Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2528








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2528
คิดในเชิงกลยุทธ์ ศิลปะการดำเนินธุรกิจแบบญี่ปุ่น (ตอน 10)             
โดย ชูเกียรติ กาญจนชาติ
 


   
search resources

Knowledge and Theory




กุญแจแห่งความสำเร็จประการสำคัญในการดำเนินธุรกิจของญี่ปุ่น

การตัดสินในที่มองการณ์ไกลด้วยการวางแผนระยะยาว

ความสำเร็จของบริษัทใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นนั้น ไม่ว่าจะเป็น ฮอนด้า โตโยต้า มัตสุชิตะ (เนชั่นแนล) ฯลฯ นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจที่มองการณ์ไกลว่า โอกาสทางตลาดจะเป็นอย่างไร? ในอนาคต การที่จะกำหนดโอกาส หรือหาความเป็นไปได้ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้นั้น เกิดจากการตั้งสมมุติฐานโดยการใช้เหตุและผลเป็นเครื่องสนับสนุน การตัดสินใจทางธุรกิจโดยมองการณ์ไกลโดยอาศัยเหตุและผลดังกล่าวนี้ มีขั้นตอนสำคัญสำคัญ 5 ประการที่สามารถนำไปใช้เป็นหลักในการบริหารธุรกิจได้เป็นอย่างดี ดังนี้:

1. ไม่ว่าเราจะดำเนินธุรกิจอะไรก็ตาม เราจะต้องสามารถให้คำจำกัดความหรือกำหนดขอบเขตของธุรกิจนั้นๆ ให้แน่ชัด

นักบริหารธุรกิจของญี่ปุ่นจะเน้นหลักในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในองค์กรให้มีประโยชน์ที่สุด ดังนั้นวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายทางธุรกิจของบริษัทจะต้องกำหนดให้ชัดว่าเรามีขอบเขตของธุรกิจที่เด่นชัดอย่างไร? เพื่อให้การทุ่มเทหรือทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้ใช้เพื่อให้เกิดผลสำเร็จสูงสุดเป็นเรื่องๆ ไป เช่น

(ก) ไม่กำหนดขอบเขตหรือประเภทสินค้าให้แคบจนเกินไป แต่กำหนดให้กว้างและชัดเจน ตามความสามารถในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ยามาฮ่ามิได้กำหนดขอบเขตของตนแต่เพียงเครื่องดนตรี แต่ยามาฮ่ากำหนดขอบเขตธุรกิจของตนว่าตนนั้นอยู่ในธุรกิจเครื่องสันทนาการหรือเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ดังนั้น สินค้าของยามาฮ่ามิได้เพียง เปียโน อีเล็กโทน เครื่องเสียง แต่จะรวมไปถึงเครื่องกีฬา เช่น อุปกรณ์เรือใบ สกี เทนนิส ซึ่งปรากฏว่าสินค้าของยามาฮ่าแต่ละประเภทสามารถติดอันดับในกลุ่มผู้นำในธุรกิจประเภทเดียวกัน ทั้งนี้เพราะการกำหนดขอบเขตของธุรกิจของตนอย่างเหมาะสมนั่นเอง

ธุรกิจหลายแห่งมักจะกำหนดขอบเขตทางธุรกิจของตนในวงแคบ เช่น บริษัทของเราผลิต ทีวี บริษัทของเราเชี่ยวชาญเฉพาะเครื่องเสียงเท่านั้น การมองแต่ความเชี่ยวชาญของตนในวงจำกัดเช่นนั้น ทำให้ขาดการพัฒนาสินค้าอื่นๆ ไป เพราะถือว่าไม่ใช่หน้าที่หรือตนเองไม่ชำนาญ หรืออาจมัวแต่มุ่งพัฒนาสินค้าในแนวถนัดของตนไปเรื่อยๆ โดยมิได้คำนึงถึงความต้องการของตลาด เป็นต้น

(ข) ควรกำหนดขอบเขตของธุรกิจให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของลูกค้า พร้อมทั้งปรับขอบเขตธุรกิจไปตามการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของลูกค้า

ธุรกิจผงซักฟอกที่มุ่งพัฒนาสูตรผงซักฟอกให้ดูสะอาดกว่า ขาวกว่า หอมกว่า อาจจะคิดไปว่าการใช้ผงซักฟอกนั้นเป็นวิธีการเดียวที่ดีที่สุดที่ใช้ในการทำความสะอาดเสื้อผ้า ถ้าเราคำนึงถึงกระบวนการในการใช้ผงซักฟอกที่จะต้องสลายผง เอาเสื้อผ้ามาแช่, ขยี้, แล้วล้างน้ำออก นับเป็นกระบวนการที่น่าเบื่อหน่าย แม่บ้านบางท่านอาจแพ้ผงซักฟอก แท้จริงแล้ว ถ้าให้คำจำกัดความของธุรกิจของเราว่า ธุรกิจผลิตสินค้าเพื่อทำความสะอาดแก่เสื้อผ้า เราก็อาจหาสินค้าหรืออุปกรณ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าเพื่อลดความเบื่อหน่ายหรือปัญหาให้แก่ผู้ใช้ได้ เช่น การใช้คลื่นอัลตราโซนิกเป็นการพัฒนาการการทำความสะอาดเสื้อผ้าในอนาคต เป็นต้น ดังนั้น การพิจารณาขอบเขตธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค หรือผู้ใช้ เป็นการค้นหาโอกาสที่ดีในการสนองความต้องการของลูกค้าได้ เช่น สินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค เรากำหนดขอบเขตธุรกิจของเราให้สอดคล้องกับความต้องการ การใช้งานของสินค้านั้นๆ สินค้าเพื่อการอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักร ผู้ซื้อหรือผู้ใช้สนใจการลดต้นทุนการเพิ่มผลผลิต การเพิ่มความถูกต้องแม่นยำ สิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่จะต้องพิจารณาขอบเขตธุรกิจของเราให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้อยู่ตลอดเวลา และนี่เองเป็นสิ่งทำให้เราสามารถสร้างโอกาสได้อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน

2. ศึกษาแรงผลักดันภายในระบบธุรกิจที่เราดำเนินอยู่ แล้วคาดการณ์ไปในอนาคตโดยอาศัยเหตุและผลเพื่อให้เห็นภาพในเชิงกลยุทธ์สำหรับธุรกิจของเรา

ความหมายในเรื่องนี้ก็คือ ในธุรกิจที่เราดำเนินอยู่มีแรงผลักดันอะไรบ้างที่เราสามารถใช้ประโยชน์เพื่อหาโอกาสจากการผลิตสินค้าหรือมองธุรกิจใหม่ๆ แรงผลักดันอาจจะเป็นสภาวะการแข่งขัน, สภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสังคม, ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี, นโยบาย รวมทั้งระเบียบกฎหมาย ข้อบังคับของรัฐบาล ฯลฯ นักธุรกิจที่มุ่งจำกัดตัวเองกับการวางแผนในขอบเขตของธุรกิจของตน โดยมุ่งทำให้ดีที่สุดเพื่อลดต้นทุน ปรับปรุงแบบของผลิตภัณฑ์ของตน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบจากแรงผลักดันภายนอก ย่อมไม่สามารถเห็นโอกาสดีๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งความต้องการใหม่ๆ ของลูกค้าได้

ตัวอย่างแรงผลักดันต่างๆ ในธุรกิจที่ทำให้มองเห็นโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ เช่น

- แรงผลักดันด้านการแข่งขันอย่างรุนแรงของโรงงานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และเครื่องไฟฟ้าภายในญี่ปุ่น ส่งผลให้โรงงานบางโรงงานมุ่งหาตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศตะวันตก ที่ผลิตรถยนต์และเครื่องไฟฟ้า เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป ประเทศตะวันตกเหล่านี้ก็ได้รับประโยชน์ เพราะได้ชิ้นส่วนที่มีคุณภาพดีราคาถูก

- ความสนใจในคุณภาพชีวิต และความจำเป็นด้านเศรษฐกิจที่ทำให้แม่บ้านต้องหางานทำนอกบ้านทำให้เกิดแรงผลักดันต่อธุรกิจอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด เช่นเดียวกับการที่คนมีรายได้ดีขึ้น ย่อมต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกในการเป็นอยู่ในบ้าน เช่น เตารีด เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ การเปลี่ยนแปลงในแบบแผนการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่ (Life Style) ทำให้เกิดความต้องการใหม่ๆ หลายอย่างอันส่งผลให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ในธุรกิจ เป็นต้น

- ธุรกิจประเภทสโมสรสุขภาพ (Health Club) เกิดขึ้นมากมายในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เกิดจากการพัฒนาธุรกิจด้านอาหาร ประกอบกับคนในยุคปัจจุบันห่างเหินจากการออกกำลังกาย ทำให้ธุรกิจประเภทออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก แอโรบิกแดนซ์ อุปกรณ์ออกกำลังกายในบ้าน สโมสรออกกำลังกาย หนังสือวารสารด้านสุขภาพรวมทั้งเวชภัณฑ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย

- สินค้าธรรมดาๆ เช่น น้ำส้มสายชู กะปิ น้ำปลา นอกจากการแข่งขันเน้นคุณภาพเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว การโฆษณาเพื่อเน้นตรายี่ห้อภาพพจน์ที่ดี การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการขยายข่ายงานขายไปทั่ว ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ในอดีตหาซื้อได้ในราคาถูก และหาซื้อได้ทั่วไป โดยไม่มีตรายี่ห้อ แต่เพราะแรงกดดันในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้ตลาดเกิดการสร้างตรายี่ห้อขึ้นมา เป็นต้น แนวทางในการพิจารณาว่า แรงผลักดันอะไรที่สามารถใช้เป็นประโยชน์เพื่อหาโอกาสจากการผลิตสินค้าหรือธุรกิจใหม่ๆ

1) วิเคราะห์ ลูกค้าในกลุ่มตลาดเป้าหมายในธุรกิจที่เราดำเนินการอยู่ถึงความเห็นความต้องการผลิตภัณฑ์เก่าที่ควรปรับปรุงหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถสนองความต้องการอย่างแท้จริงของลูกค้าในกลุ่มตลาดเป้าหมายนั้นๆ แนวความคิดที่ได้จากลูกค้านำมาปรับปรุงแก้ไข หรือผลิตสินค้าใหม่ที่ลูกค้าต้องการ

2) ในธุรกิจการให้บริการ ให้ทำการวิเคราะห์ความต้องการ วิเคราะห์เวลาและแรงงาน ที่ต้องใช้เพื่อบริการลูกค้าและภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่เดิม (ไม่มีการเปลี่ยนแปลง) ลองคิดหาวิธีเพิ่มบริการที่นอกเหนือจากการให้บริการตามปกติที่เคยให้อยู่แล้ว บริการที่เพิ่มก่อให้เกิดราคาที่ต้องเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ณ ราคาใหม่กับบริการที่เพิ่มเติมใหม่ลูกค้ายอมรับไหม วิธีนี้เป็นกลยุทธ์ในการค้นหาโอกาสสำหรับธุรกิจประเภทให้บริการที่ดีที่สุด

3) อีกวิธีหนึ่งเป็นเรื่องของการค้นหาสิ่งท้าทายการยอมรับอยู่เดิม ลีเวอร์ บราเดอร์ ได้สร้างแนวความคิดใหม่ในการออกแชมพูให้คนสระผมทุกวันด้วย แชมพูอ่อนใสบริสุทธิ์ “ทิมโมเท” ปกติเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าการสระผมนั้น ควรทำสองสามวันต่อครั้ง เพื่อรักษาความสะอาด การสระผมทุกวันไม่มีความจำเป็นเพราะนอกจากสิ้นเปลือง เสียเวลาแล้ว อาจเป็นอันตรายต่อเส้นผมและหนังศีรษะ เนื่องจากความเป็นด่างของแชมพู เป็นต้น การสร้างความท้าทายกับการยอมรับเช่นนี้ ต้องเข้าใจถึงเหตุผลขั้นพื้นฐานเสียก่อนว่า ระบบที่เป็นอยู่เดิมทำไมจึงได้รับการยอมรับ การผลิตสินค้าหรือธุรกิจที่ท้าทายการยอมรับนั้นต้องพิสูจน์ได้ว่าดีกว่าเดิมเสมอ

อันที่จริง หลักทั้ง 3 ประการดังกล่าว เป็นเรื่องของการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจโดยอาศัยความแตกต่าง เพื่อขยายกุญแจแห่งความสำเร็จในธุรกิจที่ดำเนินการอยู่นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การค้นหาโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ การปรับปรุงแก้ไขสินค้า หรือธุรกิจเดิมจะต้องอาศัยการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของเหตุและผล โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญทางข้อมูลของลูกค้า คู่แข่ง และบริษัท กล่าวคือ เราจะต้องให้ความสนใจกับ :-

ก. กลุ่มลูกค้าเป้าหมายว่าใครคือลูกค้าที่เราจะให้บริการหรือสนองความต้องการด้วยสินค้า

ข. คุณสมบัติเฉพาะของสินค้าหรือการให้บริการและความเหมาะสมต่อลูกค้า

ค. ปัจจัยหลักที่นำไปสู่ความสำเร็จที่มองเห็นหรือสัมผัสได้ (กุญแจแห่งความสำเร็จ)

ง. ความยากง่ายที่คู่แข่งขันจะเข้ามาแข่งในตลาดของเรา และเราจะสร้างเครือข่ายป้องกันบริษัท คู่แข่งได้อย่างไร

จ. ขนาดของตลาด หรือจำนวนลูกค้าที่จะซื้อสินค้า หรือบริการใหม่ จำนวนเงินทุนและทรัพยากรที่ต้องใช้ในการลงทุนในธุรกิจใหม่นี้

การเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความสัมพันธ์ของเหตุและผลของธุรกิจ การวางแผนกลยุทธ์ที่ง่ายมีเหตุมีผล ย่อมจะสร้างความสำเร็จต่อการดำเนินธุรกิจใหม่ได้เสมอ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของการวิเคราะห์ธุรกิจบริการใหม่ 2 ประเภทที่มีการพิจารณาโอกาส และการสร้างภาพในเชิงกลยุทธ์


ธุรกิจใหม่ที่ค้นพบ บริการในการปรับเสียงเปียโน บริการขัดเงาผิวภาชนะ (เครื่องใช้โลหะในบ้าน)
ตลาดเป้าหมาย เจ้าของเปียโน บ้านทั่วๆ ไป
บริการที่เสนอ การปรับเสียงเปียโนด้วยเครื่องจูน เสียง อิเล็กทรอนิกส์ใช้เวลาเพียง 15 นาที ขัดสนิมและกัดกร่อนและขัดมันเครื่องใช้โลหะในบ้าน เช่น เครื่องครัว เครื่องเรือน ฯลฯ
โอกาสและความเหมาะสมของธุรกิจ เปียโนส่วนใหญ่มีเสียงไม่ได้มาตรฐาน เพราะระบบการจูนเสียงตามแบบเก่าแพงมาก ปกติเครื่องใช้โลหะในบ้านมักไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ทำให้มีสนิมกัดกร่อน แม้เจ้าของโดยทั่วไปอยากขัดให้แลดูใหม่อยู่เสมอแต่ไม่มีเวลาทำ
กุญแจแห่งความสำเร็จ ทั่วญี่ปุ่นมีเปียโน 6 ล้านตัว เพื่อสร้างเครือข่ายงานให้ทั่วถึงกุญแจแห่งความสำเร็จ อยู่ที่-ลดเวลาเดินทางจากลูกค้ารายหนึ่งไปยังอีกป้ายหนึ่ง ทั่วประเทศ-วางข่ายงานให้บริการ-ทำสัญญาให้บริการระยะยาว- วางแผนหาลูกค้าอย่างระมัดระวัง-มีเทคโนโลยีในการขัดสนิมที่ดี- ฝึกอบรมช่างให้มีทักษะในการใช้เครื่องมือและสารเคมี
ขนาดของตลาด ค่าจูนครั้งละ $ 15 X 6 ล้านเหรียญ= $ 90 ล้าน/ปี (วันละ 10 งาน = 2,600 งาน/ปี) ครั้งละ $ 10 ล้านครัวเรือน ขัด 2 ปี/ครั้ง $ 25 ล้าน/ปี (1,000 งาน)
3. เมื่อกำหนดทางเลือกที่เหมาะสมและมั่นใจแล้ว เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทุ่มเททรัพยากร ให้แก่ทางเลือกหรือกลยุทธ์นั้น อย่างเดียวหรือทำทีละอย่างตามลำดับความสำคัญ

บริษัทญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จมักจะใช้ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์สูงสุดดังนี้ :-

- ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ลงไปในปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จทีละปัจจัย กล่าวคือไม่ทุ่มไปทุกด้าน เลือกทุ่มเทเฉพาะปัจจัยสำคัญสูงสุดก่อน

- ถ้ามีปัจจัยแห่งความสำเร็จที่มีความสำคัญพอๆ กัน จะเลือกทำทีละอย่างหรือทีละเรื่องเป็นลำดับไป

- ความสามารถในการโยกย้ายทรัพยากรจากหน่วยงานหลักหนึ่งไปยังหน่วยงานหลักอีกแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านบริหาร, ด้านการผลิต เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นในองค์กร เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสภาวะเศรษฐกิจ, การขยายงาน, ความสามารถในการโยกย้าย ทรัพยากรการผลิตที่มีประสิทธิภาพนี่เอง ทำให้บริษัทสามารถพัฒนากลยุทธ์ไปทีละขั้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทญี่ปุ่นที่มุ่งตลาดต่างประเทศจะไม่กระจายทรัพยากรที่มีอยู่ไปในทุกหน่วยงานพร้อมๆ กัน แต่จะเน้นด้านใดด้านหนึ่งก่อน โดยเฉพาะจะเริ่มจากการผลิตโดยเน้นขยายและพัฒนาเทคโนโลยีทางการผลิต, การออกแบบสินค้า, เทคนิคการผลิต เพื่อลดต้นทุน เมื่อความสามารถด้านนี้ดีพอที่จะต่อสู้กับคู่แข่งจากต่างประเทศแล้ว ก็โยกย้ายทรัพยากรไปเน้นด้านการตลาด

ยุทธวิธีเริ่มจากการทำการบ้านก่อน

โดยทั่วไปแล้วบริษัทญี่ปุ่นจะเริ่มหาประสบการณ์จากตลาดในบ้านของตนเองก่อน ตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดใหญ่มีสินค้าที่ผลิตเองและสินค้าจากต่างประเทศมาก เมื่อบริษัทหนึ่งเริ่มต้นธุรกิจโดยการผลิตสินค้าแทนสินค้าต่างประเทศ จะเริ่มจากการทุ่มเททรัพยากรไปที่การผลิตก่อน โดยเฉพาะเน้นกระบวนการผลิตที่ประหยัดที่สุดเพื่อต่อสู้ด้านราคากับคู่แข่ง ดังนั้น เมื่อสินค้าออกสู่ตลาดบริษัทจะต้องแข่งขันกับคู่แข่งด้านราคาได้ ดังนั้น การเน้นต้นทุนผลิตที่ต่ำกว่าคู่แข่งเป็นกลยุทธ์ด่านแรกที่มีความสำคัญกว่าการสร้างชื่อเสียงให้กับยี่ห้อของสินค้า วิธีการที่เข้าสู่ตลาดจึงยอมที่จะให้บริษัทขายส่งที่มีเครือข่ายเข้มแข็ง ใช้ตรายี่ห้อของบริษัทผู้ค้าส่งนั้นได้ในระยะแรก จุดมุ่งหมายตรงนี้ก็เพื่อให้มีการขายสินค้าที่ผลิตจากโรงงานเพื่อเอากำไรมาพัฒนาสินค้าและเทคโนโลยี เมื่อบริษัทมีความแข็งแรงเพียงพอ สามารถมีอำนาจต่อรองกับผู้ค้าส่งเดิมก็จะเริ่มขอใช้ตรายี่ห้อสินค้าของตนเอง เริ่มคิดขยายข่ายงานทางการตลาดด้วยตนเอง ตามปกติแล้วธุรกิจการค้าในญี่ปุ่นมีการแข่งขันกันเองสูงมาก อย่างน้อยๆ ก็มี 2-3 บริษัทจะต้องแข่งกันเอง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องคิดเลข มี ชาร์ปและคาซิโอ, ทีวีสีก็มี พานาโซนิค, โซนี่, โตชิบา, ฮิตาชิ ฯลฯ การแข่งขันกันระหว่างบริษัทญี่ปุ่นอย่างเข้มข้นทั้งในเชิงการตลาด, เทคโนโลยี, การพัฒนาสินค้าใหม่ ฯลฯ ทำให้สินค้าจากต่างประเทศถูกทิ้งห่างออกไปทุกที และนี่เองเป็นเงื่อนไขที่สินค้าต่างประเทศยืนยงอยู่ในตลาดญี่ปุ่นได้ยาก และได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญทางการเมืองที่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นเงื่อนไขที่นำมาใช้ต่อรองกับญี่ปุ่น เมื่อกลุ่มประเทศเหล่านั้นรวมตัวกันใช้นโยบายกีดกันสินค้าจากญี่ปุ่น

4. การดำเนินกลยุทธ์ของบริษัทนั้น จะต้องกระทำแบบ “ก้าวไปอย่างช้าๆ แต่มั่นคง” โดยคำนึงถึงความสามารถและทรัพยากรที่มีอยู่เป็นเกณฑ์ เป็นการดำเนินงานแบบค่อยเป็นค่อยไป

มีเหตุผลหลายประการที่แสดงให้เห็นว่า การดำเนินธุรกิจควรจะต้องเป็นไปแบบทีละก้าว ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่องค์กร การดำเนินธุรกิจแบบผลีผลาม รีบร้อน เป็นการเร่งอัตราของความสี่ยงให้สูงขึ้น อันจะนำไปสู่การล้มละลายได้ง่าย ทั้งนี้เพราะปัจจัยหลักของการทำธุรกิจคือ กำไร นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้าถึงกุญแจแห่งความสำเร็จ และการเข้าถึงกุญแจแห่งความสำเร็จของธุรกิจได้ จะต้องอาศัยเวลา และประสบการณ์ที่สะสมไว้ ตลอดจนการมีทรัพยากรที่จำเป็นอย่างเพียงพอสำหรับหน่วยงาน กล่าวโดยสรุปก็คือ กลยุทธ์การก้าวไปอย่างช้าๆ ทำในสิ่งที่มั่นใจด้วยความมั่นคง เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่นำความสำเร็จมาสู่ธุรกิจ

กรณีตัวอย่างในเรื่องต่อไปนี้ แสดงให้เห็นถึงการมองการณ์ไกลของผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ โดยอาศัยการค่อยๆ ก้าวแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีอย่างมีทิศทาง มัตสุชิตะ (เนชั่นแนล) เรียนรู้เทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์จากฟิลิป โดยการร่วมทุนกันตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้าน ทีวี และเครื่องเสียง จากนั้นก็มุ่งมั่นทุ่มทุนอย่างมากมายกับการวิจัยและพัฒนาด้านอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการผลิตอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ แม้ธุรกิจด้านนี้จะมีการแข่งขันสูงมาก กำไรยาก แต่มัตสุชิตะถือว่า เทคโนโลยีด้านนี้จะเป็นพื้นฐานในการผลิตอุปกรณ์ด้านอิเล็กทรอนิกส์หลายด้าน เช่น คอมพิวเตอร์ ไมโครโปรเซสเซอร์ เครื่องส่งโทรสาร กล้องถ่ายรูปอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องถ่ายวิดีโอเทป ฯลฯ และเมื่อได้มองทิศทางอย่างดีแล้วว่า อุตสาหกรรมด้านไอซี คอมพิวเตอร์มีการแข่งขันสูง มัตสุชิตะจึงหันไปสนใจด้านเครื่องส่งโทรสาร และเครื่องถ่ายเอกสาร กล้องถ่ายวิดีโอเทป กล้องถ่ายรูปอิเล็กทรอนิกส์ และหุ่นยนต์ ซึ่งอาศัยพื้นฐานเทคโนโลยีด้านอิมเมจเซนเซอร์ และไมโครโปรเซสเซอร์ และอุปกรณ์รับสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตนถนัดและพัฒนาไปอย่างมากมายตั้งแต่ต้นเป็นพื้นฐาน ปัจจุบันเราจะเห็นสินค้าของมัตสุชิตะเน้นในแนวทางนี้ เช่น กล้องถ่ายรูปอิเล็กทรอนิกส์ กล้องถ่ายวิดีโอเทป เนชั่นแนล ฯลฯ เป็นต้น และเป็นที่แน่นอนแล้วว่า มัตสุชิตะจะยึดเส้นทางสายนี้เป็นกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทต่อไป

หลายบริษัทเคยมีความเชี่ยวชาญมีชื่อมาจากการผลิตสินค้าชนิดหนึ่ง แต่เมื่อมองเห็นทิศทางในอนาคตว่า สินค้าที่ตนผลิตจะล้าสมัยในอนาคตข้างหน้า บริษัทตัดสินใจเร่งพัฒนาไปในทิศทางเพื่ออนาคต โดยยกเลิก หยุดผลิตสินค้าแบบเดิม ตัวอย่างเช่น โตเกียวอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันสามารถครองตลาดเครื่องคิดเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Cash Registers) ซึ่งครองตลาดในญี่ปุ่นถึง 40% เดิมเป็นผู้ผลิตเครื่องคิดเงินแบบดั้งเดิมมาก่อน แต่เมื่อเห็นว่า ระบบอิเล็กทรอนิกส์จะมาแทนที่ จึงหันไปทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดกับเครื่องระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยยกเลิกการผลิตระบบดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง เป็นต้น

เมื่อเร็วๆ นี้ (1985) จีอี ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกของอเมริกาได้ประกาศถอนตัวจากการผลิต ทีวี ในโรงงานของตนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป โดยให้บริษัทญี่ปุ่นผลิตแทนโดยคงใช้ยี่ห้อ จีอี อยู่ เหตุผลก็เพราะสินค้าประเภทนี้มีการแข่งขันสูงมาก เช่นเดียวกันในอดีต จีอี เคยประกาศถอนตัวจากธุรกิจกึ่งตัวนำ และคอมพิวเตอร์ เนื่องจากมองเห็นว่า สภาวการณ์จะส่งผลในทางลบต่อธุรกิจหลักของตนในตลาด

ไซโก้ ซึ่งกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการนาฬิกาในตลาดโลกปัจจุบัน เริ่มจากการผลิตนาฬิกาแบบไขลาน และได้ทำการพัฒนาระบบตัวเลข (ดิจิตอล) มาก่อนแล้ว แต่เมื่อ คาชิโอ และบริษัทผู้ผลิตในฮ่องกงเริ่มเปิดเกมทางดิจิตอล ในปี 1972 ไซโก้ก็พร้อมที่จะสู้ เพราะมีพื้นฐานการพัฒนามาก่อนแล้วล่วงหน้า อัลบาเป็นนาฬิกาดิจิตอลของไซโก้ ซึ่งออกแบบมาต่อสู้ทางด้านราคากับคู่แข่งเพื่อป้องกันภาพพจน์และราคาของไซโก้ไม่ให้ตก มูลเหตุที่ไซโก้ไม่ผลีผลามออกดิจิตอลก่อนคู่แข่ง ก็เพื่อความพร้อมของตนเอง ทั้งในด้านทักษะของคนงานและทางด้านเทคโนโลยีและประการสำคัญก็คือ การดูช่องทางทางด้านตลาดและช่องทางการจำหน่ายในตลาดโลก ในขณะเดียวกันไซโก้ได้พัฒนาระบบควอตช์ และดับเบิลควอตซ์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปก่อนคู่แข่งขันในสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมทั้ง ริเริ่มเข้าสู่การแข่งขันทางด้านรูปแบบและแฟชั่นเป็นหลัก เพราะระบบใหม่นี้ไม่ต้องเน้นความเที่ยงตรง เนื่องจากเป็นระบบที่มีความเที่ยงตรงเป็นเลิศอยู่แล้ว

5. ผู้บริหารจะต้องยึดมั่นและยึดถือ สมมุติฐานพื้นฐานของความสำเร็จที่วางไว้เดิม เช่น กลุ่มตลาดเป้าหมายและกุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จ หรือวัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจหลัก แต่ถ้าหากเมื่อไรที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไข หรือสภาวะแวดล้อมไปจากสมมุติฐานเดิมที่ตั้งไว้ ผู้บริหารก็พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามทิศทางที่เห็นว่า จะสร้างความสำเร็จในอนาคต ความหมายในเรื่องนี้เปรียบเหมือนนักยิงปืนที่ยึดถือเป้าเป็นหลัก คือ ต้องยิงให้ถูกเป้าอยู่เสมอ แม้เป้าจะเคลื่อนที่ไปจากที่เดิม เขาก็ยังคงยึดเป้าเป็นหลักเพื่อตามยิงให้ถูกเป้าอยู่เสมอ เป็นต้น

ก. ตัวอย่างของการยึดมั่นกับพื้นฐานของความสำเร็จเดิม

- ร้านขายสินค้าประเภทลดราคา (Discount Sale Stores) หรือขายสินค้าราคาถูก มีพื้นฐานกำไรจากกำไรต่อหน่วยต่ำแต่ขายในปริมาณมาก ดังนั้นร้านขายสินค้าประเภทนี้จะมุ่งลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ค่าใช้จ่ายในการบริการลูกค้า ต้นทุนบรรจุภัณฑ์ ใช้พนักงานน้อย ให้ลูกค้าบริการตัวเอง ค่าใช้จ่ายด้านอาคารและค่าโสหุ้ยต่ำไม่มีการโฆษณา (เช่น ร้านขายสินค้าแถวสะพานหัน บางลำภู หรือร้านขายส่งแถวสำเพ็ง ฯลฯ) แต่ถ้าธุรกิจดำเนินไปได้อย่างประสบความสำเร็จแล้วการหันมาเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ หรือบุคลิกภาพหลัก เช่น นำสินค้าราคาสูงมาขาย เพิ่มพนักงานให้บริการ เริ่มทำโฆษณา การจะรักษากำไรในอัตราเก่าย่อมทำไม่ได้ เพราะเกิดค่าใช้จ่ายส่วนเกินมากมาย การละเลยพื้นฐานที่สำคัญของธุรกิจเช่นนี้ โดยที่ยังมิได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขภายนอก (เช่น ค่านิยมของลูกค้าเดิมยังไม่เปลี่ยน) ธุรกิจจะประสบปัญหาได้ เช่นเดียวกับธุรกิจผลิตชิ้นส่วนสำหรับจำหน่ายให้โรงงานประกอบ หรืออุตสาหกรรมที่ผลิตเครื่องอุปโภคให้กับร้านขายส่ง หากบริษัทประเภทนี้เปลี่ยนนโยบาย และวัตถุประสงค์หลัก หันมาเปลี่ยนเป็นประกอบสินค้าสำเร็จรูปเอง หรือหันมาจัดจำหน่ายเองก็อาจประสบปัญหาได้เช่นกัน เพราะต้องมาลงทุนสร้างเครือข่ายการจำหน่าย การลงทุนส่งเสริมการจำหน่ายเอง ซึ่งเป็นความเสี่ยงอย่างสูง

ธุรกิจฟาสต์ฟู้ด ซึ่งมีการกำหนดประเภทรายการอาหารน้อยชนิด หากหันมาเพิ่มเมนูให้มากชนิดก็จำเป็นต้องมีสต๊อกวัสดุที่ใช้ปรุงอาหารมากชนิด แน่นอนว่าจะต้องเกิดปัญหามากขึ้น

ข. เงื่อนไขทางสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลง แต่บริษัทกลับไม่ยอมพัฒนาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขภายในบางประการ ธุรกิจประเภทนี้ก็มีปัญหาได้เช่นกัน เช่น

การพัฒนาของยางรถยนต์มาเป็นยางเรเดียลซึ่งทำให้อายุการใช้งานของยางรถยนต์ยาวขึ้นเป็น 2 เท่าของยางรถยนต์ธรรมดาที่เคยใช้กันอยู่ เป็นผลให้ความต้องการยางรถยนต์ลดน้อยลง โรงงานที่ผลิตยางธรรมดาจึงเกิดปัญหา ส่วนโรงงานใหญ่ที่ชื่นชมกับการผลิตและขายยางเรเดียลก็ขยายงานกันยกใหญ่ ในขณะเดียวกัน นักบริหารที่รับผิดชอบในอุตสาหกรรมนี้ก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจมองการณ์ไกลถึงพัฒนาการทางเทคโนโลยีในอนาคต ที่อาจพลิกสถานการณ์ให้ยางเรเดียลกลายเป็นยางล้าสมัยได้เช่นกัน

ปัญหาวิกฤตการณ์ด้านพลังงานในช่วงปี 1973 ทำให้เชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าที่เคยใช้น้ำมันเตา ต้องหันไปใช้พลังงานอื่นทดแทน เช่น ลิกไนต์ หรือพลังน้ำ และแก๊สธรรมชาติ แม้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะเร่งขยายการผลิตโดยการใช้เชื้อเพลิงทดแทนในหลายๆ ทางก็ตาม อุตสาหกรรมได้ตระหนักว่า ถ้าหากค่ากระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตยังมีอัตราค่าใช้จ่ายสูงอยู่ในปัจจุบัน ในอนาคตอุตสาหกรรมเอกชนอาจต้องหันไปพิจารณาการใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟใช้เอง ดังที่ได้ปรากฏให้เห็นแล้วในอุตสาหกรรมใหญ่ๆ หลายประเภท และเมื่อถึงวันนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตอาจเกิดปัญหา เพราะการลงทุนในการขยายการผลิตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในขั้นแรกนั้นสูงมาก (โรงงานอุตสาหกรรมที่หันไปใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าอย่างน้อยที่สุดก็ไม่ต้องลงทุนตั้งเสาไฟฟ้าเดินสายมากมาย) อันนี้ก็เป็นปัญหาที่นักบริหารในการไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องนำมาพิจารณาถึงแนวโน้มในอนาคต

อุตสาหกรรมวิดีโอเทปและเครื่องบันทึกเทป กำลังมีบทบาทสำคัญแทนเครื่องถ่ายภาพยนตร์ขนาด 8 มม. ดังนั้น ไม่ว่าบริษัทที่ผลิตเครื่องถ่ายภาพยนตร์จะปรับปรุงเทคโนโลยีอย่างไรก็ตาม ก็ไม่อาจต้านความนิยมในเครื่องถ่ายบันทึกเทปวิดีโอได้ เป็นต้น

ดังนั้น ความเข้าใจถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกอย่างแท้จริง ย่อมจะทำ ให้ธุรกิจสามารถปรับตัวได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น อยู่ที่ผู้บริหารมีสายตาไกล มองเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงในอนาคตไว้ได้อย่างถูกต้อง สิ่งนี้คือ กุญแจแห่งความสำเร็จของธุรกิจนั่นเอง

กล่าวโดยสรุป ก็คือ เงื่อนไขสำคัญสำหรับการตัดสินใจถึงเหตุการณ์ในอนาคตได้ถูกต้องนั้นขึ้นอยู่กับการเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงธุรกิจที่เราทำอยู่ การกำหนดกลยุทธ์ที่ถูกต้องเพื่อสร้างกำไรถาวร, การรู้จักใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสมและประหยัด, การรู้จักค่อยๆ ก้าวอย่างช้าๆ แต่มั่นคง, และยึดมั่นกับพื้นฐานที่เป็นหลักสำคัญต่อความสำเร็จในธุรกิจ พร้อมทั้งความพร้อมในการเตรียมการ เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงหากมีเงื่อนไขเปลี่ยนแปลงจากภายนอก ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและลูกค้า ปัจจัยทั้งหมดดังกล่าวนี้เป็นสูตรสำเร็จในการตัดสินใจที่มองการณ์ไกลอย่างถูกต้องของผู้บริหารที่มีความคิดในเชิงกลยุทธ์อย่างเฉียบขาด

นักวางแผนกลยุทธ์ต้องมีความคิดสร้างสรรค์

แม้ความคิดสร้างสรรค์จะเป็นคุณสมบัติส่วนตัวของแต่ละคนเป็นเรื่องที่สอนกันไม่ได้ แต่เป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้ กล่าวคือ ถ้าเราได้เรียนรู้ในวิถีทางที่ถูกต้องเหมาะสม ได้เห็นตัวอย่าง ได้เห็นเทคนิค ได้รับการแนะนำที่ถูกทางเราก็สามารถสร้างความคิดสร้างสรรค์ที่ดีให้แก่บุคคลได้ มีแนวทางในการเรียนรู้และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้โดยการศึกษาถึงวิธีการ การกระตุ้นหรือเปลี่ยนลักษณะนิสัย เพื่อสร้างหรือหล่อหลอมสภาวะความคิดสร้างสรรค์ใน ตัวเราได้ ในขณะเดียวกันถ้าเราสามารถมองเห็นข้อจำกัดต่างๆ อันจะเป็นตัวเหนี่ยวรั้งการมองเห็นโอกาสแห่งความสำเร็จจากความคิดสร้างสรรค์นั้นๆ ได้แล้ว ความคิดใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำแบบใคร รวมทั้งการมองเห็นโอกาสที่กระจ่างชัดย่อมเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในธุรกิจที่ดำเนินอยู่

ก. นักวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจจะต้องคำนึงถึงขอบเขตข้อจำกัดอย่างน้อย 3 ประการ คือการขาดข้อเท็จจริง (ความเป็นจริง) เวลาที่เหมาะสม และการจำกัดทางทรัพยากร

ในการวางแผนการตลาดนั้นข้อเท็จจริงที่ผูกพันต่อธุรกิจก็คือ ข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้า คู่แข่งขัน และบริษัทของเรา การขาดข้อมูลที่เป็นจริงใน 3 ส่วนนี้จะทำให้การวางแผนผิดพลาดได้เสมอ

การเน้นคุณภาพโดยเพิ่มอายุการใช้งานของทีวีสีของญี่ปุ่นจาก 3-4 ปี เป็น 7 ปี ทำให้เกิดผลกระทบต่อการขายทีวีสีอย่างมาก เช่นเดียวกับการทราบข้อมูลในอุตสาหกรรมทันตกรรมในญี่ปุ่นว่า การใช้เทคโนโลยีเคลือบฟัน ด้วยพลาสติกจะทำให้ฟันมีความคงทนต่อการสึกกร่อน มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและอาชีพทางทันตแพทย์ในญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่ธุรกิจจะต้องเข้าใจ และตัดสินใจคาดการณ์ในอนาคตไว้ก่อนแล้ว

เวลาที่เหมาะสม ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญในการใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจ การตัดสินใจใช้กลยุทธ์เร็วเกินไปหรือช้าเกินไปเป็นเรื่องของการยังไม่ถึงโอกาส หรือเลยโอกาสสำคัญไปแล้ว เช่น เมื่อ 10 ปีที่แล้วความต้องการรถบรรทุกขนาดเล็กและกลางในประเทศไทย เน้นราคาถูก บรรทุกได้มาก คงทนสมบุกสมบันในสภาพถนนและสภาพการบรรทุก ปัจจุบันต้องเน้นความสวยงาม และดูคล้ายเก๋ง มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น เช่น ที่นั่งกว้างขวาง มีแอร์คอนดิชัน แนวโน้มประการหลังนี้ชี้ให้เห็นว่า ราคาถูกเป็นปัจจัยรองเสียแล้ว

เมื่อญี่ปุ่นเริ่มใช้ระบบเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมในอเมริกาและยุโรปเห็นว่าไม่มีความจำเป็นและพยายามต่อต้าน ปัจจุบันอุตสาหกรรมหนักในสหรัฐฯ และยุโรป ได้ตระหนักว่า ระบบอัตโนมัตินั้น ช่วยเพิ่มผลผลิต สามารถลดต้นทุนผลิตได้ และไม่น่าจะขัดแย้งกับคนงาน ความคิด เหล่านี้ปัจจุบันประเทศเหล่านั้นรู้สึกกว่าจะสายเกินไปที่จะปรับตัวให้ทันระบบการผลิตของญี่ปุ่นเสียแล้ว

ข้อจำกัดประการที่ 3 ก็คือ ทรัพยากรที่มีอยู่ ธุรกิจในสหรัฐอเมริกากำลังเป็นโรคระบาดอยู่โรคหนึ่ง คือ โรคชอบขยายอาณาจักรด้วยการซื้อกิจการบริษัทอื่นๆ เช่น โคคา-โคลา ซื้อกิจการยา พรอคเตอร์แอนด์แกมเบิล ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ซื้อบริษัทยาริชาร์ดสัน ฯลฯ การซื้อกิจการเป็นการกระจายทรัพยากรที่มีอยู่ ความสำเร็จของบริษัทที่แตกแขนงผลิตสินค้าหรือซื้อกิจการใหม่ๆ เข้ามาต้องอาศัยความพร้อมด้านทรัพยากร รวมทั้งทักษะในการผลิตและการตลาดด้วย ก่อนที่โตโยต้าจะกลายเป็นบริษัทผลิตรถยนต์อันดับ 2 ของโลกได้นั้น โตโยต้าอยู่ในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรสำหรับโรงงานทอผ้ามาก่อน โตโยต้ามีการเตรียมบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เตรียมทรัพยากรอื่นๆ อย่างพร้อมเพรียง ก่อนที่จะเข้าสู่วงการผลิตรถยนต์ และบทเรียนของโตโยต้าเองอีกเช่นกันที่ประสบความล้มเหลว ลืมทบทวนบทเรียนเก่าในการขยายประเภทสินค้าเครื่องใช้ในบ้าน เพราะความไม่พร้อมในการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมคือ เอาคนงานแผนกรถยนต์ไปใช้ผลิตสินค้าเครื่องใช้ในบ้าน ความล้มเหลวเกิดจากความแตกต่างในทักษะการผลิตและการตลาด

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เทอโมกราฟฟี่เครื่องแรกผลิตโดย อีเอ็มไอ ของอังกฤษ แต่เนื่องจาก อีเอ็มไอขาดเงินทุนในการพัฒนาและวิจัยทั้งด้านตัวสินค้าและตลาดทำให้ ยีอี, ซีเมนต์ และฟิลิปส์แซงหน้าไป

ข.เงื่อนไขในการจุดถ่านไฟแห่งความคิดสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์จะถูกจุดให้ลุกโพลง ขึ้นได้ทันที ต้องอาศัยเงื่อนไข 3 ประการคือ

- แรงบันดาลใจ

- เครื่องชี้นำ

- ความอดทนต่อแรงกดดันต่างๆ

แรงบันดาลใจ เป็นกุญแจสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ เมื่อ มร.เกนอิชิ คาวาคามิ ประธานบริษัทยามาฮ่า ซึ่งขณะนั้นเป็นโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ไปสหรัฐอเมริกา เขาเกิดแรงบันดาลใจว่าธุรกิจเพื่อการสันทนาการน่าจะเป็นธุรกิจที่กว้างขวางกว่าเฟอร์นิเจอร์ ดังนั้นบริษัทยามาฮ่าจึงเปลี่ยนทิศทางเข้าหาธุรกิจด้านนี้ เครื่องดนตรีหลายชนิด, ติดตามด้วยเครื่องเสียง, เครื่องกีฬา, รถจักรยานยนต์, เรือใบ, โรงเรียนสอนดนตรี กลายเป็นความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงของยามาฮ่าในปัจจุบัน

เครื่องชี้นำ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการค้นหาหรือเลือกทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ที่มีอยู่ ระบบควบคุมแบบอัตโนมัติที่ไม่ต้องใช้คนควบคุมแห่งแรกของโลก เกิดจากการที่ ดร.ทาเทอิชิ ประธานบริษัทโอมรอนอิเล็กทรอนิกส์ มีความคิดชี้นำว่า กิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบธนาคาร การจราจรเป็นกระบวนการไหลเวียนของวัตถุ หรือสินค้าในระบบการผลิต กิจกรรมหรือการจราจรที่ติดขัดเกิดจากมีการสกัดกั้นการไหลเวียนดังกล่าว แนวความคิดชี้นำเช่นนี้ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบธนาคารอัตโนมัติขึ้นเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่น รวมทั้งต่อมาการมีวิวัฒนาการระบบการควบคุมอัตโนมัติตามสถานีรถไฟ และรวมทั้งมีการนำมาใช้ในระบบอุตสาหกรรมทั่วไป นับได้ว่าเป็นการใช้แนวความคิดชี้นำไปในทางสร้างสรรค์ที่มีคุณค่าอย่างมหาศาล

ความอดทนต่อแรงกดดันต่างๆ ความคิดอะไรที่แปลกและเป็นความคิดใหม่ๆ รวมทั้งความคิดที่ท้าทายความเชื่อที่เคยมีอยู่มักถูกวิจารณ์ตำหนิติเตียนว่าเพ้อฝัน นักวางแผนกลยุทธ์ที่มีความคิดแปลกแหวกแนวแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์มักถือว่าเป็นของธรรมดา การอดทนต่อแรงกดดันเหล่านี้รวมทั้งการมีวิญญาณกล้าเสี่ยง ยอมรับความล้มเหลว หาทางปลุกปล้ำต่อสู้จนประสบชัยชนะได้ต้องเป็นผู้ที่มีความอดทนอย่างไม่ยอมแพ้ โซฮิชิโร ฮอนด้า ต้องอดทนต่อคำเยาะเย้ยเหยียดหยามสำหรับแนวความคิดในการนำเครื่องยนต์ปราศจากควันออกสู่ตลาด โอจิ โคบายาชิ ประธานบริษัท เอ็นอีซี มีความเชื่อเมื่อ 25 ปีมาแล้ว ว่าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ทางโทรคมนาคมจะมีบทบาทสำคัญต่อโลกในอนาคต เขาต้องทนต่อความกดดันทางการเงิน, การบริหารภายใน และแม้แต่คู่แข่งเมื่อเขาเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ในสมัยนั้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ แม้ความคิดสร้างสรรค์จะเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของคนบางคน แต่การสร้างนิสัยการฝึกหัดคิดในเชิงกลยุทธ์ คิดในเชิงสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นคนในระดับใด เชื้อชาติ หรือสัญชาติใดก็ตาม   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us