|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2528
|
|
วรรณ ชันซื่อ สนใจเรื่องการเมืองมาก
แต่ก็เป็นความสนใจในฐานะผู้สังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มิใช่จะสนใจในแง่ที่อยากกระโจนเข้าไปเล่นการเมืองด้วย
“โดยขนาดของธุรกิจของผม มันมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด เพราะฉะนั้นต้องสังเกตว่าการเมืองจะไปทางไหน เราจะได้ปรับตัวของเราให้สอดคล้อง อย่าไปสะดุดเข้า ธุรกิจของผมหลายอย่างถ้ามันสะดุดกับการเมืองแล้ว มันพัง...” วรรณพูดกับ “ผู้จัดการ”
ก็คงจะจริง เพราะอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันและอุตสาหกรรมหนักอีกหลายแห่งที่เป็นการร่วมทุนกับญี่ปุ่นนั้น จะดำเนินไปได้ราบรื่นหรือมีปัญหาก็มักจะขึ้นอยู่กับนโยบายของกลุ่มผู้ มีอำนาจทางการเมืองในแต่ละยุคอยู่แล้ว
วรรณ ชันซื่อ ผ่านอุณหภูมิร้อนหนาวทางการเมืองมาหลายยุค ตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยุคจอมพลถนอม-จอมพลประภาส ยุค 14 ตุลาคม 2516 จนกระทั่งยุคปัจจุบัน
ถ้าจะให้เขาเปรียบเทียบแต่ละยุค
“ต้องยุคสฤษดิ์ครับ ยุคนั้นธุรกิจเฟื่องฟูมาก แต่จะเฟื่องฟูไปในทางถูกหรือผิดเป็นอีกเรื่องนะ เพราะจอมพลสฤษดิ์ท่านก็มุ่งแต่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมเด่น ๆ ทำแล้วเห็นผลงาน อุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็กท่านไม่ค่อยสนใจ แต่พูดถึงภาพรวม ๆ ต้องสมัยท่าน”
สำหรับวรรณ ชันซื่อ แล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้ปกครองประเทศที่เขาประทับใจในความสามารถมากที่สุด
“มีความเด็ดขาดและมีความแน่นอน คือนักธุรกิจนั้นกลัวอย่างเดียว การไม่ตัดสินใจอะไรเด็ดขาด เพราะเขาไม่รู้ว่าจะตามอย่างไร ธุรกิจมันต้องเดินตามแนวที่รัฐบาลวางไว้ รัฐบาลทำแนวอย่างนี้และทำทุกอย่างเพื่ออิมพลิเมนต์แนวอันนี้ ธุรกิจก็จะเดินตามแนวนี้ไป นักธุรกิจเขาปรับตัวได้เสมอ ขอให้กำหนดแนวที่ชัดเจนออกมาเท่านั้น และกำหนดแล้วต้องอิมพลิเมนต์แนวนั้นอย่างเข้มแข็ง ถ้ารัฐบาลแกว่งไปแกว่งมาหรือวางแนวทางไว้หลวม ๆ แล้วไม่มีมาตรการที่จะอิมพลีเมนต์อย่างจริงจัง นักธุรกิจก็จะลำบากใจ” วรรณให้เหตุผล
และเมื่อให้เขาเปรียบเทียบกับแนวนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน วรรณหัวเราะอย่างขบขัน ก่อนขอตัวที่จะต้องแสดงความเห็นใด ๆ ออกมา
อย่างไรก็ตาม ยุคที่วรรณ ชันซื่อ ยอมรับว่าหนักใจที่สุดก็คือยุค 14 ตุลาคม 2516 ภายหลังการหมดอำนาจของรัฐบาลถนอม-ประภาส
“มันคุมกันไม่ติดเลย โดยเฉพาะปัญหาแรงงาน” เขากล่าวและบอกว่าดีใจมากที่ประเทศไทยผ่านสถานการณ์ในช่วงนั้นมาได้โดยไม่บอบช้ำมาก
นอกจากจะติดตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างใกล้ชิดแล้ว วรรณ ชันซื่อ ก็ยังมีโอกาสเข้าใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในแต่ละยุคอีกหลายคน
อย่างเช่นในยุคจอมพลสฤษดิ์ วรรณ ชันซื่อ ก็เป็นนักธุรกิจคนหนึ่งที่ได้เข้าพบจอมพลสฤษดิ์อยู่บ่อย ๆ เพราะอย่างน้อยก็มีปัญหาในเรื่องโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ที่จะต้องปรึกษาหารือกัน
“ผมสังเกตว่าท่านเป็นคนรับฟังความเห็นแม้จะดูเป็นเสียงนกเสียงกา อย่างผมตอนนั้นอายุก็แค่ 30 กว่า ๆ แต่เมื่อผมแสดงความเห็นไปบางเรื่องท่านจะรับฟังและก็เคยปฏิบัติตามความเห็นของผม” วรรณเล่าเรื่องตัวเขากับจอมพลสฤษดิ์
ส่วนในยุคจอมพลถนอม-จอมพลประภาส วรรณบอกว่า “จอมพลถนอมผมไม่ค่อยสนิทกับท่าน คงมีแต่ท่านจอมพลประภาส เพราะท่านก็เคยมีหุ้นอยู่ที่ไทยออยล์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหุ้นของกระทรวงการคลังไปแล้ว ก็ได้พบปะกับท่านบ่อยกว่า”
และสำหรับปัจจุบันก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้ปิดลับว่า วรรณ ชันซื่อ นั้นมีความใกล้ชิดอย่างมากๆ กับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เสนาธิการทหารบกคนปัจจุบัน
เป็นความใกล้ชิดที่เกิดจากหลานชายคนหนึ่งของวรรณ ชันซื่อ เผอิญไปแต่งงานกับบุตรสาวของพลเอกชวลิต
“นี่ก็ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน แล้วครับ ไม่ได้พบกันเลย อย่างมากก็แค่โทรศัพท์คุยกันนิดหน่อย คุณชวลิตตอนนี้คงกำลังยุ่งอยู่ แต่ก่อนหน้านั้นก็พบกันเป็นประจำ” วรรณพูดให้ฟัง
คอลัมน์ PROFILE
|
|
|
|
|