CP7-11 มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2531 ที่เริ่มดำเนินงาน ไม่เพียงรายได้หลักจากร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven เท่านั้น แต่ธุรกิจอื่นก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน และปีที่ผ่านมาผลกำไรจากธุรกิจเหล่านี้ ก็ได้แซงหน้าธุรกิจหลักไปแล้ว
แทบไม่น่าเชื่อว่า 7-Eleven ที่เป็นเจ้าตลาดร้านค้าสะดวกซื้ออันดับหนึ่งของไทย ด้วยจำนวนร้านถึง 2,861 สาขา ณ สิ้นปีที่ผ่านมาจะมีกำไรจากธุรกิจอื่นๆ สูงกว่าผลกำไรจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจหลักของบริษัทเสียอีก ธุรกิจอื่นๆ ที่ว่า นี้ประกอบด้วยบริการรับชำระค่าสินค้า และบริการ (ดำเนินงานโดยบริษัทเคาน์เตอร์ เซอร์วิส จำกัด ที่ CP7-11 ถือหุ้นอยู่ 99.99%) โรงงานอาหารแช่แข็งและเบเกอรี่ รวมทั้งธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับธุรกิจค้าปลีก
จากผลการดำเนินงานงวดปี 2547 บริษัทซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ CP7-11 มีรายได้จากธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อ 39,763 ล้านบาท คิดเป็นกำไรจากการดำเนินงาน 922 ล้านบาท รายได้จากธุรกิจโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ในประเทศ จีน 23,483 ล้านบาท มีกำไรจากการดำเนิน งาน 514 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจอื่นๆ 15,074 ล้านบาทแต่มีกำไรสูงถึง 1,138 ล้านบาท
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลกำไรจากธุรกิจอื่นๆ ของ CP7-11 แซงหน้าธุรกิจหลักขึ้นมาได้น่าจะเป็นผลมาจากความสำเร็จของเคาน์เตอร์ เซอร์วิส ซึ่งในปีที่ผ่านมามียอด จำนวนบิลที่รับชำระเพิ่มขึ้นเป็น 5.2 ล้านใบต่อเดือนหรือ 62.4 ล้านใบต่อปี โดยที่มี สาขาบริการ 3,756 สาขาทั่วประเทศและยังเชื่อว่าในปีนี้จะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย จึงไม่น่าแปลกใจที่ CP7-11 ยังไม่มีความสนใจจะนำธุรกิจที่เป็น cash cow อย่างเคาน์เตอร์เซอร์วิส เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระยะอันใกล้นี้
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อก็ยังคงมีอัตราการขยายตัวที่น่าสนใจ ในปีที่ผ่านมาจำนวนร้าน 7-Eleven เพิ่มขึ้น 464 สาขา รวมเป็น 2,861 สาขา ซึ่งปิยะวัฒน์ ฐิตะวรสัทธากุล กรรมการผู้จัดการ เล่าว่า เป็นตัวเลขที่เกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้แต่เดิมที่คาดว่าจะเปิดเพิ่มเพียง 400 แห่ง แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจึงเป็นโอกาสให้ CP7-11 เปิดสาขาได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยอดขายเฉลี่ยต่อวันของร้าน 7-Eleven แต่ละแห่ง (same store growth) ก็เพิ่มขึ้นในอัตรา 6.6% จาก 51,584 บาทในปีก่อนหน้ามาเป็น 55,023 บาทในปีที่ผ่านมา โดยสินค้าในกลุ่มอุปโภค บริโภค (non-food) มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นมากจากยอดขายบัตรโทรศัพท์ในระบบต่างๆ ทำให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 25% มาเป็น 49% ขณะที่สินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (food) มีสัดส่วนอยู่ที่ 51%
ส่วนในปีนี้ CP7-11 ยังคงจะขยายธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่จะเปิดสาขาให้ได้ถึง 5,000 สาขาภายในเวลา 5 ปี ในปีนี้จะเปิดสาขาเพิ่มขึ้นระหว่าง 400-450 สาขา ที่จะเป็นร้านของบริษัทและร้านในระบบแฟรนไชส์ในสัดส่วนเท่าๆ กัน จำนวนร้าน ที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนอย่างน้อย 14% รวมเข้ากับ same store growth ในปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 3-5% น่าจะส่งผลให้ CP7-11 มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 17-19%
"เป้า same store growth ปีนี้เราตั้งไว้ที่ 3-5% แต่ตัวเลขจริงๆ ที่ออกมา ในไตรมาส 1 ดีกว่านั้น ตัวเลขออกมาดีกว่า ปีที่แล้วอีก" ปิยะวัฒน์กล่าว
เป้าหมาย 5,000 สาขาภายใน 5 ปี ที่ตั้งไว้เป็นตัวเลขที่นักลงทุนบางส่วนกังขา ถึงความเป็นไปได้ เนื่องจากเกรงว่าตลาดอาจจะถึงจุดอิ่มตัวไปก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของ CP7-11 มั่นใจว่าเป้าหมายดังกล่าวสามารถทำได้อย่างแน่นอนและยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน ซึ่งตลาดร้านค้าสะดวกซื้อได้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว (วัดจากปริมาณร้านค้าเปิดใหม่และร้านค้าที่ปิดตัวลงในแต่ละปีมียอดใกล้เคียงกัน) พบว่า สัดส่วนประชากรต่อร้านค้าสะดวกซื้อประมาณ 3,000 คนต่อร้าน ในขณะที่สัดส่วนนี้ของไทยในปัจจุบันยังเกิน 10,000 คนต่อร้าน เท่ากับว่าร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศยังเพิ่มได้อีก 3-4 เท่า
นอกจากการขยายสาขาร้าน 7-Eleven แล้ว ในปีนี้ CP7-11 ยังเตรียมลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ ขนาดพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร บริเวณใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับการให้บริการแก่ร้านสาขาเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2,100 สาขา จากเดิมที่มีศูนย์กระจายสินค้า บางบัวทอง ขนาดพื้นที่ 23,000 ตารางเมตร ที่สามารถรองรับได้ 3,000 สาขา โดยใช้งบลงทุน 835 ล้านบาทและคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในไตรมาส 4 ที่จะถึงนี้ โดยจะครอบคลุมสาขาในพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก
การลงทุนของ CP7-11 ยังมีการขยายธุรกิจโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ในประเทศ จีน ที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 29.7% ซึ่งเดิม มี 23 สาขาและจะเพิ่มเปิดอีก 5 สาขาในปีนี้ คิดเป็นเงินลงทุน 1,300 ล้านบาทและเมื่อรวมงบลงทุนทั้งหมด ทั้งในส่วนของการขยายสาขา การก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าและการปรับรูปโฉมใหม่ของร้านค้าที่มีอายุ 5 ปีแล้ว ในปีนี้ CP7-11 จะใช้เงินลงทุนรวม 3,800 ล้านบาท
การดำเนินงานอีกด้านหนึ่งของ CP7-11 ในปีนี้ที่จะแตกแนวจากธุรกิจหลักออกไปอย่างสิ้นเชิงก็คือ โรงเรียนปัญญาภิวัฒน์เทคโนธุรกิจ ที่ CP7-11 ซื้อกิจการโรงเรียนกรุงเทพเทคนิคนนท์มาดำเนินงานต่อ และเปิดสอนนักศึกษาในระดับปวช. และ ปวส. โดยนักศึกษาจะได้เรียนจากประสบการณ์จริงในธุรกิจของ CP7-11 และยังรับประกันการมีงานทำของนักศึกษาที่เรียนจบทุกคน มองอีกด้าน หนึ่งเท่ากับว่าโรงเรียนแห่งนี้มีบทบาทในการเป็นศูนย์ฝึกและพัฒนาบุคลากรให้กับร้าน 7-Eleven และกิจการอื่นๆ ในเครือที่มีความต้องการบุคลากรถึงปีละ 4,000 คน นั่นเอง
ในมุมมองของนักวิเคราะห์และนักลงทุนทั่วไป CP7-11 ถือเป็นบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดีแห่งหนึ่ง แต่หุ้นของบริษัทกลับมีปริมาณการซื้อขายในแต่ละวันไม่มากนัก สาเหตุสำคัญมาจากนักลงทุนที่ซื้อหุ้น CP7-11 ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบันและมักจะซื้อเพื่อการลงทุนระยะยาว ทำให้ปริมาณหุ้นที่มีหมุนเวียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีน้อย
อย่างไรก็ตาม CP7-11 ได้เตรียมการแก้ปัญหานี้ โดยบริษัทจะจ่ายหุ้นปันผล ให้กับผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 1 หุ้นสามัญต่อ 1 หุ้นปันผลในวันที่ 13 พฤษภาคม ทำให้จำนวนหุ้นของ CP7-11 เพิ่มขึ้นจาก 450 ล้านหุ้นเป็น 900 ล้านหุ้น หลังจากนั้นจะแตกพาร์จาก 5 บาทเป็น 1 บาท ทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มเป็น 4,500 ล้านหุ้น ซึ่งน่าจะแก้ปัญหาสภาพคล่องของหุ้น CP7-11 ได้
เมื่อถึงวันนั้นหุ้น CP7-11 ก็น่าจะเป็นหุ้นสะดวกซื้ออีกตัวหนึ่งของตลาดหุ้นไทย
|