|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2548
|
|
ความท้าทายครั้งใหม่ของโมโตโรล่าคือการตัดสินใจเลือก จงรักษ์ สกุลภักดี ขึ้นนั่งแท่นเป็นผู้บริหารที่สูงสุดของสำนักงานประเทศไทย คำถามที่สื่อมวลชนส่งกลับไปในวันเปิดตัวคือ ประสบการณ์ในอุตสาหกรรมไอทีของเธอจะช่วยธุรกิจโทรคมนาคมของโมโตโรล่าได้อย่างไร
ประตูรั้วที่ไม่ได้ปิดทึบของบ้านหลังใหญ่เลขสวย 888/8 ต้นซอยเพ็ชรรัตน์ ที่ลึกเข้าไปในซอยสุขุมวิท 50 ทำให้ "ผู้จัดการ" สามารถมองลอดเข้าไปเห็นตัวบ้านที่โดดเด่นที่สุดในละแวกนั้นได้อย่างชัดเจน ไม่เพียงแต่บ้านที่สะดุดตาด้วยแบบที่ไม่เหมือนใครในละแวกนั้น แต่ยังมองเห็นสวนขนาดย่อมในตัวบ้านที่ออกแบบได้อย่างมีระเบียบและดึงดูดสายตาผู้มาเยือนอย่างอดไม่ได้
จงรักษ์ เพ็ชรรัตน์ หรือจงรักษ์ สกุลภักดี สกุลเดิมที่รู้จักกันในวงกว้างของคนในวงการไอทีเมืองไทย เจ้าของบ้านหลังงาม เปิดประตูต้อนรับ "ผู้จัดการ" อย่างเป็นมิตร หลังต้องเจียดเวลาให้สัมภาษณ์เป็นพิเศษในช่วงเวลาที่เร่งรีบก่อนเดินทางไปยังนัดอื่นต่อในเย็นวันนั้น และยังต้องเตรียมตัวเดินทางไปประเทศอิตาลีนานเป็นสัปดาห์ในวันรุ่งขึ้น เพื่อทำงานบทบาทใหม่ในฐานะ Country Manager ในกลุ่ม Personal Communi-cations Sector ของบริษัทโมโตโรล่า (ประเทศไทย) จำกัด ที่แม้จะเพิ่งผ่านพ้นมาได้เพียง 3 เดือน แต่ในภาวะของการขาดหัวเรือมาได้ระยะหนึ่งของโมโตโรล่าความจำเป็นที่ต้องได้ผู้นำที่มีแนวคิดในการมองสภาพตลาดอย่างจงรักษ์จึงจำเป็นอย่างมาก
จงรักษ์ถือเป็นผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตและการทำงานมากคนหนึ่งเมื่อเทียบกับคนรุ่นราวคราวเดียวกัน และหากย้อนกลับไปมองแล้ว ใช่ว่าจะเกิดจากการที่เธอเติบโตมาท่ามกลางความอบอุ่น และความได้เปรียบในแง่ของการศึกษาเพียงเท่านั้น แต่แนวคิดที่เธอสั่งสมมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี และมุมมองความคิดที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน น่าจะเป็นอีกหนึ่งแนวร่วมสำคัญซึ่งส่งผลให้เธอประสบความสำเร็จและกลายเป็นที่จับตามองของใครอีกหลายคนที่รู้จักเธอแม้จะเพียงไม่นานก็ตาม
หลังจากที่ต้องย้ายตามคุณพ่อที่รับราชการใน กรมชลประทาน และคุณแม่ที่ทำงานเป็นเลขานุการในบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จากจังหวัดอุตรดิตถ์มาอยู่ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ทั้งๆ ที่คลอดได้เพียงวันเดียวเท่านั้น ทำให้จงรักษ์เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่ต่างอะไรกับเด็กในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครมากนัก
เธอเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนสตรีวิทยา และเลือกเส้นทางชีวิตที่แตกต่างจากเพื่อนในห้องเรียน ด้วยการตัดสินใจสอบเทียบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยโดยไม่ผ่านการเรียนชั้นมัธยมปลายแต่อย่างใด ไม่แปลกใจนัก ที่แม้จงรักษ์จะไม่ได้ผ่านระบบการเรียนการสอนในชั้นมัธยมปลาย แต่การเป็นหัวกะทิของชั้นเรียนมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้เธอสอบเอนทรานซ์ติดคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีนั้นอย่างที่ใครหลายคนคงคิดอิจฉาไม่น้อย
แต่ด้วยความที่รู้ตัวเองว่าเป็นคนถนัดเรียนคำนวณมาโดยตลอด การตัดสินใจปฏิเสธเข้าเรียนคณะนิเทศ ศาสตร์ในครั้งนั้น ถือเป็นอีกทางเลือกที่เจ้าตัวเหมือนจะตั้งเป้าหมายเอาไว้ในใจมาตั้งแต่ต้น เธอจึงเลือกที่จะเข้าเรียนในคณะบริหารธุรกิจ ภาควิชาการบัญชี ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงอย่างที่ชอบ และการเลือกเรียนที่รามคำแหงมิได้สร้างความผิดหวังให้เธอเลย ไม่เพียงแต่จบด้วยเกียรตินิยม โดยใช้เวลาเพียง 3 ปีครึ่งเท่านั้น เธอยังเป็นบัณฑิตที่เรียกได้ว่าอายุน้อยที่สุด โดยรับปริญญาในขณะที่มีวัยเพียง 18 ปี
"หลังจากเรียนจบแล้ว ความคาดหวังแรกเลยคืออยากจะทำงานกับบริษัทที่มีตึกใหญ่ๆ เพราะคิดว่า การมีตึกใหญ่เหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าบริษัทนั้นต้องมั่นคงแน่ๆ พอดีเห็นข่าวว่าบริษัท Caldbeck McGregor บริษัทนำเข้าสุราต่างประเทศในกลุ่มบริษัท Inchcape Thailand ซึ่งกำลังรับคนเข้าทำงานตำแหน่ง Bookkeeper เลยตัดสินใจไปสมัครดู ในตอนนั้นมีคู่แข่งอีกคนหนึ่งที่จบจากจุฬาลงกรณ์มา แต่เราอายุน้อยกว่า จบเกรดดีกว่า แต่ก็ยังเกร็งๆ ว่าจะผ่านหรือไม่ เพราะอาจจะต้องตัดสินใจกันด้วยการสอบสัมภาษณ์กับนายที่มาจากฝั่งยุโรปในตอนท้าย เราอาจจะโชคดีที่คุณแม่นั้นพูดภาษาอังกฤษเก่งมาก เนื่องจากทำงานกับชาวต่างชาติ และช่วงก่อนหน้าที่เรียนรามคำแหงก็ได้เรียนภาษาอังกฤษแบบตัวต่อตัวกับ อาจารย์ฝรั่งที่สถาบันสอนภาษามาตลอด 3 ปีครึ่ง ตอนที่จะเข้าไปคุย คุณแม่ก็สอนวิธีการพูด การตอบคำถาม และท่าทางในการวางตัวในการคุยกับผู้ใหญ่ให้ทั้งหมด" จงรักษ์ย้อนภาพของการสมัครงานครั้งแรกในชีวิตให้ฟังด้วยสีหน้าเหมือนกับจะภูมิใจในหนทางที่ผ่านมาเป็นอย่างยิ่ง
ความที่มีพื้นฐานการเรียนด้านบัญชีที่ดีมาตลอด และภาษาอังกฤษที่ฝึกฝนเอาไว้หลายปีเพื่อเตรียมพร้อมกับความฝันเล็กๆ ว่าจะต้องเดินทางไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศให้ได้นี่เอง ทำให้จงรักษ์ได้งานแรกมาเชยชม
แม้จะได้ผลตอบแทนที่ดี แต่งานที่ต้องทำแต่ตัวเลขลงบัญชีตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ก็ดูเหมือนจะไม่ท้าทายและเหมาะสมกับเด็กสาววัยเพียง 18 ในยามนั้นมากนัก จงรักษ์จึงเลือกเดินทางในสายที่ฝันไว้มาตลอดด้วยการตัดสินใจเดินทางออกจากบ้านเพื่อเข้าเรียนเพิ่มเติมในหลักสูตรปริญญาโท สาขาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ MIS ที่ West Virginia University มหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา
หลังเรียนจบการศึกษา ด้วยความสามารถระหว่างการเรียนจนได้เป็นผู้ช่วยอาจารย์ และเกรดใน ระดับหัวแถวทำให้จงรักษ์ถูกส่งชื่อจากมหาวิทยาลัยให้กับบริษัทชั้นนำในสหรัฐฯ อย่าง "โคลัมเบีย แก๊สซิสเต็ม" บริษัทน้ำมันชั้นนำของสหรัฐฯ รายหนึ่ง ด้วยหน้าที่ในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลการเงิน การบัญชีสำหรับ CEO ของบริษัทโดยตรง การทำงานคลุกคลีกับ CEO ของบริษัท ติดสอยห้อยตามฟังการบรรยายและปราศรัย ของเขาตลอดระยะเวลาหลายปี ทำให้จงรักษ์พบว่าตัวเองเริ่มซึมซับความเป็นผู้นำของชายคนนี้เข้าอย่างเต็มที่ ถึงขนาดแอบเก็บเอาภาพในการวางตัว และการพูดจาโน้มน้าวคนจำนวนมากมาใช้กับตัวเอง เพราะเห็นว่าเป็นภาพลักษณ์ที่ดีที่สุดในขณะนั้น
ไม่เพียงแต่การทำงานคลุกคลีกับ CEO เท่านั้น จงรักษ์ยังทำงานคลุกคลีกับเจ้าหน้าที่ของออราเคิลสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่มาของการเข้ามารับตำแหน่ง Application Manager ของออราเคิล ประเทศไทย ในเวลาต่อมาไม่นาน โดยผ่านการแนะนำโดยตรงจากออราเคิล สหรัฐฯ มายังสาขาเมืองไทย
แม้รายได้จะแตกต่างกันลิบลับ แต่เธอเลือกกลับบ้านเกิดและรับตำแหน่งผู้จัดการเป็นครั้งแรกของเธอ และยอมทิ้งว่าที่ผู้จัดการฝ่าย MIS ของโคลัมเบีย แก๊ส ซิสเต็ม เอาไว้ข้างหลัง การบุกตลาดของออราเคิลภายใต้ การดูแลของจงรักษ์ในสมัยนั้นสร้างกำไรให้กับออราเคิลในประเทศไทยไม่น้อย โชคอาจจะเข้าข้างจงรักษ์อย่างไม่รู้ตัวในช่วงของการบุกตลาดในครั้งนั้นของออราเคิล เป็นช่วงของตลาดดอทคอมเฟื่องฟูมากในเมืองไทย เช่นเดียวกับการเติบโตของตลาดคอมพิวเตอร์ในไทยนั้นพุ่งแรงอย่างไม่น่าเชื่อ
จงรักษ์ปิดฉากการทำงานกับออราเคิลด้วยตำแหน่งสุดท้าย Sale Director จากระยะเวลาที่ใช้เพียง 5 ปีเท่านั้น หลังพบว่าน่าจะถึงเวลาบินให้สูงกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากเวลาและประสบการณ์ที่ผ่านมาน่าจะเพียงพอกับการเติบโตในหน้าที่การงานของเธอได้แล้ว และเมื่อได้รับทาบทามให้เป็นกรรมการผู้จัดการคนแรกของบริษัท แซสซอฟท์แวร์ ในประเทศไทย
"ในตอนนั้นเราเองยังไม่แน่ใจว่าพร้อมจะบินหรือไม่ แต่แฟนซึ่งเป็นทหารเรือพูดคำหนึ่งซึ่งช่วยได้มากในตอนนั้นว่า การที่เราจะเป็นผู้การเรือใหญ่ได้ นั่นหมายถึง เราต้องผ่านการเป็นผู้การเรือเล็กเสียก่อน มันทำให้เราย้อนกลับมาคิดว่า เราเองก็ผ่านการเป็นผู้การเรือเล็กมาก็เพียงพอแล้ว น่าจะถึงเวลาได้เป็นผู้การเรือใหญ่สักที จึงตัดสินใจรับปากกับแซสในเวลาต่อมา" จงรักษ์กล่าว
ความทรงจำในการทำงานที่แซส ดูเหมือนจะเป็นที่จดจำของจงรักษ์มากที่สุด แม้จะทำงานในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 2 ปีเท่านั้น แต่ด้วยการเปิดตลาดซอฟต์แวร์ Business Intelligence เป็นครั้งแรกของบริษัทนี้ในไทยที่ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เป็นภาพลักษณ์ ที่ติดตัวเธอมาตลอด ด้วยการเข้าขายซอฟต์แวร์มูลค่านับล้านบาทให้แก่เอไอเอส ออเร้นจ์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และที่อื่นๆ อีกมากมาย พร้อมกับการได้เพื่อนสนิทจากการทำงาน โดยเฉพาะจากบริษัทที่ไปขายซอฟต์แวร์ให้ ซึ่งยังเป็นเครือข่ายที่ดีต่อกันมาตลอดจนถึงปัจจุบัน
ปรัชญาการทำงานอย่างหนึ่งของจงรักษ์ที่เธอยึดมั่นใช้กับการทำงานมาตลอดช่วงระยะของการทำงานก็คือ การเชื่อว่าคนเราไม่ควรจะมองอะไรๆ เพียง 180 องศาเท่านั้น เพราะนั่นหมายถึงการที่คนเรามักจะใช้ตัวเองเป็นที่ตั้งในการมองเหตุการณ์นั้นๆ แต่เราควรจะมองให้ครบถ้วน 360 องศา
"คำว่า 360 องศาในที่นี้หมายถึงการนำอินพุตภายนอกเข้ามาประกอบด้วยเป็นองศาต่างๆ ที่มากขึ้น เราเองต้องมองลูกค้า มองเพื่อนร่วมงาน และสภาพตลาด จากนอกประเทศ หรือในประเทศร่วมด้วย เพราะจะทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น จริงๆ แล้ววิธีการนี้ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ แม้แต่กับครอบครัวเองก็ตาม โดยส่วนตัวแล้วตัวเองเวลาจะทำอะไรก็มักจะคิดถึงว่า แล้วสามีลูกจะคิดอย่างไรบ้าง เพื่อนหรือน้าสาวจะคิดอย่างไรด้วยตลอด สิ่งนี้เองจะทำให้เรามองเห็นอะไรๆ ได้ชัดเจนและครบทุกมุมมองมากขึ้น" จงรักษ์อธิบายถึงมุมมองการคิดที่ดูเหมือนจะทำให้เธอแตกต่างจากคนอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด
มุมมองความคิดของผู้หญิงคนนี้นี่เอง ทำให้วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอดูเหมือนจะเข้ามาถูกที่และถูกเวลา กับความต้องการของโมโตโรล่า ประเทศไทย เป็นอย่างมาก เพราะด้วยภาพลักษณ์ของโมโตโรล่าที่หลายคนคิดมาตลอดว่าเป็นบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือที่เหมาะกับตลาดคนสูงอายุมาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา และการก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญของซัมซุง แบรนด์ยักษ์ใหญ่จากเกาหลี ที่กลายมาเป็นคู่แข่งคอยผลัดกันขึ้นอันดับ 2 และ 3 กับโมโตโรล่า รองจากโนเกีย แบบชนิดใครวางมือสักวินาทีก็หล่นจากเก้าอี้ในทันที ถือเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับจงรักษ์
เธอยอมรับว่าสภาพตลาดที่การแข่งขันรุนแรงขึ้น คู่แข่งเข้มแข็งขึ้นถือเป็นความท้าทายอย่างหนักของโมโตโรล่า ทำให้นับจากนี้กลยุทธ์สำคัญที่เธอเชื่อว่าหนทางแก้ไขปัญหาที่สุมมานานน่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับการรุกพัฒนาระบบการกระจายสินค้าหรือโทรศัพท์มือถือของโมโตโรล่าลงในระดับรากหญ้า ที่ผ่านมาสิ่งนี้เธอยังเชื่อว่ายังทำได้ไม่ดีนัก และจะเป็นสิ่งแรกที่ปีนี้ทั้งปี โมโตโรล่าจะเน้นหนัก เพราะเธอเชื่อว่าชื่อของโมโตโรล่านั้นไม่จำเป็นต้องโปรโมตอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากคนส่วนใหญ่รู้จักกันดี
การก้าวมาจากสายไอทีที่ไม่ใช่วงการโทรศัพท์มือถืออย่างคนอื่นๆ ที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้เธอหนักใจเลย เธอให้ความเห็นว่าอาจจะเป็นเพราะว่า หลายคนอาจจะยังไม่ได้สัมผัสมุมมองการทำงานของเธอที่ผ่านมา แต่เธอเชื่อว่า การเลี้ยงขุนพลที่ดี ปรัชญาการทำงานและการใช้ชีวิตอันดับสองที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่ง จะช่วยให้การบริหารจัดการทั้งหมดผ่านไปด้วยดี
การเลี้ยงขุนพลที่ดีเอาไว้ข้างกาย ในความหมายของจงรักษ์มีความหมายโดยนัยว่า การดูแลพนักงานที่อยู่ภายใต้การดูแลให้ดีที่สุด ไม่เพียงแต่เข้าใจว่าเขาต้องการอะไรเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการมีน้ำใจ และเอื้อเฟื้อที่เธอเชื่อว่าเธอมีอยู่มากไม่แพ้คนอื่นเลย การดูแลพนักงานที่ดีย่อมทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานนั้นดีขึ้น น่าจะเป็นสิ่งที่เธอหมายถึง และพนักงานที่มีคุณภาพทำให้การบริหารจัดการ และเลือกใช้คนให้เหมาะกับหน้าที่ หรือสภาพของการทำงานง่ายมากขึ้น นี่คือหลักการบริหารที่ดีของผู้บริหารที่ดี ที่เธอเชื่อว่าจำเป็นอย่างมากทั้งที่ผ่านมาและนับจากนี้ เพราะเธอหมายมั่นว่าจะต้องปั้นเบอร์สอง หรือมือขวาของโมโตโรล่าขึ้นมา เพื่อรองรับการทำงานตำแหน่งเดียวกันกับเธอในวันนี้ เพียงแต่เป็นในอนาคตเมื่อเธอหมดวาระลงไป
วันนี้จงรักษ์ไม่เพียงแต่แบกรับหน้าที่หางเสือของบ้านที่มีสามียศนาวาเอก ลูกชายตระกูลเพ็ชรรัตน์ เจ้าของที่ดินราคาแพงซอยเดียวกันกับชื่อตระกูล ย่านอ่อนนุช ที่คอยเป็นเพื่อนคู่คิดและหัวเรือของบ้านมาตลอด 9 ปีเต็ม พร้อมกับลูกชายหัวแก้วหัวแหวนวัย 7 ขวบ และสุนัขตัวเล็กวัย 2 เดือนเศษ ที่ชื่อ "โมโต" เท่านั้น แต่ยังเป็นหัวเรือที่มีคุณภาพของค่ายโมโตโรล่า ประเทศไทย อย่างที่หาตัวจับยากนักในผู้หญิงวัยเพียง 42 ปี
|
|
|
|
|