องยอมรับว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะปัจจุบันตัวเลขประชากรนั้นทะลุ 1,300 ล้านคนไปแล้ว และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

รายงานฉบับเดียวกันระบุว่า ความท้าทายของการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในวันนี้จนกระทั่งกลางศตวรรษที่ 21 หรือ ค.ศ.2050 นั้น อยู่ที่การแก้ปัญหาใน 3 ประเด็นหลักด้วยกันก็คือ การกระจายรายได้ ความอ่อนแอของระบบประกันสังคม และความสามารถในการบริโภคของประชาชน โดยในประเด็นสุดท้ายนั้น แม้หลายคนจะเห็นว่า ตลาดจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และดูเหมือนว่าสามารถดูดซับผลผลิตได้อย่างไม่จำกัดนั้น แท้จริงแล้ว เกิดภาวะอุปทานล้นเกิน ในสินค้าหลายชนิดไปแล้ว

งานวิจัยชิ้นดังกล่าวตบท้ายโดยสรุปว่า ขั้นแรกเป้าหมายของจีน คือการเคลื่อนตัวจากสถานะของประเทศกำลังพัฒนาไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วขั้นต้นให้ได้ภายในปี ค.ศ.2020... ก่อนที่จะเขยิบเป็น ประเทศที่พัฒนาแล้วในระดับกลางให้ได้ในช่วงปี ค.ศ.2050... จากนั้นจีนคงจะได้สถานะของการเป็นประเทศพัฒนาแล้วเต็มตัวในปี ค.ศ.2080 และเป้าหมายสุดท้ายคือการไปยืนอยู่ในแนวหน้าของประเทศที่พัฒนา แล้วในช่วงต้นศตวรรษที่ 22

"จีน" ในวันนั้น... สำหรับตัวผมเองในช่วงชีวิตนี้เกรงว่าจะไม่มีบุญได้เห็น และเมื่อถึงวันเวลาที่ว่า คงต้องระบุไว้เป็นพินัยกรรมล่วงหน้าให้ลูก-หลานส่งข่าวข้ามภพไปให้กระมัง?

เว็บไซต์ข้อมูลเพิ่มเติม : www.modernization.com.cn   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us