Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2548








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2548
เมื่อคนไทยคิดจะไปเยือน "เสียมเรียบ"             
โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
 





สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส สายการบินเดียวของไทยที่เดินทางไปยังเมืองเสียมเรียบ หรือที่รู้จักกันในชื่อเสียมราฐและนครอังกอร์ ประเทศกัมพูชา ลงจอดยังสนามบินขนาดย่อมของเสียมเรียบ โดยใช้เวลาเพียง 35 นาที น่าใจหายสำหรับการเดินทางข้ามประเทศด้วยเวลาไม่ถึงชั่วโมง เทียบกับเดินทางไปยังบางจังหวัดของไทย ยังใช้เวลามากกว่านี้ด้วยซ้ำ

แถมก่อนเดินทางผู้เขียนและเพื่อนร่วมเดินทางหลายคนยังเผลอไปรอขึ้นเครื่อง ณ อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ความรู้สึกของการเดินทางในครั้งนี้จึงเปรียบได้กับการเดินทางมายังจังหวัดในแถบภาค ตะวันออกเฉียงเหนือของไทย อะไรก็ไม่ปาน อาจจะแตกต่างก็ตรงที่ผู้เขียนเองเพิ่ง จะมีโอกาสได้เดินทางมาเยือนเสียมเรียบ เป็นหนแรก จึงรู้สึกตื่นเต้นกว่าคนอื่นที่เคยเดินทางมาแล้วหลายหน

"สุเพียบ" หรือเรียกตามภาษาไทย ว่า "สุภาพ" ไกด์หนุ่มวัย 33 ปี ตาสีน้ำตาล เข้ม พูดภาษาไทยสำเนียงแปร่งๆ จับความได้ลำบาก เหมือนกำลังนั่งฟังชาวต่างชาติฝั่งยุโรปพูดภาษาไทยอยู่ รับหน้าที่ เป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวของการเดินทางทั้งหมดให้กับลูกทีม

น่าแปลกไม่น้อยที่เราเองกลับรู้สึกว่า ไกด์หนุ่มคนนี้น่าจะพูดภาษาอังกฤษได้เก่งกว่าภาษาไทยเป็นแน่ เพราะขนาด ทำอาชีพเป็นไกด์ในกัมพูชาได้ก็คงได้รับการฝึกฝนมาจนเก่งเอาการ ที่สำคัญสำเนียงออกเสียงภาษาอังกฤษชัดถ้อยชัดคำ สละสลวยจนคนไทยอย่างเราที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษสักเท่าไรก็อายแทบม้วนเสื่อกลับบ้านเอาเหมือนกัน

สุเพียบยอมรับว่า คนกัมพูชาส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา หากต้องการงานทำหลังเรียนจบ สิ่งที่ต้องเรียนรู้หลักๆ ก็คือการเรียนภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ให้พอสื่อสารได้บ้าง เพราะสภาพเศรษฐกิจ ของกัมพูชานั้นแตกต่างจากหลายปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด

กัมพูชา หรือ Cambodia ได้ผ่าน พ้นการเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ยาวนาน กว่า 93 ปี ผ่านพ้นช่วงของการมีปัญหาภายในประเทศถึง 3 ทศวรรษ ก่อนมีการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในปี 1993 เป็น ประเทศที่มีนายกรัฐมนตรีถึง 2 คนช่วยกันบริหารประเทศ มีกรุงพนมเปญเป็นเมืองหลวงของประเทศ

เมื่อเทียบกับไทยแล้วประชากรของ กัมพูชาน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด นับจนถึงปัจจุบันมีประชากรเพียง 13 ล้านคนเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นช่วงวัยกลางคนและเด็ก ขณะที่คนสูงอายุนั้นแทบจะไม่หลงเหลือ เนื่องจากพิษสงครามกวาดล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งเป็นเสมือนแผลในใจของคนที่นี่มาโดยตลอด

ออกจะไม่แปลกใจเท่าไรนัก ที่เราพบว่า ทางหลวงของเสียมเรียบ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญที่สุดของกัมพูชา เนื่องจากเป็นสถานที่ตั้งของปราสาทมากมาย ทั้งนครวัด นครธม ตาพรหม และบายน กลับไม่ได้มีสี่เลนเหมือนอย่างเมืองท่องเที่ยวของบ้านเรา

ไกด์บอกว่าที่กัมพูชาประชากรกว่าร้อยละ 84 อยู่ในชนบท ที่เหลืออยู่ในเมือง ที่สำคัญกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ยังไม่มีสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญอย่างน้ำ และไฟฟ้าให้ใช้กันเลย นั่นหมายถึงมีเพียง 30 คนใน 100 คนเท่านั้นที่ทุกวันนี้มีน้ำใช้ และไฟฟ้าเข้าถึง

แม้ถนนเส้นที่ติดกับสนามบินจะมีโรงแรมขนาดน้อยใหญ่ผุดขึ้นมาอย่างกับดอกเห็ด จนผู้ไปเยือนอย่างเรายังอดแปลก ใจไม่ได้ว่า ทำไมโรงแรมถึงได้มากมายขนาดนี้ แต่โรงแรมส่วนใหญ่ก็ยังต้องขุดเจาะน้ำบาดาล และมีที่กรองเพื่อใช้กันเองภายในโรงแรม ระบบประปาคือสิ่งที่ใครก็ยังเข้าไม่ถึง

แม้คนส่วนใหญ่ที่นี่จะทำการเกษตร จำพวกไร่ถั่ว สวนยาง นาข้าว แต่ สินค้าส่งออกที่ทำเงินได้สูงสุดให้กับกัมพูชากลับเป็น "ผ้า" ว่ากันว่า ผ้าใหม่ในปี 2003 สร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่า 700 ล้านดอลลาร์ และปี 2004 น่าจะมากถึง 1,000 ล้านดอลลาร์กันเลยทีเดียว

อีกหนึ่งรายได้ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในยุคหลังๆ ก็คือ รายได้ จากการท่องเที่ยว เนื่องจากกัมพูชา โดยเฉพาะเสียมเรียบ อย่างที่บอกถือเป็นเมืองวัฒนธรรม เก่าแก่ที่ต่างชาตินิยมชมชอบเป็นอย่างมาก และกลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่ประเทศในแถบอเมริกา และยุโรปนิยมใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์กันหลายเรื่อง

นี่เองทำให้คนรุ่นใหม่ของกัมพูชาต้องขวนขวายหาความรู้ทางภาษาติดตัวเพื่อเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพให้กับตนและครอบครัว เพราะค่าแรงที่ได้จากการทำงาน กับบริษัทต่างชาติ เมื่อเทียบกับรายได้จาก การทำการเกษตรแล้ว ก็คงไม่ต่างอะไรกับ บ้านเรามากนัก อย่างน้อยก็เป็นการลงแรง ที่ไม่เหนื่อยมากและได้ผลตอบแทนคุ้มค่า

ยิ่งธุรกิจส่วนใหญ่ทั้งโรงแรม และร้านอาหาร ส่วนใหญ่เป็นคนไทย และต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ก็ยิ่งทำให้การสื่อสารในกัมพูชาจึงไม่ยากสำหรับคนไทยอย่างเรามากนัก พนักงานโรงแรมสามารถพูดไทยได้เล็กน้อย พอสื่อสารให้ได้ข้าวกิน หรือเข้าห้องน้ำได้อย่างสบาย เช่นเดียวกันกับการสื่อสารด้วย ภาษาอังกฤษซึ่งพนักงานก็ถูกฝึกให้สื่อสาร กับแขกได้อยู่แล้ว

สุเพียบ ไกด์ของเรายังพูดปนหัวเราะว่า "ผมว่าคนแถบสุรินทร์ของไทยหากมาท่องเที่ยวในเขมร ไม่เพียงแต่สื่อสารได้สบายนะครับ แต่ยังเดินเข้าออกปราสาทหลายๆ องค์ได้สบาย โดยไม่เสียเงินค่าเข้าเลยครับ"

คนไทยยังได้เปรียบกว่าชาติอื่นๆ ก็ตรงที่เดินทางเข้าไปเที่ยวในกัมพูชาได้โดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงินตราให้เป็นสกุลเงินของกัมพูชา หรือแลกเป็นดอลลาร์ เนื่องจากที่นี่รับเงินไทยได้ทุกรูปแบบ ยกเว้น เหรียญกษาปณ์เหมือนกันกับทุกที่ที่แลกคืน ไม่ได้ โดยเฉพาะธนบัตรฉบับละ 20 บาท ที่เป็นที่นิยมตั้งราคาไว้เบื้องต้นที่ 20 บาทเสียส่วนใหญ่

พักหลังมานี้ สุเพียบบอกว่าคนไทย ก็มีเข้ามาเที่ยวมากพอควร แต่ให้เทียบแล้ว เกาหลี และญี่ปุ่น เริ่มเข้ามามากขึ้นตามลำดับ ถึงขนาดร้านอาหาร และร้านค้าบางแห่งผุดขึ้นมาเพื่อเอาใจเฉพาะแขกจาก แถบประเทศนี้โดยเฉพาะก็มากอยู่ไม่น้อย ไม่รวมกับคนจากฝรั่งเศสที่เข้ามาดูอารยธรรมที่นี่มากมายไม่แพ้กับประเทศอื่นๆ เลยทีเดียว

สังเกตไม่ยากนัก ตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญเราพบคนเกาหลี ญี่ปุ่น และ ฝรั่งเศสมากมาย หน้าตา สำเนียงภาษาและเครื่องแต่งกาย เป็นเครื่องบ่งบอกได้ไม่ยากนัก สำหรับคนเหล่านี้

วัฒนธรรมของไทยเองยังส่งผลไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อย่างกัมพูชาไม่น้อย เพลงฮิตที่เปิดกันในดิสโก้เธคยามค่ำคืนที่เราไปเยือน เป็นเพลงที่เราเคยนิยมกันอย่างมากเมื่อสิบปีก่อน หลายเพลงทำนองคุ้นหูจนน่าจะบอกได้ว่าเป็นชื่อเพลงอะไร เพียงแต่เนื้อเพลงถูกเปลี่ยนเป็นภาษาท้องถิ่นจนเราเองก็เดาไม่ออกว่าความหมายจะเหมือนกับที่เคยได้ยินก่อนหน้านี้หรือไม่

สินค้าอุปโภคบริโภคที่มาจากไทย โดยที่ยังมีภาษาไทยติดอยู่หน้าห่อ หรือหน้าแพ็กเกจวางขายไปทั่วเมือง ยังนึกว่าคนกัมพูชาจะรู้จักชื่อแบรนด์ ไหม หรือว่าเดาเอาจากแพ็กเกจเหมือนเรา บางครั้งที่ไปต่างบ้านต่างเมืองและอ่าน ภาษานั้นไม่ออก

หากให้เปรียบเสียมเรียบในวันนี้คงไม่ต่างอะไรกับเมืองไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน ถนนยังไม่เจริญ บ้านเรือนยังไม่เจริญเอาเสียเลย ยกเว้นในรั้วโรงแรมห้าดาวที่มีอยู่มากมายตรงกลางใจเมือง ผู้คนส่วนใหญ่ยังยากจน แม้ความช่วยเหลือจากหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา จะหลั่งไหลเข้ามาตลอดเวลาก็ตาม แต่ปัญหาใหญ่หลวงก็คือ การคอร์รัปชั่นที่อยู่ที่ไหนประชาชนก็ตกที่นั่งลำบากทุกที่ไป

เราคนไทยในสายตาของคนกัมพูชา อาจจะเป็นผู้เข้าไปรุกรานในยามอดีต แม้เราจะเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่ได้ แต่วันนี้เราก็ได้ชื่อว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้องที่ไปมาหาสู่กันได้สะดวกกว่าที่เคย มาก กว่านั้นไทยเองก็ใช่จะได้รับการขนานว่าเป็นประเทศที่เจริญแล้วตั้งแต่ต้นเสียเมื่อไร เราเองก็ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาเช่นเดียวกันกับกัมพูชาในอดีต แม้จะมีสถานการณ์ไม่เหมือนกัน และในวันนี้เราเองก็ยังมีปัญหาข้าราชการ และนักการเมือง ที่คอร์รัปชั่นเหมือนกันอย่างหนึ่งที่แก้ไม่ตกสักที...   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us