"กนก" เปิดแผนบริหารการบินไทย เน้นทำรายได้เพิ่มแบบก้าวกระโดดหวังภายใน
5 ปี รายได้แตะ 200,000 ล้านบาทต่อปี
ขณะที่ปฏิเสธตอบคำถามขัดแย้งภายในโดยเฉพาะนักบินระบุเพียงขอเป็นคนถือกระป๋องซีเมนต์อุดรอยกะเทาะ
บิ๊กนักบินเดินหน้าสอบข้อเท็จจริงกลุ่มนักบินต่อต้าน "โกร่ง" ยื่นใบลาออกมีผลทันที
ขณะที่ทักษิณขมเปาะสปิริตดร.โกร่งเยี่ยม วานนี้ (2 พ.ค.) บริษัทการบินไทย
จำกัด (มหาชน) ได้จัดพิธีส่งมอบและรับมอบหน้าที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่(ดีดี)
คนใหม่ให้แก่ นายกนก อภิรดี
โดยนายกอบชัย ศรีวิลาศ กรรมการผู้จัดการฝ่ายซ่อมบำรุงอากาศยานในฐานะรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
โดยมีฝ่าย บริหารและพนักงานระดับผู้อำนวยการร่วมเป็น สักขีพยาน
โดยนายกนกได้กล่าวกับพนักงานว่า ขออนุญาตเข้ามาทำงานที่การบินไทยและเห็นว่าการจะเป็นผู้บริหารที่ดีได้
ไม่ใช่จะต้องทำงานอยู่บนความพร้อมทุกอย่างแต่จะต้องสามารถบริหารและทำงานได้สำเร็จท่ามกลางปัญหาที่มีอยู่
ดังนั้น โจทย์ในการเข้ามาทำงานก็คือ ต้องทำความ
เข้าใจกับพนักงานถึงการบริหารงานการทำงานของตนเอง "ที่ผ่านมาการบินไทยมีปัญหา
โดยเฉพาะตัวประธานที่ท่านเองก็มีบาร มีแต่ที่ท่านพูดอาจจะกระเทือนบ้าง
ผมก็ขอเป็นคนถือกระป๋องซีเมนต์เพื่อเอาไปอุดรอยกะเทาะที่เกิดขึ้น"
นายกนกกล่าว
สำหรับปัญหาความขัดแย้งของพนักงานที่เกิดขึ้นและกรณีที่กลุ่มนักบินออกมาเรียกร้องให้ทบทวนการโยกย้ายและให้นายวีรพงษ์
รามางกูร ประธานคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด) ออกจากตำแหน่งนั้น
นายกนกกล่าว่า วันนี้ขอพูดแต่เรื่องของอนาคตที่สดใสไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว
ขณะที่น.ต.อุดมชัย นันทมานพ รองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการกล่าวว่า
การพิจารณาความผิดของนักบินกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องนั้นเป็นหน้าที่ของดีดี
โดยขณะนี้ ได้มอบหมายให้กัปตันอภินันท์ สุมนเศรณี
ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในฐานะผู้บังคับบัญชาว่าการกระทำของกลุ่มนักบินดังกล่าวมีความผิดหรือไม่
หากพบความผิดก็จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยต่อไป
มั่นใจสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อแผนขายหุ้น นายกนกกล่าวว่า การกระจายหุ้นนั้นมีปัจจัยหลัก
2 เรื่องคือ 1.ความพร้อมของตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นหลักเพราะการบินไทยเป็นตลาดใหญ่
2.แผนระยะยาวที่ดีพอที่จะสร้างความมั่นใจกับผู้ถือหุ้นและนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุน
ส่วนภาพลักษณ์ขององค์กร ความขัดแย้งภายในนั้น หลังจากนี้จะมีแต่การส่งสัญญาณลักษณ์ที่ดีออกไป
ให้ภายนอกรับทราบ เขาย้ำว่าการบินไทยเป็นสายการบินของชาติ ไม่ใช่แค่ของคนเพียง
2.6 หมื่นคน เริ่มต้น จากเงินภาษีโดยพร้อมที่จะเป็นกาวใจให้ความแตกต่างทางแนวคิดประสานกันให้ได้
แต่หากว่าถึงวันหนึ่งที่ต้องตัดสินใจบนความคิดเห็นที่แตกต่างก็ต้องทำ และจะขอยอมรับผลกรรมที่เกิดขึ้นนั้น
ซึ่งวันนี้เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี เพราะไม่มีใครออกมาประท้วงเลย
ตั้งเป้า 5 ปี
รายได้ทะลุ 200,000 ล้านบาท นายกนกกล่าวว่า วางเป้าหมาย ภายใน 5 ปีข้างหน้า
รายได้ของการบินไทยน่าจะก้าวไปอยู่ในระดับ 200,000 ล้านบาท หรือใกล้เคียง
โดยรายได้ปี 2543 ประมาณ
120,000 ล้านบาทและปี 2544 ประมาณ 130,000 ล้านบาทา ซึ่งค่อนข้างมั่นใจ
ว่าทำได้ แต่ขอเวลาในการศึกษาวางแผนที่ดีทั้งนี้ ภายหลังเหตุการณ์ 11 ก.ย.
44 ทุกสายการบินผลประกอบการไม่ดี
แต่การบินไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างน่าประทับใจกว่า สายการบินหลัก ๆ โดยปัจจุบัน
อัตราบรรทุก ผู้โดยสาร ของการบินไทยอยู่ที่ 85% ซึ่งจะต้องบริหารไม่ให้ต่ำกว่านี้
ซึ่งจากนี้ไม่เกิน 15 วัน
น่าจะเปิดเผยตัวเลขผลประกอบการในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา และครึ่งปีหลังก็น่าจะดีขึ้นอีก
ซึ่งสิ่งที่จะเป็นปัจจัยเสริมก็คือ ภาพรวมเศรษฐกิจ ไทยที่ดีขึ้น นอกจากนี้จะต้องทำนโยบายเรื่องหน่วยธุรกิจ
หรือ Business Unit ให้เป็นรูปธรรม ที่ชัดเจนจากปัจจุบันที่ได้มีการแยกหน่วยธุรกิจแล้วแต่ยังไม่เบ็ดเสร็จ
เช่น บางจุดยังแยกบัญชีไม่เสร็จ โดยใน 4 ปี
จะต้องพัฒนาหน่วยธุรกิจแต่ละหน่วยให้มีความแข็งแกร่ง สามารถขยายธุรกิจนั้นได้เต็มศักยภาพ
ซึ่งจะทำให้รายได้รวมเพิ่มขึ้น รวมทั้งเร่งรัดพัฒนาบุคลากร ทั้งแนวตั้ง คือ
การเพิ่มความชำนาญเฉพาะทางให้กับพนักงานในสายงานต่าง ๆ เพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพ
สร้างจริยธรรม นำไปสู่การเป็นบรรษัทภิบาล ส่วนแนวราบคือ
การพัฒนาผู้บริหารตั้งแต่ระดับกลางขึ้นมาให้รู้จักการบริหารงานที่หลากหลายเพื่อพัฒนาไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นได้
ขอศึกษาก่อนเดินหน้าซื้อเครื่องบิน นายกนกกล่าวอีกว่า
ต้องหาวิธีการเพิ่มรายได้ในภาวะที่ยังไม่ได้ลงทุนเพิ่มให้ได้ เช่น การทำระบบตั๋วร่วม
(โค้ดแชร์) ร่วมกับสายการบินอื่น ๆที่บินในเส้นทางเดียวกัน หรือการ ใช้สิทธิจองหรือเช่าที่นั่งในสายการบินอื่น
เป็นต้น
จะเห็นว่ามีหลายแนวทางที่ สามารถเพิ่มรายได้ โดยไม่ต้องเพิ่มที่นั่ง หรือจบลงด้วยการซื้อเครื่องบิน
แต่การซื้อเครื่องบินนั้น มีแนวทาง ที่พิจารณาไว้อยู่แล้ว
แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดต้องศึกษาก่อนว่าที่ผ่านมามีแนวคิดอย่างไร และเชื่อว่าน่าจะมีหลายทางเลือก
เพราะต้องพิจารณาถึงภาพรวมธุรกิจการบินและธุรกิจ ของบริษัทเอง
เพื่อนำไปสรุปสุดท้ายว่าควรมีเครื่องบินเพิ่มจำนวนกี่ลำ การบริหารงานนั้นจะเป็นแบบจนแต่ไม่จน
เช่นการลงทุนอะไรต้องมีวิธีการเพื่อให้ได้ผลมากกว่าเงินที่ลงทุนไปเมื่อเทียบกับคนอื่น
เช่นมีเงินลงทุน
2,000 ล้านจะปรับปรุงเก้าอี้ในเครื่องบินก็ต้องดูว่านอกจากได้ตามข้อเสนอแล้วจะมีอะไรที่เพิ่มขึ้นอีกบ้างซึ่งก็ต้องมาศึกษาว่าผู้โดยสารต้องการอะไรเพิ่ม
ต้องสำรวจให้ แน่ใจ ต้องรู้ใจผู้โดยสารทุกเรื่อง
อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ผู้โดยสารยังจะไม่ได้ อะไร เพราะการลงทุนเรื่องนี้อำนวยความสะดวกดังกล่าวต้องใช้เวลาแม้จะเร่งตัดสินใจวันนี้ก็ต้องรออยู่ดี
ปรับการตลาดเพิ่มคุณค่าแทนตัดราคาตั๋ว เขาเสริมว่า ตัวเลขความสามารถในการ
ทำกำไรของบริษัทอยู่ในระดับ 1.3% ซึ่งยอมรับว่าต่ำ
ดังนั้นคือเหตุผลที่บอกว่าจากนี้ไปจะใช้มาตรการตัดราคาค่าโดยสารอย่างเดียวไม่ได้
ต้องเปลี่ยนมาเพิ่มคุณค่าและลดราคาเพียง เล็กน้อย การทำงานจะก้าวสู่มิติใหม่ซึ่งแนวทางนี้จะทำได้เร็วที่สุด
ส่วนปัญหาเรื่องรั่วไหลของบริษัทนั้น ไม่ทราบว่ามีจริงหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน
แต่หากมีจริง ก็ต้องแก้ไข เพราะนั่นคือปัญหา ซึ่งนับจากนี้ไปจะใช้ดินเข้าหาพนักงาน
เพื่อรับรู้ถึงปัญหาในการทำงาน
และจะหยิบยื่น เกียรติ ศักดิ์ศรี และความสนุกในการทำงานให้พนักงาน "โกร่ง"ยื่นใบลาออกแล้ว
แหล่งข่าวกล่าวว่า เช้าวานนี้ (2 พ.ค.)
นายวีรพงษ์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดและบอร์ดการบินไทย และทุกตำแหน่งที่เป็นบริษัทการบินไทย
ในฐานะที่เป็นประธานบอร์ด โดยหนังสือลาออกลงวันที่ 30 เม.ย. 2545
ต่อนายกนก ตามระเบียบ โดยได้ให้คนสนิทเป็นผู้ยื่นให้ ซึ่งการลาออกดังกล่าว
มีผลบังคับทันที "ทักษิณ"ชม"โกร่ง"ลาออก พ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นถึงปัญหาในบริษัท การบินไทย
จำกัด (มหาชน) ซึ่งนายวีรพงษ์ รามางกูร ได้ขอลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ
ว่า เป็นเรื่องสปิริตของนายวีรพงษ์ เอง ซึ่งความจริงแล้วไม่ต้องลาออกก็ได้
แต่มีความสบายใจที่จะลาออกมากกว่า
และว่า นายวีรพงษ์ได้ทุ่มเทให้การบินไทยมาก เมื่อมีปัญหาขึ้นมาก็ไม่ต้องการให้การบินไทยได้รับผลกระทบ
"ผมได้คุยกับท่านแล้ว ต้องการให้ท่าน อยู่ต่อ
แต่ท่านบอกว่าสบายใจที่จะออกมากกว่าเมื่อออกแล้วก็ต้องเลือกประธานคนใหม่
ส่วนของพนักงานสามารถเสนอเรื่องที่ไม่เห็นด้วย ได้คัดค้านได้แต่ถ้าประท้วงโดยใช้วิธีสไตรก์
เมื่อไร ก็ต้องได้เจอดีกันแน่
เพราะผมรับไม่ได้" นายกรัฐมนตรี กล่าว ด้าน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เวลานี้ยังไม่ได้คุยกับคณะกรรมการการบินไทยว่า
จะมีการเลือกประธานคนใหม่เมื่อใด เวลานี้ก็ให้รองประธานฯ รักษาการไปก่อน
และว่าส่วนตัว ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาภายในการบินไทยเพราะจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ