Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2528








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2528
เรือเดินทะเลข้ามชาติหายทั้งลำ ที่กรุงเทพฯ เงื่อนงำที่ทำกันเป็นขบวนการ             
โดย รุ่งอรุณ สุริยามณี
 

   
related stories

สารวัตรประเสริฐ จันทราพิพัฒน์ คนชอบทำคดียากๆ

   
search resources

Transportation
ประเสริฐ จันทราพิพัฒน์




“ดีลี่” เป็นเรือเดินทะเลลำไม่ใช่เล็ก ๆ เข้ามาจอดเทียบท่าเพื่อเตรียมขนข้าวโพดไทยส่งไปให้ โรงเบียร์ของประธานาธิบดีมากอส ที่ฟิลิปปินส์ มีปัญหาที่ทำให้เรือออกจากท่าไม่ได้ เพราะมีบริษัท 2 บริษัท อ้างสิทธิการเป็นเจ้าของเรือ เรื่องทำท่าจะยุ่ง ครั้นแล้วเรือ “ดีลี่” ก็ถูกโจรกรรมออกจากปากน้ำ บางคอแหลม หน้าสถานีตำรวจแท้ ๆ เรื่องที่ยุ่งอยู่แล้วก็เลยยิ่งยุ่งกันใหญ่โต

“ดีลี่” เป็นชื่อเรือสินค้าเดินทะเลซึ่งมีระวางขับน้ำ 3,800 แรงม้า ระวางบรรทุก 5,000 ตัน จดทะเบียนถือสัญชาติปานามา แต่เจ้าของ -บริษัทดีลี่ นาวิกเคชั่น เป็นไต้หวัน

“ดีลี่” บรรทุกไม้มาขายที่ประเทศไทย เข้าจอดเทียบท่าสาธุประดิษฐ์ เมื่อราว ๆ ต้นปีนี้เอง และก็ได้บรรทุกข้าวโพดไทยเตรียมไปส่งโรงเบียร์ที่ฟิลิปปินส์

วันที่ 2 สิงหาคม 2528 เรือ “ดีลี่” ล่องหนไปจากท่าเรืออย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ทั้ง ๆ ที่ท่าเทียบเรือก็อยู่หน้าสถานีตำรวจบางคอแหลม

ตามรายงานของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายระบุว่า เป็นการถูกโจรกรรมไปพร้อมทั้งเรือและข้าวโพด คิดมูลค่าแล้วก็ประมาณ 50 ล้านบาท เฉพาะข้าวโพดอย่างเดียวนั้นก็ 16 ล้านกว่าบาทเข้าไปแล้ว

“เป็นพฤติกรรมของกลุ่มโจรสลัดที่อุกอาจมาก” เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งระบุ

อีก 1 เดือนเต็ม ๆ ต่อมาก็มีเรือเดินทะเลลำหนึ่งแวะเวียนมาจอดที่จังหวัดภูเก็ตทางฝั่งทะเลอันดามัน รูปพรรณของเรือนั้นคล้ายกับเรือ “ดีลี่” มาก

ทีมสืบสวนสอบสวนจากกองปราบฯ ได้เข้าจับกุมเรือลำดังกล่าว พบว่าเป็นเรือชื่อ “อัลฟองโซ คอเรนโซ” แต่เมื่อตรวจสอบหลักฐานอย่างละเอียดก็พบว่าเป็นลำเดียวกับเรือ “ดีลี่” ที่ล่องหนไป โดยนอกจากจะเปลี่ยนชื่อเสียใหม่แล้ว ยังแถมเปลี่ยนสีของเรือจากสีดำเป็นสีขาวอีกด้วย

จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบฯ ซึ่งนำทีมโดย พันตำรวจโทประเสริฐ จันทราพิพัฒน์ สารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 1 กองปราบปรามสามยอด นายตำรวจมือดีผู้เคยเผด็จศึกคดี ชม้อย พิพย์โส มาแล้วนั้น ก็พบว่าเรื่องของเรือ “ดีลี่” เป็นเรื่องที่มีเงื่อนงำมาก

“มันไม่ใช่คดีโจรกรรมเรือสินค้าธรรมดา ๆ” นายตำรวจร่วมทีมคนหนึ่งกล่าว

เรือ “ดีลี่” ก่อนหน้าที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยและล่องหนไปอย่างลึกลับนั้น ออกเดินทางมาจากสิงคโปร์ ซึ่งจากการสืบสวนเลยมารู้ภายหลังว่า ตอนที่ออกจากท่าเรือสิงคโปร์เรือ “ดีลี่” จะต้องขนไม้ไปส่งที่บังกลาเทศ แต่แทนที่จะไปตามเส้นทางดังกล่าว “ดีลี่” กลับเบนเข็มเรือขนเอาไม้มาขายที่ประเทศไทยแทน โดยได้เข้าเทียบท่าเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อต้น ๆ ปี 2528 และถูกว่าจ้างให้ขนข้าวโพดจากไทยไปส่งต่อที่ฟิลิปปินส์

ข้าวโพดล็อตนี้สั่งซื้อโดยบริษัทผลิตเบียร์ของประเทศฟิลิปปินส์ ชื่อบริษัท ซานมิเกล จำกัด เป็นบริษัทเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดของชาวตากาล็อก มีท่านประธานาธิปดีเฟอร์ดินัน มากอส เป็นหุ้นใหญ่ ส่วนจะใหญ่พอฟัดพอเหวี่ยงกับบุญรอดบริวเวอรี่ของเราหรือไม่นั้น รายงานข่าวมิได้แจ้ง

ก็เป็นการสั่งซื้อล็อตเดียวจำนวน 4,500 ตัน คิดเป็นมูลค่า 589,500 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 16,211,250 บาท

ส่วนผู้ขายนั้นก็คือยักษ์แห่งวงการข้าวโพดของโลก-บริษัทคากิลล์ จำกัด ซึ่งตั้งสำนักงานในประเทศไทยอยู่ที่ชั้น 6 ของตึกโชคชัย ถนนสุขุมวิท

การเจรจาซื้อข้าวโพดระหว่างโรงเบียร์ซานมิเกลของฟิลิปปินส์กับบริษัทคากิลล์ในประเทศไทยได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2528 และมีการเปิดแอล/ซี เข้ามาซื้อข้าวโพดเมื่อวันที่ 11 เมษายนปีเดียวกัน

บริษัทคากิลล์ได้ติดต่อกับบริษัทซีทรานสปอร์ตให้ทำหน้าที่ขนสินค้า

บริษัทซีทรานสปอร์ต มีนายอุดม ปัญญา เป็นกรรมการผู้จัดการ ตั้งสำนักงานอยู่เลขที่ 286/23 ซอยพิพัฒน์ ถนนสุริวงศ์ บางรัก เป็นบริษัทตัวแทนของบริษัทเดินเรือทะเล ดีลี่ นาวิกเคชั่น เจ้าของเรือ “ดีลี่” ซึ่งเป็นบริษัทเดินเรือของไต้หวัน

บริษัทคากิลล์ได้ว่าจ้างบริษัทซีทรานสปอร์ตให้จัดหาเรือซึ่งจะขอเช่าเหมาลำสำหรับส่งข้าวโพด 4,500 ตัน จากประเทศไทยไปขึ้นที่ฟิลิปปินส์

บริษัทซีทรานสปอร์ตก็จัดเรือ “ดีลี่” มาให้ โดยคิดค่าระวางขนส่งเป็นเงิน 1,166,062.50 เซ็นสัญญากันเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2528

คากิลล์ได้เริ่มซื้อข้าวโพดเตรียมส่งมอบตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2528 และก็ขนข้าวโพดลงเรือ “ดีลี่” ครบจำนวนที่ลูกค้าสั่งซื้อเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2528

ครั้นเมื่อข้าวโพดลงเรือครบถ้วนถูกต้องแล้ว เรือ “ดีลี่” ก็ยังไม่ยอมออกจากท่าเทียบเรือถนนตก (บางคอแหลม) สาธุประดิษฐ์ หน้าสถานีตำรวจบางคอแหลม อย่างที่บริษัทคากิลล์เองก็ไม่ทราบสาเหตุ

คากิลล์จึงสอบถามไปยังบริษัทซีทรานสปอร์ตและบริษัทเจ้าของเรือก็ได้ความว่า สาเหตุที่เรือยังออกจากท่าไม่ได้นั้น ก็เพราะบริษัทเจ้าของเรือ “ดีลี่” ยังติดหนี้การค้าอยู่กับบริษัทซีทรานสปอร์ตเป็นเงิน 1 ล้าน 2 แสนบาทเศษ เพราะฉะนั้นก็จะต้องเจรจาเรื่องหนี้สินกันให้เรียบร้อยเสียก่อน

ที่จริงเรื่องเรือจะออกหรือไม่ออกก็ไม่เกี่ยวกับบริษัทคากิลล์หรอก เพราะเมื่อสินค้าขนลงเรือหมดแล้วความรับผิดชอบของคากิลล์ก็ถือว่าหมดไปด้วย

แต่ยักษ์ใหญ่อย่างคากิลล์จะนิ่งทำทองไม่รู้ร้อนก็คงจะไม่เหมาะเป็นแน่แท้

เพราะข้าวโพดที่อยู่บนเรือถ้าไม่มีการเอาใจใส่ดูแลอย่างกวดขันปล่อยให้เกิดความชื้นขึ้นแล้ว ข้าวโพดก็อาจจะเกิด “อัลฟา ทอกซิน” เสียชื่อเสียงข้าวโพดไทยและผู้ส่งออกอีก

คากิลล์จึงต้องโดดลงมาช่วยเจรจาให้คู่กรณีตกลงกันเร็ว ๆ ด้วยอีกแรง ซึ่งก็ตกลงกันไม่ได้จนแล้วจนรอด

ล่วงเข้าวันที่ 11 กรกฎาคม 2528 คากิลล์ได้ทราบว่าบริษัทไทยโปรไลน์ของชม คุณผลิน เจ้าของกิจการพาณิชยนาวีรายใหญ่รายหนึ่งของไทยได้ตกลงรับซื้อเรือ “ดีลี่” กับบริษัทเจ้าของเรือแล้ว คากิลล์จึงทำสัญญาขอให้บริษัทไทยโปรไลน์ทำหน้าที่ขนข้าวโพดต่อไป เนื่องจากสินค้าก็อยู่บนเรือแล้วจะขนลงขนขึ้นอีกก็มีแต่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

แต่คากิลล์ยังใจดีแถมเงินให้เจ้าของเรือเจ้าใหม่ไปอีกเหนาะ ๆ 4 แสนบาท

มีรายงานข่าวแจ้งว่า ชม คุณผลิน ซื้อเรือ “ดีลี่” มาด้วยราคา 10 ล้านบาท โดยเซ็นสัญญาซื้อขายกับนางสาวเชียว ซุย ฮุย เจ้าของเรือชาวไต้หวัน แต่บ้างก็ว่าจริง ๆ แล้วชม คุณผลิน ซื้อมาด้วยราคาเพียง 4 ล้านบาทเท่านั้น เพระสภาพเรือเก่าเกือบจะเป็นเศษเหล็กอย่างไรอย่างนั้นอยู่แล้ว

เมื่อเรื่องการขนข้าวโพดของเรือ “ดีลี่” ออกมาในรูปนี้ได้ ทางคากิลล์ก็น่าจะสบายใจไปอีกเปลาะ เพราะเจ้าของเรือเจ้าใหม่ก็คงต้องนำเรือออกจากท่ามุ่งตรงไปเมืองมะนิลาตามสัญญาที่ทำไว้

แต่เผอิญมันไม่เป็นอย่างนั้นอีกครั้งจนได้

เรือ “ดีลี่” ยังออกจากท่าไม่ได้ เพราะหลังเซ็นสัญญาซื้อขายเรือกันได้ไม่กี่วันก็มีตัวแทนของบริษัท โจโฮร์ ไฟแนนซ์ แห่งประเทศสิงคโปร์ชื่อ วรวุฒิ ลิมปิสุนทร มาอ้างว่าเรือลำดังกล่าวเป็นเรือที่บริษัท โจโฮร์ ไฟแนนซ์ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เพราะก็เพิ่งเซ็นสัญญาซื้อมาจากบริษัทดีลี่ นาวิกเคชั่น เหมือนกัน

ก็เลยเกิดข้อถกเถียงว่าใครจะเป็นเจ้าของเรือที่แท้จริง สามารถนำเรือออกเดินทางต่อไปได้

“ดูแล้วก็คงเป็นรายการต้มหมูเสียมากกว่า คือเจ้าของเรือไปจดทะเบียนเรือไว้หลายประเทศ จากนั้นก็บอกขายให้กับหลาย ๆ บริษัท รับเงินไปหลายทาง เพราะฉะนั้นทั้งฝ่ายชม คุณผลิน และฝ่ายสิงคโปร์ก็มีหลักฐานด้วยกันทั้งนั้น...” แหล่งข่าวที่รู้เรื่องมาตั้งแต่ต้นเล่าให้ฟัง

ระหว่างที่ยังตกลงกันไม่ได้นั้นเอง ในวันที่ 2 สิงหาคม 2528 เรือ “ดีลี่” ก็แสดงอภินิหารล่องหนออกไปจากปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยที่ลอดหูลอดตาเจ้าหน้าที่ของไทยไปอย่างไรก็ไม่ทราบ ทั้งที่เรือก็ออกจะใหญ่อย่างกับตึก

“มาทราบกันทีหลังว่าเรือออกไปตอนราว ๆ 3 ทุ่ม มันก็แปลกที่ผ่านสันดอนไปได้อย่างไร ถ้าไม่มีเรือนำร่อง เพราะมันเป็นกลางคืน อีกทั้งกัปตันและลูกเรือก็ไม่ใช่ชุดเก่า เพราะกัปตันที่นำเรือเข้ามาชื่อ วองจอง เชียง เป็นคนไต้หวัน มีลูกเรือ 21 คนอยู่ครบหมด ไม่ได้ไปกับเรือสักคน เรื่องนี้ถ้าสืบสวนกันแล้ว รับรองเจ้าหน้าที่ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องต้องหนาว ๆ ร้อน ๆ แน่” แหล่งข่าวคนหนึ่งให้ข้อมูลกับ “ผู้จัดการ”

วันที่ 6 สิงหาคม หลังจากเรือ “ดีลี่” ล่องหนได้ 4 วัน บริษัทเบียร์ซานมิเกลของท่านประธานาธิบดีมากอสก็มอบอำนาจให้ทนายความชื่อ สุประวัติ ใจสมุทร เข้าร้องเรียนกับพลตำรวจตรีบุญชู วังกานนท์ ผู้บังคับการตำรวจกองปราบ เพราะการล่องหนของเรือ “ดีลี่” นั้นทำให้ข้าวโพดมูลค่ากว่า 16 ล้านบาท ต้องล่องหนไปด้วย

กองปราบจึงตั้งทีมสืบสวนสอบสวนเพื่อการนี้ขึ้น โดยให้เป็นภารกิจของกองกำกับการ 1 ซึ่งมีพันตำรวจเอกบุญฤทธิ์ รัตนพร เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนหัวหน้าทีมชุดตามล่าโจรสลัดก็ได้แก่ พันตำรวจโทประเสริฐ จันทราพิพัฒน์ สารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 1 ร่วมกับตำรวจมือดีอีกหลายนาย

ทีมล่าโจรสลัดนี้เริ่มส่งสายสืบออกไปทางภาคใต้ของประเทศไทย ในราวเดือนกันยายนก็ได้รับรายงานกลับมาว่ามีเรือรูปพรรณใกล้เคียงกับเรือ “ดีลี่” ที่หายไปแวะเวียนมาจอดแถว ๆ เกาะภูเก็ตอยู่บ่อย ๆ

เพื่อความแน่ใจ ทีมงานของสารวัตรประเสริฐได้นำรูปถ่ายของเรือ “ดีลี่” ไปให้ชาวประมงและชาวบ้านแถบริมทะเลอันดามันของภูเก็ตดู ก็ได้รับคำยืนยันว่าเรือลำนี้มาจอดที่ภูเก็ตหลายครั้งจริง ทั้งนี้ก็มี นายอิ่มใจ เจริญใจ เป็นกัปตันเรือ

นายอิ่มใจ เจริญใจ เคยเป็นกัปตันเรือดูดแร่อยู่ที่ภูเก็ต ชาวบ้านรู้จักเขาเป็นอย่างดี และเป็นกัปตันที่มีชื่อเสียงมากในการนำเรือไปจมกลางทะเลเพื่อเอาเงินประกันภัย อิ่มใจบอกกับชาวบ้านแถบริมทะเลของภูเก็ตว่า เรือลำที่เขาเป็นกัปตันล่าสุดนี้เป็นเรือที่เขาซื้อมาจากคนไต้หวัน ก็ไม่มีใครเอะใจสักนิดว่าจะเป็นเรือที่ถูกโจรกรรมมา

ทีมล่าโจรสลัดจากกองปราบทราบต่อมาว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2528 เรือลำดังกล่าวเคยมาจอดเติมน้ำมันและหาเสบียงกรังอยู่ประมาณ 1 วัน ซึ่งก็จอดกลางทะเลไม่ยอมเข้าเทียบท่าเรือเหมือนกับเรือสินค้าทั่ว ๆ ไป ซึ่งก็ตรงกับการสืบทราบของตำรวจกองปราบอีกสายหนึ่งที่ระบุว่าเมื่อเรือ “ดีลี่” ออกไปจากปากน้ำบางคอแหลมแล้ว ได้เดินทางตรงไปสิงคโปร์และจัดการขายข้าวโพดที่บรรทุกมาให้กับพ่อค้าสิงคโปร์ โดยขนถ่ายสินค้ากันกลางทะเล ใช้คนงานขนข้าวโพดเป็นจำนวนร้อยคน จากนั้นจึงอ้อมแหลมมะละกาเข้ามาทางทะเลอันดามัน และใช้ภูเก็ตเป็นสถานีเติมน้ำมันกับหาเสบียง

“เราก็วางสายไว้ที่ภูเก็ตว่าหากพบเรือลำนี้อีกให้แจ้งมาที่กองปราบทันที” ตำรวจชุดล่าโจรสลัดก๊กนี้เล่าให้ฟัง

แล้วจุดจบของกลุ่มโจรสลัดก็มาถึง เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2528

เมื่อเรือ “ดีลี่” ซึ่งเปลี่ยนสีเรือและเปลี่ยนชื่อเป็น “อัลฟองโซ คอเรนโซ” มาจอดทอดสมออยู่หลังเกาะตะเภาน้อย อำเภออ่าวมะขามของจังหวัดภูเก็ต

กำลังจากกองปราบฯ ร่วมกับตำรวจน้ำได้เข้าจับกุมทันที ก็ได้ตัวนายประทาน จิตราคนี หัวหน้าพนักงานประจำเรือ นายประชุม ศิลา ต้นกล นายวิชิต บำรุงพงษ์ รองต้นกล พร้อมลูกเรือที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ อีก 12 คน และภายหลังยังได้ตัวนายอำพล สุนทรวิภาค ต้นเรือซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่โจรกรรมเรือ “ดีลี่” มาจากท่าเรือสาธุประดิษฐ์

ส่วนนายอิ่มใจ เจริญใจ หลุดรอดการจับกุมไปได้หวุดหวิด

จากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบคดีโจรกรรมเรือพร้อมกับข้าวโพดนี้ยังพาดพิงไปถึงนายเฉลิม ชาติเทพ และนายเฉลิมศักดิ์ หรือชื่อเล่นว่าน้อยด้วย และมีพ่อค้าในวงการส่งออกอีกบางคนให้ความร่วมมือมาตั้งแต่ต้น

ก็จะต้องดำเนินคดีกันต่อไป

ส่วนเรื่องที่ว่าเรือ “ดีลี่” ลำนี้จะเป็นกรรมสิทธิ์ของใครอย่างแท้จริงนั้น ก็คงต้องให้เป็นเรื่องที่พิสูจน์กันในชั้นศาล

คงคล้าย ๆ กับ เรื่องที่จบแล้วแต่ก็ยังไม่จบดี เพราะก็จะต้องมีการควานหาคำตอบกันอีกหลายคำตอบ

อย่างเช่นคำตอบเรื่องกรรมสิทธิ์เจ้าของเรือ

คำตอบว่าทำไมเรือจึงเดินทางออกจากปากน้ำเจ้าพระยาได้

โจรสลัดก๊กนายอิ่มใจเข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร และมีอะไรเป็นเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่

และจะทำอย่างไรกับชื่อเสียงของประเทศไทยที่เสียไป เพราะไม่สามารถส่งมอบข้าวโพดให้กับลูกค้าผู้สั่งซื้อได้

ดูเหมือนปัญหาของเรือ “ดีลี่” นี้จะไม่ใช่ปัญหาการโจรกรรมธรรมดา ๆ แต่มันเป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับการค้าระหว่างประเทศโดยตรง

และถ้ามันเป็นการทำงานที่ทำกันเป็นขบวนการแล้ว จะมีหลักประกันอย่างไรว่ากรณีเดียวกันนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก


คอลัมน์ อาชญากรธุรกิจ   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us