|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2528
|
|
ซัมซุงเป็นบริษัทชั้นนำบริษัทหนึ่งของเกาหลีใต้ ที่ก้าวผงาดขึ้นมาเป็นบริษัทข้ามชาติภายใต้การนำของประธานที่ชื่อ ลี ที่อายุ 75 ปี ซัมซุงทุกวันนี้กำลังบุกหนักในด้านอิเล็กทรอนิกส์ ที่มียอดขายปีที่แล้วถึง 1.7 พันล้านเหรียญ (46,000 ล้านบาท)
ซัมซุงมีโครงการจะผลิตคอมพิวเตอร์ให้กับเอเชียเรียกว่า เอเซียน คอมพิวเตอร์
สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของซัมซุงกำลังเริ่มติดตลาดในอเมริกาและยุโรป เฉพาะตลาดเตาไมโครเวฟ ซัมซุงส่งขายที่ห้างเจซี เพนนี แห่งเดียวเมื่อปีที่แล้วถึง 7 แสนกว่าเครื่อง
ความสำเร็จของซัมซุงเป็นความสำเร็จที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของประธานบริษัทซึ่งสร้างระเบียบวินัยที่เข้มงวดจัดให้กับพนักงานซัมซุงทั้งหลาย
ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมในตะวันตกกำลังหัวเสียกับการบุกตลาดของญี่ปุ่น แต่ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นเองก็ถูกรบกวนให้เกิดความกังวลจากประเทศเล็ก ๆ ประเทศหนึ่ง คือเกาหลีใต้ ซึ่งกำลังนำเทคโนโลยีชั้นสูง (HIGH-TECH) เข้าสู่ระดับโลก โดยพยายามฝ่าฟันมรสุมต่าง ๆ จากบริษัทต่าง ๆ ของอเมริกัน และหลบเลี่ยงคู่ต่อสู้จากบริษัทของพวกยุโรปอย่างเต็มกำลังความสามารถ
เทคโนโลยีชั้นสูงที่สำคัญมากของเกาหลีใต้ ได้แก่ ด้านอิเล็กทรอนิกส์ และบริษัทชั้นนำด้านนี้ก็คือบริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ (SAMSUNG ELECTRONICS CO.) หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า เอสอีซี (SEC) บริษัทซึ่งจากรายงานเมื่อปีที่แล้วพบว่า ยอดขายของเอสอีซีเพิ่มขึ้นถึง 91% คิดเป็นเงิน 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และปีนี้ซัมซุงตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องขายให้ได้ 2.1 พันล้านเหรียญ
เอสอีซีเป็นบริษัทผู้ส่งออกระดับแนวหน้าของเกาหลีใต้ประมาณ 56% ของสินค้าที่ผลิตได้ ได้แก่ วิดีโอเทป เตาอบไมโครเวฟ และทีวีสีที่ผลิตได้เมื่อปีที่แล้ว ถูกส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ
เมื่อเทียบกับสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ของทั้งประเทศ เอสอีซีส่งออกประมาณ 1/4 ของสินค้าประเภทนี้
เป้าหมายของการส่งออกปีนี้ (1985) เอสอีซีวางโครงการไว้ว่า จะส่งออกให้ได้มูลค่า 1.2 พันล้านเหรียญ
สินค้าส่วนใหญ่ส่งไปสหรัฐฯ การที่เอสอีซีทุ่มสุดตัวกับงานนี้ดู ๆ ก็น่าหวาดเสียวเหมือนกัน เพราะปัจจุบันธุรกิจด้านอิเล็กทรอนิกส์ของโลกยังอยู่ในท่ามกลางภาวะตกต่ำ การทำการจู่โจมอย่างรุนแรงของเอสอีซีจึงดูเหมือนว่าท้าทายพายุเศรษฐกิจอย่างน่าเสียวไส้แทน
แต่ใคร ๆ ในวงการธุรกิจโดยเฉพาะในเกาหลีก็รู้กันว่า บริษัทเอสอีซีเป็นพวกที่ชอบเสี่ยง
เมื่อ 3 ปีก่อน เอสอีซีแยกเซมิคอนดักเตอร์ (SEMICONDUCTOR ) ออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ชื่อ ซัมซุง เซมิคอนดักเตอร์ แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น ( SAMSUNG SEMICONDUCTOR AND TELECOMMUNICATIONS) เรียกสั้น ๆ ว่า เอสเอสที (SST)
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เอสเอสทีเป็นบริษัทแรก (นอกเหนือจากบริษัทในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น) ที่สร้างโรงงานผลิตเมมโมรี (MEMORIES ) ขนาด 64-เค (64-K ) สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ และได้นำส่งออกเมื่อปีกว่ามานี้เอง
และเมื่อต้นปีนี้ (1985) เอสเอสทีก็ได้ขยายโรงงานเพื่อผลิตเม็มโมรีขนาด 256 -เค ซึ่งจะสามารถนำออกจำหน่ายได้ปลายปีนี้ นอกจากนี้ยังวางแผนการผลิต เมมโมรีขนาด 1 เมกะบิต (1 MEGABIT ในปลายปี 1986 ซึ่งช้ากว่าญี่ปุ่น 1 ปี
ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เอสเอสทีก็ยังท้าทายด้วยการประกาศทุ่มทุนอีก 570 ล้าน เหรียญ ใน 2 ปี ข้างหน้าเพื่อขยายโรงงานเซมิคอนดักเตอร์อีก
ลี ยุง ชุล ( LEE BYUNG-CHULL) ประธานกรรมการบริหารซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งบริษัทเอสอีซีกล่าวเมื่อวันเปิดโรงงานเอสเอสที ในปี 1983 ว่า “ผมมีความมั่นใจว่า อุตสาหกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์จะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับเศรษฐกิจของเกาหลีในอนาคต”
ชุง แจ อุน (CHUNG JAE-UN ) ประธานบริษัทเอสอีซี กล่าวเสริมว่า
“ในอนาคต การคมนาคมและคอมพิวเตอร์ก็คือสิ่งเดียวกัน โดยจะเชื่อมถึงกันด้วยเซมิคอนดักเตอร์”
เอลี ฮาราริ ( ELLI HARARI) ประธานบริษัท เวเฟอร์สเกล อินทีเกรชั่น ( WAFERSCALE INTEGRATION ) ในเมืองเฟอร์มอนต์ (FERMONT) รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้กล่าวเตือนการทุ่มเงินของเอสอีซีว่า “คนญี่ปุ่นกำลังจะฆ่าคนเกาหลี สงครามระหว่าง 2 ประเทศนี้แม้จะไม่มีกระสุนปืนแต่ก็นองไปด้วยเลือด”
ทนายความอเมริกันคนหนึ่งในกรุงโซลเห็นด้วยกับความหวั่นวิตกของอาลี ฮาราริ ได้กล่าวเสริมขึ้นว่า
“เซมิคอนดักเตอร์เหมือนช้างเผือกเชือกใหญ่ ซัมซุงกำลังจะหมดตัวเพราะเรื่องนี้ เพราะเอสเอสทีไม่มีทางกระโดดหลบรถไฟที่วิ่งมาด้วยความเร็วสูงและกำลังพุ่งเข้าชนได้พ้น พวกเขาไม่รู้ตัวหรือไงว่ากำลังทุ่มเงินลงไปในสิ่งที่กำลังจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่ล้าหลังในไม่ช้านี้”
อย่างไรก็ตาม เอสเอสทีก็ยังประคับประคองตัวเองอย่างสุดความสามารถ และสามารถเข้าแข่งขันอยู่ในตลาดได้ บริษัทที่ผลิตคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เช่น แอปเปิล ( APPLES ) ไอบีเอ็ม (IBM ) และฮิวเลตต์แพคการ์ด (HEWLETT-PACKARDS ) ยังสั่งซื้อสินค้าของเอสเอสทีอยู่ ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตในสหรัฐฯ ไม่สามารถเข้าไปตีตลาดในยุโรปและอเมริกาได้เหมือนเอสเอสที
โรงงานสำหรับค้นคว้าวิจัยของเอสเอสทีอยู่ในสหรัฐฯ โดยจ้างชาวอเมริกันออกแบบสำหรับการผลิตแล้วนำแบบไปผลิตในเกาหลี สาขาของเอสเอสทีตั้งอยู่ที่ซานตา คลารา ( SANTA CLARA) แคลิฟอร์เนีย
นอกเหนือจากอุปกรณ์ด้านคอมพิวเตอร์แล้ว เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลสหรัฐฯ พบว่า บริษัทเอสอีซีเป็น 1 ใน 2 ของบริษัทเกาหลีที่ส่งโทรทัศน์สีเข้าไปขายในอเมริกา
เมื่อ 9 ปีก่อน ซัมซุงเข้าไปเป็นตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์ของฮิวเลตต์แพคการ์ดในเกาหลี จนกระทั่งคอมพิวเตอร์ของฮิวเลตต์มีตลาดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าคอมพิวเตอร์ในตลาดเกาหลี เมื่อปีที่แล้วซัมซุงของเกาหลีและเอชพี (ฮิวเลตต์แพคการ์ด) ของอเมริกาได้ทำสัญญาร่วมกันในการประกอบและขายคอมพิวเตอร์ในเกาหลี
ประธานบริษัทเอสอีซี คือ ชุง รายงานว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะสร้างเป็นคอมพิวเตอร์สำหรับเอเชีย เรียกว่า เอเชียน คอมพิวเตอร์ (ASIAN COMPUTER) โดยใช้แบบของเอชพี แต่แปลเป็นภาษาต่างประเทศในเอเชีย
ซัมซุงเลียนแบบยุทธวิธีที่ญี่ปุ่นเคยใช้เมื่อ 30 ปี ก่อน คือพยายามร่วมกับบริษัทต่าง ๆ เช่น จัดส่งชิ้นส่วนให้แก่กลุ่มผู้ผลิตนาฬิกาไซโกในญี่ปุ่น ร่วมผลิตหลอดภาพทีวีสีกับคอร์นนิ่ง แกลส เวิร์ก (CORNING GLASS WORKS) แห่งสหรัฐฯ และใช้เทคโนโลยีจากบริษัทอาไก ( AKAI FLECTRIC) ของญี่ปุ่นในการผลิตหัวแม่เหล็กที่ใช้กับเครื่องวิดีโอเทป แต่ซัมซุงก็มีข้อแตกต่างจากญี่ปุ่นตรงที่ในขณะที่ร่วมกับบริษัทต่างประเทศอื่น ๆ นั้น ซัมซุงก็บุกตลาดอิเล็กทรอนิกส์และตลาดไฮเทค ( HIGHTECH) ไปด้วยพร้อม ๆ กัน
ปัจจุบันสินค้าของซัมซุงไม่ว่าจะเป็นเตาไมโครเวฟ ทีวีสี สเตอริโอ และวิดีโอเทป กำลังจะเป็นที่ติดปากของชาวอเมริกันเหมือนกับที่ยี่ห้อโซนี่ และไพโอเนียร์ ( PIONEER ) เคยเป็นมาแล้ว และก็กำลังจะติดปากผู้ซื้อในตลาดยุโรปในไม่ช้าเพราะขณะนี้ซัมซุงกำลังเริ่มลงมือตีตลาดเตาไมโครเวฟในอังกฤษแล้ว
เตาไมโครเวฟของซัมซุงตีตลาดในอเมริกาได้ โดยชนะคู่แข่งคือไมโครเวฟของญี่ปุ่น และแม้กระทั่งของประเทศเจ้าบ้านเอง เมื่อปีที่แล้วเตาไมโครเวฟของซัมซุงมียอดจำหน่ายแค่ที่ เจ.ซี. เพนนี ( J.C. PENNEY ) (ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าใหญ่ในอเมริกา) แห่งเดียวตกเข้าไป 600,000-700,000 เครื่อง ในปีนี้เอสอีซีจึงวางแผนที่จะส่งออก ทีวีสี เป็นมูลค่า 265 ล้านเหรียญ และส่งเตาไมโครเวฟออกให้ได้ มูลค่า 170 ล้านเหรียญ
การดำเนินธุรกิจด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าหลายพันเหรียญ จำเป็นต้องมีผู้บริหารที่มือถึง และบุคคลที่เหมาะสมสำหรับงานนี้คือ ชุง (CHUNG) ซึ่งเป็นลูกเขยของประธานกรรมการบริหาร ชุงมีประวัติที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้มาก โดยจบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของเกาหลีคือเซอูลแนชชั่นแนล ยูนิเวอร์ซิตี้ ( SEOUL NATIONAL UNIVERSITY) ในปี 1950 ต่อมาเขาได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์กเป็นเวลา 9 ปี และเข้าทำงานกับบริษัท เบชเทล ( BECHTEL CORP.) เป็นเวลา 4 ปี
ตัวชุงเองไม่ค่อยจะสบายใจนักเมื่อเข้ารับตำแหน่งนี้ใหม่ ๆ เพราะมีเสียงซุบซิบนินทาจากคนภายนอกว่าที่เขาได้รับตำแหน่งนี้ก็เพราะเป็นลูกเขยของผู้ยิ่งใหญ่ในบริษัท เข้าทำนองระบบเครือญาติเกื้อหนุน แต่ถึงอย่างไรมันก็เป็นเพียงเรื่องของคนปากอยู่ไม่สุขเท่านั้น เพราะคนในวงการธุรกิจหลายคนที่จับตาดูอยู่ ต่างก็ยอมรับว่าชุงมีความเหมาะสมที่จะบริหารงานนี้ นักวิเคราะห์ของธนาคารอเมริกาชมเชยว่า “การบริหารงานของชุงนั้นยอดเยี่ยมมาก เขาเป็นบุคคลที่มีความสามารถสูงจริง ๆ”
ชุง เป็นคนหนุ่มวัย 46 ปี เขามีความเคารพนับถือประธานกรรมการบริหาร ผู้ก่อตั้งซัมซุง คือ ลี ( LEE) ชุงยกย่องลีเสมอ เขาเล่าว่า เวลาทำงานร่วมกับลีนั้น เขามีความรู้สึกเหมือนกับว่ายังเป็นนักศึกษาฝึกงานอยู่
ประธานกรรมการบริหารของซัมซุง คือ ลี อายุ 75 ปีแล้ว มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญี่ปุ่นมาก พูดภาษาญี่ปุ่นคล่องปรื๋อ และบินไปญี่ปุ่นปีละครั้งเพื่อเยี่ยมเยียนนักธุรกิจชั้นนำ และปรึกษาหารือเพื่อหาลู่ทางใหม่ ๆ
เอสอีซีมีระบบของตัวเองที่ไม่เหมือนบริษัทอื่น ๆ ในเกาหลี ลูกจ้างของเอสอีซีต้องแต่งตัวสุภาพเต็มยศตลอดเวลาที่ทำงาน จะเอาเนกไทออกไม่ได้ พนักงานทุกคนต้องตัดผมสั้น ใส่เสื้อขาว ผูกเนกไท ดูสุภาพเรียบร้อยและมีระเบียบ
ชุงพยายามให้ความใกล้ชิดกับพนักงานทุกคน และยึดคติของชายเกาหลี คือซื่อสัตย์และเชื่อฟัง ชุงประกาศให้ลูกน้องทุกคนฟังว่า “ทุกคนที่ซัมซุงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” และใช้นโยบาย “OPEN DOOR” ให้พนักงานทุกคนมีสิทธิ์เข้ามาหาเขาในออฟฟิศเพื่อปรึกษาปัญหาต่าง ๆ ของบริษัทได้ทุกเวลา ชุงบอกกับลูกน้องของเขาว่า “คนที่นี่ทุกคนเป็นเพื่อนร่วมงาน เราให้ความสุขทุกด้าน และมีความสัมพันธ์รวมไปถึงครอบครัวด้วย”
ระบบงานบริหารของซัมซุงเป็นที่โจษขานกันทั่วไป นักบริหารธุรกิจรถยนต์ชาวอเมริกันในกรุงโซล กล่าวว่า “ซัมซุงมีระบบบริหารงานที่ดีที่สุดในเมืองนี้”
โนมูระ (NOMURA) แห่งบริษัท มัทซูโมโต (MATSUMOTO) ถึงกับออกปากว่า “ผมอยากได้คนในกลุ่มของซัมซุงมาทำงานที่บริษัทผมบ้าง”
ฝ่ายที่มองซัมซุงไปอีกแง่หนึ่งก็มี กิม กี ซุก (KIM KI-SUK ) ผู้จัดการโรงแรมเวสต์เทิร์น โฮเต็ล (WESTERN HOTEL) ในกรุงโซล ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำงานในซัมซุงตอนที่จบวิชาทหารมาใหม่ ๆ เล่าประสบการณ์ในการฝึกงานในซัมซุงว่า เขากับเพื่อนร่วมรุ่นอีก 300 คน เข้ารับการปฐมนิเทศในตำแหน่งผู้จัดการในอนาคต หลักสูตร 1 เดือน
ในช่วง 1 เดือนนั้น พวกเขาต้องทำงานหนักและใช้ความอดทนอย่างสูง ต้องนั่งฟังเลกเชอร์ที่น่าเบื่อหน่ายโดยไม่มีสิทธิ์ซักถามข้อข้องใจ และยังต้องออกกำลังกายด้วยการวิ่งเป็นระยะทาง 12 กิโลเมตรทุกอาทิตย์
ขั้นตอนสุดท้ายของการปฐมนิเทศ พวกเขาเดินทางไปยังภูเขาแห่งหนึ่งนอกเมืองโซลตอนดึกสงัด โดยได้รับไฟฉายคนละกระบอก เพื่อให้ส่องหาสัญลักษณ์ของบริษัทซัมซุง ซึ่งซ่อนอยู่ในบริเวณภูเขาแห่งนั้น
คิมคุยว่า สำหรับบางคนมันอาจจะหนักไปหน่อย โดยเฉพาะถ้าเป็นพวกที่จบมหาวิทยาลัยมาหมาด ๆ แต่สำหรับเขา ไม่มีปัญหา เพราะเคยชินจากการฝึกหนักเมื่อครั้งเป็นนักเรียนทหาร
แต่คิมก็ลาออกจากซัมซุงหลังจากเข้าทำงานได้ 2 ปี เหตุผลก็คือ
“จริงอยู่ซัมซุงเปิดโอกาสให้ลูกจ้างทุกคนถีบตัวเองขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารได้ แต่ว่างานมันหนักเกินไป มันแพงไปสำหรับชีวิตวัยหนุ่มที่จะต้องถูกขโมยไปด้วยการทุ่มเทให้กับงานขนาดนั้น คิดดูซิ ต้องทำงานหนักวันละ 12 ชั่วโมง อาทิตย์ละ 6 วัน ความสัมพันธ์ระหว่างคนงานแทบไม่มีเลย เพราะทุกคนพุ่งความภักดีที่องค์กรหมด ทุกคนกลายเป็นลูกจ้างของซัมซุง แม้แต่ภรรยาก็ต้องมีส่วนยอมรับบริษัทเข้าไปในชีวิตประจำวันด้วย ทุกคนต้องซื้อสินค้าของซัมซุง และต้องมีความภาคภูมิใจที่เป็นหนึ่งในครอบครัวของซัมซุง รวมทั้งต้องไม่บ่นว่าสามีกลับบ้านดึก
ซัมซุงมีวิธีป้องกันการสไตรค์ โดยไม่อนุญาตให้มีสหภาพแรงงานในบริษัท แต่มีระบบให้คนงานมีส่วนร่วมในการบริหาร ซึ่งชุงกล่าวว่ามันดีกว่าสหภาพ ตัวเขาเองพยายามใกล้ชิดกับคนงาน และกล้าประกาศว่า “ค่าจ้างและสวัสดิการของเราสูงที่สุด เรามักจะพิจารณาถึงตัวลูกจ้างก่อนเพื่อน และพวกเราก็รักกันดี”
คอลัมน์ ต่างประเทศ
|
|
|
|
|