Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2528








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2528
กรณีศึกษา ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค             
 


   
www resources

Ford Motor Homepage

   
search resources

ฟอร์ด มอเตอร์
Automotive
Ford




ตามหลักศีลธรรมแล้ว ผู้ผลิตควรจะมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ในกรณีที่สินค้าของตนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคและในทางกฎหมายผู้บริโภคก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ผลิตได้ถ้าหากได้รับอันตรายจากการบริโภคสินค้านั้น ผู้ผลิตไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่จะเลี่ยงความรับผิดชอบได้เลย แม้ว่าบางครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นเหตุสุดวิสัยก็ตาม ความรับผิดชอบที่พูดถึงในที่นี้ หมายถึงความรับผิดชอบในแง่ของการชดเชยค่าเสียหาย แต่ไม่ได้หมายถึงความรับผิดชอบที่ผู้บริโภคจะสามารถฟ้องร้องเอาความผิดทางอาชญากรรมแก่ผู้ผลิตได้

สำหรับบ้านเรา ผู้บริโภคไม่มีสิทธิได้อ้าปากร้องขอความเป็นธรรมเท่าไรนัก ถึงแม้จะมีคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ดูเหมือนหน่วยงานของรัฐหน่วยนี้ก็มีเรื่องที่จะต้องสนใจมากกว่าต้องสนใจเรื่องความปลอดภัยของประชาชน แต่สำหรับในสหรัฐอเมริกานั้น แม้ว่ากฎหมายจะคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถเรียกร้องค่าเสียหายชดเชยจากผู้ผลิตได้ทุกกรณีที่เกิดความผิดพลาดเกี่ยวกับการบริโภคสินค้า แต่คนอเมริกันก็ยังไม่พอใจเพียงสิทธิแค่นี้ ยังมีคำถามต่อไปอีกว่า แล้วความผิดอาชญากรรมที่เกิดขึ้นล่ะ จะเอาความผิดจากผู้ผลิตได้หรือไม่ ดังตัวอย่างจากเรื่องต่อไปนี้...

กรณีของรถฟอร์ด ปินโต (Ford Pinto) ใครคืออาชญากร

รถยนต์ซึ่งบริษัทฟอร์ดผลิตขึ้น ส่วนมากจะเป็นรถขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่ามีสมรรถนะสูงในการใช้งาน และมีความปลอดภัยค่อนข้างสูงตามสภาพ ต่อมาในปี 1969 ฟอร์ดได้ผลิตรถยนต์ขนาดเล็กเพื่อแย่งตลาดรถเล็ก และสนองความต้องการของผู้ซื้อ รถยนต์รุ่นนี้เรียกว่า ฟอร์ด ปินโต (Ford Pinto) และเจ้ารถฟอร์ดรุ่นเล็กนี้แหละ ที่สร้างความวุ่นวายให้กับฟอร์ดมอเตอร์คอมปานีมาก ไม่เพียงแต่ได้รับความยุ่งยากใจในการที่ต้องสู้คดีในศาลเพื่อรักษาชื่อเสียงของบริษัทเท่านั้น ยังมีผลส่งให้ยอดขายของบริษัทชะงัก เพราะผู้ใช้รถทั้งหลายเสื่อมศรัทธาและไม่แน่ใจในคุณภาพของรถยนต์ฟอร์ด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟอร์ดมอเตอร์ คอมปานี ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างหนัก เมื่อถูกคณะกรรมการรักษาความปลอดภัยของการจราจรบนท้องถนนหลวง (Nationat Highway Traffic Safety Administration) = NHTSA สั่งให้เรียกเก็บรถยนต์ฟอร์ด ปินโต ทั้งหมดกลับเข้าบริษัท

คดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากรถยนต์ฟอร์ด ปินโต รุ่น 1973 ถูกรถแวนชนท้ายบนถนนหลวงหมายเลข 33 ใกล้ๆ กับเมืองโกเชน (Goshen ) มลรัฐอินเดียนา (Indiana ) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 1978 อุบัติเหตุครั้งนี้ ทำให้เด็กหญิงวัยรุ่น 3 คนในตระกูล อูลริช (Ulrich) ซึ่งมีอายุ 16-18 ปี เสียชีวิตทั้งหมด เนื่องจากถังน้ำมันของรถฟอร์ด ระเบิด ไฟลุกท่วม เด็กทั้งสามจึงถูกเผาทั้งเป็น ก่อให้เกิดความเศร้าสะเทือนใจแก่ผู้คนทั่วไป ญาติของผู้เสียชีวิตได้ยื่นฟ้องต่อศาล กล่าวหาว่า ฟอร์ดมอเตอร์ฯ จะต้องรับผิดชอบทางคดีอาญาในการที่กระทำฆาตกรรมต่อผู้โดยสาร

ความจริงหลังจากที่ผลิตรถยนต์ฟอร์ด ปินโต ออกสู่ตลาดตั้งแต่ปี 1969 เป็นต้นมา ฟอร์ด มอเตอร์ฯ ก็ได้รับวิพากษ์วิจารณ์ว่า ขาดความรับผิดชอบ ปล่อยรถยนต์ที่ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยเพียงพอออกมาสู่ท้องถนน สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไป ที่วงการผู้ใช้รถวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้ก็เนื่องจากรถยนต์รุ่นนี้มีจุดอ่อนที่ถังน้ำมัน แทนที่จะติดตั้งถังน้ำมันที่ส่วนบนของเพลากลับติดไว้ที่ส่วนท้ายของเพลาทำให้เกิดการระเบิดได้ง่ายถ้าถูกชนท้าย

นิตยสารชื่อ มาร์เธอโจนส์ (Mother Jones) ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ (business operation) ได้ลงบทความโจมตีรถยนต์ฟอร์ด ปินโต โดยใช้ชื่อบทความว่า “Pinto Madness” ระบุข้อบกพร่องต่างๆ ของรถยนต์ฟอร์ดรุ่นนี้ว่า...

- ฟอร์ด มอเตอร์ฯ เร่งรีบในการผลิตรถยนต์ ฟอร์ด ปินโต เพื่อแข่งขันกับรถโฟล์คสวาเก้น

(Volkswagen) และมุ่งตีตลาดรถยนต์ขนาดเล็ก

- วิศวกรของฟอร์ดได้ค้นพบก่อนส่งรถออกสู่ท้องตลาดว่า กันชนท้ายของฟอร์ด ปินโต ไม่แข็งแรง ทำให้เมื่อรถถูกชนท้าย ถังน้ำมันจึงถูกกระแทกอย่างแรง เกิดการแตกและระเบิดได้ง่าย อย่างไรก็ตาม แม้วิศวกรจะรายงานข้อบกพร่องนี้ให้คณะกรรมการบริหารทราบ แต่โรงงานผลิตได้เตรียมพร้อมที่จะผลิตรถยนต์ออกสู่ท้องตลาดแล้ว เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงจึงสั่งให้เดินหน้าต่อไปโดยไม่มีการชะงัก เพราะจะทำให้เสียเวลาและสูญเสียโอกาสในการจำหน่าย

- ขณะนั้นยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของรถ ฟอร์ด มอเตอร์ฯ ได้พยายามวิ่งเต้นด้วยการใช้เส้นสายต่างๆ ถ่วงเวลาเพื่อให้มาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยของถังน้ำมันรถยนต์ของรัฐออกมาช้ากว่ากำหนดนานถึง 8 ปี

จากการประเมินอุบัติเหตุที่เกิดกับรถยนต์ฟอร์ด ปินโต นับตั้งแต่ออกสู่ท้องตลาดมา พบว่า ทำให้คนถึง 500 คน เสียชีวิต ความจริงถ้ารถชนเฉยๆ แต่ถังน้ำมันไม่ระเบิด คนพวกนี้จะไม่ต้องเสียชีวิต

- อุบัติเหตุอันเกิดจากการระเบิดของถังน้ำมันนี้ ทำให้ฟอร์ด มอเตอร์ฯ เคยจ่ายเงินค่าเสียหายทดแทนให้แก่ญาติของผู้เสียชีวิตถึง 1 ล้านเหรียญในการประนีประนอมการฟ้องร้องจากศาล ตามคำพิพากษาของศาล และบริษัทยังเคยใช้เงินอีกหลายล้านเหรียญวิ่งเต้นให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติดึงพระราชบัญญัติเกี่ยวกับความปลอดภัยของถังน้ำมันรถยนต์ซึ่งได้มาตรฐานเอาไว้ เพราะบริษัทรู้ดีว่า รถยนต์ฟอร์ด ปินโต นั้น ถังน้ำมันไม่ได้มาตรฐานตามที่ควรจะเป็น

- ระยะแรกของการออกสู่ตลาด ฟอร์ด ปินโต ได้รับความนิยมอย่างสูง ถึงขนาดเป็นรถยนต์ที่ขายดีที่สุดในอเมริกา และมีการผลิตถึง 500,000 คันต่อปี ไม่ต้องพูดหรอกว่าผลกำไรที่บริษัทได้รับมากมายมหาศาลแค่ไหน ต่อมาในปี 1977 ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของ ฟอร์ด ปินโต เล็กน้อย เพื่อปรับให้ได้มาตรฐานตามที่รัฐกำหนดไว้ การกระทำเช่นนี้แสดงว่า ฟอร์ด มอเตอร์ฯ ไม่จริงใจต่อผู้ซื้อ เพราะถ้าจริงใจต่อผู้ซื้อจริง บริษัทน่าจะปรับปรุงส่วนที่ยังด้อยมาตรฐานนี้เสียก่อน แทนที่จะใช้เวลาถึง 8 ปี และก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตอันเกิดจากจุดบกพร่องของรถเป็นร้อยๆ ชีวิต

...หลังจากบทความเรื่อง “Pinto Madness” เผยแพร่ออกไป ความนิยมของฟอร์ด ปินโต ก็เริ่มลดลง ฟอร์ด มอเตอร์ พยายามทุกวิถีทางที่จะแก้ข้อกล่าวหาในบทความนี้ โดยอ้างข้อมูลว่า ในปี 1975 มีคนตายเพราะถูกไฟคลอกตายเนื่องจากรถยนต์ชนกันถึง 848 ราย ในจำนวนนี้มีเพียง 13 รายที่เกิดจากอุบัติเหตุของรถฟอร์ด ปินโต และในปี 1976 มีอุบัติเหตุจากปินโต 22 ราย จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมดในปีนั้น 943 ราย แสดงว่ารถฟอร์ด ปินโต ก่อให้เกิดอุบัติเหตุเพียง 1.9% แสดงว่าปินโตเป็นรถยนต์รุ่นที่มีความปลอดภัย และไม่ปรากฎว่ามีคนถูกไฟคลอกเพราะอุบัติเหตุจากปินโตถึงปีละ 70 คนตามที่บทความเรื่อง “Pinto Madness” อ้าง

อย่างไรก็ตาม มีผู้ร่วมออกโรงวิพากษ์วิจารณ์ ฟอร์ด ปินโต อีกหลายคน เช่น ดร.บอลล์ (Dr.Ball) ข้าราชการบำนาญแห่งคณะกรรมการรักษาความปลอดภัยของการจราจรบนท้องถนนหลวง (NHTSA) ผู้ซึ่งกล่าวว่า

“ฟอร์ด ปินโต เป็นผลผลิตที่อัปลักษณ์และขาดความรับผิดชอบที่สุดในทางวิศวกรรมของสหรัฐ” นอกจากนี้ดร.บอลล์ยังได้ระบุชื่อและรุ่นของรถยุโรป และรถญี่ปุ่นอีก 40 กว่ารุ่น ที่มีราคาเดียวกับฟอร์ด ปินโต แต่มีความปลอดภัยมากกว่า

ไบรอน บลอช (Byron Bloch ) ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของรถยนต์แห่งลอสแองเจลิส (Los Angeles) เป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งกล่าวโจมตีว่า ฟอร์ด ปินโต เป็นผลผลิตที่ขาดความรับผิดชอบ เพราะถังน้ำมันของรถรุ่นนี้ ออกแบบมาบอบบางเกินกว่าที่จะทนแรงกระแทกได้ และเมื่อบวกกับกันชนที่ไม่แข็งแรงพอ ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ดูเหมือนกับว่า จงใจออกแบบมาเพื่อให้ชนแล้วระเบิด!

เมื่อถูกโจมตีหนักๆ เข้า ฝ่ายวิศวกรของฟอร์ด มอเตอร์ฯ ก็พยายามปรับปรุงฟอร์ด ปินโต ในปี 1977 และออกแถลงการณ์ว่า เพื่อให้หมดข้อถกเถียงและความข้องใจ ฟอร์ด ปินโต จึงได้มีการปรับปรุงด้านเทคโนโลยี โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบถังน้ำมันถึงคันละ 11 เหรียญ ซึ่งจะป้องกันการแตกของถังน้ำมันได้ดีขึ้น และนอกจากนี้ยังได้ติดตั้งถุงลมยางที่ด้านในของถังน้ำมันซึ่งทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มถึง 5.08 เหรียญต่อคัน เป็นอันสรุปได้ว่า รถฟอร์ด ปินโต รุ่นปี 1977 เป็นรถที่มีความปลอดภัยสูง

คำแถลงการณ์นี้ช่วยให้ภาพลักษณ์ของ ฟอร์ด ปินโต ในสายตาของสังคมดีขึ้น แต่ถึงกระนั้น มันก็กลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้นิตยสาร มาเธอร์ โจนส์ ซึ่งได้โจมตี ฟอร์ด ปินโต มาแต่ต้น ยกเอาจุดนี้มาโจมตีอย่างหนัก โดยการขุดคุ้ยว่า ความจริงผู้บริหารของฟอร์ด มอเตอร์ฯ รู้จุดอ่อนของฟอร์ด ปินโต รุ่นแรกๆ ดีแต่ก็ดื้อแพ่งปล่อยรถที่มีจุดอ่อนอันเป็นอันตรายต่อท้องถนนออกมาสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนในสังคม นอกจากนี้ยังล้วงลึกไปถึงว่า ฟอร์ด มอเตอร์ฯ ได้ทุ่มเงินจำนวนมากในการใช้เส้นสายในสภานิติบัญญัติให้ “เตะถ่วง” พระราชบัญญัติเรื่องมาตรฐานของถังน้ำมันที่ปลอดภัยของรถยนต์ เอาไว้ถึง 8 ปี ทั้งนี้เพราะรู้ดีว่า ฟอร์ด ปินโต รุ่นแรกๆ ตั้งแต่ปี 1969 เป็นต้นมาไม่ได้มาตรฐาน

“การที่เพิ่งจะมาปรับปรุงจุดอ่อนของรถหลังจากเวลาล่วงเลยมาถึง 8 ปี นั่นย่อมเป็นเครื่องแสดงได้แล้วว่า ฟอร์ดมอเตอร์ฯ มีความจริงใจต่อผู้ใช้รถและสังคมแค่ไหน ?” นิตยสาร มาเธอร์ โจนส์ กล่าวยันย้ำในที่สุด

ถึงแม้ว่าจะมีการโจษขานกันทั่วมุมเมือง เกี่ยวกับคดีการฟ้องร้องของญาติ 3 พี่น้อง ตระกูลอูลริช แต่ในที่สุดของคดี หลังจากที่ฟอร์ด มอเตอร์และทนายความของบริษัท ได้พยายาม “ดิ้นสุดฤทธิ์” เพื่อรักษาชื่อเสียงของบริษัทและภาพลักษณ์ของ ฟอร์ด ปินโต ...ในวันที่ 13 มีนาคม 1980 คณะลูกขุนก็ลงความเห็นต้องกัน ตัดสินว่า บริษัท ฟอร์ด ไม่มีความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมในคดีของพี่น้องตระกูลอูลริช ทั้งนี้เพราะจากพยานหลักฐานซึ่งนำมาพิสูจน์กันในขั้นศาล มีกรณีที่ชี้ชัดได้ว่า อุบัติเหตุครั้งนั้นเกิดจากสภาพของถนนหลวงหมายเลข 33 ซึ่งออกแบบไม่ดี และผู้ขับขี่ (พี่น้องตระกูลอูลริช) หยุดรถกะทันหัน คือจอดส่งคนโดยไม่ให้สัญญาณล่วงหน้า ทำให้รถแวนที่ตามหลังมาด้วยความเร็วถึง 50 ไมล์ต่อชั่วโมง พุ่งเข้าชนท้ายรถฟอร์ด ปินโต อย่างแรง

ทนายของบริษัทกล่าวย้ำว่า ในสภาพการณ์เช่นนั้น ไม่ว่ารถยนต์ยี่ห้อไหน รุ่นไหน ก็ต้องระเบิดทั้งนั้น

การตัดสินของศาล ไม่เพียงแต่ทำให้คณะกรรมการบริหารของฟอร์ด มอเตอร์ฯ ยินดีปรีดาเท่านั้น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์อื่นๆ ก็พลอยถอนใจอย่างโล่งอกไปด้วย เพราะถ้ากรณีอุบัติเหตุครั้งนี้ศาลตัดสินให้ ฟอร์ด มอเตอร์ฯ เป็นฝ่ายแพ้ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ ก็คงจะต้องเตรียมตัวขึ้นศาลกันเป็นแถวๆ และเตรียมดอลลาร์เป็นฟ่อนๆ ไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการนี้ด้วย

แต่ถึงแม้ว่าศาลจะสรุปว่า ฟอร์ด ปินโต เป็นรถยนต์ที่มีความปลอดภัยเพียงพอ และไม่ใช่ต้นเหตุในการก่อคดีฆาตกรรมพี่น้องตระกูลอูลริช แต่หลังจากการตัดสินไม่นาน รถยนต์ฟอร์ด รุ่น ปินโต ก็ถูกคณะกรรมการรักษาความปลอดภัยของการจราจรบนท้องถนนหลวง สั่งให้เก็บกลับคืนบริษัททั้งหมด

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้คนพากันวิพากษ์วิจารณ์ต่อว่า คดีระหว่างพี่น้องตระกูลอูลริชกับฟอร์ด มอเตอร์ฯ นั้นเหมือนกับมนุษย์ตัวกระจ้อยร่อยไปท้าประลองกำลังกับยักษ์ ทำยังไงๆ ก็ต้องแพ้วันยังค่ำ มีการโจษจันกันต่อไปถึงเหตุผลว่า ทำไมฟอร์ด มอเตอร์ ไม่ใส่ถุงลมยางเข้าไปในถังน้ำมันของฟอร์ด ปินโต เสียตั้งแต่รุ่นแรก ทั้งที่เสียค่าใช้จ่ายไม่มากนัก

บางเสียงก็ว่า เพราะความงก และเห็นแก่ได้ของผู้บริหารบริษัทฟอร์ด กลัวว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และเสียจังหวะที่รถจะออกสู่ท้องตลาด แต่ก็มีบางเสียงวิจารณ์ว่า ที่บริษัทไม่กล้าทำอย่างนั้นเสียตั้งแต่แรกเพราะกลัวว่าจะเป็นการชี้จุดอ่อนของรถฟอร์ด ปินโต ให้คนซื้อรู้เสียแต่แรก รถรุ่นนั้นก็จะขายไม่ออก

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายผู้หนึ่ง พยายามจะวิเคราะห์เรื่องนี้ด้วยใจเป็นกลางและตามตัวบทกฎหมาย เขาคือ ศาสตราจารย์ อีฟสเตียน (Epstein) แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก

อีฟสเตียน เล่าว่า ก่อนปี 1966 ผู้ใช้รถที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ในรัฐอินเดียนา ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายแก่ผู้ผลิตรถยนต์ได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุเท่านั้นเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งในทางแพ่งและทางอาญา คือรถคันที่ชนรถของผู้อื่น อาจจะมีความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่งด้วย ถ้าหากเป็นฝ่ายผิด (ตามกฎจราจร) แต่นับตั้งแต่ปี 1968 เป็นต้นมา ได้มีการฟ้องร้องเกี่ยวกับกรณีที่บริษัทผู้ผลิต ผลิตรถที่ไม่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย ซึ่งฝ่ายผู้เสียหายก็จะเรียกร้องได้เพียงค่าชดใช้ในการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน แต่ไม่สามารถเรียกให้บริษัทผู้ผลิตมีความผิดทางอาญาฐานฆ่าคนตาย

อีฟสเตียน ให้ความเห็นว่า กรณี 3 พี่น้องที่เสียชีวิตนี้ ถ้าฟ้องทางแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย คดีอาจจะชนะ เพราะแม้ว่าฟอร์ด มอเตอร์ฯ จะอ้างว่ารถของตนมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยเพียงพอ และรถยนต์ในสหรัฐฯ แทบทุกยี่ห้อต่างก็ติดตั้งถังน้ำมันในจุดเดียวกันกับรถปินโตแทบทั้งสิ้น แต่คณะลูกขุนก็อาจจะพยายามหาข้ออ้างมาจนได้ว่า ฟอร์ด ปินโต มีจุดอ่อนที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ และบริษัทก็รู้จุดอ่อนนี้ จึงได้มีการปรับปรุงรถในรุ่นปี 1977 ดังนั้นบริษัทฟอร์ดก็ควรจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ญาติของผู้เสียชีวิต

เหตุผลที่อีฟสเตียน เชื่อว่า บริษัทผู้ผลิต ฟอร์ด ปินโต ไม่ต้องรับโทษผิดทางอาญาในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตในอุบัติเหตุจาก ฟอร์ด ปินโต ก็เพราะบริษัทไม่ได้จงใจจะสร้างรถให้บกพร่อง เพื่อให้คนได้รับอุบัติเหตุ แต่เป็นความบกพร่องทางการอุตสาหกรรมซึ่งย่อมมีทางเป็นไปได้ อีฟสเตียนได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่า ถ้านายพรานยิงกวาง แต่บังเอิญลูกดอกพลาดไปถูกคนเข้า จะว่านายพรานตั้งใจยิงคนได้อย่างไร

“ถ้าจะตั้งข้อหาว่าผู้ผลิตรถยนต์ฆ่าคนตายด้วยความประมาท ก็ควรจะตั้งข้อหานี้แก่ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เช่นกัน เพราะบริษัท ฟอร์ด ดำเนินการโดยผ่านตัวแทนจำหน่าย สำหรับวิศวกรผู้ออกแบบฟอร์ด ปินโต นั้น อัยการไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาใดแก่เขาเลย นอกจากสอบปากคำ ซึ่งที่ถูกก็ควรเป็นอย่างนั้น เพราะตัววิศวกรเองและครอบครัวของเขา ก็ใช้รถฟอร์ด ปินโต เพราะเชื่อว่ามันมีความปลอดภัยเพียงพอ หากจะมีข้อผิดพลาดใดๆ ทางเทคโนโลยีเกิดขึ้น มันก็ไม่ใช่ความจงใจของวิศวกรแม้แต่น้อย” อีฟสเตียนให้ความเห็น

เรื่องราวอันอื้อฉาวของฟอร์ด ปินโต ยังคงเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันต่อไป และมีคำถามตามมาไม่หยุดยั้ง บ้างก็ว่าทำไมบริษัทฟอร์ดไม่สร้างรถยนต์ให้ได้มาตรฐานมากกว่านี้ เพราะมัวแต่งกอยากได้กำไรมากๆ ใช่ไหม? จริงเท็จแค่ไหนที่ว่ากรรมการฝ่ายบริหารของฟอร์ดยัดเงินเพื่อเตะถ่วง “พระราชบัญญัติเกี่ยวกับมาตรฐานของถังน้ำมันรถยนต์ที่มีความปลอดภัย” เอาไว้ถึง 8 ปี เพื่อให้รถยนต์ ฟอร์ด ปินโตรุ่นแรก ๆ ที่ยังไม่ได้มาตรฐานขายได้หมดเสียก่อน บ้างก็โจมตีว่า บริษัทฟอร์ด ไม่มีความรับผิดชอบ ตีค่าชีวิตมนุษย์ (ผู้ใช้รถ) ต่ำกว่า ค่าของเงินที่จะต้องเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยถ้าทำรถให้ได้มาตรฐานกว่านี้

คนขี้สงสัยบางคนตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าหากบริษัทฟอร์ดมีความผิด ใครล่ะที่เป็นผู้ควรถูกตำหนิ วิศวกร หรือผู้จัดการ หรือควรตำหนิทั้ง 2 คน และสำหรับโทษผิดนี้ การลงโทษเพียงแค่ให้เสียค่าปรับหรือค่าทำขวัญญาติของผู้ตาย เพียงพอแล้วหรือ?

อย่างไรก็ตาม บทเรียนเกี่ยวกับรถฟอร์ด ปินโต นี้ ไม่เพียงแต่ฟอร์ด มอเตอร์ เท่านั้นที่จะต้องจดจำ แต่ผู้ผลิตสินค้าทั้งหลาย ควรจะศึกษาไว้เป็นตัวอย่างด้วย เพราะไม่ว่าจะผิดกฏหมายหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่จะออกมาสู่ผู้บริโภคควรจะได้รับการตรวจตราที่ละเอียดรอบคอบ และพิถีพิถัน มาตรการเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคควรเป็นอันดับแรกที่ผู้ผลิตจะต้องคำนึงถึง เพราะนั่นเป็นจรรยาบรรณที่ท่านควรมีต่อสังคม


คอลัมน์ การจัดการ   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us