จอร์จ ตัน ประธานกรรมการบริษัทแคร์เรียนในฮ่องกง กับสุธี นพคุณ ประธานกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุนมีอะไรคล้ายๆ กันหลายๆ อย่าง
ทั้งคู่เป็นคนที่เริ่มมาจากไม่มีใครรู้จักและไต่เต้าสร้างกลุ่มบริษัทของตัวเองขึ้นมาอย่างใหญ่โตมโหฬาร
และดวงชะตาของทั้งสองก็ดูเหมือนจะสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดมาก เมื่อแคร์เรียนล้มลงในปลายเดือนกันยายน พัฒนาเงินทุนก็ล้มเหมือนกัน
จะต่างกันก็ตรงที่ จอร์จ ตัน และลูกน้องมือขวาถูกตำรวจจับในข้อหาตกแต่งบัญชี แต่สุธี นพคุณ ยังนั่งเบนซ์ 450 SEL พร้อมคนขับอยู่โดยไม่มีข้อหาอะไร !
“ปัญหาของพัฒนาเงินทุนคือ ปัญหาสภาพคล่องเนื่องด้วยปล่อยกู้ให้แก่บริษัทในเครือ” เริงชัย มะระกานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม
แม้แต่สุนทร อรุณานนท์ชัย ประธานกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเชีย ผู้ซึ่งเข้าร่วมวงในการช่วยก็ยังพูดว่า “บริษัทนี้มีปัญหาสภาพคล่องมาก”
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ (วันปิดต้นฉบับกลางตุลาคม) ความเห็นในเรื่องสภาพคล่องของพัฒนาเงินทุนกลับกลายเป็นว่า ไม่ใช่เรื่องสภาพคล่องเสียแล้ว เพราะมันเป็นเรื่องของการล้มละลายที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน
“เราเข้าไปดูตอนแรกคิดว่าเป็นเรื่องสภาพคล่องแต่ดูลึกๆ ลงไปแล้ว เราไม่รู้ว่าเงินมันหายไปไหน” เจ้าหน้าที่ธนาคารชาติที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ เล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
เงินที่หายไปนั้นหมายถึงเงินประมาณ 1,400 กว่าล้านที่มีเจ้าหนี้ร่วมโดนหวยของพัฒนาเงินทุนดังนี้.-
...กลุ่มธนาคารประมาณ 220 ล้านบาท
...กลุ่มสถาบันเงินทุน (ประมาณ 47 แห่ง) 540 ล้านบาท
...เงินฝากประชาชน 680 ล้านบาท
“เงินก้อนนี้ที่เราค้นพบถูกเอาไปใช้ในบริษัทในเครือประมาณ 900 ถึง 1,000 ล้านบาท ที่จะตามเก็บได้จริงๆ จากยอด 1,440 ล้านบาท มีแค่ไม่เกิน 200 ล้านบาท” คนวงในคนเก่าพูดให้ฟัง
“ปัญหาของพัฒนาเงินทุนไม่ใช่เพิ่งมี เขามีมาประมาณ 2 ปีแล้ว เวลาเขาโทรมาขอ CALL MONEY จากผมไม่ว่าจะให้ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ผมก็ไม่ปล่อยเพราะสภาพเขาในตลาดทุกคนรู้หมด” ผู้บริหารระดับสูงของสถาบันเงินทุนขนาดใหญ่ชี้แจง
พัฒนาเงินทุนต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างสถาบันการเงินด้วยกันในอัตราอย่างน้อย 2-3% สูงกว่าอัตราระหว่าง INTER-FINANCE RATE
ในขณะที่สถาบันอื่นอาจจะยืมมาในอัตรา 14.5 หรือ 15.5 พัฒนาเงินทุนต้องจ่ายถึง 17 หรือ 18 บางครั้ง 19.5 ก็มี
“คุณลองนึกดูซิในช่วงดอกเบี้ยทะลุเพดานเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่ INTER-BANK เขาจ่ายกัน 20-21 INTER-FINANCE จ่ายกัน 22 แล้วพัฒนาเงินทุนต้องจ่ายเท่าไหร่” แหล่งข่าวในสถาบันการเงินชี้แจงให้ฟัง
และก็มันเป็นช่วง 2 ปีที่แล้วที่พัฒนาเงินทุนเริ่มมีปัญหาอย่างหนัก !
พัฒนาเงินทุนเดิมที่เป็นบริษัทเงินทุนเฟเบอร์ เมอร์ลิน ที่เกี่ยวพันกับกลุ่มของจาง หมิงเทียน (เจ้าของ INTERNATIONAL TRUST & FINANCE-I.T.F.) กลุ่ม HAW PAR และนายจิม เรเปอร์ ลูกน้องของ จิม สเลเตอร์ (JIM SLATER) จอมยักย้ายถ่ายเทชาวอังกฤษ ที่ถูกศาลสิงคโปร์สั่งจำคุก
ชื่อ พัฒนาเงินทุนถูกตั้งขึ้นมาพร้อมกับการรวมตัวระหว่าง พร สิทธิอำนวย และสุธี นพคุณ ในยุคที่ พี.เอส.เอ. กำลังจะเริ่มบิน
“คุณสุธีเขาใช้พัฒนาเงินทุนเป็นฐานมาตลอด นโยบายการบริหารต่างๆ รวมทั้งคนที่รับเข้ามาเป็นของสุธีทั้งสิ้น พอลไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร สมัยก่อนบริษัทในเครือ พี.เอส.เอ. ถ้าจะเอาเงินจาก ซีซีซี (เครดิตการพาณิชย์) ก็ต้องให้พอลสั่ง แต่ถ้าจะเอาจาก อีดีที (พัฒนาเงินทุน) ก็ต้องให้สุธีสั่ง” แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดทั้งพอลและสุธีแย้มออกมา
“ความจริงอีดีทีก็เป็นแฟกเตอร์อันใหญ่อันหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้พอลและสุธีต้องแตกกัน เพราะพอลในขณะนั้นไม่ต้องการให้อีดีทีไฟแนนซ์คนเล่นหุ้นแบบมาร์จิน แต่สุธีก็ยังขัดคำสั่ง และอีดีทีสูญไปงานนี้ก็ไม่น้อย” แหล่งข่าวคนเดิมเสริมขึ้นมา
เมื่อตอนสุธี นพคุณ แยกออกจากพอล สิทธิอำนวย ได้มีการแบ่งสมบัติกัน สุธีได้รับเอาอินเตอร์ไลฟ์ กลุ่มทัวร์รอแยล กลุ่มรามา พัฒนาเงินทุน บ้านและที่ดินไทย ซีเอสไอ (บริษัทส่งคนออกต่างประเทศ ดู “ผู้จัดการ” ฉบับที่ 2 หน้า 10) โดยสุธีซื้อหุ้นจากพอลทั้งหมดในราคา 70 ล้านบาท
“สุธียังค้างอีก 30 ล้านได้” ผู้รู้เรื่องการซื้อขายเล่าให้ฟัง
พัฒนาเงินทุนเมื่อซื้อขาดมาแล้วก็พอดีเป็นจังหวะที่สุธีย้ายสถานที่เข้าสู่อาณาจักรใหม่ตึกดำ เมื่อประมาณธันวาคม ปี 2523
พัฒนาเงินทุนในช่วงนั้นเป็นช่วงการเริ่มต้นเข้ามาเป็นฐานการเงินของกลุ่มสุธี นพคุณ จริงๆ โดยมีรามาทาวเวอร์เป็นพี่เลี้ยง เพราะรามาทาวเวอร์ช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่กำลังอยู่ในสถานภาพที่ดี เพราะปี 23 เป็นปีที่รามามีกำไรถึง 31 ล้าน และพัฒนาเงินทุนในช่วงนี้ยังได้เงินฝากจากรามาทาวเวอร์ถึง 34 ล้าน
แต่ในปี 2523 ก็เป็นปีที่รามาทาวเวอร์เริ่มขยายงานอย่างไม่ลืมหูลืมตา เพราะ 2523 เป็นปีที่สุธีให้กำเนิดบริษัทเช่น ทรัพยากรรามา ผลิตภัณฑ์อาหารรามา รามาทรานสปอร์ต เฉพาะ 3 บริษัทนี้และส่วนอื่นๆ ได้เอาเงินรามาทาวเวอร์ ไปใช้ในรูปของตั๋วสัญญาใช้เงินถึง 466 ล้านบาท
เมื่อเหตุการณ์ผันแปรต่อมาใน 2 ปีให้หลังที่กลุ่มรามาประสบปัญหาการเงินหนัก เพราะธุรกิจที่แตกแขนงออกไปทุกอย่าง ไม่มีแม้แต่อย่างเดียวที่กำไร และเมื่อรวมรามาทาวเวอร์ต้องเปลี่ยนแปลงตามที่ธนาคารต้องการเพื่อแลกกับโครงการเทพธานี (คอมเพล็กซ์และโรงแรมบนที่ 14 ไร่ ของรามา) ซึ่งธนาคารจะให้การสนับสนุนถ้าผู้บริหารรามาทาวเวอร์จะเคลียร์บริษัทรามาให้เข้ารูปเข้ารอย และเมื่อจิม สเต้นท์เข้ามาก็มีมหกรรมการขายบริษัทในเครือที่ไม่เกี่ยวพันกับรามาออก
ในการขายออกครั้งนี้นั้นหมายถึงการที่สุธีต้องตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมารองรับพวกที่ถูกขายออกเพื่อคืนเงินให้กับรามาทาวเวอร์ และนี่คือที่มาของปัญหาพัฒนาเงินทุน
ในปี 2523 เงินที่รามาทาวเวอร์ได้ลงไปในกลุ่มบริษัทในเครือที่สุธีกุมบังเหียนอยู่ตกประมาณ 600 ล้านบาท และเงินกู้นี้ก็เป็นก้อนที่พัฒนาเงินทุนจะต้องเข้ามารองรับเมื่อเริ่มมีการแยกออกจากรามาในปี 2525 เป็นต้นมา
อีกประการหนึ่งจากการซื้อพัฒนาเงินทุนแยกออกมาจากกลุ่ม พร สิทธิอำนวย ตัวบริษัทเองก็ยังคงมีหนี้สินคงค้างอยู่ประมาณ 200 ล้านบาท และหนี้ก้อนนี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นหนี้ที่เรียกเก็บไม่ได้เลย
หนี้ 200 ล้านบาทนี้ ใน 3 ปี ก็ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็นเกือบ 400 ล้านบาท เพราะดอกเบี้ย
“ในจำนวน 1,400 กว่าล้านบาท พัฒนาเงินทุนปล่อยกู้ออกไปในลักษณะของการค้าขายจริงๆ เพียง 6% หรือ 80 กว่าล้านบาทเท่านั้น” คนวงในของพัฒนาเงินทุนแย้มมาให้ฟัง
ซึ่งตามตัวเลข 1,400 กว่าล้านนั้น เมื่อหักหนี้เก่าที่ติดตัวมาเสีย 200 ล้านก็คงเหลือเงินประมาณ 1,200 ล้านและให้กู้ไป 6% หรือ 80 ล้าน ก็คงจะเหลือเงินที่เอาไปใช้ในบริษัทในเครือประมาณ 1,000 ล้านบาทได้
ในบรรดากลุ่มบริษัทในเครือที่ติดหนี้พัฒนาเงินทุนนั้น นอกเหนือจากกลุ่มของรามาทาวเวอร์ที่ภายหลังจิม สเต้นท์ ได้ขายทิ้งแล้ว
(บางกระแสข่าวระบุว่าไม่ได้ขายทิ้งจริงๆ เพียงแต่โอนหนี้สินมาให้รามาทาวเวอร์รับเอาไว้แล้วตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมารับทรัพย์สินบริษัทเก่า ผู้เขียนพยายามติดต่อสุชาดา อิทธิจารุกุล ผู้จัดการการเงินของรามาทาวเวอร์ตั้งแต่สมัยที่สุธี นพคุณ เป็นประธานและกรรมการผู้จัดการ จนถึงสมัยจิม สเต้นท์ และมาถึงสมัยสุระ จันทร์ศรีชวาลา ซึ่งสุชาดาเป็นผู้ทำเรื่องและรู้เรื่องการผูกบริษัทต่างๆ นี้ดีพอสมควร แต่พอรู้ว่า “ผู้จัดการ” โทรมาเรื่องนี้จะมีคำตอบว่า “คุณสุชาดาไม่อยู่ค่ะ” และก็ไม่เคยโทรกลับมา ไม่ว่าเราจะพยายามติดต่อไปมากเท่าใดก็จะไม่ได้รับคำตอบ ชื่อสุชาดา อิทธิจารุกุล ปรากฏเป็นกรรมการผู้มีอำนาจซึ่งเป็นผู้เซ็นในใบทะเบียนหุ้น9 บริษัทที่ถือหุ้นอยู่ในพัฒนาเงินทุน บริษัททั้ง 9 มีดังนี้:
1. บริษัท สีลม โฮลดิ้ง จำกัด 40,000 หุ้น-4,000,000 บาทหรือ 5%
2. บริษัท ไดนามิคอินเวสเตอร์ส จำกัด 40,000 หุ้น-4,000,000 บาท หรือ 5%
3. บริษัท มอนเตอร์เรย์ จำกัด 40,000 หุ้น-4,000,000 บาท หรือ 5%
4. บริษัท ซีสเต็ม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด 40,000 หุ้น-4,000,000 บาท หรือ 5%
5. บริษัท เอเอสการลงทุน จำกัด 40,000 หุ้น-4,000,000 บาท หรือ 5%
6. บริษัท บิวสิเนสเอนเทอร์ไพร้ส จำกัด 40,000 หุ้น-4,000,000 บาท หรือ 5%
7. บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารรามา จำกัด 40,000 หุ้น-4,000,000 บาท หรือ 5%
8. บริษัท เอเชี่ยนคอนไซส์เดเต็ดทัวร์ซีสเต็ม 40,000 หุ้น-4,000,000 บาท หรือ 5%
ทั้ง 8 บริษัทนี้ถือหุ้นอยู่ในพัฒนาเงินทุน 40% โดยนายสุนันท์ นพคุณ และนางสาวสุชาดา อิทธิจารุกุล เป็นตัวแทนในการถือคนละครึ่ง
ซึ่งบรรดาผู้ถือหุ้นทั้ง 8 บริษัทนั้น เป็นพนักงานของพัฒนาเงินทุนแทบทั้งนั้นที่ถูกใส่ชื่อเข้ามาถือหุ้น และจากการสอบถามทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ถูกให้มาเซ็นชื่อก็เซ็นไป” และทั้ง 8 บริษัทนี้ ได้มีการโอนชื่อกันประมาณมิถุนายนของปี 2526 ก่อนที่สุระ จันทร์ศรีชวาลา จะเข้ามาซื้อโรงแรมรามาและคุมบริษัทรามาทาวเวอร์
มีข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งว่าบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารรามานั้น ผู้ถือหุ้นอยู่กว่า 90% คือกลุ่มของสุระ จันทร์ศรีชวาลา และก็ได้มีการโอนกันสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 16 กันยายนนี้เอง
และสำหรับบริษัททั้ง 8 นี้ กรรมการผู้เซ็นชื่อเป็นนายจิม สเต้นท์ และนางสาวสุชาดา อิทธิจารุกุล ทั้งสิ้น
สำหรับรายชื่อผู้ถือหุ้นที่เหลือของพัฒนาเงินทุนนอกจาก 8 บริษัทดังกล่าวแล้วก็ล้วนแต่เป็นพนักงานพัฒนาเงินทุนทั้งสิ้นประมาณ 15 คน โดยถือกันคนละ 4,000 หุ้น
ยังมีบริษัทนานาวิศวกรรมซึ่งเป็นกลุ่มของสุธีเอง ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อรับเหมาสร้างโรงแรมรามาการ์เดน ซึ่งก็เอาเงินพัฒนาเงินทุนมาใช้ บริษัทรามาโอคอนเนอร์ ซึ่งเดิมทีตั้งขึ้นเพื่อร่วมกับบริษัทก่อสร้างต่างประเทศ ก็เอาเงินพัฒนาเงินทุนไปใช้
บริษัทบ้านและที่ดินไทย (1979) ซึ่งเป็นเจ้าของตึกดำ ก็เอาเงินจากพัฒนาเงินทุนไปร้อยกว่าล้านบาท บริษัททัวร์รอแยลซึ่งสุธีมีส่วนอยู่ ก็เอาเงินทุนไปใช้เช่นกัน อีกบริษัทคือบริษัทเอสเอ็น อินเตอร์เทรด (เอสเอ็นคือ SUTI NOPAKUN) ซึ่งเป็นของสุธีเองก็เอาเงินพัฒนาเงินทุนมาทำการค้าเช่นกัน
เมื่อรวมยอดเงินที่บริษัทในเครือเอาไปใช้ รวมทั้งหนี้เก่าของพัฒนาเงินทุนแล้วก็จะใกล้เคียง 1,000 ล้านบาท ถ้าจะสืบสายโยงใยตั้งแต่เริ่มต้นแล้วต้องสืบกันที่รามาทาวเวอร์เป็นหลัก ซึ่งสุชาดา อิทธิจารุกุล ก็คงพอจะบอกได้ถ้าพบตัว
ในการผ่านเงินนั้นก็จะใช้อยู่ 3-4 บริษัท แต่บริษัทที่ใช้มากที่สุดคือบริษัท เซ็นจูเรียนและไว้ส์เค้านท์อินเตอร์เนชั่นแนล เอสเอ็นอินเตอร์เทรด ก็ใช้ด้วย
ฉะนั้นกุญแจการล้มของพัฒนาเงินทุนนั้น ต้องสาวกันที่รามาทาวเวอร์เป็นจุดแรก และผู้ที่รู้เรื่องนี้ดีก็มีอยู่ไม่กี่คนคือ สุธี นพคุณ, จิตตเกษม แสงสิงแก้ว, วัฒนา ลัมพะสาระ และสุชาดา อิทธิจารุกุล (ผู้เขียนเคยติดต่อไปยังจิตตเกษม แสงสิงแก้ว ในครั้งแรกจิตตเกษมแจ้งว่าไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับพัฒนาเงินทุนตั้งแต่ 2524 แล้ว และเมื่อติดต่อไปอีกครั้งเพื่อสอบถามเรื่องรามาทาวเวอร์ในส่วนที่โยงกับพัฒนาเงินทุน โดยติดต่อไปในวันที่ 21 ตุลาคม ปรากฏว่าจิตตเกษมไปต่างประเทศตั้งแต่เที่ยงวันที่ 20 ตุลาคม โดยที่ธนาคารนครหลวงไทยซึ่งเป็นเจ้าสังกัดปฏิเสธว่าไม่ได้ส่งจิตตเกษมไปทำธุระอะไรในต่างประเทศ ส่วนวัฒนา ลัมพะสาระ ปฏิเสธที่จะรับโทรศัพท์)
ความจริงแล้วในต้นปี 2526 พัฒนาเงินทุนประสบปัญหาหนักมากในเรื่องสภาพคล่องจนเกือบจะพังไป เพราะถึงกำหนดชำระเงินกู้รายหนึ่งแต่ก็แก้ปัญหาไปได้ โดยจิตตเกษมถูกส่งไปเอาเงิน OFF SHORE มา 10 ล้านเหรียญ มีสินเอเซีย เป็นคนค้ำประกัน
นอกจากนั้นแล้ว ในกลุ่มของสุพจน์ เดชสกุลธร, สุระ จันทร์ศรีชวาลา และรุ่งเรือง จันทภาษา ยังได้ส่งมาช่วยอีกร่วม 100 ล้านบาท จึงสามารถกู้สถานภาพไปได้
พัฒนาเงินทุนในภาวะลำบาก บางครั้งยังจำเป็นต้องสร้าง ACCOUNT RECEIVABLES ปลอมขึ้นมา โดยให้พนักงานที่สนิทชิดเชื้อกับผู้บริหารเซ็นตั๋วสัญญาใช้เงินขึ้นหลายๆ ใบเพื่อเอามาแก้ไขชั่วคราว และ RECEIVABLES จะมีอยู่ร่วมร้อยกว่าล้าน ซึ่งในกรณีเช่นนี้ศุภชัย พานิชภักดิ์ แห่งธนาคารชาติ กล่าวกับ “ผู้จัดการ” ว่า “ก็ต้องติดตามทวงหนี้ตามเอกสารที่ปรากฏ” ก็ต้องมีพนักงานถูกหวยเช่นนี้หลายคน
วิกฤตการณ์ทางการเงินของพัฒนาเงินทุนเริ่มเข้ามุมอับเมื่อต้นปี 2526 นี้ หลังจากไมีการขายโรงแรมรามาออกไปให้กลุ่มสุระ จันทร์ศรีชวาลา
แต่ความหวังของอีดีที ดูเหมือนจะพอมีแสงสว่างบ้างเมื่อบุญชู โรจนเสถียร ได้ประกาศเข้าไปเป็นประธานกรรมการธนาคารนครหลวงไทย
การประกาศเข้าไปของบุญชูยังไม่ทันจะหมดเสียงสะท้อน สุธี นพคุณ สั่งให้ผู้บริหารระดับสูงของพัฒนาเงินทุนนำพันธบัตรรัฐบาลที่เก็บไว้เป็นทุนสำรองเอาไปจำนองไว้กับธนาคารนครหลวงไทย มีอนงค์ สุนทรเกียรติ เป็นผู้เซ็นโอนลอยไว้ มูลค่าประมาณ 86 ล้านบาท แล้วเอาเงินออกมาจากนครหลวงฯ 90 ล้านบาท เพื่อมาอุดปัญหาต่างๆ แต่นั่นก็เป็นเพียงการบัดกรีรูรั่วรูเดียวของพัฒนาเงินทุนซึ่งมีอยู่หลายรู
ระหว่างกุมภาพันธ์จนถึงกรกฎาคม เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงในตึกดำมาก เพราะรามาทาวเวอร์ได้ถูกเปลี่ยนมือไป อินเตอร์ไลฟ์ก็โผผินเข้าไปหาสุพจน์ เดชสกุลธร, วัฒนา ลัมพะสาระ และจิตตเกษม แสงสิงแก้ว เข้าไปธนาคารนครหลวงฯ ตึกดำคงเหลือแต่พัฒนาเงินทุน, บ้านและที่ดินไทย และเครดิตฟองซิเอร์บ้านและที่ดินไทย
เครดิตฟองซิเอร์บ้านและที่ดินไทยกำลังย่ำแย่เช่นนี้ แต่ก็โชคดีที่เผอิญธนาคารแห่งประเทศไทยจะจับมารวมกับเจริญกรุงไฟแนนซ์และสินเพิ่มสุข และเปลี่ยนเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บ้านและที่ดินไทย
บริษัทบ้านและที่ดินไทย (1979) ยังอยู่ในสภาพที่พอใช้ได้ เพราะยังมีทรัพย์สินซึ่งเป็นที่ดินอยู่มาก และตึกดำเองก็เป็นตึกของบ้านและที่ดินไทย ซึ่งถึงแม้จะจำนองไว้เพียง 40 ล้านบาท กับธนาคารไทยพาณิชย์ แต่ราคาจำนองก็ยังต่ำอยู่มาก แต่บ้านและที่ดินไทยก็ค้างเงิน อีดีที มากโดยที่กู้ไปโดยไม่มีทรัพย์สินค้ำเป็น DOUBLE LOAN
คงเหลือแต่พัฒนาเงินทุนที่เป็นหนามยอกอกเพราะสภาพคล่องไม่มีเลย การดึงอนงค์ สุนทรเกียรติ เข้ามาเมื่อสองปีที่แล้ว โดยให้ทั้งเงินเดือนที่สูง ห้องทำงานหรูหรา และรถเบนซ์ใหม่เอี่ยมประจำตำแหน่งนั้น เป็นการช่วยในเรื่องเงินฝาก เพราะอนงค์ สุนทรเกียรติ มีชื่อในเรื่องการหาเงินฝากมาตั้งแต่สมัยอยู่เครดิตการพาณิชย์มาถึงสยามธนาคารของคุณสมัคร เจียมบุรเศรษฐ จนถึงพัฒนาเงินทุน และทุกครั้งที่อนงค์ สุนทรเกียรติ ย้ายที่ทำงาน เงินฝากก็ย้ายตามมาด้วยจนเกือบหมด
เงินฝากของประชาชนในรอบสองปีที่ผ่านมาขึ้นสูง บางจังหวะขึ้นถึงเกือบพันล้านบาท ซึ่งก็เป็นที่รู้กันในตลาดว่า การอ้างชื่อบุญชูเป็นเจ้าของพัฒนาเงินทุนนั้น ได้มีการกระทำกันอย่างสม่ำเสมอและภาคภูมิใจ
ถึงจะมีเงินฝากเข้ามาตลอดก็ตาม แต่ปัญหาของพัฒนาเงินทุนก็ใกล้เข้าขั้นตรีทูตเสียแล้ว เพราะพัฒนาเงินทุนมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ด้วย CALL MONEY จากบริษัทเงินทุนต่าง ๆ
ในท้องตลาดการเงินนั้น ถึงพัฒนาเงินทุนจะมีสินทรัพย์อยู่ประมาณอันดับที่สิบกว่าก็ตาม แต่ถ้าพูดถึง POSITION แล้วกลับเป็นบริษัทเงินทุนที่อยู่เกรดล่างสุดในบรรดาสามเกรด (ดูเรื่องตลาดเงินฝากเผื่อเรียกในเล่มประกอบ)
“อีดีที เวลาขอเงินมาพวกเรารู้หมดว่าร้อนเงิน ตอนนี้ก็จะโขกเอากันล่ะ 17 มั่ง 18 มั่ง 19 ยังมีเลย แล้วก็ปล่อยสั้นๆ แค่ 7 วัน 10 วัน ก็เรียกคืน” จอมยุทธในวงการเงินที่เคยปล่อยให้อีดีที เล่าให้ฟัง
ภาวะดอกเบี้ยจ่ายของพัฒนาเงินทุนก็เป็นส่วนหนึ่งของการใกล้ตรีทูตนี้ ดอกเบี้ยรับเข้ามีประมาณสองล้านบาท ในขณะที่ดอกเบี้ยจ่ายออกมีถึงหกล้านบาทต่อเดือน และปัญหานี้มีมาร่วมสามปีแล้ว ซึ่งหมายความว่าในปีที่สาม อีดีทีต้องหาเงินฝากเพิ่มอีกร้อยกว่าล้านบาท เพื่อคุมส่วนที่ขาดทุนนี้ได้ และก็ยังมีที่ปล่อยกู้ให้บริษัทในเครืออีก ซึ่งไม่สามารถจะเรียกคืนได้ ฉะนั้นสภาวะของพัฒนาเงินทุนคือภาพข้างนอกมั่นคงแต่ข้างในกลวง
ในเดือนกรกฎาคม สุรินทร์ เจริญชนาพร อดีตผู้จัดการสมาคมเงินทุนหลักทรัพย์ ถูกสุธี นพคุณดึงเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการแทนคนเก่าที่ขัดกับอนงค์ สุนทรเกียรติ และได้ลาออกไป
สุรินทร์เป็นคนกว้างขาง เพราะตำแหน่งในอดีตที่ต้องติดต่อบริษัทเงินทุน สุธีดึงเข้ามาเพราะต้องการให้ช่วยเรื่อง CALL MONEY จากสถาบันเงินทุน
สุรินทร์เป็นคนทำงานจริงจัง และตั้งใจจริง แต่ความสนิทสนมของสุรินทร์กับสถาบันเงินทุนอื่นๆ นั้นไม่ได้ช่วยให้สภาพพัฒนาเงินทุนดีขึ้น
กรกฎาคมก็มีเหตุการณ์อันหนึ่งเกิดขึ้นซึ่งส่งผลกระทบมาถึงอีดีทีไม่มากก็น้อย เหตุการณ์นั้นคือการส่งใบปลิว 7 หน้าโจมตีบุญชู โรจนเสถียร ไปตามสถาบันการเงินทุกแห่ง (ดูรายละเอียดในเล่ม) โดยตอนหนึ่งผูกบุญชูไว้กับปัญหาการเอาพันธบัตรรัฐบาลของอีดีทีไปค้ำเงินกู้กับธนาคารนครหลวงไทย
“มีหลายคนเริ่มมาถอนเงินเพราะใบปลิวนี้ เขาบอกเราและก็มีหลายสถาบันที่เริ่มดึงเงินกลับในช่วงสิงหาคม” คนในวงในของอีดีทีเล่าให้ฟัง
ประกอบกับในสองเดือนที่ผ่านมาสภาพคล่องในตลาดการเงินลดน้อยลงไป เพราะ BALANCE OF PAYMENT เกิดขาดดุล เป็นเหตุให้ธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ย ประกอบกับธนาคารชาติซึ่งออกมาแถลงว่าจะไม่ลดค่าเงินบาทก็เลยพลอยให้วงการเงินตื่นตัวกันพักใหญ่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องการจะป้องกันตัวเอง การเรียกเงินคืนก็เริ่มขึ้นและกระทบกันเป็นลูกโซ่
ในช่วงสิงหาคมและกันยายน อีดีทีถูกเรียกเงินคืนมาเรื่อยๆ แต่ก็สามารถอุดอยู่ได้จากการระดมเงินฝากกันอย่างหนักของฝ่ายหาเงินฝาก
แต่เงินฝากเข้าไม่ทันเงินที่ถอนออก อาการโคม่าก็เริ่มปรากฏมาตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน
ความจริงปัญหาของพัฒนาเงินทุนได้มีการติดต่อหาทางช่วยเหลือมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมแล้ว โดยบุญชู โรจนเสถียรได้ติดต่อไปทางธนาคารกรุงเทพ แต่ธนาคารกรุงเทพก็ตอบมาว่าจะพิจารณาช่วยในลักษณะสถาบันการเงินกับสถาบันการเงินเท่านั้น จะไม่มีการเอาความสัมพันธ์เดิมเข้ามาประกอบ
สุรินทร์ เจริญชนาพร ลาออกจากพัฒนาเงินทุนในวันที่ 26 กันยายน หลังจากที่ปะทะคารมกับอนงค์ สุนทรเกียรติ ถึงขั้นตะโกนใส่กัน (ดูเรื่องประกอบ)
ข่าวพัฒนาเงินทุนเงินไม่มีแพร่กระจายไปเร็วยิ่งกว่าการแพร่พันธุ์ของเชื้อแบคทีเรียเสียอีก ทุกคนฮือกันเข้ามาขย้ำพัฒนาเงินทุน
ในที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทย ได้วิงวอนขอร้องแกมบังคับให้ธนาคารกรุงเทพเข้ามาช่วยงานนี้ ก็ต้องแทรกเข้ามาขัดตาทัพเหมือนกับที่เคยขัดมาหลายรายแล้ว
“ธนาคารกรุงเทพเข้ามาช่วยครั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนผู้ฝากเงินได้รับความเสียหาย และเป็นการขอร้องที่ธนาคารแห่งประเทศไทยขอมา ซึ่งเราก็ยินดีช่วยเพื่อสปิริต” คำแถลงดังกล่าวหลุดออกมาจากธนาคารกรุงเทพ
แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายที่คิดว่าธนาคารกรุงเทพเข้าไปเพราะต้องการเอาทะเบียนบริษัทเงินทุน หรือเข้าไปเพื่อไม่ให้หนี้สูญ
“เราไม่มีความจำเป็นจะต้องทำเช่นนั้น เพราะมันไม่คุ้มกับการต้องเสียไปอีกหลายร้อยล้าน เพื่อเอา LICENSE ซึ่งหาซื้อได้ในราคาแค่ 50-60 ล้านเท่านั้น และหนี้สินที่เรามีอยู่ก็ SECURE ไม่ใช่ CLEAN LOAN” ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพผู้หนึ่งชี้แจงให้ฟัง
ความจริงแล้วการเข้าไปของธนาคารกรุงเทพ และกลุ่มนี้นั้นเข้าไปด้วยคำขอร้องของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างแท้จริง
ธนาคารแห่งประเทศไทยคงจะรู้ดีว่าถ้าหมากตานี้ไม่เดินอย่างฉับพลันแล้ว ปัญหาที่เป็นลูกโซ่จะต้องติดตามมาอย่างหนีไม่พ้น
การเข้าไปครั้งนี้จึงเป็นการดับไฟหน้าบ้านอย่างแท้จริง ส่วนไฟในบ้านนั้นก็ต้องค่อยๆ หาหนทางทีหลัง
และมาตรการดับไฟนี้จะทำได้ผลก็ต้องได้รับความร่วมมือจากบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย ซึ่งในบรรดาเจ้าหนี้นั้นกลุ่มธนาคารดูเหมือนจะเป็นกลุ่มที่พูดง่ายที่สุด ส่วนกลุ่มประชาชนผู้ฝากเงินดูเหมือนจะพูดยาก แต่พวกนี้ก็เป็นใบ้เพราะพูดไม่ออก
ที่มีปัญหามากที่สุดคือ กลุ่มของสถาบันการเงิน 47 แห่งที่เงินฝากร้อยกันเองเหมือนลูกโซ่
“ธนาคารชาติเข้ามาอย่างไม่ฟังอะไรทั้งสิ้น พูดคำเดียวว่า ต้องช่วยกัน ใครเป็นเจ้าหนี้อะไร อย่างไร ไม่สนใจ แบ่งรับเท่าๆ กัน 5 ปี ปลอดดอกเบี้ย 10 ปีถึงจะได้เงินคืน” เจ้าหนี้รายหนึ่งพยายามเล่าให้ฟังถึงความขมขื่น
แต่วันนั้นตกลงกันไม่ได้ เพราะมีคนยอมเพียง 27 ราย เวลาไม่รอใคร เริงชัย มะระกานนท์ รู้ดีว่า ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมตามแผนของธนาคารชาติแล้ว ข่าวลือจะต้องออกไปแน่ แล้วก็คงจะมีบริษัทเงินทุนอีกหลายแห่งที่จะต้องพังพินาศลงไป และเมื่อถึงเวลานั้นเริงชัยและธนาคารชาติเองก็รู้ว่าคงจะรับไม่ได้ เพราะเพียงแค่มีคนเดินขบวนเข้าธนาคารชาติในกรณีเสรีสากลฯ และสินเพิ่มสุข ก็เพียงพอแก่ความต้องการและก็เหลือรับประทานสำหรับธนาคารชาติแล้ว
“คุณเริงชัยบอกว่า ถ้าใคร (เจ้าหนี้) คนไหนไม่ช่วยเซ็นสัญญาชะลอหนี้กับอีดีทีตามที่ขอร้อง แบงก์ชาติจะถือว่าเป็นศัตรูกับแบงก์ชาติ ทุกคนจะต้องถูกตรวจสอบตลอด ผมฟังแล้วผมใบ้รับประทาน เลยนึกในใจว่า เออ ไอ้ผมมันค้าขายแบบตรงไปตรงมาแต่มาเจอบบริษัทที่มันบริหารเละเทะ แล้วแบงก์ชาติกลับมาทำอย่างนี้” เจ้าหนี้รายเดิมระบายให้ฟัง
ความจริงแล้วเริงชัยเองไม่ตั้งใจจะขู่เข็ญอะไรหรอก อาจจะเป็นเพราะเวลามันจำกัด ถ้าจะต้องเล่นบทกุมภกัณฑ์ เพื่อให้ทุกคนยอม เริงชัยก็ต้องทำ
ในที่สุดทุกคนก็ยอม!
และวันที่ 5 ตุลาคม ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศออกมาอย่างเป็นทางการว่า ธนาคารกรุงเทพและกลุ่มจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาพัฒนาเงินทุน
ทุกอย่างดูเหมือนจะค่อยผ่อนคลายไปทีละน้อย เพราะผู้ฝากเงินก็ยังสามารถจะถอนเงินฝากได้โดยผู้มีอำนาจเซ็นเช็คก็ยังเป็นคนของพัฒนาเงินทุนอยู่ เพียงแต่ต้องผ่านการอนุมัติจากคนของธนาคารกรุงเทพที่ถูกส่งไปดูแลเสียก่อน เช็คพัฒนาเงินทุนก็ถูกส่งไปขึ้นเงินที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาลุมพินี ปกติเหมือนเมื่อยังไม่มีปัญหา
“วันแรกที่ธนาคารกรุงเทพเข้ามาก็มีถอน 40 ล้าน วันที่สอง 32 ล้าน และต่อๆ มาประมาณวันละ 10-20 ล้าน” แหล่งข่าวในตึกดำพูดให้ฟัง
จนถึงวันที่ธนาคารกรุงเทพถอนตัวตามมาตรการใหม่ของธนาคารชาติ (17 ต.ค.) ได้มีการถอนเงินไปแล้วประมาณ 170 ล้านบาท
เหตุการณ์ดูว่าจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ก็มีการพบข้อมูลใหม่ว่า ความจริงแล้วพัฒนาเงินทุนนั้นไม่ได้มีปัญหาสภาพคล่อง หากแต่อยู่ในภาวะล้มละลาย
“เราตามเงินต่างๆ ของพัฒนาเงินทุนที่ปล่อยออกไป เรายังหาไม่ค่อยเจอว่าหายไปไหน” ผู้สอบบัญชีธนาคารชาติผู้หนึ่งแอบกระซิบกับผู้จัดการ
และอาทิตย์ที่ 10 ถึง 14 ตุลาคม ก็เป็นอาทิตย์ที่ผะอืดผะอมของบริษัทเงินทุนที่ไม่มีธนาคารหนุนหลังเป็นอย่างมาก เพราะมีมหกรรมการถอนเงินออกอย่างหนัก
หลายๆ แหล่งที่เคยเกี่ยวพันกับพัฒนาเงินทุนโดนรุมถอนเงินกันหนัก สุระ จันทรศรีชวาลา เองต้องยกเลิกแผนเดินทางไปสหรัฐฯ อย่างกะทันหัน บริษัทเงินทุนอื่นที่มีความสามารถเอาเงินต่างประเทศเข้ามาได้ก็เอาเข้ามาทันที แล้วใช้เงินคืนให้สถาบันภายในจนหมด “สบายใจกว่า ถึงจะแพงขึ้นอีก 1-2% แต่ไม่ต้องมานั่งหมุน” กรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนระดับที่ยืมเงินเมืองนอกได้เล่าให้ฟัง
วันที่ 10 ตุลาคม นิตยสาร ดอกเบี้ย รายเดือนวางตลาด และได้ลงคำสัมภาษณ์สุพจน์ เดชสกุลธร กรรมการผู้จัดการบริษัทเยาวราชไฟแนนซ์ เพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจของสุธี นพคุณ ตอนหนึ่งว่า “...เงินในเครือข่ายของเรามีมากยังไม่เคยไปกู้เลย บางทีก็ขอโอดีจากแบงก์นิดหน่อยเท่านั้น”
วันที่ 14 ตุลาคม บริษัทเงินทุนเยาวราชก็หยุดไม่ให้ลูกค้าถอนเงิน
และในที่สุดวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม ธนาคารชาติหิ้วกระเป๋าเข้าไปเยาวราชไฟแนนซ์ พร้อมกับเสียงของเจ้าหน้าที่เยาวราชไฟแนนซ์ที่ปลอบใจลูกค้าว่า “ตอนนี้ถอนเงินยังไม่ได้ ต้องรอหน่อย กำลังตามเก็บลูกหนี้มาให้ เราไม่เจ๊งหรอกเพราะธนาคารชาติเข้ามาดูแล้ว”
และก็เป็นวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม ที่สมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีคลัง นุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เชิญธนาคาร 6 แห่ง เข้าประชุมด่วนโดยอ้างว่าเพื่อช่วยกันหาทางแก้ปัญหาการขาดดุล
หลังจากการประชุมก็ไม่มีข่าวอะไร ทุกคนปิดปากเงียบกันหมด
วันเสาร์ที่ 15 ก็มีธนาคารเข้าร่วมประชุมอีกเป็น 16 ธนาคาร
วันจันทร์ที่ 17 ธนาคารกรุงเทพหยุดจ่ายเงินให้ผู้มาถอนเงินที่พัฒนาเงินทุนอย่างสิ้นเชิง
“การที่ธนาคารกรุงเทพหยุดเป็นเพราะธนาคารชาติต้องการเปลี่ยนวิธีในการแก้ปัญหา เพราะถ้าแก้โดยเอาธนาคารกรุงเทพเข้าไปค้ำอีดีทีแล้ว ถ้าเกิดมีรายอื่นขึ้นมาล่ะ ซึ่งอาจมีได้ ธนาคารชาติเลยต้องหามาตรการแก้ทั้งหมดโดยขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์เพื่อให้สถาบันการเงินอยู่ได้” แหล่งข่าวในธนาคารกรุงเทพพูดให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
บรรยากาศพัฒนาเงินทุนนั้น อยู่ในสภาพที่หดหู่มาก ความสบายใจที่มีธนาคารกรุงเทพฯ เข้ามาช่วยหมดไปในเช้าวันที่ 17 เมื่อเจ้าหน้าที่ธนาคารฯ บอกเพียงว่า “เงินหมดต้องขออนุมัติไปใหม่” แต่ข่าวก็มาถึงหูทุกคนในอีดีทีแล้ว
อนงค์ สุนทรเกียรติ หลังจากที่พยายามดึงลูกค้าไม่ให้ถอนเงินในตอนแรกเพราะรู้ว่าธนาคารกรุงเทพจะเข้ามาแล้ว ถึงกับไม่ยอมรับแขก บรรดาเจ้าหน้าที่ซึ่งเอาเงินฝากจากลูกค้านั่งหน้าซีดเผือด ทุกคนสับสนไปหมด
สุพจน์ เดชสกุลธร โทรมาพัฒนาเงินทุน 10 กว่าครั้ง เพื่อพูดกับสุธี นพคุณ แต่ก็ไม่เจอ เพราะสุธีเข้าโรงพยาบาลเพชรเวช และต้องหนีออกมาเพราะมีโทรศัพท์เข้าไปกวนตลอดเวลา
ไม่มีใครพูดกับใครในพัฒนาเงินทุน เพราะไม่มีใครรู้คำตอบว่าจะออกมาในรูปไหน
ทุกคนที่ฝากเงินไว้กับอีดีที แทบจะเป็นบ้าเพราะไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อย อุทัย เตชะไพบูลย์มีอยู่หลายสิบล้าน หมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ก็มีร่วมสามสิบ สกุลจิราธิวัฒน์ ร่วม 30 กลุ่มวรจักรยนต์หลายๆ สิบล้าน แม้แต่ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล เองก็ยังมีอยู่เป็นสิบเหมือนกัน และคนอื่นๆ อีก
สุธี นพคุณไม่ยอมรับโทรศัพท์ ไม่ต้องไปถามหาบุญชู โรจนเสถียร เพราะยังไม่กลับจากต่างประเทศ ถึงกลับมาบุญชูก็คงจะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยว จิตตเกษม แสงสิงแก้ว ปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยว “ผมไม่ได้เกี่ยวกับอีดีทีมาตั้งแต่ปี 1981 แล้ว” วัฒนา ลัมพะสาระ อยู่นครหลวงฯ ก็ไม่เกี่ยว พอล สิทธิอำนวย คงจะเกี่ยวก็แค่เงินโอดีของอีดีทีที่มีกับกสิกรไทย 2 ล้านบาท ซึ่งพอลเซ็นค้ำไว้ นอกนั้นก็ไม่เกี่ยว แล้วภาพที่มองไม่เห็นก็เริ่มชัดขึ้นในวันอังคารที่ 18 ตุลาคม เมื่อศุภชัย พานิชภักดิ์ แห่งธนาคารชาติออกมาแถลงถึงมาตรการการแก้ไข โดยชี้แจงว่า
“ทางธนาคารชาติพิจารณาแล้ว ปัญหาพัฒนาเงินทุนเป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับเจริญกรุงไฟแนนซ์ และเครดิตฟองซิเอร์บ้านและที่ดินไทย การที่จะให้ธนาคารกรุงเทพเข้ามาช่วยพัฒนาเงินทุนเองนั้น ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่แท้จริง จึงได้มีมาตรการเพื่อให้มีการแก้ปัญหาที่แท้จริง ให้มีการแก้ไขเป็นระบบ โดยให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายเข้ามาร่วมช่วยด้วย โดยผ่านบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สหธนกิจ ซึ่งมีธนาคารทั้งหลายเป็นผู้ถือหุ้น และบริษัทนี้จะเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินให้กับผู้ถือตั๋วของบริษัทที่กล่าวมาแล้ว”
และนั่นก็คือการจ่ายเงินคืนให้ใน 10 ปี ปีละ 10% โดยไม่มีดอกเบี้ย
และขณะที่ศุภชัยต้องตอบคำถามของสื่อมวลชนแถวๆ บางขุนพรหม ห่างไปแถวถนนศรีอยุธยา สุธี นพคุณ กำลังแถลงให้ประชาชนผู้ถือตั๋วถึงการเปลี่ยนแปลง “ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม บริษัทพัฒนาเงินทุนได้แจ้งไปยังธนาคารชาติว่า ได้หยุดกิจการแล้ว และผู้ถือตั๋วพัฒนาเงินทุนจะได้เปลี่ยนเป็นตั๋วของสหธนกิจ...”
“คุณเอาเงินไปไหนหมด” ผู้ถือตั๋วตะโกนถาม สุธี นพคุณพูดเสียงอ่อยว่า “ผมพูดไปเดี๋ยวก็หาว่าแก้ตัวอีก แต่เป็นเพราะบริหารงานผิดพลาด และพูดไป เดี๋ยวนี้คำพูดผมก็ไม่มีใครเชื่ออีกแล้ว”
กับพนักงานพัฒนาเงินทุน สุธีพูดว่า “ผมก็ไม่มีอะไรเหลือแล้ว รถก็ไม่มี บ้านก็ไม่มี เงินก็ไม่มี ยังไม่รู้จะทำอะไรต่อไป”
บรรยากาศวันที่ 18 ตุลาคม ตอนประมาณ 4 โมงเย็นที่ตึกดำมีแต่ความซึมเศร้า จากอดีตที่เคยรุ่งโรจน์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว แทบจะไม่มีใครเชื่อว่าจะมีวันนี้
สำหรับฉากนี้ของพัฒนาเงินทุนก็คงจะจบเพียงนี้ คงเหลือแต่คำถามที่มีคนอยากรู้มากว่า “เงินหายไปไหนหมด” ก็คงจะมีสุธีเท่านั้นที่ตอบได้ แต่สุธีเองก็เพียงแต่พูดกับผู้ใกล้ชิดว่า “ผมพูดไม่ออกเหมือนน้ำท่วมปาก ผมขอรับไว้เองก็แล้วกัน”
แต่จะพูดว่าพัฒนาเงินทุนสิ้นสุดลงเพียงนี้ก็เห็นจะไม่ถูก เพราะถ้าธนาคารชาติคิดว่าสหธนกิจจะเข้ามาแก้ปัญหาได้นั้นก็คงจะเป็นการประมาทเกินไปแล้ว
สำหรับ “ผู้จัดการ” นั้นรู้แต่ว่า คงจะต้องมีภาค 2 ต่อแน่ โปรดคอยชม “โศกนาฏกรรมตอน 2” ต่อไปได้ในฉบับหน้า
|