กลุ่มเซ็นทรัลฯ ดึง 11 พันธมิตร ร่วมพลิกโฉมเซ็นทรัลเวิลด์สู่ "เอเชีย พรีเมียร์ ชอปปิ้ง พาราไดส์" ด้านซีอาร์ซีขนธุรกิจในเครือสร้างแฟลกชิป สโตร์โชว์ต่างชาติ รับแผนลงทุนต่างประเทศ ส่วนท็อปส์แตกแบรนด์ซูเปอร์มาร์เกตใหม่ เพิ่มสินค้านำเข้าเป็น 40% พร้อมสร้างคอนเซ็ปต์ใหม่สาขาชิดลม ชะลอแผนทำตลาดรูปแบบซิตี้ มาร์เกต
สถานการณ์ค้าปลีกย่านราชประสงค์จะดุเดือดมากขึ้น เมื่อกลุ่มเซ็นทรัลพยายามปรับตัวโดยการยกธุรกิจในเครือและพันธมิตรมาตั้งไว้ในโครงการเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมเพิ่มงบลงทุนไม่อั้น เพื่อเป็นการต่อสู้และรับมือกับโครงการสยามพารากอนที่จะเปิดตัวภายในปลายปีนี้
นายกอบชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (ซีพีเอ็น) เปิดเผยแผนการลงทุนของกลุ่มซีพีเอ็นในปี 2548 ว่า เม็ดเงินสำคัญจะเน้นหนักที่โครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งมีมูลค่ารวม 26,000 ล้านบาท บนพื้นที่รวมทั้งหมดกว่า 800,000 ตร.ม. เนื้อที่รวม 60 ไร่ และเป็นเม็ดเงินที่ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2549-2551 โดยบริษัทจะปรับใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เป็น "เอเชีย พรีเมียร์ ชอปปิ้ง พาราไดส์" และทำให้ภาพของชอปปิ้งสตรีท หรือศูนย์กลางของธุรกิจค้าปลีก มีความสมบูรณ์แบบที่สุด
โครงการเซ็นทรัลเวิลด์จะมีพันธมิตรหลัก 11 ธุรกิจ ทั้งในเครือและนอกเครือประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน, ห้างสรรพสินค้าเซน, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์, ศูนย์กลางการเรียนรู้ ICT แห่งชาติ และอุทยานการเรียนรู้ TK Park ซึ่งจะย้ายจากชั้น 6 เป็นชั้น 8, คิงส์เพาเวอร์ ดิวตี้ ฟรี ชั้น 6, ส่วนพันธมิตรใหม่ อาทิ เอส เอฟ ซีเนม่า ซิตี้ อยู่ชั้น 9 -10, เพาเวอร์บาย ชั้น 5, ซูเปอร์สปอร์ต ชั้น 3, บีทูเอส ชั้น 4, ซูเปอร์มาร์เกตแบรนด์ใหม่จากท็อปส์ ชั้น 7 ซึ่ง ทุกธุรกิจจะสร้างให้เป็นแฟลกชิป สโตร์โดยเฉพาะค้าปลีกในเครือของซีอาร์ซี โดยเชื่อว่าโครงการนี้จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยที่จะมาจับจ่ายใช้สอยกว่า 15 ล้านคนต่อปี และนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกกว่า 14 ล้านคนต่อปี
สำหรับงบลงทุนของโครงการอื่นๆ ซีพีเอ็นเตรียมงบประมาณไว้อีก 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบของโครงการศูนย์การค้าแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ 2 แห่ง เม็ดเงิน 4,000 ล้านบาท และต่างจังหวัดอีก 2 แห่ง คิดเป็นเม็ดเงิน 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้โครงการในกรุงเทพฯ อาจรวมถึงโครงการค้าปลีกย่านพระราม 4 ที่ซีพีเอ็นเป็น 1 ใน 7 รายที่เข้าร่วมการประมูล โดยเตรียมเสนอรายละเอียดที่ประกอบด้วย ที่พักอาศัย โรงแรมระดับ 5 ดาว และ 4 ดาว อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงละคร พิพิธภัณฑ์
ผุดแฟลกชิปสโตร์โชว์ต่างชาติ
นายทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจในเครือซีอาร์ซีที่จะเปิดใหม่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ส่วนใหญ่จะเป็นแฟลกชิปสโตร์ เนื่องจากบริษัทมองว่าถึงเวลาที่ทุกธุรกิจควรจะมีแฟลกชิป สโตร์แล้ว และเซ็นทรัลเวิลด์อยู่ในทำเลที่เหมาะสมที่จะเปิดแฟลกชิปสโตร์มากที่สุด
การสร้างแฟลกชิปสโตร์นับเป็นหน้าเป็นตาให้กับแต่ละธุรกิจเอง สามารถที่จะอวดต่างชาติได้ และช่วยสร้างการจดจำแบรนด์ให้กับชาวต่างชาติทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้าใจคอนเซ็ปต์ของแต่ละแบรนด์ได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งถือเป็นการปูทางสู่การลงทุนค้าปลีกของกลุ่มซีอาร์ซีในภูมิภาคอาเซียน
แผนงานดังกล่าวเบื้องต้นทางบริษัทได้เจรจากับผู้ประกอบการประมาณ 10 ราย จากหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งหากสามารถ ตกลงกับผู้ประกอบการรายใดได้ก่อน ประเทศนั้นจะเป็นประเทศแรกที่เข้าลงทุน แต่มองว่าประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจเข้าไปลงทุนสูง
ท็อปส์ทำซูเปอร์มาร์เกตแบรนด์ใหม่
นายเอียน ไพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ผู้บริหารท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือซีอาร์ซี เปิดเผยว่า ขณะนี้ท็อปส์ฯ อยู่ระหว่างศึกษาซูเปอร์มาร์เกตคอนเซ็ปต์ใหม่ 2 คอนเซ็ปต์ ภายใต้แนวคิด "Food Hall" ที่ผสมระหว่างซูเปอร์มาร์เกต รูปแบบใหม่และฟูดคอร์ตรูปแบบใหม่ที่มีเชฟจากต่างประเทศมาปรุงอาหาร
คอนเซ็ปต์แรกจะเป็นรูปแบบใหม่ของสาขาเซ็นทรัลเวิลด์ มีพื้นที่ 4,500 ตร.ม. ซึ่งสาขานี้จะใช้แบรนด์ใหม่ เนื่องจากต้องการสร้างความแตกต่างให้กับเซ็นทรัลเวิลด์ เน้นสินค้าพรีเมียมมากกว่ามาร์เกตเพลส บาย ท็อปส์ มีสัดส่วนสินค้า นำเข้า 40% ขณะที่มาร์เกตเพลสฯ มีสัดส่วน สินค้านำเข้าเพียง 17-18% จากสินค้า 30,000 รายการ จับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีความทันสมัย
คอนเซ็ปต์ที่ 2 จะเป็นรูปแบบใหม่ของสาขาเซ็นทรัล ชิดลม แต่อยู่ระหว่างพิจารณาว่าอาจจะเปลี่ยนแบรนด์หรือไม่เปลี่ยน แต่คอนเซ็ปต์จะแตกต่างจากเซ็นทรัลเวิลด์อย่างชัดเจน โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย กลุ่มครอบครัว
เป้าหมายของการพัฒนาคอนเซ็ปต์ใหม่ของท็อปส์ฯ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของรูปแบบซูเปอร์มาร์เกตในเครือรองรับแผนขยายธุรกิจค้าปลีกไปต่างประเทศของกลุ่มซีอาร์ซี ซึ่งบริษัทยังไม่เลือกชัดเจนว่าจะใช้แบรนด์ใดไปต่างประเทศ
"เราศึกษารูปแบบซูเปอร์มาร์เกตใหม่ๆ จากทั่วโลก อาทิ ลอนดอน นิวยอร์ก ปารีส ญี่ปุ่น โตเกียว เพื่อนำความเป็นอินเตอร์เนชั่น ไฮคลาสมาปรับใช้ในการสร้างประสบการณ์ด้านอาหารให้กับผู้บริโภค โดยให้บริษัท Fitch Design ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบชอปปิ้งค้าปลีกระดับโลก เป็นผู้ออกแบบคอนเซ็ปต์ใหม่ และต่อไปบริษัทจะเน้น 4 รูปแบบหลัก คือ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, มาร์เกต เพลส บาย ท็อปส์, ชิดลม และเซ็นทรัล เวิลด์ ขณะที่รูปแบบซิตี้ มาร์เก็ต บาย ท็อปส์ จะพักไว้ก่อน โดยปัจจุบันเหลือเพียง 1 สาขาที่อาคาร ออลซีซั่น"
สำหรับแผนขยายสาขาใหม่ปี 2548 บริษัทยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนได้ แต่ในเดือนมี.ค.นี้ได้เปิดสาขาใหม่ด้วยกัน 3 สาขา คือ ระยอง, แหลมทอง ศรีราชา และบางแสน โดยผลประกอบการปี 2547 ปิดยอดขาย 16,000 ล้านบาท เติบโต 14% มากกว่าเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 10% และปี 2548 นี้คาดว่ายอดขายจะเติบโตประมาณ 18-20%
|