|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2528
|
|
วิบูลย์ ผาณิตวงศ์ กลายเป็นเซียนอายุเยาว์ที่สุดในวงการน้ำตาล เมื่อเขาสามารถทำกำไรให้กิจการที่ตายแล้วอย่างโรงงานน้ำตาล 13 ในปี 2523 และกลายเป็นนักธุรกิจน้ำตาลที่มีเครดิตดีที่สุดในสายตาของธนาคารพาณิชย์
ดังนั้น เมื่อเขาตัดสินใจขยายโรงงานน้ำตาลในเครือบริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง อย่างก้าวกระโดดในปี 2525-2526 โดยซื้อโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีก 4 โรง รวมเป็นโรงงานในกลุ่ม 6 โรง จึงได้รับการสนับสนุนด้านเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ชั้นนำอย่างเต็มที่
ปี 2527 ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำลงไปอีกอย่างพลิกความคาดหมายของนักธุรกิจน้ำตาล ปี 2528 ยิ่งเลวร้ายหนักขึ้นไปอีก และนี่คือที่มาของสิ่งที่หลายคนคิดว่า “จุดจบ” ของวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ และกลุ่มบ้านโป่ง แต่จะไม่เป็นธรรมกว่าหรือถ้าหากเราจะมาดูความเป็นมาของคนคนนี้กับกลุ่มน้ำตาลแห่งนี้ ก่อนที่จะตัดสินใจว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร?
วันที่ 13 ตุลาคม 2528 ที่เพิ่งผ่านมา วิบูลย์ ผาณิตวงศ์ อายุครบ 41 ปีบริบูรณ์ จัดได้ว่าเป็นคนหนุ่มมาก ๆ ในฐานะที่เป็นผู้นำกิจการของกลุ่มโรงงานน้ำตาลบ้านโป่ง ซึ่งมีสินทรัพย์รวมกันไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท และมีหนี้สินล่าสุดประมาณคร่าว ๆ 7,000 ล้านบาท
ในวงการธุรกิจน้ำตาล วิบูลย์เป็นคนรุ่นใหม่ และอาจจะพูดได้ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ได้รับความเชื่อถือจากธนาคารพาณิชย์ที่ทำมาหากินกับอุตสาหกรรมน้ำตาลมากที่สุด ก่อนที่กลุ่มโรงงานน้ำตาลบ้านโป่งจะมีปัญหาในปีนี้
จากพื้นเพของครอบครัวที่เคยเป็นชาวไร่อ้อย ซึ่งถีบตัวขึ้นเป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาล ขณะที่พี่ ๆ กำลังช่วยพ่อปลุกปั้นโรงงานของครอบครัว วิบูลย์ไม่ลังเลใจเลยที่จะเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ในสาขาวิชาพืชไร่ และเมื่อสำเร็จปริญญาตรีก็ยังไปเรียนต่อโทที่ UNIVERSITY OF FLORIDA ในสาขาวิชาเดียวกัน
คงสรุปได้ว่าวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ได้กำหนดเส้นทางชีวิตของเขาเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นวัยรุ่น
ปี 2513 หลังจากกลับจากต่างประเทศ และเข้าทำงานในสนามจริงที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงาน น้ำตาลมิตรผลได้ 4 ปี ความประจวบเหมาะหลายประการผลักดันให้วิบูลย์ได้ออกมายืนในแถวหน้าของนักธุรกิจในวงการน้ำตาลอย่างเต็มภาคภูมิ
ปี 2518 เป็นปีที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกดีมาก การแยกตัวไปตั้งโรงงานน้ำตาลบ้านโป่งของตระกูล “ผาณิตพิเชฐวงศ์” (นามสกุลเดิมของวิบูลย์ เปลี่ยนเป็น “ผาณิตวงศ์” ปี 2519 เนื่องจากติดต่อการค้ากับต่างประเทศ เหตุผล-เขียนเป็นภาษาอังกฤษแล้วมันยาว) กับ “ว่องกุศลกิจ” เป็นไปอย่างสะดวกเพราะกำไรที่ได้จากการขายน้ำตาลปีนั้น
เปิดโอกาสให้คนหนุ่มอายุแค่ 31 ปีอย่างวิบูลย์ ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารของบริษัทโรงงานน้ำตาลบ้านโป่ง ซึ่งมีอำนาจในการบริหารงานจริงอยู่ในมือ จากแรงสนับสนุนของพี่ ๆ
และในปีเดียวกันนั้นความขัดแย้งระหว่างชลอ สัมพันธารักษ์ ที่เป็นรองกรรมการผู้จัดการ บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย ที่เป็นบริษัทส่งออกน้ำตาลทรายดิบแต่เพียงผู้เดียว กับคณะบริหารของบริษัทที่มีบรรเจิด ชลวิจารณ์ เป็นกรรมการผู้จัดการ ถึงจุดสุกงอมเต็มที่
ชลอ สัมพันธารักษ์ จึงออกมาตั้งบริษัทส่งออกน้ำตาลทรายแห่งที่ 2 ของเมืองไทย ที่ชื่อว่าบริษัทค้าผลผลิตน้ำตาล และคนที่ชลอเลือกมานั่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการบริหารงานคู่กับตน ก็คือวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ที่คนเก่าคนแก่ในวงการดูถูกว่าเป็น “เจ้าเด็กปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม”
ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม การก้าวขึ้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการของบริษัทค้าผลผลิตน้ำตาลถือว่าเป็นการเปิดบทบาทที่ค่อนข้างสูงมากของวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ในวงการน้ำตาลระดับประเทศ
ความเป็นคนหนุ่มไฟแรง ประกอบกับประสบการณ์ที่ได้จากการไปศึกษาในสหรัฐฯ ทำให้วิบูลย์เข้าใจกลไกการส่งออกน้ำตาลทรายดิบเป็นอย่างดี เขารู้ว่าการสร้างกำไรนั้นสามารถทำให้มันมากขึ้นได้โดยการใช้ตลาดการซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้า
บริษัทค้าผลผลิตฯ จึงไปเปิดสาขาที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ศูนย์กลางซื้อขายน้ำตาลของโลกแห่งหนึ่ง เพื่อมุ่งแสวงหากำไรจากการซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้า
แน่นอนเมื่อธุรกิจใดมุ่งหวังกำไรที่มากกว่า ก็ต้องทำใจให้ยอมรับความเสี่ยงที่สูงกว่า
แต่ไม่แน่ใจนักว่าระหว่างชลอ สัมพันธารักษ์ กับวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ใครเป็นคน “พลาด” เมื่อกิจการสาขาลอนดอนในปี 2522 ขาดทุนจากการซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้าในวงเงินที่สูงพอสมควร
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องขาดทุน แต่อยู่ที่ว่า “ใคร” คือผู้รับผิดชอบการขาดทุนที่เกิดขึ้น เพราะบริษัทค้าผลผลิตฯ เป็นเพียงบริษัทส่งออกน้ำตาลทรายดิบที่ถือหุ้น โดยโรงงานน้ำตาลในกลุ่มของสมาคมการค้าผู้ผลิตน้ำตาล
หากทว่าการบริหารงานทั้งหมดของบริษัทค้าผลผลิตฯ เป็นอำนาจหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการและรองกรรมการผู้จัดการ การเปิดสาขาที่ประเทศอังกฤษก็ใช่ !
บทสรุปก็คือภาระหนี้ที่เกิดขึ้นเลี่ยงไม่ได้ว่าบริษัทค้าผลผลิตฯ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และ ชลอ สัมพันธารักษ์ กับวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ก็ต้องแสดงสปิริตโดยการลาออก
ผู้บริหารชุดใหม่ที่เข้ามาทำหน้าที่แทนก็คือชวลิต ชินธรรมมิตร จากกลุ่มโรงงานกว้างสุ้นหลีทำหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการ โดยมีรอง 2 คน คือ วิฑูรย์ ว่องกุศลกิจ และวิชัย ชินธรรมมิตร
คนใกล้ชิดกับเหตุการณ์ในขณะนั้นเล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟังว่า วิบูลย์เจ็บช้ำน้ำใจกับเรื่องนี้มาก เพราะหากทำธุรกิจที่สาขาลอนดอนต่อไปกำไรมหาศาลรออยู่แล้วในปี 2523 ซึ่งเป็นปีทองของอุตสาหกรรมน้ำตาลอีกปีหนึ่ง
แล้วด้วยความเจ็บใจวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ จึงลาออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทโรงงานน้ำตาลบ้านโป่ง หันไปทำหน้าที่บริหารโรงงานน้ำตาลธนบุรี 13 (หนึ่งสาม) ของกลุ่มกว้างสุ้นหลี ซึ่งมีปัญหาเรื่องการจัดการและมีหนี้สินเป็นพันล้านบาทที่กู้ยืมมาจากธนาคารพาณิชย์ 11 ธนาคาร
ปี 2523 น้ำตาลในตลาดโลกก็ “บูม” ขึ้นมาจริง ๆ วิบูลย์ ผาณิตวงศ์ แม้จะเหนื่อยในการเข้าไปแก้ไขปัญหาของโรงงานธนบุรี 13 แต่ก็แสนจะคุ้มเพราะแค่ปีเดียวสามารถบริหารจนได้เงินมาชำระเจ้าหนี้ได้หมด แถมยังได้โรงงานน้ำตาลผนวกเข้ากับบริษัทโรงงานน้ำตาลบ้านโป่งอีก 1 โรง
สิ่งที่วิบูลย์ ผาณิตวงศ์ อาจจะคิดว่ามีคุณค่าเหนือกว่าโรงงานธนบุรี 13 ที่เปลี่ยนชื่อเป็นธนราช ก็คือเครดิตที่ตนได้จากบรรดาผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย
ที่สำคัญที่สุดเขาได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าฝีมือการบริหาร การคาดและเก็งจังหวะราคาน้ำตาลในตลาดโลกของเขามันเหนือชั้นกว่าบรรดาเซียนอาวุโสของวงการที่เคยดูหมิ่นเขาเป็น “เด็กปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม”
ไม่มีอะไรมาหยุดคนที่ชื่อวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ได้อีกแล้ว
ปี 2524 และ 2525 ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดต่ำติดต่อกัน ในปีแรก พอผ่านพ้นไปได้เพราะกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเงินพรีเมียมจำนวน 780 ล้านบาทมาจ่ายชดเชย
แต่ในปีที่ 2 เมื่อเงินพรีเมียมใช้ไปหมดแล้ว และราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังคงตกต่ำเหมือนปีก่อน ทางแก้ไขก็คือระบบแบ่งผลประโยชน์จากการจำหน่ายน้ำตาลทั้งในประเทศและส่งออกระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาล ในสัดส่วน 70/30
ในปี 2525 นี้เองวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ กลับเข้ามาเป็นกรรมการของบริษัทโรงงานน้ำตาลบ้านโป่งอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เป็นการเข้ามายึดครองบริษัทแห่งนี้อย่างสิ้นเชิงโดยตระกูล “ผาณิตพิเชฐวงศ์” เพราะกรรมการที่มีนามสกุล “ว่องกุศลกิจ” ที่เคยร่วมก่อตั้งบริษัทมาด้วยกัน ลาออกไปทั้งแผง ไม่ว่าจะเป็น “สุนทร” “วิฑูรย์” และ “อิสระ”
และเป็นครั้งแรกที่วิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องที่ร่วมกันถือหุ้นในบริษัท ให้นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ ดูแลการบริหารทั้งโรงงานน้ำตาลบ้านโป่ง และธนราช
ระบบแบ่งผลประโยชน์ 70/30 มีกลุ่มโรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรืองค้านอย่างเหนียวแน่น เมื่อไม่เป็นผลจึงประกาศขายโรงงานน้ำตาลในกลุ่มของตน
วิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ก็ตัดสินใจซื้อโรงงานน้ำตาลร่วมกำลาภและกรุงไทยเข้ามาในกลุ่มน้ำตาลบ้านโป่ง-ธนราช โดยเปลี่ยนชื่อเป็นเกษตรผลและเกษตรไทยตามลำดับ
ปี 2526 กลุ่มโรงงานน้ำตาลบ้านโป่ง ซื้อกิจการของโรงงานน้ำตาลนครปฐม และในปีเดียวกัน ซื้อโรงงานน้ำตาลมหาคุณ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นโรงงานน้ำตาลสิงห์บุรี
ปี 2528 เดือนตุลาคม กลุ่มเจ้าหนี้ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ 14 ธนาคาร บริษัทเงินทุน 17 บริษัท ร่วมกันตั้งคณะทำงานเข้าไปควบคุมการบริหารของกลุ่มโรงงานน้ำตาลบ้านโป่ง
วิเคราะห์จุด “พลาด” ของวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ และกลุ่มโรงงานน้ำตาลบ้านโป่ง
บุคคลที่ “ผู้จัดการ” ได้ติดต่อเพื่อสัมภาษณ์และได้สัมภาษณ์ไปแล้ว รวมทั้งได้รับอนุญาตให้เปิดเผยชื่อได้ก็คือเริงชัย มะระกานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารธนาคารแห่งประเทศไทย ณรงค์ ศรีสอ้าน กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ดร. โอฬาร ไชยประวัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และอำนวย ปะติเส ผู้จัดการทั่วไปบริษัทค้าผลผลิตน้ำตาล
ทั้ง 4 ท่านนี้ต่างมีส่วนร่วมหรือรับรู้ขั้นตอนในการแก้ปัญหาของกลุ่มโรงงานน้ำตาลบ้านโป่งช่วงปลายเดือนสิงหาคมต่อกับต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาทั้งสิ้น
ทุกท่านที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ผู้จัดการ” ได้แทรกคำถามอยู่ข้อหนึ่งว่า ทำไมวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ และกลุ่มโรงงานน้ำตาลบ้านโป่งจึง “พลาดไ
คำตอบที่ได้รับออกมาในทำนองเดียวกันก็คือ ปัญหาราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทบกับธุรกิจน้ำตาลทุกกลุ่ม กับการที่กลุ่มโรงงานน้ำตาลบ้านโป่งขยายตัวติดต่อกันทั้งการซื้อโรงงานเพิ่มและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งต้องใช้เงินกู้จากธนาคารพาณิชย์จำนวนมาก
ทั้ง 2 สาเหตุที่มาประจวบกัน ทำให้กลุ่มโรงงานน้ำตาลบ้านโป่งเกิดปัญหาการเงินไม่สามารถชำระดอกเบี้ยเงินที่กู้มาได้ รวมทั้งโครงสร้างการกู้ยืมเงินก็เหมือนกับธุรกิจทั่วไปคือกู้ระยะสั้น หรือใช้ วงเงินโอดี บรรดาเจ้าหนี้ที่เป็นธนาคารพาณิชย์จึงไม่ยอมต่อสัญญาเงินกู้
ผลที่ตามมาก็คือการขาดทุนหมุนเวียนจากแหล่งเงินที่เคยได้ไปชำระไถ่ถอน น้ำตาลทรายดิบที่ติดจำนองเพื่อส่งออกเมื่อปลายเดือนสิงหาคม จนกระทั่งเรื่องราวลุกลามไปถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และได้สั่งการผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปแก้ปัญหา
ในที่สุดน้ำตาลทรายดิบล็อตที่มีปัญหาจำนวน 70,000 ตัน ก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ข้อตกลง” ร่วมระหว่างธนาคารพาณิชย์ที่รับจำนำน้ำตาล ธนาคารพาณิชย์ที่รับแพ็กกิ้งเครดิตจากบริษัทผู้ส่งออกและผู้ส่งออกเอง (รายละเอียดในเรื่องนี้ อยู่ในเรื่อง “ข้อตกลงยุติศึกบ้านโป่ง ยุทธวิธีขายผ้าเอาหน้า (ประเทศ) รอด”)
ลองมาวิเคราะห์สาเหตุที่สรุปจากท่านผู้รู้กันดีกว่า เอาให้ละเอียดลึกเข้าไปอีกหน่อย
“วงจรราคาน้ำตาลจะอยู่ในราว 5-6 ปี คือมันจะขึ้น 3 ปี แล้วลง 3 ปี ในอดีตที่ผ่านมาตัวเลขมันก็เป็นอย่างนั้น แต่เผอิญ 5 ปี ที่ผ่านมา มันไม่เหมือนกับในอดีต ธรรมชาติของมันยาวออกไป วงจรของมันยาวออกไป...” ดร. โอฬาร ไชยประวัติ อธิบายให้ฟังถึงวงจรราคาน้ำตาล
ก็ด้วยเหตุที่วงจรน้ำตาลที่ยืดยาวออกไปนี่เอง ทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลปั่นป่วนไปทั้งระบบ ถึงรัฐมนตรีจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เองก็พลอยพลาดไปด้วย
เพราะในปี 2525 (ฤดูการผลิตน้ำตาล 2525/2526) ที่นำระบบแบ่งประโยชน์ 70/30 มาใช้ ก็ต้องเริ่มต้นจากการกู้เงินธนาคารพาณิชย์ 8 ธนาคาร จำนวน 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อนำมาพยุงราคาอ้อยในปีนั้น โดยกำหนดระยะเวลาปลอดชำระหนี้ 3 ปี (2525/2526-2527/2528)
เอาเข้าจริง ๆ ราคาน้ำตาลปี 2528 มันยิ่งต่ำหนักข้อเข้าไปอีก ราคาเฉลี่ยน้ำตาลทรายดิบที่ตลาด นิวยอร์กตลอดทั้งปี 2525 เท่ากับ 8.42 เซ็นต์/ปอนด์ หรือประมาณกระสอบละ 427 บาท (คิดตามค่าเงินดอลลาร์ละ 23 บาท)
แต่ราคาน้ำตาลทรายดิบที่ตลาดเดียวกันเมื่อเดือนพฤษภาคม 2528 เหลืออยู่แค่ 2.77 เซ็นต์/ปอนด์ หรือกระสอบละ 165 บาท นี่คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ดอลลาร์ละ 27 บาท หากคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อปี 2525 น้ำตาลทรายดิบก็จะเหลือแค่กระสอบละ 140.50 บาท เท่านั้น
จนขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ ยังตกลงกันไม่ได้ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะเอาจากไหนไปใช้หนี้ แม้จะได้รับการต่ออายุระยะปลอดหนี้ให้ชำระแค่ดอกเบี้ยก็ตาม
วิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ก็มีแนวคิดแบบนี้ คือเชื่อในวงจรราคาน้ำตาลว่าปี 2527 หรือ 2528 ราคาน้ำตาลในตลาดโลกมันน่าจะดีขึ้นได้แล้ว
ว่ากันว่า แนวคิดเรื่องวงจรราคาของรัฐมนตรีจิรายุก็ไม่ได้ผุดมาจากไหนหรอก ก็จากความเชื่อในตัววิบูลย์นี่แหละ ว่าคงเก็งเรื่องราคาไม่ผิดเหมือนที่เคยพิสูจน์ฝีมือมาแล้ว
ด้วยพื้นฐานความเชื่อที่ว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะดีขึ้นไม่เกินปี 2527 หรือฤดูการผลิต 2527/2528 วิบูลย์ ผาณิตวงศ์ จึงเร่งขยายการผลิต โดยซื้อโรงงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่กลุ่มโรงงานอื่นชะลอ หรือขายโรงงานบางส่วนไปเสียด้วยซ้ำ (ยกเว้นกลุ่มที่เพิ่งก่อตั้งอย่างวังขนาย)
การผนวกโรงงานน้ำตาลธนบุรี 13 เข้ามาแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นธนราชเป็นสิ่งที่พอเข้าใจกันได้ง่าย เพราะตอนที่วิบูลย์ เข้าไปบริหารโรงงานน้ำตาลแห่งนี้เรียกได้ว่าเป็นกิจการที่ “ตาย” ไปแล้ว เมื่อสามารถทำให้ฟื้นขึ้นมาได้ ชำระหนี้สินให้บรรดาเจ้าหนี้ได้หมด ก็เท่ากับได้รับโอนโรงงานน้ำตาลธนบุรี 13 มาเป็นของตนโดยปริยาย
แต่การเข้าไปซื้อโรงงานน้ำตาลร่วมกำลาภและกรุงไทยยังมีหลายคนสงสัยอยู่ ข้อเท็จจริงตอนที่กลุ่มโรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรืองประกาศขายโรงงานของตน เพราะไม่พอใจนโยบาย 70/30 นั้นประกาศขายทุกโรง
“เขาเลือกซื้อร่วมกำลาภก็อาจจะเป็นได้ว่าตระกูลของเขามีพื้นเพมาจากการเป็นชาวไร่อ้อย และเริ่มต้นก็ส่งอ้อยให้กับโรงงานน้ำตาลร่วมกำลาภ ซึ่งเป็นโรงงานน้ำตาลแห่งแรกของจังหวัดกาญจนบุรี (ย้ายจากซอยพร้อมพงศ์ กรุงเทพฯ) ไปตั้งที่อำเภอท่ามะกา เมื่อปี 2506 ต่อมามีปัญหากับโรงงานพวกพี่น้องตระกูลผาณิตพิเชฐวงศ์ จึงหันมาทำโรงงานน้ำตาล เมื่อมีโอกาสก็ซื้อเสียเลยเพื่อลบรอยแค้นในอดีต” แหล่งข่าวในวงการน้ำตาลเล่าให้ฟัง
ก็พอเข้าเค้าเหมือนกันเพราะโรงงานน้ำตาลร่วมกำลาภเป็นโรงงานน้ำตาลโรงแรกของสุรีย์ อัษฎาธร เจ้าของกลุ่มไทยรุ่งเรือง ส่วนโรงงานน้ำตาลกรุงไทย และไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรมเพิ่งตั้งเมื่อ ปี 2510
“ไม่น่าจะเป็นแบบนั้นนะครับ ผมว่าที่คุณวิบูลย์ซื้อก็เพราะทำเลของโรงงานน้ำตาลอยู่กลางไร่อ้อย ปัญหาเรื่องการขนส่งมีน้อย และเป็นโรงงานรุ่นเก่ากำลังผลิตน้ำตาลแค่ 70 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ซื้อได้ในราคาไม่แพง และเอามาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้นก็คุ้ม อีกอย่างหนึ่งวิธีนี้คุณวิบูลย์เคยทำได้ผลมาแล้วกับโรงงานธนบุรี 13” แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งให้ความเห็น
ส่วนการซื้อโรงงานน้ำตาลนครปฐมและมหาคุณ คงไม่มีเหตุผลอื่นนอกจากเป็นการเตรียมกำลังผลิตไว้สำหรับราคาน้ำตาลตลาดโลกสูงขึ้นในปี 2527 หรือ 2528
คงไม่เป็นปัญหาอะไรหรอกถ้าวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ใช้เงินกำไรหรือเงินทุนของตัวเองมาซื้อโรงงานน้ำตาล แม้ในช่วงที่ราคาน้ำตาลตกต่ำ
ปัญหามันก็คือเงินที่นำมาขยายกิจการของตนเป็นเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ ที่แม้จะเต็มอกเต็มใจให้กู้ แต่ก็คิดดอกเบี้ย
และการลงทุนในโรงงานน้ำตาลที่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานรุ่นเก่า ไม่ใช่ซื้อมาแล้วผลิตน้ำตาลได้เลย ยังจะต้องเสียเงินปรับปรุงเครื่องจักร การจัดการ ฯลฯ เพื่อเพิ่มกำลังผลิตให้สูงขึ้น งานเหล่านี้ต้องใช้เงินและหนีไม่พ้นเป็นเงินที่ต้องกู้จากธนาคารอีกเช่นกัน
“คนในวงการน้ำตาลที่คิดแบบคุณวิบูลย์ไม่ใช่ว่าจะไม่มี แต่เขาไม่มีสิ่งที่คุณวิบูลย์มี ก็คือเครดิตที่นายแบงก์เชื่อถือ เมื่อคุณวิบูลย์อยากกู้เงินไปขยายโรงงาน ธนาคารก็อยากจะให้คุณวิบูลย์กู้ มันก็แปะเอี่ย พอกิจการมีปัญหาก็ร้องจ๊ากกันเป็นแถว ผมกล้าพูดได้เลยว่าตอนที่คุณวิบูลย์จะซื้อร่วมกำลาภกับกรุงไทย แบงก์ใหญ่ ๆ 2-3 แบงก์ให้ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ตั้งทีมงานให้ความสะดวกคุณวิบูลย์เต็มที่ แย่งกันให้กู้ว่างั้นเถอะ” พนักงานแบงก์เก่าที่ลาออกไปหากินกับโรงงานน้ำเมาเล่าแบบเยาะ ๆ
เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายมาจนถึงปัจจุบัน พออ่านเกมออกว่าการที่วิบูลย์กล้ากู้เงินมาเรื่อย ๆ เพื่อขยายกิจการมีความหวังหนึ่งเดียวก็คือ ราคาน้ำตาลจะต้องดีขึ้น ไม่ต้องดีขึ้นมากขนาด 28 เซ็นต์/ปอนด์ อย่างเมื่อต้นปี 2524 หรอกแค่ 10 เซ็นต์/ปอนด์ ก็เหลือพอจ่ายดอกเบี้ยเงินที่กู้มาได้ เพราะยังพอมีเงินที่ได้จากการขายน้ำตาลทรายขาวในประเทศมาช่วย (อ่านรายละเอียดเรื่อง “คนไทยกินน้ำตาลราคาแพงที่สุดในโลก”)
และความหวังหนึ่งเดียวของวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ก็ไม่ได้เป็นเช่นที่หวัง
ลงท้ายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ “พยัคฆ์ หนุ่มลำพอง” ก็ต้องก้มหน้าก้มตาบริหารงานต่อไปชนิดที่ไม่มีแม้แต่เวลาเลียแผลตัวเอง
ทำงานในบทบาทใหม่ที่ผิดแผกไปจากเดิม คือจากสภาพการบริหารแบบเป็นเจ้าของกิจการร่วมกับพี่น้อง ก็ต้องลดฐานะเป็นเพียงผู้บริหารภายใต้การดูแลเห็นชอบของตัวแทนเจ้าหนี้
จนกว่าจะถึงวันนั้น ... วันที่เขามักตอบคำถามของนักข่าวที่ถามว่า เขาวางแผนชีวิตในระยะ 5-10 ปี ไว้อย่างไร? ซึ่งคำตอบก็คือ ปราศจากหนี้สิน ขยายการลงทุนไปต่างประเทศ เป็นผู้ค้าน้ำตาลระหว่างประเทศ
คอลัมน์ อุตสาหกรรมการเกษตร
|
|
|
|
|