บล.ภัทรระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ กระจาย 50 ล้านหุ้น พร้อมมีกรีนชู ไม่เกิน 6.5 ล้านหุ้น เตรียมนำเงินมาใช้รุกธุรกิจอินเทอร์เน็ตเทรดดิ้ง ใช้งบลงทุนประมาณ 100 ล้านบาทมุ่งเจาะลูกค้ารายย่อย พร้อมให้บริการภายในไตรมาส 3 ปีนี้
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่าเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2548 ที่ผ่านมาสำนักงานได้เริ่มนับหนึ่งแบบรายการแสดงข้อมูล(ไฟลิ่ง)หุ้นบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยได้แต่งตั้งให้บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ทั้งนี้ บล.ภัทรจะเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปจำนวน 50 ล้านหุ้นมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท คิดเป็น 23.4% ของทุน ชำระแล้วทั้งหมดภายหลังจากเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้และในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (กรีนชู) หุ้นส่วนเกิน ดังกล่าวจะมีจำนวนไม่เกิน 15% ของจำนวน หุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้ หรือจำนวนไม่เกิน 6.5 ล้านหุ้น
เงินที่ได้จากการระดมทุนเพื่อขยายฐานลูกค้าและเครือข่ายในการให้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ รวมถึงการซื้อขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและเพิ่มศักยภาพในการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ นอกจากนี้จะนำเงินไปใช้ในการขยายฐานเงินลงทุนในฝ่ายการลงทุนในหลักทรัพย์และฝ่ายการลงทุน รวมถึงใช้ในการดำเนินธุรกิจการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์และธุรกิจ ตราสารอนุพันธ์และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท
ทั้งนี้ บล.ภัทรได้มีการเพิ่มทุนจาก 800 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,100 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 60 ล้านหุ้น และจัดสรรให้แก่กรรมการและพนักงานของบริษัทจำนวน 3.5 ล้านหุ้น เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปจำนวน 50 ล้านหุ้น และเพื่อรองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินจำนวนไม่เกิน 6.5 ล้านหุ้น ปัจจุบันถือเป็นบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำแห่งหนึ่งของไทย
ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จะให้บริการแก่ลูกค้าสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงลูกค้าบุคคลรายใหญ่ โดยในปี 2547 บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 3.99% เป็นอันดับที่ 6
ส่วนธุรกิจวาณิชธนกิจให้บริการที่ปรึกษาทางการเงินและการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ให้แก่บริษัทขนาดใหญ่ อาทิ ปตท., ไทยออยล์, ท่าอากาศยานไทย นอกจากนี้ยังมีธุรกิจด้านการลงทุน ซึ่งในครึ่งปีหลังของปี 2547 บริษัทได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมา 2 หน่วย ประกอบด้วยฝ่ายการลงทุนในหลักทรัพย์และฝ่ายลงทุนเพื่อเป็นผู้ดำเนินการจัดการลงทุนเพื่อบัญชีของบริษัทเองฝ่ายการลงทุนในหลักทรัพย์จะลงทุนในหลักทรัพย์ประเภท ทุนและกึ่งทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะเป็นการลงทุนในระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี
ขณะที่ฝ่ายลงทุนจะเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงหลักทรัพย์ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ และมีกำหนดระยะเวลาการลงทุนประมาณ 1-5 ปี สำหรับการลงทุนในโครงการอนาคต บริษัทมีแผนที่จะเปิดให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตให้แก่ลูกค้ารายย่อย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม ในการซื้อขายหลักทรัพย์ให้แก่บริษัทคาดว่าจะได้ใช้เงินในการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาทและคาดว่าจะเปิดให้บริการซื้อขายในระบบดังกล่าวได้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้
ทั้งนี้ มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ
โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบล.ภัทร 5 อันดับแรกได้แก่บริษัทรวมพล ภัทร อินเตอร์ เนชั่นแนลคอร์ป ถือหุ้น 48.99% รองลงมาได้แก่นายบรรยง พงษ์พานิช ถือหุ้น 5.37%, นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ถือหุ้น 3.94%, นายวีรวัฒน์ ชุติเชษฐพงศ์ ถือหุ้น 3.94% และ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ถือหุ้น 3.24%
ทั้งนี้บริษัท รวมพล ภัทร อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป มีทุนจดทะเบียน 2,200 เหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น 22,000 หุ้น โดยมีทุนชำระแล้ว 1,724 เหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น 17,240 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 0.10 เหรียญสหรัฐ โดยมีผู้ถือหุ้น 3 อันดับแรกได้แก่นายบรรยง พงษ์พานิช ถือหุ้น 13.5% รองลงมาได้แก่นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ถือหุ้น 9.9%
|