|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2528
|
 |
ถ้าวรรณ ชันซื่อ จะได้มีโอกาสพบผู้วิเศษผู้สามารถบันดาลทุกสิ่งให้ตามคำขอแล้ว วรรณคงต้องขอให้ตัวเขามีเวลามากกว่า 24 ชั่วโมงต่อวัน มีมากกว่า 7 วันในหนึ่งสัปดาห์หรือให้มากกว่า 365 วัน ใน 1 ปีอย่างแน่นอนที่สุด
“เวลาเป็นสิ่งที่ผมอยากได้มากที่สุด” เขายอมรับตรง ๆ
ก็เป็นเพราะ “เวลา” นี่เองที่ทำให้วรรณ ชันซื่อ กลายเป็นคนไม่ออกสังคม เขาเก็บตัวเงียบ ๆ อยู่กับห้องทำงานในบริษัท โรงกลั่นน้ำมันไทย บนชั้น 6 ของอาคารสารสิน สีลม หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นห้องทำงานที่บริษัท ไทยบริดจสโตน บนชั้น 2 ของอาคารเดียวกัน
“ผมไม่อยากเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ถ้าเราสังคมมากก็ไม่พ้นจะต้องถูกเชิญไปโน่นไปนี่ ผมต้องเสียเวลาไปกับการประชุมและการบริหารธุรกิจก็มากมายแล้ว ถ้าต้องไปสังสรรค์ในวงสังคมอีก ไม่มีเวลาแน่นอน สำคัญที่สุดคือเรื่องเวลา ผมไม่มีเวลาที่จะเจียดให้กับงานสังคมจริง ๆ” วรรณให้เหตุผลการไม่ออกสังคมของเขา
วรรณต้องทำงานสัปดาห์ละ 7 วัน เป็นส่วนใหญ่ นาน ๆ นั่นแหละจึงจะมีเวลาว่างให้พักผ่อนบ้างในวันอาทิตย์
แต่อย่างมากก็เพียงครึ่งวันเท่านั้น !!!
ตารางการใช้ชีวิตหมดไปกับงานและงานของเขานั้น เริ่มต้นตั้งแต่ตื่นนอนประมาณตี 5 ครึ่งหรือไม่ก็ 6 โมงเช้า แล้วแต่ว่านอนดึกหรือนอนไม่ดึก
ตื่นนอนแล้ววรรณก็จะออกกำลังกายด้วยการซิตอัพ และพุทอัพ อย่างละ 100 ครั้ง จนเหงื่อท่วมตัว
“ผมออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน เมื่อก่อนเคยเล่นกอล์ฟ แต่ก็ต้องเลิกเพราะสนามคนมันแน่นมาก ก็หันมาว่ายน้ำพักหนึ่งก็ต้องเลิกอีก เพราะหน้าหนาวว่ายไม่ไหว มันเย็นมากไป ก็หันมาวิ่งแทน วิ่งไปได้อีกพักหนึ่งไม่ไหวอีก หมามันไล่กัด ก็เลยมาเล่นซิต-อัพ พุท-อัพ จนทุกวันนี้” วรรณพูดกับ “ผู้จัดการ”
ครั้นเมื่อออกกำลังโดยใช้เวลาราว ๆ 45 นาทีแล้ว ก็อาบน้ำทานข้าว
จากนั้นก็ออกจากบ้านที่ซอยศรีนคร ถนนลิ้นจี่ ซึ่งอยู่ติด ๆ กับบ้านอุเทน เตชะไพบูลย์ มาถึงที่ทำงานประมาณ 8 โมง 15 นาที
“โดยมากแล้วผมจะใช้ห้องทำงานที่บริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทยเป็นหลัก เพราะผมถือว่าที่นี่เป็นฐานใหญ่ของผม ก็จะเข้ามาทุกเช้า บางวันสาย ๆ ก็อาจจะไปที่สำนักงานทนายความสะพานเหลืองของผมบ้าง พอช่วงบ่ายก็กลับมาที่บริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทย ถ้าวันไหนมีงานเกี่ยวกับกิจการที่ร่วมทุนกับญี่ปุ่นอยู่ ผมก็จะใช้ห้องทำงานที่บริษัทไทยบริดจสโตนที่อยู่ชั้น 2 นี่เอง เป็นที่พบปะปรึกษาหารือ บริษัทไหน ๆ ก็จะมาพบกันที่นั่น” วรรณ ชันซื่อ เล่าถึงกิจวัตรในแต่ละวัน
นอกจากนี้ก็ยังจะต้องเข้าประชุมคณะกรรมการบริษัทจำนวนหลายสิบบริษัทอีก สัปดาห์ละอย่างน้อย 2 ครั้งขึ้นไป
“อันไหนที่ผมเป็นกรรมการเฉย ๆ ผมไม่ค่อยได้ไปประชุม เพราะมันไปไม่ไหว แล้วเป็นเพียงกรรมการจะไปก็ได้ไม่ไปก็ได้ มันไม่เสียหายมาก ที่จะต้องเข้าประชุมก็เฉพาะที่เป็นประธานเป็นรองประธานหรือเป็นกรรมการอำนวยการ อย่างนี้เราจำเป็นต้องไป ก็แทบแย่เหมือนกัน คุณคิดดูก็แล้วกันอย่างบริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทย เดือนหนึ่งก็ต้องประชุม 1-2 ครั้ง บริดจสโตนเดือนละครั้ง เครืออีซูซุ เดือนละครั้ง ไทยเอ็มซี (บริษัทไทยมิตซูบิชิ จำกัด) เดือนละครั้ง นิปปอนเดนโซ่เดือนละครั้ง แล้วยังอีกมาก” วรรณ ชันซื่อ เล่ากับ “ผู้จัดการ” พร้อมกับยอมรับว่า แต่ละเดือนจะต้องประชุมที่ไหนบ้างนั้นเขาเองยังจำไม่ได้หมดด้วยซ้ำ
เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจประจำวันแล้ว วรรณจะกลับถึงบ้านค่ำ ๆ เพื่อรับประทานอาหารเย็นกับภรรยา
ทุกวันก่อนอาหารเย็นที่ขาดไม่ได้ก็คือวิสกี้ผสมโซดาจาง ๆ 1 หรือ 2 แก้ว
“ใช้เรียกความกระชุ่มกระชวย หลังจากเหนื่อยมากับงานตลอดวัน” วรรณพูดให้ฟัง
โดยปกติเขาจะเข้านอนประมาณ 4 ทุ่มครึ่งหรือ 5 ทุ่ม โดยก่อนนอนก็จะดื่มบรั่นดียี่ห้อหวานหงายเสียอีก 1 เป๊ก ไม่มากและไม่น้อยกว่านั้น ถึงขนาดมีถ้วยตวงวางไว้ที่หัวนอนเสร็จสรรพ
“แทนยานอนหลับ....” วรรณอธิบาย
สำหรับกิจกรรมในยามพักผ่อนนั้น วรรณบอกว่า เขาชอบอ่านหนังสือ เพราะฉะนั้นระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ วรรณจึงมักจะต้องหาเวลาแวะเวียนไปตามร้านขายหนังสือเพื่อหาหนังสือดี ๆ มาอ่าน
หรือถ้ามีช่วงเวลาว่างครึ่งวันของวันอาทิตย์ เขาก็อาจจะไปเดินหาซื้อหนังสือตามบุ๊กสโตร์ต่างๆ ของบ้านเรา
“ชอบอ่านพวกวิชาการ อย่างเช่นเศรษฐศาสตร์พวกนี้ แต่ก็ซื้อ ๆ เอาไว้ไม่ค่อยได้อ่าน มาว่างอีกทีจึงพอมีเวลาหยิบขึ้นมาอ่าน ไม่ใช่ซื้อมาปั๊บจะได้อ่านปุ๊บ” เขาเล่า
ส่วนการพักผ่อนในรูปแบบอื่น ๆ ไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่มีเวลาอยู่แล้ว
“ผู้จัดการ” ถามวรรณว่าเมื่อไรที่เขาคิดว่าควรจะปลดเกษียณตัวเองเพื่อจะได้ใช้ชีวิตพักผ่อนให้เต็มที่เสียบ้าง
“ให้เสร็จสิ้นโครงการขยายโรงกลั่นนี่เสียก่อน” วรรณตอบ
ปัจจุบันวรรณอายุ 62 ถ้าเป็นตามที่เขาว่าก็คงหมายถึงการเกษียณอายุตัวเองเมื่ออายุราว ๆ 65 นั่นเอง
คอลัมน์ PROFILE
|
|
 |
|
|