Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2548








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2548
How To Play The Game?             
โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
 

   
related stories

The Great Fighter
นักสู้แห่งเอเชีย
78 ปี ปราสาททองโอสถ

   
www resources

โฮมเพจ บางกอก แอร์เวยส์

   
search resources

การบินกรุงเทพ, บจก.
ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ
ธวัชวงศ์ ธะนะสุมิต
Aviation
ประดิษฐ์ ทีฆกุล
พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ
ดวงใจ ตัณทิกุล




บริษัทกำลังโตและขยายเครือข่ายออกไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กับโลกของธุรกิจการบินแข่งขันกันอย่างรุนแรง นายแพทย์ปราเสริฐจะเล่น “เกม” นี้อย่างไรและมีใครบ้างเป็นกำลังหลักช่วยกันวางหมากตาต่อไปให้กับองค์กร

ในบางกอกแอร์เวย์ส นายแพทย์ปราเสริฐมีรองผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสอยู่ 3 คน ซึ่งเรียกใช้อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา หากเรียงตามลำดับอาวุโสคนแรกคือ ธวัชวงศ์ ธะนะสุมิต อายุ 58 ปี ผู้รับผิดชอบเรื่องการเงินและบัญชี

เขาจบปริญญาตรีนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความฝันอยากเป็นผู้พิพากษามาตั้งแต่เด็ก แต่กลับไปทำงานกับการบินไทยนานถึง 20 ปี ในหลายหน่วยงานทั้งส่วนต้อนรับผู้โดยสาร ฝ่ายบุคคล และการบินไทยเคยส่งไปทำโครงการร่วมทุนกับแอร์ลังกา ทำเรื่อง Catering ที่เมืองโคลัมโบเกือบ 9 ปี กลับมาไปช่วยนายแพทย์ปราเสริฐทำบริษัทไทย ปิโตรเลียมเซอร์วิสประมาณ 4-5 ปี ก่อนเข้ามารับตำแหน่งที่บางกอกแอร์เวย์สเมื่อปี 2538 เป็นคนสำคัญที่ช่วยดูเรื่องตัวเลขการเงิน การบัญชี และที่สำคัญคือตัวแทนของบริษัทในการเจรจาติดต่อกับสถาบันการเงิน

“ในยามที่เราลำบากเหลือเกิน มีเจ้าหนี้หลายรายคอยอยู่ ทฤษฎีที่เรียนมาก็ช่วยไม่ได้ ประสบการณ์ และสามัญสำนึกของคนที่เคยทำธุรกิจมาก่อนช่วยได้มากกว่า เพราะเราต้องเดินเข้าไปหาเจ้าหนี้ ซึ่งมีทั้งแบงก์ ทั้งเจ้าของเครื่องบิน อธิบายกันตรงๆ อย่างอดทน เพราะหากเราเป็นอะไรไปเขาก็ไม่ใช่ว่าจะดีขึ้น ส่วนใหญ่เขาช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ ต้องทำให้เขาเห็นว่าเราน่าคบ”

ธวัชวงศ์อธิบายถึงวิธีการทำงานโดยในเรื่องวิชาการนั้นเขามีวิโรจน์ สติธโรปกรณ์ นักการเงินจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามารับตำแหน่งรองผู้อำนวยการ

บางกอกแอร์เวย์สเป็นลูกค้าของสถาบันการเงินหลาย แห่ง เช่น ธนาคารทหารไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย แต่ในการลงทุนที่สนามบินสุวรรณภูมินั้นเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทย

การทำธุรกิจการบินก่อนปี 2538 นั้น สถาบันการเงินไม่ค่อยให้การสนับสนุนเท่าที่ควร จนกระทั่งสนามบินสมุยเริ่มมีกำไร ดังนั้นเมื่อมีธนาคารเข้ามาสนับสนุนบริษัทเลยมีนโยบายว่าต้องมีเพื่อนทางการเงินให้มากที่สุด แล้วต้อง “ทำตัวให้คบได้ ไม่หนี มีจ่าย”

ปัจจุบันธวัชวงศ์เปรียบเหมือนเป็นพ่อบ้านใหญ่อีกคนหนึ่ง พนักงานในออฟฟิศส่วนใหญ่จะเรียกเขาว่า “ป๋า” ในขณะที่ได้รับการไว้วางใจจากนายแพทย์ปราเสริฐให้เข้าไปเป็นประธานในบริษัท Bangkok Flight Services ที่ตั้งมาดูธุรกิจใหม่ในสุวรรณภูมิด้วย

คนที่ 2 คือประดิษฐ์ ทีฆกุล รองผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายบริหารที่มีอายุเพียง 46 ปี ซึ่งถ้าวัดกันตามบัตรประจำตัวพนักงานเขาเป็นเบอร์ 11 แต่หากนับพนักงานที่เหลือกันจริงๆ เขาอยู่ที่ประมาณเบอร์ 6 โดยมีนายแพทย์ปราเสริฐ เป็นเบอร์ 1

ประดิษฐ์จบจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มทำงานกับบริษัทนี้ในปี 2528 อายุเวลานั้นเพียง 26 ปี เป็นนักกฎหมายหนุ่มที่เดินตามหลังนายแพทย์ปราเสริฐ คอยช่วยดูแลเรื่องกฎหมายตั้งแต่เริ่มขออนุญาตทำการบิน และทำสนามบินเอกชนแห่งแรก รวมทั้งต้องศึกษากฎหมายการบินระหว่างประเทศ กฎหมายต่างๆ ของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งหมดถูกจัดเก็บไว้เป็นฐานข้อมูล มีประโยชน์ในการขยายเส้นทางบินในเวลาต่อไป

ดีลสำคัญๆ เกี่ยวกับการขอสิทธิการบินเพิ่มในประเทศต่างๆ เป็นเรื่องที่เขากับทีมงานกำลังทำอย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์ปราเสริฐยังไว้วางใจให้ประดิษฐ์เป็นประธานบริษัทของสายการบินเสียมเรียบแอร์เวย์อีกด้วย

หากประดิษฐ์และธวัชวงศ์เป็นมือซ้ายมือขวาที่นายแพทย์ปราเสริฐไว้ใจมากที่สุด รองผู้อำนวยการอาวุโสคนที่ 3 นี้คงต้องเก็บไว้กลางใจ เพราะเขาคือกัปตัน พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ลูกชายคนโต ที่ดูแลด้าน Operations ทั้งหมด ทั้งภาคพื้นดินและบนอากาศ

พุฒิพงศ์เรียนจบระดับมัธยมที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน จบระดับปริญญาตรีที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการจัดการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มงานที่โรงแรมสมุยปาล์มบีช ในปี 2530 หลังจากนั้นเมื่อบางกอกแอร์เวย์สเปิดทำการบินในปี 2532 ได้เข้ามารับตำแหน่งรองผู้อำนวยการด้านสนามบินที่สมุย

ปี 2534 ไปเรียนต่อด้านการบินที่สถาบันการบินพลเรือน

พุฒิพงศ์เล่าถึงเหตุผลของการไปเรียนเป็นนักบินว่า นักบินเป็นตัวจักรที่สำคัญอย่างมากของธุรกิจนี้ การได้พูดภาษาเดียวกัน และเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีการบินใหม่ๆ เป็นเรื่องจำเป็น

“ผมถือว่านักบินเป็นคนพิเศษ ในเมืองไทยมีคน 60 ล้านคน มีอาชีพนักบิน ไม่เกิน 5 พันคน หากดูจากใบอนุญาตที่ออกไปเป็นนักบินพาณิชย์ไม่เกิน 3 พันคน ที่เหลืออยู่กับกองทัพบ้าง เป็นนักบินพลเรือน บ้าง ซึ่งน้อยมาก เรียกได้ว่าขาดแคลนเลยล่ะ”

ทุกวันนี้นอกจากเป็นผู้บริหาร เขาเลยต้องเป็นนักบินด้วย เพียงแต่ตารางชั่วโมงบินต่อเดือนน้อยกว่าคนอื่นๆ โดยเฉลี่ยปีละ 400–500 ชั่วโมง ในขณะที่นักบินอื่นบินกันที่ 800–900 ชั่วโมงต่อปี

ความพร้อมในเรื่องเทคโนโลยีของ “ฝูงบินที่ใหม่ทันสมัย” สร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้เช่นเดียวกับการบริการที่ทำด้วย “คน” กัปตันพุฒิพงศ์จะต้องรับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้ ในขณะเดียวกันต้องดูแลงานด้านปฏิบัติการทั้งบนฟ้าและภาคพื้นดินของบริษัทด้วย เป็นตำแหน่งที่มีพนักงานซึ่งต้องรับผิดชอบโดยตรงเป็นพันคน

นอกจากรองผู้อำนวยการอาวุโส ทั้ง 3 คนนี้แล้ว ยังมีระดับรองผู้อำนวยการฝ่ายต่างๆ อีก 9 คน ซึ่งส่วนใหญ่อายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป อายุงานมากกว่า 10 ปี บางคนที่เกษียณมาจากองค์กรอื่นแล้วก็ถูกดึงมาช่วยงานที่นี่ เช่นนาวาอากาศเอกจรูญ ปี่ทอง มาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย อายุ 65 ปี เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายสนามบิน มิสเตอร์ Peter Wiesner มาจากสายการบินสวิสแอร์ เป็นรองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายตลาด

นอกจากลูกชายคนโตที่มารับตำแหน่งรองผู้อำนวยการอาวุโสแล้ว นายแพทย์ปราเสริฐยังมีลูกสาวอีก 2 คน ที่มาช่วยงานตั้งแต่ยุคเริ่มต้นทำสนามบินที่สมุย ทั้ง 2 คนอายุงานประมาณ 15–16 ปี เพราะเพียง 1 เดือนหลังจากบางกอกแอร์เวย์สเริ่มบินไปสมุย สมฤทัยลูกสาวคนโตซึ่งจบด้านเศรษฐศาสตร์มาจากอเมริกา ก็เริ่มงานด้านการตลาดทันที

แต่มีช่วงหนึ่งที่เธอลาออกไปทำงานที่แบงก์ชาติ ดูแลในส่วนกองทุนสำรองของประเทศ กลับมาไปเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัททัวร์ ประมาณ 7 ปี ปัจจุบันเธอเป็นผู้อำนวยการฝ่ายตลาดของบริษัท Bangkok Flight Services บริษัทในเครือที่ไปทำโครงการใหม่ในสนามบินสุวรรณภูมิ

ส่วนอาริญา ลูกสาวคนที่ 2 เป็นผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายขายของบริษัทบางกอกแอร์เวย์ส เธอเรียนจบระดับมัธยมที่โรงเรียนมาแตร์เดอี เหมือนพี่น้องผู้หญิงคนอื่นๆ หลังจาก นั้นไปเรียนที่เอแบคอีก 4 ปี ก่อนที่จะไปต่อปริญญาโทด้านการตลาดที่อเมริกาอีก 2 ปี จบปี 2533 เริ่มทำงานครั้งแรกที่โรงแรมสมุยปาล์มบีชประมาณ 2 ปีกว่า จากนั้นนายแพทย์ปราเสริฐก็ให้มาเรียนรู้งานทั้งหมดด้านฝ่ายขายที่บางกอกแอร์เวย์ส

“ช่วงที่หนักที่สุดคือตอนทำงานใหม่ๆ กดดันมาก คิดไปเองด้วยว่ามีคนคาดหวังกับเราสูง สมัยเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด ที่โรงแรมสมุยปาล์มบีชคุณพ่อให้รถเบนซ์ไปใช้ เราก็ต้องไปจอดแอบๆ ไว้ ไม่อยากให้ใครหมั่นไส้ แต่พอผ่านไป 2-3 ปี มีประสบการณ์เข้ามาก็ดีขึ้น”

เป็นคนหนึ่งที่กำลังศึกษาวิธีการทำงานของผู้เป็นพ่อ เรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ แล้วเลือกเอามาปรับใช้กับการทำงาน

ม.ล.นันทิกา วรวรรณ รองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ เป็นอีกคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ที่นี่นานถึง 16 ปี จนแทบจะกลายเป็นสัญลักษณ์ขององค์กร

เธอจบการศึกษาด้านการท่องเที่ยวและโรงแรมที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เคยผ่านการทำงานในองค์กรใหญ่ๆ ระดับโลกมาหลายแห่ง เช่น องค์การสหประชาชาติ โรงแรมฮิลตัน สายการบินแอร์ฟรานซ์ ดังนั้นเมื่อนายแพทย์ปราเสริฐมาชวนไปทำงานที่สายการบินที่เธอแทบจะไม่รู้จักมาก่อน ก็เลยไม่มั่นใจและตั้งใจว่า 3 เดือน ถ้าไม่ไหวก็จะลาออก

“ครั้งแรกคุณหมอพาพี่นั่งเครื่องบิน DASH8-100 ขนาด 38 ที่นั่งไป ซึ่งเป็นเครื่องบินลำเดียวของบางกอกแอร์เวย์สในตอนนั้น พอไปเห็นก็คิดหนัก แล้วจะเริ่มยังไง ขายอะไร ขายใครที่ไหน ทำประชาสัมพันธ์อย่างไร มืดแปดด้านไปหมด แต่ความมั่นใจเกิดขึ้นเมื่อคุณหมอเริ่มชี้นำแนวทางก็ชอบวิธีคิดของท่าน มันท้าทายดี แล้วตอนนั้นเราเพิ่งอายุ 30 ต้นๆ ไฟยังแรง ก็เลยตัดสินใจทำ”

แนวความคิดของนายแพทย์ปราเสริฐเมื่อผสมผสานกับประสบการณ์ที่มีอยู่แล้วทำให้การทำงานเดินหน้าไปได้

ปิง ณ ถลาง เป็นรองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายสารสนเทศ บทบาทของเขาทำให้งานด้านไอทีของบางกอกแอร์เวย์ส เปลี่ยนไปอย่างน่าสนใจ มีการเตรียมความพร้อมด้านไอทีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายของผู้โดยสาร เช่นต่อไปสามารถพิมพ์บรอดดิ้งพาสได้จากบ้าน สามารถเช็กข้อมูลการบินผ่านระบบ SMS เลือกเมนูผ่านเว็บไซต์ จองตั๋วผ่านมือถือ รวมทั้งพัฒนาการขายทุกช่องทางผ่านระบบและอินเทอร์เน็ตต่างๆ เพื่อบริการลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ

เขาจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัย The College of Wooster สหรัฐอเมริกา เป็นที่ปรึกษาด้านคอมพิวเตอร์ให้กับหน่วยราชการและองค์กรเอกชน และธนาคารมานานกว่า 10 ปี

เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทได้จดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ให้รองผู้อำนวยการคนนี้เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงคือ DAVIA เพื่อทำงานระบบต่างๆ ให้กับบางกอกแอร์เวย์สและบริษัทในเครือ และในขณะเดียวกันจะคิดทำซอฟต์แวร์ขายใครก็ได้

เป็นกลยุทธ์หนึ่งซึ่งผู้บริหารระดับสูงในบริษัทบอกว่าต้องทำเพื่อให้คนมีความสามารถมีโอกาสได้โต และยังทำงานให้กับองค์กร

ส่วนดวงใจ ตัณทิกุล รองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายพัฒนาบุคคล รับภาระหลักในการสร้างคนให้กับองค์กร คือเธอทำงานที่นี่มา 15 ปี จบนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นเดียวกับประดิษฐ์ ทีฆกุล ไปเรียนต่อปริญญาโทด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน อเมริกา กลับมาทำงานด้านเทรนนิ่งให้กับโรงแรมแอมบาสซาเดอร์ และเซ็นทรัลดีพาทเม้นท์สโตร์ ซึ่งเป็นการเทรนนิ่งบุคคลในงานด้านบริการมาตลอด

ตอนเข้ามาเริ่มงานที่นี่ เธอเล่าว่ามีพนักงานเพียง 200 คน เวลาผ่านไป 15 ปี มีพนักงานเพิ่มเป็น 2,000 คน โดยเฉพาะช่วง 3 ปีหลังอัตราการโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปี 2548 มีแผนรับคนอีก 300 ตำแหน่ง เฉพาะในส่วนบางกอกแอร์เวย์ส ไม่รวมของบริษัทร่วมลงทุนอีกเป็นพันคน เช่น บริษัทเสียมเรียบ เวิลด์ไวด์เซอร์วิส และอีก 3 บริษัทใหม่ในสนามบินสุวรรณภูมิ

พนักงานต้อนรับทั้งในส่วนภาคพื้นดินและบนเครื่องบินเป็นด่านแรกในการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า การจัดหลักสูตรคัดเลือกคนในส่วนนี้จึงต้องทำกันอย่างเข้มข้น ภายใต้สโลแกนที่ว่า ไม่ต้องสวยต้องหล่อแต่ต้อง “สมาร์ท และจิตใจดี”

การดีไซน์ข้อสอบโดยนักจิตวิทยา ดูความพร้อมของตัวตนที่แท้จริงว่าเป็นคนที่เหมาะกับงานด้านบริการหรือเปล่า เป็นเรื่องสำคัญในการคัดเลือกคนตลอดระยะเวลา 14 ปี หลังจากนั้นจึงเป็นขั้นตอนสัมภาษณ์ ดูบุคลิก และพฤติกรรมในเรื่องต่างๆ ผ่านแล้วต้องนำไปฝึกอบรมในอีกหลายๆ เรื่อง แม้กระทั่งการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง

ส่วนพนักงานเก่า หลักสูตรด้านฝึกอบรม เพื่อสร้างผู้บริหารรุ่นใหม่ เตรียมรองรับงานที่กำลังขยายก็ได้ทำอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

“Student Pilot Trainees” เป็นทุนการศึกษาด้านการบิน ที่ให้มาแล้ว 5 รุ่น เพื่อสร้างนักบินที่มีความสามารถเป็นของบริษัทเอง เป็นการลงทุนที่ต้องใช้เวลาและใช้เงินค่อนข้างสูง

เครื่องบินใหม่ๆ มีเงินก็ซื้อได้ แต่การสร้างนักบินที่เก่งๆ ต้องใช้เวลา แต่ละปีบริษัทจะคัดเลือกนักเรียนระดับปริญญาตรี 8 คน จากผู้สมัครประมาณ 2 พันคน ส่งให้เรียนกับศูนย์ฝึกการบินพลเรือนที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นจะเข้าสอบขอเข้ารับใบอนุญาตเป็นนักบินพาณิชย์ตรี จากกรมการบินพาณิชย์ และเข้าบินฝึกอบรมต่อเนื่องกับเครื่องบินเฉพาะแบบของบริษัท ทั้งภาคพื้นดินและอากาศอีก 6 เดือน

กระบวนการทั้งหมดใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 2 ล้านบาทต่อคน จบแล้วทุกคนต้องมาทำงานใช้ทุนคืน 5 ปี

ปัจจุบันนักบินของบางกอกแอร์เวย์สเพิ่มขึ้นเป็น 130 คน และ 2–3 ปีที่ผ่านมานี้รับเพิ่มปีละประมาณ 15 คน ส่วนหนึ่งเป็นนักเรียนทุนและอีกส่วนจากการคัดเลือกเข้ามาจากผู้ที่มีประสบการณ์แล้ว

ดวงใจบอกว่าในระดับรองผู้อำนวยการ ใน 5 ปีที่ผ่านมาไม่มีการลาออก บางคนที่เกษียณไปแล้ว บริษัทยังจ้างให้ทำงานต่อ เช่น รองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายครัวและโรงแรมรุ่นบุกเบิกอายุ 80 ปี ชื่อ Mr.Fak Hemmingsen

ดูเหมือนว่าการเคี่ยวกรำกับการสร้างคนใหม่ หากลยุทธ์ในการดึงคนเก่าที่มีฝีมือไว้ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของเงินเดือน โบนัส หรือสนับสนุนให้ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหาร เป็นปฏิบัติการ “ซื้อใจ” ที่นายแพทย์ปราเสริฐต้องบริหารให้ได้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us