|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2526
|
|
หลายปีก่อนถ้าใครพูดว่าแบงก์พาณิชย์ไทยจะพัฒนาตัวเองเป็นแบงก์สมองกล คนที่พูดต้องไม่แคล้วถูกหัวเราะ คิก..คิก...ใส่หน้า หาว่าเป็นพวกสติเฟื่องไปโน่น
แต่วันนี้คนที่พูดอย่างนั้นจะได้รับการยกย่องว่าเป็นคนทันสมัยทุกกระเบียดนิ้ว
ถ้าจะถามว่า อะไรทำให้ความเชื่อดังกล่าวนี้เปลี่ยนไป คำตอบก็เห็นจะอยู่ตรงที่การพัฒนาการใช้คอมพิวเตอร์ของแบงก์กรุงเทพกับแบงก์ไทยพาณิชย์ซึ่งทำระบบออนไลน์ (ONLINE) สำเร็จ ลูกค้าของแบงก์สามารถใช้บริการฝาก-ถอนต่างสาขาได้เกือบทุกประเภทบัญชี และการนำเครื่องเอทีเอ็ม (AUTOMATIC TELLER MACHINE) เข้ามาติดตั้งให้บริการฝาก-ถอนอัตโนมัติ วันเสาร์-อาทิตย์ไม่หยุดของแบงก์ไทยพาณิชย์เมื่อไม่นานมานี้นั่นเอง
จากจุดที่ทั้ง 2 แบงก์ สามารถทำออนไลน์ได้ทั่วทุกสาขาในเขตกรุงเทพฯ การขยายขอบข่ายออกไป เป็นการทำออนไลน์ทั่วประเทศ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป และถ้าบางแบงก์จะพูดถึง “โฮมแบงกิ้ง” ซึ่งหมายถึงการให้บริการถึงบ้านของแต่ละแบงก์ อยากจะฝาก-ถอนหรือโอนเงินหรือชำระบิลค่าน้ำค่าไฟ ค่าชอปปิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ต ก็เพียงเดินไปที่หน้าจอเทอร์มินัลประจำบ้านแล้วคีย์ข้อมูลเข้าไป ระบบออนไลน์ของแบงก์ก็จะทำการตัดบัญชีหรือโอนบัญชีให้เสร็จสรรพเรียบร้อย โดยที่ลูกค้าไม่ต้องถ่อร่างออกนอกบ้าน ก็มิใช่เรื่องเพ้อฝันเช่นกัน
คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า เวลานี้เมื่อต้องพูดถึง “แบงก์สมองกล” สายตาทุกคู่ก็มักจะจับภาพไปที่ 4 แบงก์พาณิชย์ระดับหัวแถวของไทย อันได้แก่แบงก์กรุงเทพ, แบงก์ไทยพาณิชย์, แบงก์กรุงไทย และสุดท้ายก็ที่แบงก์กสิกรไทย คำอธิบายง่ายๆ ก็คือ ทั้ง 4 แบงก์เป็นกลุ่มผู้บุกเบิกการมีการใช้คอมพิวเตอร์ในรูปลักษณ์ต่างๆ กันบ้างเหมือนกันบ้างในช่วงระยะเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมา จนเชื่อกันว่าถ้าจะมี “แบงก์สมองกล” เกิดขึ้นมาในช่วงระยะเวลาข้างหน้านี้แล้ว กลุ่ม 4 แบงก์ดังกล่าวจะเป็นผู้ไปถึงก่อนแบงก์อื่นๆ ในจำนวนทั้งหมด 16 แบงก์ของไทย
ส่วนว่าใครภายใน 4 แบงก์นี้จะไปถึงได้ก่อนกันนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ถ้าจะจัดอันดับกันตอนนี้ แบงก์กรุงเทพคงถูกวางในอันดับเต็งหนึ่ง โดยมีอายุการใช้คอมพิวเตอร์นานที่สุดถึง 15 ปี เป็นข้อมูลสนับสนุนเบื้องต้น “ผมว่าเขาต้องไปก่อนแน่ เขาวางรากฐานมานานนับสิบปี พัฒนาโปรแกรมไปได้มากมายแล้ว และที่สำคัญทุนเขาหนา” ดร. ปัญญา เปรมปรีด์ มันสมองด้านคอมพิวเตอร์ของกสิกรไทยก็ยังแสดงความเห็นยอมรับ เมื่อ “ผู้จัดการ” เรียนถามว่า แบงก์ไหนจะขยายระบบออนไลน์ออกไปต่างจังหวัดได้ครบก่อนกัน ซึ่งการขยายขอบข่ายระบบออนไลน์ได้ทั่วประเทศหรือไม่นี้ ถือเป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่จะบ่งชี้ว่าแบงก์นั้นควรนับเป็น “แบงก์สมองกล” ได้แล้วหรือยัง
“อีกอย่างเขาเล่ากันว่า เรื่องเอาคอมพิวเตอร์มาให้บริการลูกค้านี่นายห้างชิน (โสภณพนิช) ท่านสนับสนุนมาตั้งแต่ต้น คือท่านมีเพื่อนแบงเกอร์ที่ฮ่องกงมาก พวกเพื่อนๆ นี่แหละที่ใส่ความคิดว่างานแบงก์นี่ต้องเล่นกับคอมพิวเตอร์ ต้องพัฒนาการให้บริการโดยเอาคอมพิวเตอร์มาช่วย ท่านฟังแล้วก็เห็นดีเห็นงามก็เลยสั่งให้บุกใหญ่ ถ้าเทคโนโลยีเมื่อ 15 ปีมันทำออนไลน์ได้ผล ผมว่าแบงก์กรุงเทพเอาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เขาว่าตอนนั้นต้นทุนมันสูงมากแล้วก็เครื่องไม้เครื่องมือก็ด้อยประสิทธิภาพ แบงก์กรุงเทพจึงเพิ่งเริ่มต้นทำออนไลน์จริงๆ เมื่อเกือบ 10 ปีมานี้เอง” แหล่งข่าวระดับสูงคนหนึ่งแสดงความเห็น เป็นการเสริมข้อมูลว่าแบงก์กรุงเทพต้องทำสำเร็จก่อนแน่ ทั้งนี้เพราะบุคคลระดับยอดสุดสนับสนุนอยู่เต็มตัว ซึ่งก็นับเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ถึงแบงก์กรุงเทพจะมีความต้องการขยายขอบข่ายออกไปทั่วประเทศ แต่ถ้าบริการด้านการสื่อสารของรัฐยังไม่พัฒนาออกไปให้สอดคล้องในทางปฏิบัติก็ย่อมยังเป็นไปไม่ได้อยู่นั่นเอง
เมื่อประมาณ 2 ปีมาแล้ว มีเรื่องที่วงการคอมพิวเตอร์วิจารณ์อันเอิกเกริก นั่นก็คือจู่ๆ แบงก์กรุงเทพก็ใจดีซื้อเครื่องส่งความถี่วิทยุราคา 6 ล้านบาท ให้กรมไปรษณีย์โทรเลข โดยเครื่องส่งนั้นมี 8 ช่องความถี่ แบงก์กรุงเทพผู้ลงทุนขอเช่าทันที 4 ช่องความถี่ ส่วนที่เหลือทางราชการจะเอาไปใช้ทำอะไรก็ทำไป เรื่องนี้ ดร. ศรีศักดิ์ จามรมาน จอมยุทธด้านคอมพิวเตอร์ของแบงก์กรุงเทพ ซึ่งรับผิดชอบโครงการนี้อยู่ ชี้แจงว่า เครื่องส่งความถี่วิทยุดังกล่าว แบงก์กรุงเทพจะนำมาใช้กับระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งจะมีติดรถผู้บริหารทุกคัน เผื่อมีงานเร่งด่วนจะได้ติดต่อกันทันที อย่างไรก็ตาม ดร. ศรีศักดิ์ยอมรับว่าแบงก์กรุงเทพจะลงทุนโครงการนี้อีก โดยจะตั้งจานรับคลื่นบนเขาเขียวจังหวัดชลบุรีและจังหวัดสระบุรี เพื่อเพิ่มรัศมีทำการของคลื่นวิทยุ
กรณีดังกล่าว หลายคนวิจารณ์ว่าจะเป็นไปได้ไหมที่เครื่องมือดังกล่าว แบงก์กรุงเทพจัดซื้อมาเพื่อทำออนไลน์ไปยังสาขาต่างๆ ในภาคตะวันออกและภาคกลาง ซึ่งตามแผนแบงก์จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในปี 2526 นี้ 36 สาขารอบกรุงเทพฯ
“ผมว่าแบงก์กรุงเทพเขาขี้เกียจรอ เมื่อรัฐไม่ลงทุนเขาก็ลงทุนของเขาเอง เพียงแต่กฎหมายไม่เปิดให้เขาทำได้ ก็ต้องพลิกแพลงเอา...” แหล่งข่าวในวงการคอมพิวเตอร์ตั้งข้อสังเกต
ต่อมาแบงก์ที่เต็งอันดับ 2 ยังคู่คี่ก้ำกึ่งระหว่างไทยพาณิชย์กับกรุงไทย ทางไทยพาณิชย์นั้นดูไปแล้วบูมสุดขีดในทางเปิด เพราะการลงทุนทำออนไลน์ สามารถฝาก-ถอนได้ทุกสาขาในเขตกรุงเทพฯ และการนำเครื่องบริการเงินด่วนหรือเอทีเอ็มเข้ามาติดตั้งให้บริการแก่ลูกค้านั้น ว่ากันว่า นอกจากจะเป็นการตัดสินใจว่าจะทำให้แบงก์ได้ผลตอบแทนคุ้มแล้ว ผลทางการประชาสัมพันธ์เพื่อให้หลุดพ้นจากฉายา “แบงก์ยายแก่” ก็เป็นผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งซึ่งไทยพาณิชย์ไม่มองข้ามในระยะใกล้ๆ นี้ชื่อเสียงการเป็น”แบงก์สมองกล” จึงผนวกไทยพาณิชย์เข้าไว้ในอันดับหัวแถว
และก็เช่นเดียวกับแบงก์กรุงเทพ ไทยพาณิชย์ ไม่มีปัญหาเรื่องความคิดของผู้บริหารที่จะขยายการให้บริการโดยระบบสมองกล “ที่จริงแบงก์นี้เขาใช้คอมพิวเตอร์มานานเกือบ 10 ปีแล้ว เครื่องรุ่นแรกเป็นเครื่องซิงเกอร์ซิสเต็ม 10 แต่ทำพวกอินเทอร์นอล อินฟอร์เมชั่น ไม่ได้มุ่งไปที่การให้บริการลูกค้าเขาก็เลยเงียบมา 5ปี จนคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์เข้าไป...”
อดีตนักเรียนเก่าเอ็มบีเอจากฮาร์วาร์ด และอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซิตี้คอร์ปอย่างธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เรื่อง “แบงก์สมองกล” เป็นความเชื่อที่ลงรากมั่นคงแน่นหนา ดังนั้นเมื่อเขาก้าวเข้ามาในไทยพาณิชย์การพัฒนาระบบออนไลน์ก็เกิดขึ้นทันที และหลังจากนั้นอีก 5 ปี ไทยพาณิชย์ก็สามารถประกาศว่า ในทุกสาขาของกรุงเทพฯ ลูกค้าสามารถฝากถอนได้ทุกประเภทบัญชี แม้แต่บัญชีกระแสรายวันซึ่งผู้บุกเบิกระบบออนไลน์อย่างแบงก์กรุงเทพก็ยังไม่ทำ
ต่อมาเมื่อระบบบริการเงินด่วนโดยเครื่องเอทีเอ็มได้รับการติดตั้ง ชื่อเสียงของไทยพาณิชย์ก็ทำท่าจะฉุดไม่อยู่ แต่กระนั้นก็ยังมีผู้วิจารณ์ว่า “ผมว่าไทยพาณิชย์เขาคงต้องใช้เวลาปูฐานในเมืองของเขาให้แน่นเสียก่อน แล้วจึงกระโดดออกไปฮุกกับต่างจังหวัด เพราะที่ผ่านมาเขาเร่งเต็มสตรีมอย่างมาก ภายใน 5 ปี ดูมันขึ้นมาตูมๆ เร็วไป อย่าลืมว่าแบงก์กรุงเทพเขาต้องใช้เวลาถึง 15 ปีนะ...” อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวคนหนึ่งแย้งว่า “มันขึ้นอยู่กับพัฒนาการด้านเทคโนโลยีด้วย ไทยพาณิชย์ไม่ใช่เร่งเร็วเกินไป แต่เขาเกิดขึ้นมาในช่วงที่เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์มันเป็นใจ ต่างจากแบงก์กรุงเทพซึ่งเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วเทคโนโลยีมันยังไม่พัฒนามาก”
สำหรับแบงก์กรุงไทย ถ้าจะพูดว่าที่นี่ใช้คอมพิวเตอร์และพัฒนากันแบบซุ่มเงียบก็คงไม่ผิดนัก กรุงไทยเริ่มต้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ในระยะ 8 ปีแรกคอมพิวเตอร์ที่นำมาติดตั้งมุ่งไปที่การให้บริการแบบอินเทอร์นอล อินฟอร์เมชั่นเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในส่วนงานด้านต่างประเทศซึ่งกรุงไทยมีกิจกรรมในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐมากมายอยู่แล้ว ใน 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง ที่กลยุทธ์เริ่มจะเปลี่ยนไป และเมื่อเร็วๆ นี้เมื่อกรุงไทยประกาศซื้อเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ทีเดียว 200 กว่าเครื่อง ก็ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่ากรุงไทยกำลังจะกลายเป็นแบงก์สมองกลอีกรายในไม่ช้า
แหล่งข่าวในกรุงไทยคนหนึ่งกล่าวว่า “เครื่องไมโครที่ซื้อมาจะนำไปติดตั้งตามสาขาทั่วประเทศ” และเขายอมรับว่า เมื่อทุกสาขาพัฒนาการใช้คอมพิวเตอร์จนถึงจุดจุดหนึ่งแล้ว เป็นไปได้ที่ทุกเครื่องจะฮุก (HOOK) ต่อกันเป็นเน็ตเวิร์คซึ่งก็จะทำงานไม่ต่างไปจากระบบออนไลน์ สามารถให้บริการฝากถอนต่างสาขาได้เช่นกัน”ก็ยังไม่แน่ว่าจะเอาไมโครคอมพิวเตอร์ที่ซื้อมาฮุกเข้าด้วยกัน หรือจะเปลี่ยนเป็นเครื่องที่ใหญ่ขึ้นก่อน แต่ยืนยันได้อย่างว่าไมโครที่ซื้อมานั้นเป็นบันไดก้าวแรกที่จะต้องพัฒนาไปได้อีกไกล...” แหล่งข่าวคนเดิมเน้น
การเปิดตัวอย่างอึกทึกครึกโครมของไทยพาณิชย์และการไปอย่างเงียบๆ แบบกรุงไทย ยังไม่อาจชี้ชัดในขณะนี้ว่า ใครจะเป็นแบงก์สมองกลก่อนกัน จึงวางในอันดับเต็ง 2 ด้วยกันไว้ก่อน
และก็มาถึงแบงก์สุดท้ายคือกสิกรไทย
ว่าไปแล้วกสิกรไทยเป็นแบงก์ที่ 2 รองจากแบงก์กรุงเทพที่นำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ โดยห่างกันเพียง 5 ปี แต่กสิกรไทยค่อนข้างจะมีท่วงทำนองที่เยือกเย็นผิดปกติ
ดร. ปัญญา เปรมปรีดิ์ ผู้รับผิดชอบงานด้านคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันกล่าวว่า “ที่นี่มีแนวในการใช้คอมพิวเตอร์โดยเน้นไปที่อินเทอร์นอลอินฟอร์เมชั่นก่อน ต่างจากแบงก์กรุงเทพที่เขาเริ่มโดยวางแนวว่าเขาจะต้องนำไปให้บริการกับลูกค้าเป็นอันดับแรก กสิกรไทยมีความต้องการพัฒนาโปรแกรมของเราขึ้นมาเอง สร้างคนของเราขึ้นมาเอง เราจึงไปอย่างเงียบๆ”
จากการเปิดเผยของ ดร. ปัญญา อัตราเร่งเพิ่งจะถีบตัวขึ้นเมื่อ 4 กว่าปีนี่เอง และก็คงจะเร่งได้ไม่รวดเร็วอย่างไทยพาณิชย์เด็ดขาด แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งในอนาคตก็ยังไม่แน่นักว่า กสิกรไทยจะเป็นรองแบงก์อื่น ทั้งนี้ก็เพราะกสิกรไทยเชื่อมั่นในระบบแบบที่เรียกว่า “ดิสติบิวเต็ด” กล่าวคือแทนที่จะมีเครื่องเมนเฟรมตั้งไว้ที่สำนักงานใหญ่แล้วต่อเทอร์มินัลไปตามสาขาให้ทำออนไลน์อย่างไทยพาณิชย์หรือแบงก์กรุงเทพ กสิกรไทยกลับติดตั้งเครื่องมินิคอมพิวเตอร์ไว้ที่ทุกสาขาและเมื่อติดตั้งได้ครบทุกสาขาในเขตกรุงเทพฯ แล้วก็จะฮุก (HOOK) เข้าด้วยกันเป็นเน็ตเวิร์คซึ่งให้บริการได้เหมือนระบบออนไลน์เช่นกัน “ทำแบบเรา มันช้าแต่เราเชื่อว่ามันจะดีกว่าระบบเซ็นทรัลไลซ์ของแบงก์อื่น” ดร. ปัญญากล่าว
กสิกรไทยเชื่อว่า เมื่อปริมาณงานของแต่ละสาขาเพิ่มขึ้น ความต้องการที่แต่ละสาขาจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ใช้เอง ย่อมมีมากกว่าการมีเพียงเทอร์มินัลเฉยๆ และเมื่อนั้นแหละที่กสิกรไทยซึ่งได้ลงมือทำก่อนจะเริ่มกลับมาเป็นผู้นำบ้าง
แต่เรื่องของเทคโนโลยีก็มักจะเป็นเรื่องที่คาดเดายาก การสรุปอะไรที่แน่นอนเป็นเรื่องไม่น่าทำอย่างยิ่ง เพราะผลมันก็อาจจะเป็นเหมือนตอนต้นของเรื่องนี้
|
|
|
|
|