Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2548








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2548
The Great Fighter             
โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
 

   
related stories

นักสู้แห่งเอเชีย
How To Play The Game?
78 ปี ปราสาททองโอสถ

   
www resources

โฮมเพจ บางกอก แอร์เวยส์

   
search resources

การบินกรุงเทพ, บจก.
ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ
Aviation




60 ปีก่อน กลางทุ่งนาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เด็กผู้ชายคนหนึ่งยืนแหงนมองเครื่องบินบนฟ้า แล้วตั้งปณิธานว่าสักวันต้องเป็นเจ้าของเครื่องบินให้ได้

วันนี้เขาเป็นเจ้าของฝูงบิน 18 ลำที่บุกเบิกเส้นทางวัฒนธรรม และธรรมชาติใหม่แห่งเอเชีย และนำมาเป็น “โปรดักส์” ที่ไม่เหมือนใครอวดสายตาชาวโลก พร้อมกับวางยุทธศาสตร์การเป็นเจ้าของสนามบินและรุกสู่ธุรกิจการบินอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เป็นผู้นำคนแรกในสังคมธุรกิจไทย ที่ “เสี่ยง” กับธุรกิจการบินมานานกว่า 30 ปี ล้มบ้างยืนบ้างอย่างอดทน ประสบการณ์ที่ได้กลายเป็นแรง “ขับเคลื่อน” สำคัญในการสร้างธุรกิจที่เป็น “คุณค่า” ของเอเชียและสร้างตำนาน “นักสู้” อีกคนหนึ่งของโลกที่น่าสนใจ

“ปี ค.ศ.2007 บางกอกแอร์เวย์สต้องเป็น Be the first to fly ทุกคนจะรู้ว่า ถ้าบินในเอเชียสายการบินแรกที่เขาต้องนึกถึงคือเรา เหมือนกับคุณไปไหนมาไหนในโลก Be the first to know คือ ช่องข่าว CNN”

นายแพทย์ปราเสริฐเริ่มต้นพูดคุยกับ ผู้จัดการ ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มในห้องรับแขกส่วนตัวของเขาบนชั้น 20 อาคารสำนักงานใหญ่ ริมถนนวิภาวดี ภาพลักษณ์ภายนอกดูเหมือนเป็นคนอารมณ์ดี ง่ายๆ สบายๆ แต่ลึกๆ ลงไปนั้น ผู้จัดการ อยากฟันธงว่า สำหรับนักธุรกิจที่ทำงานหนักมาตลอดชีวิตและยังมีงานใหญ่รออยู่เบื้องหน้า อารมณ์เขาคงไม่ปลอดโปร่งทีเดียวนัก

การนัดหมายกับ ผู้จัดการ ที่ต้องเลื่อนออกไปหลายครั้ง เพราะภารกิจที่รัดตัวและคำพูดที่ว่า “ผมต้องบินไม่ต่ำกว่า 200 ไฟลต์ต่อปี” ได้สะท้อนไปถึงองค์กรเช่นกันว่า ผู้บริหารระดับสูงวัย 72 ปี คนนี้ยังคงมีบทบาทอย่างมากในการทำงาน ถึงแม้งานหลายอย่างมีระดับรองผู้อำนวยการใหญ่ช่วยอยู่หลายคนก็ตามที โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สกำลังมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

การเข้าไปประมูล 3 งานใหญ่ด้านแอร์พอร์ตเซอร์วิสในสนามบินสุรรณภูมิ เป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งที่เขาวางไว้อย่างน่าสนใจ

ตลอดเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจหลักด้านแอร์ไลน์ได้ขยายเส้นทางบินใหม่ๆ ให้ครอบคลุมมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้จากไทย ไปลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน พม่า ในเส้นทางบินที่แตกต่างจากสายการบินอื่นๆ

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บางกอกแอร์เวย์สได้รับใบอนุญาตจากกรมการบินพาณิชย์ เป็นสายการบินที่รัฐบาลแห่งชาติกำหนดให้สามารถบินเข้าไปในประเทศอินเดียได้

ก่อนหน้านั้นไม่กี่วันนายแพทย์ปราเสริฐได้ชวนวัลลีย์ผู้เป็นภรรยา และลูกสาว 2 คน สมฤทัย และอาริญา พร้อม ทีมงานส่วนหนึ่งไปยังเมืองกูวาฮาติ แคว้นอัสสัม ประเทศอินเดียตอนเหนือ ตามคำเชิญจากนักธุรกิจชาวไทยอาหม โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่อุทยานแห่งชาติคาซิรังก้า ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ.1985

แคว้นอัสสัมคืออีกเป้าหมายหนึ่ง ที่อาจจะเป็นเส้นทางการบินใหม่ในอนาคต ถึงแม้นายแพทย์ปราเสริฐบอกว่าคงต้องรอเวลา เพราะยัง “ดิบ” อยู่มาก แต่ได้สะท้อนถึงวิธีคิด และ positioning ที่ชัดเจนของเขาในการบุกเบิกดินแดนใหม่ๆ ในเอเชียสู่สายตาชาวโลก

อย่างไรก็ตาม ภายในปีนี้บางกอกแอร์เวย์สสามารถเปิดเส้นทางบินในอินเดียได้อย่างแน่นอน ใน 2 เมือง จาก 5 เมืองใหญ่ที่กำลังคัดเลือกคือนิวเดลี กัลกัตตา เชนไน มุมไบ และบังกาลอร์

“จุดขายของเราคือไปเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น หรือมองเห็นแล้ว แต่ทำไม่ได้ ด้วยเงื่อนไขความใหญ่ขององค์กรหรืออะไรก็แล้วแต่ จากนั้นไปแต่งตัวให้มีราคา ทำสัญญาระยะยาวไว้ เป็นการเอาเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไนออกมาขาย” นายแพทย์ปราเสริฐอธิบาย โดยไม่ได้บอกต่อว่าแต่ละเส้นทางในแนวคิดนี้ กว่าจะทำกำไรได้ต้องใช้เวลายาวนานในการคืนทุน

ที่สำคัญต้องใช้เม็ดเงินก้อนใหญ่หว่านลงไปเพื่อโปรโมตให้คนรู้จัก และมั่นใจว่าสวยงามน่าเที่ยว ปลอดภัย และยังต้องไปพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานร่วมกับเจ้าของประเทศ หานักลงทุนเข้าไปสร้างที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพิ่มขึ้น

แต่ดูเหมือนว่าการเปิดดินแดนใหม่ๆ ให้โลกรู้จัก ได้สร้างความเจริญเข้าไปในเมืองเล็กๆ ของประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่เขาภูมิใจ แลกกับการรอคอยเม็ดเงินกำไรที่ได้มาบางแห่งเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์

เส้นทางกรุงเทพ-เชียงรุ้ง เมืองแห่งอรุณรุ่งของมณฑลยูนนานของจีนตอนใต้ และซีอาน เมืองมรดกโลก จุดเริ่มต้นของการเดินทางตามเส้นทางสายไหมในประเทศจีน ดูเหมือนจะเป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่ง (อ่านเพิ่มเติมในล้อมกรอบ “นักสู้แห่งเอเชีย”)

ปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สมีเส้นทางบินทั้งหมด 18 เส้นทาง ปลายเดือนมีนาคมได้เปิดเส้นทางบินเชียงใหม่-สมุย ถัดไปวันที่ 22 เมษายน เปิดเส้นทางบินสมุย-ฮ่องกง ปลายเดือนเมษายน เปิดเส้นทางกรุงเทพ-หางโจว เดือนกรกฎาคม เปิดเส้นทางสมุย-กัวลาลัมเปอร์ แล้วภายในปีนี้เช่นกันที่จะเปิดเส้นทางใหม่กรุงเทพ-พุกาม พร้อมๆ กับเพิ่มไฟลต์ในเส้นทางเชียงใหม่-เชียงรุ้ง

ประมาณครึ่งหนึ่งของเส้นทางทั้งหมดไม่ซ้อนทับกับเส้นทางของการบินไทย และมีหลายเส้นทางเช่นกันที่บางกอกแอร์เวย์สเป็นสายการบินเดียวในโลกที่ได้รับอนุญาตให้บินตรงจากกรุงเทพฯ ได้เลย

สมุย-ฮ่องกง เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่จะดึงผู้โดยสารชาวยุโรปหรืออเมริกาให้เข้ามาเที่ยวสมุย โดยไม่ต้องเสียเวลาต่อเครื่องที่กรุงเทพฯ โดยเครื่องโบอิ้ง 717-200 ขนาด 120 ที่นั่ง เช่นเดียวกับเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-สมุย ที่วางแผนไว้ว่าจะรองรับนักท่องเที่ยวที่มากับสายการบินมาเลเซียที่บินมาจากยุโรปหรือออสเตรเลีย ทั้งกัวลาลัมเปอร์และฮ่องกง กำหนดไว้ที่ 3 ไฟลต์ ใน 1 สัปดาห์

ปีที่แล้วจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดของบางกอกแอร์เวย์สมีประมาณ 1.5 ล้านคน เป็นคนต่างชาติ 93 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นคนไทย ในขณะที่เป้าในปีนี้วางไว้ที่ 2.5 ล้านคน

บางกอกแอร์เวย์สวางจุดขายไว้ 2 ลักษณะที่แตกต่างกันคือ Natural Destination และ Cultural Destination แต่ละแห่งเชื่อมโยงเข้าด้วย 3 สนามบินหลักของตนเอง คือสนามบินสมุย สนามบินในจังหวัดตราด และสนามบินในจังหวัดสุโขทัย สนามบินสมุยและตราด เชื่อมเส้นทางการท่องเที่ยวทางทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันไว้ด้วยกัน เช่น ตราด สมุย ภูเก็ต กระบี่ พัทยา มัลดีฟ ฮ่องกง และมีเส้นทางที่กำลังศึกษาคือ มะริด เกาะเล็กๆ ที่ยังบริสุทธิ์ในประเทศพม่า

“มะริดตอนนี้อยู่ในระหว่างเจรจากับรัฐบาลพม่ารอบใหม่ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่บอกว่าเราต้องหาเส้นทางใหม่ๆ ตลอด”

นอกจากธรรมชาติที่งดงาม นายแพทย์ปราเสริฐเล่าว่า เกาะนี้เป็นแหล่งที่มีกุ้งมังกรขนาดใหญ่มาก เขายังมองข้ามช็อตไปถึงการขนผู้โดยสารออกมาพร้อมกับขนกุ้งสดๆ ออกไปขายในเมืองจีนได้อีกด้วย

ส่วนสนามบินสุโขทัยประตูสู่อารยธรรมโบราณและมรดกโลก (Cultural World Heritage) บินตรงไปสู่เชียงใหม่และหลวงพระบาง

เมื่อปี 2546 บางกอกแอร์เวย์สเคยทำแพ็กเกจ “MEKONG WORLD HERITAGE TOUR” เชื่อม 5 เมืองหลักคือกรุงเทพ-สุโขทัย-หลวงพระบาง-เวียดนาม และนครวัด แต่ปัจจุบันต้องหยุดเส้นทางไว้แค่กรุงเทพ-สุโขทัย-หลวงพระบาง ชั่วคราว หลังจากเกิดโรคซาร์ส ในปีที่ผ่านมา และดูเหมือนเป็นแพ็กเกจทัวร์ที่ต้องใช้ความพยายามต่อไป

ในปี 2546 สถานการณ์ด้านธุรกิจการบินในประเทศเปลี่ยนไป เกิดสายการบินโลว์คอสหลายสายมาทำสงครามราคากันอย่างรุนแรง

บางกอกแอร์เวย์สกระโดดเข้าไปเล่นเกมนี้ด้วยการชูจุดขายที่แตกต่างด้วยคอนเซ็ปต์ “บูติกแอร์ไลน์”

“ปี 2536 คุณหมอได้ให้นโยบายว่า เราน่าจะมาคิดแบรนดิ้งที่ให้เห็นความแตกต่างของเราเองกับสายการบินโลว์คอส ก็เป็นโอกาสดีที่เราจะตอกย้ำความต่างของเรากับผู้โดยสารอีกครั้ง เป็นการอัพเกรดตนเองทำอะไรให้ฉีกออกมาจากโลว์คอส” ม.ล.นันทิกา วรวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ อธิบายเพิ่มเติมกับ ผู้จัดการ

คำว่า บูติกแอร์ไลน์ สายการบินเล็กๆ ที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง กลายเป็นจุดหนึ่งที่นำไปสร้างสีสันด้านการขาย สอดคล้องกับกระแสของตลาดการท่องเที่ยวซึ่งหันมานิยมความเป็นเทรนดี้มากขึ้น

“เกาะสมุย” ทำให้แบรนด์บางกอกแอร์เวย์สเกิดขึ้นอย่างเต็มตัว การเป็นสายการบินเดียวในโลกที่สามารถบินตรง ระหว่างประเทศเข้าสู่นครวัด จนสามารถสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นกับชาวกัมพูชา ทำให้ภาพลักษณ์ของสายการบินนี้เป็นที่ยอมรับของประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะเดียวกันความเป็น “ตัวตน” ของผู้นำองค์กรเองที่ใฝ่รู้ในประวัติความเป็นมาของแต่ละชาติ ศึกษาวิธีคิดของผู้นำ ลงลึกไปถึงไลฟ์สไตล์ของผู้คนในประเทศนั้นๆ อย่างจริงจัง เป็นส่วนประกอบที่น่าจะสำคัญยิ่ง

นายแพทย์ปราเสริฐเลือกใช้กลยุทธ์ของความเป็นเอเชียคือ “จริงใจ” “take มากกว่า give” ซึ่งดูเหมือนง่ายแต่จริงๆ แล้วมีความละเอียดอ่อนหลายอย่างซ่อนเร้นอยู่ข้างใน

“คุณจำไว้เลยว่าคนยิ่งฐานะไม่ดี ยิ่งศักดิ์ศรีเยอะ เขาลำบากกว่าเรามันเป็นปมด้อยของเขา เอเชียหลายชาติเป็นแบบนี้ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากในการเข้าหา ทุกคนเป็นหมดยกเว้นคนญวน ดังนั้นผมคิดว่าใครอยากได้เกียรติ เราก็ต้องให้เกียรติ เขาอยากได้อะไรเราหาไปให้ พาไปเที่ยวเลี้ยงดูปูเสื่อ ส่งอาหารไปให้ทาน ตรงไหนช่วยได้ช่วย ข้อสำคัญต้องจริงใจ เขาก็ยอม รับเราเอง”

การเข้าไปเปิดเส้นทางบินในกัมพูชา พม่า และบางมณฑลของจีน ที่ไม่เคยให้ต่างชาติรายใดเข้าไปมาก่อน สะท้อนให้เห็นจุดเด่นในเรื่องเทคนิคการบริหารความสัมพันธ์ของเขาได้เป็นอย่างดี

จำนวนเส้นทางบินใหม่ปีละ 4-5 เส้นทางใน 2-3 ปีที่ผ่านมาทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวของบางกอกแอร์เวย์สเพิ่มขึ้น จาก 1.2 ล้านคน ในปี 2545 เพิ่มเป็น 1.8 ล้านคน ในปี 2547 และตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้ต้องเพิ่มเป็น 2 ล้านคน ในขณะที่รายได้เพิ่มจาก 4.3 พันล้านบาท ในปี 2545 เป็น 6 พันล้านบาท ในปี 2547 และตั้งเป้าไว้ถึง 8 พันล้านบาท ในปี 2548

ในทางกลับกันหากดูตัวเลขทางด้านกำไรพบว่าเม็ดเงินกำไรที่คืนมาไม่สูงนักในปีที่ผ่านมาจากรายได้ 6,000 ล้านบาท เป็นกำไรเพียง 180 ล้านบาท หรือประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลมาจากต้นทุนในการบริหารและค่าน้ำมันที่สูงขึ้น การพยายามขยายเครือข่ายไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นวิธีคิดที่นายแพทย์ปราเสริฐคิดว่าน่าจะลดความเสี่ยงและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สเป็นเจ้าของ 3 สนามบินในประเทศไทย และได้ก่อตั้ง Siem Reap Airways International ที่ประเทศกัมพูชา ให้บริการเส้นทางและยังเข้าไปเป็นผู้บริหารสนามบินเสียบเรียบแอร์เวย์ ที่มีเส้นทางบินต่อเชื่อมไปถึงประเทศเวียดนาม

จากธุรกิจด้านแอร์ไลน์สู่ธุรกิจแอร์พอร์ต ขยายไปสู่ธุรกิจแอร์พอร์ตเซอร์วิส ด้วยการเข้าไปประมูลงานในสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปีที่ผ่านมา

เป็น 3 เสาหลักที่ทำให้บางกอกแอร์เวย์สแข็งแรงขึ้น และยังมีช่องทางอื่นๆ ที่จะต่อยอดออกไปได้เรื่อยๆ (ดูแผนภูมิประกอบ) นายแพทย์ปราเสริฐอธิบายวิธีคิดเรื่องแอร์พอร์ตเซอร์วิสว่า เป็นกิจการที่ทั่วโลกไม่เคยขาดทุน และการบริหารแอร์พอร์ต กำไรโดยเฉลี่ยจะสูงกว่าแอร์ไลน์ เขายกตัวอย่างว่าการเป็นเจ้าของสถานีขนส่งสามารถทำเงินได้ดีกว่าการไปเป็นเจ้าของบริษัทรถโดยสาร เพราะภายในสถานีสามารถทำเป็นร้านขายของให้เช่า และขายป้ายโฆษณา ซึ่งกำไรดีกว่ามาก

“จากประสบการณ์ของเรา เรารู้ว่าแอร์ไลน์อย่างเดียวอยู่ไม่ได้เหมือนบ้านเสาเดียวพายุมาทีล้มแน่นอน ผมเลยไปทำแอร์พอร์ต แต่แอร์พอร์ตก็จะใช้เงินลงทุนเยอะ ใช้เทคนิคมาก แต่เป็นเรื่องจำเป็น เมื่อการบินไทยตามมา เราก็ต้องทำแอร์พอร์ตไปเรื่อย”

อย่างไรก็ตาม สนามบินที่ตราดและสุโขทัยก็ยังไม่น่าจะทำรายได้ดีนักเป็นการลงทุนอีกตัวหนึ่งที่นายแพทย์ปราเสริฐกำลังรออย่างอดทน ในขณะที่สนามบินสมุยเป็นบุญเก่าที่ทยอยทำกำไรอย่างต่อเนื่อง

“สุโขทัยเป็นสนามบินในฝัน ท่านต้องการให้เห็นว่าสนามบินไม่ใช่แหล่งชอปปิ้งอย่างเดียว แต่เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมได้ด้วย เป็นนางเอกของแม่โขง เวิลด์เฮอริเทจ ที่จะเชื่อมกับเมืองวัฒนธรรมอื่นๆ ของเอเชีย แต่ตอนนี้ยังไม่สมบูรณ์ตามที่ท่านฝัน” แหล่งข่าวจากสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เล่าให้ฟัง

ปัจจุบันโรงแรมที่สุโขทัยของบริษัทบางกอกแอร์เวย์สกำลังเร่งการก่อสร้างเพื่อเปิดให้ทันเทศกาลลอยกระทงในปีนี้ ซึ่งการสร้างที่พักเป็นส่วนหนึ่งที่น่าจะดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในจังหวัดนี้เพิ่มขึ้น

การก้าวเข้าไปประมูลงานในสุวรรณภูมิ เพื่อสร้างรายได้ใหม่จึงมีความหมายแต่ต้องรอเวลาเช่นกัน เพราะในระยะแรกต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้าง 3 โปรเจ็กต์ใหญ่ โดยครั้งนี้เป็นการลงทุนด้วยการตั้งเป็นบริษัทใหม่ 3 บริษัทคือ บริษัท Bangkok Flight Services โดยร่วมทุน กับบริษัท WFS จากประเทศฝรั่งเศส ในสัดส่วนการลงทุน WFS 51% บางกอกแอร์เวย์ส 49% บริษัท BFS Ground บางกอกแอร์เวย์สถือหุ้น 47% และบริษัท Bangkok Air Catering บางกอกแอร์เวย์สถือหุ้น 33% ที่เหลือเป็นสนามบินซีอานที่จีน 34% และบริษัทอื่นๆ อีก 33%

อีกไม่นานเมื่อสนามบินสุวรรณภูมิเปิดบริการ บริษัทในเครือของบางกอกแอร์เวย์สก็จะมีโอกาสแสดงศักยภาพของการบริหารคลังสินค้าที่ทันสมัย การบริการภาคพื้นดินที่ต้องอาศัยความรวดเร็ว และความเป็นมืออาชีพในเรื่องครัวการบิน

ธนาคารกรุงไทยคือผู้สนับสนุนหลักของโครงการนี้ ในขณะเดียวกันบางกอกแอร์เวย์สจำเป็นต้องมีเม็ดเงินก้อนใหญ่เพื่อรองรับองค์กรที่กำลังโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

แผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ บล.ภัทร ที่ปรึกษากำลังเร่งศึกษาแนวทางอย่างเร่งด่วน ซึ่งความพร้อมไม่น่าจะใช้เวลาเกินปีนี้

เรื่องนี้ไม่ว่านายแพทย์ปราเสริฐจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าเป็นหนทางที่ปฏิเสธไม่ได้เสียแล้ว เพราะบริษัทจะต้องโตและเขาไม่สามารถจะผูกติดกับองค์กรนี้ไปตลอด วิธีการเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นหนทางหนึ่งที่เขามองว่าได้สร้างความมั่นคงให้คนรุ่นหลัง

อย่างไรก็ตาม รายได้ของบริษัทมีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นตลอด ตั้งแต่ปี 2538 ตัวเลขขาดทุนสะสมประมาณ 200 ล้านบาทที่ต่อเนื่องมาจากปีที่มีสงครามอ่าวเปอร์เซีย และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็สามารถชำระได้หมดในปีนั้น

“กำไรสะสมในส่วนนั้น คุณหมอไม่ได้เอากลับบ้าน ไม่ได้เอาเข้ากระเป๋า มีปันผลจริง แต่เอากลับไปเพิ่มทุนทันที ดังนั้นเงินทุนจดทะเบียนของเราตอนนี้ ยืนอยู่ที่ 1,040 ล้านบาท และในเดือนพฤษภาคมนี้จะเพิ่มทุนเป็น 1,200 ล้านบาท สัดส่วนหนี้สินต่อทุนจะเป็น 1 ต่อ 2” ธวัชวงศ์ ธะนะสุมิต รองผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการเงินให้ตัวเลขยืนยัน

ปัจจุบันบริษัทการบินกรุงเทพ นายแพทย์ปราเสริฐถือหุ้นอยู่ 93 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นหุ้นที่ถือโดยโรงพยาบาลกรุงเทพ และผู้บริหารท่านอื่นๆ

ส่วนทรัพย์สินของบริษัทมีประมาณ 14,000 ล้านบาท หลักๆ คือ ตัวเครื่องบิน ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องบินแบบ ATR 10 ลำ และโบอิ้ง 717-200 ขนาด 125 ที่นั่ง อีก 4 ลำและเครื่องแอร์บัส 320 อีก 2 ลำ โดยในปีนี้มีแผนที่จะนำแอร์บัส 320 เพิ่ม อีก 2 ลำ และ 717-200 อีก 1 ลำ มีสนามบิน 3 แห่งที่ประกอบไปด้วยที่ดินประมาณ 3,000 ไร่ ตัวอาคารบางกอกแอร์เวย์ส บนถนนวิภาวดี และที่ดินด้านหลังอีกประมาณไร่ครึ่งที่เพิ่งซื้อมาสดๆ ร้อนๆ เตรียมไว้สำหรับการขยายงานบริษัทในเครือโรงแรมสมุย ปาล์มบีช และโรงแรมนาราการ์เด้น ที่สมุย โรงซ่อมบำรุงที่ดอนเมือง ที่ดินซึ่งเตรียมไว้สร้างสำนักงานแห่งใหม่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งสินทรัพย์ที่หลายคนอาจมองไม่เห็นคือเครื่องยนต์สำรองของเครื่องบิน ซึ่งคิดเป็นเงินรวมหลายร้อยล้านบาท

นายแพทย์ปราเสริฐอธิบายเพิ่มเติมว่า การทำธุรกิจของเขาแบ่งออกเป็น 3 เฟส เหมือนการเติบโตของมนุษย์ ที่ระยะแรกมีพัฒนาของการคลาน นั่ง และยืน ระยะที่ 2 เริ่มวิ่งได้ แต่ต้องไม่เร็วนัก และระยะที่ 3 ต้องไปแข่งกับคนอื่นได้ในโลก

“ขณะนี้เรายังอยู่ในเฟสกลาง คือต้นทุนของยุโรปกับอเมริกามันถูกมาก ยังไงเสียเรื่องไฮเทคจริงๆ เราสู้เขาไม่ได้ นี่คือข้อเสียเปรียบแต่เราได้แรงงานถูก เฟส 3 คงไปถึงได้ยาก อย่างการบินไทยก็ยังห่างจากสายการบินดีๆ อื่นๆ ในโลก ทั้งๆ ที่สมัยหนึ่งเคยอยู่ในระดับต้นๆ มันมีปัญหาเรื่องการพัฒนาบุคลากร เรื่องคนเป็นเรื่องใหญ่ คนไทยบริหารยาก ทำอย่างไรให้ได้คนดีมา แล้วทำให้เขารักเรา แล้วเราคุมค่าใช้จ่ายให้ได้ ถ้าเราสร้างองค์กรใหญ่ๆ แล้วมีคนออกสัก 2-3 คน เราก็แย่”

นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ รู้ตัวดีว่า “ความใหญ่อาจเป็นอันตราย” การสร้างทีมงานที่แข็งแกร่ง และสามารถรับไม้ต่อจากเขาพร้อมวิ่งไปข้างหน้าได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us