เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า เรากำลังก้าวสู่ยุคใหม่ เรียกว่ายุคของข่าวสารข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่เจริญแล้ว หรือประเทศที่กำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในด้านการเมืองหรือผู้ดำเนินงานด้านเศรษฐกิจสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักบริหารอาวุโส หรือหัวหน้าแผนกงานขนาดเล็กวงการสังคมของเราทุกวันนี้ถือได้ว่าเป็นสังคมแห่งข่าวสารข้อมูล และนับวันก็จะมีแนวโน้มไปในทางนี้มากขึ้น
ถ้าเรามองชีวิตประจำวันของเรา ทั้งชีวิตในบ้าน ในรถยนต์ และในสถานที่ทำงาน เราจะตกอยู่ในวงล้อมของอุปกรณ์ข่าวสารข้อมูล ตั้งแต่วิทยุ โทรทัศน์ วิดีโอเทป เครื่องเสียง ไปถึงโทรศัพท์ และตกอยู่ในวงล้อมของเอกสารต่างๆ ตั้งแต่หนังสือพิมพ์ แมกกาซีน หนังสือ รายงานและบันทึกธุรกิจนานาประการ ทุกวันนี้เราใช้หูใช้ตาเพื่อรับข่าวสารข้อมูล ใช้หัวและมันสมองเพื่อย่อยข่าวสารข้อมูล และใช้ข่าวสารข้อมูลนั้นให้เป็นประโยชน์ในการทำมาหากิน หรือในการครองชีพ หรือในการหาความสุขความบันเทิง เวลาที่เราใช้ไปในด้านอื่นๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยข้อมูลนั้น นับวันมีแต่จะลดน้อยถอย ลงไป
แน่นอนที่สุด ยิ่งมีข่าวสารข้อมูลมากขึ้นเท่าใด เราย่อมจะมีปัญหาในการกรองรับมากขึ้นเท่านั้น ทุกท่านในที่นี้เป็นผู้บริหารงานในสถาบันการเงิน เป็นผู้จัดการในระดับต่างๆ ทุกท่านต้องใช้ข้อมูลข่าวสารเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดการและในการสั่งงานของท่าน ทุกท่านคงจะมีปัญหาเช่นเดียวกับผม คือไม่สามารถอ่านหรือฟังข่าวสารข้อมูลต่างๆ ที่ส่งมาได้อย่างครบถ้วน
เมื่อ 20 ปีที่แล้วมา มีผู้คิดค้นเทคโนโลยีในการอ่านเร็วขึ้นมา อ่านเร็วโดยได้ใจความและสาระสำคัญ ขณะนี้ก็ยังมีการศึกษาวิธีอ่านเร็วกันอยู่ แต่ถ้าเทียบกับข่าวสารข้อมูลที่มีมากขึ้นแล้ว เทคโนโลยีอ่านเร็วดูจะหมดความหมายไปทุกที
เนื่องจากวิวัฒนาการและความจำเป็นทางด้านข่าวสารข้อมูลที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ดังที่กล่าวมาแล้ว เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องจึงพัฒนากันขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูล (Information Technology) เทคโนโลยีดังกล่าวนี้กำลังก้าวหน้าและเข้ามาสู่ชีวิตความเป็นอยู่ของเราอย่างรวดเร็ว โดยที่เรามักจะเรียกมันว่าคอมพิวเตอร์เทคโนโลยี
การประชุมฝึกอบรมของท่านในแต่ละหัวข้อจะมีผู้เชี่ยวชาญมาอธิบายชี้แจงให้ท่านทราบอย่างละเอียด ซึ่งผมมั่นใจว่า ในเรื่องเทคโนโลยีของระบบข้อมูล ก็คงจะเป็นเช่นเดียวกัน ฉะนั้นผมจะไม่เอาเรื่องทางวิชาการมาสาธยาย เพราะตัวเองก็ไม่มีความรู้ลึกซึ้งเพียงพอ ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้หนึ่งที่พยายามบุกเบิกนำคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีเข้ามาเผยแพร่ในประเทศ และถึงแม้ว่าจะเป็นผู้จำหน่าย Microcomputer ของ IBM และ Osborne อยู่ด้วยก็ตาม
สิ่งที่ผมใคร่จะขอพูดในช่วงเวลาหลังอาหารกลางวัน เพื่อช่วยย่อยอาหาร และไม่เป็นข่าวสารข้อมูลที่หนักสมองมากเกินไปนั้น คงจะมีอยู่ 3 ประการคือ
1. เทคโนโลยีล่าสุดทางการเงินการธนาคารในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต
2. การแข่งขันในอุตสาหกรรมข่าวสารข้อมูลด้านคอมพิวเตอร์
3. ข่าวสารข้อมูลกับการจัดการ
เทคโนโลยีล่าสุด
เราทราบกันอยู่ดีแล้วว่าธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ขนาดใหญ่หรือขนาดกลางล้วนแต่นำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการดำเนินงานธุรกิจในดีกรีต่างๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจัดทำบัญชี และด้านการบริการลูกค้า เพราะข้อมูลในด้านนี้สำหรับสถาบันการเงินมีอยู่มากมายเกินความสามารถของมนุษย์ที่จะรับมาดำเนินงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำถูกต้อง เรารู้จักคอมพิวเตอร์ในลักษณะและขนาดต่างๆ กัน เช่น Mainframe, mini และ micro และเราใช้คอมพิวเตอร์เหล่านี้ตามขอบเขตของธุรกิจและความต้องการ
ธนาคารพาณิชย์บางแห่งได้เริ่มนำเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ใหม่ๆ มาใช้ เช่น ATM ของธนาคารไทยพาณิชย์ Cash Dispenser System ของธนาคารกสิกรไทย และ Office Banking System ของธนาคารกรุงเทพ เทคโนโลยีและอุปกรณ์แต่ละชนิดล้วนแต่เป็นการอำนวยบริการสมัยใหม่ให้แก่ลูกค้า ซึ่งในปัจจุบันนี้ สำหรับประเทศไทยอาจจะเห็นว่าเป็นการล้ำยุคไปหน่อย และในบางกรณีอาจยังไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายการลงทุน ถ้าจะพิจารณาในด้านเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างเดียว
ในด้านของ ATM นั้น แท้จริงแล้วแม้กระทั่งธนาคารใหญ่ๆ ในศูนย์การเงินการธนาคาร หรือในมหานครของโลก เช่นที่นิวยอร์ก ลอนดอน โตเกียว ฮ่องกง และสิงคโปร์ ถ้าจะคิดในด้านผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินแล้ว ก็อาจจะไม่คุ้มที่ธนาคารใดจะติดตั้ง ATM ขึ้นมา อย่างน้อยก็ในระยะ 3-4 ปีแรก
แต่เทคโนโลยีที่เรารู้จักกันอยู่ในปัจจุบันนั้น ยังถือได้ว่ามีขอบเขตจำกัดอยู่มาก เปรียบเทียบกับสิ่งที่ธนาคารใหญ่ๆ ของโลกกำลังใช้ในปัจจุบัน หรือกำลังนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้ธนาคารที่กำลังนำหน้าในด้านเทคโนโลยีประเภทนี้ ได้แก่ Citi Bank, Chase Manhattan Bank, Bank of America และ Banque National de Paris ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการธนาคารของโลก
แน่นอนผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการป้อนเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้แก่ธนาคารเหล่านี้และสถาบันการเงินต่างๆ ของโลก ก็คือ IBM ซึ่งเป็นอัศวินม้าขาวของโลกแห่งคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีในปัจจุบัน ในกิจการของ IBM นั้นจะมีหน่วยงานโดยเฉพาะที่ทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่กิจการธนาคารพาณิชย์ เพราะธนาคารเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของผู้ผลิตและจำหน่ายคอมพิวเตอร์
ธนาคารชั้นนำของโลก Citi Bank ซึ่งมีกิจการสาขาและตัวแทนอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ของทุกประเทศทั่วโลก ได้ลงทุนสร้างระบบคอมพิวเตอร์ของตนขึ้นมาจนสามารถสนองบริการธนาคารให้แก่ลูกค้า และให้แก่ธนาคารอื่นๆ ได้อย่างพิสดาร ในปัจจุบันธนาคารดังกล่าวจะมีขอบข่ายคอมพิวเตอร์ของตนทั่วโลกครอบคลุมทุกสาขาตัวแทน และครอบคลุมลูกค้ารายใหญ่ของตน การติดต่อเพื่อใช้บริการของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นการเปิด L/C การโอนเงิน การชำระเงินจากบัญชีใดบัญชีหนึ่งไปสู่อีกบัญชีหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นจากฮ่องกงไปเมือง Nice ในฝรั่งเศส หรือจากลอนดอนไปริโอเดจาเนโรในบราซิล จะสามารถทำได้จากห้องทำงานของบริษัทต่างๆ ในชั่วพริบตา
สิ่งที่ธนาคารเหล่านี้ทำอยู่นั้น ต้องใช้เงินลงทุนอย่างมากมาย ไม่ใช่แต่เฉพาะระบบ Hardware และ Software เท่านั้น แต่ต้องลงทุนหรือใช้จ่ายในระบบโทรคมนาคมทั่วโลกด้วย ซึ่งอาจจะใช้ระบบเคเบิล หรือดาวเทียม หรือทั้งสองอย่างก็ได้ (Citi Bank ปีละ 200 ล้านดอลลาร์)
นอกจากนี้สิ่งที่ธนาคารชั้นนำต้องลงทุนพัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษ คือการป้องกันการทุจริตและความผิดพลาด หรือ Security เพราะถ้าระบบที่นำมาใช้กับลูกค้านั้นไม่ปลอดภัยจริงๆ และเปิดช่องให้มี Dlectronic Theft ได้แล้ว ลูกค้าต่างๆ ย่อมไม่กล้าจะใช้บริการของธนาคารในลักษณะนี้ และการลงทุนตลอดจนระบบ Electronic Banking ที่พัฒนาขึ้นมาจะสิ้นประโยชน์ไปทันที
ธนาคารในประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่ยังถือได้ว่าเป็นธนาคารในประเทศ หรืออย่างดีก็เป็นธนาคารในภาคพื้น ยังไม่ถึงขั้นธนาคารระดับโลกอย่างแท้จริง เหมือนกับธนาคารชั้นนำของ มหาประเทศ จึงยังไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่จะนำ Electronic Banking ในลักษณะนั้นมาใช้กับลูกค้าโดยทั่วไปได้ แต่ถึงแม้ Citi Bank หรือธนาคารใหญ่ของโลกจะเริ่มนำบริการดังกล่าวออกมาใช้ ก็ยังถือได้ว่าอยู่ในระยะเริ่มแรกของการพัฒนา ซึ่งคงจะยังไม่แพร่หลายจริงๆ จนกว่าจะอีกหลายปีข้างหน้า
Electronic Banking ในระดับนานาชาติจึงเป็นเทคโนโลยีล่าสุด และเป็นเทคโนโลยีในอนาคต เราอาจถือได้ว่าโครงการ SEIFT ซึ่งย่อมาจากคำว่า Society for Worldwide Interbank Financial Telecom-munications ก็เป็นระบบ Electronic Interbanking ที่สำคัญประเภทหนึ่งในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นระบบที่ช่วยให้เราโอนเงินทาง Electronic เปิด L/C ยืนยันการกู้ยืมหรือแลกเปลี่ยนเงิน ตลอดจนส่ง Statement รายการเคลื่อนไหวประจำวันไปยังธนาคารอื่นๆ กว่า 1,000 ธนาคารที่เป็นสมาชิกในประเทศต่างๆ 54 ประเทศได้ในเวลาเพียง 1 นาที
การแข่งขันในอุตสาหกรรมข่าวสารข้อมูล
ในบรรดาอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในโลกปัจจุบันนี้ อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีอุตสาหกรรมใดจุติขึ้นมาได้โดยง่ายเหมือนอุตสาหกรรมไมโครคอมพิวเตอร์ เพราะใช้ทุนรอนน้อย สิ่งที่ต้องใช้คือ มันสมองของผู้เริ่มก่อการ
Apple ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กชื่อดังของอเมริกา ก็มีจุดเริ่มมาจากโรงรถในบ้านของเด็กหนุ่มสมองดีที่ยังไม่จบมหาวิทยาลัย และภายในระยะเวลาเพียง 7-8 ปี ก็สามารถจำหน่ายคอมพิวเตอร์ของตนได้ในมูลค่าประมาณปีละ 1,000 ล้านดอลลาร์
Apple มี Mr. Steven Jobs ซึ่งเป็นเจ้าของ ประธาน และเป็นผู้บุกเบิก ต่อมาก็มีผู้ติดตามสร้าง Computors ขนาดเล็กในรูปแบบต่างๆ ขึ้นมาเป็นดอกเห็ด เช่น Tandy, Commodore, Taxas Insturment, Victor และชื่อที่พวกเราคนไทยรู้จักกันดีอีกชื่อหนึ่งคือ Osborne รวมเป็นบริษัทต่างๆ เฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ผลิต Micro computer ออกมาขายประมาณ 150-200 บริษัท
IBM ยักษ์ใหญ่ในวงการคอมพิวเตอร์เริ่มสนใจตลาด micro และเริ่มผลิต IBM-PC ออกมาจำหน่ายเมื่อปี 2524 นี้เอง ในชั่วระยะเวลาเพียง 2 ปี หรือในปี 2526 IBM สามารถยึดครองตลาดได้เป็นอันดับหนึ่ง โดยมีส่วนแบ่งของตลาดถึง 26% คาดว่าภายในปี 2528 IBM จะครองตลาดโลกสำหรับ microcomputer ได้ถึงกว่าครึ่งหนึ่ง
สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ผู้คิดค้นเทคโนโลยีด้านข้อมูลหรือคอมพิวเตอร์ อาจเริ่มกิจการธุรกิจประเภทนี้ได้ง่าย แต่ก็อาจล้มคว่ำได้ง่ายเช่นเดียวกัน Osborne Computer Company เป็นบริษัทหนึ่งซึ่งต้องขอปิดกิจการเพราะไม่สามารถชำระหนี้สิน และนำผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ออกมาจำหน่ายได้ทันกำหนด Osborne เป็นเพียงบริษัทเดียวในหลายๆ บริษัทที่กำลังประสบปัญหานี้ เพราะแข่งขันสู้ยักษ์ใหญ่ไม่ได้ วงการธุรกิจประเภทนี้คาดว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้า อาจมีผู้ผลิต microcomputer ในสหรัฐฯ เหลืออยู่เพียงไม่เกิน 10 ราย
การแข่งขันที่จะมีต่อไปในอนาคต คือการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตรายใหญ่และผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกากับผู้ผลิตในญี่ปุ่น เป็นที่น่าสนใจว่า เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลนี้ก้าวหน้ารวดเร็ว แต่เฉพาะในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเท่านั้น ในยุโรปเกือบจะไม่มีความหมายหรือมีการพัฒนาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมประเภทนี้น้อยมาก ความก้าวหน้าของคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีเกิดขึ้นได้ ก็เพราะการลงทุนในด้าน Research and Development ซึ่งขณะนี้ IBM มีงบประมาณ R&D ประมาณปีละ 2,000 ล้านดอลลาร์ คู่แข่งที่สำคัญของ IBM คือญี่ปุ่น โดยเฉพาะ Fujutsu และ Hitachi
การแข่งขันในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก เป็นตัวอย่างหรือแบบฉบับของการแข่งขันในกิจการอุตสาหกรรมข่าวสารข้อมูล ซึ่งมีวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วดุจสายฟ้าแลบ แทบทุกสัปดาห์หรือทุกเดือนจะมีการค้นคว้าหรือค้นพบสิ่งใหม่ๆ ที่มีคุณค่า หรือมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาสู่ตลาด สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เราจะมีชีวิตและความเป็นอยู่ภายใต้เทคโนโลยีใหม่นี้อย่างไรในอนาคต เราอาจจะคาดได้ว่าจะมีจอคอมพิวเตอร์อยู่รอบตัวเราตั้งแต่ห้องนอน ห้องน้ำ รถยนต์ ห้องทำงาน และห้องประชุม และเราจะสามารถสั่งการใช้คอมพิวเตอร์ด้วยเสียงจากลำคอของเรา แทนที่จะต้องใช้วิธีกดคีย์บอร์ดเช่นในปัจจุบัน
การแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีเป็นของดี เป็นสิ่งที่นำความเจริญมาสู่สังคมของมนุษย์ เรามีสมองกลที่จะมาช่วยเราจัดระบบข้อมูลต่างๆ ให้เรียบร้อยเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบริหารงาน ซึ่งจำเป็นต้องมีข้อมูลที่พร้อม ถูกต้อง ทันสมัย เพื่อประโยชน์ในด้านการวางแผน การดำเนินงาน และการติดตามผลงาน สิ่งเหล่านี้เราหามาได้ในราคาต้นทุนที่ถูกลง เพราะเทคโนโลยีที่สูงขึ้น เช่นเมื่อ 20 ปีก่อน คอมพิวเตอร์ที่มีความจำขนาด 10K อาจจะต้องใช้เงินทุนถึง 10 ล้านบาท ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ขนาด 128K จะใช้เงินลงทุนเพียง 200,000 บาท เป็นต้น
ข่าวสารข้อมูลกับการฝ่ายจัดการ
เมื่อเรารู้ว่า เราอยู่ในสังคมข่าวสารข้อมูล รู้ว่าเรามีเทคโนโลยีที่จะรวบรวมจัดสรรและใช้ข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ในด้านการจัดการและการบริหารงานได้ สิ่งที่ท้าทายความสามารถของพวกเราก็คือ เราซึ่งเป็นผู้จัดการ หรือผู้บริหารจะต้องนำปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มาผสมผสานให้เป็นประโยชน์สูงสุดให้จงได้
เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าว อาจมีประเด็นคำถามซึ่งเป็นที่น่าสนใจกันโดยทั่วไปว่า ผู้บริหารงานในระดับสูงสุดหรือ Chief Executive Officers จำเป็นจะต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นหรือไม่? ถ้าใช้ไม่เป็นจะกลายเป็นบุคคลล้าสมัย จนสามารถบริหารงานในอนาคตไม่ได้หรือไม่?
คำตอบที่พอที่ถือเป็น consensus ได้ก็คือ CEO ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็น แต่จำเป็นหรือควรจะรู้จักเครื่องคอมพิวเตอร์ รู้สมรรถภาพและขีดความสามารถของเครื่อง เรียกว่าควรเป็น computer literate
ความรู้ในลักษณะนั้นจะทำให้ CEO ทราบว่า มีข้อมูลประเภทใดอยู่ในสมองกล มีรายละเอียดมากน้อยเพียงใด เครื่องคอมพิวเตอร์จะวิเคราะห์วิจัยข้อมูลเหล่านั้นให้ได้อย่างไร กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ CEO ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นด้วยตนเอง แต่ต้องรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์
ในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า ห้องทำงานของ CEO หลายแห่งจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือ computer monitor ประดับอยู่ CEO นั้นจะใช้เป็นหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ส่วนใหญ่อาจจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้เป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับห้องก็ได้
อย่างไรก็ดี เท่าที่ได้กล่าวมานี้ เราคงจะเห็นพ้องกันในหลายๆ ประเด็นว่า
1. ข่าวสารข้อมูลในโลกปัจจุบันมีมากเกินกว่าสมองของมนุษย์จะรับ และกลั่นกรองแล้วนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการบริหารงานด้านต่างๆ ได้ โดยเฉพาะข้อมูลซึ่งต้องผ่านกรรมวิธี และการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว เช่นการดำเนินกิจการของธนาคาร และกิจการของสายการบิน เป็นต้น
2. เทคโนโลยีในด้านข่าวสารข้อมูลกำลังรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว จะมีสิ่งแปลกๆ ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาอยู่เสมอ ผู้บริหารงานจำเป็นต้องติดตามความก้าวหน้าในด้านนี้ และต้องเป็นคน computer-literate
3. คอมพิวเตอร์หรือสมองกล ถึงแม้ว่าจะมีความจำในขอบเขตมหาศาล แต่ก็มีขอบเขตจำกัดในตัวของมันเอง การใช้คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ในด้านระบบข้อมูล จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงลำดับความสำคัญและใช้ computer capacity ให้เป็นประโยชน์สูงสุด เทคโนโลยีในอนาคตจะทำให้เรามี capacity ในด้านนี้สูงขึ้น ในอัตราการลงทุนที่ต่ำลง
4. เครื่องคอมพิวเตอร์หรือ Hardware นั้นซื้อหาได้ง่าย แต่ Software ซึ่งเป็นแผนการสั่งงานให้เครื่องปฏิบัติงานตามความต้องการของเรานั้น เป็นเรื่องที่ยังก้าวหน้าไม่ทันกับความต้องการ แม้กระทั่ง IBM ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ประเภท Mainframe และ Mini ก็ยังปรากฏว่ามี Bancklog ในด้าน Software order เป็นอันมาก ถ้าใครสั่งให้ IBM ทำ Softwareให้เป็นพิเศษ จะต้องให้เวลา IBM อย่างน้อย 18 เดือน ในบรรดาบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัย ผู้ที่ศึกษาเล่าเรียน computer science เพื่อทำหน้าที่ programmerจะหางานได้ง่ายที่สุด ตลาดแรงงานในสหรัฐฯ คาดว่ายังจะขาด computer programmer อีกประมาณหลายแสนคนในทศวรรษนี้
5. สถาบันธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันการเงิน หรือธนาคารพาณิชย์ ในปัจจุบันจะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ไปในการให้บริการแก่ลูกค้า หรือในการทำบัญชีเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นจุดเด่นในการสร้างความนิยมจากลูกค้าในรูปบริการที่รวดเร็วทันใจ อย่างไรก็ดี ระบบข้อมูลที่มีอยู่โดยอาศัยเทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์นั้น ยังจะสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์วิจัยปัญหาต่างๆ เพื่อประโยชน์ในด้านการจัดการ หรือการบริหารงานได้อีกมาก สิ่งที่มักเป็นอุปสรรคขัดข้องทำให้รวดเร็วไม่ได้ในขณะนี้มักจะอยู่ที่ Software Development
สุดท้ายนี้ผมมีข้อสังเกตอยู่ประการหนึ่งคือ จากประสบการณ์ที่ผมเคยอยู่ในวงการบริหารของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และธุรกิจอุตสาหกรรมเอกชน อาจจะกล่าวได้ว่าถ้าเราจะวัดถึงระดับการใช้ระบบข้อมูล เป็นเครื่องมือในด้านการบริหารกันแล้วก็จะปรากฏว่า รัฐวิสาหกิจบางรายแต่ไม่ใช่ทุกราย จะมีระบบข้อมูลเป็นเครื่องมือในการบริหารในระดับต่ำ เพราะปรากฏว่ารัฐวิสาหกิจบางแห่งไม่สามารถปิดบัญชีกำไรขาดทุน หรืองบดุลของกิจการที่ตนบริหารอยู่เป็นเวลาหลายๆ ปี
ส่วนราชการโดยทั่วไปจะมีระบบข้อมูลในการบริหารในระดับปานกลาง เพราะมักมีปัญหาในการรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องและจำเป็นในการประกอบการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ข้อมูลระดับชาตินั้นมักจะจัดหาหรือสำรวจให้ถูกต้องได้ยาก
ธุรกิจอุตสาหกรรมของเอกชนโดยเฉลี่ย จะใช้ระบบข้อมูลในการบริหารในระดับสูงกว่า เพราะจำเป็นต้องดำเนินงานโดยมีผลกำไร เพื่อความอยู่รอดของตน ในขณะเดียวกันข้อมูลของธุรกิจนั้นรวบรวมจัดหาได้ง่ายกว่า
จริงอยู่ ในการบริหารงานของหน่วยงานต่างๆ นั้น บางแห่งอาจจะใช้สามัญสำนึกหรืออาจจะใช้วิธีดูดวง ซึ่งบางครั้งก็อาจต้องยอมรับว่า ทำให้ตัดสินใจในการบริหารงานได้ดีกว่าระบบการวิเคราะห์ทางการเงินการบัญชีก็ได้
อย่างไรก็ดี ถ้าท่านเป็นนักบริหารมืออาชีพ และหวังจะประสบความสำเร็จที่ยั่งยืนในการประกอบอาชีพแล้ว ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบริหารงานด้วยข้อมูลโดยอาศัยความจริงเป็นสรณะ อาศัยความซื่อสัตย์และธรรมเป็นดวงประทีปชี้ทาง ความสำเร็จที่ได้มาจากกรรมวิธีอื่นที่ไม่ชอบธรรม ย่อมจะไม่จีรังยั่งยืน
* คำบรรยายของ ดร. อำนวย วีรวรรณ กรรมการบริหารและประธานคณะกรรมการจัดการด้านกิจการธนาคารต่าง-ประเทศของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ในการสัมมนาตามโครงการพัฒนาเจ้าหน้าที่บริหารในสถาบันการเงิน ณ โรงแรมมณเฑียร วันที่ 12 ตุลาคม 2526
|