|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2528
|
|
วรรณ ชันซื่อ มักจะเก็บตัวอยู่ในห้องทำงานที่อาคารสารสินเงียบ ๆ เขาไม่ออกสังคม ไม่รับเชิญไปอภิปรายถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ให้กับคนรุ่นหลัง ๆ และไม่พยายามที่จะทำตัวเป็นคนเด่นคนดังในยุทธจักร
วรรณขังตัวเองอยู่ในอาณาจักรที่มีสินทรัพย์รวมกันไม่น่าจะต่ำกว่าแสนล้านบาท เขามีบทบาทอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมหนักของประเทศนับสิบ ๆ บริษัท เขาใช้ชีวิตเรียบ ๆ และว่ากันว่าเขานั้นรวยเงียบ ๆ
คงดีไม่น้อยถ้าจะได้รู้จักเขามากขึ้น ....
ถ้าเอ่ยชื่อบริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทย คนทั่ว ๆ ไปมักจะนึกถึงชื่อเชาว์ เชาว์ขวัญยืน
ถ้าเอ่ยชื่อบริษัทไทยบริดจสโตน หลายคนก็คงต้องนึกถึงจุติ บุญสูง ผู้เพิ่งวายชนม์ไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2525
หรืออาจจะนึกถึงพงศ์ สารสิน เช่นเดียวกับที่เมื่อต้องเอ่ยชื่อกลุ่มบริษัทในเครือมิตซูบิชิหรืออีซูซุ
ชื่อวรรณ ชันซื่อ กลับไม่ค่อยมีใครนึกถึงก่อนเป็นอันดับแรก
ทั้ง ๆ ที่วรรณ ชันซื่อ คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังบริษัทเหล่านั้นมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง
และดูเหมือนตัววรรณเองก็อยากให้มันเป็นเช่นนั้นด้วย!
วรรณ ชันซื่อ ติดอันดับผู้เสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลสูงสุด 1 ใน 250 คนแรกของกรมสรรพากรมาตั้งแต่ปี 2524 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการนำชื่อมาเปิดเผย จนกระทั่งปีล่าสุดนี้
มีบางคนยืนยันว่าเขาเป็นคนที่รวยที่สุด รวยเสียยิ่งกว่าชิน โสภณพนิช หรืออุเทน เตชะไพบูลย์ และอีกหลาย ๆ คนที่ได้ชื่อว่ารวยด้วยซ้ำไป
เพียงแต่วรรณเป็นคนเก็บตัว ทำงานไปเงียบ ๆ รวยอย่างเงียบ ๆ คนจึงไม่ค่อยรู้จักชีวิตและงานของเขามากนักเท่านั้น
วรรณ ชันซื่อ ลืมตาออกมาดูโลกเมื่อปี 2466 ปัจจุบันอายุ 62 ปี
เขาเกิดที่กรุงเทพฯ แถว ๆ สะพานเหลือง มีบิดาเป็นนักกฎหมายชื่อรองอำมาตย์โทเอกยู้ ชันซื่อ ซึ่งเป็นเนติบัณฑิตไทยรุ่นปี 2466 รุ่นเดียวกับพระมนูเวทย์ เคยรับราชการอยู่กระทรวงยุติธรรม จนครั้งสุดท้ายมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเจ้ากรมรักษาทรัพย์หรือกองบังคับคดีล้มละลายในปัจจุบัน
เจ้ากรมรักษาทรัพย์สมัยนั้นก็ชื่อพระยารามบัณฑิต
รองอำมาตย์โท เอกยู้ ชันซื่อ นี้ มีเชื้อสายจีน แซ่เดิมคือ “แซ่ตั้ง”
ส่วนมารดาของวรรณก็มีเชื้อสายจีนเช่นกัน
เมื่อลาออกจากราชการแล้ว บิดาของวรรณได้หันมายึดอาชีพทนายความ มีสำนักงานส่วนตัวชื่อ “สำนักงานทนายความสะพานเหลือง”
ก็เป็นสำนักงานทนายความที่ตกทอดมาถึงวรรณ ชันซื่อ จนปัจจุบัน
วรรณเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เมื่อจบชั้นมัธยม 6 แล้วก็ไปเรียนพาณิชย์ต่อที่โรงเรียนพณิชยการวัดเทวราชกุญชร จนสอบได้มัธยม 8 ก็เบนเข็มเปลี่ยนไปเรียนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (ชื่อสมัยนั้น)
สอบได้เป็นธรรมศาสตรบัณฑิตเมื่อปี 2486 รุ่นเดียวกับบุญชู โรจนเสถียร เพียงแต่วรรณจบด้านกฎหมาย ส่วนบุญชูนั้นจบด้านบัญชี
มีเพื่อนร่วมรุ่นที่จบกฎหมายเหมือนกันตอนนั้น ก็เช่นพันเอกจินดา ณ สงขลา และธนิต พิศาลบุตร กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพฯ พณิชยการในขณะนั้น เป็นต้น
“ตอนที่เรียนและตอนที่จบก็อยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี ผมกับจินดา ณ สงขลา ก็ผลัดกันได้ที่ 1 ที่ 2 จนปีสุดท้ายผมคะแนนสูงกว่าจินดานิดหน่อยก็เลยได้เป็นที่ 1 จินดาเป็นที่ 2” วรรณเล่าถึงอดีตช่วงดังกล่าว
หลังจากสอบได้เป็นธรรมศาสตรบัณฑิตซึ่งสมัยนั้นถือว่าเท่ากับได้เนติบัณฑิตด้วยโดยปริยายแล้ว วรรณสมัครเข้ารับราชการในกรมตำรวจ
“ก็เพื่อหนีทหารแหละ... ผมจบธรรมศาสตร์อายุ 20 ปีพอดี ถ้าไม่เป็นตำรวจก็ต้องไปเกณฑ์ทหาร และตอนนั้นถ้าเลือกไปเกณฑ์ทหารก็คงไม่พ้นต้องถูกเกณฑ์ไปรบที่เชียงตุง เพราะภาษาจีนกลางของผมดีมาก แล้วลองว่าไปรบเชียงตุง ถ้าไม่ถูกลูกปืนตายก็ต้องถูกไข้ป่ากินตายแน่นอน ผมก็เลยต้องมาเป็นตำรวจ...” วรรณให้เหตุผลแบบเล่าไปหัวเราะไป
วรรณอยู่กับกรมตำรวจ 2 ปีกว่า ติดยศร้อยตำรวจตรี เคยอยู่กองคดีก่อนจะโยกย้ายมาประจำที่สอบสวนกลางและนครบาลในท้ายที่สุด
ช่วงที่อยู่นครบาลนั้นเขาทำหน้าที่เป็นตัวแทนตำรวจนครบาลในคณะกรรมการตรวจข่าว ประจำอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลสมัยนั้นก็คือพระพินิจชนคดี พี่เขยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (ต่อมาพระพินิจชนคดีได้เป็นอธิบดีกรมตำรวจ)
ก็เรียกว่าเป็นลูกน้องใต้บังคับบัญชาของพระพินิจฯ มีหน้าที่เซ็นเซอร์ข่าวหนังสือพิมพ์จนถูกหนังสือพิมพ์ด่าเช้าด่าเย็นทุกวันในตอนนั้น
ครั้นเมื่อลาออกจากราชการตำรวจแล้ว อดีตนายร้อยตำรวจตรีวรรณ ชันซื่อ ก็มาทำงานเป็นทนายความที่สำนักงานของเอกยู้ ชันซื่อ ผู้บิดา
วรรณยอมรับว่า จริง ๆ แล้วเขาสนใจเรื่องการประกอบธุรกิจมาก
เขาเคยเรียนโรงเรียนพาณิชย์ เพราะตั้งความหวังไว้ว่าจะออกมายึดอาชีพพ่อค้า แต่ก็ต้องยินยอมคล้อยตามความต้องการของครอบครัว ที่อยากจะให้เขาเป็นนักกฎหมาย
“เมื่อเป็นนักกฎหมายแล้ว คุณพ่อผมก็ยิ่งห้ามเด็ดขาดในเรื่องธุรกิจ ท่านบอกว่าเราเป็นฝ่ายวิชาชีพ เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราไป จะทำธุรกิจนั้นไม่ได้เด็ดขาด ก็เลยต้องเป็นทนายความช่วยท่านไปเรื่อย ๆ จนคุณพ่อท่านเสียชีวิต” วรรณ พูดกับ “ผู้จัดการ”
รองอำมาตย์โท เอกยู้ ชันซื่อ เสียชีวิตเมือปี 2500
และก็ปี 2500 นี่เองที่วรรณ ชันซื่อ เริ่มก้าวเข้ามาในยุทธจักรธุรกิจ
สำหรับบางคนที่มีอายุ 34 ปี เท่ากับวรรณในตอนนั้น มันก็อาจจะเป็นการเริ่มต้นที่ช้าอยู่สักหน่อย แต่สำหรับวรรณ แล้ว ต้องถือว่ายังไม่สายมาก
วรรณเริ่มต้นโดยมี CONNECTION ที่วางรากฐานกันไว้ตั้งแต่รุ่นของเอกยู้ ชันซื่อแล้ว
“คุณต้องอย่าลืมนะว่าพ่อของวรรณเป็นลูกจีนที่เผอิญมาเป็นนักกฎหมาย แน่นอนเขาจะต้องเป็นคนที่พ่อค้าจีนในยุคนั้นจะต้องหวังพึ่งมาก ๆ ดูอย่างประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ นั่นไง ทำไมคุณชินถึงไว้เนื้อเชื่อใจมาก คุณเอกยู้ก็เช่นกัน เขาสนิทกับพ่อค้าจีนหลายคน และเขาไม่เคยทำธุรกิจแข่งกับใคร เขาจึงมีเพื่อนพ่อค้าจีนมาก โดยเฉพาะคุณแต้จูเปี้ยน พ่อของคุณอุเทน เตชะไพบูลย์ นั้นก็คนหนึ่งล่ะ ที่รักใคร่กันมาก” คนเก่าคนแก่ในวงการธุรกิจวิเคราะห์ให้ฟัง
“ครับ...กับพวกเตชะไพบูลย์ เราก็สนิทกันมา 3 ชั่วอายุคนแล้ว คุณแต้จูเปี้ยนคุณพ่อคุณอุเทน เมื่อตอนที่ผมยังไม่นุ่งผ้า ท่านก็อุ้มผมเล่นอยู่บ่อย ๆ ตอนนั้นบ้านเขาอยู่แถว ๆ ห้าแยกพลับพลาไชย ส่วนบ้านผมก็อยู่แถว ๆ สะพานเหลือง ก็ไม่ไกลกันมาก ไปมาหาสู่กันสม่ำเสมอจนเมื่อมาสร้างซอยศรีนครแล้วก็เลยย้ายบ้านมาปลูกติด ๆ กับบ้านคุณอุเทน...” วรรณยอมรับ
แล้วจะมีอะไรยากลำบากสำหรับคนที่มีไฟทะเยอทะยานอยากทำธุรกิจมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย และก็มี CONNECTION อย่างวรรณ ชันซื่อ!!
หลังปี 2500 วรรณ เริ่มจับธุรกิจซื้อขายที่ดินก่อน โดยร่วมหุ้นกับเพื่อน ๆ 2-3 คน
“การซื้อขายที่ดินมันกำลังบูม ผมก็เอาเงินทองที่เก็บสะสมไว้มาลงทุน ก็ทำกันเล็ก ๆ ก่อน ไม่ได้เป็นรูปบริษัทจำกัดอะไร” เขาเล่า
หลังจากนั้นไม่นานก็ขยับขยายมาทำศูนย์การค้า
คนรุ่นปัจจุบันเมื่อพูดถึงศูนย์การค้าก็คงจะต้องนึกถึง “สยามสแควร์” แต่ถ้าเป็นคนรุ่นที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปคงจำศูนย์การค้าแห่งแรกของกรุงเทพฯ ที่วังบูรพากันได้ยังไม่ลืมแน่
ศูนย์การค้าวังบูรพาที่มีโรงหนังคิงส์ โรงหนังแกรนด์ นี่แหละที่เป็นผลงานชิ้นแรก ๆ ของวรรณ ชันซื่อ ร่วมกับโอสถ โกสิน และเพื่อน ๆ อีกหลายคนหุ้นกัน
“ที่ดินก็เป็นที่ของเสด็จในกรมฯ พระองค์หนึ่ง ผมยังจำได้ว่าตอนที่เราตัดถนนคอนกรีตเข้าไปเพื่อสร้างศูนย์การค้านั้น มีคนเขาเลี้ยงหมูไว้ 3-4 คอก ตอนกลางวันเราก็ลาดซีเมนต์ทำถนน ตอนกลางคืนหมูมันก็ออกมาขวิดมาย่ำถนนเสียหมด ก็เลยต้องประกาศจ้างคนยิงหมูตัวละ 100 บาท เจ้าของหมูก็เลยต้องเอาหมูไปเก็บที่อื่น ถนนจึงสร้างได้สำเร็จ...” วรรณรื้อฟื้นความหลังในช่วงนั้นกับ “ผู้จัดการ”
วรรณเล่าว่าหลังจากค้าที่ดินและสร้างศูนย์การค้าแล้ว เขายังทำธุรกิจอีกหลายอย่าง “แต่อย่ารู้เลย ที่ทำเจ๊งก็มาก ไม่อยากพูดถึง คนที่ร่วมทุนกันเขาก็ยังมีชีวิตอยู่ จนกระทั่งที่ทำแล้วเป็นล่ำเป็นสันจนทุกวันนี้ก็บริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทยนี่แหละ...”
บริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทย หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ติดปากว่า “ไทยออยล์” นั้น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2504 ในยุครัฐบาลจอมพลผ้าขะม้าแดง-สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ก็เป็นยุคที่รัฐบาลอยากจะได้โรงกลั่นน้ำมันเป็นของตนเองสัก 2 โรง โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เรียกทุนคืน 20 ปี จากนั้นค่อยโอนกิจการมาให้รัฐบาลเป็นเจ้าของ
การออกใบอนุญาตตั้งโรงงานกลั่นก็ทำกันด้วยวิธีเปิดประมูล
“รัฐบาลก็กำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ไว้ ซึ่งโดยสรุปก็คือจะต้องเป็นโรงกลั่นที่มีกำลังผลิต โรงละ 35,000 บาร์เรลต่อวัน” คนที่ทราบเรื่องดีอธิบาย
บริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทยเป็นบริษัทของกลุ่มเชาว์ เชาว์ขวัญยืน นักธุรกิจเชื้อสายจีน เคยทำงานในโรงกลั่นน้ำมันที่ไต้หวันมาก่อน
เชาว์เป็นคนที่รู้เรื่องเกี่ยวกับกิจการค้าน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมันดีมาก แต่จะทำอย่างไรเพื่อให้ชนะการประมูล สามารถตั้งโรงกลั่นน้ำมันได้ในประเทศไทย เชาว์กลับทราบไม่มากนัก
ในที่สุดด้วยการแนะนำของเพื่อนนักธุรกิจเชื้อสายจีนในไทยบางคน เชาว์ก็ได้รู้จักกับวรรณ ชันซื่อ ในฐานะนักกฎหมายผู้มี CONNECTION กว้างขวางพอตัว ทั้งในกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำและนักการเมืองไทย เชาว์จึงไม่รีรอที่จะดึงวรรณเข้าร่วมในบริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทยด้วยอีกคนหนึ่ง โดยทำหน้าที่เสมอแขนขวาของเชาว์ผู้ซึ่งยังไม่รู้จักเมืองไทยดีพอในช่วงนั้น
“พูดไปแล้วถึงตอนนี้ก็เหลือผู้ก่อตั้งเพียง 2 คนเท่านั้นคือคุณเชาว์กับผม คนอื่นเสียชีวิตไปหมดแล้ว” วรรณเล่าให้ฟัง
บริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทย ชนะการประมูลได้ตั้งโรงกลั่นน้ำมันพร้อมกับบริษัทน้ำมันของสหรัฐฯ อีกบริษัทหนึ่ง
“แต่ก็เหลือเราบริษัทเดียว เพราะอีกรายเขาไม่เอา เขาบอกว่าตลาดบ้านเราตอนนั้นมันเล็กเกินไปสำหรับโรงกลั่นน้ำมัน 2 โรง ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาคิดผิดหรือคิดถูก” แหล่งข่าวในบริษัท “ไทยออยล์” บอกกับ “ผู้จัดการ”
“ไทยออยล์” ในทุกวันนี้มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท มียอดขายตกปีละไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท กำลังผลิต 65,000 บาร์เรลต่อวัน และรัฐบาลโดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ตามข้อตกลงที่ทำไว้เดิม ตั้งแต่ปี 2524 แล้ว
“ก็ต้องถือเป็นกิจกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และกำลังจะขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 120,000 บาร์เรลต่อวัน ตอนนี้ได้ตัวผู้ก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว ต้องลงทุนประมาณ 190 ล้านเหรียญสหรัฐ” แหล่งข่าวในวงการน้ำมันกล่าว
วรรณ ชันซื่อ ขณะนี้มีตำแหน่งใน “ไทยออยล์” เป็นกรรมการรองผู้อำนวยการ หรืออาจจะพูดได้ว่าเขาเป็นบุคคลหมายเลข 3 รองจากเกษม จาติกวณิชย์ และเชาว์ เชาว์ขวัญยืน
วรรณพูดเต็มปากเต็มคำเสมอมาว่า ที่นี่คือ “หลักใหญ่” ของเขา
แต่นั่นก็คงไม่ได้หมายความว่า วรรณ ชันซื่อ จะมองข้ามธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่เป็นการร่วมทุนกับญี่ปุ่น ซึ่งฝ่ายไทยก็มี จุติ บุญสูง พงส์ สารสิน และตัวเขา ยืนเป็นหลัก
จุติ บุญสูง พงส์ สารสิน และวรรณ ชันซื่อ เป็นกลุ่มธุรกิจที่เกาะตัวกันเหนียวแน่นมาก มากจนน่าจะพูดได้ว่าคนหนึ่งไปที่ไหนอีกสองคนก็มักจะตามไปด้วยเสมอ อย่างเช่นในอุตสาหกรรมผลิตและประกอบรถยนต์ เป็นต้น
จุติ บุญสูง เป็นคนตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีอาชีพทำเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งทำกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อของจุติ แต่มาเป็น “นายหัวใหญ่” ที่ร่ำรวยอย่างมาก ๆ ก็เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว
จุติมีกิจการเหมืองแร่ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอยู่ 4 บริษัท คือ บริษัทเรือขุดแร่จุติ บริษัทเรือขุดแร่บุญสูง บริษัทจุติพาณิชย์และบริษัท เจ.บี. จำกัด
“เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง RFCT ซึ่งเป็นองค์การของรัฐบาลอเมริกันได้ส่ง MR. PUTNUM มาซื้อแร่ดีบุก เพราะถือว่าเป็นแร่สำคัญจะต้องสะสมไว้ ในขณะนั้นข้าพเจ้ารู้จัก MR. PUTNUM ดี จึงได้แนะนำให้รู้จักกับคุณจุติ และเราได้ร่วมเดินทางไปเยี่ยมคุณจุติที่ตะกั่วป่าด้วยกัน ต่อมาด้วยอัธยาศัยอันดีเยี่ยมของคุณจุติ MR. PUTNUM จึงให้ความไว้วางใจและได้แต่งตั้งให้คุณจุติเป็นผู้แทนจัดซื้อสะสมแร่ดีบุกให้รัฐบาลอเมริกัน...” ม.ร.ว. พงศ์อมร กฤดากร เพื่อนสนิทของจุติเล่าเหตุการณ์ที่ทำให้จุติ บุญสูง เติบโตขึ้นมาในวงการเหมืองแร่ดีบุกที่ภาคใต้ให้ฟัง
“ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นเซ็นสัญญาสงบศึกแล้ว พวกญี่ปุ่นกลับเข้ามาทำการค้าขายกับประเทศไทยอีก คนหนึ่งในจำนวนนี้คือ MR. Y. MORITA เขากับข้าพเจ้าได้รู้จักกันและเป็นเพื่อนชอบพอกัน เขาได้ปรารถกับข้าพเจ้าว่าทำอย่างไรจึงจะรู้จักกับเจ้าของเหมืองแร่ดีบุกที่ไว้วางใจได้ ข้าพเจ้าจึงแนะนำให้รู้จักกับคุณจุติ และต่อมาคุณจุติก็ได้ติดต่อกับเขาอย่างใกล้ชิด อะไรที่ช่วยกันได้ก็ช่วยกันไป โดยมิได้มุ่งแต่ผลประโยชน์แต่อย่างเดียว ด้วยความช่วยเหลืออันเป็นมิตรจิตมิตรใจของคุณจุติเช่นนี้เป็นเหตุผลอันหนึ่งทำให้ MR. Y. MORITA รักเมืองไทย รักคนไทย และได้รับผลงานอันดีเด่นจนกระทั่งเขาได้เป็นถึงกรรมการผู้จัดการของบริษัท มิตซูบิชิ...” ม.ร.ว. พงศ์อมรเล่าเหตุการณ์อีกตอนหนึ่ง
และด้วยความใกล้ชิดที่จุติ บุญสูง มีอยู่กับ MR. Y. MORITA กรรมการผู้จัดการบริษัทมิตซูบิชิของญี่ปุ่นนี่เอง ที่ต่อมา จุติและกลุ่มของเขาได้ถูกชักชวนให้เข้าร่วมทุนกับนักลงทุนชาวญี่ปุ่นในการจัดตั้งกิจการขึ้นมาหลายอย่างในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2510 จัดตั้งบริษัทยางไทย-ญี่ปุ่น จำกัด ซึ่งต่อมาบริษัทนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทไทยบริดจสโตน เป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในประเทศไทยขณะนี้
บริษัทยางไทย-ญี่ปุ่น หรือไทยบริดจสโตน มีผู้ถือหุ้นฝ่ายญี่ปุ่น คือบริษัทยางบริดจสโตน และบริษัทมิตซูบิชิ ส่วนผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยที่สำคัญ ๆ ก็ได้แก่ จุติ บุญสูง และวรรณ ชันซื่อ เป็นต้น
วรรณ ชันซื่อ รู้จักกับจุติ บุญสูง มานานหลายสิบปีแล้ว
“มีทนายความชื่อดังคนหนึ่งชื่อคุณไล่อัน แนะนำให้รู้จัก คุณไล่อันเขาเป็นทนายประจำตัวของคุณจุติ ก็ตั้งแต่หลังปี 2500 ไม่นาน รู้จักสนิทสนมกันเรื่อยมา เพียงแต่ก็ไม่มีธุรกิจทำร่วมกัน คบกันเป็นมิตรสหาย เมื่อจะก่อตั้งบริษัทบริดจสโตน นี่แหละจึงได้เริ่มทำธุรกิจด้วยกัน...” วรรณเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับจุติ บุญสูง
หลังจากร่วมกันตั้งบริษัทไทยบริดจสโตนแล้ว วรรณ ชันซื่อ ยังได้ร่วมงานกับจุติตั้งบริษัทอื่น ๆ อีก 8-9 บริษัท เช่น บริษัทไทยเทรดดิ้ง แอนด์ อินเวสเม้นท์ บริษัทในเครืออีซูซุ และบริษัทในเครือนิปปอน เดนโซ่ เป็นต้น
“ตลอดเวลาที่เราร่วมงานกัน เราต้องพบปะเพื่อปรึกษาหารือกิจการงานของบริษัทอยู่เป็นประจำ บางเดือนก็เพียงครั้งสองครั้ง บางเดือนสามสี่ครั้งแล้วแต่ความจำเป็นของงาน ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราจึงมีโอกาสพบปะปรึกษาหารือกันปีละร่วม ๆ 30 ครั้ง การพบปะกันในช่วงแรก ๆ ส่วนใหญ่ก็ปรึกษาหารือกันเฉพาะธุระการงานของบริษัท แต่เมื่อได้เกิดความไว้วางใจสนิทสนมอย่างถึงขนาดแล้ว ช่วงหลัง ๆ เราก็ได้คุยกันถึงเรื่องปัญหาส่วนตัว ปัญหาครอบครัว ตลอดจนเรื่องปรัชญาชีวิตด้วย และก็ใช่ว่าเราจะมีความเห็นสอดคล้องต้องกันเสมอไป ในเรื่องใด ๆ ที่เรามีความเห็นแตกต่างกัน เราก็ไม่เคยเสแสร้งว่าเห็นพ้องต้องกันกับอีกฝ่ายหนึ่ง เราต่างแสดงทัศนะของเราเองซึ่งไม่ตรงกันกับทัศนะของอีกฝ่ายหนึ่ง และเราต่างรับฟังทัศนะของอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยความสนใจและด้วยความยกย่อง ความเข้าใจ ความสนิทสนม และความไว้วางใจจึงได้ทวีขึ้นเป็นลำดับ...” วรรณพูดถึงจุติ บุญสูง
จุติ บุญสูง เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจที่โรงพยาบาลพร้อมมิตร เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2525 ขณะเมื่ออายุได้ 72 ปี ตำแหน่งประธานบริษัทที่ร่วมทุนกับญี่ปุ่นทั้งหลายก็ตกอยู่กับ “มิตรผู้เยาว์” ที่ชื่อ วรรณ ชันซื่อ ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์
ส่วนพงส์ สารสิน นั้นรู้จักทั้งจุติ บุญสูง และวรรณ ชันซื่อ มานานมาก ๆ
ครอบครัว “สารสิน” กับครอบครัว “ชันซื่อ” สนิทกันมาตั้งแต่รุ่นพจน์ สารสิน และเอกยู้ ชันซื่อ แล้ว
พจน์ สารสิน ก่อนจะมาเล่นการเมืองและเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ในยุคจอมพลสฤษดิ์นั้น เคยมีอาชีพเป็นทนายความเช่นเดียวกับเอกยู้ ชันซื่อ
“ย้อนหลังไป 30 กว่าปีแล้ว คุณพจน์ท่านเป็นกรรมการสอดส่องมรรยาททนาย คุณพ่อผมท่านก็เป็นกรรมการด้วยคนหนึ่ง ก็ต้องทำงานร่วมกัน คุณพ่อก็ใช้ผมเป็นคนถือหนังสือไปหาคุณพจน์บ่อย ๆ ก็รู้จักกับท่านแบบเด็กรู้จักผู้ใหญ่” วรรณพูดกับ “ผู้จัดการ”
ความสัมพันธ์นี้ตกทอดมาถึงรุ่นพงส์ สารสิน บุตรชายคนโตของพจน์ด้วย
“สำหรับสารสินกับบุญสูง เขาก็รู้จักกันดีมานาน ในการก่อตั้งบริษัทไทยน้ำทิพย์ เพื่อผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มโคคา-โคล่า เขาก็ร่วมทุนด้วยกัน ก็มีพวกเคียงศิริเข้าร่วมด้วย รวมเป็น 3 กลุ่ม โดยสารสินเป็นหุ้นใหญ่ พงศ์กับจุติ จึงสนิทกันเหมือน ๆ กับที่พงส์สนิทกับวรรณ...” คนรุ่นเก่าเล่าให้ฟัง
พงส์ สารสิน จึงเป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกชักชวนให้เข้าร่วมก่อตั้งบริษัทที่จุติและวรรณร่วมทุนกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มอีซูซุทุกบริษัท ไม่ว่าจะเป็นอีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) อีซูซุ บอดี้ (ประเทศไทย) หรือตรีเพชรอีซูซุเซลส์
และก็เป็นที่มาของฉายา “3 สิงห์” ซึ่งหมายถึงกลุ่มนักธุรกิจใหญ่ที่ประกอบด้วยจุติ บุญสูง วรรณ ชันซื่อ และพงส์ สารสิน นั่นเอง
มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า วรรณ ชันซื่อ นั้นชอบเล่นแต่อุตสาหกรรมหนัก ๆ อย่างเช่น โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถยนต์ เป็นต้น
วรรณ ชันซื่อ อยากจะเข้าไปในอาณาจักรอื่น ๆ หรือไม่? โดยเฉพาะอาณาจักรการเงินซึ่งสร้าง TYCOON มาแล้วมากต่อมาก
“ก็...เคยเป็นกรรมการบริหารของธนาคารศรีนคร แล้วตอนหลังลาออกมาเป็นกรรมการเฉย ๆ มันขัดกับกฎหมายธนาคารพาณิชย์ เพราะผมเป็นประธานกรรมการของบริษัทซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารอยู่ก็เลยต้องลาออกจากกรรมการบริหารมาเป็นกรรมการที่ไม่มีอำนาจ เกี่ยวข้องไม่ได้ไม่ว่าแบงก์ไหน เพราะก็คงหนีไม่พ้นกิจการของผมเป็นลูกค้ากับทุกแบงก์ เป็นลูกค้าใหญ่ของทุกแบงก์...” วรรณอธิบายให้ฟัง
“ผมรอเพียงให้เรื่องโครงการขยายโรงกลั่นทอร์ค 3 สำเร็จเรียบร้อย ผมก็จะวางมือจากธุรกิจแล้ว” เขายืนยัน
วรรณเป็นคนที่คลุกคลีอยู่กับอุตสาหกรรมหนักของไทยมานาน อาจจะเรียกได้ว่าเขาเป็นคนรุ่นบุกเบิกก็ว่าได้
แต่วรรณก็มีทัศนะเกี่ยวกับพัฒนาการของอุตสาหกรรมของไทยต่างไปจากจุดที่เขายืนอยู่อย่างไม่น่าเชื่อ
เขายอมรับว่าประเทศไทยภายในตลอด 20 ปีนี้ ได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมกันอย่างมาก เพียงแต่รัฐบาลที่ผ่าน ๆ มานั้น มักจะมองข้ามอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง ไม่มีการส่งเสริมอย่างจริงจัง
“รัฐบาลพยายามจะส่งเสริมแต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ให้มันมาจุกกันอยู่ในกรุงเทพฯ เพราะมันโชว์ผลงาน ส่วนพวกกลาง ๆ หรือเล็ก ๆ ที่ควรกระจายออกไปตามหัวเมืองต่างจังหวัดทำแล้วมันไม่เห็นผลงาน แต่มันก็เป็นเรื่องสำคัญ พวกนี้จะเป็นพวกที่เอาวัตถุดิบจากภาคการเกษตรเพิ่มค่าแรงเข้าไป แปรรูปมันเป็นสินค้าออกจำหน่าย แทนที่เราจะขายสินค้าการเกษตรเป็นดุ้น ๆ” วรรณแสดงความเห็น
เมื่อหลุดจากปากนักอุตสาหกรรมใหญ่อย่างวรรณแล้ว ก็นับว่าเป็นทัศนะที่แปลก แต่ก็น่าฟังมาก
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตและประกอบรถยนต์ ซึ่งวรรณเกี่ยวข้องอยู่โดยตรง ซึ่งก็เป็นอุตสาหกรรมที่ยังจะต้องพึ่งพาการนำเข้าอยู่มาก อีกทั้งยังต้องการความคุ้มครองจนหลายคนพยายามจะให้ฉายาว่าเป็น “อุตสาหกรรมทารก” นั้น วรรณกลับมองว่า
“มันเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคจะต้องเสียสละ...”
“มันเป็นเรื่องที่ต้องเสียสละเพื่อให้อุตสาหกรรมเหล่านั้นอยู่ได้ ดูกันง่าย ๆ อย่างเช่นน้ำตาล ตอนนี้เรากินน้ำตาลกิโลละ 10-11 บาท เราสั่งซื้อจากข้างนอกกิโลละ 3 บาทไม่ดีกว่าหรือ หรือปูนซีเมนต์อันนี้ลองเราเปิดสิ ปูนซีเมนต์บ้านเราอยู่ไม่ได้แน่ เมืองนอกมันทุ่มเข้ามาตายเลย อยู่ไม่ได้ พังหมด สิ่งทอก็เหมือนกัน เราภูมิใจกันนักหนาลองเปิดดูสิ ต่างประเทศมันทุ่มตายอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมบ้านเรามันจึงอยู่ได้ด้วยความคุ้มครองป้องกัน คุณบอกมาเลยว่ามีอุตสาหกรรมไหนที่อยู่ได้โดยที่รัฐบาลไม่ต้องปกป้อง เกือบจะไม่มีเลย ผมไม่กล้าบอกว่าแอ็บโซลูทลี่ไม่มี แต่เกือบไม่มีเลย เอ้า...ว่ามาตั้งแต่ปูนซีเมนต์ สิ่งทอ เบียร์ เหล้า มันทั้งนั้น...” วรรณร่ายยาว
และเขาเชื่อว่าโครงการอุตสาหกรรมนั้น ล้วนแต่มีข้อดีข้อเสียทั้งสิ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีการชั่งน้ำหนักกัน
“การชั่งน้ำหนักนี่แหละมันเป็นเรื่องน่าคิด โครงการปิโตรเคมีคัลทั้งหลายของเราที่มันล้มลุกคลุกคลานอยู่ก็เพราะเรื่องนี้ เพราะถ้าพูดตามความเป็นจริงหลายโครงการต้นทุนมันสูงมาก เมื่อเทียบกับของต่างประเทศ อย่างปุ๋ย ปุ๋ยนอก มันถูกกว่าเยอะ แต่มันจะถูกอย่างนี้ตลอดไปหรือไม่เราไม่รู้ บางปีมันถูก บางปีมันก็แพง เราควรจะตั้งหรือไม่ตั้งโรงปุ๋ย ก็จะต้องมาชั่งน้ำหนักกันดู” วรรณร่ายต่อ
ในทำนองเดียวกัน สำหรับโครงการผลิตเครื่องยนต์ดีเซล สำหรับรถ”ปิกอัพ” ซึ่งอีซูซุเป็น 1 ใน 4 กลุ่มที่ยื่นเรื่องขอส่งเสริมจาก บีโอไอ อยู่ในขณะนี้ สำหรับทัศนะของวรรณ ชันซื่อ ประธานกลุ่มบริษัทเครืออีซูซุก็มองว่า เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคจะต้องเสียสละ ยอมซื้อรถราคาแพงขึ้นหน่อย คุณภาพอาจจะด้อยกว่าต่างประเทศ เพื่อให้อุตสาหกรรมผลิตเครื่องยนต์ดีเซลของไทยสามารถพัฒนาต่อไปได้
“ก็เหมือนกับเราต้องเริ่ม ก.ไก่ ก่อน แล้วเราจึงจะไปถึง ฮ. นกฮูก” วรรณเปรียบเทียบให้ฟัง
ก็คงคล้าย ๆ กับวิถีชีวิตของวรรณ ที่เริ่ม ก.ไก่ มานานแล้ว และก็น่าจะถึง ฮ.นกฮูก หรือจุดสูงสุดในชีวิตของเขาไปแล้วด้วย
ต่อไปก็คงจะเป็นยุคของคนรุ่นใหม่ ๆ ที่จะก้าวขึ้นมาเขียนประวัติศาสตร์บ้าง
แล้ววรรณมองคนรุ่นใหม่ ๆ นี้อย่างไร?
“ว่ากันตรง ๆ นะ ส่วนใหญ่...ผมไม่ได้ว่าทุกคนใช้ได้ดีทางทฤษฎี แต่ในทางประสบการณ์ยังไม่ค่อยพอ การเรียนรู้ทางทฤษฎีนั้นมันจะต้องดัดแปลงให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงแบบไทย ๆ ด้วย ซึ่งมันก็อยู่ที่ประสบการณ์ ถ้ามีประสบการณ์ดีพอก็สามารถนำมาดัดแปลงได้ดี ดีมากทีเดียว ถ้าประสบการณ์ไม่ดีพอมันก็พังได้ง่าย ๆ เหมือนกัน ก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ ก็คล้าย ๆ ว่าต้องเป็นเรื่องต้องเสียค่าเล่าเรียน เพียงแต่ค่าเล่าเรียนนั้นจะแพงหรือเปล่าเท่านั้น...”
นี่ก็เป็นความเห็นตบท้ายของเขา...วรรณ ชันซื่อ
คอลัมน์ PROFILE
|
|
|
|
|