|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2526
|
|
เรื่องใบปลิวและบัตรสนเท่ห์นั้น สมัยก่อนมีแต่เฉพาะในวงการราชการและในแวดวงการเมือง
การเขียนใบปลิวเป็นการกระทำที่ขี้ขลาดตาขาวที่สุด แต่ก็ค่อนข้างจะได้ผลที่สุด เพราะนิสัยใจคอคนไทยเป็นสังคมที่ชอบการซุบซิบนินทาอยู่ในกมลสันดานแล้ว
ใบปลิวโจมตีกันทางธุรกิจถ้าจะมีก็มักจะออกมาในรูปของคนในองค์กรนั้น และก็จะแพร่อยู่เฉพาะองค์กรนั้น
แต่ใบปลิวเจ็ดหน้าที่โจมตีบุญชู โรจนเสถียร ซึ่งกระจายออกมาในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม เป็นจุดเริ่มของการทำลายบุญชูทั้งในด้านธุรกิจและการเมืองพร้อมๆ กัน
และธุรกิจไหนก็ไม่อ่อนไหวต่อข่าวคราวมากเท่าธุรกิจการเงิน
จะเป็นโชคที่ค่อนข้างอับเฉาของตึกดำด้วยกระมัง ที่เวลาทำธุรกิจการค้าอะไรก็ตามมักจะชอบอ้างบารมีของบุญชูเสมอไป
แม้การหาเงินฝากของพัฒนาเงินทุน คนหาเงินก็ชอบพูดเสมอว่า เป็นบริษัทของบุญชูฝากเงินเอาไว้รับรองว่ามั่นคงแน่
และนี่ก็เป็นดาบสองคมที่กลับมาหาตัวเอง
ใบปลิว 7 หน้านี้ ได้แพร่ในระหว่างที่กลุ่มบุญชูกับกลุ่มมหาดำรงค์กุลกำลังเกิดความขัดแย้งกันอย่างหนัก
ใบปลิวนี้ถูกจ่าหน้าถึงทุกๆ คนที่มีอำนาจวาสนา มีตำแหน่งบารมีตั้งแต่คณะองคมนตรี รัฐสภา สามเหล่าทัพ บรรดาสถาบันการเงินต่างๆ และสื่อมวลชน
ใบปลิวนี้ขึ้นต้นด้วยการแจ้งข่าวว่า ธุรกิจตึกดำกำลังจะล้มละลาย พูดถึงประวัติของบุญชูตั้งแต่เด็ก ทำลายบุญชูทุกวิถีทาง จนถึงการกล่าวหาบุญชูในเรื่องเก่าคือเทเล็กซ์น้ำมัน จนถึงการที่บุญชูเอาพันธบัตรรัฐบาลของพัฒนาเงินทุนไปจำนองไว้กับธนาคารนครหลวงฯ เพื่อหาทางกอบกู้ฐานะของตัวเอง
แต่เรื่องจะจริงหรือไม่จริงนั้นกลับไม่สำคัญไปเสียแล้ว
ที่สำคัญคือ คนที่ได้รับถ้ามีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับตึกดำก็จะรีบทบทวนถึงบทบาทของตัวเองทันที
กรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ขนาดค่อนข้างใหญ่แห่งหนึ่งยอมรับกับ “ผู้จัดการ” ว่า “พอผมได้อ่านใบปลิวแล้วผมรีบให้แผนก TREASURY ผมดูว่าเราปล่อยเงินให้พัฒนาเงินทุนบ้างหรือเปล่า แต่เผอิญของผมไม่มี ซึ่งถ้ามีผมก็คงจะต้อง PLAY IT SAFE ก่อน ก็ต้องเรียกคืนมาก่อนเรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง”
สำหรับผู้ฝากเงินนั้นก็มีหลายรายที่ถอนเพราะใบปลิวนี้ “มีลูกค้าหลายรายถอนเงินเพราะใบปลิวนี้ เขาบอกกับเราว่า เขาขอถอนเพราะไม่สบายใจ” ฝ่ายหาเงินฝากพัฒนาเงินทุนเล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
แม้แต่อนงค์ สุนทรเกียรติ ประธานกรรมการบริหารซึ่งรับผิดชอบในเรื่องหาเงินฝากขณะที่ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจก็ยอมรับว่า การถอนเงินเพราะผลของใบปลิวนั้นมีจริง
ใบปลิว 7 หน้าที่ส่งมานั้นลงชื่อว่า “จากผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารนครหลวงฯ” ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2526
ในต้นเดือนกันยายนก็เกิดมีใบปลิวอีกชนิดหนึ่งหนา 16 หน้า ลงท้ายโดย “ผู้ถือหุ้นรายย่อยธนาคารนครหลวงไทย” ส่งเวียนออกมาโต้ตอบใบปลิวชุดแรก
ใบปลิวชุดสองพยายามชี้ให้เห็นว่า การบริหารธนาคารซึ่งเอาเงินประชาชนมาฝากให้อยู่ในกำมือของกลุ่มครอบครัวนั้นเป็นอันตรายต่อประชาชน เพราะมีตัวอย่างมาแล้วและใบปลิวได้เปรียบเทียบธนาคารนครหลวงฯ ยุคนี้กับธนาคารไทยพัฒนาที่ล้มมาแล้วว่าคล้ายๆ กัน นอกจากนั้นแล้วใบปลิวชุด 16 หน้านี้ยังได้เอาหนี้สินของเสี่ยเม้งหรือนายมงคล กาญจนพาสน์ ที่ธนาคารนครหลวงฯ ค้ำประกันหนี้ไว้มาตีแผ่ โดยเอาข้อความที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งรายงานเตือนมายังธนาคารนครหลวงฯ มาตีพิมพ์ลงในใบปลิว ใบปลิวชุดหลังยังได้กล่าวหาว่า ที่ธนาคารนครหลวงฯ ทำมาได้ตลอดเพราะเหตุ 2 ประการ ประการแรกคือ การละเลยและสมยอมของธนาคารแห่งประเทศไทย และประการที่สองคือ การทำบัญชีปลอม และจากการที่บุญชู โรจนเสถียร ต้องการจะกระจายอำนาจในธนาคารฯ ออกไป ก็เลยทำให้ฝ่ายของไพโรจน์ มหาดำรงค์กุล (ในใบปลิวเขียนไพโรจน์ ซึ่งก็คงหมายถึงชัยโรจน์) พยายามคัดค้านเพราะกลัวว่าตัวเองจะสูญเสียอำนาจ
ใบปลิวชุด 2 นี้ยังตบท้ายด้วยการกล่าวหาว่า อีกฝ่ายหนึ่งร่ำรวยขึ้นมาได้เพราะการขนของหนีภาษีมาขาย และพูดถึงการจะให้นาฬิกาแก่จังหวัดต่างๆ เพื่อแลกกับเหรียญตราและสายสะพายก็ได้ แต่จังหวัดต่างๆ ก็ยังไม่ได้นาฬิกา
ศึกใบปลิวครั้งนี้ถ้าจะให้เดาว่าเป็นศึกระหว่างใครก็คงจะเดาไม่ยาก
แต่จะเป็นใครที่ขี้ขลาดตาขาวเขียนออกมาในตอนนี้กลับไม่สำคัญเท่ากับว่าใบปลิวชุดแรกที่ออกมาได้ผูกตัวบุญชูไว้กับตึกดำทั้งหมดว่าเป็นธุรกิจของบุญชูและผลที่ตามมาคือการเคลื่อนไหวของวงการเงิน
“คนในวงการเงินมักจมูกไวจะตาย เพียงแค่คุณไม่สบายเท่านั้น มันก็รู้กันหมดแล้ว และนี่เป็นระดับบุญชู โรจนเสถียร ซึ่งในวงการเขาก็เข้าใจว่าเป็นผู้หนุนหลังสุธี นพคุณ มาตลอด แล้วคุณจะไม่ให้เขาตกใจได้อย่างไร” ผู้ที่ได้รับใบปลิวอีกคนชี้แจงให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
ใบปลิว 7 หน้า และ 16 หน้า ทั้งสองนี้คงจะไม่ใช่ใบปลิวชุดสุดท้ายในวงการธุรกิจแน่ ที่น่าเป็นห่วงก็เห็นจะเป็นที่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ก็คงจะต้องมีใบปลิวร่อนไปมาระหว่างบริษัทกับบริษัทเป็นแน่
ถ้าจะให้ “ผู้จัดการ” วิจารณ์สไตล์การเขียนใบปลิวแล้วก็ต้องยกให้ใบปลิวชุดที่ 2 หนา 16 หน้า ว่าเขียนได้มืออาชีพกว่าชุดแรกมากที่เอาแต่ด่าลูกเดียว ชุดที่ 2 มีการอ้างอิงข้อความที่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์จนกระทั่งมีการเท้าความถึงเหตุการณ์ในอดีตนำมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ปัจจุบันว่าคล้าย ๆ กัน
มองตามรูปการณ์นี้แล้ว บรรณาธิการ “ผู้จัดการ” พึมพำกับผู้เขียนว่า “คนเขียนใบปลิวชุดแรกต้องเป็นไหหลำแน่ๆ เพราะรู้เรื่องตำนานไหหลำของบุญชูเหลือเกิน ส่วนคนเขียนใบปลิวชุด 2 ก็คงต้องเป็นคนที่รู้จักไหหลำฝ่ายมหาดำรงค์กุลดีจนรู้เรื่องการมอบนาฬิกาให้กับจังหวัดต่างๆ ได้ดีเหมือนกัน”
สรุปแล้วงานนี้เรียกได้ว่าเป็น “ใบปลิวไหหลำ”
|
|
|
|
|