|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2528
|
|
ขณะที่ “ผู้จัดการ” ฉบับนี้ออกวางตลาด การกำหนดราคาอ้อยเบื้องต้นโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (กอน.) ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนชาวไร่อ้อย ตัวแทนโรงงานน้ำตาล ผู้ส่งออก และตัวแทนจากภาครัฐบาล คงสามารถตกลงกันได้แล้วว่าราคาควรจะเป็นเท่าไหร่ในฤดูการผลิตน้ำตาล 2528/2529
สิ่งที่เคยมีปัญหามาตลอดก็คือราคาของแต่ละฝ่ายที่เสนอมาไม่ตรงกันสักทีนั้น สำหรับปีนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่และอาจจะตกลงกันได้ง่ายกว่าปีก่อน ๆ
เพราะ 3 ปีหลังจากที่ใช้ระบบแบ่งผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่กับโรงงานน้ำตาล 70/30 (ดูแผนภาพที่ 1) ทุกฝ่ายรู้ต้นทุนของแต่ละฝ่ายในทุกขั้นตอน ไม่มีใครสร้างตัวเลขมาหลอกกันได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ การที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำก็ดี การที่ชาวไร่อ้อยต้องชำระเงินค่าอ้อยที่ได้รับเกินมาในฤดูการผลิต 2527/2528 ก็ดี และการชำระเงินกู้ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลกู้มาจากธนาคารพาณิชย์จำนวน 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ต้องชำระเงินคืนงวดแรกในปีนี้
ต่างเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไข หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งดันทุรังจะให้ได้ผลประโยชน์มากที่สุด ต่างก็รู้แจ้งแก่ใจว่าผลสุดท้ายก็ต้องประสบกับการพังพินาศของทุกฝ่าย
“ราคาอ้อยเบื้องต้นเมื่อฤดูการผลิต 2527/2528 ตั้งไว้ 395 บาท แต่ถึงตอนนี้ก็รู้กันแล้วว่าไม่ถึง เงินส่วนนี้ทางโรงงานจ่ายเกินไปประมาณ 600-700 ล้านบาท หากกองทุนอ้อยและน้ำตาลไม่ช่วยไปหาเงินกู้มาจ่ายคืนให้ทางโรงงาน โรงงานก็จะต้องหักจากราคาอ้อยเบื้องต้นในปีนี้ ซึ่งแน่นอน ชาวไร่อ้อยจะเป็นผู้เดือดร้อน แต่ปัญหาก็คือหากกองทุนฯ กู้มา ใครจะเป็นคนค้ำประกันเงินกู้จำนวนนี้” แหล่งข่าวใน กอน. พูดกับ “ผู้จัดการ”
ปัญหาการเงินอีกประการหนึ่งก็คือเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์จำนวน 78 ล้านดอลลาร์ ที่ถึงกำหนดที่ต้องชำระงวดแรกประมาณ 1,300 ล้านบาททั้งต้นและดอกเบี้ย ในจำนวนนี้เป็นดอกเบี้ยประมาณ 600 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นเงินที่กู้มาโดยมีเงื่อนไขปลอดการชำระหนี้ทั้งต้นทั้งดอก 3 ปี
“เงินในส่วนที่ต้องชำระหนี้ที่กู้มาตอนนี้ตกลงกับฝ่ายธนาคารพาณิชย์ได้แล้ว การจ่ายเงินต้นให้เลื่อนไป แต่ดอกเบี้ยต้องจ่าย รวมเงินที่ กอน. ต้องหาทางให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลกู้ประมาณ 1,100-1,200 ล้านบาท ปัญหามันมีอยู่ว่า กองทุนฯ มีหน้าที่กู้เงินมาโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี แต่กฎหมายไม่ได้เขียนว่ากู้มาแล้วใครจะเป็นผู้ค้ำประกัน นี่เป็นเรื่องใหญ่” แหล่งข่าวรายเดียวกันให้ความเห็นเพิ่มเติม
สิ่งที่ กอน. กำลังพยายามทำเพื่อแก้ปัญหาเงินที่ต้องคืนให้โรงงานน้ำตาลและธนาคารพาณิชย์ ก็คือเจรจากับกระทรวงการคลังให้เป็นผู้ค้ำประกัน แต่ขณะพิมพ์ต้นฉบับอยู่นี้กระทรวงการคลังยังไม่ได้ตกปากรับคำอะไรทั้งสิ้นเพราะปัญหาด้านการคลังตอนนี้กองสุมเป็นพะเนิน จะให้แส่รับภาระเพิ่มขึ้นใครจะไปยอม
“เท่าที่ฟังจากท่านรัฐมนตรีจิรายุ รู้สึกท่านคิดว่าไม่น่ามีปัญหาในการพูดคุยกับกระทรวงการคลัง เพราะ กอน. ได้ยืนยันไปว่าหากคลังไม่มั่นใจว่าจะได้เงินคืน เรายินดีให้หักรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวกระสอบละ 10-20 บาท และถ้ากระทรวงการคลังให้การค้ำประกันเงินกู้ เราก็ไม่มีปัญหาเลยในการหาแหล่งเงินดอกเบี้ยถูก” คนใกล้ชิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เล่าให้ฟัง
ถ้าเป็นอย่างที่ว่านี้จริง กระทรวงการคลังจะได้เงินคืนเป็นหลักประกันปีหนึ่ง 220 ล้านบาท ในกรณีที่หักเงินจากน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายดิบกระสอบละ 10 บาท หรือ 440 ล้านบาทในกรณีที่เก็บกระสอบละ 20 บาท คงพออุ่นใจได้บ้างหากราคาน้ำตาลยังไม่ดีขึ้นในระยะ 2-3 ปี
“เราไม่ขัดข้องที่จะให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลกู้ถ้าหากกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำ และเราก็เชื่อว่าอย่างไรเสียกระทรวงอุตสาหกรรมคงต้องหาเงินก้อนนี้มาให้ได้ ไม่อย่างนั้นการปล่อยเงินกู้ให้กับโรงงานที่เขาต้องเอาไปจ่ายให้ชาวไร่อ้อยในฤดูการผลิตนี้มีปัญหาแน่ เพราะถ้าปล่อยให้กับอุตสาหกรรมทั้งระบบ เงินหมุนเวียนตกประมาณ 10,000-12,000 ล้านบาท” แหล่งข่าวในสมาคมธนาคารไทยให้ความเห็น
นึกไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังต่ำเตี้ยอย่างที่เป็นมาตั้งแต่ปี 2525 (ดูตารางที่ 1) ในปีต่อไปจะแก้ปัญหาเรื่องการเงินกันอย่างไร เพราะเงินที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้ไม่ใช่ได้มาฟรี ๆ ต้องเสียดอกเบี้ยให้กับผู้ฝากทุกบาททุกสตางค์ที่รับเข้ามา แต่อะไรก็ไม่ร้ายเท่าเมื่อปล่อยกู้ไปแล้วไม่รู้ว่าจะได้เงินต้นคืนอีกกี่ปี เพราะยังเดาไม่ออกว่าเมื่อไหร่น้ำตาลมันจะดีขึ้น
“ในตลาดโลกผลผลิตกับการบริโภคก็ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ราว 90 ล้านตันต่อปี บางปีก็ 92-93 ล้านตัน ด้านผลผลิตถ้าปีใดมันเกินความต้องการบริโภค 4-5 ล้านตันก็ชักยุ่ง และน้ำตาลจำนวนที่ว่านี้มันได้มีการสะสมการผลิตมากกว่าการบริโภค 2-3 ปีติดต่อกัน เพราะฉะนั้นสต๊อกของโลกที่ข้ามปีเพิ่มจาก 20 ล้านตันเป็น 40 ล้านตัน” ณรงค์ ศรีสอ้าน จากแบงก์กสิกรไทยให้ความเห็น
การที่น้ำตาลเหลือสต๊อกอยู่ในตลาดโลกอยู่มากทำให้ตลาดนี้กลายเป็นตลาดของผู้ซื้อ รวมทั้งจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้ผลิตน้ำตาลตกต่ำก็ยิ่งทำให้ราคาน้ำตาลทิ่มหัวลงเรื่อย ๆ
“ในระยะสั้นสำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาลในปีสองปีนี้ ผมรู้สึกว่ายากที่จะกระเตื้องขึ้น ผมยังไม่เห็นปัจจัยอะไรที่จะทำให้ราคามันกระเตื้องขึ้นอย่างมากมาย สินค้าการเกษตรทั่วไปก็ตกต่ำ แรงกระตุ้นจากข้างนอกก็ไม่มีหรือน้อยลง โอกาสฟื้นตัวขึ้นคงค่อนข้างไกล” ความเห็นจาก ดร.โอฬาร ไชยประวัติ แห่งธนาคารไทยพาณิชย์ แบงเกอร์หนุ่มที่รู้เรื่องน้ำตาลมากที่สุดคนหนึ่ง ที่คงพอบอกได้ถึงอนาคตของอุตสาหกรรมประเภทนี้
ภาพอนาคตของอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ “ผู้จัดการ” นำมาเสนอนี้ออกจะน่ากลัวไปสักหน่อย แต่มันก็เป็นข้อเท็จจริงที่ควรสำเหนียกเอาไว้สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะต่อไปนี้การแก้ปัญหาเรื่องน้ำตาลจะต้องกำหนดเป็นนโยบายระยะยาว และแก้ทุกจุดที่มีปัญหา เวลานี้ได้แต่แก้เรื่องเฉพาะหน้าไปเป็นปี ๆ ความไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอยในนโยบายเรื่องนี้ อาจจะสรุปให้เห็นได้จากคำพูดของผู้บริหารบริษัทส่งออกรายหนึ่งที่ให้ความเห็นไว้ดังนี้
“ที่น่าเป็นห่วงก็คือ เรื่องนโยบายของรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เพราะรัฐบาลมักจะพูดอยู่เสมอว่าพยายามจำกัดการขยายตัวของอุตสาหกรรมน้ำตาล แต่ก็ปล่อยให้มีการสร้างโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเช่นโรงงานรีไฟน์ชัยมงคล (อยู่ในเครือบริษัทน้ำตาลวังขนาย) กำลังผลิตสามารถหีบอ้อยได้วันละ 18,000 ตัน เป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชีย ซึ่งเริ่มผลิตได้ในปีนี้ และก็คงทำให้ปัญหาเรื่องราคาน้ำตาลรุนแรงขึ้น"
คอลัมน์ อุตสาหกรรมการเกษตร
|
|
|
|
|