ยุโรปกำลังเนื้อหอมในฐานะสนามแข่งใหม่ของกระแสการควบรวมกิจการของโลก
Wind เป็นบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหญ่อันดับ 3 ของอิตาลี ในเครือของ Enel บริษัทไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของอิตาลี ซึ่งเห็นว่า การก่อตั้ง Wind เป็นผลมาจากนโยบายการกระจายธุรกิจที่ผิดพลาดของตน จึงดำริที่จะขาย Wind ผ่านการเสนอขายหุ้นครั้งแรกต่อสาธารณชน (IPO)
แต่ Blackstone Group ซึ่งเป็นกองทุนประเภท private equity ได้เสนอซื้อ Wind ในเดือนกุมภาพันธ์ ด้วยมูลค่าที่สูงจนบริษัทต่างๆ ในยุโรปด้วยกันต้องอิจฉา
Blackstone เสนอซื้อ Wind ด้วยเงิน 16,600 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูง เป็นอันดับสองรองจากการซื้อ RJR Nabisco มูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์ในปี 1988 และจะซื้อด้วยการทำ LBO โดย Blackstone คาดว่า ตนจะควักประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ ส่วนที่เหลือจะชักชวนนักลงทุนอื่นๆ และธนาคารมาเข้าร่วมลงขัน
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า Blackstone กำลังจะต้องเผชิญกับคู่แข่งอีกหลายเจ้า ที่จะมาแย่งซื้อ Wind ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Orascom Telecom จากอียิปต์ ที่มีข่าวแว่วๆ ว่า กำลังเตรียมจะเกทับ Blackstone ด้วยมูลค่าการเสนอซื้อ Wind ที่สูงยิ่งกว่า
จู่ๆ ยุโรปก็ได้กลายเป็นสนามแข่งขันใหม่ของโลก สำหรับบรรดากองทุน private equity กระเป๋าหนักจากอเมริกาไปแล้ว โดยในปีที่แล้ว กองทุนประเภทนี้ได้ เข้าลงทุนในบริษัทยุโรปเป็นมูลค่ารวมถึง 156,000 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 66% เมื่อเทียบกับปี 2000 และมากกว่าครึ่งหนึ่งของข้อตกลงซื้อและควบรวมกิจการในยุโรป ที่เกิดขึ้นในปี 2004 เป็นเงินทุนที่ได้มาจากกองทุน private equity
โดยข้อตกลงที่สร้างความฮือฮาให้แก่วงการก็อย่างเช่น การที่ Clayton, Dubilier & Rice ซื้อ Rexel ผู้ผลิตอุปกรณ์ ไฟฟ้าของฝรั่งเศสด้วยเงิน 4.5 พันล้านดอลลาร์ และ Blackstone ซื้อ New Skies Satellites เป็นมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์
กระแสควบรวมกิจการได้ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมายังฟากยุโรป นอกจากจะเป็นเพราะตลาดสหรัฐฯ กำลังถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ยังเป็นเพราะบริษัทยุโรปกำลังต้องการการเปลี่ยนแปลงไปสู่การมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ล้าหลังสหรัฐฯ ในเรื่องการปรับโครงสร้างบริษัทมานานหลายปี ด้วยเหตุนี้บริษัทน้อยใหญ่ในโลกเก่า ไม่ว่าจะเป็นกิจการเล็กๆ ของครอบครัวไปจนถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ จึงต่างก็อ้าแขนรับกองทุน private equity อย่างเต็มใจ เพื่อให้เข้ามายกเครื่องบริษัททั้งในด้านการเติบโตและรายได้
ผู้เชี่ยวชาญบางคนเริ่มกังวลว่า เงินทุนสดๆ ใหม่ๆจำนวนมหาศาลที่กำลังถาโถมเข้ามาสู่ยุโรป จะทำให้กระแสการควบรวมกิจการในยุโรปร้อนแรงเกินไป โดยจะดันให้ราคาการซื้อกิจการในยุโรปพุ่งพรวดมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุนในอนาคตได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ กลับเห็นว่า กระแสการควบรวมกิจการในยุโรปเพิ่งจะเริ่มตั้งไข่เท่านั้น เนื่องจากยุโรปจะล้าหลังสหรัฐฯ อยู่ประมาณ 10 ปีในด้านที่เกี่ยวกับการปรับปรุงประสิทธิภาพของบริษัท
ในขณะที่กองทุน private equity ระดับยักษ์ใหญ่อย่าง Blackstone, Warburg Pincus, JPMorgan Chase และ Goldman Sachs ต่างเห็นว่ายุโรปซึ่งยังไม่ค่อยมีการควบรวมกิจการมากนัก เป็นเป้าหมายการลงทุนที่หอมหวนกว่าสหรัฐฯ ซึ่งถึงจุดอิ่มตัวไปแล้ว
กล่าวสำหรับ Blackstone จากสหรัฐฯ ผู้หาญกล้าเสนอซื้อ Wind ด้วยเงินก้อนโต ถือเป็นผู้เล่นสำคัญคนหนึ่งในกระแสการควบรวมกิจการในยุโรป มาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 แล้ว และได้ตั้งสำนักงานขึ้นในกรุงลอนดอนในปี 2000 ในปีที่แล้วประมาณครึ่งหนึ่งของธุรกิจที่มีอยู่ทั่วโลกของ Blackstone อยู่ในยุโรป
ด้านกองทุน private equity ระดับ ยักษ์ใหญ่ทุกค่ายของสหรัฐฯ ต่างก็พาเหรด เข้ามาในยุโรปกันหมดแล้ว และแข่งขันกับทุนยุโรปหาซื้อกิจการที่น่าสนใจ
คู่แข่งรายหนึ่งของ Blackstone คือ KKR ได้ตั้งสำนักงานในลอนดอนในปี 1999 และปีที่แล้ว ได้โฉบเอาบริษัทยุโรปไป 5 แห่ง มูลค่ารวม 9.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงบริษัทอย่าง MTU Aero Engines, Dynamit Nobel และ Royal Vendex ส่วนคู่แข่งอีกรายคือ Carlyle Group ซึ่งเปิดสำนักงาน แห่งแรกในยุโรปในปี 1997 ก็กำลังจะเสร็จสิ้นการจัดตั้งกองทุนใหม่ขึ้นในยุโรปซึ่งมีมูลค่า 2.7 พันล้านดอลลาร์
อำนาจของผู้ถือหุ้น
private equity กำลังเร่งให้เกิดการปรับโครงสร้างไปทั่วยุโรปและสนับสนุน วัฒนธรรมผู้ถือหุ้นที่กำลังเพิ่งเริ่มตั้งไข่ของยุโรป ในช่วงเวลาที่ประจวบกับตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในยุโรปกำลังตกอยู่ในอาการกลัวหุ้น IPO ในขณะธนาคารต่างๆ ในยุโรปก็อยู่ในอาการปริวิตกเกินขนาด จนไม่กล้าที่จะปล่อยกู้ให้แก่บริษัทที่กำลังขาดแคลนเงินสด ด้วยเหตุนี้ private equity จึงกลายเป็นอัศวินม้าขาวที่เข้ามาช่วยชุบชีวิตบริษัทยุโรปพอดี ในขณะที่หากย้อนหลังไปเพียง 10 ปีก่อน ผู้บริหารในเยอรมนีไม่เคยคิดที่จะหันไปหา private equity เลยแม้แต่นิดเดียว
แต่ขณะนี้ private equity และอำนาจของผู้ถือหุ้นที่ลงทุนในกองทุนประเภทนี้กำลังแผ่ขยายไปลองชิมลางถึงยุโรปตะวันออกอย่างบัลแกเรีย โรมาเนีย แม้กระทั่งยูเครน ที่อดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต โดยประเทศเหล่านี้กำลังนำรัฐวิสาหกิจที่อุ้ยอ้ายเทอะทะของตนออกประมูลขาย
สำหรับ Wind เป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของบริษัทในยุโรป ที่ private equity เล็งที่จะเข้าไปยกเครื่อง Wind เป็นบริษัทที่เฉื่อยชามาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 1998 โดย Enel และขณะนี้ก็ตามหลังคู่แข่งอย่าง Telecom Italia และ Vodafone Italia โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 19% ในตลาดโทรศัพท์มือถือที่ทำกำไรงามของอิตาลี
แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า เนื่องจากตลาดโทรศัพท์ของอิตาลีเป็นตลาดที่รวมโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้บนเครือข่ายเดียวกัน ทำให้มีโอกาสมากมายที่จะพลิกฟื้น Wind ในช่วงนี้ ซึ่งบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกำลังเป็นตลาดใหม่ ที่เพิ่งเริ่มเติบโตขึ้นในอิตาลี โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่า Wind อาจเสนอบริการที่รวมทุกอย่างทั้งบริการภาพและเสียง โทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตเข้าไว้บนเครือข่ายเดียวกัน
ส่วน Blackstone ซึ่งกำลังเสนอซื้อ Wind หมายมั่นที่จะปรับโครงสร้างและเสนอค่าตอบแทนที่ดีกว่าให้แก่ผู้บริหาร Wind รวมทั้งจะปรับให้ Wind มีความคล่องแคล่วว่องไวและทำกำไรมากขึ้น ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมใหม่ๆ ขึ้นมา
ด้านผู้บริหาร Wind เองก็พยายามจะทำตัวใหม่ให้น่าซื้อ โดยได้ตัดลดค่าใช้จ่ายไป 200 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว และคาดการณ์ว่าบริษัทจะถึงจุดคุ้มทุนในปีนี้ (2005)
ก่อนที่จะปูพรมแดงต้อนรับ private equity อย่างทุกวันนี้ ครั้งหนึ่งบริษัทยุโรปเคยตั้งข้อรังเกียจ private equity ว่า เป็นตัวเขมือบกิจการที่หวังแต่จะเข้ามาฉีกชำแหละบริษัทยุโรปออกเป็นส่วนๆ และขายทิ้งทีละส่วน แต่ปรากฏว่าบริษัทในยุโรปรุ่นแรกๆ ที่ถูกซื้อและควบรวมกิจการไป และถูกปรับโครงสร้างภายใต้การควบคุมของนักลงทุนจากต่างชาติผ่าน private equity กลับแทบไม่มีบริษัทไหนถูกชำแหละเป็นส่วนๆ และขายทิ้งเลย
ตรงข้าม private equity กลับช่วยให้บริษัทเหล่านั้นเติบโตและเพิ่มการจ้างงาน อย่างเช่น Wincor Nixdorf ซึ่งถูก KKR ซื้อไปในปี 1999 เดี๋ยวนี้กลายเป็นบริษัทที่สามารถสร้างงานในเยอรมนีได้มากเป็นอันดับ 8 ในช่วงระหว่างปี 2000-2005
ในขณะที่กองทุน GIMV ซึ่งมีฐานอยู่ในเมือง Antwerp ได้เปลี่ยนให้ Gaelan ผู้ผลิตกรอบหน้าต่างและเป็นกิจการขนาดเล็กแบบครอบครัวในอดีตเยอรมนีตะวันออก กลายเป็นบริษัทรายใหญ่ในยุโรปกลางภายในเวลาเพียง 3 ปี โดยสามารถเพิ่มยอดขายได้ถึง 56% เป็น 160 ล้านดอลลาร์ และทำให้กองทุนได้รับ ผลตอบแทนการลงทุนมากกว่าเท่าตัว ส่วน การจ้างงานใน Gaelan ก็เพิ่มขึ้นจาก 530 ตำแหน่งเป็น 760 ตำแหน่ง
แล้วกระแสควบรวมกิจการที่กำลัง ร้อนแรงในยุโรปนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ในขณะที่กองทุน private equity กองใหม่ๆ ซึ่งนับวันจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กำลังไล่ล่าซื้อกิจการที่มีอยู่จำกัด ซึ่งทำให้เกิดความวิตกว่า จะเกิดสงครามแย่งชิงบริษัท ยุโรป ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนลดลงในอนาคต อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยในขณะนี้ก็ยังไม่มีสัญญาณใดๆ เลยที่จะบ่งชี้ว่า สายธารเงินทุนของ private equity จะเหือดแห้งไปในเร็ววัน
แปลและเรียบเรียงจาก
BusinessWeek March 7, 2005
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
|