|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2526
|
|
การตัดสินใจของธนาคารชาติในระยะ 2 อาทิตย์ที่เริ่มเกิดเรื่องกับพัฒนาเงินทุนนั้น ถึงแม้ว่าจะมีคนตำหนิอยู่บ้างว่า เข้าไปช่วยคนผิด แต่เราคิดว่าธนาคารชาติทำได้ดีที่สุดแล้ว ในภาวการณ์ที่มีเงื่อนไขของความตื่นตระหนกผูกไว้อยู่
ปัญหาที่ทุกคนกำลังถามและธนาคารชาติเองก็คงจะกระอักกระอ่วนใจที่จะตอบคำถามที่ว่า “ทำไมถึงปล่อยให้เกิดมาเช่นนี้?”
“เราเป็นเหมือนตำรวจ ในสังคมการเงินมีสุภาพบุรุษและมีโจร มีคนถามว่าทำไมเราไม่จับโจร? เราจับไม่ได้เพราะโจรเล่นจับประชาชนมาเรียกค่าไถ่” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารชาติคนหนึ่งระบายให้ฟัง
แต่บางทีธนาคารชาติเองควรจะทบทวนบทบาทของตัวเองในอดีตบ้างเพื่อหาข้อบกพร่อง ซึ่งเราคิดว่าข้อบกพร่องของธนาคารชาติในอดีตก็มีอยู่หลายประการด้วยกัน
1. การประชาสัมพันธ์
ธนาคารชาติชอบทำตัวเหมือนคนลึกลับอยู่เสมอ ในเรื่องข่าวคราวทางการเงินการทอง ในขณะที่กฎหมายให้อำนาจสถาบันการเงินระดมเงินฝากจากประชาชนได้ แล้วทำไมประชาชนไม่มีสิทธิ์จะรับรู้ความเป็นไปของสถาบันการเงินพวกนี้ได้บ้างเล่า อย่างน้อยฐานะทางการเงินของพวกนี้ควรจะต้องตัดใส่กรอบปะไว้หน้าบริษัทให้สาธารณชนได้ดูกันอย่างจะแจ้ง และฐานะทางการเงินนั้นก็ต้องรับรองโดยธนาคารชาติด้วย
สังคมไทยเป็นสังคมของข่าวลือ ยิ่งพยายามปิดข่าวและกระอ้อมกระแอ้มพูดไม่เต็มปาก ยิ่งทำให้ประชาชนคิดว่าธนาคารชาติกำลังปกปิดปัญหาซึ่งมันใหญ่มหาศาลเหลือเกิน
ถ้าสถาบันการเงินรู้ว่าเมื่อตัวเองทำผิดจะมีแต่ธนาคารชาติรู้เรื่องคนเดียว ก็จะยิ่งทำให้ผู้บริหารเหล่านี้เหิมเกริม “ปรับได้ปรับไปซิ” แต่ถ้าสถาบันการเงินรู้ว่าประชาชนก็มีสิทธิ์รู้ด้วยกลับจะทำให้พวกนี้ต้องระมัดระวังตัว และก็จะทำให้ประชาชนแยกสถาบันการเงินที่เลวออกจากที่ดีได้
ถ้าธนาคารชาติคิดว่าการปิดข่าวไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตื่นตระหนกนั้นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อสถาบันหนึ่งในที่สุดก็ล้มลงกลับจะทำให้ทุกคนตื่นตระหนกมากขึ้นเพราะจู่ๆ อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยก็ล้มลงมา แน่นอนที่สุดประชาชนก็มีสิทธิ์สงสัยทันทีว่า “คงมีอีกเยอะที่เป็นเช่นนี้แต่เขาคงปิดข่าวไว้” แทนที่จะออกมาในรูปที่ว่า “บริษัทนี้ควรล้มนานแล้วเพราะมีข่าวว่าทำไม่ดีมาตลอด”
ข้อนี้เป็นข้อที่เรามีความเชื่อมั่นอย่างสูงว่า ถ้าประชาชนได้รับทราบข่าวสารข้อมูลจริงๆ ตลอดมาแล้ว ผลกระทบก็จะไม่รุนแรงเช่นนี้
2. ธนาคารชาติควรตัดสินใจอย่างอิสระ
ต้องยอมรับกันว่าใน 10 ปีที่ผ่านมานี้ธนาคารชาติกลัวการเมืองมากเกินไป อำนาจตามมาตรา 57 ของธนาคารชาติมีมากอยู่แล้วที่จะจัดการกับปัญหาต่างๆ อย่างเด็ดขาด แต่ที่ธนาคารชาติไม่ทำลงไปเพราะกลัวผู้มีอำนาจวาสนาทางการเมือง
เจ้าหน้าที่ธนาคารชาติมักจะพูดเสมอว่า “นักการเมืองเป็นคนให้ใบอนุญาตบริษัทเงินทุนมากไป” ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าให้มากหรือให้น้อย ปัญหาอยู่ที่ว่าพวกนี้ธนาคารชาติสามารถจะควบคุมให้อยู่ในกรอบที่ธนาคารชาติต้องการหรือไม่ เพราะธนาคารชาติสามารถจะเปลี่ยนตัวผู้บริหารเข้าควบคุมกิจการหรือยกเลิกใบอนุญาตได้ ถ้าใครไม่เดินตามกรอบที่วางไว้ แน่นอนการตัดสินใจเช่นนั้นต้องกระทบกระทั่งผู้มีอำนาจวาสนา แต่ถ้าเป็นการกระทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนแล้ว ประวัติศาสตร์ก็คงจะยืนยันความถูกต้องของธนาคารชาติ และสื่อมวลชนก็คงจะยืนอยู่ข้างธนาคารฯ
3. มาตรการธนาคารชาติไม่คงเส้นคงวา
การปล่อยให้ราชาเงินทุนล้มกับการต้องเข้าประคองเสรีสากล-ธนกิจ-พัฒนาที่ดิน-เจริญกรุง-บ้านและที่ดินไทย เป็นการกระทำที่หามาตรการไม่ได้ และเมื่อมาเปรียบเทียบกันแล้วกลับดูเหมือนว่าราชาเงินทุนจะโดนการเมืองกลั่นแกล้ง
เพราะในขณะที่เจ้าหนี้ราชาเงินทุนมีมติไม่ต้องการให้บริษัทล้มละลาย แต่ธนาคารชาติกับกระทรวงการคลังกลับปฏิเสธคำเรียกร้องของเจ้าหนี้ราชาเงินทุนซึ่งต้องการจะช่วยตัวเองโดยไม่ขอให้รัฐเข้าไปแทรกแซง ตรงกันข้ามกับบริษัทที่กล่าวมาข้างต้นกลับวิ่งเข้าซบธนาคารชาติและกระทรวงการคลังให้ช่วย
เหล่านี้เป็นเพียงข้อสังเกตบางประการของเราเท่านั้น และเราหวังว่าข้อสังเกตเหล่านี้คงจะเป็นเรื่องติเพื่อก่อให้กับธนาคารชาติ
ส่วนการจัดให้สหธนกิจเข้ามารับภาระนั้น “ผู้จัดการ” กลับคิดว่าเป็นการสร้างปัญหาไม่ใช่แก้ปัญหาเพราะ
1. ในยอดที่ต้องจ่ายคืนปีละ 10% เป็นเวลา 10 ปีนั้น สหธนกิจต้องจ่ายออกปีละ 300 ล้านบาท ซึ่งในกรณีเช่นนี้สหธนกิจต้องการปริมาณเงินที่จะมาหมุนเวียนทำธุรกิจไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท และเงินก้อนนี้ก็คงต้องเป็น SOFT LOAN จากธนาคารชาติอีกซึ่งจะมีลูกเล่นออกมาแบบใดก็ตาม ก็ยังจะต้องออกมาจากธนาคารชาติ
2. การที่ธนาคารพาณิชย์ต้องมาเพิ่มทุนให้สหธนกิจเป็น 600 ล้านบาท และเอาเงินเข้ามาอัดในระบบอีกหลายพันล้านบาท เงินทั้งหมดก็เป็นเงินประชาชนเช่นกัน ไม่ใช่เงินที่หล่นมาจากท้องฟ้า
3. บริษัทเงินทุนต่างๆ ที่ลงขันกันร่วม 3,000 ล้านบาท ก็เป็นเงินประชาชนอีก
4. ถ้าเราจะพูดความจริงกันในที่สุดแล้ว เราก็ต้องยอมรับว่าการขาดสภาพคล่องของบริษัทการเงินที่ทำงานกันอย่างมืออาชีพไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่มันจะเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาถ้าบริษัทนั้นเกิดมีทรัพย์สินที่ไม่มีมูลค่า ซึ่งในตลาดการเงินก็จะมีบริษัทพวกนี้อีก
ฉะนั้น “ผู้จัดการ” มีความเห็นว่าถ้าเราปล่อยให้บริษัทการเงินที่บริหารเลวให้ล้มไปเสียแล้วระดมเงินจากธนาคารชาติรวมธนาคารพาณิชย์ และบริษัทเงินทุนคอยหนุนบริษัทที่ดีๆ แต่จะโดนผลกระทบจากการล้มนี้กลับจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้อง เพราะมาตรการนี้จะเป็นการช่วยคนที่ทำงานดีบริสุทธิ์และลงโทษผู้ที่คดโกง
ประชาชนส่วนที่จะต้องรับความเจ็บปวดกับบริษัทพวกนี้ ก็น่าที่จะต้องได้รับบทเรียนเหมือนกัน และก็จะเป็นการแก้เผ็ดไปในตัว ที่จะให้ประชาชนเหล่านี้ไปดำเนินคดีกับผู้บริหารเงินทุนของเขา จะได้เป็นตัวอย่างให้เป็นที่เข็ดหลาบในวงการ
จริงอยู่ประชาชนเหล่านี้สูญเสียผลประโยชน์ไป แต่ถ้าเราเทียบระหว่างประชาชนที่ฝากเงินกับบริษัทเลวๆ เช่นนี้ แล้วสูญเงินไปด้วยการกระทำของตนเองกับบรรดาแม่ค้าร่วม 10 คน ที่ต้องติดคุกติดตะรางเพียงเพราะเรียกร้องที่ทำมาหากินเราจะเห็นได้ชัด ประชาชนที่ฝากเงินเหล่านี้กลับมีอภิสิทธิ์เกินกว่าอีกฝ่ายหนึ่งเพียงเพราะเขามีเงินฝากหรือ นี่ก็เป็นบทพิสูจน์อีกบทหนึ่งของอภิสิทธิ์ชนที่มีเงิน !
ซึ่งที่ถูกต้องแล้วก็ควรจะได้รับความเจ็บปวดเหมือนกัน !
และที่สำคัญที่สุดบริษัทที่ล้มไปเหล่านี้ควรจะมีการเอาข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าใช้จ่ายเงินทองไปอย่างไร อย่างน้อยก็เป็นการให้การศึกษาแก่ประชาชนได้ว่า การทำงานของบริษัทเงินทุนที่เหลวแหลกนั้นทำกันแบบใด!
แน่นอนที่สุด ความคิดกับการปฏิบัติบางครั้งย่อมเดินไปด้วยกันไม่ได้ แต่ถ้าเรายึดมั่นความถูกต้องเอาไว้แล้ว วิธีการปฏิบัติก็คงจะไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก
อย่าลืมว่าพวกเรามักจะโวเสมอว่าเราอยู่ในระบบการค้าเสรีไม่ใช่หรือ?
คอลัมน์: ความเห็น
|
|
|
|
|